Apr 30

ประมาณช่วงนี้ของปีที่แล้ว ท่านรองเจ้าอาวาสอาพาธจนมิอาจปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าอาวาสได้ ผู้เขียนจึงต้องออกจากมุมสงบส่วนตัวมาปฏิบัติหน้าที่แทน เริ่มเป็นสมภารเถื่อน… ๒๗ ธันวา ปีที่แล้วเจ้าอาวาสก็มรณภาพ ผู้เขียนก็ได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการแทนเจ้าอาวาส เริ่มเป็นสมภารอย่างเป็นทางการ… และหลังจากจัดงานรับมอบตราตั้งเจ้าอาวาสในวันที่ ๒๒ กุมภาของปีนี้ ผู้เขียนก็เป็นสมภารโดยถูกต้องสมบูรณ์ จะเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตาม…

ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ความเป็นอยู่ค่อยๆ เปลี่ยนไป เช่น จากเคยอยู่รูปเดียวไม่ค่อยพูดกับใคร ฉันอาหารพอประทังไปได้วันละมื้อ หรือบางครั้งอาทิตย์หนึ่งก็อาบน้ำหนเดียว ก็ต้องมาอยู่ในสถานที่โปร่งใส่ (ศาลาการเปรียญ) ใครไปมาพบได้ง่าย และต้องอาบน้ำทุกวันเพื่อจะได้ดูดีขึ้นบ้างในฐานะสมภาร เป็นต้น

เมื่อเริ่มเป็นสมภารเถื่อน ระยะแรกก็ใช้ทุน(เงิน)ตนเอง ซึ่งมีอยู่ประมาณสองหมื่นในการดำเนินการ เริ่มเสียค่าไฟวัดเอง ประมาณสามพันกว่าถึงห้าพันต่อเดือน ซื่อเครื่องขยายซื้อลำโพงใหม่ เอาชุดโซฟาเก่าที่ฉีกขาดไปหุ้มใหม่ และเมื่อเห็นว่าวัดอื่นมีเก้าอี้ให้ญาติโยมนั่งฟังเทศน์ จึงเริ่มหาเจ้าภาพซื้อเก้าอี้สำหรับให้ญาติโยมได้นั่งฟังธรรมตามยุคตามสมัย…

เมื่อมีงานในวัด เช่น วันสำคัญทางศาสนา หรือมีญาติโยมมาตั้งศพใช้ศาลาในวัด ปัจจัยในส่วนถวายวัดก็เริ่มเข้ามาถึงมือ หลังจากทอดกฐินปีที่แล้วซึ่งได้สามแสนกว่าบาท ก็เริ่มมีอำนาจที่จะสั่งจ่ายเงินส่วนนี้ และไม่นานมานี้ บัญชีเก่าของวัดก็ได้คืนมา หลังจากดำเนินการตามระเบียบแล้ว  ขณะนี้ ในฐานะสมภารตัวจริงเสียงจริง มีเงินอยู่ล้านกว่าบาทในบัญชีที่มีอำนาจสั่งจ่าย…

เพราะวัดมีปัญหาสั่งสมมานาน เมื่อมาเป็นสมภารใหม่ สิ่งที่ต้องแก้ไขหรือต้องการจะจัดการมีมาก ซึ่งหลายเรื่องไม่มีพื้นฐานความรู้ หรือไม่เคยคิดเรื่องนั้นเลย ก็ต้องคิดต้องปรึกษาคนโน้นคนนี้ จากการอยู่ว่างๆ เขียนบล็อกเล่นๆ ก็ค่อยๆ ขาดหายและทิ้งช่วงระยะนานขึ้นกว่าจะเขียนสักครั้ง แต่ที่เพิ่มขึ้นก็คือการบ่นในลานเจ๊าแจ๊ะ จนกระทั้ง ๔-๕ วันก่อน จึงรู้สึกว่าตั้งแต่เป็นสมภาร วันหนึ่งๆ ผ่านไปเร็วเหลือเกิน ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย และเมื่อวานเข้าไปบ่นในลานเจ๊าะแจ๊ะอีกครั้ง คุณโยมครูบาปรารภว่างานมาก ผู้เขียนก็ตอบว่าเรื่อยๆ มาเรียงๆ จะว่างานก็ใช่ มิใช่งานก็ใช่… เมื่อคืนไปนั่งงานศพเงียบๆ ที่วัดอื่น ก็คิดว่าจะเริ่มเขียนเรื่องชีวิตสมภาร โดยเริ่มหัวข้อแรกว่า งานก็ใช่ มิใช่งานก็ใช่

