เข้าไปอ่านเรื่อง ดีย๊ากยาก ! ของคุณโยม Logos จึงไปค้นดูเรื่องที่เคยเขียนค้างไว้ มีความรู้สึกว่า น่าจะมารวมไว้ที่นี้อีกครั้ง จึงได้คัดลอกมารวมไว้เป็นบันทึกเดียวแน่นอนได้เลยว่า…
๑…
คนไทยทั่วไปหรือคนที่พูดภาษาไทยได้ย่อมรู้ความหมายของคำว่า ดี ชั่ว ผิด ถูก … และย่อมใช้คำเหล่านี้ได้เหมาะสมดังที่พูด (หรือเขียน) กันอยู่… กล่าวคือ ไม่มีปัญหาในการใช้คำเหล่านี้ ซึ่งเด็กๆ ก็พูดได้ใช้เป็น…
แต่คำว่า รู้ความหมาย คำเหล่านี้ (ดี, ชั่ว , ผิด, ถูก) อาจไม่ตรงประเด็นนัก ถ้าจะอ้างว่า พวกเราทุกคนรู้ความหมายของคำเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน แจ่มแจ้ง โดยมิได้แตกต่างกันเลย… หรือเมื่อคนหนึ่งบอกว่า
การที่ทุกคนจะยอมรับสิ่งที่คนหนึ่งบอกมานั้นโดยมิได้โต้แย้งเลย ก็มิใช่สิ่งที่จะเป็นไปได้ง่ายๆ…
ยกตัวอย่างว่า คำว่า วงกลม คนทั่วๆ ไป หรือแม้แต่เด็กเล็กๆ ที่ยังไม่เคยเรียนเรขาคณิต ก็อาจเข้าใจและใช้คำนี้ได้ตามความเหมาะสม… แต่ถ้าจะบอกว่า
ถ้าไม่ตอบแบบกำปั้นทุบดินว่า วงกลมคือวงกลม แล้ว การที่จะให้ความหมายของคำว่า วงกลม นับว่าเป็นสิ่งที่ยาก ในเมื่อบอกไปแล้วทุกคนจะยอมรับโดยไม่โต้แย้งทำนองเดียวกับคำว่า ดี เป็นต้น
อนึ่ง สำหรับวงกลม ในวิชาเรขาคณิตอาจให้ความหมายทำนองว่า…
- วงกลม คือ เส้นโค้งรอบ ซึ่งมีระยะทางเท่ากันหมดจากจุดหนึ่งที่ให้ไว้
คำศัพท์ทางจริยะ กล่าวคือ ดี. ชั่ว. ผิด. ถูก. ก็ทำนองเดียวกับคำว่า วงกลม ซึ่งเราอาจพูดหรือเขียนและใช้คำเหล่านี้ได้อย่างคล่องแคล่วเหมาะสม แต่ใช่ว่าเราจะรู้ความหมายของคำเหล่านี้อย่างแท้จริง หรือเมื่อเราให้ความหมายของคำเหล่านี้แล้ว ก็ใช่ว่าทุกคนจะยอมรับควาหมายนั้นเสมอไป…
ในวิชาจริยศาสตร์ มีสาขาย่อยศึกษาถึงความหมายของคำเหล่านี้ เรียกว่า อภิจริยศาสตร์ (Metaethics) ซึ่งผู้เขียนจะปัดฝุ่นหนังสือนำมาเล่าเป็นตอนๆ ตามแต่โอกาสจะอำนวยให้…
อนึ่ง สาเหตุที่นำเรื่องนี้มาเล่า เพราะรู้สึกว่า ระยะนี้จะมีการหยิบยกเรื่อง ความดี การเป็นคนดี การกระทำดี นักการเมืองที่ดี ฯลฯ มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเรื่อยๆ… ซึ่งผู้เขียนคิดว่า น่าจะเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเพื่อค้นหาความหมายของคำนี้อยู่ก็ ได้…
ดังนั้น จึงขอเชิญผู้สนใจติดตามเรื่องนี้ มาร่วมถกเถียง หรือวิพากษ์วิจารณ์ตามสมควรในตอนต่อๆ ไป…
…………
๒…..
