กังหันน้ำก้นหอย (4)
ความรู้ที่แท้จริงนั้น จะต้องแยกความรู้สึกและความเห็นออก เหลือแต่แก่นของความรู้แท้ๆ
กังหันน้ำก้นหอย มีใช้มาตั้งแต่ยุคที่ไม่มีไฟฟ้า เป็นการเปลี่ยนพลังงานจลน์ (น้ำไหลหมุนกังหัน) เป็นพลังงานศักย์ (ยกน้ำขึ้นสูง) โดยวิธีการก็เป็นความรู้้ระดับมัธยม
แต่เครื่องมือใดๆ ในโลกนั้น ต่างก็มีข้อจำกัดด้วยกันทั้งนั้น บันทึกนี้กล่าวถึงข้อดี ข้อจำกัด และวิธีแก้ไขข้อจำกัด
- หัวตักน้ำที่อยู่ปลายท่อ มีขนาดใหญ่กว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อ เพื่อที่จะกรอกน้ำเข้าไปในท่อ แม้หัวตักน้ำยกตัวขึ้นพ้นน้ำไปแล้ว
- กังหันนี้หมุนช้าๆ ก็สามารถทำงานได้ ซึ่งเหมาะกับเมืองไทยที่พื้นที่ไม่มีความลาดเอียงมากนัก ลำธารจึงไม่ไหลเชี่ยว แต่หากลำธารมีน้ำไหลช้ามากหรือเกือบนิ่ง อาจใช้ฝายขนาดเล็ก ปล่อยน้ำออกในช่องที่เล็กกว่าความกว้างของลำธาร เพื่อเพิ่มความเร็วของน้ำ ให้ไปหมุนกังหัน
- เมื่อน้ำเข้าถึงขดในสุดแล้ว ความดันอากาศยังคงรักษาอยู่ได้โดยปล่อยน้ำออกที่ระดับสูง ตามที่คำนวณหรือทดลองไว้
- หากกังหันน้ำ ไม่สามารถส่งน้ำขึ้นไปยังระดับความสูงที่ต้องการได้ เราสามารถลดขนาดพื้นที่หน้าตัดของท่อที่ส่งน้ำขึ้นสูงนี้ลง (เมื่อพื้นที่ลดลง จะยกน้ำขึ้นได้สูงกว่าเดิม เช่นเดียวกับการบีบปลายสายยางรดน้ำต้นไม้)
ถึงแม้กังหันน้ำก้นหอย จะมีข้อดีอยู่มาก แต่ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน คือปริมาณน้ำกลับไม่มากนัก เนื่องจากใช้สายยาง ถึงจะเป็นสายยางหรือท่อขนาดใหญ่ ก็ยังไม่มากเท่ากับปัมป์น้ำอยู่ดี
วิธีแก้ไขง่ายๆ ก็คือ ทำหลายๆ วงขนานกันไป
รูปข้างบนนี้ มีขดสายยางสองชุด มีหัวตักน้ำสองหัว ใช้แกนหมุนร่วมกัน จึงสามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้เป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับการใช้ขดสายยางขดเดียว
หัวตักน้ำ อยู่กันคนละด้านของกังหัน
การเพิ่มปริมาณน้ำแบบนี้ ยังคงข้อดีของกังหันน้ำก้นหอยเอาไว้ได้ สามารถปล่อยให้ทำงานไปตลอดเวลา เพราะว่ากังหันน้ำนี้ ไม่ใช้ไฟฟ้าหรือน้ำมัน มีการสึกหรอต่ำ
« « Prev : กังหันน้ำก้นหอย (3)
Next : กังหันน้ำก้นหอย (5) » »
4 ความคิดเห็น
เจ้าท่อที่รับน้ำเข้าแล้วขดเป็นก้นหอยนั้น หากเราให้ท่อที่รับน้ำใหญ่ แล้วเล็กลงเรื่อยๆ จะเป็นเช่นใดหนอ…
-ถ้าทำท่อเข้าใหญ่และเล็กลงเรื่อยๆอย่างที่คุณบางทรายคิดนั้นแพง เราลองใช้สายยาง 2 ขนาดคือช่วงปลายเราใช้สายยางเล็กกว่ามาต่อจะช่วยเพิ่มpressureทำให้ดันน้ำได้แรงขึ้นและสูงขึ้นหรือไม่คะ ? (แต่คงจะมีรายละเอียดอีกว่า ขนาดท่อและความยาวท่อด้วย คงต้องเป็นengineerคำนวณรายละเอียดอีกครั้งนะคะ) ป้าจุ๋มสนใจคิดว่าปั๊มนี้น่าจะมีประโยชน์มากหากทำสำเร็จ ก็เลยเข้ามาแจมหน่อย ผิดถูกอย่างไรคงไม่ว่ากันนะคะ…อิ อิ
อีกอย่างหนึ่งคือถ้าขดในสุด ใช้สายยางที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเล็ก น้ำที่ทดเข้ามา ก็จะเบียดให้อากาศเหลือปริมาตรน้อยลง (ซึ่งแปลว่าแรงดันสูงขึ้น) แต่ถ้ามากเกินไป น้ำจะไหลข้ามความโค้งของสายยาง กลับจะไม่สามารถสร้างแรงดันขึ้นได้เลยครับ