เตือนภัยผ่านมือถืออีกแล้ว

โดย Logos เมื่อ 12 May 2012 เวลา 7:01 ในหมวดหมู่ สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 5002

ไม่บ่อยนักที่ผมเขียนเรื่องเฉพาะกาล แต่เรื่องนี้สำคัญครับ

เช้านี้อ่านเจอข่าวรองนายกรัฐมนตรีซึ่งไปดูงานเรื่องการเตือนภัยพิบัติ ณ ประเทศญี่ปุ่น จะพูดให้เป็นธรรม ไม่บ่อยที่ผู้ใหญ่ที่ไปดูงานต่างประเทศ จะนำอะไรใหม่กลับมาเสนอหรอกนะครับ

เผอิญเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นงานที่ กทช. ควรจะทำมาตั้งนานแล้ว แต่ กทช. ก็ไม่ทำอย่างที่ควรทำ เมื่อ กทช. ล้มเลิกไป งานนี้ควรจะเป็นของ กสทช. ซึ่ง กสทช. ยังยุ่งอยู่กับแผนแม่บท มอบหมายให้กระทรวงไอซีทีทำ คาดว่าจะได้งานเตือนภัยผ่าน SMS แบบที่เป็นอยู่ด้วยความร่วมมือจากบริษัทโทรศัพท์มือถือ งานในลักษณะนี้ ในความเห็นของผม ไม่ดีพอหรอกครับ

เมื่อคราวเกิดแผ่นดินไหวทางใต้ก่อนวันสงกรานต์ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ในโรงพยาบาลในเขตเสี่ยงภัยท่านหนึ่ง ได้รับข้อความทาง SMS แจ้งเตือนหลังจากแผ่นดินไหวสองวัน ในขณะนั้นไม่มีเหตุการณ์แล้ว จึงส่งข้อความมาตรวจสอบกับผมว่าเกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า — เดิมทีท่านไปสมัครรับข่าวสารเตือนภัยทาง SMS เอาไว้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ ทางหน่วยแจ้งเตือน ก็ส่ง SMS ไปยังผู้ที่สมัครรับข่าวสารหลายหมื่นราย ข่าวทาง SMS ทะยอยส่งไปยังโทรศัพท์มือถือเรียงตัว แต่เนื่องจากมีผู้สมัครรับข่าวสารเป็นจำนวนมาก คิวจึงยาวมาก กว่าที่ข่าวจะมาถึงท่าน ก็ผ่านไปสองวันแล้ว (สงสัยว่ากลางคืนจะไม่ส่งข่าวด้วยซ้ำไป คิวจึงคั่งค้างมาก)

เรื่องนี้ไม่ถูกต้องสองอย่าง คือ เมื่อเกิดเหตุท่านไม่ได้รับข่าวสารทันเวลา และหลังเกิดเหตุท่านยังได้รับการแจ้งเตือนถึงเหตุการณ์ในอดีตซึ่งไม่มีผลแล้วและไม่รู้ว่าข้อความนั้นล้าสมัยไปแล้ว (ซึ่งเป็นอีกประเด็นใหญ่อีกอันหนึ่งว่าข้อความแจ้งเตือนไม่ลงเวลา)

ในโทรศัพท์ GSM มีคุณลักษณะอันหนึ่ง เรียกว่า Cell Broadcast (CB หรือ SMSCB) อยู่ในมาตรฐานของเครือข่าย GSM

สถานีฐานของโทรศัพท์มือถือ จะส่งข้อความ SMSCB กระจายไปถึงเครื่องลูกข่ายในพื้นที่ทุกเครื่อง โดยไม่ต้องสมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับข่าว; ข่าวสารแบบนี้ จึงเป็นข้อมูลเฉพาะพื้นที่ โทรศัพท์ทุกเครื่องที่เปิดเอาไว้จะได้รับข่าวเดียวกันในเวลาเดียวกัน สามารถนำไปใช้ได้หลากหลาย เช่นข่าวเตือนภัยฝนตกหนักทางเหนือ ก็ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้มีภูมิลำเนาอยู่ทางใต้ได้ทราบผ่าน SMS แต่ถ้าหากคนทางอีสานเดินทางเข้าพื้นที่เสี่ยงภัยทางเหนือ เขาจะได้รับคำเตือนนี้ผ่าน SMSCB ทันที — เวลาเกิดภัยพิบัติเป็นวงกว้าง แล้วจะมีทีมช่วยเหลือลงพื้นที่ไปช่วย สามารถใช้ SMSCB นัดแนะผู้ประสบภัยมารับความช่วยเหลือ หรือนัดแนะจุดปลอดภัยหรือศูนย์อพยพได้

