หมู่บ้านโลก (3)

โดย Logos เมื่อ 14 May 2012 เวลา 2:56 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต, สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 5413

มีหนึ่งในกลุ่มคนมีการศึกษาที่คิดจะทิ้งเมืองขอให้เล่าความเป็นมา จะขอศึกษาเพื่อนำไปปรับใช้ ผมก็ถือโอกาสนี้อัพเดตโครงการไปด้วย

แผนงานเรื่องของหมู่บ้านโลกปรับเปลี่ยนไปมาหลายครั้ง แผนที่ยังไม่ดีก็ปรับเปลี่ยนได้ครับ ถ้าไม่เปลี่ยนเป็นการดันทุรังหรือไม่ยอมรับความจริง

เดิมทีคิดจะสร้างที่พักให้ผู้ที่มาเยือนสวนป่า ตอนนี้ไม่ทำแล้ว อาคารเก่ายังใช้ได้ ทำไมจะต้องสร้างใหม่ ที่พักสำหรับวีไอพี จะลองปรับปรุงเตาเผาถ่านดูก่อน น่าจะเป็นสัดเป็นส่วนมากขึ้น หมู่บ้านโลกไม่ใช่หมู่บ้านจัดสรร (ไม่ขายที่ ไม่ขายบ้าน ไม่ให้ตัดต้นไม้ ถ้าอยากสร้างต้องขออนุญาตเจ้าที่แล้วสร้างเอง) ไม่ใช่รีสอร์ต (ไม่ใช่ว่ามีเงินจ่ายก็เข้าอยู่ได้ ถ้าไม่อยากมาเรียนรู้ อยู่บ้านสบายๆ ดีแล้วครับ ไม่มีรูมเซอวิส จะทำอะไรต้องทำเอง) และไม่ใช่โรงทาน (สวนป่ามีค่าใช้จ่าย อย่าแอ๊บลืมนะครับ)

บ้านผม ครูบากรุณาจัดที่เหมาะให้ เนื้อที่สักไร่หนึ่ง ซ่อนตัวอยู่ในชายป่า พายุมาก็พัดข้ามยอดไม้ไปหมด… ขยับมาเป็นครั้งที่สามแล้วครับ ครั้งแรกเป็นที่โล่งซึ่งตอนนี้คิดว่าเอาไปปลูกไร่ทานตะวันน่าจะดี ครูบาบอกว่าคนสันโดษ(และกวนโอ๊ย)อย่างผม อยากให้อยู่สงบๆ ไม่พลุกพล่าน ครั้งที่สองเป็นที่ขนาดสักสี่ห้าไร่คงจะได้ แต่ไม่มีต้นไม้ใหญ่เช่นกัน แล้วอยู่ห่างจากน้ำบาดาลเกินไปหน่อย ครั้งที่สามนี้เป็นทำเลที่เหมาะมาก ถูกใจทั้งท่านเจ้าของที่และผู้อยู่อาศัยจนกระทั่งครูบาเอากระต๊อบบัญชาการมาตั้งไว้ข้างหน้าที่แปลงนี้ และกินนอนมาเดือนกว่าแล้ว โซนของหมู่บ้านโลก อยู่ทางตะวันตกของบ้านผม ห่างไปสักห้าสิบเมตร

ก่อนจะตัดสินใจบอกครูบาว่าจะขอมาอยู่ด้วยเมื่อปลายปีที่แล้ว ผมหาที่ที่เหมาะสมอยู่หลายปี หลายจังหวัด หลายภาค แต่หาไม่ได้ครับ ที่ “สวยๆ” มีคนจะขายเยอะ แต่มันไม่เหมาะครับ ผมไม่ได้ซื้อมาทำรีสอร์ต ผมจะซื้อมาทำเกษตร ซึ่งที่ดินที่ทำเกษตรที่บอกขายมา เป็นที่ดินที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว เกษตรเคมี ต้นไม้เตี้ย แล้วยังต้องใช้ชีวิตแบบซื้อแหลกเหมือนอยู่ในเมือง ถ้าอาการหนักก็จะเป็นบริโภคนิยมแบบรสนิยมสูงรายได้ต่ำ แย่หนักเข้าไปอีก ผมไม่ปฏิเสธเรื่องการใช้เงินหรอกนะครับ ใช้ได้ตามแต่ความจำเป็น ซื้อพวกเครื่องมือมาทำเองจะพึ่งตัวเองได้กว่า แต่สิ่งที่หาซื้อไม่ได้คือต้นไม้ ธรรมชาติ และคนที่เข้ากันได้ครับ ที่ดินหัวโกร๋น ไม่มีร่มเงาไม้ ดินถูกแดดเผา จะร้อน ร้อน และโคตรร้อน พายุจะมีความรุนแรง

