ถอดบทเรียนสึนามิที่ญี่ปุ่น 2011-03-11

อ่าน: 6000

การถอดบทเรียนที่ยากที่สุดแต่น่าจะได้ประโยชน์ที่สุด คือการถอดบทเรียนที่เราไม่ได้เรียน ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ ไม่เข้าใจบริบทและข้อจำกัดของสถานการณ์อย่างถ่องแท้ แต่สามารถเทียบเคียงกับสถานการณ์ของเราได้ เรียกว่าเรียนรู้จากบทเรียนชีวิตของคนอื่นก็แล้วกันครับ

เมื่อสี่ห้าปีก่อน ผมเคยถอดบทเรียนการจัดการสึนามิที่ญี่ปุ่นไว้ครั้งหนึ่ง คราวนี้ญี่ปุ่นก้าวหน้าไปกว่าก่อน

ระบบประเมินแผ่นดินไหว

ที่ตั้งของญี่ปุ่น อยู่แถบรอยต่อของเปลือกโลก ที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในบริเวณใกล้ๆ ได้ง่าย และเนื่องจากระยะทางใกล้มาก จึงเหลือเวลาเตือนภัย น้อยจริงๆ ระบบเตือนภัยของญี่ปุ่น ไม่มีเวลามากนักสำหรับการคำนวณอะไรมากมาย ถ้าประมาณได้ เขาจะประมาณการและประกาศก่อนทันที เพราะชีวิตคนสำคัญที่สุด ความถูกต้องตามมาทีหลังครับ

[บันทึกเหตุการณ์]

ระบบตรวจจับแผ่นดินไหวของญี่ปุ่น กระจายอยู่ทั่วทุกหัวระแหง แต่ทันทีที่เครื่องตรวจวัดตัวใดตัวหนึ่ง ตรวจจับการสั่นสะเทือนจากคลื่นปฐมภูมิ (p-wave) ได้ จะเริ่มการประมาณการความแรงและจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวทันที ถ้าตัวเลขเบื้องต้นทีความร้ายแรง เขาจะเริ่มกระบวนการเตือนภัยทันที

เมื่อผ่านไปสิบวินาที คลื่นปฐมภูมิเคลื่อนที่ไปเป็นวงกว้างมากขึ้น ย่อมผ่านเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวมากขึ้น ส่วนเครื่องตรวจวัดที่คลื่นปฐมภูมิผ่านไปแล้ว อาจได้รับคลื่นทุติยภูมิ (s-wave) เป็นการยืนยันอีก ข้อมูลเหล่านี้นำไปคำนวณอย่างรวดเร็วได้อีก โดยใช้ข้อมูลจากเครื่องตรวจวัดเพียง 2-3 ตัว ก็จะให้ข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้น

อ่านต่อ »


สึนามิกับความรู้ที่ลืมเลือน

อ่าน: 3795

เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ใกล้ชายฝั่งญี่ปุ่น มีจุดศูนย์กลางอยู่ตื้นมาก และเกิดสึนามิสร้างความเสียหายใหญ่หลวงตามมา แผ่นดินไหวเกิดขึ้นเมื่อเวลา 12:46 ตามเวลาประเทศไทย หรือ 14:46 ตามเวลาในญี่ปุ่น [รายละเอียด]

เกี่ยวกับชื่อบันทึก ถ้าเป็นความรู้(จริง)แล้ว ไม่ลืมเลือนหรอกครับ เพียงแต่บางทีเราแยกแยะไม่ออกระหว่าง

  • ความรู้ — เข้าใจทั้งเหตุและผล ปฏิบัติได้ ปรับปรุงได้ เตรียมการสำหรับอนาคตได้
  • ประสบการณ์ — เคยทำมาอย่างนี้แล้วผ่านมาได้
  • ความรู้มือสอง — เขาเล่าว่า…อย่ามาถามต่อนะ [คุณเป็นมนุษย์มือสอง]

