องค์นี้ ท่าจะขลัง

โดย Logos เมื่อ 7 December 2009 เวลา 21:03 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต #
อ่าน: 7074

วันนี้เป็นวันหยุดชดเชย ทั้งๆ ที่รู้ว่า ผมก็ออกไปนอกบ้านไปหาซื้อเครื่องมือช่าง คืออย่างนี้ครับ เมื่อคราวไปสวนป่าเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เห็นฤๅษีอ้นแกะไม้เป็นพระ ชอบมาก ชอบจริงๆ คิดจะทำบ้าง องค์แรกจะทำให้พ่อ ไม่ปลุกเสก อาจจะไม่ถูกพุทธลักษณะ แต่มีความสุขที่จะทำ และตั้งใจทำให้พ่อครับ

พ่อเกิดวันจันทร์ มีพระประจำวันเกิดเป็นปางห้ามญาติ พระอาจารย์ชัยวุธบอกว่ายกสองมือเป็นปางห้ามสมุทร ยกมือเดียวเป็นปางห้ามญาติ… โอ ดีที่กลับไปอ่านบันทึกเก่า เพราะถ้าค้นเว็บจะเจอรูปทั้งสองปางภายใต้คำบรรยายเดียวกัน ก็จะงงอีก

ตอนเย็น จึงไม่ตัดหญ้า/ปลูกต้นไม้/ให้อาหารหมา แต่ไปหาเลื่อยมาตัดท่อนไม้เก่าที่แห้ง ได้ทรงกระบอกขนาดพอเหมาะ เนื้อไม้ไม่แข็งเกินความตั้งใจ

จากนั้นก็เริ่มกำหนดสัดส่วนความสูงขององค์พระ (จากเส้นผ่าศูนย์กลางของฐาน) เอาดินสอร่างไว้เป็นแนว แล้วก็เริ่มขุดเลยครับ ใช้สิ่วแกะไม้แบบเด็กๆ นั่นแหละ ผมเริ่มขึ้นรูปจากด้านหลังก่อนเพราะค่อนข้างเรียบ ไม่ได้เล่นอะไรอย่างนี้มาตั้งแต่อยู่โรงเรียนแล้ว สนุกดีครับ ผลลัพท์เป็นดังนี้

ทำไปได้นิดเดียว แสงก็ยังไม่หมด แต่ทำต่อไม่ได้หรอกครับ คือว่าการควบคุมกล้ามเนื้อเล็ก เช่นแขน/ขา/นิ้วของผมนั้น มันไม่ค่อยเชื่อฟังสมอง ดังนั้น แทนที่จะไสสิ่วไปบนไม้ สิ่วกลับไถลมาไสไปบนนิ้วของผม เลือดออกเยอะแยะ เอามือกดห้ามเลือดจนหยุดแล้ว ก็ยังออกมาอีกสองสามยก แดงฉานไปหมด แล้วนิ้วผมก็เป็นดังรูปข้างล่าง

อืม อย่าว่าทำแผลไม่เป็นเลยครับ ล้างแผลแล้ว เอาสำลีกดแผลไว้ แล้วพันพลาสเตอร์ให้แน่น กลัวเลือดออกมาอีก (สองสามรอบก่อน เลือดออกเยอะ กลัวเลอะเทอะครับ) ตื่นขึ้นมา ไม้รู้ว่าจะอักเสบหรือไม่ ถ้าไม่ก็จะทำต่อตามความตั้งใจ แต่จะต้องระมัดระวังมากขึ้น

ถ้าแผลอักเสบ คงต้องเปลี่ยนวิธีการ คืออาจจะเลี่ยงไปใช้ปูนพลาสเตอร์ ขึ้นรูปคร่าวๆ มาเพื่อที่จะไม่ต้องตัดมากนัก

เอายังไงดีเอ่ย

« « Prev : ทำไมเราจึงไม่เข้าใจมากเท่าที่เราคิดว่าเข้าใจ?

