ทำนาโดยใช้น้ำน้อย
อย่าได้แปลกใจเลยครับ ที่คนไม่เคยทำนาจะ(ดัดจริต)มาเขียนเรื่องการทำนา สถานการณ์น้ำวิกฤติมาก น้ำในระบบชลประทานมีไม่พอที่จะทำอย่างที่เคยทำมาอีกแล้ว และคาดว่าจะมีวิกฤติการณ์น้ำรุนแรงต่อเนื่องไปอีกหลายปี ต่อให้อยู่ดีๆ มีปาฏิหารย์น้ำเต็มเขื่อนขึ้นมาได้ ถ้าเราไม่เปลี่ยนวิธีใช้น้ำ ก็จะยังเจอปัญหาแบบที่เคยเจอ แต่คราวนี้น้ำหมดเขื่อนแล้ว จะแก้ไขสถานการณ์ลำบาก — วันนี้ เขตเมืองยังมีน้ำประปา นอกเขตเมืองยังมีประปาชนบท ประปาภูเขา หรือน้ำบาดาล เราเพลิดเพลินกับการใช้ โดยไม่คิดจะเติมน้ำต้นทุน วันไหนน้ำหมด วันนี้มานั่งเสียใจก็สายไปแล้วนะครับ (บ่อบาดาลเติมน้ำได้แต่ก็ไม่ทำ อ่างเก็บน้ำก็เติมได้โดยทำร่องให้น้ำฝนไหลมารวมกัน ฯลฯ)
ทำนาเคยได้ 50-60 ถังต่อไร่ ถือว่าอยู่ได้ ถ้าไป 80-100 ถัง ก็เยี่ยมเลย ลือกันไปสามบาง แต่ถ้า 120 ถัง ได้ออกทีวีแหงๆ พอมีระบบชลประทาน ก็แห่กันทำนาปรัง แล้วพอราคาข้าวขึ้นสูง ทีนี้ทำนาปรังกันสองรอบเลย แต่ผลผลิต(ที่ไม่วายวอดไปจากภัยแล้ง) ตกลงมาเหลือ 25 ถัง แถมใช้น้ำเพิ่มขึ้น 3 เท่าเพราะทำนาสามรอบ เราไม่มีปริมาณน้ำสำรองเพิ่มขึ้นจากเดิมนะครับ แต่ใช้น้ำทำนามากกว่าเดิม มีประชากรที่ต้องการใช้น้ำมากกว่าเดิม
ไม่ได้โทษการทำนาปรังหรือนาปีหรอกครับ แต่อยากบอกว่ามีวิธีทำนาแบบที่ใช้น้ำน้อยลง และให้ผลผลิตมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ผมไม่ได้บอกให้เชื่อ แต่อยากให้ลองคิดดู ถ้าเห็นว่ามีเหตุผล ก็อาจลองทำดูในแปลงเล็กๆ ก่อน นาปีกำลังจะเริ่มแล้ว ต้องเตรียมการก่อน
ระบบการเพิ่มผลผลิตข้าว (System of Rice Intensification — SRI)
เป็นระบบการจัดการรวมระหว่าง พืช(ข้าว) ดิน น้ำ และสารอาหาร(ปุ๋ย) ซึ่งอาจจะลดการใช้น้ำลงได้ 25-50% โดยที่เพิ่มผลผลิตได้ถึง 50-100%
เพื่อไม่ให้เสียเวลา สรุปวิธีการและเหตุผลง่ายๆ ดังตารางข้างล่างครับ ส่วนรายละเอียด ดูได้จากลิงก์ต่างๆ ที่ให้ไว้
ใช้ต้นกล้าอ่อนมากๆ อายุเพียง 8-12 วัน ซึ่งมีใบอ่อนเพียงสองใบเท่านั้น | กล้าอ่อน+ใบเลี้ยง อยู่ในช่วงที่รากกำลังเจริญเติบโต |
ปักดำอย่างระมัดระวังไม่ให้รากช้ำเสียหาย | เพื่อให้รากได้เจริญเติบโตในดินอย่างมั่นคง |
ทีละต้น ไม่ใช่ทีละกระจุก | ปักดำครั้งละต้นเดียว เพื่อไม่ให้รากของต้นกล้าแย่งอาหารกันเอง |
เว้นช่องว่างห่างกว่าปกติ เป็นแถวเป็นแนวขนาด 25×25ซม. 30×30ซม. 40×40ซม. หรือ จะห่างขนาด 50×50ซม. แล้วแต่พันธุ์ข้าว ถ้าดินสมบูรณ์มาก ใช้ระยะห่างได้มาก | เว้นที่ว่างไว้ให้ รากข้าวได้เติบโตเต็มที่โดยไม่ต้องแย่งอาหารกันเอง แถมยังใช้พันธุ์ข้าวน้อยลงกว่าวิธีการดั้งเดิมด้วย |
ดิน: เป็นดินที่ชื้น แต่ไม่มีน้ำขัง ทำให้จุลินทรีย์ในดินเติบโต(ทำงาน)ได้ | ช่วยให้ประสิทธิภาพของระบบรากดีขึ้น เร่งการเจริญเติบโตของต้นข้าว และนำมาสู่ผลผลิตที่มากขึ้น |