เมื่อคืนวาน จำวัดตีสี่หลังจากดูบาซ่าปะทะอินเตอร์ ตื่นมาตอนเช้าหกโมงกว่าๆ ก็เปิดศาลาและประตูวัดด้านหน้าซึ่งต้องทำทุกวัน เพียงแต่เมื่อวานเปิดสายไปนิดเท่านั้น เสร็จแล้วก็มาชงกาแฟฉันกับขนมนิดหน่อย แล้วก็เอากุญแจไปเปิดโบสถ์เพื่อให้โยมหน้าวัดมาทำงานซึ่งเป็นการติดตั้งโคมไฟที่เสาโบสถ์โดยรอบ กลับมายังศาลา ก็เจอทิดซึ่งเพิ่งสึกไปเมื่อสองวันก่อน เอาข้าวต้มโจ๊กมาถวาย ก็บอกให้จัดการเทใส่ถ้วยนำมาประเคน จะได้ฉันเลย และนี้คืออย่างแรกของสมภาร ถูกบังคับฉัน จะว่างานก็ใช่ มิใช่งานก็ใช่… คิดดูเถิด ทิดนี้บ้านอยู่ห่างจากวัดเกือบยี่สิบกิโล ขับรถเองก็ยังไม่ได้เพราะเพิ่งประสบอุบัติเหตุก่อนมาบวช ให้ญาติขับรถมาเพื่อจะได้ซื้อโจ๊กมาถวาย ตามธรรมเนียมปฏิบัติว่า ทิดสึกใหม่ต้องยกปิ่นโตมาถวายพระในวันแรก หรือถ้าศรัทธาและพอมีเวลาว่างก็ให้นำมาถวายตลอดสามวันเจ็ดวันหลังจากสึกไป จะไม่ฉันได้อย่างไร สมภารเมื่อจะรักษาน้ำใจของญาติโยมก็ต้องฉัน

ฉันโจ๊กเสร็จ ตั้งใจจะงีบเอาแรงสักหน่อย เพราะตอนบ่ายได้รับการนิมนต์ไปพิจารณาชักผ้าบังสุกูล แต่พอใกล้ๆ จะหลับ ก็ได้ยินเสียงโยมคุยกันข้างศาลา โยมคนหนึ่งจะมาซื้อน้ำมัน (วัดยางทองมีน้ำมันแก้เข็ดเมื่อยขายมานานแล้ว และค่อนข้างจะมีชื่อเสียง) จึงถามคนถีบสามล้อซึ่งมานั่งพักอยู่ คนถีบสามล้อบอกว่า เค้าไม่ทำแล้ว เพราะเจ้าอาวาสเสียแล้ว รองเจ้าอาวาสก็อยู่โรงพยาบาล (น้ำมันมีสองเจ้า คือของเจ้าอาวาสกับของท่านรอง)… ในฐานะสมภาร ผู้เชียนก็อดไม่ได้ที่จะต้องลุกขึ้นไปบอกว่า น้ำมันมี ! ตาหลวงเพิ่งบวชใหม่ทำขายอยู่ที่กุฏิหลังโบสถ์ (ตาหลวงรูปนี้ มีศักดิ์เป็นน้าของผู้เขียน บวชไม่นานเจ้าอาวาสก็มรณภาพ ท่านถูกแรงเชียร์จากพวกในวัดให้ทำน้ำมันขาย จึงทดลองทำดู ก็พอขายได้ ส่วนรายได้นั้น ไม่เก่ี่ยวกับวัด เป็นเรื่องส่วนตัวของท่าน)… นี้ก็เช่นเดียวกัน จะว่างานก็ใช่ จะว่ามิใช่งานก็ใช่

บอกแล้วก็กลับมานอนต่อ พลางถอนใจเรื่องการหลับไม่เป็นสุข ทำท่าจะหลับ เกือบตีสิบ ก็มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น พวกโทรอยู่หน้าศาลา (เปิดบังตาปิดประตูเหล็กไว้) ก็สะดุ้งขึ้นรับ พระจากวัดเลียบบอกว่า เจ้าอาวาสวัดเลียบนิมนต์ให้ไปมาติกาฉันข้าวด้วย ให้ไปเลยเพราะได้เวลาแล้ว ผู้เขียนจึงจำเป็นต้องลุกขึ้นมา ว่าจะอาบน้ำก่อน แต่เกรงจะไม่ทันจึงเพียงแต่ล้างหน้าแล้วครองจีวรเดินไปวัดเลียบ (กำแพงวัดห่างกันไม่เกินร้อยเมตร) พอไปถึง พระ-เณรก็มาคอยอยู่บ้างแล้ว สมภารวัดเลียบบอกว่าพิธีกรยังไม่มา ผู้เขียนจึงเดินกลับมาวัดอาบน้ำลวกๆ พอให้สดชื่นแล้วก็เดินไปทำพิธี เสร็จพิธีก็ฉันข้าวแล้วก็นอนพักที่ศาลาวัดเลียบ เพราะต้องไปพิจารณาชักผ้าบังสุกูลที่วัดโรงวาสเวลาบ่ายโมง (วัดเลียบไม่มีเมรุเผาศพ ต้องพาไปเผาวัดโรงวาสซึ่งอยู่ห่างไปไม่เกินห้าร้อยเมตร) พอใกล้ๆ จะหลับ พระก็บอกว่าถึงเวลาแล้ว จึงลุกขึ้นครองจีวรไปวัดโรงวาส…

