เป็นปลื้ม…….อิอิ

3 ความคิดเห็น โดย จอมป่วน เมื่อ 31 สิงหาคม 2015 เวลา 9:44 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1414

หลังจากเตรียมการเรื่อง Civic Education มานานพอสมควร 

ทำความเข้าใจกับผู้บริหารจนได้ไฟเขียวและการสนับสนุน  เริ่มทำความเข้าใจ  สร้างทีมวิทยากร(อบรมหลายหลักสูตรมาก)   

11924673_10205638720220619_683873855_n

พัฒนาหลักสูตร(เบื้องต้นออกแบบไว้ 8 ครั้งๆละ 3 ชั่วโมง)

ก็ถึงเวลาเริ่มทดลองใช้หลักสูตร (Testrun) ครั้งแรก  หาอาสาสมัครมาได้ ประมาณ 20 คน  นัดกันทุกวันศุกร์ 9-12.00 น. พยายามจะเข้าเป็นวิทยากรหลักทุกครั้ง  แต่บางครั้งก็ต้องให้หนิง (สุภาวดี พิบูลสมบัติ)ช่วยทำแทน

วันที่ 28 สิงหาคม 2558  เป็นครั้งที่ 5  มีภารกิจทั้งวัน  หนิงก็ไม่ว่าง  ก็เลยให้ตุ๋ย ( เจียมใจ ไคล้คง )   เป็นวิทยากรกระบวนการแทน  ทราบล่วงหน้าว่าทีมงานและผู้เข้าร่วมติดภารกิจกันหลายคน  แต่ก็ไม่อยากงด  คนน้อยหน่อยก็ไม่เป็นไร

ตุ๋ย

9.00 น. ท่านนายกเทศมนตรีมอบหมายให้ไปเป็นประธานเปิดการอบรมเรื่องยาเสพติดที่ กองบิน 46  เสร็จภารกิจก่อนเข้าประชุมสภาเทศบาลนครพิษณุโลกเพื่อพิจารณางบประมาณ  มีเวลาว่างก็แวะเข้าไปดูกิจกรรม Civic Education   พบว่า  มีคนเข้าร่วมประมาณ 5-6 คน  แต่ทีมงานและผู้เข้ารับการอบรมก็ยังร่วมมือกันทำกิจกรรม  ทราบว่าหลายคนถูกตามไปทำงานเร่งด่วน

ทีมจัดการ  ทีมจับประเด็น  และวิทยากรกระบวนการก็ทำหน้าที่อย่างมีความสุข  ผู้เข้าร่วมกิจกรรมก็สนุกสนานและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

 

11.30 น. ประชุมสภาเทศบาลเสร็จก็แวะมาดูอีกครั้ง มีคนเข้ามาร่วมมากขึ้นหลังจากเสร็จภารกิจด่วน  มีคนเข้าร่วมกิจกรรม ประมาณ 12 คน 

พอเดินเข้ามาในห้องก็ได้ยินเสียงหัวเราะ  ผู้คนคึกคักขึ้น  ให้ความร่วมมือในกิจกรรมเป็นอย่างดี   มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างดี

11898576_882062365180975_4017056355852779063_n

11903966_882062458514299_6774131774112249339_n

 

ที่เป็นปลื้มเพราะเห็นว่า  ทีมงานฝ่าด่าน  ทะลายกำแพงได้  แม้มีปัญหาคนเข้าร่วมน้อยก็ยังทำหน้าที่อย่างเต็มที่  ทั้งยังสามารถสร้างบรรยากาศที่ดี  ผู้ที่เข้าร่วมให้ความร่วมมือ  สนุกสนาน  มีความสุข  คนที่ถูกตามตัวไปทำงานด่วน  เมือเสร็จงานก็รีบกลับมาร่วมกิจกรรมอย่างมีความสุข

 

ไม่ประเมินเนื้อหาที่ได้  แค่สัมผัสบรรยากาศของกิจกรรมก็เป็นปลื้มแล้ว  ผลออกมาดีแน่ๆ  เชื่อเหอะ  อิอิ


