Oct 28

ขอเชิญร่วมทอดกฐินสามัคคี ประจำปี ๒๕๕๔
ณ วัดยางทอง
เลขที่ ๑ ถนนนางงาม ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
วันอาทิตย์ ที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔ ตรงกับขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒
…………..
ด้วยวัดยางทอง ได้มีพระภิกษุอยู่จำพรรษาครบถ้วนตามพระบรมพุทธานุญาตที่วางไว้ กอรปกับมีคณะศรัทธาผู้ใฝ่บุญกุศล ได้แสดงความจำนงที่จะจัดให้มีการทอดกฐินสามัคคี ในวันอาทิตย์ ที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔ สำหรับปัจจัยที่เป็นบริวารกฐิน ทางวัดจะได้นำไปเป็นทุนสมทบในการสร้าง วิหารบ่อยาง เพื่อเป็นที่ประดิษฐานปูชนียวัตถุของวัดยางทอง จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาทุกท่านร่วมงานทอดกฐินสามัคคีในครั้งนี้
รตนัตตยานุภาเวนะ ด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนตรัย ขอทายกทายิกาทั้งหลายจงประสบจตุรพิธพรชัย กล่าวคือ อายุ วรรณะ สุขะ และพละ ทุกทิพาราตรีกาล เทอญ.

กำหนดการ
วันเสาร์ที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔ ตรงกับขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๒
เวลา ๑๙.๐๐ น. สมโภชองค์กฐิน ณ วัดยางทอง
วันอาทิตย์ที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔ ตรงกับขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒
เวลา ๐๙.๐๐ น. คณะกฐินสามัคคีพร้อมกันที่วัดยางทอง
เวลา ๑๐. ๓๐ น. พระสงฆ์ถวายพรพระ ญาติโยมตักบาตร
เวลา ๑๑.๐๐ น. พระสงฆ์กระทำภัตรกิจ ญาติโยมร่วมรับประทานอาหาร
เวลา ๑๒.๑๕ น. แสดงพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์
เวลา ๑๒.๔๕ น. ถวายผ้ากฐิน พระสงฆ์อนุโมทนา ญาติโยมกรวดน้ำ เสร็จพิธี

Feb 28

ภาษีสังคม ได้ยินมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ไม่เข้าใจ เมื่อเติบโตขึ้นมาก็ค่อยๆ สำเนียกความหมายและความสำคัญของเรื่องนี้…

ตามความเห็นส่วนตัว ภาษีสังคม คือ สิ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเงินซึ่งจะต้องจ่ายหรือควรจ่ายเพื่อสถานภาพทาง สังคม สำหรับคนทั่วไปก็เช่น ช่วยงานศพงานบวชงานขึ้นบ้านใหม่ หรืองานวันเด็กในซอย เป็นต้น… ซึ่งภาษีสังคมนี้ บางครั้งเราก็ยินดีจ่าย บางครั้งก็ไม่ค่อยยินดี หรือบางครั้งก็จำใจจ่าย…

สองปีก่อนเมื่อยังเป็นสมภารเถื่อน คือไม่มีตราตั้งอะไรรองรับ แต่ดูแลและรับผิดชอบทุกอย่างภายในวัด คราวใดที่มีฏีกาเข้ามา ผู้เขียนมักจะไม่จ่าย โดยอ้างว่ามิใช่เจ้าอาวาส… จะจ่ายบ้างก็เฉพาะเครือข่ายส่วนตัว ซึ่งจำเป็นหรือยินดีจ่าย แต่มิใช่จ่ายในฐานะเจ้าอาวาส…

เมื่อแรกเป็นเจ้าอาวาสนั้น ผู้เขียนก็คุยกับเพื่อนรุ่นพี่รุ่นน้องที่เป็นเจ้าอาวาสว่า ใบฏีกาที่วัดต่างๆ ส่งมานั้น ผู้เขียนตั้งใจว่าจะไม่ไปเป็นปกติ และจะไม่ส่งใบฏีกาไปตามวัดต่างๆ แต่สภาพความเป็นจริงที่จะต้องไป ควรจะไป หรือจำใจไป ก็ค่อยๆ มากขึ้นๆ

ประการแรกก็คือในเขตอำเภอเมือง ตอนที่ผู้เขียนจัดงานศพอดีตเจ้าอาวาสนั้น ทุกวัดภายในเขตอำเภอเมืองจะมาร่วมเป็นเจ้าภาพทุกคืน โดยผลัดเปลี่ยนคืนละตำบล ซึ่งการที่คณะสงฆ์ช่วยในครั้งนั้นทำให้ผู้เขียนจัดงานศพไปได้โดยสะดวก ดังนั้น จึงตั้งใจว่า ในเขตอำเภอเมืองจะต้องไปเพื่อแสดงอุปการคุณตอบแทน…

ต่อมาก็คือวัดนอกเขตอำเภอเมือง ซึ่งผู้เขียนคุ้นเคยเป็นการส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือวัดแถวอำเภอสทิงพระบ้านเกิด หลายวัดผู้เขียนเคยอยู่เคยนอน เมื่อยังไม่เป็นสมภารนั้น ฏีกาจากวัดเหล่านี้จะไม่ส่งมา ส่วนตัวผู้เขียนเองถ้าทราบข่าวและโอกาสสะดวกก็มักจะไปร่วมช่วยงานตาม กำลัง… แต่เมื่อเป็นสมภาร วัดเหล่านี้ก็เริ่มส่งฏีกามาให้ (5 5 5…)

บางวัดมีสายใยกับวัดยางทองมานาน คล้ายๆ จะเป็นเครือญาติ เช่นอดีตเจ้าอาวาสวัดยางทองรูปหนึ่งเมื่อเกือบร้อยปีก่อน ท่านเป็นชาวอำเภอเทพา ลูกหลานของท่านยังมาพักมาบวชแก้บ่นที่วัดยางทอง หากทางวัดยางทองบอกงานไปเค้าก็จะมา เมื่อเค้าบอกงานมา ในฐานะสมภารวัดยางทอง ผู้เขียนก็ควรจะไป เพื่อสานต่อสายใยอันยาวนานนี้ไว้…

ญาติโยมคนเก่าคนแก่ของวัดและคนใกล้วัดข้างวัด ใครถึงแก่กรรม ในฐานะเจ้าอาวาส ก็ต้องมีน้ำใจร่วมทำบุญบ้างตามสมควร… นอกจากนั้นก็ยังมีญาติสนิทมิตรสหายทั้งใกล้และไกล เมื่อมีโอกาสก็ควรจะไป…

นอกนั้นก็ยังมีงานของคณะสงฆ์ เช่น ประชุมพระนวกะประจำปีซึ่งเดียวนี้บังคับวัดละสองพัน หรือตอนนี้ทางคณะสงฆ์จังหวัดสงขลากำลังจัดสร้างพุทธมณฑลประจำจังหวัด ส่วนหนึ่งที่เรี่ยไรก็คือวัดต่างๆ ก็ต้องจ่ายทุกครั้งที่บอกมา… ยังมีหน่วยงานราชการบางหน่วยที่เรี่ยไรจากวัด เช่น โรงพยาบาลต่างๆ ภายในจังหวัดจะมีการทอดผ้าป่าประจำปี ก็บอกบุญมายังวัดต่างๆ เป็นต้น

….ฯลฯ……….