งานศพที่เจ้าภาพพอมีกำลังและมีศรัทธา มักจะนิมนต์พระเถระจำนวนหนึ่งไปพิจารณาชักผ้าก่อนที่จะเผา ซึ่งพระเถระที่ได้รับการนิมนต์ประจำมักจะเป็นระดับเจ้าอาวาสเพื่อจะได้ทำบุญ เป็นเกียรติ หรือเอาหน้าก็ได้ ตามแต่จะมอง… ผู้เขียนไม่ชอบงานทำนองนี้เลย เพราะต้องนั่งคอยให้ทุกฝ่ายพร้อมจึงจะเริ่มพิธี น้อยที่สุดก็หนึ่งชั่วโมงหรือบางครั้งก็เกินสามชั่วโมงกว่าจะเสร็จพิธี แต่ขัดไม่ได้ เพราะถ้าไม่ไป วันหลังเค้าก็จะไม่นิมนต์ ถือว่าโกง เล่นตัว และนานๆ ไป อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่พาวัดไม่รอด… (อดีตเจ้าอาวาสบางรูป ท่านมักจะไม่ไปงานทำนองนี้ ไม่ว่าจะงานคนระดับใดก็ตาม ผู้เขียนเอาตัวอย่างอดีตเจ้าอาวาสเป็นอุทาหรณ์ ต้องการพาวัดให้รอด จึงต้องไปทุกงานถ้าว่าง)… นี้ก็เช่นเดียวกัน งานก็ใช่ มิใช่งานก็ใช่

เสร็จพิธีเดินกลับมาวัด ดูเวลาบ่ายสองโมงครึ่ง จะไปรดน้ำศพวัดแหลมทราย แต่บังเอิญข่ายโทรศัพท์ล้มหมด (เฉพาะสงขลาเมื่อวานนี้) จึงสอบถามรายละเอียดและติดต่อรถไม่ได้ อีกทั้งฝนก็เริ่มตก จึงตัดสินใจไม่ต้องไป… จึงเข้ามาบ่นไว้ในลานเจ๊ะแจ๊ะ จนสี่โมงเย็นก็ออกไปนั่งคุยกับโยมหน้าศาลา (ต้องนั่งอยู่เสมอทุกวัน ซึ่งจะว่างานก็ใช่มิใช่งานก็ใช่เช่นเดียวกัน)… พี่สาวของผู้ตายเป็นลูกค้าประจำของร้านดอกไม้หน้าวัด จึงมาสั่งจัดดอกไม้ร้านหน้าวัด ดอกไม้ที่จัดเสร็จแล้วก็มาอาศัยวางพักอยู่ที่ม้าหินขัดหน้าศาลา พูดกันว่า จะติดรถส่งดอกไม้ไปนั่งในงานศพด้วย พอดีเจ้าภาพพารถมารับดอกไม้เที่ยวแรก และนิมนต์ท่านสมภารไปนั่งเป็นประธานในงานศพ ดังนั้น พอหกโมงกว่าๆ จึงเปิดไฟปิดประตูศาลา แล้วติดรถเจ้าภาพไปนั่งงานศพ…

งานศพคืนแรก ทุกอย่างยังจัดไม่เสร็จ และผู้เขียนก็ไม่มีปกติเป็นเจ้ากี้เจ้าการในสิ่งที่ไม่ถนัดและไม่มีใครร้องขอ ดังนั้น จึงนั่งเงียบๆ เฉยๆ จนทุ่มหนึ่งก็ได้เวลาพระขึ้นสวด หลังจากนั้นรถส่งดอกไม้ก็ไปถึงอีกครั้ง หลังจากจัดดอกไม้เสร็จ สองทุ่มกว่าๆ จึงกลับมาวัดพร้อมรถส่งดอกไม้… คุยกับคนขับรถส่งดอกไม้ การไปนั่งงานศพเพื่อเป็นเกียรติแก่โยมที่คุ้นเคยและมีอุปการะต่อวัดทำนองนี้ จัดว่างานก็ใช่ มิใช่งานก็ใช่…

ตอนนั่งในงานศพนั่นเอง ผู้เขียนได้มีโอกาสทบทวนเรื่องทำนองนี้ จึงตั้งใจว่ากลับมาจะเขียน แต่เมื่อคืน ต้องคดีดวงเมืองของคุณหมอเบิร์ด จึงไม่ได้เขียน เช้านี้จึงรีบมาเขียน เพราะความดำริยังไม่เลือนหาย… และหลังจากโพสต์นี้เสร็จเรียบร้อย ตั้งใจว่าจะสรงน้ำแล้วไปงานฉลองพัดท่านเจ้าคุณที่วัดแจ้ง ซึ่งอยู่ห่างไปประมาณหนึ่งโล ไปร่วมมุทิตาทำบุญกับท่านแล้วฉันข้าวสักมื้อ ซึ่งนี้ก็เช่นเดียวกัน งานก็ใช่ มิใช่งานก็ใช่…

จากที่บ่นมาทั้งหมด คงจะสะท้อนให้เห็นได้ว่า การที่ผู้เขียนรู้สึกว่าวันหนึ่งๆ ผ่านไปโดยไม่ค่อยได้ทำอะไรเลย เป็นเรื่องจริง (………………)

Nov 01

ตั้งแต่ผู้เขียนเริ่มรับผิดชอบต่างๆ ภายในวัด อย่างหนึ่งที่ต้องการจะทำก็คือหนังสือสวดมนต์ทำวัตรสำหรับญาติโยมประจำวัด เพราะของเก่าแม้จะมีเกือบร้อยเล่ม แต่ก็มีหลายเวอร์ชั่น เก่าสุดก็เป็นฉบับเขียนคัดลายมือตัวโตๆ แล้วก็ถ่ายเอกสารต่อๆ กันมา ซึ่งรุ่นนี้ก็ยังหลงเหลืออยู่บ้าง ต่อมาก็เอาฉบับนี้แหละไปลอกพิมพ์ใหม่ตามรูปแบบเดิม  หรือจัดรูปแบบใหม่พิมพ์ใหม่ขึ้นมา นอกจากนี้ก็มีฉบับสวดมนต์แปล ก็มีทั้งฉบับเขียนและฉบับพิมพ์ ซึ่งก็เป็นไปทำนองเดียวกัน…

