เอนไซโคลปิเดีย กาแลคติกา

3 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 31 December 2010 เวลา 0:06 ในหมวดหมู่ ดนตรี ศิลปะ วรรณกรรม บันเทิง #
อ่าน: 3999

เอนไซโคลปิเดีย กาแลคติกา (Encyclopædia Galactica) ปรากฏขึ้นครั้งแรกในนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง Foundation (สถาบันสถาปนา) โดยไอแซค อสิมอฟ เมื่อปีพ.ศ. 2485 ในขณะที่สงครามโลกครั้งที่สอง กำลังดำเนินอยู่อย่างดุเดือด

ในเนื้อเรื่อง มีวิชาอนาคตประวัติศาสตร์​ (Psychohistory) ซึ่งสามารถทำนายภาพใหญ่ของอนาคตได้ อนาคตประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่บนสัจพจน์อยู่สามอย่างคือ

  • พฤติกรรมของประชากรที่นำมาคำนวณในแบบจำลอง ต้องมีขนาดใหญ่พอ
  • ประชากรต้องไม่รู้ผลของการทำนายพฤติกรรมด้วยวิชาอนาคตประวัติศาสตร์ เพื่อไม่ให้เกิดการโน้มน้าวหรือเบี่ยงเบน
  • มนุษย์ชาติเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญาเพียงเผ่าพันธุ์เดียวในแกแลกซี่

ตอนแรกของสถาบันสถาปนา ตีพิมพ์เพียง 6 เดือนหลังจากเพิร์ลฮาร์เบอร์ถูกโจมตี ทำให้สหรัฐเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง ฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังเพลี่ยงพล้ำอย่างหนัก ก็น่าสงสัยเหมือนกันว่าอสิมอฟคิดอย่างไรกับอนาคตของมนุษยชาติ… ตอนนั้นเยอรมันบุกตะลุยเข้ารัสเซีย ยังไม่มีทีท่าจะอ่อนแรง อิตาลีบุกอัฟริกา ญี่ปุ่นบุกจีนและโจมตีสหรัฐในแปซิฟิก ตอนนั้นยังไม่มีข่าวค่ายกักกันชาวยิวโดยนาซี

ในเรื่องสถาบันสถาปนา เอนไซโคลปิเดีย กาแลคติกา เป็นแหล่งรวมความรู้ของมนุษย์ทั้งมวลตั้งแต่อดีตกาล รวบรวมเก็บเอาไว้ที่ “สุดขอบจักรวาล” เพื่อรักษาความรู้ของมนุษยชาติ ซึ่งในขณะนั้นเป็นสังคมที่มีประชากรหนึ่งพันล้านล้านคน และมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เนื่องจากอนาคตประวัติศาสตร์ทำนายว่าความรุ่งเรืองของมนุษย์ จะสะดุดลงเป็นพันปี พล็อตเรื่องในเบื้องแรก เขาก็จะพยายามย่นระยะเวลาแห่งยุคมืดนั้นลง

แต่เรื่องราวซับซ้อนตามแบบนิยายที่สนุก วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของ เอนไซโคลปิเดีย กาแลคติกา คือการรวบรวมผู้มีทักษะทางวิทยาศาสตร์สูงเอาไว้ในดาวเคราะห์อันห่างไกล(จากความวุ่นวายทางการเมืองและการช่วงชิงอำนาจ) ด้วยเป้าหมายที่จะพลิกฟื้นความก้าวหน้าอันชะงักงัน และ “อาณาจักร” ของมนุษยชาติ

อ่านต่อ »


รังสีคอสมิค

อ่าน: 4592

บันทึกนี้ เป็นเรื่องที่ผมไม่รู้และไม่มีข้อมูลละเอียด แต่ก็จะเขียนครับ เช่นเดียวกับบันทึกทั้งพันเรื่องในบล็อกนี้ ซึ่งไม่ได้เขียนให้เชื่อ แต่เขียนให้พิจารณาเอง