Next : พระไม้ วันต่อมา » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

19 ความคิดเห็น

  • #1 BM.chaiwut ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 December 2009 เวลา 21:24
    • อนุโมทนาอย่างยิ่ง…

    อาตมาพูดไว้กับเพื่อนสหธัมมิกด้วยกันนานแล้ว ว่าบั้นปลายชีวิตในวัดจะสร้างฆ้อนสร้างเลื่อยแล้วรื้อฟื้นวิชาก่อสร้างที่เคยเรียนมา เป็นอยู่อย่างสงบ… เมื่อทอดผ้าป่าซ่อมกุฏิสี่ห้าปีก่อน จึงได้รู้ว่า เดียวนี้เค้าใช้เครื่องมือไฟฟ้า และเครื่องมือแต่ละชิ้นก็ราคาหลายพันถึงหลักหมื่น…

    ปิยมิตรของอาตมาท่านหนึ่งให้ความเห็นแย้งทำนองว่า “คุณอย่าทำเลย เอาไว้คิดเล่นๆ แล้วมันจะมีความสุข เพราะถ้าทำจริงๆ ปัญหาต่างๆ มีมากมาย มันอาจไม่มีความสุขจริงๆ เท่ากับจินตนาการที่เราต้องการจะเป็นหรือจะทำ…”

    กรณีนิ้วโป้งที่ได้เลือด นับว่าเป็นด่านแรกที่ต้องฝ่าไป ซึ่งมิใช่เรื่องใหญ่เลยสำหรับพวกช่าง ที่จะพลาดเล็กๆ น้อย แล้วต้องใช้ยาแดง ทิ้งเจอร์ อีกทั้งพลาสเตอร์ทำนองนี้ หากคุณโยมโดนเข้าบ่อยๆ ก็คงจะกลายเป็นเรื่องธรรมดา…

    หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้เห็นภาพพระไม้ปางห้ามญาติลงรักปิดทองอย่างสวยงามองค์นี้ในบันทึกของคุณโยมในอนาคต…

    เจริญพร

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 December 2009 เวลา 21:44
    ยังมีเรื่องที่ต้องคิดอีกครับ เนื่องจากไม้ค่อนข้างแข็ง เมื่อเซาะไปจนบาง แม้ไม้จะแข็งก็ยังอาจหักเสียหายได้ เพราะว่าต้องใช้แรงมากในการเซาะไม้ส่วนอื่นๆ ออก

    แต่ถ้าสร้างด้วยไม้สำเร็จ จะภูมิใจมากครับ

  • #3 SeeYouAllSoon ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 December 2009 เวลา 21:45

    กำ ไม้อยู่ของมันดีๆก็ดันไปตีมัน ท่าจะว่างจัดนะพี่เรา

  • #4 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 December 2009 เวลา 21:52
    ว่างแต่ไม่ฟุ้งซ่านครับ
  • #5 aram ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 December 2009 เวลา 23:07

    มาลุ้นให้แกะเป็นองค์พระสำเร็จ แต่ตอนนี้ต้องลุ้นให้นิ้วไม่อักเสบก่อนครับ..
    เนื่องจากท่อนไม้กลม ผมคิดว่าตอนแกะจะกลิ้งไปมา ทำให้สิ่วแฉลบโดนนิ้วได้ง่าย ถ้ามีที่หนีบ ยึดท่อนไม้อยู่กับที่จะแกะง่ายกว่าไหมครับ  ยึดได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอนตามถนัด

  • #6 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 December 2009 เวลา 23:44
    น่าจะมีที่จับอยู่ในบ้านครับ บ้านนี้ช่างเยอะ น้องผมเป็นช่างที่เก่งมาก (ผมเป็นช่างเถอะ) เค้ามีตู้เครื่องมือใหญ่เบ้อเริ่ม แต่ล็อคกุญแจไว้เพราะว่าไม่ว่าช่างอะไรมาบ้าน ขาดเหลืออะไรก็มีหมด (แต่ไม่มีเวลา ยกเว้นวันอาทิตย์ที่ไม่ได้พาลูกเที่ยว) ช่างต่างๆ เอาไปใช้แล้วไม่เก็บที่ เลยล็อคเสียเลย