เรื่องพวกนี้ มองดูดีๆ ก็ไม่แปลกว่าจะ “เป็น” อะไรหรอกครับ (เป็น->อัตตา) ถ้าเกิดจากความตั้งใจดี ให้ผลดีที่เตือนผู้คนไม่ให้อยู่ในความประมาท (ซึ่งความไม่ประมาทนั้น รู้ว่าจะต้องทำอะไรต่อ ไม่ใช่แค่บริกรรมว่าไม่ประมาทๆๆ แต่ทำอะไรไม่ถูก) ไม่เบียดเบียนใคร ไม่บังคับใคร ก็เป็นของดีทั้งนั้นครับ

จากประสบการณ์สึนามิตามชายฝั่งอันดามันเมื่อปลายปี 2547 ผมคิดว่าเอากลับมาเล่าเตือนความจำกันอีกครั้ง

อ่านต่อ »


สึนามิปี 2547 เกิดจากการระเบิดในอวกาศ?

อ่าน: 4451

เมื่อเวลา 0:58 UTC ของวันที่ 26 ธ.ค. 2547 เกิดสึนามิจากอภิมหาแผ่นดินไหว ความแรง M9.3 เริ่มต้นที่หัวเกาะสุมาตรา ไล่ขึ้นเหนือไป 1,200 กม. ทำให้คนตายไปสองแสนกว่าคน เป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มาก และทำให้เกิดสึนามิที่มีความรุนแรง ทำลายล้างสูงที่สุดนับตั้งแต่ภูเขาไฟกรากะตัวระเบิดในปี 2426 แผ่นดินไหวครั้งนั้น รุนแรงกว่าแผ่นดินไหวครั้งใดๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า 25 ปีอยู่ไม่ต่ำกว่า 10 เท่า

แต่ในเวลาเพียง 44.6 ชั่วโมงหลังจากเกิดสึนามิ 21:36 UTC วันที่ 27 ธ.ค.2547 ดาวเทียมตรวจวัดรังสีแกมมาหลายดวง ตรวจจับการแผ่รังสีแกมมาที่มีความรุนแรงได้จากการระเบิดในอวกาศได้ รังสีแกมมาที่วัดได้ในครั้งนั้น มีความรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยวัดได้มา

การระเบิดของรังสีแกมมาที่ตรวจจับได้ในครั้งนั้น มีความรุนแรงกว่าที่สูงที่สุดที่เคยวัดได้มาถึง 100 เท่า เทียบได้กับแสงจันทร์เต็มดวง แต่ปล่อยพลังงานส่วนใหญ่ออกมาในช่วงความถี่ของรังสีแกมมา รังสีแกมมาที่วัดได้มีลักษณะขึ้นๆ ลงๆ ส่งสัญญาณมาเป็น pulse ทุก 7.5 วินาที เหมือนกับหมุนไฟฉายไปรอบๆ ทุก 7.5 วินาที จะมีแสงกวาดมาเข้าตาเราแล้วก็หายไป อีก 7.5 วินาทีมาใหม่อีก — การระเบิดของรังสีแกมมาที่ตรวจจับได้ในครั้งนั้น ทำให้บรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียของโลก “เบี้ยว” ไป รบกวนคลื่นวิทยุในโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คลื่นยาว” มีรายงานปรากฏในสื่อประมาณเดือน ก.พ.2548 เช่น Space.com BBC NYTimes (ภายหลัง มีการแก้ไขตัวเลขต่างๆ ในข่าว เมื่อมีข้อมูลมากขึ้น)