หนังสือสวดมนต์เหล่านี้ ผิดทุกเล่ม โดยเฉพาะเวอร์ชั่นหลังๆ ผิดทุกหน้าก็ว่าได้ บอกญาติโยมแล้วว่าจะรวบรวมใหม่ จะเขียนให้ถูกที่สุด ดังนั้น หลังจากทอดกฐินแล้ว จึงได้รวบรวมขึ้นมา วันนี้ก็เร่งจนเสร็จ ๓๐ เล่มเบื้องต้น เพื่อพรุ่งนี้ญาติโยมจะได้ใช้เลย (พรุ่งนี้วันพระ)

สวดมนต์ทำวัตรเช้าฉบับนี้ สั้นๆ มิได้แปล และก็พิมพ์ตัวโตๆ เพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ผู้เขียนตั้งใจเว้นว่างไว้ในแต่ละหน้า เผื่อว่าเจอที่ผิดอีกก็จะแกะ ดึงแผ่นนั้นออกมา แล้วใส่แผ่นใหม่ที่ถูกเข้าไปแทน และต่อไปถ้ามีอะไรเพิ่มเติมก็ค่อยแกะแล้วเพิ่มเข้าไป…

คุยกับคุณโยม… เกิดความคิดว่า อาจมีประโยชน์อยู่บ้าง จึงได้นำมาลงไว้ ผู้สนใจ “สามารถโหลดได้ที่นี่

เจริญพร

Jul 16

ตั้งแต่ผู้เขียนเป็นบล็อกเกอร์มา ๓-๔ ปี ได้เจอตัวจริงเสียงจริงของเพื่อนบล็อกเกอร์ด้วยกัน (น่าจะ) ไม่ถึง ๑๐ ท่าน บางท่านที่เคยมาถึงวัดนั้น ผู้เขียนจะเป็นผู้พามา หรือไม่ก็ติดต่อมาเพื่อร่วมกิจกรรมบางอย่าง… วันนี้ นับว่าเป็นโอกาสดี คุณหมอจอมป่วน มาเยี่ยมถึงวัดทั้งภาคเช้าและภาคค่ำ ทั้งนับได้ว่า คุณหมอจอมป่วนเป็นท่านแรกที่ตั้งใจมาเยี่ยมโดยเฉพาะ…

เมื่อคืนได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากโยมคุณหมอว่า พรุ่งนี้เช้าจะเข้ามาเยี่ยมประมาณ ๐๗.๓๐ น. ผู้เขียนก็ค่อนข้างจะตื่นเต้นตามประสา… เช้าตรู่ของวันนี้ จึงใช้ให้โยมปั่นสามล้อไปซื้อไข่ครอบเพื่อไว้เป็นของฝาก และจงใจเปิดธรรมบรรยายก้องทั่ววัดไว้ต้อนรับ (ปกติจะปิดก่อน ๐๗.๓๐ น.) และคุณหมอก็ถึงมาตามเวลาที่ประมาณไว้…

คุณหมอมารถตู้คันโต พร้อมหนุ่มติดตามอีกสองท่าน ก็ถ่ายรูปแล้วสนทนากันนิดหน่อย จากนั้นผู้เขียนก็พาโยมคุณหมอเดินชมวัด ก่อนกลับคุณหมอก็ได้ถวายซองทำบุญนิดหน่อย โดยบอกว่าช่วยค่าเครื่องเสียงวัดที่กำลังปรับปรุงอยู่ และถามว่าจะมีการสอนธรรมเวลาใด ผู้เขียนก็บอกว่า ประมาณหนึ่งทุ่ม ญาติโยมก็จะมาทำวัตรสวดมนต์ ต่อจากนั้นประมาณทุ่มครึ่งก็จะมีการแสดงธรรมทุกคืน คุณหมอว่ายังไม่กลับ จะหาโอกาสมาฟังเทศน์…

และคืนนี้ คุณหมอก็มาอีกจริงๆ คราวนี้ มีผู้ติดตามเป็นหนุ่มสาวเกือบสิบท่าน… แต่เสียดาย เครื่องเสียงไม่กินเดิมพัน ทำให้การแสดงธรรม ไม่ได้ดังใจ (ขายหน้าจริงๆ 5 5 5) เพิ่งซื้อลำโพงใหม่คู่หนึ่ง ซื้อเครื่องแอมป์ใหม่ต่อพ่วงกับเครื่องเก่า และซื้อไมโครโฟนพร้อมขาตั้งอีกหนึ่งชุด หมดไปหมื่นกว่าบาทแล้ว… ปัญหาก็คือ คนใช้ยังใช้ไม่เป็น บ่นกับคุณหมอว่า เรื่องที่รู้มีเยอะแยะ แต่ไม่ได้ใช้ ตอนนี้ต้องมาใช้สิ่งที่ไม่รู้ไม่มีประสบการณ์เลย (เซ็งจริงๆ 5 5 5)

