บทเรียนจากโคราช

โดย Logos เมื่อ 10 July 2011 เวลา 0:42 ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้ #
อ่าน: 3329

เมื่อวานขึ้นมาโคราช จะประชุมร่วมกับส่วนหนึ่งของทีมอาสาสมัครในพื้นที่โคราช (CSR โคราช) ทีมนี้เป็นทีมเข้มแข็งครับ มีภาคีในพื้นที่อยู่พอสมควร มีกำลังในการบรรเทาทุกข์ เข้าถึงพื้นที่ประสบภัยลึกๆ ได้

แต่น้ำใจและความทุ่มเทเพื่อพลิกฟื้นชีวิตความเป็นอยู่ของชาวโคราช หลังจากเกิดอุทกภัยใหญ่เมื่อปีที่แล้วจะน่ายกย่อง แต่การกระทำในลักษณะนี้ เป็นเรื่องปลายเหตุแล้วครับ ฟังดูเหมือนแล้งน้ำใจเหลือเกิน แต่มันก็เป็นความจริงที่ว่าความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะบรรเทาหรือเยียวยาอย่างไร ก็ไม่เหมือนเดิมหรอกนะครับ

หากชาวโคราชและชาวบ้านตลอดลำน้ำมูล จะได้บทเรียนอะไรบ้างจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปีที่แล้ว ทุกคนควรจะหันไปมองเรื่องการป้องกันอย่างจริงจังขึ้น

เมื่ออุทกภัยใหญ่คราวปลายปีที่แล้ว เกิดจากฝนตกหนักในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งมีพื้นที่ 2,168 ตารางกิโลเมตร เมื่อฝนตก 6 วันด้วยปริมาณ 600 มิลลิเมตร ส่วนหนึ่งของปริมาณน้ำฝน 1,300 ล้านลูกบาศก์เมตร ไหลบ่าไปทาง อ.ปากช่อง ลงเขื่อนลำตะคอง ส่วนอีกสายหนึ่ง ไปลงอ่างเก็บน้ำและเขื่อนลำพระเพลิง อ.วังน้ำเขียว ซึ่งไหลต่อไปยัง อ.ปักธงชัย และอ.โชคชัย

เขื่อนลำตะคองมีความจุประมาณ 320 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนเขื่อนลำพระเพลิงนั้น มีความจุเพียงประมาณ 110 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนทั้งสองมีน้ำอยู่บ้างแล้ว แต่ถึงน้ำแห้งหมดก็มีความจุรวมกันเพียงหนึ่งในสามของปริมาณน้ำฝน อย่างนี้จะไปเหลืออะไรครับ

ทางน้ำแขนงต่างๆ ของแม่มูล คดเคี้ยวอย่างน่าพิศวง (คลิก) อย่างนี้จะระบายน้ำได้ช้าเนื่องจากน้ำไหลด้วยความเร็วช้าด้วยต้องเลี้ยวไปมา ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อน้ำไหลได้ช้าแต่มีมาปริมาณไหลต่อเนื่อง น้ำก็จะยกตัวขึ้น ล้นตลิ่ง กลายเป็นน้ำท่วมไปตลอดทางอีกด้วย น้ำที่ล้นตลิ่งจะไหลไปสู่ที่ต่ำ ทำให้แอ่งกระทะตลอดลำน้ำมูลท่วมด้วย ท่วมหนัก และท่วมนาน ไปกันใหญ่แล้ว — แก้ความคดเคี้ยวของลำน้ำได้โดยฝังท่อขนาดใหญ่ ตัดโค้งของตลิ่งให้น้ำไหลผ่านได้เร็วขึ้น แต่ไม่แนะให้เอารถขุดตัดแม่น้ำลำคลองให้เป็นเส้นตรงหรอกนะครับ ผมคิดว่าทำอย่างนั้นอาจจะเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ไปด้วย

บนเขาใหญ่ มีรีสอร์ตมากมาย มากจนอะไรๆ ก็รีสอร์ต มันะจะเป็นไปได้อย่างไรครับ ที่พื้นที่เกือบสองอำเภอ จะเป็นรีสอร์ตกันหมด ตัดต้นไม้จนเหี้ยน เห็นเป็น”เนินสวย”​ (เขาหัวโกร๋นนี่มันสวยยังไง) เมื่อไม่มีร่มเงาจากต้นไม้ ดินก็ถูกแดดเผาโดยตรง น้ำแถวผิวดินระเหยไปหมด ดินแตกระแหงไม่มีความอุดมสมบูรณ์ น้ำผิวดินก็ไม่มี ความชื้นหายไป อีกหน่อยอากาศก็ไม่เย็น เมื่ออากาศไม่เย็น นักท่องเที่ยวก็ไม่มา รีสอร์ตเจ๊ง จะกลับไปทำการเพาะลูก ก็สายเสียแล้ว เพราะว่าดินเสื่อมสภาพไปแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดเมื่อรีสอร์ตบุกหรอกครับ มันเป็นมานานแล้ว