เพื่อเป็นการสะดวกต่อผู้ไม่คุ้นเคยในวิชาจริยศาสตร์ ผู้เขียนจะนำโครงสร้างของวิชาจริยศาสตร์มาตั้งไว้ก่อนเป็นอันดับแรก
จริยศาสตร์ (Ethics) คือ ปรัชญาแขนงหนึ่งที่ศึกษาเรื่องหลักการดำเนินชีวิต คุณค่าของการกระทำ และการตัดสินดีชั่วผิดถูกในการกระทำ เป็นต้น โดยในปัจจุบันจำแนกออกได้ ๒ แขนง กล่าวคือ
จริยศาสตร์เชิงปทัฎฐาน (Normative Ethics) ศึกษาเรื่องเกณฑ์ตัดสินการกระทำทางศีลธรรม มี ๒ แขนง กล่าวคือ
- จริยศาสตร์ปทัฎฐานทั่วไป (General Normative Ethics) ศึกษาทฤษฎีทั่วไปที่ว่าด้วยเกณฑ์ตัดสิน เช่น ลัทธิคานต์ ประโยชน์นิยม อัตนิยม ฯลฯ และความขัดแ้ย้งของแต่ละแนวคิด เป็นต้น
- จริยศาสตร์ประยุกต์ (Applied Ethics) นำแนวคิดทั่วไปมาศึกษาเฉพาะเรื่อง เช่น จริยศาาสตร์ตามวิชาชีพเรียกว่าจรรยาบรรณ ซึ่งอาจแยกวิชาีชีพไปเป็นของหมอหรือครูเป็นต้น… ตลอดถึงข้อถกเถียงในการทำแท้งหรือสิทธิในการตายเป็นต้น
จริยศาสตร์เชิงอปทัฎฐาน (Nonnormative Ethics) มิได้เน้นการศึกษาเพื่อวางเกณฑ์การตัดสินการกระทำดังเช่นจริยศาสตร์เชิงปทัฎฐานข้างต้น มี ๒ แขนง กล่าวคือ
- จริยศาสตร์เชิงบรรยาย (Descriptive Ethics) ศึ่กษาปรากฎการณ์ทางศีลธรรมตามคำบอกเล่าในสังคม ตามช่วงเวลา หรือเฉพาะศาสนาเป็นต้น เช่น ชนเผ่าสปาตาร์โบราณของพวกกรีกยกย่องการลักขโมยว่าเป็นสิ่งที่ดี หรือชนชาวธิเบตนิยมครอบครัวแบบเมียเดียวหลายผัว เป็นต้น
- อภิจริยศาสตร์ (Metaethics) ศึกษาถึงความหมายของคำศัพท์ทางจริยะ เช่น ดี ชั่ว ผิด ถูก เป็นต้น
แม้จะแยกประเด็นออกไปก็จริง แต่ในการนำเสนอแต่ละอย่างก็มักมีการเชื่อมโยงถึงกันเสมอ เช่น เมื่อศึกษาถึงหลักศีลธรรมของชาวเยอรมันก็จัดเป็นจริยศาสตร์เชิงบรรยาย ด้วยเหตุที่คานต์เป็นชาวเยอรมัน ก็อาจศึกษาว่าลัทธิคานต์เข้าไปมีอิทธิพลอย่างไรบ้าง….
หรือแม้จะศึกษาเฉพาะหลักศีลธรรมของพระพุทธศาสนา แต่เมื่อพิจารณาความดีในแง่พระพุทธศาสนา ก็อาจต้องมีประเด็นอภิจริยศาสตร์เข้าไปเกี่ยวข้อง เป็นต้น
อนึ่ง เฉพาะอภิจริยศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องราวในบันทึกชุดนี้ ในปัจจุบันอาจจำแนกออกเป็นกลุ่มความคิดเห็นได้ดังต่อไปนี้..