ใช้เวลาเขียนน๊าน…นาน ตั้งแต่บ่ายแล้ว ติดภาระกิจไปอัพเดตสมุดบัญชีธนาคาร เพื่อดูว่าเงินบริจาคสำหรับซื้อผ้าห่มแบบที่ทหารใช้ ไปบริจาคให้ผู้ประสบภัยตกสำรวจ มีพอหรือยัง (ตอนนี้ยังขาดอีกเยอะครับ) แล้วฝูงหมารอบบ้าน ก็เรียกร้อง เลยออกไปทักทายกับให้อาหารเสียอีก

ดวงอาทิตย์แผ่รังสีใส่โลกตลอดเวลา มากบ้าง น้อยบ้าง โลกมีสนามแม่เหล็กโลกปกป้องอยู่ มีบรรยากาศหนา 300 กม. มีชั้นโอโซน คอยลดทอนความรุนแรงของรังสีจากดวงอาทิตย์ — รังสีต่างๆ เป็นอนุภาคพลังงานสูง ส่วนใหญ่มีประจุ (มักเป็นโปรตอนของไฮโดรเจนหรือฮีเลียม) จึงเบี่ยงเบนได้ในสนามแม่เหล็ก แล้วเมื่ออนุภาคพลังงานสูงเหล่านี้เกิดหลุดเข้ามาในบรรยากาศของโลก ก็จะเกิดชนกับอากาศอุตลุด ลดความรุนแรงลงบ้าง พลังงานจากดวงอาทิตย์มาถึงสุดของของบรรยากาศโลก มีค่าประมาณ 1367 วัตต์/ตร.ม. และบรรยากาศหนา 300 กม.ของโลก ก็ดูดซับพลังงานไป เหลือตกลงมาถึงพื้นโลกเพียง 40% เท่านั้น

แสงเหนือ-แสงใต้ (Aurora)

แสงเหนือเกิดขึ้นเมื่ออะตอมของอากาศในบรรยากาศชั้นสูง ถูกอนุภาคที่มีพลังงานสูงชน ทำให้อะตอมเข้าสู่ excited state ซึ่งอยู่อย่างนั้นได้ชั่วขณะ เมื่ออะตอมจะกลับสู่สภาวะปกติ ก็จะคายโฟตอนออกมาเป็นแสงสว่าง

แสงเหนือ มักปรากฏแถวขั้วโลกมากกว่าที่ละติจูดต่ำๆ ทั้งนี้ก็เพราะโลกมีสนามแม่เหล็กโลกคอยปกป้อง เมื่ออนุภาคพลังงานสูงวิ่งมาจากดวงอาทิตย์ ก็จะถูกสนามแม่เห็กโลกเบี่ยงเบนออกไปทางขั้วโลก แต่ถ้าเบนไม่พ้น ก็อาจเฉียดไปกระทบบรรยากาศชั้นสูงแถวขั้วโลก (ที่ละติจูดสูงๆ)

โดยทั่วไป ชั้นล่างของแสงเหนือจะอยู่ที่ระดับ 100 กม.เหนือผิวโลก (เครื่องบินข้ามทวีป บินที่ความสูง 10 กม.) และระดับบนของแสงเหนืออาจอยู่ที่ระดับ 200-300 กม. [Aurora FAQ]

อ่านต่อ »


พลังงาน: เอาจริงแบบเล่นๆ

อ่าน: 3588

ปลายปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีไปโคเปนฮาเกน (ชาวยุโรปแถวนั้นเค้าออกเสียงอย่างกันนี้) ได้กล่าวไว้ในสุนทรพจน์ต่อที่ประชุม UNFCCC 2009 ว่าเมืองไทยกำลังอยู่ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนระยะ 15 ปี พ.ศ. 2551-2565 ว่าจะใช้พลังงานทดแทนให้ได้ 20% ของการใช้พลังงานทั้งประเทศ และจะเพิ่มพื้นที่ป่าจาก 30% ในพ.ศ. 2549 ไปเป็น 40% ในพ.ศ. 2563 (จาก 96.4 ล้านไร่ เป็น 128.5 ล้านไร่) ดังนั้นมาตรการทั้งสองจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มาก