กทช.ทำเรื่องการส่ง SMS ทีละข้อความแบบต่อคิว ซึ่งเกิดปัญหาแบบกรณีข้อความล่าช้าดังที่เล่ามาข้างต้น

เรื่องการเตือนภัยทาง SMS มีการเสนอมาตั้งแต่สมัยสึนามิปี 2547 ทางยุโรปเขาก็ใช้ ในญี่ปุ่นก็ใช้ แต่เขาไม่ใช้แบบที่เราทำกัน — ที่ผมบอกว่าเป็นงานของ กทช. แต่ กทช. ไม่ทำอย่างที่ควรทำนั้น เพราะเห็นว่า (1) กทช. ควรตรวจดูใบอนุญาตนำเข้าโทรศัพท์มือถือว่ามีคุณลักษณะรับ SMSCB ได้ตามมาตรฐานหรือไม่ และ (2) กทช. ก็ควรจะแจ้งผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือให้เตรียม SMSCB ช่องหนึ่งสำหรับข่าวสาธารณภัยในพื้นที่ และให้รับข่าวนั้นจาก กทช. หรือ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และจัดการกระจายข่าวนั้น ออกผ่านสถานีฐานในพื้นที่ประสบภัยหรือพื้นที่เสี่ยงภัย

การสื่อสารในยามฉุกเฉินนั้น ควรจะเป็นการแจ้งข่าวที่ถูกต้องและฉับไวนะครับ ลักษณะ broadcast สำหรับแต่ละพื้นที่ จึงเหมาะสมที่สุด ดีกว่าการสื่อสารแบบจุดต่อจุดเรียงลำดับการไปเรื่อยๆ อย่างที่ทำอยู่ ถ้าทำได้ ควรประสานกับทางวิทยุสมัครเล่นด้วยครับ

ชีวิตของคนไทย ควรได้รับการดูแลที่ดีขึ้น เทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือ จะใช้ให้คุ้มค่า ก็ต้องเข้าใจเทคโนโลยีก่อนครับ ตั้งแต่สึนามิปี 2547 ผ่านไปหลายปีแล้ว ระบบการแจ้งเตือนทาง SMS ของเราก็ยังเป็นเหมือนเดิมแบบที่ไม่ควรจะเป็น ต่อให้ซื้อเครื่องมือพัฒนาเข้ามาจากญี่ปุ่น แต่ถ้าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการแจ้งเตือน ก็จะไม่ได้อะไรหรอกนะครับ

« « Prev : ประชุมภาคีโอเพ่นแคร์

Next : หมู่บ้านโลก (3) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 May 2012 เวลา 7:50

    วันนี้รพ.ซ้อมรับมือแผ่นดินไหว หนึ่งในนั้นคือการสื่อสารผ่าน SMS ค่ะ ซึ่งบอกถึงข้อจำกัดและสิ่งที่เกิดขึ้นจริงตอนลงไปช่วยสึนามิ รวมถึงแผ่นดินไหวที่ผ่านมา แต่ยังไม่ทราบว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะการซ้อมในภาวะปกติ ย่อมไม่มีปัญหาในการส่ง SMS

    ซึ่งบอกที่ประชุมตรงๆเหมือนกันว่าวิทยุคลื่นสั้นนี่แหละครอบคลุม เหมาะสมที่สุด เพราะเรามีคลื่นเฉพาะในการส่งถึงกระทรวงโดยตรง เพื่อช่วยในการสั่งการ

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 May 2012 เวลา 8:17
    เป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนเทคโนโลยีไม่เข้าใจเทคโนโลยีนะครับ สักแต่ว่าทำๆ ให้ผ่านไป ไม่ได้เอาความปลอดภัยในชีวิตเป็นเป้าหมายเลย

    ในกรณีของแผ่นดินไหว คนในพื้นที่จะรับรู้การสั่นสะเทือนก่อนจะมีประกาศใดๆ นะครับ เครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวก็ต้องรอให้แผ่นดินสั่นก่อนเหมือนกัน ซึ่งพอแผ่นดินสั่น คนในพื้นที่ก็รู้แล้ว เมื่อวัดอัตราเร่งได้แล้วจากหลายๆ สถานี จะมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์นำเอาไปคำนวณหาจุดศูนย์กลาง ความลึก และความแรง ซึ่งเป็นเรื่องรายละเอียดของข่าว ไม่ได้สำคัญต่อคนในพื้นที่นัก ดังนั้นวิทยุจึงควรใช้รายงานความเสียหาย (อาการบาดเจ็บ ตึกรามบ้านช่อง เส้นทาง) ประสานขอความช่วยเหลือ และส่งคำแนะนำครับ

