ถ่านแกลบ

โดย Logos เมื่อ 18 March 2009 เวลา 0:14 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต #
อ่าน: 21921

พืชใช้ธาตุ 16 ชนิดในการเจริญเติบโต โดยได้รับคาร์บอน ออกซิเจน และไฮโดรเจนจากน้ำและอากาศ ส่วนอีก 13 ธาตุได้จากดินซึ่งดูดผ่านระบบราก

จากบันทึกชุดปุ๋ยสั่งตัดที่ผ่านมา เป็นเรื่องของธาตุอาหารหลักสามตัวคือไนโตรเจน(N) ฟอสฟอรัส(P) และโปแตสเซียม(K) ส่วนธาตุอาหารอื่นๆ เป็นธาตุรอง

อธิบายจากโปสเตอร์ ในกรณีของข้าวโพด

  • ไนโตรเจน (N) ใช้สร้างใบ ลำต้น ถ้าขาดไปผลผลิตจะต่ำ ถ้าเกินพืชจะอวบน้ำ ล้มง่าย ให้ผลผลิตเมล็ดเล็กลง
  • ฟอสฟอรัส (P) ใช้ในการเจริญเติบโตของราก ออกดอก ออกผล ถ้าขาด ลำต้นจะเล็ก ผอม แกร็น ออกดอกช้า ติดผลต่ำ
  • โปแตสเซียม (K) ใช้ปรับปรุงคุณภาพผลผลิต ถ้าขาด เมล็ดจะลีบ น้ำหนักเบา แป้งน้อย ฝักติดเมล็ดไม่เต็ม
  • ถ้าพืชขาดธาตุหนึ่งธาตุใด ธาตุนั้นจะเป็น “ตัวจำกัด” การเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของพืช

ปุ๋ยสั่งตัด จึงเป็นการเกษตรแบบเป็นวิทยาศาสตร์ เติมเฉพาะในส่วนที่ขาด ไม่ให้มากไป ไม่ให้น้อยไป ทำให้พืชมีสารอาหารที่จำเป็นต่อการให้ผลผลิตที่สูงตามศักยภาพ

แต่ผนังเซลของพืชคือเซลลูโลส (Cellulose) ซึ่งเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ประกอบด้วยคาร์บอน ออกซิเจน และไฮโดรเจน ซึ่งพืชได้จากการ “หายใจ” เอาอากาศไปใช้ในการสังเคราะห์แสง บวกกับการดูดสารอาหารผ่านระบบราก

เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อประหยัดแรงงานและเวลา ชาวนา-ชาวสวน-ชาวไร่ มักเผาซากพืช เมื่อเปิดการเผาไหม้ในอากาศ เซลลูโลสแปรสภาพเป็นก๊าซคาร์บอกไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก ก่อปัญหาโลกร้อนทับถมทวีคูณ อันจะเป็นเหตุให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว อาจอ้างเป็นเหตุกีดกันผลิตผลทางการเกษตรของไทยได้

ซ้ำร้ายกว่านั้น ซากพืชเป็นเซลลูโลสอันมีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก เมื่อเผากลายเป็นก๊าซ คาร์บอนในดิน ถูกปล่อยออกสู่บรรยากาศ ทำให้คาร์บอนในดินเหลือน้อยลง พืชจึงเจริญเติบโตได้ยากขึ้นในฤดูการเพาะปลูกถัดไป

ยิ่งทำอย่างนี้นานขึ้น คาร์บอนก็ยิ่งหายไปเรื่อยๆ แถมไนโตรเจนทั้งหมดในดิน เมื่อถูกความร้อน ก็แปรสภาพเป็นก๊าซระเหยไปหมด ส่วนโปแตสเซียมกับฟอสฟอรัสก็เปลี่ยนสภาพไปสู่รูปที่พืชใช้ไม่ได้ (บวกกับระเหยไปกับควัน) น่าจะประมาณหนึ่งในสามของที่มีอยู่ในดิน เกษตรกรกลับใช้วิธีโด๊ปปุ๋ยลงไป ยิ่งใส่มาก ก็ยิ่งจนมาก น่าเสียดายที่เกษตรกรกลับไม่เข้าใจเลย ว่าตนเป็นผู้ทำให้ดินเสื่อมสภาพ

ถ่านแกลบ “กุนตัง”

“กุนตัง” เป็นภาษาญี่ปุ่น ใช้เรียก “ถ่านแกลบ” ที่ได้จากการเผาแกลบที่อุณหภูมิสูงประมาณ 400°C คาร์บอนในแกลบจึงยังอยู่ในกุนตัง แตกต่างจากแกลบดำหรือขี้เถ้าแกลบตามโรงสีข้าว เพราะแกลบถูกเผาที่อุณหภูมิสูงกว่ามาก (ประมาณ 800-900°C) ทำให้คาร์บอนเปลี่ยนสภาพไปเป็นก๊าซคาร์บอกไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ

เกษตรกรในประเทศญี่ปุ่นใช้กุนตัง เป็นวัสดุปรับปรุงดินมานานกว่า 300 ปี มีรูพรุนจำนวนมาก ทนทานต่อการย่อยสลาย เมื่อผสมกับดิน จะทำให้ดินเหนียวโปร่ง ร่วนซุย ระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี จะทำให้ดินทรายอุ้มน้ำได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ กุนตังยังให้ธาตุอาหาร โดยเฉพาะโปแตสเซียม(P) ฟอสฟอรัส(K) และซิลิก้า(Si) เป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ดิน และใช้เพาะกล้าไว้ได้ดีอีกด้วย