สารภาพตรงๆ นะครับ ถึงตอนนี้ ยังมองไม่เห็นเลยว่าจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร ถ้าหากจะเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนให้ได้ถึง 20% ของพลังงานที่ใช้ทั้งประเทศ จะหวังให้รัฐทำเองทั้งหมดนั้น คงเลื่อนลอยมาก ทุกคน ทุกบ้าน ต้องช่วยกัน แต่ก็ยังไม่เห็นมาตรการอะไรของรัฐที่โดนใจเลย ค่า Adder [เปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน] ที่ กฟภ.รับซื้อไฟฟ้าที่มีแหล่งกำเนิดจากพลังงานทดแทน เหมือนเป็นป้ายเชิญชวน ให้เดินไปสู่ประตูที่ปิดแล้วล็อคกุญแจไว้ ชาวบ้านเดินเข้าไปไม่ได้อยู่ดี ทำไมไม่ออกแบบ grid-tie inverter ที่ปั่นไฟฟ้าแล้ว sync กับไฟฟ้าของ กฟภ. มีฮาร์โมนิกต่ำ แก้ไข power factor ให้ต่ำ ทดสอบให้ผ่านมาตรฐาน แล้ว open source เปิดการออกแบบนี้ให้ใครก็เอาไปทำได้ล่ะครับ

เมื่อต้นปี 2537 ตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีอินเทอร์เน็ตแบบที่เราใช้กันอยู่ ผมเคยโพสต์ประเด็นที่น่าสังเกตไว้ใน soc.culture.thai USENET newgroup ยกประเด็นว่าศูนย์การค้า 5 แห่งที่กำลังจะเปิด (ในเวลานั้น) คือ เสรีเซ็นเตอร์ ซีคอนสแควร์ ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต อิมพีเรียลลาดพร้าว และแฟชั่นไอซ์แลนด์ ทั้ง 5 แห่งมีพื้นที่รวมกัน 1.835 ล้านตารางเมตร ถ้าใช้ไฟฟ้าสำหรับเครื่องปรับอากาศ แสงสว่าง และการใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ตารางเมตรละ 250 วัตต์ โดยเปิดทำการวันละ 12 ชั่วโมง จะใช้พลังงานไฟฟ้าวันละ 5.505 GWh ซึ่งนั่นคิดเป็น 49% ของกำลังไฟฟ้าที่ กฟผ.ผลิตไฟฟ้าเพิ่มได้ ในช่วงปี 2535-2539 หมายความว่าศูนย์การค้า 5 แห่ง ใช้ปริมาณไฟฟ้าสำรองของประเทศในช่วงนั้นไป 49% แล้ว กฟผ.จึงต้องแจ้นไปซื้อไฟฟ้าจากลาว

อ่านต่อ »


โลกที่ปราศจากอินเทอร์เน็ต

อ่าน: 4304

เมื่อวานอ่านรีวิวหนังสือ Armageddon Science: The Science of Mass Destruction ก็น่าตื่นเต้นดีครับ ผู้เขียน Brian Clegg เป็นนักฟิสิกส์ เขียนรายการออกมาหลายอย่างที่มีความเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์ (ในมุมมองของเขา) ว่าโลกแบบที่เรารู้จัก จะไปไม่รอด เช่น