รังสีแกมมานี้ นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์คาดว่าเกิดจากการระเบิดของดาวนิวตรอน SGR 1806-20 ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 กม. อยู่ห่างไป 20,000 ถึง 32,000 ปีแสง (ประมาณศูนย์กลางของกาแลกซี่) ปล่อยพลังงานออกมาใน 0.1 วินาที มากกว่าพลังงานที่ดวงอาทิตย์ปล่อยออกมาทุกทิศทางในแสนปี SGR 1806-20 หมุนรอบตัวเองทุก 7.5 วินาที ซึ่งตรงกับสัญญาณของการระเบิดของรังสีแกมมา (GRB) ว่ากันจริงๆ การระเบิดของรังสีแกมมาอื่นๆ ที่วัดได้ อาจจะมีความรุนแรงมากกว่านี้ แต่ว่าเพราะมันมาจากกาแลกซี่อื่น ซึ่งอยู่ห่างไกลมาก จึงมี “ความสว่าง” น้อยกว่าการระเบิดจาก SGR 1806-20 ซึ่งมองเห็นด้วยตาเปล่า และเกิดขึ้นภายในกาแลกซี่ทางช้างเผือกนี้เอง

อ่านต่อ »


สึนามิกับเกาะพีพี

3 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 31 July 2010 เวลา 13:01 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 5926

มีคนกล่าวไว้ว่าพออายุมากเข้า ก็จะชอบนึกถึงอดีต…ที่จริงมันผ่านไปแล้วทั้งนั้นครับ ชอบหรือไม่ชอบ ก็เปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วไม่ได้ ทำได้เพียงใช้ประสบการณ์ในอดีตมาเป็นบทเรียนเท่านั้น แต่ต้องแยกแยกให้ออกว่ามันบริบทเดียวกันหรือเปล่า ไม่ใช่ตะบี้ตะบันทำให้เหมือนเก่าเพื่อที่จะประสบความสำเร็จเหมือนเก่า

ผมไปเที่ยวพีพีครั้งแรกกับเพื่อนๆ ที่เรียนศศินทร์รุ่นดึกดำบรรพ์ตอนเรียนจบครับ ซึ่งนั่นก็ยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ยังไม่พลุกพล่าน(เท่าไหร่)

ต่อมาไม่นาน ได้กลับไปอีกครอบครัวของน้องเขยผมมีรีสอร์ตบนเกาะพีพี น้องสาวกับน้องเขยเจอกันที่นี่ จะว่าไปดูตัวว่าที่น้องเขยก็ได้

เมื่อยี่สิบปีที่แล้วก็ยังไม่ใช่รีสอร์ตหรู มีหาดส่วนตัวอยู่หน้ารีสอร์ตซึ่งหันหน้าไปทางตะวันออก คลื่นลมสงบเพราะมีภูเขาบังอยู่ข้างหลัง น้องเขยบอกว่าที่นี่เป็นฮวงจุ้ยมังกร (อาจจะใช่ก็ได้ครับ เดี๋ยวเล่าต่อ)… เพราะไม่ใช่บริเวณที่นักท่องเที่ยวพลุกพล่าน ทำให้มีความเป็นส่วนตัวสูง รับแขกกระเป๋าหนักจากต่างประเทศ ถึงจะเป็นในช่วงเวลาที่การท่องเที่ยวไม่ค่อยดี โรงแรมก็ยังพออยู่ได้

เมื่อสักสิบปีก่อน ตอนนั้นผมทำงานจนรู้สึกไม่ไหวแล้ว จึงลาพักร้อนเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีลงไปเที่ยวเกาะพีพีอีก และไปป่วยหนักที่นั่น ความจริงมีอาการตั้งแต่อยู่ที่ภูเก็ตแล้ว คลื่นไส้มาก แต่ด้วยความไม่รู้ ด้วยความประมาทว่าตัวเองเป็นคนแข็งแรง ไม่เคยป่วยหนัก คิดเข้าข้างตัวเองว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวก็หาย ไม่ได้ตระหนักเลยว่าเป็นอาการของหลอดเลือดสมอง… เพราะห่วงเที่ยว ก็ลงเรือไปเกาะต่อ ไปดำน้ำ จนน้องเห็นว่าอาการน่าเป็นห่วง โทรกลับมาที่บ้านคุยกับพ่อ (วิศวกรสองสาขา) วินิจฉัยอาการผ่านโทรศัพท์มือถือจากอาการที่น้องสาวเล่าให้ฟัง แล้วเห็นว่าอาจจะเป็นอาการทางสมอง ให้ส่งตัวกลับทันทีในเที่ยวบินแรก ผมจึงได้นอนโรงพยาบาลเป็นครั้งแรกในชีวิต แม้หลังจากนั้นก็ยังไม่เคยนอนโรงพยาบาลอีก