หลังจากเสร็จพิธีกรรม ญาติโยมประจำคืนกลับแล้ว ก็นั่งคุยกับโยมคุณหมอและคณะ เข้าใจแล้วว่า คุณหมอจอมป่วน เพราะ มาป่วน ! จริงๆ กล่าวคือ หนุ่มสาวที่มาด้วยนั้น คุณหมอบอกว่าพามาให้หลวงพี่ดูดวงให้… เอาละซิ ! ผู้เขียนก็ไม่ได้ดูนานแล้ว และตำราเครื่องมือก็อยู่ที่กุฏิด้านใน (รกมาก อาจหาไม่เจอภายในหนึ่งชั่วโมง) สมองวิ่งปูดดดดดดดดดดด จึงบอกว่าไปเปิดเครื่องคอมฯ แล้วให้ http://www.payakorn.com/ คำนวนแล้วทำนายให้ ต่อจากนั้นก็ปริ้นซ์ไปเป็นที่ระลึก ก็ได้ไปคนละ ๒ แผ่น แผ่นหนึ่งเป็นการทำนายดวงกำเนิด อีกแผ่นเป็นดวงจร ก็ผ่านพ้นไป ไม่เสียชื่อโยมคุณหมอที่พามาเที่ยว…

ก็สนทนากันจิปาถะ เรื่องโน้นบ้างนี้บ้าง… หนุ่มๆ สาวๆ ใคร่ที่จะถามเรื่องคู่ครอง ผู้เขียนก็ไม่ชำนาญด้วย เพราะไม่มีศิลปะในการดู (คือดูไม่เป็น) เป็นแต่ศาสตร์ นั่นคือ อธิบายดวงดาวเรื่องราววิชาโหรได้พอประมาณเท่านั้น… จนได้เวลาสามทุ่มกว่าๆ คุณหมอกับคณะก็ลากลับ ผู้เขียนก็บอกว่า คืนไหนมีโอกาสก็มาเที่ยวอีก เพราะยังอีกหลายวันกว่าจะกลับ…

ผู้เขียนไม่ได้ถ่ายรูปไว้ เพราะกล้องอยู่ที่กุฏิด้านใน แต่คุณหมอจอมป่วนถ่ายไว้หลายรูป คิดว่าคงจะนำมาแสดงให้ชาวลานได้ชมกันบ้างสักภาพสองภาพ…

Apr 19

บ้านห้องแถวชั้นครึ่งที่คลองหลานั้น จำได้ว่า ตอนที่ยังไม่เข้าโรงเรียนนั้น ในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น ขณะที่นักเรียนเดินผ่านหน้าบ้าน ผู้เขียนจะอยู่ที่ริมหน้าต่างชั้นบนแล้วมองลงมา ก็มักจะส่งเสียงเรียกร้องความสนใจ เมื่อใครเงยหน้ามามอง ก็มักจะแลบลิ้น หรือทำตาหลุน ทำนองผีหลอกเด็กนักเรียนที่ผ่านไปผ่านมาอยู่เสมอ (คงจะทำบ่อย จึงจำพฤติกรรมเรื่องนี้ได้ 5 5 5…) จนกระทั้งได้เข้าโรงเรียน ป.๑ ห้องครูเพ็ญศรี ซึ่งเรื่องนี้เคยเล่าไว้แล้ว (คลิกที่นี้) จะคัดลอกมาไว้ที่นี้

“”" ยกเว้นพ่อแม่ซึ่งจัดว่าเป็นครูคู่แรกแล้ว เมื่อแรกเข้าเรียน ป.๑ ครูเพ็ญศรีซึ่งเป็นครูประจำชั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นครูคนแรกของผู้เขียน….

พ.ศ.๒๕๑๒ คือปีแรกที่ผู้เขียนเริ่มเข้าเรียน ป.๑ ที่โรงเรียนวัดคูขุด (เพื่อมประชานุกูล) จำได้ว่า วันแรกที่เข้าเรียนนั้น บรรดาเพื่อนชักชวนกันว่า ไปอยู่ห้องพี่ศรีดีกว่า ครูเพียรตีเจ็บ กล่าวคือ ป.๑ มีสองห้องเรียน โดยมีครูเพ็ญศรีและครูเพียรเป็นครูประจำชั้นในแต่ละห้อง ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความสมัครใจ…

ครูเพียร เป็นครูผู้ชาย อายุมากแล้ว (แก่กว่าโยมพ่อ เพราะบางครั้งผู้เขียนก็เรียกว่า ลุงเพียร) ส่วน ครูเพ็ญศรี ครูผู้หญิง เป็นคนในบ้านคูขุด ซึ่งพวกเรามักจะเรียกกันติดปากว่า พี่ศรี จนกระทั้งปัจจุบัน…

สมัยนั้น ป.๑ ยังคงใช้กระดานชนวน ส่วน ป. ๒ ขึ้นไปจะใช้สมุด… และยังมีอดีตที่ผู้เขียนจำไม่ลืม เพราะวันแรกที่เข้าโรงเรียนนั้น กระดานชนวนของผู้เขียนหายไป… เล่าเรื่องว่า ในภาคบ่าย พี่ศรีจะให้วาดๆ เขียนๆ อะไรก็ได้ลงในกระดานชนวนแล้วก็นำไปส่ง ตอนเย็นเมื่อเลิกเรียนก็ไปเอาคืน แต่ตอนเลิกเรียนนั้น ผู้เขียนไปเอาคนสุดท้าย (จำไม่ได้ว่า ทำไมไปเอาคนสุดท้าย อาจเพราะไปเข้าห้องน้ำ หรือหลับอยู่ในห้อง ไม่แน่ใจ ?)