  1. นักวิทยาศาสตร์ที่มีความเฉลียวฉลาด แต่ขาดสามัญสำนึกเรื่องความปลอดภัย
  2. Large Hadron Collider (LHC) เครื่องเร่งอนุภาคความเร็วสูงที่พยายามจะจำลองสภาพการเกิดบิ๊กแบง เพื่อศึกษาอนุภาคพื้นฐาน อาจสร้างบิ๊กแบงหรือหลุมดำขนาดเล็กๆ ที่หลุดจากการควบคุมแล้วทำลายล้างทุกสิ่งรอบตัว หรือการระเบิดของซูเปอร์โนวาในอวกาศอันไกลโพ้น ซึ่งเรามองไม่เห็นเพราะแสงเดินทางมาเร็วเท่ากับความเร็วแสงเท่านั้น อันหลังนี่ ถ้าเจอเข้าก็เป็นแจ็คพอตแตกคือไม่รู้ตัวเลยล่ะครับ
  3. การทำลายล้างทางนิวเคลียร์
  4. สภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง โลกร้อน ยุคน้ำแข็ง อากาศเป็นพิษ พายุรุนแรง แห้งแล้งยาวนาน ฯลฯ
  5. เชื้อโรคล้างโลก พื้นที่ที่มนุษย์ไม่เคยไป วันนี้กลับอยู่ไม่ “ไกล” เหมือนเคย เช่นป่าอเมซอนถูกบุกรุกเข้าไปเรื่อยๆ น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ธารน้ำแข็งละลาย อากาศที่ถูกน้ำแข็งจับไว้หลายแสนปี ถูกปล่อยออกสู่บรรยากาศอีกครั้งหนึ่ง
  6. Gray Goo หุ่นยนต์จิ๋ว (nanobot) ที่สร้างตัวเองได้ หลุดจากการควบคุมแล้วไม่หยุดสร้างตัวเอง จนในที่สุดก็ทำลายทุกอย่างไร
  7. INFORMATION MELTDOWN

โดยรวมผมไม่ได้มองหนังสือนี้เป็นคำทำนาย แต่ก็น่าสังเกตว่าเกือบทั้งหมดนี้มนุษย์ทำ จะด้วยความไม่รู้ ความประมาท ความโง่ หรืออารมณ์ก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย อาจก่อให้เกิดผลใหญ่หลวง [Butterfly effect] [Tragedy of the anticommons] [การรับมือสิ่งท้าทายอุบัติใหม่] ผมมองเรื่องนี้เป็นประเด็นที่เตือนว่าจุดใดเสี่ยง แล้วจะ “ทำ” อะไรกับมัน

บันทึกนี้ หยิบมาเฉพาะข้อ 7 นะครับ

อ่านต่อ »


บ่อน้ำทะเลร้อน

ไม่มีความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 27 December 2010 เวลา 18:03 ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้, เทคโนโลยีชาวบ้าน #
อ่าน: 4382

เรื่องนี้เป็นเรื่องของ Solar pond ครับ เป็นบ่อเก็บกักความร้อนจากพลังานแสงอาทิตย์ มีประสิทธิภาพต่ำ แต่ว่าแทบไม่มีต้นทุนเลยเนื่องจากบ่อได้รับความร้อนมาจากแสงอาทิตย์ซึ่งไม่มีต้นทุน

น้ำทะเลนอกจากมีความเค็ม แล้วยังมีอีกลักษณะหนึ่งคือน้ำที่เค็มกว่า มีความหนาแน่นมากกว่า ก็จะจมลงข้างล่าง ในขณะที่น้ำที่จืดกว่าจะลอยอยู่ที่ผิวหน้า ดังนั้นเมื่อเอาน้ำทะเลใส่ลงในบ่อทิ้งไว้ ก็จะเกิดการแยกตัวเป็นชั้นๆ โดยความเค็มจะเพิ่มขึ้นตามความลึก

ถึงอย่างไรก็ตาม แม้น้ำทะเลจะมีเกลือและสิ่งเจือปนอื่นๆ ละลายอยู่ แต่ก็ยัง “ใส” พอที่ให้แสงแดดผ่านลงไปได้ เมื่อแสงผ่านลงไปกระทบน้ำหรือกระทบก้นบ่อ จะเกิดความร้อนขึ้น ตากไปตามมา น้ำก็ร้อนขึ้นมาก

พอน้ำร้อน มักจะลอยตัวขึ้นข้างบน ถ้าเป็นบ่อน้ำปกติ พอน้ำลอยขึ้นมาถึงผิวหน้า ก็จะปล่อยความร้อนให้อากาศ แล้วจมลงไปใหม่ แต่ในบ่อ solar pond น้ำทำอย่างนั้นไม่ได้เนื่องจากน้ำมีความเข้มข้นของเกลือละลายอยู่ จึงมีน้ำหนักมาก น้ำเกลือเข้มข้นจากก้นบ่อไม่สามารถจะลอยขึ้นมาถึงผิวหน้าเพื่อปล่อยความร้อนได้ ความร้อนจึงสะสมอยู่ที่ก้นบ่อเป็นจำนวนมาก — ถ้าน้ำพร่องไปจากการระเหยที่ผิวหน้าหรือรั่วซึมที่ขอบบ่อ ก็เติมนำทะเลลงไปครับ