    เมื่อเย็น ผมขี้เกียจไปเอากุญแจ ก็เลยไม่ได้ไปค้นตู้เครื่องมือครับ สังเวยความขี้เกียจซะเลือดสาด

  • #7 pruet ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 December 2009 เวลา 1:57

    ขออนุโมทนาล่วงหน้านะครับ ไม่ว่าจะเป็นพระไม้หรือว่าพระอิฐพระปูนก็เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าได้ทั้งนั้น

    แทนที่จะใช้สิ่วแกะไม้ทั้งก้อน ลองใช้เลื่อย เลื่อยไม้ให้ได้ความหนาตามที่ต้องการก่อน แล้วใช้ตะไบสำหรับตะไบไม้ ตะไบไปเรื่อย ๆ แบบนี้จะช้าหน่อย แต่ว่าปลอดภัยและโอกาสผลาดจะน้อยกว่านะครับ

  • #8 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 December 2009 เวลา 2:23
    สาธุ คิดเหมือนกันว่าพระอะไร พ่อก็จะชอบ (พระของพ่ออยู่ในใจอยู่แล้ว)

    ตอนแรก ผมคิดจะใช้บุ้งตะไบออกก่อน แต่ขี้เกียจไปเปิดตู้ครับ เลยแกะออกทีละเส้น ช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร สักเดือนหนึ่งคงเสร็จ

    เห็นอาจารย์บอกว่า defend ผ่านไปแล้ว เมื่อไหร่จะกลับครับ

  • #9 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 December 2009 เวลา 11:03

    รอชมพระพุทธรูปค่ะ

    ดูวิธีห้ามเลือดแล้ว…พยาบาลบอกว่า ขั้นตอนที่หนึ่งพอใช้ได้เพราะมีการใช้แรงกดหยุดเลือด แต่ถ้าเลือดออกไม่หยุดควรไปพบแพทย์เพื่อทำการเย็บห้ามเลือด ส่วนขั้นตอนที่สองการดูแลเรื่องความสะอาดระวังการติดเชื้อ ควรล้างแผลป้ายยาฆ่าเชื้อ และพันด้วยผ้าพันแผลแทนสำลีค่ะ ..ถ้าปวดตุ๊บๆ จับรอบบริเวณแล้วร้อนและมีไข้ ควรได้รับยาแก้อักเสบค่ะ

  • #10 ป้าหวาน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 December 2009 เวลา 11:12

    เป็นห่วงเรื่องแผลค่ะ  ถ้าเล็กน้อยดูแลเองได้ อย่าลืมไม่ให้ถูกน้ำ 7วัน ทำแผลทุกวัน โดยทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอลล์เช็ดรอบปากแผลให้สะอาด และใส่ยารักษาแผล เช่น เบทาดีน ปิดแผลกันฝุ่นและเชื้อโรค เวลาอาบน้ำต้องหาทางไม่ให้โดนน้ำนะคะ แผลจะหายสนิทได้เอง  ถ้าแผลใหญ่หรือลึก ควรให้หมอดูสักนิดจะได้หายเร็วๆนะคะ

  • #11 นักการหนิง ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 December 2009 เวลา 11:49

    งานทำมือ ต้องใช้ความชำนาญ ถ้าเริ่มต้นด้วยเลือดๆ แบบนี้ อีกสักหยดสองหยดก็จะชำนาญมากขึ้น  เมืองเหนือเขาเรียกว่าสล่า.. ใกล้จะเป็นสล่าแล้วค่ะ แกะอีกสักสองสามองค์ก็จะเริ่มเป็นสล่าน้อย (ตัวใหญ่)

    มาเชียร์ค่ะ

  • #12 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 December 2009 เวลา 12:30
    โอ้โห มีแต่คนเชียร์ ขอบคุณนะครับ