น้ำ: รดดินพอให้เปียกเท่านั้น แต่หลักใหญ่คือจะไม่ผันน้ำเข้านาจนท่วม แล้วให้ข้าวโตหนีน้ำ — บางทีถ้าไม่มีแรงงานรดน้ำ ก็ใช้ผันน้ำเข้าแค่ท่วมดิน แล้วระบายออกเป็นรอบทุก 3-5 วัน | ใช้น้ำเฉพาะเพื่อให้ระบบรากของต้นข้าว ละลายสารอาหารในดิน เพื่อนำไปเสริมสร้างการเจริญเติบโตของข้าว จึงใช้น้ำน้อยกว่าการทำนาแบบที่ทำกันอยู่ในเมืองไทย ยิ่งกว่านั้นเพราะไม่มีน้ำท่วมนา จึงไม่มีการหมักเน่าของซากพืชซากสัตว์ในนา ลดการปล่อยก๊าซมีเธนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีฤทธิ์รุนแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 20 เท่า |
ปุ๋ย: ขึ้นกับสภาพดิน แต่พบว่าปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์อื่นๆ ให้ดีกว่าปุ๋ยเคมี | ปุ๋ยคือสารอาหารสำหรับการเจริญเติบโตของข้าว ปรับสภาพดินให้เหมาะ |
วัชพืช: เพราะว่าแนวปลูกอยู่ห่างกันกว่าวิธีดั้งเดิม จึงสามารถพรวนดินโดยไถระหว่างช่องได้ | การพรวนดิน เป็นการเติมอากาศลงในดิน ทำให้รากทำงานได้ดีขึ้น วัชพืชที่ถูกพรวนไปพร้อมกับดิน กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ไปในที่สุด |
- โฮมเพจ SRI มหาวิทยาลัยคอร์แนล
- คู่มือ SRI ภาษาไทย
- WWF ทดลองปลูกข้าวที่ให้ผลผลิตมากแต่ใช้น้ำน้อย
- Wikipedia
- วิดีโออังกฤษปนไทย ถ่ายจากศูนย์การเรียนรู้ในจังหวัดร้อยเอ็ด
- วิดีโอความสำเร็จในประเทศอื่นๆ
- BBC: ความสำเร็จในศรีลังกา
- วิดีโอพรวนดินระหว่างแนวปลูกเพื่อกำจัดวัชพืช — ตัวอย่างนี้ใช้รถไถติดเครื่องยนต์ขนาดเล็ก แต่จริงๆ แล้วสำคัญที่วงล้อที่คราดกับพื้น (ดูค้นหาข้างล่าง)
- ค้นหาข้อมูลอื่นของ SRI
- ค้นหาเครื่องมือพรวนดิน
6 ความคิดเห็น
มีแบบไม่ใช่น้ำมั้ยคะ ถามจริงนะเนี่ยไม่ได้กวน
สงสัยว่าระบบรากคงไม่สามารถทะลุทะลวงได้เก่งเท่าไหร่ จึงต้องอาศัยน้ำทำให้ดินอ่อน และละลายสารอาหารในดินมาสร้างการเจริญเติบโต — ซึ่งถ้านั่นเป็นวัตถุประสงค์ของการใช้น้ำ เราก็ควรใช้เท่าที่จะสร้างประโยชน์ได้ครับ
เดิมทีชาวนาเอาน้ำเข้านา ให้ท่วมต้นกล้าเพื่อให้ข้าวโตหนีน้ำ (ถ้าหนีไม่ทันก็ตายแหงแก๋) แล้วกำจัดวัชพืชไปด้วยอีกถ่ายหนึ่ง ซึ่ง SRI กำจัดวัชพืชด้วยการไถพรวน เติมอากาศให้ดิน ให้รากทำงานได้ดีขึ้น และไม่ต้องใช้น้ำมากเท่ากับวิธีดั้งเดิม
[...] คงเป็นแบบครูบาว่าไว้ คนกรุงเทพไปไหน มันก็ถางแหลก ตอนนี้วัฒนธรรมเมืองแพร่ผ่านทีวี ทำให้เราถางป่ากันทั่วประเทศ คิดจะมาปลูกป่าตอนนี้ ทันซะที่ไหน ตอนจะถางทำไมไม่คิดก่อน… วิธีปลูกพืชก็ต้องเปลี่ยนแปลงครับ [ทำนาโดยใช้น้ำน้อย] [...]
[...] ในอินเดีย บริษัทได้ส่งเสริมใช้วิธีทำนาโดยใช้น้ำน้อย จำนวน 16,440 ไร่ [...]
[...] เทียบกับวิธี SRI (การทำนาโดยใช้น้ำน้อย) แล้วจะเป็นอย่างไร ? — ขณะนี้น้ำเยอะแล้ว ดูจะไม่เป็นประเด็น แต่ว่าน้ำจืดจะหายากขึ้นเรื่อยๆ จึงควรหาคำตอบให้ได้ก่อน ว่าวิธีไหนดี [...]