ในกรณีที่แดดดีๆ น้ำที่ก้นบ่ออาจมีอุณณหภูมิถึง 80-90°C (ขึ้นกับความลึกของบ่อและความเค็มของน้ำเกลือ) — ในขณะที่น้ำที่เค็มน้อยกว่าที่ผิวหน้า สามารถปล่อยความร้อนให้อากาศได้ดี จึงมีอุณหภูมิที่ต่ำกว่า อาจจะสัก 30°C

อ่านต่อ »


ความมั่นคงสามแนวทาง เพื่อให้อยู่ได้

อ่าน: 4050

นอกเหนือจากปัจจัยสี่ (อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค) ซึ่งเป็นความจำเป็นขั้นต่ำสุดต่อการดำรงชีวิตแล้ว มีปัจจัยสำคัญสามอย่าง ที่จำเป็นต้องใส่ใจเป็นพิเศษ คือความมั่นคงสามแนวทางได้แก่ อาหาร น้ำ และพลังงาน ทั้งสามมีนัยสำคัญต่อ “สภาพ” ของสังคมมนุษย์ หากขาดไปอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจเกิดความวุ่นวายขนานใหญ่จนลุกลามเป็นสงครามได้

อาหาร

เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ เป็นสิ่งที่ทุกคนควรได้รับอย่างพอเพียงต่อการเจริญเติบโต และครบถ้วน เมืองไทยมีดิน(บางส่วน)อุดมสมบูรณ์ จากน้ำท่วมที่ลุ่มภาคกลาง แต่ในพื้นที่อื่นๆ เรากลับทำลายดินกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เริ่มด้วยการถางป่า ทำให้ดินถูกแดดเผา เร่งให้ความอุดมสมบูรณ์​ (humus) สลายไปหมด ซึ่งโดยธรรมชาติ มันก็ค่อยๆสลายที่อุณหภูมิสูงกว่า 25°C อยู่แล้ว เมื่อไม่มีร่มเงาของต้นไม้ ดินที่ถูกแดดเผา อาจมีอุณหภูมิสูงกว่า 70°C กลายเป็นดินทรายไปหมด ใส่ปุ๋ยเท่าไหร่ ความอุดมสมบูรณ์ก็ถูกทำลายไปอีกซ้ำซาก เพราะว่าไม่ได้แก้ที่สาเหตุ

ยิ่งทำการเกษตร ก็ยิ่งจน ที่ดินของปู่ย่าตายายก็รักษาไว้ไม่ได้ เห็นแก่เงินเฉพาะหน้า พอนายทุนมากว้านซื้อ ก็รีบขายไปหมด เมื่อไม่มีที่ทำกิน ก็ไปบุกรุกพื้นที่ป่า ทำลายต้นไม้หนักเข้าไปอีก เมื่อพื้นที่ป่าหายไปมากเข้า ความชื้นไม่มี ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ผลผลิตต่ำเป็นหนี้เป็นสิน เป็นวังวนไม่รู้จบสิ้น

เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2542 โลกมีประชากรเกินหกพันล้านคน และจะมีเกินเจ็ดพันล้านคนในปี 2555… ถึงมีคนมากขึ้น แต่กลับมีพื้นที่เพาะปลูกน้อยลง พื้นที่เพาะปลูกที่มีก็ไม่รู้จักบำรุงรักษา

โดยนิยาม ทรัพยากรเป็นสิ่งที่ทีค่า แต่มีอยู่อย่างจำกัด หากถลุงใช้กันตามสบายโดยเอาประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้งแล้ว ทรัพยากรมีแต่จะหมดไปอย่างรวดเร็วและเปล่าประโยชน์ [tragedy of the commons ] [tyranny of small decisions]

อ่านต่อ »