อ่านต่อ »


พื้นที่เสี่ยงต่อสึนามิ

2 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 21 July 2009 เวลา 0:16 ในหมวดหมู่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี #
อ่าน: 7084

พื้นที่ชายฝั่ง มีความเสี่ยงต่อสำนามิทั้งนั้นครับ แต่สึนามิไม่ไช่อยู่ดีๆ ก็เกิดขึ้นมาเฉยๆ แต่เกิดจากการที่แผ่นเปลือกโลกแผ่นหนึ่ง มุดลงใต้อีกแผ่นหนึ่ง (subduction zone) นานๆ ไปก็เกิดความเค้นขึ้นมหาศาล จนเมื่อความเค้นเพิ่มขึ้นจนถึงจุดวิกฤต แผ่นเปลือกโลกตรงรอยต่อทนไม่ไหว ก็ดีดตัวขึ้นมา ดันเอาน้ำที่อยู่เหนือแผ่นดินตรงนั้นเคลื่อนตัวด้วยความเร็ว เป็นคลื่นที่มีมวลน้ำมหาศาล เคลื่อนที่ไปจนไม่มีอะไรหยุดยั้งการทำลายล้างชายฝั่งได้

นอกจากนี้ สึนามิยังเกิดขึ้นได้จาก ภูเขาไฟใต้น้ำระเบิด แผ่นดินชายฝั่งถล่ม หรืออุกาบาตขนาดใหญ่ตกลงในมหาสมุทร ซึ่งทั้งหมดก่อให้เกิดคลื่นที่มีมวลหลายล้านตัน กระจายออกไปจากจุดศูนย์กลาง

ในกรณีของ subduction zone นั้น หากที่ใดเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขึ้น ก็อาจเรียกได้ว่ามีการปลดปล่อยความเค้นออกแล้ว โอกาสที่จะเกิดสึนามิขึ้นบริเวณนั้น จะน้อยลงไปมากเนื่องจากแผ่นเปลือกโลก จะต้องอาศัยเวลาอีกนานกว่าจะมีความเค้นในระดับที่มีอันตราย

ทั่วทั้งโลก มีพื้นที่อยู่สองจุดที่ยังมีความเสี่ยงสูง คือเมืองปาดัง ทางตอนใต้ของเกาะสุมาตรา ในอินโดนีเซีย บน Sunda Subduction Zone (ซุนดา) และรอยแยกนอกชายฝั่งรัฐบริติชโคลัมเบียของคานาดา มาจนมลรัฐวอชิงตัน-โอเรกอน-คาลิฟอเนียเหนือของสหรัฐ ที่เรียกว่า Cascadia Subduction Zone (คาสเคเดีย)

เมื่อคราวที่เกิดสึนามิขึ้นตามชายฝั่งอันดามันเมื่อปลายปี 2547 แผ่นเปลือกโลกสองอันคือแผ่น Indo-Australia Plate มุดลงใต้แผ่น Sunda หรือแผ่น Eurasian ที่เป็นทวีปเอเซีย ในครั้งนั้น เกิดแผ่นดินไหวเป็นแนวยาวประมาณ 1200 กม. จากหัวเกาะสุมาตรา (ที่เมืองบันดาอาเจะห์) ไปจนหมู่เกาะนิโคบา ของอินเดีย (อยู่ตรงกับระนอง) แผ่นดินไหวใหญ่ในปี 2548 เกิดขึ้นเป็นแนว 400-500 กม หน้าเมือง Nias (นีแอส) ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบันดาอาเจะห์ เหลือแนวรอยแยกประมาณ 100 กม หน้าเมืองปาดัง ซึ่งเป็นเมืองตากอากาศทางตอนใต้ของเกาะสุมาตราพอดี “ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหว”​ (ซึ่งไม่เคยทายถูก) เชื่อว่าหากเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ อาจจะมีความแรง M8.5-8.9 ซึ่งมีโอกาสเกิดสึนามิ ประกอบกับรอยแยกอยู่ไม่ไกลจากเมือง แถมเมืองเป็นพื้นที่ราบ มีประชากรแปดแสนคน จึงมีความเสี่ยงสูงมาก ที่จะเจอคลื่นสูง 5.5 เมตร พัดเข้าไปในฝั่งถึงสองกิโลเมตร และจะทำลายไปครึ่งเมือง [แผนที่]