จะเห็นได้ว่าภาษีสังคมของวัดซึ่งสมภารมีหน้าที่จะต้องดำเนินการนั้นมีมาก มาย แต่สภาพความเป็นจริงของแต่ละวัดนั้นแตกต่างกัน เช่น บางวัดมีรายได้สูง มีเงินเหลือมหาศาล สมภารจึงไม่เดือดร้อน… บางวัดแม้ไม่มีรายได้ แต่สมภารมีความสามารถสูงหาเงินได้เยอะก็อาจไม่เดือดร้อน… ส่วนบางวัดนั้นไม่มีรายได้ สมภารก็มีความสามารถธรรมดาๆ ก็อาจยุ่งยากในการจัดการภาษีสังคมเหล่านี้ให้เกิดความเหมาะสมได้ ซึ่งผู้เขียนก็ยังจัดอยู่ในกลุ่มนี้

ในฐานะสมภารใหม่ ผู้เขียนวิเคราะห์เรื่องนี้มาหลายเดือนแล้ว สภาพความเป็นจริงของวัดยางทอง แม้จะอยู่ในย่านคนค่อนข้างมีฐานะ แต่วัดนั้นไม่มีรายได้เฉพาะเลย สภาพเดิมของวัดก็มีปัญหาสั่งสมมานานจนคนไม่ค่อยจะเข้าวัด ส่วนฐานมวลชนของผู้เขียนในฐานะสมภารใหม่ก็อ่อนแอ เรื่องนี้จึงเป็นปัญหา…

ดังที่เคยปรารภหลายครั้งว่า วัด แม้จะเหมือนกันแต่ก็แตกต่างกัน เช่น บางวัดนั้น แม้จะไม่ได้อยู่ท่ามกลางคนมีอันจะกินและไม่มีรายได้เฉพาะ แต่ฐานมวลชนเข้มแข็ง พอมีฏีกาผ้าป่าจากวัดอื่น ก็ชวนกันไปร่วมบุญ โดยการเหมารถคันหนึ่ง แล้วก็ลงขันเก็บคนละร้อยสองร้อย หักค่ารถแล้วก็ทำบุญ ทางวัดไม่เดือดร้อน… หรือบางวัด ญาติโยมประจำวันพระมีเกือบร้อยคน พอท่านสมภารบอกบุญวันพระว่ามีผ้าป่า ก็ร่วมลงขันให้ท่านสมภารไปทำบุญ สมภารก็ไม่เดือดร้อน…

แต่บางวัด เช่นวัดยางทองปัจจุบัน ถ้าสมภารจะไปผ้าป่าหรืองานอะไรก็ตาม ต้องควักย่ามเอง ซึ่งปัจจุบันทำบุญในฐานะวัดราคาขั้นต่ำก็หนึ่งพันบาท หรือตัวอย่างก็ทอดกฐินปีที่ผ่านมา สมภารรุ่นน้องระดับลูกศิษย์พาญาติโยมมาร่วมทำบุญที่วัดพันสามร้อย ผู้เขียนก็ต้องกลับไปช่วยพันห้าร้อย นอกจากนี้ยังมีค่าน้ำมันและค่าคนขับรถอีก…

ประเด็นภาษีสังคมของวัด เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนในฐานะสมภารต้องดำเนินการตามความเหมาะสม ไม่ทำก็ไม่ได้เพราะเราอยู่กับสังคม ทำมากก็ไม่ได้เพราะทุนน้อย ทำน้อยเกินไปก็ไม่ได้เพราะ… ปลื้มใจอยู่อย่างเดียว พวกบอกว่าการเป็นสมภารวัดที่มีสภาพตกต่ำ อย่างเช่นวัดยางทอง ถ้าไปได้ดีขึ้น บ่งชี้ถึงความสามารถของสมภารคนใหม่…

สรุปว่า ภาษีสังคม เป็นประเด็นสำคัญที่พิสูจน์สมภารใหม่ ไม่ว่าสภาพความเป็นจริงของแต่ละวัดจะเป็นอย่างไรก็ตาม

Oct 20

ขอเชิญร่วมทอดกฐินสามัคคี ประจำปี ๒๕๕๓
ณ วัดยางทอง
เลขที่ ๑ ถนนนางงาม ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
วันอาทิตย์ ที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ตรงกับขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๒
…………..
ด้วยวัดยางทอง ได้มีพระภิกษุอยู่จำพรรษาครบถ้วนตามพระบรมพุทธานุญาตที่วางไว้ กอรปกับมีคณะศรัทธาจากผู้ใฝ่บุญกุศล ได้แสดงความจำนงที่จะจัดให้มีการทอดกฐินขึ้น จึงได้ตกลงจัดทอดกฐินขึ้นในวันเวลาดังกล่าว ในการนี้หากมีปัจจัยเป็นบริวารกฐินที่ญาติโยมพุทธบริษัทมิตรรักนักบุญทั้ง หลายได้ร่วมบริจาค ทางวัดจะได้นำไปเป็นทุนเริ่มต้นในการสร้าง วิหารบ่อยาง ตามวัตถุประสงค์

อนึ่ง ในการทอดกฐินปีนี้ ก่อนจะทำพิธีถวายกฐิน จะมีการวางศิลาฤกษ์วิหารบ่อยางเพื่อเป็นศิริมงคลในเบื้องต้น จึงขอเชิญชวนบรรดามิตรรักนักบุญผู้มีจิตศรัทธาทุกท่านมาร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์ และถวายกฐินโดยพร้อมเพรียงกัน

รตนัตตยานุภาเวนะ ด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนตรัย ขอทายกทายิกาทั้งหลายจงประสบจตุรพิธพรชัย กล่าวคือ อายุ วรรณะ สุขะ และพละ ทุกทิพาราตรีกาล เทอญ.

กำหนดการ
วันเสาร์ที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ตรงกับแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑
เวลา ๑๙.๐๐ น. สมโภชองค์กฐิน ณ วัดยางทอง

วันอาทิตย์ที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ตรงกับขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๒
เวลา ๐๙.๐๐ น. คณะกฐินสามัคคีพร้อมกันที่วัดยางทอง
เวลา ๑๐. ๓๐ น. พระสงฆ์ถวายพรพระ ญาติโยมตักบาตร
เวลา ๑๑.๐๐ น. พระสงฆ์กระทำภัตรกิจ ญาติโยมร่วมรับประทานอาหาร
เวลา ๑๒.๓๐ น. แสดงพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์
เวลา ๑๓.๐๔ น. วางศิลาฤกษ์วิหารบ่อยาง
เวลา ๑๓.๑๐ น. ถวายผ้ากฐิน พระสงฆ์อนุโมทนา ญาติโยมกรวดน้ำ เสร็จพิธี

เจ้าภาพองค์กฐิน
ครอบครัว อินทรสมบัติ
คุณบำรุง คุณถนอมศรี อินทรสมบัติ

คณะกรรมการอุปถัมภ์

ฯลฯ

- คณะญาติธรรม Lanpanya.com

ฯลฯ

Jul 06

ตั้งแต่เป็นสมภารมา เกือบจะไม่ได้เขียนบล็อกเลย ที่มีลงอยู่บ้างโดยมากก็เป็นเพียงบันทึกประชาสัมพันธ์เท่านั้น… บันทึกนี้จัดว่าเป็นกรณีพิเศษเพื่อฉลองครบรอบขวบปีที่สองและเฉลิมขึ้นขวบปีที่สามของลานปัญญา…

ผู้เขียนเริ่มต้นเป็นบล็อกเกอร์จากโกทูโน โดยเริ่มต้นจากศูนย์ จากไม่รู้จักใครก็ค่อยๆ รู้จักคนโน้นคนนี้ เริ่มสนิทสนมคุ้นเคยกับใครบางคน เริ่มรักใคร่ มันใส้ หรือนินทาใครบางคนในโกทูโน ตามธรรมดาของคน อีกทั้งค่อยเขื่องหรือขาใหญ่ขึ้นตามความเห็นของใครบางคน นั่นคือ ความเป็นไปในโกทูโน…

ต่อมา เกิดอะไรขึ้นก็ไม่ทราบชัดในโกทูโน เป็นสาเหตุให้มีกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันมาจัดสร้างลานปัญญาเป็นเวบบล็อกของตนเอง และผู้เขียนก็ได้รับการชักชวนให้มาร่วมด้วยในเบื้องต้น กล่าวได้ว่า ผู้เขียนเป็นรุ่นแรกของลานปัญญาแต่มิใช่ผู้ก่อการจัดตั้งขึ้นมา แต่ผู้เขียนก็ไม่ได้ทิ้งโกทูโน ยังคงเขียนและตอบอยู่ในโกทูโนเหมือนเดิม เพียงแต่ตอนหลังไม่ค่อยได้เขียนทั้งในโกทูโนและลานปัญญา…