กิจกรรมบนดวงอาทิตย์ ทำลายโลกได้หรือไม่

อ่าน: 4762

คำถามแบบชื่อบันทึกนี้ ไม่อยากตอบเลยครับ…

การปฏิเสธว่า “ไม่” นั้น ไม่สมเหตุผลทั้งปวงเพราะว่าผมไม่รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง; ส่วนการตอบว่า “ได้” ก็ไม่มีหลักฐานใดๆ เท่าที่รู้ — แต่ว่าถ้าถามว่า ในห้าสิบปีที่ผ่านมา กิจกรรมบนดวงอาทิตย์ทำลายโลกหรือไม่ อันนี้ตอบได้ว่าไม่ เพราะผมมีชีวิตอยู่ตลอดช่วงเวลาในคำถาม ถ้าโลกถูกทำลายผมมีชีวิตอยู่ไม่ได้ ถ้าถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ อย่าคาดหวังคำตอบสั้นๆ ที่ฉาบฉวยว่าได้หรือไม่ได้เลยครับ อะไรๆ ที่ยังไม่เกิดก็เป็นไปได้ทั้งนั้นล่ะ ประเด็นมันอยู่ที่ว่าความเสี่ยงของสาเหตุแบบต่างๆ นั้น มีอยู่เท่าไหร่ต่างหาก

ดวงอาทิตย์อยู่ห่างโลก 150 ล้านกิโลเมตร หรือ 93 ล้านไมล์ แต่ดวงอาทิตย์เช่นกัน เปล่งพลังงานมาหล่อเลี้ยงโลกมาตั้งแต่ต้น พลังงานของดวงอาทิตย์เกิดจากปฏิกริยานิวเคลียร์ฟิวชั่นที่แกนกลาง ก่อให้เกิดความร้อนมหาศาล ความร้อนภายในเนื้อของดวงอาทิตย์นี้ ถูกถ่ายเทจากแกนกลางออกมาสู่ผิวหน้า วนเวียนไปมาช้าๆ ในรูปของพลาสมา (ก๊าซร้อนยิ่งยวด) แผ่เป็นพลังงานหล่อเลี้ยงโลกมาตั้งแต่กำเนิด

ไม่แต่รังสีความร้อน กระบวนการไหลของพลาสมาในพื้นผิวของดวงอาทิตย์ เกิดการปะทุปล่อยก๊าซร้อนยิ่งยวดออกสู่อวกาศ สร้างสนามแม่เหล็กความเข้มข้นสูง เกิดลมสุริยะ (ถ้ารุนแรง เรียกพายุสุริยะ) เกิดจุดดับบนดวงอาทิตย์ ฯลฯ เหล่านี้เรียกว่ากิจกรรมของดวงอาทิตย์​ซึ่งนักดาราศาสตร์เฝ้าศึกษามา 400 ปี พบว่ากิจกรรมบนดวงอาทิตย์ เกิดเป็นช่วงๆ บางปีสงบ-บางปีอลหม่าน ในปีที่อลหม่าน (Solar Maximum) ก็จะมีการเกิดจุดดับมากผิดปกติ มีการปะทุที่ผิวปล่อยสนามแม่เหล็กและลมพายุสุริยะมากผิดปกติ

อ่านต่อ »


Biochar ปรับปรุงดินและลดโลกร้อน

อ่าน: 7225

Biochar เป็นถ่านที่เกิดจากการเผาไหม้แบบควบคุมปริมาณออกซิเจนที่อุณหภูมิต่ำ — แปลเป็นไทยก็คือถ่านไม้จาก [ไต้ไม่มีควัน] นั่นล่ะครับ — Biochar ต่างกับ Activated carbon (ถ่านกัมมันต์) ที่ activated carbon เผาที่อุณหภูมิสูง แต่ biochar เผาที่อุณหภูมิต่ำ

ถ่าน biochar เป็นถ่านที่เกิดจากกระบวนการ pyrolysis ของไฮโดรคาร์บอน เช่น ไม้ มูลสัตว์ หรือพลาสติก) แต่ถ่าน biochar ไม่ได้ใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิง แต่ใช้ดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ

ทุกอะตอมของคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 มีออกซิเจนอยู่สองอะตอม เมื่อเกิดกระบวนการ pyrolysis อากาศปริมาณน้อยที่ผ่านเข้าไปในเตา มีคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในปริมาณเกือบ 390 ppm (ส่วนในล้านส่วน) เมื่อกระบวนการ pyrolysis ทำงาน เตาจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาประมาณ 66 ppm (เหลือแค่ 17% ของ 390 ppm) เทียบกับการเผาไหม้ในอากาศเช่นเผาไร่เผานา จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 1000 ppm (เพิ่มเป็น 256% ของ 390 ppm)

กระบวนการ pyrolysis ใช้ความร้อนยิ่งยวด ทำลายพันธะทางเคมีของคาร์บอนไดออกไซด์ ปลดปล่อยอะตอมของออกซิเจนออกมาหล่อเลี้ยงไฟ ส่วนคาร์บอน ถูกไม้จับไว้ ถ่าน biochar จึง ดำ-เปราะ-เบา ซึ่งเป็นลักษณะของคาร์บอนที่มีความบริสุทธิ์สูง … คาร์บอนไดออกไซด์ จึงถูกดักจับจากอากาศมาเก็บไว้ในรูปคาร์บอนในถ่านด้วยวิธีการนี้ครับ เมื่อคาร์บอนไดออกไซด์หายไปจากบรรยากาศ จึงเป็นการลดก๊าซเรือนกระจก

แต่ไม่ใช่แค่นั้นหรอก…

อ่านต่อ »


วังน้ำเขียว ฟลอร่า แฟนตาเซีย 2010

6 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 23 December 2010 เวลา 20:46 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต #
อ่าน: 21839

ทริปนี้เป็นทริปพาพ่อแม่เที่ยวครับ สรุปได้ง่ายๆ ว่า… ร้ อ น วังน้ำเขียวกลางเดือนธันวาคม ไม่รู้ว่าร้อนได้ยังไง

ขาไป แวะโรงเรียนนายร้อย จปร. สมัยที่ยังตีกอล์ฟ ผมมาบ่อย แต่ไม่เคยเข้ามาถึงวัดพระฉาย (วัดเขาชะโงก) ซึ่งอยู่ลึกเข้ามาด้านหลัง

พระพุทธฉาย ณ.ที่นี้ คือภาพวาดครับ (คลิกบนรูปเพื่อขยาย)

ไม่ทราบว่าวาดขึ้นเมื่อไหร่ เป็นรอยจางๆ เนื่องจากวาดไว้ใต้ชะง่อนผา เลือนลางไปจากน้ำฝน แต่ต่อมา พ.ศ.2485 กรมแผนที่ทหารบกได้เข้าไปตั้งโรงงานหินอ่อนที่เชิงเขานี้และได้เขียนตามรอยพระพุทธรูปเดิมให้ชัดเจนขึ้น ถือว่า เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของนครนายก ทุกกลางเดือน 3 จะมีงานนมัสการเป็นประจำทุกปี

ช่วงที่ผมไป มีลูกนิมิตรด้วย ทางวัดกำลังสร้างพระอุโบสถใหม่

บ่ายไปถึงที่พักใน ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว ส่วนที่พักใน ต.วังน้ำเขียว เต็มหมด… น่าจะดีสำหรับธุรกิจแถวนั้น ทั้งที่พักและร้านอาหาร… เย็นไปเที่ยว ผาเก็บตะวัน คือเป็นหน้าผาที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตก เอาลูกมะค่าโมงยิงหนังสติ๊กลงไปในผา (หวังว่า) จะเป็นการปลูกป่่า แต่ดูอาการแล้ว คงไม่ขึ้นหรอกครับ ป่าค่อนข้างแห้ง ถ้ามีความชื้นเสียหน่อย อาจมีโอกาสบ้าง… อย่างไรก็ตาม เก็บมาสัก 10 เมล็ด หวังว่าจะปลูกในที่รกร้างข้างบ้าน