ตามเนินหัวโกร๋น ผมคิดว่าควรจะเซาะเป็นร่อง เช่นใช้จอบ (กว้างหกนิ้ว) ขุดร่องลึกสามนิ้ว ทุกๆ 4 เมตร ร่องนี้ รองรับน้ำฝนที่ตกลงพื้นที่ 4 เมตรที่อยู่เหนือขึ้นไป ถ้าฝนตกไม่หนักมาก น้ำจะไม่ล้นร่อง และจะถูกดูดซึมลงดินไปหมด แต่ถ้าหากฝนตกหนัก ก็จะมีน้ำล้นร่องได้ แต่การที่น้ำลงมาอยู่ในร่อง เป็นการชะลอความเร็วของน้ำหลากลง ให้เวลาแก่ดินได้ดูดซึมน้ำนานขึ้น ถึงน้ำจะล้นร่องไป ก็ไม่มากเท่ากับการไม่มีร่องไว้ชะลอน้ำฝนเลย

เวลาเราคิดถึงการชะลอน้ำ มักจะคิดถึงฝาย แต่ด้วยข้อจำกัดของภูมิประเทศ พื้นที่ที่เหมาะกับการสร้างฝายไม่ได้มีอยู่ทั่วไป ต่างกับการขุดร่องซึ่งเซาะได้ทุกพื้นที่ และไม่ทำให้ทัศนียภาพเสียไป — การเซาะร่องเนินเขานี้ ไม่เหมาะกับเขาที่มีความลาดชันสูง เนื่องจากน้ำที่ซึมลงดิน จะเกิดเป็นชั้นของดินเปียกและดินแห้ง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มมากขึ้น ร่องที่เซาะไว้เป็นระดับอันถูกต้อง สามารถนำน้ำจากด้านหนึ่งของเนิน ไปทิ้งยังด้านตรงข้ามที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ได้

หากจะแก้ปัญหาน้ำท่วมที่โคราช อย่ามองแต่พื้นที่โคราชครับ เพราะน้ำไม่ได้กำเนิดตรงนั้น ต้องตามไปจัดการตั้งแต่ต้นทางเลย คืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

เดี๋ยววันนี้ จะลองฟังและแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์มา ถ้าไม่ยาวจะอัพเดตบันทึกนี้อีกครั้งหนึ่งเมื่อกลับถึงบ้าน แต่ถ้ายาวก็จะเขียนอีกบันทึกหนึ่ง

« « Prev : กามนิต

Next : การประชุมกับ CSR โคราช » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 July 2011 เวลา 1:00

    น้ำท่วมใหญ่ครานั้นผมขับรถลุยน้ำหลายรอบ ตะลุยไปจนถึงพิมาย ไปพิสูจน์ด้วยตาว่าทฤษฎีถนนกั้นน้ำของผมเป็นจริงหรือไม่ รถเกือบตายกลางน้ำ

    สุดท้ายเขียนบทความ จนแหมได้ลงนสพ.ท้องถิ่นเชียวนะ พูดแล้วจะหาว่าคุย

    ท้ายสุดไปนั่งป๋อหลอ ต่อหน้านายกหน้าหล่อ ทั้งที่ไม่มีเส้นกะใครเขา จู่ๆมีโทรมาแจ้งว่ามีเก้าอี้จัดไว้ให้

    ท่านสัญญาว่าจะตั้งกรรมการทันทีเพื่อหาทางแก้ปัญหาอย่าง “ยั่งยืนแบบบูรณาการ” (อ้วก..อ้วก..อ้วก..ได้ยินคำนี้ทีไรหัวใจมันเต้นเร่า เหมือนผีเข้าทุกที)

    จนบัดนี้ แพ้เลือกตั้งไปแล้ว ก็ยังไม่มีกรรมการชุดนี้ (ทั้งที่ชื่อผมติดโผของ ngo ที่จัดรายการนายกฯพบประชาชนน้ำท่วมตั้งแต่แรก ) …โห..วันนั้นท่านยกกันมาหมดทีม ลงทุนสร้างความจริงใจก้นเหลือเกิน

    สมแล้ว..ง่าวปานนี้ก็เป็นฝ่ายค้านต่อไป จนกว่าไทยจะละลาย

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 11 July 2011 เวลา 17:58
    การทำงานในพื้นที่ประสบภัยนั้น เสี่ยงภัยมากครับ… ผมว่าไม่น่าเสียใจหรอกนะครับที่ไม่มีกรรมการชุดนั้นหรอกนะครับ สิ่งที่ไม่มีก็ไม่มี :)

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.081783056259155 sec
Sidebar: 0.13253402709961 sec