คนเมืองแบบคนป่า คนป่าแบบคนเมือง
เมื่อวานนี้ เนื๊อยเหนื่อย เพื่อนของน้องชายชื่อคุณน้องและคุณหน่อยสองสามีภรรยาที่ไม่มีลูก ชวนไปดูที่มาครับ เป็นที่แถววังน้ำเขียวและปักธงชัย ผมน่ะไม่ได้คิดจะอยู่ในเมืองอยู่แล้ว ยังติดขัดอยู่แต่พ่อแม่ที่แก่เฒ่า แม้น้องๆ ก็ดูแลครอบครัวของตัวเองกันได้ทุกคน แต่ก็ต้องเตรียมที่ทางเผื่อไว้ให้เหมือนกัน
นัดกันออกจากบ้านตีห้าครึ่ง เฮอะ…อย่างนี้ก็แปลว่าไม่ได้นอน เพราะว่าคงจะตื่นไม่ทันนะซิ แล้วก็ไม่ได้นอนจริงๆ แต่ไม่เป็นไรเนื่องจากไม่ได้ขับรถเอง ขาไปรถไม่ติดเพราะยังเช้าอยู่ แวะกินข้าวเช้าแถวหมูสี แล้วก็ผ่านไปดูที่สองแปลงของเพื่อนน้องแถวเขาแผงม้า ซึ่งเคยวิจารณ์ที่แถวนี้เอาไว้แล้วว่าชาวบ้านถางจนโกร๋นไปหมด เมื่อไม่มีต้นไม้ใหญ่ ไม่มีร่มเงาบังดิน ดินจะเสื่อมและเก็บความชุ่มชื้นไม่ได้ อีกหน่อยอากาศคงจะไม่เย็น เหมือนแถวน้ำหนาวในปัจจุบันซึ่งไม่หนาวเหมือนในอดีตแล้ว โชคดีที่เขาซื้อไว้ตั้งแต่ราคายังถูกอยู่ ที่ดินแถวนี้ราคาเพี้ยนไปมากแล้ว จนกลายเป็นราคาที่ดินที่ตั้งไว้สำหรับไปทำรีสอร์ตอย่างเดียว แต่จะเป็นรีสอร์ตกันทุกที่ไปได้อย่างไร มีอาการตีหัวเข้าบ้าน คือพัฒนาไปนิดหน่อยแล้วขายทิ้งเอากำไรซะมากกว่า ความยั่งยืนเป็นปัญหามาก แหล่งน้ำพอมีเป็นพวกลำธารลำคลองที่ไหลมาจากภูเขา แต่พวกน้ำซับนี่ผมสงสัยครับ เพราะแถวนี้มีการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าหญ้ากันเยอะมาก อาจจะเป็นปัญหากับคุณภาพน้ำก็ได้
จากนั้นก็ไปอีกฝั่งของวังน้ำเขียว ไปเยี่ยมผู้ใหญ่บ้านซึ่งรู้จักชอบพอกันมานาน อยู่แถวสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช เธอเป็นคนตรงแบบที่ไม่กลัวอิทธิพลที่จะมาเบียดบังประโยชน์ของชาวบ้านด้วย ผู้ใหญ่บ้านขอให้สามีพาบุกป่าขึ้นเขาไปดูเส้นทางท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันใหม่ เป็นห้าเขา ห้าเขื่อน สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าธรรมชาติ บางส่วนก็ปลูกแต่ดูกลมกลืนดี มีเห็ดขึ้นในหน้าร้อนนี่แหละ (ยายฉิมไม่แห้วแน่) ยอดไม้สูงลิบ หินบนภูเขาเป็นหินตะกอนขนาดใหญ่ ชาวบ้านขี่มอเตอร์ไซค์ขึ้นมาหาของป่ากัน พอมีเสียงรถผ่านมา ก็ทำเนียนชมนกชมไม้ไปเรื่อย เมื่อเห็นว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่ ก็หาของป่ากันต่อไป
ไม่ได้เอากล้องไป ใช้มือถือถ่ายได้ภาพมานิดหน่อย
พาไกด์กิตติมศักดิ์กลับมาส่ง นั่งกินกาแฟที่ร้าน “ช้างชะลูด”