เมื่อมีโอกาสคุยเรื่องลานปัญญาแยกตัวมาจากโกทูโน ผู้เขียนก็มีชุดอธิบายอยู่ชุดหนึ่ง โดยยกพุทธภาษิตว่า ” กมฺมํ สตฺเต วิภชฺชติ กรรมย่อมจำแนกสัตว์ ” นั่นคือ กรรมซึ่งในที่นี้หมายถึงเจตนาความจงใจ จะเป็นเครื่องจำแนกสัตว์ให้อยู่เป็นพวกเป็นกลุ่ม… พระเณรที่มาบวชอยู่ในวัด นักเรียนนักศึกษาทุกระดับในสถานศึกษา ทหารในค่าย หรือนักโทษในคุกก็ตาม ตอนแรกอาจไม่รู้จักใคร หรือมาคนเดียว แต่พออยู่ไปสักระยะหนึ่ง กรรมคือเจตนาความจงใจ จะทำให้เค้าจับกลุ่มหรือเข้ารวมกลุ่มในส่วนที่เข้ากันได้กับกรรมของตน…. บล็อกเกอร์ก็เช่นกัน ไม่อาจหลีกหนีพุทธภาษิตนี้ได้ได้… นี้นัยแรก

ขยายความเพิ่มอีกนิด เมื่อเป็นกลุ่มเล็กๆ กรรมหรือเจตนาความจงใจ จะชัดเจนในส่วนที่เข้ากันได้ ในส่วนที่เข้ากันไม่ได้จะไม่ปรากฏหรือไม่ชัดเจน แต่พอกลุ่มค่อยๆ ขยายขึ้น กรรมหรือเจตนาความจงใจในส่วนที่ไม่ปรากฎก็จะค่อยๆ ปรากฎออกมา ที่ไม่ชัดเจนก็ค่อยๆ ชัดเจนขึ้นมา ดังนั้น การแตกตัวเพื่อรวมกลุ่มต่อไป ก็จะตามมาอีกครั้ง และอีกครั้ง… อธิบายทำนองนี้ ค่อนข้างยาก ทำให้นึกถึงสำนวนที่ว่า “พัฒนาจุดร่วม สงวนจุดต่าง” น่าจะเข้าใจง่ายกว่า นั่นคือ จะเกาะกลุ่มกันได้ก็ต้องรักษากรรมในส่วนที่เหมือนกัน และกีดกันกรรมในส่วนที่ต่างกันมิให้ปรากฏ…

นอกจากพุทธภาษิตแล้ว ยังมีสำนวนหนึ่งในเพลงลูกทุ่งเก่าๆ ว่า “พอดังนิดดังหน่อย ชะทิงน่องน่อย แยกวง……” ที่ใช้ประกอบชุดคำอธิบายนี้ นั่นก็คือโลกแห่งศิลปินนักร้องและนักดนตรี พอเริ่มมีชื่อเสียง มีกำลัง มีความสามารถ ก็มักจะชอบแยกตัวออกไป ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่า ไม่ว่าจะสังคมใด มักจะเป็นอย่างนี้ โดยที่สุด แม้สังคมเวบบล็อกในปัจจุบันก็ตาม…

นั่นคือ ชุดคำอธิบายที่มักจะนำไปอธิบายเรื่องทำนองนี้ อุปมาอุปไมยทดแทนกันได้ อาทิเรื่องในวัดก็เอาเรื่องเวบบล็อกมาเปรียบเทียบ หรือเรื่องบล็อกเกอร์ก็อาจนำเรื่องในวัดมาเปรียบเทียบ เช่น กลุ่มอุบาสกอุบาสิกาในวันพระ ตอนแรกยังมีน้อยก็สมัครสมานสามัคคีกลมเกลียวกันดี พอเริ่มมากก็เริ่มเกาะกลุ่ม แยกตัวกันออกมา และบางครั้งบางวัด พอไม่ชอบใจสมภารวัดก็อาจเกาะกลุ่มไปอยู่วัดอื่น นั่นคือ วัดก็เหมือนเวบบล็อก อุบาสกอุบาสิกาก็เหมือนบล็อกเกอร์ เป็นต้น

นอกจากใช้อธิบายให้คนอื่นฟังแล้ว ว่างๆ ผู้เขียนก็ใช้ชุดคำอธิบายนี้เข้าไปกำหนดความเป็นจริงของสังคมนั้นๆ และเมื่อไม่กิ่วันมานี้ก็มีสำนวนในวงธุรกิจผุดขึ้นมาเพิ่มเติม นั่นคือ “โตแล้วแตก แตกแล้วโต” ซึ่งเค้าอธิบายว่า ในบริษัทหรือองค์กรนั้น มีบางคนมีความสามารถเยี่ยมวิสัยทัศน์สูง แต่ไม่อาจทำงานได้เต็มที่ เนื่องจากติดระบบอาวุโส เค้าจึงระดมทุนให้คนหนุ่มไฟแรงทำนองนี้ตั้งบริษัทลูกขึ้นมา ให้เป็นผู้จัดการบริหารเอง เมื่อบริษัทของเค้าโตขึ้น ก็จะให้โอกาสแก่ใครบางคนแยกตัวไปตั้งบริษัทใหม่อีกครั้งและอีกครั้ง จนกลายเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มทุนขนาดใหญ่มหึมา… อะไรทำนองนี้

สาเหตุที่ความคิดนี้ผุดขึ้นมา เพราะในฐานะสมภารวัด ผู้เขียนต้องแสวงหาแนวทางเพื่อพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรือง… แต่นั่นแหละ “โตแล้วแตก แตกแล้วยุบ” อีกสำนวนหนึ่งในแวดวงการเมืองไทยก็ค่อยผุดขึ้นตามมา นั่นคือ พรรคการเมืองไทยนั้น พอมีผู้แทนมาก ก็มักจะมีความเห็นต่างกันจนไม่อาจรวมกลุ่มกันได้ จึงแยกตัวไปตั้งพรรคใหม่ และไม่นานพรรคใหม่นั้นก็จะถูกยุบไปเพราะไม่มีผู้แทน… วัดก็เหมือนกัน ผู้เขียนพยายามระวังมิให้ในวัดมีมุ้งเล็กที่ใหญ่ขึ้นโดยมีอันตรายแล้วก็ต้องถูกกำจัดออกจากวัดไป มาถึงตอนนี้ คำว่า “มุ้งเล็กมุ้งใหญ่” ก็ผุดขึ้นมา และยังมีคำว่า “ควบรวมกิจการ” ผุดขึ้นมาอีก… ซึ่งสำนวนเหล่านี้ อาจนำมาอธิบายเชืงเปรียบเทียบในสังคมเวบบล็อกได้เหมือนกัน

อันที่จริง ความตั้งใจเติม ต้องการจะเขียนว่าคุณโยมคอนดักเตอร์หรือคุณโยมรอกอดเป็นผู้ชักชวนมา และตั้งชื่อบล็อกผู้เขียนว่า ลานใจธรรมชาติ เพราะอาจเห็นว่าผู้เขียนแสดงเรื่องราวตามใจไม่ค่อยเสแสร้ง… อะไรทำนองนี้ ในโอกาสขึ้นขวบที่สามลานปัญญา แต่ความคิดพาไปนอกเรื่อง หรือความคิดยังวนเวียนอยู่เรื่องที่จะพัฒนาวัด เรื่องราวจึงเป็นดังที่ได้พร่ำบ่นมา

อย่างไรก็ตาม ในโอกาสขึ้นขวบปีที่สามลานปัญญา ผู้เขียนก็ตั้งใจเขียนจนได้อีกหนึ่งบันทึก (…………..)

