คืนแม่
อ่าน: 5113เมื่อคืนเป็นวันก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงมีพระราชดำรัส มีความตอนหนึ่งว่า
…ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับที่ศิริราช ทรงปฏิบัติพระราชกิจตามปกติ เช่น พระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้บุคคลต่างๆ เฝ้าฯ หลายครั้ง ท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้ไปเฝ้าฯ หลายครั้งแล้ว เพื่อทรงติดตามปัญหาความทุกข์ยาก ของประชาชนทั่วประเทศ เรื่องที่ทรงห่วงมากระยะนี้ ก็เรื่องน้ำ ปัญหาเรื่องน้ำ ตั้งแต่ตอนที่ฝนทิ้งช่วง ประชาชนประสบปัญหาภัยแล้ง ต้องทรงส่งฝนหลวงไปช่วย จนถึงขณะนี้ฝนตกมาแล้ว ก็ยังทรงติดต่อตามข่าว และสถิติทุกอย่าง เพื่อเตรียมการไว้สำหรับป้องกัน หรือแก้ปัญหาต่างๆ ที่อาจจะมีมาอีก
ฝนหลวง คือ วิธีการทำให้เกิดฝน ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงค้นและพัฒนามาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๘ เพื่อช่วยประชาชนในท้องถิ่น ที่ขาดแคลนน้ำ แต่ก็ไม่ใช่ว่า จะทำฝนหลวงได้ทุกพื้นที่ ทุกเวลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งว่า ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ ทรงอธิบายว่า ต้องมีเมฆ และความชื้นในอากาศเพียงพอ จึงจะทำได้ โครงการฝนหลวง มีผลงานเป็นที่รู้จักกันดี และเป็นที่เรียกร้องของประชาชนเสมอ ในยามที่ฝนทิ้งช่วงนานๆ จนเกิดปัญหาภัยแล้ง อย่างในปีนี้ น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีปริมาณน้อย และลดลงอย่างรวดเร็ว ปริมาณฝนสะสมตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ถึง ๒๘ กรกฎาคมนี้ มีน้อยกว่าปีที่แล้วถึง ๑ ใน ๔
ทางราชการได้ออกประกาศเตือน ให้ชาวนา ชาวไร่ ลดการปลูกพืชฤดูแล้ง พยายามปลูกพืช ที่ใช้น้ำน้อยแทน แต่ประชาชนก็ยังปลูกมากกว่า ที่ทางราชการวางแผนไว้ถึง ๖๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ส่วนมากเป็นการปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งต้องใช้น้ำมากเสียด้วย ข้าพเจ้าก็เห็นใจ และเข้าใจชาวนา เพราะเมื่อข้าวได้ราคา และนาว่าง ก็อยากจะปลูกข้าวต่อไป แม้จะทราบว่าน้ำไม่พอ บางคนก็ยอมเสี่ยง เผื่อว่าโชคดี ฝนอาจจะมาเร็ว แต่เมื่อฝนไม่ตก ข้าวก็เหี่ยวแห้งรอวันตาย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงติดตามเรื่องสถานการณ์น้ำ อยู่ตลอดเวลา แม้ระหว่างประทับพักฟื้นอยู่ ที่โรงพยาบาลศิริราช ก็ไม่ทรงว่างเว้นเลย เดือนมิถุนายนนี้ ทรงขอให้สำนักฝนหลวง และการบินเกษตร ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษ ในภาคเหนือ ๔ แห่งด้วยกัน ภาคอีสาน ๑ แห่ง ภาคกลาง ๑ แห่ง เพื่อเพิ่มน้ำให้เขื่อนใหญ่ ๕ แห่ง คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ระดับน้ำก็กระเตื้องขึ้นมา และพื้นที่แห้งแล้งภายนอกก็ลดลง