เมื่อไปที่โต๊ะครู กระดานชนวนหายไปหมดแล้ว ผู้เขียนจึงต้องเดินกลับบ้านตัวเปล่า กลับมาบอกที่บ้าน… น้าชายซึ่งเป็นน้องของโยมแม่ ผ่านมาที่บ้านก็แนะนำผู้เขียนทันทีว่า วันนี้ เพื่อนเอาของหมึง ต่อเช้า หมึงต้องเอาของเพื่อนมาสักสองอัน… แต่ตอนเย็นใกล้ๆ ค่ำ โยมพ่อก็ไปเอาคืนมาได้…. ผู้ที่เอาไปก็คือ ปุ (ผู้หญิง) สาเหตุก็คือ เพื่อนเอาของเธอไปให้แล้ว แต่เธอไม่รู้ เมื่อมาเอา เห็นมีอยู่เพียงอันเดียว เธอจึงเอาไป…

อาคารเรียนสมัยยังอยู่ ป. ๑ นั้น เป็นอาคารไม้สองชั้น ชั้นบนสามห้อง ชั้นล่างสามห้อง… ห้องผู้เขียนเรียนนั้น อยู่ชั้นล่างติดกำแพงวัดด้านตะวันตก โดยพื้นของห้องเรียนนั้นเป็นดินเหนียว มิได้เทคอนกรีต ริมด้านล่างของฝาห้องแต่ละด้านจะมีช่องโหว่ เรียกกันว่า ช่องหมาลอด แต่พวกเราเด็กๆ มักจะลอดเข้าลอดออกได้ เช่น บางคนจะเข้าห้องน้ำไม่ขออนุญาตคุณครูออกทางประตู แต่แอบลอดออกไปทางช่องใต้ฝาห้อง ก็มักจะถูกเฆี่ยน เมื่อครูจับได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับพวกเรา

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ผู้เขียนยังจำได้ตอนอยู่ ป.๑ ก็คือ ในภาคเช้าของวันหนึ่ง ครูเพ็ญศรีหาปากกาที่โต๊ะไม่พบ จึงยังไม่ปล่อยกลับไปกินข้าวที่บ้าน (ขึ้นเที่ยง) ซึ่งนักเรียนเกือบทุกคนมักจะกลับไปกินข้าวที่บ้าน… ผู้เขียนไม่ได้ขโมย ดังนั้น เมื่อเพื่อนอีกห้องผ่านมาชวนกลับบ้าน ผู้เขียนจึงแอบลอดช่องหมากลับบ้านไปพร้อมเพื่อน…. เมื่อกลับมาเรียนตอนบ่าย ผู้เขียนจึงถูกครูเพ็ญศรีเฆี่ยนในข้อหากลับก่อนได้รับอนุญาต…(ส่วนปากกานั้น มิได้หายไป และมิได้มีใครขโมย รู้สึกว่าท่านจะหาเจอ หรือครูบางท่านยืมไปนี้แหละ ไม่แน่ใจ ?)

ครูเพ็ญศรีสอนอย่างไรบ้าง ผู้เขียนก็เลือนๆ ประติตประต่อไม่ค่อยจะถูก แต่ผลเชิงประจักษ์ก็คือ ผู้เขียนสามารถ อ่านออก เขียนได้ บวกเลขเป็น และได้รับการผ่านชั้นขึ้นไปเรียน ป.๒ ในปีต่อมา….

หลังจากพ้น ป.๑ ไปแล้ว รู้สึกว่าอีก ๑-๒ ปีต่อมา พี่ศรีหรือครูเพ็ญศรีได้แต่งงานแล้วก็ย้ายไปสอนโรงเรียนอื่น… ส่วนผู้เขียนเมื่อจบ ป.๕ แล้วครอบครัวก็ย้ายมาอยู่ในเมืองสงขลา จึงได้ย้ายมาเรียน ป.๖ ที่โรงเรียนเทศบาล ๓ (วัดศาลาหัวยาง) และตั้งแต่นั้นมาเกือบจะไม่ได้เจอพี่ศรีอีกเลย…

ครั้งสุดท้ายที่ได้เจอ รู้สึกว่าจะเป็นที่โรงเรียนวัดกลาง ต.กระดังงา ประมาณปี ๒๕๒๙-๓๐… ซึ่งช่วงนั้น ผู้เขียนบวชได้ราวสองพรรษา ญาติคนหนึ่งซึ่งเป็นครูสอนอยู่ที่นั้นได้นิมนต์ผู้เขียนเพื่อไปพูดให้เด็กนักเรียนฟังในโอกาศวันครู จึงได้เจอครูเพ็ญศรีโดยบังเอิญ… พี่ศรีย้ายมาสอนที่นี้หลายปีแล้ว หลังจากคุยกันเล็กน้อย ก็ทราบว่าสามีของท่านเป็นอาจารย์ใหญ่อยู่ที่นี้…

ตอนนี้ ครูเพ็ญศรี หรือ พี่ศรี ถ้ายังไม่เกษียณก็คงจะใกล้ๆ แล้ว… ในโอกาสที่วันนี้ เป็นวันครู ผู้เขียนจึงนำเรื่องนี้มาเล่าเพื่อเป็นที่ระลึกถึงครูคนแรกที่สอนให้ผู้เขียน อ่านออก เขียนได้ บวกเลขเป็น

  • ครูคือคนคู่โค้ง            ความคิด
  • ควรใคร่คู่ควรคิด         คัดค้าน
  • ครองคำคู่ครองคิด      ควรค่า   คือครู
  • ควรเคาคบคำคึ้ง         เคียดแค้น   คล่อนคลาย

………….