- ปชานนิยม (Cognitivism) คือ แนวคิดที่เชื่อว่า คำศัพท์ทางจริยะนั้นเป็นสิ่งที่สามารถบ่งชี้้ความหมายได้ หรือเป็นไปได้ที่เราจะรู้ความหมาย… แนวคิดนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สัจนิยม (Realism) ซึ่งเป็นแนวคิดที่เชื่อว่า ความหมายของคำทางจริยะนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง
- อปชานนิยม (Noncognitivism) คือ แนวคิดที่เชื่อว่า คำศัพท์ทางจริยะนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถบ่งชี้ความหมายได้ หรือเป็นไปไม่ได้ที่เราจะรู้ความหมาย…. แนวคิดนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า คัดค้านสัจนิยม (Antirealism) ซึ่งเป็นแนวคิดที่เชื่อว่า ความหมายของคำทางจริยะนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง
และแต่ละกลุ่มก็มีแนวคิดแยกแย่อยออกไปอีกหลายกลุ่ม…
…………
๓…….
ปชานนิยม (Cognitivism) คือ แนวคิดที่เชื่อว่า คำศัพท์ทางจริยะนั้นเป็นสิ่งที่สามารถบ่งชี้้ความหมายได้ หรือเป็นไปได้ที่เราจะรู้ความหมาย ซึ่งจำแนกแนวคิดออกไปได้อีก กล่าวคือ
- ธรรมชาตินิยม (Naturalism) แนวคิดที่เชื่อว่า คำหรือข้อความทางคุณค่า (เช่น ดี) อาจระบุหรือให้ความหมายได้โดยคำหรือข้อความทางข้อเท็จจริง…
- อธรรมชาตินิยม (Nonnaturalism) แนวคิดที่คัดค้านธรรมชาตินิยม กล่าวคือ คำหรือข้อความทางคุณค่า (เช่น ดี) ไม่อาจระบุหรือให้ความหมายได้โดยคำหรือข้อความทางข้อเท็จจริง… แต่อาจรับรู้ความหมายโดยคุณสมบัติที่ไม่เป็นธรรมชาติ…
คำว่า ธรรมชาติ ในที่นี้ หมายถึง ข้อมูลที่เรารับรู้โดยผ่านประสาทสัมผัส ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า ข้อเท็จจริง (fact)… ส่วน อธรรมชาติ ก็หมายถึงสิ่งที่มิใช่ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเช่นนั้น
ตรงข้ามกับข้อเท็จจริงก็คือ คุณค่า (value) ซึ่งได้มาจากการประเมินค่าหรือเข้าไปกำหนดคุณค่าของข้อเท็จจริงอีกครั้ง เช่น กรุงเทพเป็นเมืองน่าอาศัยอยูู่่ …. คำว่า น่าอาศัยอยู่ จัดเป็น คุณค่า เพราะเราประเมินค่า ข้อเท็จจริง (กรุงเทพฯเป็นเมือง)
คำศัพท์ทางจริยะทั้งหมดจัดเป็นคุณค่า มิใช่่ข้อเท็จจริง เช่น
- ท่านนายกเป็นคนดี
- ท่านประธานเป็นคนเลว
- ท่านหัวหน้าเป็นคนชั่ว
ข้อความว่า “ท่านนายกเป็นคน” “ท่านประธานเป็นคน “ และ “ท่านหัวหน้าเป็นคน” …. เรียกว่า ข้อเท็จจริง …ส่วนคำศัพท์ว่า ดี เลว และ ชั่ว … เรียกว่า คุณค่า