May 25

หลวงพ่อบ่อยาง คือ พระประธานในอุโบสถวัดยางทอง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองทั้งองค์ ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก ๑.๕๐ เมตร สันนิษฐานว่าสร้างพร้อมกับอุโบสถหลังเก่า และเมื่อทางวัดได้รื้ออุโบสถหลังเก่าสร้างอุโบสถหลังใหม่ ก็ได้อัญเชิญหลวงพ่อบ่อยางจากอุโบสถหลังเก่ามาประดิษฐานไว้ในอุโบสถหลังใหม่พร้อมทั้งลงรักปิดทองใหม่อีกครั้ง
อุโบสถหลังเก่าซึ่งรื้อไปแล้วและเคยประดิษฐานหลวงพ่อบ่อยางนั้น ตามพงศาวดารเมืองสองขลายังขัดแย้งกันอยู่ กล่าวคือ ฉบับของเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสัง) พ.ศ.๒๓๙๐-๒๔๐๘ กล่าวไว้ว่า….
…ครั้นณปีมเสงเอกศกลุศักราช ๑๑๗๑ พระบาทสมเด็จพระ พุทธเลิศหล้านภาไลย ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้น… หลวงนายฤทธิกลับเข้ามา ณ เมืองสงขลาเข้าไป ณ กรุงเทพมหานคร อยู่หกเดือนเจ็ดเดือนถวาย พระเพลิงสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์เสร์จแล้ว ขณะนั้นเมืองสงขลาเปนปรกติอยู่สามปี แลเจ้าพระยาสงขลาได้สร้างพระอุโบสถแลโรงธรรมไว้ ณ วัดมัชฌิมาวาศ แลพระอุโบสถวัดยางทองโรงหนึ่ง กับได้สร้างสำเภาห้าลำ เรือปากใต้เปนหลายลำ…
( http://th.wikisource.org/wiki/ประชุมพงศาวดาร_ภาคที่_๕๓ )

เมื่อถือเอาตามนัยนี้ อุโบสถหลังเก่าและหลวงพ่อบ่อยางสร้างขึ้นในต้นรัชการที่ ๒ ประมาณพ.ศ.๒๔๕๒ แต่ประเด็นนี้แย้งกับพงศาวดารเมืองสงขลาฉบับของ พระยาวิเชียรคีรี (ชม) พ.ศ.๒๔๓๑-๒๔๔๔ ซึ่งกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า…
….ครั้น ณ ปีเถาะสัปตศก ศักราช ๑๑๕๗…. หลวงนายฤทธิ์ ก็ยกกองทัพกลับเข้าไปกรุงเทพ ฯ เมืองสงขลาเปนปรกติไม่มีทัพศึกอยู่ ๒ ปี ในระหว่างเมืองสงขลาเปนปรกติอยู่ ๒ ปีนั้น เจ้าพระยาอินทคิรี ได้สร้างพระอุโบสถวัดยางทองขึ้นอาราม ๑ โรง พระอุโบสถวัดมัชฌิมาวาศอาราม ๑ รวม ๒ อาราม แลเจ้าพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ฟากแหลมสน…. ( http://www.reurnthai.com/wiki/พงษาวดารเมืองสงขลา )

เมื่อถือเอาตามนัยนี้ อุโบสถวัดยางทองและหลวงพ่อบ่อยางสร้างขึ้นในปลายรัชการที่ ๑ มิใช่ต้นรัชการที่ ๒ ดังนัยก่อน
อีกอย่างหนึ่ง หลวงพ่อบ่อยางสร้างก่อนหลักเมืองสงขลา ดังประวัติเมืองสงขลาตอนหนึ่งว่า…
….จึงทำให้เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ไปตั้งเมืองสงขลาใหม่ที่ตำบลบ่อยาง (สถานที่ปัจจุบัน) ตั้งแต่ พ.ศ. 2379 ซึ่งเมืองใหม่ที่สร้างขึ้น ก็ยังคงรักษาความเป็นเมืองท่าไว้อย่างเดิม โดยในเบื้องต้นของการสร้างเมือง เจ้าพระยาคีรี (เถี้ยนเส้ง ณ สงขลา) ได้เริ่มสร้างป้อม กำแพงเมืองยาว 1200 เมตร และ ประตูเมือง สิบประตู ตั้งแต่ พ.ศ. 2379 หลังจากนั้นจึงได้วางหลักเมือง (ไม้ชัยพฤษ์พระราชทาน) และสมโภชน์หลักเมืองในปี พ.ศ. 2385 และเรียกบริเวณพื้นที่นี้ว่า “เมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง” ก่อนที่เจ้าพระยาคีรี (เถี้ยนเส้ง) จะถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2408…
( http://th.wikipedia.org/wiki/ประวัติศาสตร์เมืองสงขลา )

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าอุโบสถวัดยางทองหลังเก่าและหลวงพ่อบ่อยางสร้างขึ้นประมาณปลายรัชการที่ ๑ หรือต้นรัชการที่ ๒ และสร้างก่อนหลักเมืองสงขลา
ถ้าจะกล่าวโดยการสันนิษฐานจากข้อมูลเชิงประจักษ์ เจ้าเมืองสงขลามีนโยบายย้ายเมืองจากฝั่งแหลมสนมายังฝั่งบ่อยาง หลังจากเสร็จศึกเก้าทัพจึงทำบุญล้างบาปและอุทิศทักษิณาผลให้แก่ผู้ต้องตายไปในระหว่างสงครามตามประเพณีชาวพุทธตั้งแต่โบราณ โดยเลือกมาสร้างอุโบสถวัดยางทองและวัดมัชฌิมาวาสเพื่อเป็นศิริมงคลในการจะย้ายเมืองด้วย…
สาเหตุที่เลือกสองวัดนี้ นอกจากจะสันนิษฐานว่าเป็นวัดสำคัญที่สุดในยุคนั้นแล้ว มีข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า วัดยางทองอยู่ทางทิศเหนือ ส่วนวัดมัชฌิมาวาสอยู่ทางทิศใต้ ขณะที่หลักเมืองสงขลาซึ่งสร้างขึ้นภายหลังอยู่ระหว่างกลางวัดทั้งสอง อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นฮวงจุ้ยโบราณซึ่งอาจแปลความหมายได้ว่า ต้องการให้วัดคือพระพุทธศาสนาช่วยประคับประครองเมืองสงขลาให้อยู่เย็นเป็นสุขก็ได้…
บัดนี้ อุโบสถเก่าวัดยางทองก็ถูกรื้อถอนไปตามกาลเวลา ยังคงอยู่แต่เพียงหลวงพ่อบ่อยางในอุโบสถหลังใหม่
อนึ่ง สำหรับความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อบ่อยางนั้น ฟังว่าตอนสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นบุกสงขลา โดยใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดปูพรมทั้งเมือง แต่บริเวณวัดยางทองและโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุโบสถซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อบ่อยางแคล้วคลาดปลอดภัยจากระเบิด ทำให้เล่าลือกันในครั้งนั้นว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก และความแคล้วคลาดปลอดภัยในครั้งนั้น นอกจากบารมีของหลวงพ่อบ่อยางแล้ว มีผู้ขยายความว่า เพราะอุโบสถหลังเก่ามีประตูหน้าเพียงประตูเดียวส่วนประตูหลังไม่มี เรียกกันว่าโบสถ์มหาอุด ซึ่งเชื่อกันว่าขลังยิ่งนักและมีดีทางทางด้านอยู่ยงคงกระพันแคล้วคลาดปลอดภัย
เมื่อผู้เขียนแรกมาอยู่วัดยางทอง (ปลายปี ๒๕๓๐) มักจะมีญาติโยมสูงอายุซึ่งเป็นชาวบ่อยางเดิมมาจุดธูปเทียนบริเวณหน้าอุโบสถหลังเก่าเพื่อขอพรพระประธานในโบสถ์หรือหลวงพ่อบ่อยางเสมอ แต่กาลเวลาเป็นเครื่องเปลี่ยนแปลงและทำลายสรรพสิ่ง ญาติโยมผู้สูงอายุเหล่านั้นก็ค่อยๆ หายหน้าไปที่ละคน โบสถ์เก่าก็ถูกรื้อสร้างใหม่ ยังคงอยู่ก็แต่หลวงพ่อบ่อยางซึ่งประดิษฐานอยู่ในอุโบสถหลังปัจจุบัน…
ปัจจุบันนี้ วัดยางทองมีนโยบายเปิดโบสถ์ เพื่อให้ลูกหลานชาวบ่อยางและสาธุชนทั่วไปมากราบไหว้ขอพรหลวงพ่อบ่อยาง เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของชาวบ่อยางตามเจตนารมณ์ของเจ้าเมืองสงขลาในอดีต…