เมื่อตั้งใจไปอยู่ที่สวนป่าแล้ว ต้องทำให้อยู่ได้จริงๆ ด้วย ถ้าเสนออะไรแล้วครูบาเห็นด้วย ก็ต้องทำให้มันเกิดขึ้นจริง อย่ามัวเอ็นจอยแต่การชี้นิ้ว อยากทำให้ใช้ชีวิตอยู่ในสวนป่าโดยไม่ต้องออกไปภายนอกเลย ขนาดที่ว่าครูบา+แม่หวีอยู่ที่นี่มาสามสิบปีแล้ว มีอะไรๆ ตั้งมากมาย หมู่บ้านโลกในสวนป่าไม่ได้เริ่มจากไม่มีอะไรเลย แต่จนถึงขณะนี้ ผมปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานไปแล้วหลายอย่างแล้ว เช่น ทำถนน ถมปรับที่ ซ่อมปรับปรุงบ่อน้ำบาดาลบ่อที่สอง กระต๊อบ อิฐอัด รั้วกรงแพะสามารถล้อมคอกแพะขนาด 25 ไร่ได้สองคอกหมุนเวียนกันไป ระบบน้ำสำหรับแปลงผักใหม่ยาวร้อยเมตร ระบบ wifi ระบบเก็บกักน้ำฝน ฯลฯ ให้ครูบาเป็นคนรัวกดปุ่ม เติมเชื้อไฟเพื่อความมันในชีวิต อ้อ…ซื้อรถอีกคันหนึ่งไว้ใช้ที่สวนป่า รถเบนซ์ที่ใช้ประจำจะทิ้งไว้ให้พ่อแม่ใช้ที่บ้าน นี่ยังไม่ได้เริ่มสร้างบ้านเลยนะครับ แต่เงินเป็นเรื่องกระจอก คิดว่าทำไปให้เกิดประโยชน์ส่วนรวมก่อนดีกว่า เรื่องบ้านผมยังเป็นเรื่องเล็ก บ้านผมที่สวนป่า จะไม่พรั่งพร้อมสะดวกสบายเหมือนบ้านที่อยู่ตอนนี้ แต่ยังทำงานได้ไม่ลำบาก ถ้าเป็นไปได้ อยากสร้างบ้านเองด้วยแทนที่จะจ้างเขาสร้าง เมื่อมีที่นอนถาวรที่เก็บของได้ คราวนี้จะขนเครื่องมือไปอยู่สวนป่าได้นานๆ จะมีเวลาสร้างสิ่งที่จำเป็นขึ้นอีก น่าจะสนุก

ครูบา+แม่หวีอยู่ที่นี่มาสามสิบปี ใช้วิริยะเปลี่ยนไร่สวนที่พื้นดินร้อนจนต้องตะแคงเท้าเดิน ให้เป็นผืนป่าขนาด 600 ไร่ (1 ตารางกิโลเมตร) และอยู่ได้อย่างร่มเย็น อุณหภูมิต่ำกว่า “ภายนอก” หลายองศา เป็นสิ่งที่หาซื้อไม่ได้ แต่โลกนี้ “เจริญขึ้น” มีคนหลากหลายมาเรียนรู้ที่สวนป่า เพื่อให้ผู้มาเยือนซึ่งไม่คุ้นเคยกับสภาพตามธรรมชาติไม่ปรับตัวต้องมากนัก สวนป่าก็ควรจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่านี้ ให้คนจากในเมืองที่ยังต้องซื้อแหลกทำอะไรไม่ค่อยเป็น (ผมด้วย) ได้รับความสะดวกสบายตามสมควร