    เข้าใจว่าคงจะประสานกับ ปภ.จังหวัด และเครือข่ายวิทยุสมัครเล่นในพื้นที่อยู่แล้ว แต่ที่ศูนย์วิทยุต้องมีความถี่สำหรับกรณีฉุกเฉิน ทั้ง วอ.ดำ (ต้องมีใบอนุญาต) และ วอ.แดง (ใครใช้ก็ได้)

    ชื่อคนและเบอร์โทรศัพท์ก็สำคัญครับ ถ้าเครือข่ายโทรศัพท์ไม่เจ๊ง โทรถามเหตุการณ์ก่อนจะได้เตรียมตัวถูก ในภาวะวิกฤตเครือข่ายมือถือมักแน่นโทรไม่ติด ใช้โทรศัพท์บ้านมีโอกาสโทรติดมากกว่าใช้มือถือโทร 50% ตราบใดที่เครือข่ายไม่ล่ม SMS ยังไปได้ เพียงแต่ว่าอาจจะไม่เหมาะเพราะผู้รับอาจไม่รู้ว่ามี SMS เข้ามา

  • #3 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 May 2012 เวลา 21:18

    ถูกเลยค่ะ ผู้รับ SMS ไม่ได้เปิดดู เพราะในขณะนั้นช่องทางสื่อสารจะแน่นมาก โทร.ของผู้บริหารจะเต็มไปด้วยสายต่างๆที่กระหน่ำเข้ามาทั้งผู้สื่อข่าว ทั้งนาย ฯลฯ มีโทร.ของเลขาฯที่จะว่าง(ควรว่าง) และข้อความที่ส่งควรชัดเจน อย่างชร.ใช้ว่า แผ่นดินไหว ชร. ติดต่อวิทยุคลื่น… เท่านี้แหละค่ะ เพื่อใช้ช่องสัญญาณที่ดีกว่าในการจัดการ

    ที่เป็นปัญหาที่สุดจากการซ้อมครั้งนี้คือช่องสัญญาณสื่อสารทางวิทยุ เพราะเปิด 4 ช่องสัญญาณ แต่มีคนรับแค่ 2คน (เวลาทำงานจริงเรามีพนักงานวิทยุประจำการแค่ 2 คนน่ะค่ะ) เสียงตีกันมั่วไปหมดเลย ต้องแก้ไขด่วน รวมทั้งผู้สรุปสถานการณ์ต้องเร็ว ไว ได้ประเด็นชัดเมื่อมีรายงานต่างๆเข้าศูนย์วิทยุ เพื่อเสนอนาย และเมื่อนาย approve & sign ก็แจกข่าวในช่องทางอื่นได้เลย ซึ่งจุดนี้ใช้คนเยอะเชียวล่ะค่ะ (สำหรับรพ.ควรมีสัก 6 คนในการสรุปสถานการณ์ต่างๆ)

    ซึ่งข้อมูลที่จำเป็นในการบัญชาการคือ 1. ความเสียหาย ตึกร้าวกี่ตึก ถล่มกี่ตึก บริเวณใด ยังใช้ได้อยู่หรือไม่ ปิดพื้นที่แล้วหรือยัง 2. คน : บาดเจ็บกี่คน ตายกี่คน เจ้าหน้าที่สูญหายหรือเปล่า คนไข้ครบมั้ย refer เท่าไร 3. ความช่วยเหลือฉุกเฉินที่ต้องการ

  • #4 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 12 May 2012 เวลา 21:31
    ไม่ซ้อมก็ไม่เห็นจุดที่สามารถปรับปรุงได้ครับ ผมแนะให้พิจารณาทำ human mapping ด้วย ว่าใครอยู่ตรงไหน ติดต่อได้อย่างไร แล้วเขาทำอะไรได้บ้าง (อย่าเอาคนมาวางในนี้ตามตำแหน่งนะครับ บางทีไม่เวิร์ค) ละวางเรื่องโครงสร้างตามปกติไปก่อน ในภาวะวิกฤติทุกคนต้องช่วยกันแล้วครับ

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.59701204299927 sec
Sidebar: 0.73819184303284 sec