น้ำมันจากขยะ
อ่าน: 35517เทศบาลนครพิษณุโลกเริ่มจัดการเรื่องขยะมูลฝอยอย่างจริงจังมานานสิบหกปีแล้ว
การจัดการขยะมูลฝอยก็แบ่งการทำงานเป็นสองด้านใหญ่ๆคือด้านเทคนิคและด้านการทำงานแบบประชาชนมีส่วนร่วม
ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนก็จะเน้นการชักชวนประชาชนให้เข้าใจและร่วมมือในการจัดการขยะมูลฝอยในส่วนมี่ประชาชนจะสามารถช่วยได้ โดยไม่ปล่อยให้เป็นภาระของเทศบาลแต่ฝ่ายเดียว เช่นการคัดแยกขยะมูลฝอยระดับครัวเรือน การทำปุ๋ยระดับครัวเรือนและชุมชน การร่วมมือจัดหาถังรองรับขยะมูลฝอยของแต่ละครัวเรือน การร่วมมือกับโครงการถนนปลอดถังขยะ และการร่วมมือในการชำระค่าธรรมเนียมขยะมูลฝอย ฯลฯ
มีการพัฒนาหลักสูตรการจัดการขยะมูลฝอยโดยชุมชน Community Based Solid Waste Managemant ( CBM ) ซึ่งปัจจุบันกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้นำไปใช้อบรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ
การจัดการด้านเทคนิคก็จะเน้น การจัดเก็บ(Collection) การขนส่ง(Transportation) และการกำจัดขยะมูลฝอย(Disposal)
การจัดเก็บและการขนส่งคงจะไม่พูดถึงเพราะไม่ซับซ้อน อยู่ที่วิธีการจัดเก็บและการขนส่งแบบไหนจะเหมาะกับพื้นที่และมีประสิทธิภาพ
การกำจัดขยะมูลฝอย เทศบาลนครพิษณุโลกก็มีนโยบาย Zero Landfill คือพยายามที่จะให้เหลือขยะมูลฝอยที่จะนำมาฝังกลบน้อยที่สุด หรือเกือบไม่มีเลย
ในการกำจัดขยะมูลฝอย เทศบาลนครพิษณุโลกได้นำเอาวิธีบำบัดเชิงกลชีวภาพ หรือ MBT ( Mechanical Biological Waste Treatment ) มาใช้
ระยะแรกก็นำเอาส่วนที่ได้จากกระบวนการ MBT ไปฝังกลบ ก็สามารถยืดอายุหลุมฝังกลบออกไปได้ประมาณ 2.5-3 เท่า คือจากเดิมที่คำนวนไว้ว่าสามารถใช้ได้สิบห้าปี ก็ยืดออกไปเป็นสี่สิบถึงห้าสิบปี
แต่ปัจจุบันหลักการกระบวนการ MBT ทางเทศบาลก็ส่วนที่ได้มาร่อน จะได้ส่วนของวัสดุคล้ายปุ๋ย (Compost-like Substance) กับส่วนที่เป็นถุงพลาสติกและโฟม
ส่วน Compost-like Substance ก็กำลังศึกษาที่จะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าตามวิธี Gasification
ส่วนที่เป็นถุงพลาสติกและโฟมก็มีการศึกษาทดลองเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงาน เช่นการนำไปผสมกับถ่านหินเพื่อใช้เป็นพลังงานใช้ในการผลิตซีเมนต์หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ
แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจร่วมทุนกับเอกชนที่จะผลิตน้ำมันโดยวิธี Pyrolysis ขณะนี้โรงงานและเครื่องจักรก็พร้อมแล้ว เริ่มทดลองผลิตน้ำมัน เลยเอารูปมาให้ดูเล่นก่อน คอยติดตามการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้งครับ
ถ้าสามารถนำเอาส่วน Compost-like Substance มาใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลในการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยวิธี Gasification ได้อีก ก็จะบรรลุเป้าประสงค์ของ Zero Landfill ที่เทศบาลนครพิษณุโลกตั้งใจไว้