ตำบลคูขุดคือบ้านเดิมของแม่ตามที่เล่ามาในตอนแรก… ส่วนตำบลกระดังงาคือบ้านเดิมของพ่อ ซึ่งผู้เขียนได้เคยเล่าไว้แล้ว (คลิกที่นี้) ดังนั้น จึงคัดลอกมาเป็นส่วนเติมเต็มที่นี้อีกครั้ง…

“”" แม้ผู้เขียนจะเป็นคนอำเภอสทิงพระโดยกำเนิด แต่ถ้าแยกออกไปแล้ว โยมแม่เป็นคนตำบลคูขุด ส่วนโยมพ่ออยู่ตำบลกระดังงา… ตำบลคูขุดอยู่ติดทะเลสาบ ส่วนตำบลกระดังงาอยู่ติดทะเลหลวง โดยเหตุที่อำเภอสทิงพระมีทะเลกระหนาบทั้งสองด้าน ดังนั้น พวกที่อยู่ริมทะเลสาบซึ่งมีพื้นที่ต่ำกว่าจะถูกเรียกว่า พวกบ้านต่ำ หรือ พวกโสดล่าง … ขณะที่พวกที่อยู่ติดทะเลหลวงจะเรียกกันว่า พวกเนิน หรือ พวกโสดเนิน… เพราะเหตุว่า โยมพ่อเป็นพวกเนิน ส่วนโยมแม่เป็นพวกบ้านต่ำ ดังนั้น ผู้เขียนจึงซึมซับเอาวิถีความเป็นอยู่ทั้งสองฝ่ายไว้…

แม้เด็กๆ ผู้เขียนจะเป็นอยู่และแรกเข้าเรียนที่คูขุด แต่ก็จะไปอยู่กระดังงาบ้างตามโอกาส… และโอกาสหนึ่งในแต่ละปีที่จะไม่พลาดก็คือวันตรุษจีน หรือ วันไหว้ก๋อง เพราะโยมพ่อมีเชื้อสายคนจีนอยู่หลายส่วน และพ่อของพ่อ ผู้เขียนไม่เีรียกว่า ปู่ แต่เรียกว่า ก๋อง (คือ ก๋ง นั่นเอง แต่สำเนียงใต้ออกเสียงว่า ก๋อง )

บ ้านก๋อง ตามความทรงจำในตอนเด็กๆ นั้น สภาพภายในบ้านยังมีความเป็นคนจีนอยู่มาก แต่เมื่อผู้เขียนเป็นวัยรุ่นแล้ว รู้สึกว่าความเป็นคนจีนก็สลายไปเกือบหมด (ฟังว่า โยมพ่อและน้องๆ ของท่านทุกคน สมัยก่อนก็ใช้ชื่อจีน เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นชื่อไทยก็เมื่อแรกเข้าโรงเรียน)

บ้านก๋องในสมัยก่อนมีหลายหลัง เช่น บ้านไม้สองชั้นสองคูหา ด้านหนึ่งเป็นร้านขายของชำ ซึ่งนอกจากขายที่บ้านแล้ว คุณย่าจะนำไปขายตามตลาดนัดในหมู่บ้านใกล้ๆ ด้วย… อีกด้านหนึ่งเป็นร้านขายเครื่องยาจีนทั่วๆ ไป ซึ่งเมื่อโตขึ้น ผู้เขียนเห็นร้านขายยาสมุนไพรหรือร้านขายยาในหนังจีนโบราณแล้ว ก็มักจะนึกถึงบ้านก๋องเสมอ เช่น มีเครื่องชั่งยาโบราณ มีตะกร้าหลากชนิดใส่เครื่องยา และมีตู้ลิ้นชักเรียงขึ้นไปเป็นชั้นๆ ไว้เก็บเครื่องยาสำคัญ เวลาจะเอาก็ต้องพาดบันไดขึ้นไป… ซึ่งพวกเราเด็กๆ มักจะวิ่งไล่จับขึ้นบันไดในคราวผู้ใหญ่ไม่อยู่เสมอ….

นอกจากร้านขายของชำและขายเครื่องยาสมุนไพรแล้ว ด้านข้างจะเป็นโรงสีข้าวขนาดใหญ่พอสมควร ซึ่งผู้เขียนทันเห็นเครื่องสีเดินเครื่องอยู่ไม่เท่าไหร่นัก เพราะไม่ทันได้เป็นวัยรุ่น เครื่องสีก็หยุด แล้วก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นโกดังเก็บของแล้วก็ถูกรื้อไป… ต้นมะขามขนาดใหญ่ด้านหน้าบ้านก็ถูกโค่นลง… บ้านหลังอื่นๆ ถูกรื้อบ้าง สร้างใหม่บ้าง จนสภาพเดิมค่อยๆ หมดไป… ด้านหลังบ้านนั้น สมัยก่อนเป็นส่วนกล้วยขนาด ๑-๒ไร่ ซึ่งผู้เขียนมักจะเข้าไปเที่ยวแล้วเดินหลงเสมอนั้น ก็ค่อยๆ เล็กลงๆ….