จากนั้นก็ไปทางปักธงชัย ไปดูที่ 150 ไร่ ที่ผืนนี้พอได้ยินข่าวมารู้สึกแปลกใจเหมือนกันครับ เพราะมีราคาต่ำผิดปกติ ยังไงก็ต้องเข้าไปดู ฮี่ฮี่ ปรากฏว่าเป็นที่กันดาร อยู่ลึกมาก สงบดี ไม่ติดเขา อยู่เยื้องกับมหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย ซึ่งเป็นวิทยาลัยสำหรับการศึกษาของสตรีและแม่ชีโดยเฉพาะ มีลานหินตะกอนกว้างใหญ่ ต้นไม้ใหญ่ขึ้นแทรกได้อย่างประหลาด ต้นไม้ใหญ่เป็นไม้พันธุ์ดี คือต้นสูงตรงทรงดี ไม่เอน ไม่เบี้ยว แต่พื้นที่เป็นเนินสูง มีอ่างเก็บน้ำอยู่ปลายที่ แต่ถ้าต้องสูบขึ้นมาใช้คงอ่วม มีไร่มันสำปะหลังอยู่ในบางส่วนของที่ สรุปว่าไม่ติดใจเนื่องจากไม่ใช่ที่สำหรับอยู่อาศัยครับ แต่ถ้าเป็นสำนักปฏิบัติธรรมละก็ น่าจะเหมาะมาก แค่มูลค่าของต้นไม้ก็มากเกินมูลค่าที่ดินไปหลายเท่าแล้ว แต่เราจะไปตัดต้นไม้ทำไมล่ะ — กำลังหาที่อยู่ ไม่ใช่หาที่เพื่อจะทำลาย
ต้นไม้ขนาดย่อมในรูปทางซ้ายต้นนี้ จริงอยู่ที่มีร่องรอยของไฟ แต่การที่เปลือกไม้แตกเป็นร่องลึก ก็แสดงถึงการขาดน้ำเป็นเวลานานและความกันดารได้เป็นอย่างดี (มั๊ง)
จากนั้นก็กลับมาแถวสะแกราชใหม่ ที่ดินของคุณน้องกับคุณหน่อยนั้น น่าสนใจจริงๆ ครับ มีความเป็นชุมชนที่ดี อยู่ระหว่างหุบเขา เส้นทางสวยงาม เป็นธรรมชาติ มีน้ำและอากาศเย็นตลอดปี มีที่สวยหลายแปลง อยู่ติดถนนใหญ่ก็มี ข้ามห้วยเข้าไปก็มี
แล้วคุณน้องก็ถามว่าจะทำอะไรดี แหะ แหะ แต่แฟนบล็อกของผมก็คงรู้อยู่แล้วว่าผมตอบไม่ตรงคำถามหรอกครับ แผนที่ดีไม่ใช่แค่ทำอะไร แต่ควรจะเป็นลำดับก่อนหลังตามความจำเป็น ตลอดจนแผนสำรองต่างๆ และแผนที่ดี ไม่ใช่แผนที่ละเอียด (ละเอียดนัก ก็ทำเองเด่ะ) เป็นเพียงแนวทางที่สามารถปรับเปลี่ยนพลิกแพลงได้ตามสถานการณ์; ผมบอกว่ามีที่ดินมากมาย ทำอะไรได้เยอะแยะ แต่ว่าจะทำอะไรนั้น อย่าทำเอามัน อย่าให้ fixed cost กินตายก็แล้วกัน ยกตัวอย่างเช่นเพาะเห็ด (ลงทุนต่ำ ทำง่าย ขายได้ราคาดี) ปลูกผักปลอดสารพิษ (แถวนี้ทำได้จริงเพราะทุกอย่างเป็นธรรมชาติมาก)
ให้หาสิ่งที่ผู้คนจำเป็นต้องกินต้องใช้ทำไปก่อน เอาความรู้ ทุน และช่องทาง ไปสร้างงานให้กับชาวบ้านก่อน ระยะแรกก็ลงทุนให้-ไม่อย่างนั้นชาวบ้านจะเอาทุนที่ไหนมาทำ จ่ายค่าแรงให้เป็นธรรม-ชาวบ้านจะได้มีรายได้สม่ำเสมอ กำไรส่วนใหญ่เอามาชดเชยการลงทุน จนพอสมควรแล้ว ทีนี้เปลี่ยนให้เป็นวิสาหกิจชุมชนจริงๆ เลย ทำแบบสหกรณ์ก็ได้ จะเป็น social enterprise ก็ได้ แต่กำไรแบ่งกันในชุมชน ใครทำมากก็ได้มาก ทำน้อยก็ได้น้อย แต่ขอให้แบ่งกำไรส่วนหนึ่งไว้พัฒนาชุมชนด้วย อย่าให้ชาวบ้านหวังรวยลัด ขายที่ทางจนหมด แล้วถิ่นนี้ก็จะเละเหมือนที่เคยเป็นมาในที่อื่นๆ อีก
