นายช่างชีวิต

โดย Logos เมื่อ 13 December 2011 เวลา 0:24 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 2908

สองสามวันนี้ ผมจะไปสวนป่า อาจจะเขียนบันทึกไม่สะดวกนะครับ ดังนั้นขอนำเอาข้อคิดของ อาจารย์โสรีช์ โพธิแก้ว ซึ่งลูกศิษย์ลูกหาร่วมกันพิมพ์เอาไว้ มาแปะไว้สักเรื่องสองเรื่อง

ผมมีโอกาสพบกับอาจารย์เมื่อวันฉัตรมลคลปีที่แล้ว ได้แง่คิดมากมาย และเขียนบันทึกไว้สองเรื่อง [บทเรียนจากสวนป่า 4-9 พ.ค.] และ [สิ่งหนึ่ง นำสู่อีกสิ่งหนึ่ง] น่าดูทั้งสองบันทึกครับ

นายช่างชีวิต

ช่างเขียนฝีมือยอดเยี่ยม บรรจุอารมณ์อันอ่อนโยน
และกราดเกรี้ยวลงบนผืนผ้าใบ ด้วยรอยแปรง ด้วยการใช้สีเข้มหรือจาง
ด้วยแสงแรเงา และด้วยสีสันอันบรรเจิดหรือหม่นหมอง
ภาพที่เขาเขียน สะท้อนการสร้างตัวของเขาเอง

ช่างปั้นฝีมือประณีต ถ่ายทอดอารมณ์สารพัน
บรรจุไว้ในขี้ผึ้งหุ่น ซึ่งเขาสร้างขึ้น ให้ผู้อื่นได้รับรู้ถึงตัวเขา

ดีที่สุด ที่ช่างเขียนจะกระทำได้
คือการเขียนรูปในผืนผ้าใบ

ดีที่สุด ที่ช่างปั้นจะทำได้
คือการปั้นขี้ผึ้งหรือปูน

มนุษย์ทุกคนเป็นช่าง เขาเป็นช่างผู้ปั้นชีวิต
ชีวิตที่เขาจะปั้นนั้น คือชีวิตของเขาเอง

บางคนปั้นรูปอันน่าเกลียด
น่าขยะแขยง น่ากลัว และน่าเบื่อ

บางคนปั้นรูปอันน่ารัก
น่านับถือ น่าเข้าใกล้ อ่อนน้อมและอบอุ่น

ปั้นตัวเองให้น่าเกลียด
โลกก็หม่นหมอง

ปั้นตัวเองให้อ่อนแอ
โลกก็เบื่อหน่าย

ปั้นตัวเองให้มีปมด้อย
โลกก็อับเฉา เคียดแค้น

ปั้นตัวเองให้เฉื่อยชา
โลกก็ขาดชีวิตชีวา

ปั้นตัวเองให้ไร้ความสามารถ
โลกก็ถูกทับถม

ปั้นตัวเองให้อิจฉา
โลกก็แข่งขันและสร้างศัตรู

ปั้นตัวเองให้คับแคบ
โลกก็ถูกกักขัง

ปั้นตัวเองให้ดูดีกว่าผู้อื่น
โลกก็จะเต็มไปด้วยความต่อต้าน

ปั้นตัวเองให้สงสัย
โลกก็จะไม่เข้าใจ หากจะชอบวิพากษ์วิจารณ์

ปั้นชีวิตให้ตายตัว
โลกก็จะไม่ต้องรับโลก หรือผลักไส

ปั้นตัวเองให้หึงหวง
โลกก็จะร้อนเร่า

ปั้นตัวเองให้กังวล
โลกก็วุ่นวาย ยุ่งเหยิง

ปั้นตัวเองให้ท้อแท้
โลกก็หยุดลง

ปั้นตัวเองให้โกรธ
โลกก็เป็นเพลิง

ปั้นตัวเองให้หยิ่งยโส
โลกก็แข็งกระด้าง

ปั้นตัวเองให้เป็นคนอวดรู้และเก่ง
โลกก็ห่างเหินและปิดตาย

ปั้นตัวเองให้น่ารัก
โลกก็ชื่นชม

ปั้นตัวเองให้อ่อนโยน อ่อนน้อม
โลกก็เบิกบาน

ปั้นตัวเองให้ยินดี
โลกก็พอใจ

ปั้นตัวเองให้มีความสามารถ
โลกก็สร้างสรรค์

ปั้นตัวเองให้กระปรี้กระเปร่า
โลกก็ร่าเริง

ปั้นตัวเองให้ปรอดโปร่ง
โลกก็อิสระเบา

ปั้นชีวิตให้ร่วมมือ
โลกก็เป็นมิตร

ปั้นตัวเองให้อบอุ่น
โลกก็น่าเข้าใกล้

ปั้นตัวเองให้มีประโยชน์​
โลกก็กว้างขวาง

ปั้นตัวเองให้ยืดหยุ่น
โลกก็เหมาะสม

ปั้นตัวเองให้เยือกเย็น
โลกก็สงบ

ปั้นตัวเองให้ทำงาน
โลกก็งอกงาม

ปั้นตัวเองให้รู้จักฟัง
โลกก็ขยายตัวและใหม่ในทุกๆ วัน

งานปั้นตัวเอง เป็นงานอันเพลิดเพลิน
เป็นสุข และท้าทาย ทั้งทำได้ทันทีและทุกที่

แปลกก็อยู่ที่ว่า
คนเราชอบปั้นผู้อื่น

จนลืมปั้นตัวเอง
และพอใจให้ตนเอง
ถูกผู้อื่นปั้น

และนี่…คือโศกนาฏกรรมอันใหญ่หลวงของมนุษยชาติ…

– จาก ชีวิต…ความงาม…ความจริง โดย รศ.ดร.โสรีย์​ โพธิแก้ว

« « Prev : เตามือถือ

Next : จิตใจอันขาดพร่อง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 krupu ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 December 2011 เวลา 1:00