แม่เคยทักว่า เวลาผมไปไหนมาไหน มักถ่ายรูปสัตว์มา คราวนี้ก็มีครับ เป็นลูกหมีควายกำพร้า อายุปีหนึ่ง

อ่านต่อ »


นัดพบทีม #ThaiFlood และ #ArsaDusit

4 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 20 December 2010 เวลา 23:47 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต #
อ่าน: 3922

เรื่องน้ำท่วม ยังไม่จบหรอกครับ — ผลของน้ำท่วมไม่ได้จบเพราะโทรทัศน์ไม่ค่อยรายงานเรื่องนี้อีก ไม่จบเพราะอากาศหนาวเตรียมตัวไปเที่ยวกันดีกว่า และไม่จบด้วยเทศกาลต่างๆ ของเดือนธันวาคม

วันนี้ ไม่รู้ว่าใครเริ่ม แต่มีการนัดแนะกันไปประชุมที่ kapook.com เพื่ออัพเดตข้อมูลจากการที่ทีม #ArsaDusit และ #ThaiFlood ลงไปช่วยชาวบ้านในพื้นที่นราธิวาสกับปัตตานีในหลายวันที่ผ่านมา ข้อมูลเพียบเลยครับ ผมไปถึงบ่ายสามโมงครึ่งและขอตัวกลับก่อนเมื่อสามทุ่มครึ่ง

  • ชาวบ้านในพื้นที่ประสบภัยน่าสงสารมาก บ้านไม่มีจะอยู่ มีทั้งแบบพังหมดเกลี้ยงทั้งหลัง พังบางส่วนแต่หลังคากันฝนไม่ได้ (และฝนยังตกอยู่) หรือเสียหายเล็กน้อยแต่ก็ไม่มีกำลังพอจะซ่อมแซม
  • มีพื้นที่ตกสำรวจอยู่มาก พื้นที่ที่เสียหายไม่ได้มีแต่เฉพาะชายฝั่ง ชายน้ำ ชายเขา
  • เห็นภูมิปัญญาชาวบ้านหลายอย่าง
  • เห็นความคืบหน้าของความช่วยเหลือที่ระดมผ่านมูลนิธิโอเพ่นแคร์ ต้องขอบคุณ #ArsaDusit ที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูล และทำงานฟื้นฟูเร็วมาก พื้นที่ที่ #ArsaDusit ลงไปทำงาน ไม่ซ้ำซ้อนกับทางราชการ ทีมยืนยันว่าชาวบ้านน่ารักมาก
  • มีการระดมความคิดเพื่อหาทางออกให้ชาวบ้านในพื้นที่ประสบภัย ตั้งตัวขึ้นมาใหม่ให้ได้เร็วที่สุด
  • ถ้าทำได้ ต้องการให้ชีวิตชาวบ้านดีกว่าเดิม ไม่เพียงแต่ฟื้นฟูชีวิตให้กลับมาอยู่ที่จุดเดิมเท่านั้น แต่การทำอย่างนี้ ชาวบ้านต้องตัดสินใจเองครับว่าจะเอาหรือไม่ เราทำได้แต่เพียงเสนอให้เท่านั้น ถึงอย่างไรมันก็เป็นชีวิตเขา

โดยรวมแล้ว ผมเป็นคนที่ขัดคอมากที่สุด ฮาๆๆๆ คืออย่างนี้ครับ ทั้งหมดเป็นไปเพื่อเป้าหมายเดียวกันคือฟื้นฟูชีวิตของชาวบ้านโดยเร็ว แต่คำว่าโดยเร็วไม่ได้มีน้ำหนักมากกว่าความรอบคอบถูกต้อง ถ้ามีสิ่งใดที่ไม่เข้าใจ ผมถาม (ถ้าเห็นอะไรไม่ถูกต้อง ผมจะท้วง แต่เผอิญไม่มี) และถ้าเห็นว่าสิ่งใดปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ อย่างน้อยก็ในมุมที่ผมเห็น ผมก็เสนอ ส่วนจะเอาหรือไม่เอาก็แล้วแต่ครับ

อ่านต่อ »



Main: 0.39726901054382 sec
Sidebar: 0.54589700698853 sec