แนวคิดธรรมชาตินิยมถือว่า คำศัพท์ทางจริยะ คือ ดี เลว ชั่ว ซึ่งเป็นคุณค่าเหล่านี้ อาจระบุ ให้ความหมาย หรืออาจรับรู้ได้ด้วย คำศัพท์หรือข้อความที่เป็นข้อเท็จจริงอื่นๆ
(อนึ่ง อภิจริยศาสตร์ เรียกอีกชื่อว่า จริยศาสตร์วิเคราะห์ ซึ่งจัดเป็นปรัชญาวิเคราะห์แขนงหนึ่ง มีความละเอียดถี่ยิบด้วยหลักตรรกศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนจะค่อยๆ เล่าตามที่พอจะคาดเดาได้เท่านั้น)
ยกตัวอย่างว่า นส.โสรยาสอบวิชาภาษาไทยได้เกรด D ในภาคการศึกษาที่แล้ว… ซึ่งเรื่องนี้ทำให้คุณแม่ไม่ปลื้ม จึงมีข้อต่อรองกับลูกสาวว่า ภาคการศึกษานี้ ถ้าหากว่าได้เกรด ต่ำกว่า B ก็จะยึดโทรศัพท์มือถือที่ใช้อยู่… นี้คือปัญหาของน้องโสรยา
โสรยาวิตกกังวลเรื่องนี้มาก จึงคิดที่จะลอกวิชาภาษาไทย เพื่อจะได้เกรด B ไม่ต้องถูกยึดโทรศัพท์มือถือตามที่คุณแม่คาดคั้น… เธอกำลังคิดเรื่องนี้อยู่
- โสรยาต้องการลอกข้อสอบภาษาไทย… จัดเป็น ข้อเท็จจริง
- โสรยาควรจะลอกข้อสอบภาษาไทยหรือไม่… จัดเป็น คุณค่า
ซึ่งจากข้อความเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและคุณค่าข้างต้น อาจมาจัดวางเป็นประพจน์ ได้ว่า
- โสรยามีความจำเป็นต้องได้เกรดภาษาไทย B …. (1)
- โสรยาสามารถได้เกรดภาษาไทย B ด้วยการลอกข้อสอบ …. (2)
- ดังนั้น โสรยาควรจะลอกข้อสอบภาษาไทย ….. (3)
เมื่อพิจารณาประพจน์ทั้งสามนี้ จะเห็นได้ว่า (1) จัดเป็น ข้อเท็จจริง …. ขณะที่ (3) จัดเป็น คุณค่า
โสรยาจึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษานายเท่งศักดิ์ซึ่งเป็นเพื่อนชาย เขาแนะนำว่า ไม่ควรลอกข้อสอบ เพราะการลอกข้อสอบเป็นการทำลายหลักคุณธรรมในทางวิชาการ… ซึ่งอาจจัดวางเป็นประพจน์ ได้ว่า
- เท่งศักดิ์ต้องการให้โสรยาอดกลั้นต่อการลอกข้อสอบภาษาไทย… (1ท)
- การลอกข้อสอบเป็นการทำลายหลักคุณธรรมในทางวิชาการ…….. (2ท)
- ดังนั้น โสรยาไม่ควรลอกข้อสอบภาษาไทย……………………….. (3ท)
เมื่อพิจารณาประพจน์ทั้งสามนี้ จะเห็นได้ว่า (1ท) จัดเป็น ข้อเท็จจริง… ขณะที่ (3ท) จัดเป็น คุณค่า
ธรรมชาตินิยม ถือว่า คำศัพท์ทางจริยะ ซึ่งเป็นคุณค่า เช่น ดี ชั่ว เลว ฯลฯ อาจกำหนดรู้ได้ด้วยข้อเท็จจริง
และจากตัวอย่างที่ยกมา ประเด็นของการค้นหาความหมายของคำว่า ดี เริ่มต้นที่ความแตกต่างระหว่างข้อเท็จจริงกับคุณค่า ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าต่อไป
………….