ในธัมมจักกัปวัตนสูตรอันเป็นปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้านั้น ใจความสำคัญกล่าวถึงการปฏิบัติอันไม่สุดโต่ง ทางสายกลางอันได้แก่อริยมรรคมีองค์​ ๘ และ อริยสัจ ๔… การปฏิบัติอันสุดโต่งสองอย่างซึ่งไม่นำไปสู่การหลุดพ้นนั้น ได้แก่กามสุขัลลิกานุโยคคือการประกอบตนให้พัวพันหมกมุ่นอยู่ในกามสุข และอัตตกิลมถานุโยค ซึ่งคือการประกอบตนให้ลำบากเปล่า

ในมุมหนึ่ง ถ้าผมอยู่บ้านต่อไปจะสบายมาก แต่อยู่สวนป่าก็สบายดี การไปอยู่สวนป่าไม่ใช่การทรมานตนเอง ไม่ใช่การหลบหนีหรือพิสูจน์อะไร ผมคิดว่าเมืองไทยในปัจจุบันมีปัญหาทุกจุด ดังนั้นก็ต้องแก้ทุกจุด แต่ตัวเราคนเดียวคงทำอะไรไม่ได้มาก จึงทำโครงการหมู่บ้านโลกขึ้นมา หวังจะให้สวนป่าเป็นแหล่งศึกษาวิถีธรรมชาติ ให้คนที่แสวงหา มาเรียนรู้แล้วนำกลับไปพัฒนาท้องถิ่นของตน วันนี้ถ้าคนที่มีวิชาความรู้ ไม่มองชีวิตตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ต้องรอ AEC หรอกครับ เผลอๆ จะเจ๊งก่อนนั้นอีก หากผู้คนยืนอยู่ไม่ได้ ประเทศจะอยู่ได้อย่างไร โครงการหมู่บ้านโลก ถ้าทำแล้วสำเร็จก็ดีไป ถ้าไม่สำเร็จก็ไม่มีใครเดือดร้อน (รวมทั้งตัวผมด้วย)

สิ่งที่ชัดที่สุดของสวนป่า คือที่นี่เก็บกินแทนทำกิน ครูบากับแม่หวีก็อายุมากขึ้นทุกที ลูกหลานจะดูแลก็ไม่มี ดังนั้นต้องพยายามทำให้สวนป่าอยู่ได้ด้วยสิ่งที่มี ลดค่าใช้จ่ายลงให้มาก ทั้งสองท่านเป็นผู้ให้มาตลอด ได้รับความรักความเคารพมากมาย แต่นอกจากรักเคารพแล้ว เราทำอะไรตอบแทนท่านบ้างหรือเปล่า สิ่งต่างๆ ที่ผมทำไว้ที่สวนป่า ก็ทิ้งไว้กับแผ่นดินนั่นแหละครับ มีโอกาสก็ไปเก็บเกี่ยวกันซะ

สิ่งที่คนมองไม่ค่อยเห็นคือสวนป่าเป็นที่สัปปายะ และอยู่ในทำเลที่ดี มีความเสี่ยงต่อภัยที่สามารถประเมินล่วงหน้าได้ต่ำมาก ห่างไกลรอยแยกแผ่นดินไหว ไกลจากภูเขาไฟที่ดับแล้วลูกเล็กที่อยู่ใกล้ที่สุดหกสิบกิโลเมตร น้ำผิวดินที่ไหลมาจากทางใต้ ไปตามร่องน้ำขนาดใหญ่สองร่องทางตะวันตกและตะวันออกของสวนป่าในระดับที่ต่ำกว่าสวนป่าไม่ต่ำกว่า 20 เมตร (ระดับหลังคาของตึกแปดชั้น) ทั้งสองทาง จึงมีสภาพเป็นหลังเต่า ถึงฝนตกหนักน้ำก็ไม่ท่วม สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 170 เมตร มีแหล่งน้ำบาดาลคุณภาพดีมากปริมาณไม่จำกัด มีป่าอายุ 30 ปี ต้นไม้สูง 25 เมตรขึ้นหนาแน่น เมื่อมีพายุแรงพัดมาเจอป่า จะพัดข้ามหัวไปหมด ทั้งที่ป่ายางบริเวณข้างเคียงหักโค่น ดินแข็ง สร้างที่หลบภัยใต้ดินได้ แต่ผมไม่แนะวิธีนี้เนื่องจากมีปัญหาการระบายน้ำและระบายอากาศ จะแนะการก่อสร้างบนผิวดิน แล้วเอาดินกลบจะดีกว่า