พระมหาชัยวุธ ฐานุตฺตโม
เจ้าอาวาสวัดยางทอง
ผู้เขียนประวัติ

Apr 30

ประมาณช่วงนี้ของปีที่แล้ว ท่านรองเจ้าอาวาสอาพาธจนมิอาจปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าอาวาสได้ ผู้เขียนจึงต้องออกจากมุมสงบส่วนตัวมาปฏิบัติหน้าที่แทน เริ่มเป็นสมภารเถื่อน… ๒๗ ธันวา ปีที่แล้วเจ้าอาวาสก็มรณภาพ ผู้เขียนก็ได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการแทนเจ้าอาวาส เริ่มเป็นสมภารอย่างเป็นทางการ… และหลังจากจัดงานรับมอบตราตั้งเจ้าอาวาสในวันที่ ๒๒ กุมภาของปีนี้ ผู้เขียนก็เป็นสมภารโดยถูกต้องสมบูรณ์ จะเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตาม…

ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ความเป็นอยู่ค่อยๆ เปลี่ยนไป เช่น จากเคยอยู่รูปเดียวไม่ค่อยพูดกับใคร ฉันอาหารพอประทังไปได้วันละมื้อ หรือบางครั้งอาทิตย์หนึ่งก็อาบน้ำหนเดียว ก็ต้องมาอยู่ในสถานที่โปร่งใส่ (ศาลาการเปรียญ) ใครไปมาพบได้ง่าย และต้องอาบน้ำทุกวันเพื่อจะได้ดูดีขึ้นบ้างในฐานะสมภาร เป็นต้น

เมื่อเริ่มเป็นสมภารเถื่อน ระยะแรกก็ใช้ทุน(เงิน)ตนเอง ซึ่งมีอยู่ประมาณสองหมื่นในการดำเนินการ เริ่มเสียค่าไฟวัดเอง ประมาณสามพันกว่าถึงห้าพันต่อเดือน ซื่อเครื่องขยายซื้อลำโพงใหม่ เอาชุดโซฟาเก่าที่ฉีกขาดไปหุ้มใหม่ และเมื่อเห็นว่าวัดอื่นมีเก้าอี้ให้ญาติโยมนั่งฟังเทศน์ จึงเริ่มหาเจ้าภาพซื้อเก้าอี้สำหรับให้ญาติโยมได้นั่งฟังธรรมตามยุคตามสมัย…

เมื่อมีงานในวัด เช่น วันสำคัญทางศาสนา หรือมีญาติโยมมาตั้งศพใช้ศาลาในวัด ปัจจัยในส่วนถวายวัดก็เริ่มเข้ามาถึงมือ หลังจากทอดกฐินปีที่แล้วซึ่งได้สามแสนกว่าบาท ก็เริ่มมีอำนาจที่จะสั่งจ่ายเงินส่วนนี้ และไม่นานมานี้ บัญชีเก่าของวัดก็ได้คืนมา หลังจากดำเนินการตามระเบียบแล้ว  ขณะนี้ ในฐานะสมภารตัวจริงเสียงจริง มีเงินอยู่ล้านกว่าบาทในบัญชีที่มีอำนาจสั่งจ่าย…

เพราะวัดมีปัญหาสั่งสมมานาน เมื่อมาเป็นสมภารใหม่ สิ่งที่ต้องแก้ไขหรือต้องการจะจัดการมีมาก ซึ่งหลายเรื่องไม่มีพื้นฐานความรู้ หรือไม่เคยคิดเรื่องนั้นเลย ก็ต้องคิดต้องปรึกษาคนโน้นคนนี้ จากการอยู่ว่างๆ เขียนบล็อกเล่นๆ ก็ค่อยๆ ขาดหายและทิ้งช่วงระยะนานขึ้นกว่าจะเขียนสักครั้ง แต่ที่เพิ่มขึ้นก็คือการบ่นในลานเจ๊าแจ๊ะ จนกระทั้ง ๔-๕ วันก่อน จึงรู้สึกว่าตั้งแต่เป็นสมภาร วันหนึ่งๆ ผ่านไปเร็วเหลือเกิน ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย และเมื่อวานเข้าไปบ่นในลานเจ๊าะแจ๊ะอีกครั้ง คุณโยมครูบาปรารภว่างานมาก ผู้เขียนก็ตอบว่าเรื่อยๆ มาเรียงๆ จะว่างานก็ใช่ มิใช่งานก็ใช่… เมื่อคืนไปนั่งงานศพเงียบๆ ที่วัดอื่น ก็คิดว่าจะเริ่มเขียนเรื่องชีวิตสมภาร โดยเริ่มหัวข้อแรกว่า งานก็ใช่ มิใช่งานก็ใช่

เมื่อคืนวาน จำวัดตีสี่หลังจากดูบาซ่าปะทะอินเตอร์ ตื่นมาตอนเช้าหกโมงกว่าๆ ก็เปิดศาลาและประตูวัดด้านหน้าซึ่งต้องทำทุกวัน เพียงแต่เมื่อวานเปิดสายไปนิดเท่านั้น เสร็จแล้วก็มาชงกาแฟฉันกับขนมนิดหน่อย แล้วก็เอากุญแจไปเปิดโบสถ์เพื่อให้โยมหน้าวัดมาทำงานซึ่งเป็นการติดตั้งโคมไฟที่เสาโบสถ์โดยรอบ กลับมายังศาลา ก็เจอทิดซึ่งเพิ่งสึกไปเมื่อสองวันก่อน เอาข้าวต้มโจ๊กมาถวาย ก็บอกให้จัดการเทใส่ถ้วยนำมาประเคน จะได้ฉันเลย และนี้คืออย่างแรกของสมภาร ถูกบังคับฉัน จะว่างานก็ใช่ มิใช่งานก็ใช่… คิดดูเถิด ทิดนี้บ้านอยู่ห่างจากวัดเกือบยี่สิบกิโล ขับรถเองก็ยังไม่ได้เพราะเพิ่งประสบอุบัติเหตุก่อนมาบวช ให้ญาติขับรถมาเพื่อจะได้ซื้อโจ๊กมาถวาย ตามธรรมเนียมปฏิบัติว่า ทิดสึกใหม่ต้องยกปิ่นโตมาถวายพระในวันแรก หรือถ้าศรัทธาและพอมีเวลาว่างก็ให้นำมาถวายตลอดสามวันเจ็ดวันหลังจากสึกไป จะไม่ฉันได้อย่างไร สมภารเมื่อจะรักษาน้ำใจของญาติโยมก็ต้องฉัน

ฉันโจ๊กเสร็จ ตั้งใจจะงีบเอาแรงสักหน่อย เพราะตอนบ่ายได้รับการนิมนต์ไปพิจารณาชักผ้าบังสุกูล แต่พอใกล้ๆ จะหลับ ก็ได้ยินเสียงโยมคุยกันข้างศาลา โยมคนหนึ่งจะมาซื้อน้ำมัน (วัดยางทองมีน้ำมันแก้เข็ดเมื่อยขายมานานแล้ว และค่อนข้างจะมีชื่อเสียง) จึงถามคนถีบสามล้อซึ่งมานั่งพักอยู่ คนถีบสามล้อบอกว่า เค้าไม่ทำแล้ว เพราะเจ้าอาวาสเสียแล้ว รองเจ้าอาวาสก็อยู่โรงพยาบาล (น้ำมันมีสองเจ้า คือของเจ้าอาวาสกับของท่านรอง)… ในฐานะสมภาร ผู้เชียนก็อดไม่ได้ที่จะต้องลุกขึ้นไปบอกว่า น้ำมันมี ! ตาหลวงเพิ่งบวชใหม่ทำขายอยู่ที่กุฏิหลังโบสถ์ (ตาหลวงรูปนี้ มีศักดิ์เป็นน้าของผู้เขียน บวชไม่นานเจ้าอาวาสก็มรณภาพ ท่านถูกแรงเชียร์จากพวกในวัดให้ทำน้ำมันขาย จึงทดลองทำดู ก็พอขายได้ ส่วนรายได้นั้น ไม่เก่ี่ยวกับวัด เป็นเรื่องส่วนตัวของท่าน)… นี้ก็เช่นเดียวกัน จะว่างานก็ใช่ จะว่ามิใช่งานก็ใช่