การทำฝนหลวงนี้เป็นที่สนใจ นานาชาติอย่างกว้างขวาง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจดสิทธิบัตรการทำฝนหลวงไว้แล้ว ใครจะใช้เทคโนโลยีฝนหลวง ต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน หลายชาติมาศึกษาดูงาน ในประเทศไทย บ้างก็ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ใช้เทคโนโลยีฝนหลวง เช่น เมื่อเร็วๆ นี้ ทางรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นรัฐที่ค่อนข้างแห้งแล้งอยู่เสมอ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ใช้เทคโนโลยีฝนหลวง พระองค์ท่านก็พระราชทาน แสดงให้เห็นว่า พระมหากรุณานั้นมิได้จำกัดอยู่เพียงราษฎร ในประเทศไทยเท่านั้น แต่แผ่กว้างไปถึงชาวโลกด้วย
ซึ่งข้าพเจ้าก็ภาคภูมิใจ ที่พระปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน มีส่วนช่วยดับทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ ในนานาประเทศ ซึ่งบางประเทศนั้น ก็มีชื่อเสียงทางเทคโนโลยีด้านอื่นๆ ยิ่งกว่าประเทศไทยด้วยซ้ำไป และจากที่บ้านเราฝนแล้งมาระยะหนึ่ง ต่อไปนี้จะมีข่าวดี ที่พึงต้องระวังไปพร้อมกัน เพราะมีแนวโน้มของสภาพอากาศว่า ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึงตุลาคมปีนี้ ประเทศไทยจะมีฝนมากกว่าปกติ ข่าวดีก็คือ เราจะได้มีน้ำสำรองไว้ใช้ในปีหน้า แต่ที่ควรระวังคือ ปัญหาน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมที่จะตามมา ดังที่เราเห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ ในระยะนี้
เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม นี้เอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้คณะผู้บริหาร สถาบันสารสนเทศน้ำ และการเกษตร เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลรายงาน สรุปสถานการณ์น้ำ ได้รับสั่งให้ย้ำทุกหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเรื่องน้ำทั่วประเทศ ให้ช่วยกันวางแผน เพื่อรับมือปัญหาน้ำที่ขาดแคลน เป็นประจำทุกฤดูแล้ง และจะขาดแคลนมากขึ้น ในอนาคต โดยให้คำนึงถึงการประสานประโยชน์ ไม่เน้นด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป…
แผ่นดินไทยให้ผมมาทุกอย่าง จนผมสามารถเขียนเรื่องน้ำต่อกันมาหลายบันทึกแล้ว เขียนเรื่องน้ำนี้เพราะสำคัญต่อทุกคน แต่ยังคิดว่าคนไทยเราทำเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควรเพราะยังมีน้ำประปาอยู่ อาจจะคิดว่าตัวคนเดียวทำอะไรไม่ได้มาก ที่จริงทุกคนทำกันคนละนิด ก็จะเกิดผลใหญ่ได้ครับ
ป่าเก็บความชุ่มชื้นไว้ในดิน ร่มเงาไม้บังผิวดินไว้ ไม่ให้แดดเผาทำลายความอุดมสมบูรณ์ของผิวดิน เมื่อดินไม่ถูกเผา ก็ช่วยให้เมฆก่อตัวได้ง่ายขึ้น
ในเวลาที่มีน้ำมาก ต้นไม้ แม้จะเป็นวัชพืช จะช่วยชะลอไม่ให้น้ำหลากมาเร็ว ลดความรุนแรงในการทำลายล้าง
เมื่อฝนตกหนัก น้ำก็จะไหลลงมาที่ต่ำตามร่องน้ำต่างๆ หากเป็นพื้นที่ที่ไม่ลาดชันเกินไปจนมีโอกาสเกิดดินถล่ม การเจาะรูเพื่อให้น้ำไหลลงไป เติมน้ำใต้ดินซึ่งเป็นต้นทางของน้ำผุด ต้นน้ำลำธาร จะช่วยลดความแรงของน้ำหลากลงได้นิดหน่อย แล้วก็เป็นการเก็บน้ำสำรองเอาไว้ใต้ดินไม่เสียพื้นที่ ถ้ามีกำลัง ก็อาจจะรีบหาพื้นที่หรือขุดสระเก็บกักน้ำไว้ใช้ในยามขาดแคลน ปริมาตรที่ขุดขึ้นมา สามารถผันเอาน้ำที่มีมากเกินความจำเป็นไปลง บรรเทาน้ำท่วมได้บ้าง