โครงการ Civic Education – เทศบาลนครพิษณุโลก

ไม่มีความคิดเห็น โดย จอมป่วน เมื่อ 26 กรกฏาคม 2015 เวลา 4:23 (เย็น) ในหมวดหมู่ Civic Education #
อ่าน: 1590

เทศบาลนครพิษณุโลกได้ประกาศนโยบายให้การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง เป็นที่มาของโครงการ Civic Education ของเทศบาลนครพิษณุโลก ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ

1. บุคลากรของเทศบาลนครพิษณุโลก

2. ประชาชนในเขตเทศบาลนครพิษณุโลก

3. เครือข่ายที่สนใจ

หลักสูตร Civic Education สำหรับพนักงานเทศบาลนครพิษณุโลก ออกแบบไว้ 8 ครั้ง ครั้งละ 2-3 ชั่วโมง เมื่อจบหลักสูตรคาดหวังว่าพนักงานเทศบาลนครพิษณุโลกจะเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย, พลเมือง และเริ่มพัฒนาตัวเองเป็นพลเมืองที่เหมาะสมกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

การออกแบบหลักสูตรใช้แนวทาง Backward Design คือกำหนดเป้าหมาย สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นก่อน(Identify Desired Results) แล้วจึงมาคิดว่าจะตรวจสอบอย่างไรว่าได้ผลตามที่ต้องการ(Determine Acceptable Evidence) แล้วจึงมาออกแบบกิจกรรมที่นำไปสู่เป้าหมาย (Plan Learning Experiences and Instruction) หรือ (OEL – Objective, Evaluation and Learning) ซึ่งกลับกันกับวิธีเดิมที่กำหนดเป้าหมาย ออกแบบกิจกรรมที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ สุดท้ายจึงจะกำหนดวิธีการติดตามประเมินผล ( OLE – Objective, Learning and Evaluation)

วิธีการจัดการฝึกอบรม Civic Education เป็น Outcome-based Education (ปริญญา เทวานฤมิตรกุล)

ใช้ วิทยากรกระบวนการ(Facilitator) เป็น Activity-based Learning ไม่ใช้ ผู้บรรยาย (Lecturer)

clip_image002

ถ้าจะพูดเรื่องหลักสูตรคงจะยาว เอาเป็นว่า มี Keywords ที่ผู้เข้ารับการอบรมตามหลักสูตรนี้ต้องรู้มี

ประชาธิปไตย (democracy)

   หลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน (Popular Sovereignty)

   หลักเสรีภาพ (Liberty)

   หลักความเสมอภาค (Equality)

   หลักกฎหมาย (Rule of Law)

   หลักเสียงข้างมาก (Majority Rules) – ไม่ละเลยสิทธิของเสียงข้างน้อย(Minority Rights)

 

พลเมือง (Citizen)

clip_image004

   -มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ (analytical Thinking)

   -เคารพหลักความเสมอภาค (Equality)

   -เคารพความแตกต่าง (Pleuralism)

   -รับผิดชอบต่อสังคมและมีส่วนร่วม (Community Involvement and Public Participation)

   -เคารพกติกา เคารพสิทธิผู้อื่น

   -มีส่วนร่วมทางการเมือง วิพากษ์การเมือง (Political Critism)

ขณะนี้ก็ได้เปิดตัวโครงการไปแล้ว โดยอาจารย์ศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า และ ผศ.ดร.ปริญญาเทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิฟรีดิช เนามัน ช่วยสาธิตเกม Sim Democracy และจัดการฝึกอบรมทีมงานของเทศบาลนครพิษณุโลกให้เป็นวิทยากร นำเล่นเกม Sim Democracy ให้กับบุคลากรของเทศบาล ประชาชน และเครือข่ายที่สนใจ และจะช่วยจัดการฝึกอบรม “หลักสูตรวิทยากรกระบวนการ” ให้กับทีมงานของเทศบาลนครพิษณุโลกในเดือนสิงหาคมนี้