บอกแล้วก็กลับมานอนต่อ พลางถอนใจเรื่องการหลับไม่เป็นสุข ทำท่าจะหลับ เกือบตีสิบ ก็มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น พวกโทรอยู่หน้าศาลา (เปิดบังตาปิดประตูเหล็กไว้) ก็สะดุ้งขึ้นรับ พระจากวัดเลียบบอกว่า เจ้าอาวาสวัดเลียบนิมนต์ให้ไปมาติกาฉันข้าวด้วย ให้ไปเลยเพราะได้เวลาแล้ว ผู้เขียนจึงจำเป็นต้องลุกขึ้นมา ว่าจะอาบน้ำก่อน แต่เกรงจะไม่ทันจึงเพียงแต่ล้างหน้าแล้วครองจีวรเดินไปวัดเลียบ (กำแพงวัดห่างกันไม่เกินร้อยเมตร) พอไปถึง พระ-เณรก็มาคอยอยู่บ้างแล้ว สมภารวัดเลียบบอกว่าพิธีกรยังไม่มา ผู้เขียนจึงเดินกลับมาวัดอาบน้ำลวกๆ พอให้สดชื่นแล้วก็เดินไปทำพิธี เสร็จพิธีก็ฉันข้าวแล้วก็นอนพักที่ศาลาวัดเลียบ เพราะต้องไปพิจารณาชักผ้าบังสุกูลที่วัดโรงวาสเวลาบ่ายโมง (วัดเลียบไม่มีเมรุเผาศพ ต้องพาไปเผาวัดโรงวาสซึ่งอยู่ห่างไปไม่เกินห้าร้อยเมตร) พอใกล้ๆ จะหลับ พระก็บอกว่าถึงเวลาแล้ว จึงลุกขึ้นครองจีวรไปวัดโรงวาส…

งานศพที่เจ้าภาพพอมีกำลังและมีศรัทธา มักจะนิมนต์พระเถระจำนวนหนึ่งไปพิจารณาชักผ้าก่อนที่จะเผา ซึ่งพระเถระที่ได้รับการนิมนต์ประจำมักจะเป็นระดับเจ้าอาวาสเพื่อจะได้ทำบุญ เป็นเกียรติ หรือเอาหน้าก็ได้ ตามแต่จะมอง… ผู้เขียนไม่ชอบงานทำนองนี้เลย เพราะต้องนั่งคอยให้ทุกฝ่ายพร้อมจึงจะเริ่มพิธี น้อยที่สุดก็หนึ่งชั่วโมงหรือบางครั้งก็เกินสามชั่วโมงกว่าจะเสร็จพิธี แต่ขัดไม่ได้ เพราะถ้าไม่ไป วันหลังเค้าก็จะไม่นิมนต์ ถือว่าโกง เล่นตัว และนานๆ ไป อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่พาวัดไม่รอด… (อดีตเจ้าอาวาสบางรูป ท่านมักจะไม่ไปงานทำนองนี้ ไม่ว่าจะงานคนระดับใดก็ตาม ผู้เขียนเอาตัวอย่างอดีตเจ้าอาวาสเป็นอุทาหรณ์ ต้องการพาวัดให้รอด จึงต้องไปทุกงานถ้าว่าง)… นี้ก็เช่นเดียวกัน งานก็ใช่ มิใช่งานก็ใช่

เสร็จพิธีเดินกลับมาวัด ดูเวลาบ่ายสองโมงครึ่ง จะไปรดน้ำศพวัดแหลมทราย แต่บังเอิญข่ายโทรศัพท์ล้มหมด (เฉพาะสงขลาเมื่อวานนี้) จึงสอบถามรายละเอียดและติดต่อรถไม่ได้ อีกทั้งฝนก็เริ่มตก จึงตัดสินใจไม่ต้องไป… จึงเข้ามาบ่นไว้ในลานเจ๊ะแจ๊ะ จนสี่โมงเย็นก็ออกไปนั่งคุยกับโยมหน้าศาลา (ต้องนั่งอยู่เสมอทุกวัน ซึ่งจะว่างานก็ใช่มิใช่งานก็ใช่เช่นเดียวกัน)… พี่สาวของผู้ตายเป็นลูกค้าประจำของร้านดอกไม้หน้าวัด จึงมาสั่งจัดดอกไม้ร้านหน้าวัด ดอกไม้ที่จัดเสร็จแล้วก็มาอาศัยวางพักอยู่ที่ม้าหินขัดหน้าศาลา พูดกันว่า จะติดรถส่งดอกไม้ไปนั่งในงานศพด้วย พอดีเจ้าภาพพารถมารับดอกไม้เที่ยวแรก และนิมนต์ท่านสมภารไปนั่งเป็นประธานในงานศพ ดังนั้น พอหกโมงกว่าๆ จึงเปิดไฟปิดประตูศาลา แล้วติดรถเจ้าภาพไปนั่งงานศพ…

งานศพคืนแรก ทุกอย่างยังจัดไม่เสร็จ และผู้เขียนก็ไม่มีปกติเป็นเจ้ากี้เจ้าการในสิ่งที่ไม่ถนัดและไม่มีใครร้องขอ ดังนั้น จึงนั่งเงียบๆ เฉยๆ จนทุ่มหนึ่งก็ได้เวลาพระขึ้นสวด หลังจากนั้นรถส่งดอกไม้ก็ไปถึงอีกครั้ง หลังจากจัดดอกไม้เสร็จ สองทุ่มกว่าๆ จึงกลับมาวัดพร้อมรถส่งดอกไม้… คุยกับคนขับรถส่งดอกไม้ การไปนั่งงานศพเพื่อเป็นเกียรติแก่โยมที่คุ้นเคยและมีอุปการะต่อวัดทำนองนี้ จัดว่างานก็ใช่ มิใช่งานก็ใช่…

ตอนนั่งในงานศพนั่นเอง ผู้เขียนได้มีโอกาสทบทวนเรื่องทำนองนี้ จึงตั้งใจว่ากลับมาจะเขียน แต่เมื่อคืน ต้องคดีดวงเมืองของคุณหมอเบิร์ด จึงไม่ได้เขียน เช้านี้จึงรีบมาเขียน เพราะความดำริยังไม่เลือนหาย… และหลังจากโพสต์นี้เสร็จเรียบร้อย ตั้งใจว่าจะสรงน้ำแล้วไปงานฉลองพัดท่านเจ้าคุณที่วัดแจ้ง ซึ่งอยู่ห่างไปประมาณหนึ่งโล ไปร่วมมุทิตาทำบุญกับท่านแล้วฉันข้าวสักมื้อ ซึ่งนี้ก็เช่นเดียวกัน งานก็ใช่ มิใช่งานก็ใช่…

จากที่บ่นมาทั้งหมด คงจะสะท้อนให้เห็นได้ว่า การที่ผู้เขียนรู้สึกว่าวันหนึ่งๆ ผ่านไปโดยไม่ค่อยได้ทำอะไรเลย เป็นเรื่องจริง (………………)

Nov 20

คุณโยมบางทราย Tag มา  (คลิกที่นี้) ก็ต้องว่าไปตามที่ตั้งใจ ซึ่งสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะทำก็คือ “ยกวัดยางทองขึ้นมาให้ได้” และก็เริ่มดำเนินการมาประมาณครึ่งปีแล้ว ตั้งแต่จำเป็นต้องมาปฏิบัติหน้าที่่แทนเจ้าอาวาส….