การเผาแกลบกุนตัง เป็นการเผาแบบควบคุมไม่ให้อากาศเข้าไปเผาใหม้เป็นปริมาณมากเกินไป ทำให้อุณหภูมิคงอยู่ประมาณ 400°C

เตาต้นแบบ

ต้นแบบเตาเผาแกลบกุนตัง ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาจาก ศาสตราจารย์กิตติคุณ​คาซูทะเคะ คิวม่า ผลิตที่ศูนย์ฝึกอบรมวิศวกรรมเกษตร ต.บางพูน อ.เมือง ปทุมธานี 12000 โทร 0-2567-0784 ผอ.ไชยศิริ สมสกุล

วันที่ไปดู ผมไม่ได้เอากล้องไปถ่ายรูป แต่ครูบาถ่ายมาครับ หลักการเป็นอย่างนี้

  1. ใช้ถัง 200 ลิตร แบบมีฝาปิดไม่ให้อากาศเข้า
  2. ด้านล่าง เจาะช่องอากาศขนาด ใช้ท่อ 4 นิ้ว
  3. เหนือช่องอากาศ วางตะแกรงขนาด 49 รู/เมตร (เพื่อให้ฟาง หรือกิ่งไม้ที่ใส่ลงไปจากด้านบน ไปกองอยู่ เปิดให้ด้านใต้ตะแกรงเป็นที่สำหรับอากาศ)
  4. ด้านบนของถัง เจาะรูสำหรับควันออก ใช้ท่อขนาด 3 นิ้ว
  5. ท่อควัน มาเชื่อมกับท่ออีกท่อหนึ่งปลายเปิดทั้งสองด้านในแนวตั้ง (เรียกว่าปล่องควัน) — ควันไหลออกด้านบน
  6. ส่วนกลางของปล่องควัน เอาท่อเหล็กอีกท่อหนึ่งล้อมไว้ (เหมือนเป็นท่อสองชั้น) ปิดปลายด้านล่าง — ในเวลาเผาแกลบ เราจะเอาน้ำใส่ในท่อชั้นนอกเพื่อลดอุณหภูมิของควันลง เมื่อควันกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ เกาะติดกับผนังปล่องควันด้านใน ก็ไหลลงด้านล่างสู่ปลายเปิดด้านล่างของปล่องควัน กลายเป็นน้ำส้มควันไม้
  7. การเผา ใส่ฟาง หรือกิ่งไม้ลงจากด้านบนลงไปบนตะแกรงจนเต็ม
  8. จุดไฟจากด้านบนสัก 6-7 จุด พัดเร่งไฟสัก 2-3 นาที (ระวังตรงขอบซึ่งติดไฟยาก) แล้วปิดฝาถังให้สนิทไม่ให้อากาศไหลเข้าจากด้านบนอีก (อาจใช้ดินเหนียวปิด)
  9. เมื่อแกลบเผาไหม้จากบนลงล่างไปถึงตะแกรง จะได้กุนตังอยู่ในถัง
  10. ดับเตาโดยปิดช่องอากาศทั้งหมด ท่ออากาศด้านล่าง ท่อปล่องควัน ท่อน้ำส้มควันไม้ — ทิ้งข้ามคืนไว้จนเย็น

น้ำส้มควันไม้ ต้องทิ้งให้ตกตะกอนเสียก่อนประมาณ 90 วัน ชั้นบนเป็นน้ำมันใส ชั้นกลางเป็นของเหลวสีชา (ซึ่งเราจะใช้ชั้นนี้) และชั้นล่างเป็นของเหลวสีข้นดำ

เผาแกลบ 130 ลิตร (17 กก.) ได้กุนตัง 80 ลิตร (10 กก.) และได้น้ำส้มควันแกลบ 400-600 ซีซี

ข้อความเกี่ยวกับถ่านแกลบกุนตัง เรียบเรียงจากเอกสารเผยแพร่

« « Prev : ปุ๋ยสั่งตัด (3)

Next : รีเซ็ตประเทศไทย (1) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 18 March 2009 เวลา 15:27

    สนใจถ่านแกลบ

  • #2 ลานซักล้าง » เที่ยวงานนักประดิษฐ์ ประจำปี ๒๕๕๓ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 2 February 2010 เวลา 20:49

    [...] มีความแตกต่างจากเตาเผาถ่านแกลบ ที่เคยพาครูบาไปดูที่ศูนย์ฝึกอบรมวิศวกรรมเกษตร ปทุมธานีเมื่อปีที่แล้ว ผมถามน้องที่ทำว่าทำไมปล่องถึงต่อออกมาจากด้านล่าง เขาอธิบายว่าต่อจากข้างล่าง ได้น้ำส้มควันไม่มากกว่าต่อจากข้างบน [ใช่ครับ ถ้าต่อจากข้างบน ความร้อนพาควันผ่านปล่องอย่างรวดเร็ว จึงได้น้ำส้มควันไม้น้อย แต่ถ้าต่อข้างล่าง การเผาไหม้ไม่สมบูนณ์ เกิด คาร์บอนมอนอคไซด์เยอะกว่าแถมไม่ร้อนมาก ดังนั้นจึงเกิดน้ำส้มควันไม้มากกว่า ยิ่งกว่านั้น เค้ามีสามปล่องด้วยซ้ำ การทำน้ำส้มควันไม้ ก็ปล่อยควันออกในท่อใน ส่วนท่อนอก หล่อเย็นด้วยน้ำ] บันทึกเก่า [...]


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.28600215911865 sec
Sidebar: 0.18447780609131 sec