รอยแยกอีกอันหนึ่งคือรอยแยกคาสเคเดีย มีความเสี่ยงที่น่าหวาดเสียวมาก คือเป็นส่วนต่อมาจากรอยแยกซานแอนเดีรยสอันมีชื่อเสียงของคาลิฟอเนีย คาสเคเดีย ไม่มีแผ่นดินไหวใหญ่มา 300 ปีแล้ว คาดกันว่าพื้นที่ตรงนั้นมีความเค้นมหาศาล และ “รอบปกติ” ควรจะเป็นเพียง 200 ปีเท่านั้น

เช้าวันพรุ่งนี้จะมีสุริยุปราคาไม่เต็มดวง ซึ่งไม่มีเหตุผลที่จะต้องตื่นกลัวสึนามิครับ เพราะการเกิดสุริยุปราคาไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิดสึนามิ


ครบรอบสี่ปีสึนามิ เหตุการณ์ที่เปลี่ยนทัศนะต่อสังคม

4 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 26 December 2008 เวลา 0:08 ในหมวดหมู่ สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 3542

หลังจากที่เคยให้สัมภาษณ์สมาคมผู้ดูแลเว็บไทยไว้เมื่อสามปีก่อน ผมไม่คิดว่าอยากจะพูดอะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้อีกหรอกครับ แต่ยังมีอีกประเด็นหนึ่งซึ่งผมไม่ได้พูดไว้ตอนนั้น คือเหตุการณ์สึนามิ ได้เปลี่ยนมุมมองและทัศนคติของผมต่อสังคมไปอย่างสิ้นเชิง

สังคมของเราเปราะบางและอ่อนแอเหลือเกิน แต่เราก็ยังประมาท ไม่รู้ตัวเลยว่าการที่ต่างคนต่างอยู่ ไม่มีพลัง คนที่มีความรู้ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนความรู้ให้เกิดสิ่งดีขึ้นกับตัวเองและคนอื่นได้ ไม่ต่างอะไรกับคนที่ไม่รู้อะไรเลย

เดิมที ผมมองเหตุร้ายแบบนี้ เหมือนเป็นเพียงเรื่องตื่นเต้นที่เห็นตามโทรทัศน์ แต่การที่ได้เข้าไปลงมือทำอะไรบ้าง แม้จะเป็นเพียงวงนอก ก็ทำให้ได้เห็นความเป็นไปของเหตุการณ์ — ยิ่งอยู่วงนอก ยิ่งเห็นความเป็นไปจากมุมที่คนในไม่เห็นครับ

อยู่วงนอก ตัดสินใจเองได้ พอกันทีกับคำว่า “ต้อง”

การที่ทำอยู่วงนอก เป็นการวางตัวเองไว้นอกข้อจำกัด การอยู่วงนอกเป็นคนละเรื่องกับการนั่งดู/วิจารณ์/ไม่ทำอะไร อยู่วงนอก ทำได้แบบคนวงนอก ไม่เมาหมัด อะไรไม่รู้ ก็ถาม ถามได้ไม่หยาบคายหรอกครับ ก็ไม่รู้นี่

อ่านต่อ »



Main: 0.84033703804016 sec
Sidebar: 0.46390891075134 sec