ที่เสนอไปอย่างนี้ ก็เพราะคุณน้องคุณหน่อยไม่ใช่นายทุนหน้าเลือด เมื่อมีคนมาตึ๊งบ้าน+ที่ดินกับคุณน้อง คุณหน่อยบอกไม่อยากให้ทำ ดอกเบี้ยเลยถูกมาก แต่กระนั้นก็ยังหลุด ซึ่งผ่านไปสองปี ก็ไม่ไปยึด กลับบอกว่ามีเมื่อไหร่ก็มาคืนก็แล้วกัน
คนเมือง มีโอกาส มีความรู้ ควรเอาเอาความรู้และโอกาสไปใช้ให้เกิดประโยชน์; คนป่า มีทรัพยากรธรรมชาติ ควรเข้าใจและรักษาสิ่งที่ธรรมชาติให้มา ใช้อย่างทะนุถนอม — แต่ไม่ว่าคนเมืองหรือคนป่า พอคิดรวยลัด ไม่อดทน ทุกอย่างจะเละและเกิดการเบียดเบียนกันครับ เลิกดูทีวี ช่วยลดความฟุ้งซ่านลงได้เยอะ
ขากลับ หมดสภาพ หลับมาเกือบตลอดทาง รถคงไม่ติดมาก เพราะ GPS คำนวณเวลาถึงบ้านได้แม่น
รูปจากกล้องของน้องชายครับ แน่นอนว่าไม่มีน้องชายกับไม่มีผม
Next : อย่างนี้เมืองไทยไม่มี » »
9 ความคิดเห็น
ที่แถว วังน้ำเขียว เชื่อมต่อปักธงชัย มีหลากหลายแบบ มีคนเสนอขายทุกครั้ง (นายหน้า หรือ ซื้อมาเพื่อขายต่อ) ที่มีคนเดินทางไปแถว ๆ นั้น จนชาวบ้านเห็นคนแปลกหน้ามาเมื่อไหร่ ก็จะมีคนมาเสนอให้ไปดูที่ สวยและดี…..อิอิ
การขายต่อทำกำไรกันเป็นทอดๆ (ขายกันแม้กระทั่งขายใบจอง) เป็นสาเหตุหนึ่งของเศรษฐกิจฟองสบู่ และวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ควรจะเข็ดกันได้แล้วครับ ชาวบ้านไม่รู้เลย ว่าแผ่นดินอุดมสมบูรณ์ที่เก็บกินแทนที่จะต้องทำกินนั้น เป็นสมบัติล้ำค่าที่สุด ต่อให้ขายที่ได้หลายล้านบาท ก็มีแต่จะหมดไป
ถ้ามีที่ดินแถวนี้แล้วยังไม่ได้ทำอะไร อาม่าขอแนะนำให้ร่วมโครงการ สร้างเกษตรกรเพื่อปลูกผักปลอดสารพิษเป็นเครื่อข่ายของ กสิกรรมปลอดสารพิษอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของคุณอำนาจ หมายยอดกลาง ที่กำลังจะทำโครงการสร้างเกษตรปลอดสารพิษ รุ่นละสามสิบคน อบรมปฏิบัติจริงในพื้นที่สามเดือนจนสามารถผลิตผักปลอดสารพิษได้คุณภาพ แล้วจะจัดหาที่ๆมีเจ้าของแต่ยังไม่ได้ทำประโยชน์อะไร เพื่อช่วยเกษตรเหล่านี้ให้มีที่ทำกิน ผลิตพืชผักปลอดสารพิษ โดนคุณอำนาจรับบริหารจัดการในเรื่องการขายให้ทั้งหมด ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่จนข้อพิพาทกับรัฐ..หากสนใจพี่จะประสานให้คุโยดยตรงกับคุณอำนาจค่ะ
ที่น้ำหนาว มีคนขอนแก่นไปทำผักปลอดสารพิษ ส่งออกอย่างเดียวครับ ไปสิงคโปร์และอิตาลีครับ
ผักยืนต้นปลอดสารที่สุด ไม่มีใครบ้าไปฉีดยา ต้นมะกอก มะกล่ำ มะดัน มะปริง ปลีกล้วย มะกรูด มะนาว มะพร้าว เสาวรส เพกา สะเดา ขี้เหล็ก ผักติ้ว ผักเม็ก มะรุม มะละกอ ฯลฯ
ผักล้มลุกต้องปลูกเองถึงจะไว้ใจได้ 100%
[...] [คนเมืองแบบคนป่า คนป่าแบบคนเมือง] [...]
[...] [คนเมืองแบบคนป่า คนป่าแบบคนเมือง] [...]