    เมื่อวานระหว่างเล่าเรื่องอย่างสนุกสนาน มีน้องสะใภ้ทำแผลให้ หันมาเห็นอีกที ต๊กกะใจ ถ้ามีขนาดใหญ่กว่านี้อีกนิดนึง แต่งเป็นหัวไข่ใส่นิ้วโป้งได้เลยนะเนี่ย นั่นแหละครับ ถึงได้ถ่ายรูปมาให้ดู

    วันนี้ไม่เจ็บแผล ไม่มีไข้ครับ เดี๋ยวจะออกไปเที่ยวนอกบ้านอีก

  • #13 ออต ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 December 2009 เวลา 12:45

    พ่อซายคนอีสานนิยมแกะพระพุทธรูปไม้เอาไว้ต่างหน้าในพระพุทธศาสนา
    เพื่อเป็นอนุสรณ์ในครั้งหนึ่งได้บวชในพระศาสนา
    เพื่อสืบพระศาสนา
    เพื่อสิรมงคลแก่ตนเอง
    ดังนั้นพระไม้ที่แกะด้วยมือจึงมีมากเท่ากับพ่อซายที่มีในชุมชน
    แต่พระทองเหลืองจากเมืองหลวงมาบุกถิ่นอีสาน ความนิยมนี้จึงเสื่อมลง
    ปัจจุบันไม่ค่อยมีการแกะกันแล้ว
    พระไม้ในวัดก็กลายเป็นสินค้าในร้านย่านเมืองหลวงริมเจ้าพระยาและแถวสวนชื่อดัง

  • #14 silt ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 December 2009 เวลา 13:04

    คิดเหมือนกับ#13
    นึกถึงพระเจ้าพร้าโต้ของชาวบ้านสมัยก่อน
    คุณค่าและความงดงามของพุทธศิลป์ อยู่ที่ใจและอยู่ที่ความตั้งใจ

  • #15 Panda ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 December 2009 เวลา 13:48
    • สาธุ
    • เรื่องดูง่าย ๆ สำหรับบางคน อาจจะไม่ง่ายสำหรับหลาย ๆ คน….อิอิ
    • แต่ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่ไม่ไกล…..สู้ ๆ ๆ
  • #16 ลานซักล้าง » พระไม้ วันต่อมา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 December 2009 เวลา 16:34

    [...] ต่อจากเมื่อวาน แผลไม่ระบม จึงแกะพระต่อครับ [...]

  • #17 pruet ให้ความคิดเห็นเมื่อ 9 December 2009 เวลา 16:29

    กลับสิ้นปีครบ (อีกสองอาทิตย์ :P)

    ตอนเด็กๆ  เคยไปสอบแข่งเรื่องพุทธศาสนาได้พระพุทธรูปมาเป็นรางวัล ก็ยกให้พ่อไป วันหนึ่ง ขโมยขึ้นบ้านขโมย เขาก็นิมนต์หลวงพ่อไปอยู่ด้วยกันที่บ้านขโมย ผมก็เลยคิดอยู่เหมือนกันว่าจะปั้น หรือว่าแกะพระพุทธรูปให้พ่ออีกสักองค์
    จะตามดูไปเรื่อย ๆ นะครับ เพื่อเป็นแนวทาง ขอบคุณล่วงหน้าครับ
  • #18 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 9 December 2009 เวลา 20:50
    ขออนุโมทนาสาธุด้วยนะครับ

    ถ้านึกสนุก ก็กลับมาคุยกับเด็กมงคลวิทยาในฐานะศิษย์เก่าก็ได้นะครับ

  • #19 ลานซักล้าง » พระไม้ หล่อมาก ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 December 2009 เวลา 15:34

    [...] ตั้งแต่เริ่มแกะพระไม้มาเป็นเวลา 12 วันจนวันนี้ ผมแทบไม่ได้เขียนบันทึกในบล็อกเลย ช่วงดึกๆ หนีไปเล่นทวีตเตอร์ แต่ช่วงกลางวัน แกะพระไม้ตลอดเวลาที่ว่าง [...]


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.39471006393433 sec
Sidebar: 0.18442893028259 sec