น้ำต้นทุนของประเทศ วัดที่ปริมาณน้ำในเขื่อน เมื่อต้นปีนี้มีน้ำต้นทุนน้อยนะครับ ด้วยภาวะแห้งแล้งยาวนานตั้งแต่ต้นปี ระดับน้ำในเขื่อนลงไปถึงระดับวิกฤตหลายเขื่อน เขื่อนขนาดใหญ่เหลือน้ำน้อยจนเกือบจะปล่อยน้ำไม่ได้อยู่แล้ว ตอนนี้ดีขึ้นบ้าง แต่ยังเหลือความจุอีกเยอะ เขื่อนป่าสักแห้งสนิท ทำให้สถานการณ์น่าเป็นห่วงมากว่าปริมาณน้ำต้นทุนของปีหน้า จะวิกฤตกว่าปีนี้อีก — แล้วเราก็ยังไม่ทำอะไรกันจริงจัง ยังชิลชิลเหมือนเดิม
ในต่างประเทศ มีข่าวเล็กๆ แต่มีนัยสำคัญมากต่อความเป็นอยู่ของคนเป็นจำนวนมาก คือ Drop-for-drop: PepsiCo pledges to replenish the water it uses บริษัทอาหารและเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งที่มีกิจการทั่วโลก เติมน้ำที่ใช้ไปคืนกลับสู่แหล่งน้ำ พอไปอ่านในรายละเอียดแล้ว เป็นการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ในกิจการของบริษัททั่วโลก ซึ่งเมื่อปีที่แล้วเมื่อเทียบกับสามปีก่อนหน้านั้น เสมือนกับประหยัดได้ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร (ไม่ได้ประหยัดน้ำจริงๆ ทั้งหมด มีส่วนที่ประหยัดไฟฟ้า แล้วเทียบกลับไปเป็นไฟฟ้าพลังน้ำ) ในอินเดีย บริษัทได้ส่งเสริมใช้วิธีทำนาโดยใช้น้ำน้อย จำนวน 16,440 ไร่ มีการเก็บกักน้ำฝนเพื่อใช้ในการผลิตและเติมแหล่งน้ำใต้ดินด้วย
ภาษีนิติบุคคลของไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อยู่ดีๆ ไปลดให้ก็จะแปลกครับ รัฐจะไม่มีรายได้ไปจัดสวัสดิการให้ประชาชน บรรดา CSR ก็เป็นการยกป้ายถ่ายรูปกันเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำไมรัฐไม่ลองดูวิธีให้หักค่าใช้จ่ายสำหรับการประหยัดพลังงานกับการประหยัดน้ำกันบ้าง เพราะการประหยัดน้ำ ประหยัดพลังงาน ส่งผลโดยตรงต่อทุกคนโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านการจัดซื้อจัดหาจัดการของทางราชการ
เวลาน้ำน้อย มีเงินก็ซื้อไม่ได้ เวลาน้ำมาก ทุกคนก็เดือดร้อนกันหมด เรื่องของน้ำเกี่ยวพันกับทุกคน คงต้องช่วยกันนะครับ อย่าไปคิดว่ามีเงินซื้อน้ำเลยครับ ภูเก็ต/กระบี่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ อยู่ติดทะเล แต่ขาดน้ำ เวลาไม่มีน้ำ ขายน้ำจืดกันคิวละร้อยบาทนะครับ (ถามจากคนเคยซื้อ)
ชื่อบันทึก คืนแม่ หมายถึงคืนทรัพยากรที่เราใช้ให้กับแม่พระธรณีครับ
« « Prev : พิพิธภัณฑ์ พุทธธรรม พระบรมสารีริกธาตุ
2 ความคิดเห็น
ช่วงนี้ฝนตกทุกวัน
ความชื้นสะสม
ต้นไม้ใบหญ้ารอปุ๋ย ควรใส่ช่วงนี้
ภาชนะใส่น้ำควรล้างแล้วรับน้ำสะอาดใหม่ๆ
ชื้นมากๆ ยุงก็มาก ไข้เลือดเข้าไข้เลือดออกระบาด
คนป่วยควรไปตรวจเลือด กับป้าหวาน อิอิ
ถ้าจะให้เกิดประโยชน์ ต้องส่งน้ำลงไปในดิน ให้ไปทำให้ดินอ่อน ละลายสารอาหาร ปลายรากจึงจะดูดซึมสารอาหารขึ้นมาเลี้ยงลำต้นได้