ถ้าหากไม่รู้จักพื้นที่ดีพอ ต้องเรียนรู้ให้มากโดยเร็วก่อนตัดสินใจไปตั้งรกรากนะครับ เรื่องทางกายภาพยังไม่สำคัญเท่ากับชุมชนแถวนั้น

ความมั่นคงสามแนวทาง (อาหาร น้ำ พลังงาน) สำหรับสวนป่านั้น เรื่องอาหารไม่ห่วงแล้ว แต่น้ำยังเป็นจุดตายของสวนป่าซึ่งต้องแก้ไข น้ำคุณภาพดีมีอยู่อย่างบริบูรณ์แต่มันอยู่ใต้ดินครับ ผิวดินชั้นบนของสวนป่าเป็นดินทรายเก็บน้ำไม่ได้ เมื่อฝนตก น้ำซึมหายไปหมดอย่างรวดเร็ว ดังนั้นตอนนี้ขอทำเรื่องน้ำก่อน มีบทเรียนจากคราวอาจารย์และนิสิตแพทย์จุฬามาสวนป่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เกิดไฟฟ้าดับข้ามวันข้ามคืน น้ำในแท๊งก์สูงก็หมดไป สูบน้ำก็ไม่ได้เพราะไม่มีไฟฟ้า

เช้ามืดเมื่อวานคุยกับครูบาแล้ว ว่าอย่างนี้แก้ขัดได้โดยการต่อถังสำรองน้ำฝนเข้ากับระบบ แม้ห้องน้ำชั้นสองจะยังใช้ไม่ได้เนื่องจากแรงดันไม่พอ (ไฟดับอ่ะ ใส่ปั๊มก็ไม่เวิร์ค ถ้าปั๊มจะใช้น้ำมัน สู้หาเครื่องปั่นไฟมาสูบน้ำบาดาลขึ้นถังสูงน่าจะดีกว่า) แต่ว่าวิธี gravity feed จากถังน้ำฝนนี้ ห้องน้ำ ห้องครัวชั้นล่าง ยังใช้แก้ขัดไปได้ จะแก้เรื่องนี้อย่างถาวร ก็ต้องหาแหล่งพลังงานมาจ่ายให้ปั๊มน้ำบาดาล ซึ่งผมขอให้ครูบาตรวจดูกำลังไฟฟ้าของปั๊มซับเมิร์ชของบ่อบาดาลทั้งสองตัว มีวิธีแก้หลายวิธีครับ แต่ต้องรู้ก่อนว่าใช้ไฟเท่าไหร่

นอกจากนี้ยังควรสร้างถังสำรองน้ำฝนขึ้นให้ทั่วป่า ถ้าใช้น้ำฝนไปเท่าไหร่ก็แปลว่าใช้น้ำบาดาลน้อยลงเท่านั้น น้ำบาดาลแพงเพราะมีค่ากำลังไฟฟ้าที่สูบขึ้นมา เป็นต้นทุนที่มักมองไม่เห็น การสร้างถังสำรองน้ำฝนเอาไว้เยอะๆ เป็นการใช้น้ำที่อยู่ในระดับเหนือดินเล็กน้อย มีต้นทุนที่ถูกมาก

ส่วนเรื่องพลังงาน เก็บไว้ก่อนนะครับ บันทึกนี้ชักจะยาวเกินไปแล้ว (วงเล็บเยอะด้วย)

« « Prev : เตือนภัยผ่านมือถืออีกแล้ว

Next : หมู่บ้านโลก (4) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "หมู่บ้านโลก (3)"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 2.2232050895691 sec
Sidebar: 5.1450018882751 sec