จัดการฝึกอบรมวิทยากรกระบวนการ “จัดวงคุยสำหรับผู้เห็นต่าง” สนับสนุนโดยสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล มีพลเอกเอกชัย ศรีวิลาศ อาจารย์เมธัส อนุวัตรอุดม อาจารย์ชลัท ประเทืองรัตนา อาจารย์สุวรินทร์ ทองกร และอาจารย์นารี เจริญผลพิริยะ และส่งทีมงานไปรับการฝึกอบรมในหลักสูตรวิทยากรกระบวนการอีกหลายหลักสูตร

ขณะนี้ได้ยกร่างหลักสูตร Civic Education ของเทศบาลนครพิษณุโลกเรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นตอน Testrun หลักสูตร เพื่อเตรียมให้การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (Civic Education) แก่บุคลากรของเทศบาลนครพิษณุโลก ประชาชนในเขตเทศบาลและเครือข่ายที่สนใจต่อไป


เทศบาลนครพิษณุโลกเปิดวงเสวนา

1 ความคิดเห็น โดย จอมป่วน เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2012 เวลา 8:35 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2040
ผู้บริหาร ของเทศบาลนครพิษณุโลกได้เปิด “โครงการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และธำรงไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ” Kickoff โครงการวันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2555 14.00 –18.00 น. ที่ห้องประชุมจุฬามณี 2 เทศบาลนครพิษณุโลก มีคนเข้าร่วมประมาณ 20 คน

เริ่มพูดคุยกันประเด็น จำเป็นไหมที่ต้องทำโครงการนี้ ? ทำไปทำไม? ถ้าทำโครงการจะมีลักษณะอย่างไร? ทำกิจกรรมอะไรกันบ้าง ?

ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่าควรทำ โครงการนี้ เพราะเหตุการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมาทำให้บรรยากาศทั้งที่บ้าน ในครอบครัว ที่ทำงานและสังคมมีความแตกแยก คุยกันเรื่องการเมืองไม่ได้ หวาดระแวงกัน ทำให้ไม่มีความสุข และการทำงานไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ

มีผู้เสนอให้มีจัดคนมาบรรยายให้ ความรู้เรื่องประชาธิปไตย เรื่องการเมือง จะได้รู้เรื่องการเมืองและประชาธิปไตยกันมากขึ้น แต่ก็สรุปว่าเวลาจัดบรรยายให้คนมาพูด คนพูดก็ไม่ค่อยเป็นกลาง อยู่ที่ใครเป็นคนเชิญ คนเชิญก็จะเชิญคนที่มีความเชื่อเหมือนตน เอามาพูดให้คนที่คิดต่างเปลี่ยนความคิดให้คิดเหมือนตน จัดไปจัดมาก็มีแต่คนที่คิดเหมือนกันมานั่งฟังกัน จนคนจัดก็เริ่มเบื่อเพราะคนที่คืดต่างก็ไม่ยอมมาฟัง ถ้ามาก็แค่อยากมาป่วนให้เสียบรรยากาศเล่นๆ

เลยสรุปว่างั้นก็จัดเป็นรูปแบบ สุนทรียสนทนาหรือสานเสวนา (Dialogue) ฝึกพูดคุยกันเอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเอง ทำในกลุ่มเล็กๆ ลองดูว่าจะมีอะไรๆดีๆเกิดขึ้นในกลุ่มไหม? ถ้ามีอาจเป็นประสบการณ์ที่จะขยายผลต่อไปในชุมชนและสังคมเมืองพิษณุโลก