๔………
ธรรมชาตินิยม (Naturalism) แนวคิดที่เชื่อว่า คำหรือข้อความทางคุณค่า (เช่น ดี) อาจระบุหรือให้ความหมายได้โดยคำหรือข้อความทางข้อเท็จจริง
ข้อความข้างบนนี้ อาจเข้าใจยากสำหรับผู้ไม่คุ้นเคยเรื่องทำนองนี้ ดังนั้น ลองมาดูตัวอย่างเพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้น…
- นายไกวัลย์เป็นคนดีเพราะเขาตื่นเช้าตักบาตรทุกวัน
ตามประพจน์ข้างต้น จะเห็นได้ว่า คำว่า ดี (คุณค่า) ถูกให้ความหมายด้วยข้อความว่า ตื่นเช้าใส่บาตรทุกวัน (ข้อเท็จจริง)
- นายฉัตรวรเป็นคนเลวเพราะเขาเล่นการพนัน
ตามประพจน์ข้างต้น จะเห็นได้ว่า คำว่า เลว (คุณค่า) ถูกให้ความหมายด้วยข้อความว่า เล่นการพนัน (ข้อเท็จจริง)
- คุณนุชมาลเป็นภรรยาที่น่ีายกย่องเพราะก่อนนอนกราบสามีทุกคืน
ตามประพจน์ข้างต้น จะเห็นได้ว่า คำว่าี น่ายกย่อง (คุณค่า) ถูกให้ความหมายด้วยข้อความว่า ก่อนนอนกราบสามีทุกคืน (ข้อเท็จจริง)
- นายธิปัตย์กับนางศรีพิศเป็นพวกคนชั่วเพราะไปร่วมประท้วงกับกลุ่มพันธมิตร
ตามประพจน์ข้างต้น จะเห็นได้ว่า คำว่า ชั่ว (คุณค่า) ถูกให้ความหมายด้วยข้อความว่า ไปร่วมประท้วงกับกลุ่มพันธมิตร (ข้อเท็จจริง)
จะเห็นได้ว่า ดี เลว น่ายกย่อง และ ชั่ว จัด เป็นคุณค่า ซึ่งถูกให้ความหมายด้วยข้อเท็จจริงที่เราสามารถสังเกตได้ตามธรรมชาติ…. ถ้าใครเห็นด้วยกับการอธิบายทำนองนี้ แสดงว่าอยู่ในกลุ่มธรรมชาตินิยม
แต่ถ้าจะถามว่า ท่านเชื่อหรือไม่ว่า…
- คนที่ตื่นเช้าใส่บาตรทุกวันเป็นคนดี !
- คนเล่นการพนันเป็นคนเลว !
- ภรรยาที่กราบสามีก่อนนอนทุกคืนเป็นผู้น่ายกย่อง !
- พวกที่ไปร่วมประท้วงกับกลุ่มพันธมิตรเป็นคนชั่ว !
ผู้เขียนคาดหมายว่า คงจะมีหลายท่านที่ลังเลสงสัยว่า ผู้ที่มีพฤติกรรมตามตัวอย่างที่ยกมาจะเป็นคนดี เลว น่ายกย่อง หรือชั่ว ตามการให้ความหมายข้างต้น…
บางท่านอาจให้ความเห็นว่า การใส่บาตรตอนเช้าทุกวันอาจดีสำหรับชาวพุทธที่ศรัทธาเรื่องนี้เท่านั้น ศาสนิกชนของศาสนาอื่นๆ อาจเฉยๆ ไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ หรืออาจมองว่าเป็นกลุ่มคนโง่ก็ได้….
ได้ยินมาว่าคนอินเดียโบราณถือว่า การพนันคือการแข่งขันที่ยุติธรรมที่สุด… บางคนก็เล่นเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย… เล่นในยามว่างคลายเครียดเพื่อสนุกสนานในบรรดาญาติมิตรหรือเพื่อนฝูง… อีกอย่างการเล่นการพนันก็มิได้ระบุว่าเล่นขนาดไหน… ฉะนั้น การที่จะยอมรับว่าคนเล่นการพนันเป็นคนเลว จึงน่าจะพูดเกินจริงไปสักหน่อย…
ธรรมเนียมคร่ำครึว่าภรรยากราบสามี ก่อนนอนเป็นผู้น่ายกย่อง… เดียวนี้ภรรยาต้องช่วยเหลือสามีและครอบครัวทำมาหากิน จะมัวแต่เฝ้าบ้านทั้งวันแล้วคอยแต่เพียงกราบสามีก่อนนอน จะใช้ได้หรือน่ายกย่องที่ไหน… ประเด็นนี้ก็ไม่เห็นด้วย