    โดยส่วนตัวเข้าใจว่าแทบทฺกคนก็เคยขึ้นรูปต่าง ๆ นานา เช่นที่ท่าน อ.โสรีย์ ว่าไว้เนาะคะ เพียงแต่ถ้าสำรวจตัวเองสักนิดว่า “เลือก” ปั้นไปในรูปไหน จึงจะก่อให้เกิดความสฺขสงบที่แท้และยั่งยืนแก่ตนและผู้อื่นมากที่สฺด ถ้า รู้ ตรงนี้ใด้ก็น่าจะเลือกใด้ดีขึ้น ถ้าไม่รู้ ก็งมไปเรื่อย ๆ ปล่อยตัวปล่อยความคิดไปตามอิทธิพลของสิ่งเร้ารอบตัว อยากได้ก็จะเอาจะเอา อยากมีก็ต้องกระเหี้ยนกระหือรือจนกว่าจะมี อยากเป็นก็ยอมตะเกียกตะกาย จนแทบสะกด “ละอาย” ไม่เป็น น่าเสียดายเหมือนกันนะคะว่าถ้าเป็นถึงเจ้าของชีวิตต่กลับออกแบบไม่เป็น ปั้นไม่ถูก ชีวิตที่มีใช้ประโยชน์ได้น้อยหรือไม่ได้เลย หนำซ้ำหากทะลึ่งไปทำร้ายทำลายผู้อื่นหรือสิ่งอื่นเข้าไปอีกนี่ ยิ่งทำให้หาความหมายของการมีชีวิตนั้น ๆ อยู่ได้ยากขึ้นไปอีกอ่ะค่ะ ทำไมอ่านบันทึกจบแล้วนึกถึงคนที่เป็นเจ้าของบ้านแท้ ๆ แต่ยอมให้ใครต่อใครมาออกแบบจัดวางตามใจชอบ เอาส้วมมาไว้หน้าบ้าน ประตูก็ไม่มี หน้าต่างก็ไม่ได้เจาะ ไฟก็ไม่มี ทางน้ำทางลมก็ไม่สน ฯ ขนาดนี้แล้วเจ้าตัวยังไม่เอะใจ ยังไม่เอ๊ะซักแอะ ? ทนอยู่ได้ ?? อานนี้อีฉานก็ม่ายข้าวจายยย…

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 December 2011 เวลา 1:09
    ผมก็ไม่เข้าใจครับ รู้แต่ว่าเช้านี้จะเดินทางแล้ว แต่ยังไม่ได้เก็บอะไรสักชิ้น ดีที่ว่ามีคนขับรถให้ ดังนั้นก็จะนอนไประหว่างทางได้ครับ

    ป.ล. ปั้นพระ ดีนะครับ

  • #3 Panda ให้ความคิดเห็นเมื่อ 15 December 2011 เวลา 14:17

    อ่านจากลิ้งค์ อริยสัจ 4 ของ อ. โสรีย์….”อาจารย์โสรีช์ เรียนจบปริญญาตรีทางด้านจิตวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2510..” แล้วคิดว่า น่าจะจบจาก “คณะมนุษยศาสตร์ มช.” มากว่า “คณะวิทยาศาสตร์ มช.” ครับ

  • #4 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 15 December 2011 เวลา 23:24

    ผมชอบหลักของอ.โสรีย์มานาน และเห็นด้วย แต่ก็มีมุมมองที่ต่างไปอีกบ้าง เนื่องจากท่านอาจารย์เป็นนักจิตวิทยาและออกจะมีความเป็นศิลปินในตัวด้วย ความเป็นอิสระทางความคิด การกระทำมีสูงมาก (แอบวิจารย์อาจารยฺ อิอิ) แต่ข้อคิดดังกล่าวคนที่มีชีวิตเป็นอิสระมากๆ คือคนที่อยู่กับธรรมชาติมากๆและมีอาชีพเป็นของตัวเองไม่ได้ขึ้นกับใคร หรือขึ้นกับใครๆน้อยมากๆ แต่คนจำนวนมากในปัจจุบันมีชีวิตบนสายพานที่มันหมุนไป แปดโมงต้องถึงที่ทำงาน นั่งทำงานหน้าจออย่างเข้ม เที่ยงหยุดกินข้าว บ่ายโมงเข้าทำ
    งานต่อเร่งงานให้เสร็จตามกำหนด ห้าโมงกลับบ้าน วันรุ่งขึ้นก็เป็นเช่นนั้น วันไหนๆก็เป็นเช่นนั้น สำนึกของการปั้นตัวเองนั้นถูกระบบงานกระทำเสียจนความเป็นอิสระ หดหายไป แต่ภายใต้ระบบนี้ ก็เชื่อว่ามีคนที่สามารถปั้นตัวเองได้ท่ามกลางสภาพเช่นนั้น ซึ่งเขาคนนั้นจะต้องเข้มแข็งทางจิตใจที่สูงมากๆ ก้าวข้ามข้อจำกัด และทุกวินาทีเขาอิสระในกรงขัง ใครที่เป็นเช่นนั้น ก็คือผู้ยิ่งใหญ่ในทัศนะผมครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.63947105407715 sec
Sidebar: 0.72898411750793 sec