วัดยางทอง แม้จะเป็นวัดสำคัญและเก่าแก่ แต่ก็ตกอยู่ในสภาพเชิงลบ คือ “ชื่อเสีย” มาหลายสิบปีแล้ว กล่าวได้ว่าตั้งแต่ผู้เขียนไม่ได้บวชโน้นแหละ นั่นคือ ตอนนั้น (ก่อนปี 2528) ถนนนางงามที่วัดตั้งอยู่หัวมุมจะเป็นย่านท่องเที่ยวของคนกลางคืน เพราะห่างออกไปมีโรงหนังหลักเมืองใกล้ๆ วัด พวกติดยาขายยาเสพติดมักจะใช้วัดเป็นที่หลบซ่อนพักพิง ท่านมหาเล็กเจ้าอาวาสรูปก่อนโน้นก็อาพาธ เสนาสนะภายในวัดก็ทรุดโทรมทุกอย่าง… หลังจากท่านมหาเล็กมรณภาพแล้ว ท่านมหาลี่ขึ้นมาเป็นเจ้าอาวาส ยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันก็อาพาธและมรณภาพลงไปอีกรูป สภาพวัดก็ทรุดโทรมและเป็นที่ซ่องซุ่มของพวกมิจฉาชีพยิ่งขึ้นไปอีกเพราะตกอยู่ในช่วงช่องว่างของผู้มีอำนาจในวัด…

หลังจากท่านมหาลี่มรณภาพ ท่านมหาประดับก็ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส (ปี 2528) ท่านมีปณิธานอย่างแรงกล้วเพื่อจะยกวัดยางทองขึ้นมาให้ได้…. และปลายปี 2530 ผู้เขียนก็เข้ามาอยู่วัดยางทอง สภาพวัดตอนนั้นยังคงทรุดโทรม พวกติดยาขายยายังมีอยู่ ถึงขนาดว่าสายตรวจตำรวจจับยาเสพติดจะมาอยู่ประจำ บางวันพวกติดยาก็นั่งคุยกับตำรวจจนดูเป็นเรื่องแปลกดี…

ท่านมหาประดับ รื้อกลุ่มกุฏิเก่าๆ ซึ่งเป็นกุฏิไม้กลางวัดออกหมดเพื่อใช้พื้นที่บางส่วนจะสร้างโบสถ์ใหม่  รื้อโรงครัวหอฉันเก่าออกแล้วสร้างกุฏิยาวสองชั้นกึ่งถาวรเพื่อให้พระเณรอยู่ชั้นบนก่อน ส่วนชั้นล่างใช้เป็นอเนกประสงค์ แต่ท่านมหาประดับก็อยู่ได้ไม่นาน พอเริ่มลงฐานรากโบสถ์ก็มรณภาพลงอีกด้วยโรคลมปัจจุบัน (ปี 2535) ปรารภกับบรรดาสหธรรมิกและญาติโยมว่า ไม่แน่ว่าท่านจะบุญมากคือไม่ต้องเหนื่อยตรากตรำต่อไป หรือบารมีไม่ถึงจึงต้องจากไปก่อนวัยอันสมควร…

หลังจากท่านมหาประดับมรณภาพ พระสมุห์เจษฎาซึ่งเป็นพระเถระที่เหลืออยู่ก็ได้รับการยกขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านไม่เป็นที่ประทับใจบรรดากรรมการและญาติโยม ยังไม่ทันจะได้ปรับตัวปรับปรุงแก้ไขอะไรนัก ก็เริ่มอาพาธ จึงปล่อยเลยตามเลยให้บรรดากรรมการและญาติโยมสร้างโบสถ์จนเสร็จ ส่วนสภาพภายในวัดก็ค่อยๆ ทรุดโทรมลงอีก ทั้งๆ ที่ตอนนี้ โรงหนังหลักเมืองก็เลิกไปแล้ว ถนนนางงามก็มิใช่ที่ท่องเที่ยวของคนกลางคืนแล้ว พวกติดยาขายยารุ่นเก่าๆ ก็หมดไปแล้ว อยางไรก็ตามพวกจรจัดพลัดที่ก็ผ่านไปผ่านมาซ่องซุ่มอยู่เรื่อยๆ….

เมื่อพระสมุห์เจษฏาอาพาธเข้าโรงพยาบาลนั้น บรรดากรรมการและญาติโยมก็ได้ยกพระครูบุญเสริม (เป็นพระเถระเพื่อนท่านเจ้าอาวาส เพิ่งมาอยู่หลังจากท่านมหาประดับมรณภาพ) จึงยกพระครูบุญเสริมขึ้นเป็นผู้ปฏิบัติงานแทนเจ้าอาวาส จนกระทั้งเจ้าอาวาสกลับมาวัด จึงกลายเป็นอำนาจสองฝ่ายขึ้นภายในวัด เมื่อเจ้าอาวาสอาพาธหนักอีกครั้ง ก็มีการยกพระครูบุญเสริมขึ้นเป็นรองเจ้าอาวาส แต่ไม่นานนัก ท่านก็อาพาธลงอีก จึงต้องถึงวาระของผู้เขียนต้องออกมาปฏิบัติหน้าที่แทน…

ตลอดเวลาเกินยี่สิบปีที่ผู้เขียนมาสังกัดวัดยางทองนั้น ไม่ค่อยจะเป็นที่รู้จักของญาติโยมเพราะเก็บตัวเรียนหนังสือในระยะแรก ต่อมาก็ไปเรียนหนังสือบ้างสอนหนังสือบ้าง โดยมากกลับมาวัดก็เพียงช่วงปิดเทอมหรือช่วงขี้เกียจเรียนขี้เกียจสอนหนังสือเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เพราะเหตุอยู่นาน ผู้เขียนจึงกลายเป็นอำนาจที่สามภายในวัดตามกฎเกณฑ์อะไรก็ยากที่จะอธิบาย 5 5 5…

เมื่อแรกย้ายมาอยู่ศาลาโรงธรรมเพื่อสะดวกในการที่ญาติโยมจะพบหานั้น บางคนบอกว่า “วัดยางทองยกไม่ขึ้นแล้ว” แต่เดียวนี้บางคนบอกว่า “เขาตั้งความหวังไว้กับท่านมหาฯ” และนี้แหละ คือสิ่งที่ต้องการจะทำ “ยกวัดยางทองขึ้นมาให้ได้”

สภาพวัดตอนนี้ ผู้เขียนแบกพระเถระอยู่สองรูป คือท่านเจ้าอาวาสและรองเจ้าอาวาส ซึ่งเพื่อนสหธรรมิกบางท่านบอกว่า ผู้เขียนมีงานใหญ่ที่อาจเป็นไปได้รออยู่ข้างหน้า คือจัดงานศพท่านทั้งสองในอนาคต (ตามความน่าจะเป็น) ซึ่งประเด็นนี้ ผู้เขียนไม่กังวลนัก เพราะคาดการณ์ได้ยากว่าท่านจะไปต่อใด และก็เป็นไปได้เหมือนกันว่าผู้เขียนอาจไปเสียก่อน 5 5 5…

ตอนนี้งานที่จะทำในต้นปีหน้าก็คือ ทำบุญวัด. โดยจะแบ่งเป็นสองภาค ภาคเช้านิมนต์พระเถระ ๑๐ รูป สวดธรรมนิยามสูตรเพื่ออุทิศส่วนบุญไปให้แก่ผู้ก่อตั้งวัด อดีตเจ้าอาวาส ไวยาวัจกร และบรรพชนชาวบ่อยางทั้งหมด… ภาคค่ำก็นิมนต์พระเถระ ๙ รูป เจริญพุทธมนต์ธรรมจักกัปปวัตนสูตรในโบสถ์… เพื่อเป็นสิริมงคลแก่วัดในเบื้องต้น

ในวันงานนั้น จะมีการประชันดนตรีไทยตั้งแต่เช้ายันเที่ยงคืน และจะสร้างพระผงหลวงพ่อบ่อยางขึ้นมาเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของวัดต่อไป…

โดยใจจริงแล้ว ผู้เขียนไม่ชอบเลยงานแบบนี้ แต่เมื่อจำเป็นต้องทำ ก็ต้องลองพิสูจน์ จะเรียกว่าความสามารถ วาสนาบารมี หรืออะไรก็ตาม…