บรรยากาศการพูดคุยค่อนข้างดี กลุ่มที่เข้าร่วมประมาณครึ่งหนึ่งมีประสบการณ์การสนทนามาบ้างแล้ว สามารถเหนี่ยวนำและหล่อเลี้ยงกลุ่มได้ดีพอสมควร มีการพูดตรงๆ ลึกๆ หลายครั้งเหมือนกันแต่ก็รับฟังกันดี ไม่มีการโต้เถียงหรือเอาแพ้เอาชนะกัน อาจเกรงใจกันอยู่เพราะเป็นครั้งแรกๆ หรือเกรงใจรองนายกฯ ก็ไม่รู้…อิอิ

วันนี้โยนโจทย์ไปว่าสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันเป็นอย่างไร? ในความคิดเห็นของแต่ละคน

ถ้าสถานการณ์ดีอยู่แล้วก็อยู่นิ่งๆ อย่าขยับอะไรมากเพราะจะทำให้ยุ่งขึ้นมาอีก

หรือ

สถานการณ์ไม่ค่อยดี เหมือนคลื่นลมสงบก่อนพายุร้าย ถ้าเป็นแบบนี้ก็น่าจะทำอะไรสักอย่าง? เพื่อหลีกเลี่ยงหรือป้องกัน ถ้าใครว่าสถานการณ์ไม่ดี ต้องทำอะไรสักอย่างก็เสนอด้วยว่าควรทำอะไร?

ก็มีการแสดงความเห็นกันพอสมควร มีการเสนอให้นักการเมือง ผู้บริหารประเทศต้องปรับปรุงตัวบ้าง แต่ก็มีคนเสนอให้พัฒนาตัวเองให้เป็นพลเมืองที่เหมาะกับระบอบประชาธิปไตย เพราะไปเปลี่ยนคนอื่นจะยากมาก

เลยพูดถึงเรื่องรายงานการศึกษา วิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติของสถาบันพระปกเกล้าและข้อเสนอแนะให้ทำ ประชาเสวนาหาทางออก (deliberation) รายงานการค้นหาความจริง เหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองและข้อเสนอเพื่อการปรองดองฉบับสมบูรณ์ของ คปอ. และเรื่อง Citizenship and The Future of Thai Democracy ที่เคยแนะนำให้อ่านกันมาแล้ว

นัดคุยกันอีกครั้ง วันที่ 11 หรือ 12 ธันวาคม 2555 ซึ่งจะมีเครือข่ายสุนทรียสนทนา@พิษณุโลกมาร่วมพูดคุยด้วย


พลเมืองไทยแบบไหนที่เหมาะกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ไม่มีความคิดเห็น โดย จอมป่วน เมื่อ 11 พฤศจิกายน 2012 เวลา 11:48 (เช้า) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 4378

จากบันทึกก่อน…ถ้าเราคิดว่าจะมาช่วยกันส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็ต้องช่วยกันสร้างพลเมืองไทยที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับระบอบนี้

จากการประชุมวิชาการ สถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 13 “ ความเป็นพลเมืองกับอนาคตประชาธิปไตยไทย-Citizenship and the Future of Thai Democracy” มีการพูดคุยเรื่องการเมืองภาคพลเมือง พอสรุปได้ดังนี้

จะต้องมีกระบวนการสร้างความเป็นพลเมืองที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ (Civic Education) ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ คือดำเนินการโดยภาครัฐ การศึกษาในระบบ และภาคประชาสังคมและมีหลักสูตรที่แน่นอน (ต้องทำด้านอื่นควบคู่กันไปด้วย)

สิ่งที่ประชาชนขาด (จากคุณสมบัติที่พลเมืองพึงมี) ก็คือ

1. ความสามารถในการวิเคราะห์และแสดงความคิดเห็นทางการเมือง

2. มีความรู้เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง

ถ้าเราศึกษารายงานวิจัย การสร้างความปรองดองแห่งชาติ ของสถาบันพระปกเกล้า และรายงานการค้นหาความจริง เหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองและข้อเสนอเพื่อการปรองดอง ฉบับสมบูรณ์ของ คปอ. ก็จะพบว่ามีข้อเสนอให้ทำประชาเสวนาหาทางออก (deliberation)