เพื่อนๆ ของเราที่ไปร่วมประท้วงกับกลุ่มพันธมิตรก็มีหลายคน แต่รู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้เป็นคนชั่วนี้นา… ฟังว่าบางคนมาเรียนหนังสือกรุงเทพฯ ยามว่างพรรคพวกมาชวนก็ไปร่วมประท้วง ไม่ว่าฝ่ายไหนไปด้วยทั้งนั้น เพราะข้าวก็ได้กิน ดนตรีก็มีให้ฟัง แถมบางครั้งมีเงินมาแจกอีก พวกนี้น่าจะจัดเป็นกลุ่มประท้วงเพื่อการศึกษามากกว่าที่จะถูกตราหน้าว่าเป็น คนชั่ว… ข้อนี้ก็ไม่เห็นด้วย
นั่นคือ คำศัพท์บ่งชี้คุณค่าทางจริยะ เช่น ดี เลว น่ายกย่อง หรือ ชั่ว เป็นเพียงความเห็นของใครบางคนเท่านั้น มิใช่ทุกคน ดังข้อวิจารณ์ที่ผู้เขียนนำมาเปรียบเปรยให้พอมองเห็นได้
ตามนัยข้างต้น อาจสรุปว่า การประเมินค่าพฤติกรรมของคน อาจจำแนกได้ ๒ นัย กล่าวคือ
- เห็นด้วย ยอมรับ ชอบใจ…. จัดเป็นเชิงบวก
- คัดค้าน ต่อต้าน รังเกียจ… จัดเป็นเชิงลบ
เมื่อถือเอาตามนัยนี้ ก็อาจสรุปได้ว่า…
- คุณค่าเชิงบวก (่ดี. น่ายกย่อง.) ก็คือ สิ่งที่ฉันหรือใครๆ เห็นด้วย ยอมรับ หรือชอบใจ
- คุณค่าเชิงลบ (ชั่ว. เลว.) ก็คือ สิ่งที่ฉันหรือใครๆ คัดค้าน ต่อต้าน หรือรังเกียจ
นั่นคือ พฤติกรรมของคนตามธรรมชาติที่เราสังเกตได้นั้น เราอาจประเมินค่าว่าดี (ถ้าชอบใจ) หรือเลว (ถ้าไม่ชอบใจ)… ซึ่งขึ้นอยู่กับความเห็นของคนเท่านั้นเอง และนี้คือ ข้อบกพร่องของธรรมชาตินิยม
แนวคิดเบื้องต้นของธรรมชาตินิยมเป็นไปทำนองนี้ และยังมีความเห็นแยกย่อยออกไปอีก ซึ่งผู้เขียนค่อยนำมาเล่าต่อไป…
…………..
๕………….
ธรรมชาตินิยม ซึ่งยึดถือว่า ดีชั่ว หรือผิดถูก อาจสังเกตได้จากข้อเท็จจริงตามธรรมชาติ จำแนกได้เป็น ๒ กลุ่ม กล่าวคือ…
- ธรรมชาตินิยมเชิงอัตวิสัย ( Subjective Naturalism ) มีความเห็นว่า ความจริงของคำศัพท์หรือข้อความทางจริยะ (เช่น ดี) เกิดขึ้นจากการตัดสินใจส่วนตัวหรือของสังคม
- ธรรมชาตินิยมเชิงปรวิสัย ( Objective Naturalism ) มีความเห็นว่า ความจริงของคำศัพท์หรือข้อความทางจริยะ (เช่น ดี) ไม่ขึ้นอยู่กับ… หรือเป็นอิสระจากการตัดสินใจส่วนตัวหรือหรือของสังคม
ธรรมชาตินิยมเชิงอัตวิสัย นี้ อาจจำแนกย่อยออกไปเป็นส่วนตัวหรือ เชิงปัจเจกชน ( Individual ) และส่วนรวมหรือ เชิงสังคม ( Social ) อีกลำดับหนึ่ง…
…เชิงปัจเจกชน ก็คือ การตัดสินใจว่าดีชั่วหรือถูกผิดนั้น ขึ้นอยู่กับการประิเมินค่าของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น เช่น คนที่มีความเห็นว่าการขโมยเป็นสิ่งที่่ถูกต้อง เขาจึงขโมย เพราะเขาคิดว่าการทำอย่างนี้เป็นสิ่งที่ดีสำหรับเขาแล้ว… หรือนักการเมืองบางคนคิดว่าการซื้อเสียงเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเขา เป็นต้น