ก็เล่ามาพอสมควรแล้ว ไม่อยากจะ Tag ไปยังคนอื่น… ขอ Tag ให้ตนเองอีกสองครั้ง (ไม่แน่ใจว่าผิกกติกาหรือไม่) เพราะมีเรื่องตั้งใจจะทำที่ต้องการเล่าหรือบ่นอีกหลายเรื่อง…

Nov 01

ตั้งแต่ผู้เขียนเริ่มรับผิดชอบต่างๆ ภายในวัด อย่างหนึ่งที่ต้องการจะทำก็คือหนังสือสวดมนต์ทำวัตรสำหรับญาติโยมประจำวัด เพราะของเก่าแม้จะมีเกือบร้อยเล่ม แต่ก็มีหลายเวอร์ชั่น เก่าสุดก็เป็นฉบับเขียนคัดลายมือตัวโตๆ แล้วก็ถ่ายเอกสารต่อๆ กันมา ซึ่งรุ่นนี้ก็ยังหลงเหลืออยู่บ้าง ต่อมาก็เอาฉบับนี้แหละไปลอกพิมพ์ใหม่ตามรูปแบบเดิม  หรือจัดรูปแบบใหม่พิมพ์ใหม่ขึ้นมา นอกจากนี้ก็มีฉบับสวดมนต์แปล ก็มีทั้งฉบับเขียนและฉบับพิมพ์ ซึ่งก็เป็นไปทำนองเดียวกัน…

หนังสือสวดมนต์เหล่านี้ ผิดทุกเล่ม โดยเฉพาะเวอร์ชั่นหลังๆ ผิดทุกหน้าก็ว่าได้ บอกญาติโยมแล้วว่าจะรวบรวมใหม่ จะเขียนให้ถูกที่สุด ดังนั้น หลังจากทอดกฐินแล้ว จึงได้รวบรวมขึ้นมา วันนี้ก็เร่งจนเสร็จ ๓๐ เล่มเบื้องต้น เพื่อพรุ่งนี้ญาติโยมจะได้ใช้เลย (พรุ่งนี้วันพระ)

สวดมนต์ทำวัตรเช้าฉบับนี้ สั้นๆ มิได้แปล และก็พิมพ์ตัวโตๆ เพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ผู้เขียนตั้งใจเว้นว่างไว้ในแต่ละหน้า เผื่อว่าเจอที่ผิดอีกก็จะแกะ ดึงแผ่นนั้นออกมา แล้วใส่แผ่นใหม่ที่ถูกเข้าไปแทน และต่อไปถ้ามีอะไรเพิ่มเติมก็ค่อยแกะแล้วเพิ่มเข้าไป…

คุยกับคุณโยม… เกิดความคิดว่า อาจมีประโยชน์อยู่บ้าง จึงได้นำมาลงไว้ ผู้สนใจ “สามารถโหลดได้ที่นี่

เจริญพร

Oct 21

โต๊ะหินขัดสองชุดได้มาแล้ว แต่ตัวหนังสือใช้สีแดงเขียน ดูไม่ค่อยสวยได้ดังใจ แต่ก็ทันวันงานตามบุญเจตนาของทายกทายิกา อย่างไรก็ตาม แม้คุณค่าเชิงความงามของโต๊ะด้อยไปนิดหนึ่ง แต่คุณค่าเชิงการใช้สอยยังคงเท่าเดิม…

จะลองปรึกษากับร้านสติกเกอร์ดูว่าจะลบสีแล้วใช้สติกเกอร์แทนได้หรือไม่ ?

มุมมองมายังศาลาการเปรียญ

มุมมองไปยังโบสถ์

มุมมองออกไปยังประตูวัดด้านตรงข้ามสถานีดับเพลิง

อิมินา กตปุญญานุภาเวน ด้วยอนุภาพแห่งบุญอันท่านทั้งหลายกระทำแล้วนี้

ยํ ยํ โว อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ สิ่งใดก็ตามที่ท่านทั้งหลายต้องการแล้ว ปรารถนาแล้ว

ตญฺเจ สมฺมาปวตฺติตํ ธมฺมิกํ โหติ หากสิ่งนั้นเป็นไปโดยชอบประกอบด้วยธรรมแล้วไซร้

ขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ จงสำเร็จโดยพลันนั่นเทียว

เจริญพร

Oct 10

เพราะเงินหรือโภคทรัพย์นั้นแสวงหามาได้ก็ด้วยความลำบาก และบางคนก็ได้มาโดยไม่ชอบธรรม นั่นคือประกอบอาชีพที่ผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม หรือผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรม ข้อนี้จัดว่าเป็นการกระทำที่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่จัดว่าดำรงอยู่ในอริยธรรมคือธรรมของผู้เจริญแล้ว
อีกอย่างหนึ่ง แม้เงินหรือโภคทรัพย์ที่ได้มาแล้วนั้น จะชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมก็ตาม แต่ก็ได้ใช้จ่ายอย่างไม่ชอบธรรม คือใช้จ่ายผิดลำดับความสำคัญตามนัยที่ได้แสดงมาแล้วทั้งหมด เช่น ให้ความสำคัญของคนนอกบ้านมากกว่าคนในบ้าน คือให้ความสำคัญแก่เพื่อนฝูงมากกว่าพ่อแม่หรือลูกเมีย ดังนี้จัดว่าเป็นการทำตนให้เดือดร้อน ไม่จัดว่าดำรงอยู่ในอริยธรรมคือธรรมของผู้เจริญแล้ว
หรือให้ความสำคัญแก่การทำบุญกับพระภิกษุสามเณรที่เป็นอลัชชีไม่มีความละอาย ชอบทำบุญกับคนทุศีลประเภทนี้เพื่อเอาหน้าเอาตา แต่ไม่เคยนำพาช่วยเหลือญาติพี่น้องหรือมิตรสหายผู้เป็นที่รัก หลีกเลี่ยงหรือโกงภาษีของรัฐ เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียวในเรื่องอื่นๆ เป็นต้น ครั้นเมื่อประสบความเดือดร้อนในภายหลัง หลายๆ คนต่างก็พากันหมางเมิน ไม่มีใครยอมช่วยเหลือ บางคนเที่ยวบ่นเพ้อว่า “ทำบุญไม่ได้บุญ” เหตุที่เป็นดังนี้เพราะว่าบุญทานที่ทำไปแต่ก่อนนั้นผิดลำดับในการจัดความสำคัญการจ่ายเงิน ไม่ดำรงอยู่ในอริยธรรมคือธรรมของผู้เจริญแล้วเช่นเดียวกัน
ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสคาถาสุดท้ายไว้ในอาทิยสูตรว่า
โส เม อตฺโถ อนุปฺปตฺโต กตํ อนนุตาปิยํ
เอตํ อนุสฺสรํ มจฺโจ อริยธมฺเม ฐิโต นโร
อิเธว นํ ปสํสนฺติ เปจฺจ สคฺเค ปโมทติ
นระผู้จะต้องตาย เมื่อระลึกข้อนี้ได้ว่า ประโยชน์นั้นเราได้บรรลุแล้วตามลำดับ
การกระทำที่ไม่ตามเดือดร้อนในภายหลัง เราก็ได้กระทำแล้ว
ดำรงอยู่ในอริยธรรม (คือธรรมของผู้เจริญแล้ว)
มนุษย์และเทพยดาทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้
เขาละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์

ในการดำเนินชีวิตจริง มีความหลากหลาย ซับซ้อน ไม่นิ่ง คือเปลี่ยนแปลงและแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา การบริหารโภคทรัพย์หรือการใช้จ่ายเงินก็เช่นเดียวกัน ยากยิ่งนักที่จะนำเอาอรรถธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแสดงให้ครบถ้วนและครอบคลุมทุกประการได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่าประโยชน์ของการใช้เงิน การจัดลำดับการใช้เงิน และการใช้จ่ายเงินมิให้เกิดความเดือดร้อนในภายหลัง จักบังเกิดผลแน่นอน ถ้าใครก็ตามใช้แนวทางตามอาทิยสูตร ซึ่งผู้เขียนได้ขยายความมาพอให้เห็นเป็นแนวทางโดยประการฉะนี้

พระมหาชัยวุธ ฐานุตฺตโม (โภชนุกูล)
๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๒