ถ้าติดตามข่าวก็จะพบว่ารัฐบาลก็ได้ตั้ัง คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ซึ่งได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางการดำเนินการจัดทำเวทีประชาเสวนา และมอบหมายให้ มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการจัดให้มีเวทีประชาเสวนาในภูมิภาค ส่วนการจัดเวทีประชาเสวนาในส่วน กทม. สถาบันราชภัฏ สวนดุสิตจะเป็นผู้ดำเนินการ

ดูแล้วประเทศไทยคงต้องมีการทำประชาเสวนาแน่นอน แต่รูปแบบจะเป็นอย่างไร? ทำเมื่อไหร่? ให้ใครทำ? ความชัดเจนคงต้องรอสักพัก แต่ที่น่าคิดคือทำไปทำไม? ทำแล้วคาดหวังว่าจะได้อะไร? น่าจะสำคัญกว่า

แต่อย่างน้อยการทำประชาเสวนาก็น่าจะเป็นกระบวนการสร้างความเป็นพลเมืองที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ (Civic Education) ถ้าทำได้ถูกต้องตามแนวทางการทำประชาเสวนาจริงๆ โดยไม่มีเจตนาซ่อนเร้นตามที่หลายๆฝ่ายเป็นห่วงกันอยู่

การทำประชาเสวนาคืออะไร? ทำอย่างไร? ทำแล้วได้อะไร? จะเป็นกระบวนการสร้างความเป็นพลเมืองที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ (Civic Education) หรือไม่? ทำแล้วจะเกิดความปรองดองขึ้นจริงหรือไม่? อะไรเป็นปัญหาอุปสรรคในการทำประชาเสวนา?…….ติดตามในบันทึกต่อไปครับ


จะเสวนากันไปทำไม?

ไม่มีความคิดเห็น โดย จอมป่วน เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2012 เวลา 10:32 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3189

ก่อนจะทำอะไรจะถามตัวเองก่อนว่าทำไปทำไม? ไม่ใช่ไปเริ่มที่จะทำอะไร? ทำอย่างไร?

มาวิเคราะห์สถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันกัน ถ้าเห็นว่าขณะนี้ดีแล้วและกำลังดีขึ้นเรื่อยๆก็ไม่ต้องทำอะไร? แค่รอให้ดีขึ้นก็พอ แต่ถ้าคิดว่าสถานการณ์ไม่ดี ทิ้งไว้นานยิ่งจะเลวร้ายลงทุกทีก็คงต้องทำอะไรกันบ้าง จะทำอะไร? อย่างไร? ค่อยมาคิดกัน

มาถึงตรงนี้เราเจอทาง 2 แพร่งที่ต้องเลือก ใครคิดว่าสถานการณ์ดีแล้ว กำลังดีขึ้นเรื่อยๆก็ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องอ่านต่อก็ได้ แต่ถ้าอยากรู้ว่ามีคนอื่นคิดอะไรกันบ้างก็เชิญอ่านต่อครับ

แต่ถ้าเห็นว่าสถานการณ์ไม่ดีและมีแนวโน้มว่าจะแย่ลงเรื่อยๆ ถ้าทิ้งไว้คงมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ อาจนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงและมีการสูญเสียมากมายที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ก็คงต้องมาช่วยกันคิดว่าแล้วจะทำอะไรกันดี

มีคนเคยทำ Scenario -กระบวนการฉายภาพฉากทัศน์อนาคต ไว้แล้ว (คลิกอ่านได้) ที่น่ากลัวคือออกมาแนวทาง -เกาเหลาไม่งอก น้ำพริกปลาทูกับต้มยำกุ้งน้ำโขง ก็พอทนครับ ทางวิชาการก็เชื่อว่าความขัดแย้งที่จัดการ แก้ไขไม่ถูกวิธี ทิ้งไว้นานจะจัดการยากขึ้นเรื่อยๆและมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

จากการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 13 ประจำปี 2554 หัวข้อ “ความเป็นพลเมืองกับอนาคตประชาธิปไตย – Citizenship and the future of Thai Democracy” มีประเด็นที่น่าสนใจว่า

…ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันไม่เหมาะสมกับขนบธรรมเนียมประเพณีของคนไทย มีความเป็นตะวันตกมากเกินไป ต้องปรับปรุงระบอบการปกครองให้เหมาะสมกับขนบธรรมเนียมประเพณีของคนไทย แต่ก็มีประเด็นคำถามตามมาว่า หลังจากปรับปรุงระบอบการปกครองใหม่แล้ว ยังคงเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่

…กับอีกแนวทางหนึ่งก็คือ พัฒนาประชาชนคนไทยให้มีคุณสมบัติเหมาะสมกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

มาถึงจุดนี้ก็เป็นทาง 2 แพร่งให้เราเลือกเดินอีกครั้งหนึ่ง

คนที่เห็นว่าต้องปรับระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความเป็นตะวันออกมากเกินไป ไม่เหมาะสมกับขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยก็คงอยากแช่แข็งการเมืองไทยเพื่อปรับระบอบการปกครองสัก 5 ปี เรียบร้อยระดับหนึ่งแล้วค่อยๆมาเริ่มกันใหม่ เพราะถ้าจะใช้วิธีทางสภาฯ ก็เกรงว่ายิ่งจะไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้องมากขึ้นไปอีก เพราะพวกมากลากไป

กับอีกแนวทางหนึ่งก็มาแก้ที่ประชาชนคนไทย พัฒนาให้เป็นพลเมืองที่เหมาะสมกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตรงนี้นักวิชาการก็ทำการศึกษาไว้แล้วว่าคุณสมบัติของพลเมืองที่เหมาะสมกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้นควรมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ? แถมมีการศึกษาว่าปัจจุบันพลเมืองไทยมีคุณสมบัติอย่างไร? เอามาลบกันก็พอจะสรุปได้ว่า พลเมืองไทยขาดคุณลักษณะหรือคุณสมบัติอะไรบ้าง? ก็หาทางพัฒนาให้มีความเป็นพลเมืองที่เหมาะสมกับระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รายละเอียดเก็บไว้คุยกันในบันทึกต่อไปครับ

สรุปว่าน่าจะมีทางเลือก 2 แนวทางใหญ่ๆ คือทางหนึ่งหาทางล้มกระดาน แช่แข็งประเทศไทยเพื่อปรับระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้เหมาะสมกับคนไทย ว่ากันว่าสัก 5 ปี แล้วค่อยๆปล่อยหลังจากปรับระบอบจนมีเสถียรภาพแล้ว แบบที่มีกลุ่มคนที่มีความเชื่อแบบนี้กำลังพยายามทำอยู่ …..อันนี้ไม่เห็นด้วยนะครับ

อีกทางหนึ่ง ถึงจะชอบไม่ชอบรัฐบาลปัจจุบันแต่ก็ไม่ถึงกับคิดจะแช่แข็งประเทศไทยนะครับ แค่ดิสเครดิตนิดหน่อยๆถึงมาก แต่ก็แค่เป็นเกมการเมืองเพื่อหวังคะแนนนิยมในการเลือกตั้งครั้งต่อไป หรือจะเชียร์รัฐบาลจนสุดลิ่มก็ไม่ว่ากัน แต่ที่สำคัญคือต้องมาช่วยกันเตรียมความพร้อมให้พลเมืองไทยมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช่นเปิดโรงเรียนการเมืองเพื่อให้ Civic Education เป็นต้น ไม่ใช่เปิดโรงเรียนการเมืองเพื่อปลุกระดมให้มีคุณสมบัติที่ไม่พึงประสงค์กับระบอบการปกครอง พร้อมที่จะใช้ความรุนแรง หรือถึงกับฆ่าฟันกัน

รายละเอียดคุณสมบัติของพลเมืองที่เหมาะสมกับระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และวิธีทำเก็บไว้คุยกันบันทึกต่อไปนะครับ


