จิตใจอันขาดพร่อง

โดย Logos เมื่อ 14 December 2011 เวลา 0:07 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 2747

จิตใจอันขาดพร่อง

จิตใจอันขาดพร่องนั้น เป็นจิตใจซึ่งมีความขุ่นมัว หม่นหมอง วิตกกังวล โกรธเคือง ไม่พอใจ หงุดหงิด ข่มเหง คิดร้าย เคืองแค้น ผิดหวัง ซึมเศร้าและหดหู่

มันเป็นจิตใจซึ่งวางอยู่บนความปรารถนาของตน ซึ่งเกิดจากความเชื่ออันคับแคบ ความเคยชินอันตายตัวและค่านิยมประเพณีอันไม่สร้างสรรค์

ความปรารถนาของตนนั้น มักจะทำให้เกิดความคาดหวังให้เป็นไปดัง “ใจ” ตน ซึ่งมักจะทำให้เกิดความผิดหวังและขุ่นเคือง

มันจะคิดเสมอว่า สิ่งนี้น่าจะเป็นอย่างนั้น สิ่งนั้นน่าจะเป็นอย่างนี้ สิ่งนี้ไม่น่าเป็นอย่างนี้ สิ่งนี้ไม่น่าเป็นอย่างนั้น

มันเป็นจิตใจซึ่งถูกหวั่นไหวด้วยความหวาดกลัว และเป็นความกลัวว่าเหตุการณ์และสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น จะไม่เป็นไปอย่างที่ตัวเองอยากให้เป็น

มันเป็นจิตใจซึ่งพยายามเก็บซ่อนตัวเองไว้ในกรอบแห่งความเชื่อ และความคิดที่ตายตัว ไม่ยอมปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้เกิดความตายตัวไม่ยืดหยุ่น และทำให้เกิดการแก้ตัว ปกป้อง มิให้สิ่งอื่นใดมาทำให้มันสั่นสะเทือนได้

มันเป็นจิตใจซึ่งคาดหวัง คับแคบ หมกมุ่นอยู่กับมิติเล็กๆ หรือส่วนเล็กๆ ของชีวิตและของโลกอันกว้างใหญ่ไพศาล

มันเป็นจิตใจซึ่งขุ่นมัวด้วยความโกรธ อิจฉาและเหยียดหยาม ทั้งยกตนข่มผู้อื่น

มันเป็นจิตใจซึ่งรู้จักแต่การรับเอาไว้ให้หนัก ไม่รู้จักกับการปล่อยวางสิ่งที่หนักนั้นลงไป

มันขุ่นอยู่ด้วยอดีตและอนาคต และบดบังปัจจุบันอันสดใสและน่าชื่นชมไปเสีย

มันมักจะถามเสมอว่า ฉันยังไม่มีอะไร ฉันยังไม่ได้อะไร แทนที่จะถามว่าฉันมีอะไรบ้างแล้ว ฉันได้อะไรบ้างแล้ว

มันมักจะนึกถึงแต่ว่า เธอยังไม่ได้ให้สิ่งนั้นสิ่งนี้แก่ฉัน แทนที่จะนึกว่า เธอได้ให้อะไรแก่ฉันบ้างแล้ว

มันแยกชีวิตออกเป็นสองส่วน คือส่วนที่มันชอบ ส่วนที่มันเห็นว่าดี กับส่วนที่มันไม่ชอบ ส่วนที่มันเห็นว่าไม่ดี แล้วให้สองส่วนนั้นโต้แย้ง ขัดแย้ง เอาชนะกันอยู่ในใจ

มันเป็นจิตใจซึ่งทื่อ กระด้าง และไม่รู้สึก มันไม่สามารถจะสัมผัสกับอารมณ์และความละเอียดอ่อนของสรรพสิ่ง

มันเป็นจิตใจซึ่งหวั่นไหว วิตก และเต็มไปด้วยความเชื่อมั่นในตนเอง ถือดี และเย่อหยิ่งยโส

มันพบโลกด้วยความกลัว ปมด้อย เปรียบเทียบกับผู้อื่น แทนที่จะพบโลกด้วยความยินดี อันได้แก่ ยินดีในตนเอง และยินดีในผู้อื่น ยอมรับในความแตกต่าง

จิตใจอันขาดพร่องทำให้ความคิด การกระทำ และร่างกาย เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่เป็นโทษและทำลาย

– จาก ชีวิต…ความงาม…ความจริง โดย รศ.ดร.โสรีช์​ โพธิแก้ว

เวลาอ่านแล้ว ก็ไม่ต้องไปนึกถึงใครหรือพวกไหนหรอกนะครับ พิจารณาดูตัวเองตามความเป็นจริงดีกว่า มีตรงไหนบกพร่องก็ปรับปรุงเสีย แต่ถ้าไม่ชอบคำว่า “มัน” ลองเปลี่ยนเป็น “มิจฉาทิฏฐิ” ความหมายคงไม่เปลี่ยนไปนะครับ

« « Prev : นายช่างชีวิต

Next : จิตใจอันสมบูรณ์ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น

  • #1 nuntawun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 2 April 2012 เวลา 19:32

    อ่านหลายรอบกว่าจะเข้าใจ อ่านแล้วเหมือนส่องกระจก ผมเปนอย่างนั้นจิงๆ ขอบคุนพี่คอนที่นำเสนอ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.54619097709656 sec
Sidebar: 0.51541209220886 sec