…เชิงสังคม ก็คือ การตัดสินใจว่าดีชั่วหรือผิดถูกนั้น ขึ้นอยู่กับการประเมินค่าของคนในสังคมนั้นๆ เช่น ชาวธิเบตถือว่าครอบครัวแบบเมียเดียวหลายผัวเป็นสิ่งที่ดี… หรือคนที่ชำนาญในการลักขโมยได้รับการนิยมยกย่องในสังคมของชาวสปาตาร์โบราณ เป็นต้น
ตามความเห็นของกลุ่มนี้ อาจสรุปสั้นๆว่า ถ้าใครว่าดีสิ่งนั้นก็ดี ถ้าสังคมใดว่าดีสิ่งนั้นก็ดี หรือ ถ้าใครว่าเลวสิ่งนั้นก็เลว ถ้าสังคมใดว่าชั่วสิ่งนั้นก็ชั่ว … ความเห็นทำนองนี้ บ่งชี้ว่าดีชั่วหรือผิดถูก ขึ้นอยู่กับการให้ความหมายและตัดสินใจของใครบางคนหรือของสังคมเท่านั้น และอาจขัดแย้งกันได้… นั้นคือ กลุ่มนี้จะไม่ยอมรับความเป็นทั่วไป (หรือสากล) ของการให้ความหมายคำศัพท์หรือข้อความทางจริยะ…
ขณะที่ ธรรมชาตินิยมเชิงปรวิสัย ไม่ยอมรับการประเมินค่า ให้ความหมาย และตัดสินทำนองนี้
ธรรมชาตินิยมเชิงปรวิสัย เชื่อว่า ความจริงของคำศัพท์หรือข้อความทางจริยะ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเห็นของใครๆ หรือสังคม กล่าวคือ จะต้องเป็นความจริงที่อิสระจากใครๆ หรือสังคม… ปัญหาก็คือ ใครจะยืนยันได้ว่า ข้อเท็จจริงตามธรรมชาติที่บ่งชี้ดีชั่วผิดถูกที่มีลักษณะทั่วไปเป็นสากลไม่ ขึ้นอยู่กับความเห็นใดๆ ทำนองนี้
ทฤษฎีผู้สังเกตในอุดมคติ (The Ideal-Observer Theory ) บอกว่า จะต้องมีใครสังคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้รู้และเข้าใจสิ่งนี้ และสามารถยืนยันได้ว่าสิ่งใดดีชั่วหรือผิดถูก…ว่าโดยย่อ แนวคิดของทฤษฎีนี้ ต้องการให้การประเมินค่าดีชั่วเป็นอิสระจากใครๆ หรือไม่ขึ้นอยู่กับสังคม กล่าวคือต้องการให้เป็นสากลทั่วไปสำหรับทุกๆ คน… น่าจะทำนองนี้
ผู้เขียนไม่ค่อยเข้าใจและคุ้นเคยกับทฤษฎีนี้สักเท่าไหร่… และเห็นว่า ถ้าจะนำมาเล่าก็จะนอกเรื่องออกไปไกลแน่ ดังนั้น ผู้สนใจประเด็นนี้ ไปอ่านเพิ่มเติมที่…
สรุปได้ว่า ธรรมชาตินิยมถือว่า ดี อาจยืนยันได้โดยข้อเท็จจริงที่เราสังเกตได้ตามธรรมชาติ ซึ่งบางพวกก็บอกว่าขึ้นอยู่กับการยืนยันส่วนตัวของใครก็ได้ หรือของสังคม ขณะที่บางพวกบอกว่าต้องมีผู้สังเกตในอุดมคติซึ่งจะระบุข้อเท็จจริงตาม ธรรมชาติเพื่อมายืนยันสิ่งที่ ดี ได้
ตรงข้ามกับ ธรรมชาตินิยม ก็คือ อธรรมชาตินิยม ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าต่อไป…
…………
หมายเหตุ : เขียนค้างไว้แค่นี้ และคิดว่าน่าจะไม่เขียนต่อ ยกเว้นถ้าอนาคตกลับไปเป็นอาจารย์สอน และจำเป็นต้ิิองสอนเรื่องนี้ (………….)
ความคิดเห็นใหม่