สิ่งเล็ก ๆที่อยากทำ

ไม่มีความคิดเห็น โดย จอมป่วน เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2012 เวลา 11:24 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3443

หลังจากที่ได้ไปศึกษาในหลักสูตรประกาศนีย บัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคม สันติสุข(สสสส. หรือ 4ส) รุ่นที่ 3 ของสถาบันพระปกเกล้า โดยสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล  ก็มีความตั้งใจที่จะทำอะไรให้กับสังคมไทยให้สมกับที่ได้มีโอกาสไปศึกษาใน หลักสูตรนี้  แต่มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก  เลือกตั้งเสร็จท่านนายกเทศมนตรีบุญทรง แทนธานีก็แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองนายกเทศมนตรี  งานก็ยุ่งพอสมควร  ตอนนี้พอจะตั้งหลักได้แล้ว

รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 โดยได้กำหนดนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรกเรื่องที่ 1.1 สร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย และนโยบายที่ 2 นโยบายความมั่นคงแห่งรัฐ เรื่องที่ 2.1 เทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์โดยได้ตระหนักถึงความ สำคัญของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคมไทย

พิษณุโลกมีเครือข่ายที่สนใจสุนทรียสนทนา – Dialogue มานานแล้ว  และมีการนัดหมายจัดการสนทนาอยู่เป็นประจำ  อาจมีบางช่วงที่ห่างเหินไปบ้าง  แต่ก็ถือได้ว่าต่อเนื่องพอสมควร  เครือข่ายประกอบด้วยเทศบาลนครพิษณุโลก  โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก  มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม  มหาวิทยาลัยนเรศวร  สำนักงานหลักประกันสุขภาพเขต 2 พิษณุโลก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  ฯ   เร็วๆนี้ก็มีการนัดหมายพูดคุยกันในหัวข้อ “เราจะส่งมอบประเทศไทยแบบใดให้แก่ลูกหลานของเรา” ที่โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก  และมีการนัดหมายที่จะพูดคุยกันเป็นประจำโดยผลัดกันเป็นเจ้าภาพ   มีการนัดหมายคุยกันใน Social Media-Facebook เป็น Virtual Dialogue  แต่ในระยะแรกยังเป็น Closed Group  เพื่อให้สมาชิกคุ้นเคยและกล้าที่จะพูดคุยกันก่อน

250537_424152800967603_313888370_n DSC_4008

เทศบาลนครพิษณุโลกก็มีการพูดคุยกันที่จะดำเนินการตามแผนงานส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและการธำรงไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ ด้วย การจัดกิจกรรมสานเสวนาและจะพัฒนาไปสู่การทำประชาเสวนาหาทางออกตามข้อเสนอใน รายงานวิจัย การสร้างความปรองดองแห่งชาติ เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่ง ชาติ  สภาผู้แทนราษฎร  ซึ่งจัดทำโดยสถาบันพระปกเกล้า  ต่อไป

พูดคุยกันในเทศบาลนครพิษณุโลกก่อน  ครั้งแรกจะเริ่มวันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2555  (เครือข่ายสนใจเชิญด้วยนะครับ)  ถ้าได้ผลดีและมีประสบการณ์ก็จะขยายออกสู่ชุมชนและสังคมเมืองพิษณุโลกต่อไป

DSC_4362

ความคืบหน้าจะคอยรายงานครับ

ถ้าจะติดตามเรื่องนี้ให้สนุก  แนะนำให้อ่าน

ความเป็นพลเมืองกับอนาคตประชาธิปไตย – Citizenship and the future of Thai Democracy

รายงานวิจัย การสร้างความปรองดองแห่งชาติ ของสถาบันพระปกเกล้า
รายงานการค้นหาความจริง เหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง และข้อเสนอเพื่อการปรองดอง ฉบับสมบูรณ์ของ คปอ.



Main: 0.045093059539795 sec
Sidebar: 0.074460983276367 sec