ก๋อง มีลูก ๑๐ คน และอยู่มานานถึงเก้าสิบกว่าปี เพิ่งถึงแก่กรรมไปเมื่อ ๓-๔ ปีนี้เอง… เดียวนี้ บ้านก๋องไม่มีแล้ว เพราะถูกแบ่งออก ๔ ส่วนสำหรับลูกและหลานของก๋อง ๔ ครอบครัวที่สมัครใจอยู่บ้านเดิม ส่วนลูกคนอื่นๆ ของก๋องอีก ๖ คนก็แยกย้ายกันไปอยู่อื่น ชีวิตของก๋อง กลายเป็นเรื่องเล่าประจำตระกูลและคงจะเลือนหายไปตามธรรมดา…

ก๋องมีแนวคิดว่า ลูกหลานนั้น ถ้าอยู่ใกล้กันมักทะเลาะกัน จึงต้องการให้อยู่ห่างออกไปเพื่อจะได้พึ่งพาอาศัยกันตามโอกาส ดังนั้น ก๋องจึงวางแผนไปซื้อที่ดินไว้ในที่ต่างๆ เพื่อต้องการให้ลูกๆ ได้ไปอยู่… ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เมื่อประมาณ ๕๐-๖๐ ปีก่อน ก๋องกับก๋องอีกท่าน (พี่หรือน้องของท่าน) ชวนกันเดินทางมาซื้อที่ดินที่แถวหน้ามอ. หาดใหญ่ วันที่ตกลงจะจ่ายเงินนั้น บังเอิญก๋องมองไปที่ยอดยาง เห็นใบยางแดงและและกิ่งยางแห้ง จึงรู้ว่าน้ำใต้ดินไม่สมบูรณ์จึงขอลดราคาที่ดินลงอีก เมื่อไม่ตกลง ก๋องทั้งสองจึงชวนกันไปซื้อแถวสถานีรถไฟทุ่งลุง อำเภอสะเดา…

ฟังว่า เมื่อโยมพ่อโยมแม่แรกแต่งงานนั้น ได้ไปอยู่ที่ดินทุ่งลุงผืนนี้ แต่อยู่ได้สองเดือนก็กลับมาอยู่คูขุด โยมแม่เล่าว่า สมัยนั้น ยังไม่มีไฟฟ้า อยู่กลางสวนยางตามเกียงป๋อง (ตะเกียงน้ำมันกาด)

ประเด็นที่ดินหน้ามอ.หาดใหญ่นี้ ลูกหลานคุยสนุกๆ กันว่า ถ้าได้ซื้อแล้วตกทอดมาถึงปัจจุบัน ลูกหลานคงจะรวยระเบิด…

เมื่อก๋องยังอยู่ ก๋องก็จะทำพิธีไหว้ก๋องไหว้ศพทุกปี (มีฮ้วงซุ้ยหรือหลุมศพก๋องของก๋องที่มาจากเมืองจีนอยู่ที่ป่าช้าหน้าวัด กระดังงา) แต่เมื่อก๋องจากไป ลูกหลานของก๋องบางครอบครัวก็ยกเลิกไม่ไหว้ ซึ่งก็คงจะเป็นไปตามความสมัครใจของแต่ละคน…

อย่างไรก็ตาม ในโอกาสตรุษจีนปีนี้ ผู้เขียนก็เล่าถึงบ้านก๋องเพื่อเป็นที่ระลึกถึงก๋อง บรรพบุรุษคนสุดท้ายที่ทันเห็นก๋องในฮ้วงซุ้ยและบรรดาญาติอื่นๆ ที่มาจากเมืองจีน….

………………

อาชีพของครอบครัวที่คูขุดตอนนั้น นอกจากทำนาตามฤดูกาลแล้วก็เลี้ยงหมูเลี้ยงเป็ด ส่วนอาชีพเสริมอื่น แม่ก็รับจ้างตัดเสื้อผ้าทั่วไป และพ่อก็วางกัดหรือออกอวนหากินอยู่ในทะเลสาบเหมือนกับครอบครัวอื่นๆ … ยังมีอาชีพหนึ่งก็คือหาเพรียงขาย ซึ่งผู้เขียนเคยเล่าไว้ (คลิกที่นี้) ก็คัดลอกมาไว้ที่นี้เช่นกัน…

“”" ประมาณสองอาทิตย์ก่อน ผู้เขียนไปร่วมทอดกฐินที่วัดแหลมวัง ต.คูขุด ซึ่งเป็นดินแดนแห่งบรรพบุรุษ ก็ได้เจอกับจรัญเพื่อนเกลอระดับบรมโบราณอีกครั้ง เขาก็พาไปเที่ยวที่บ้าน ซึ่งผู้เขียนไม่ได้ไปนานเกินนาน (คงจะเกือบสามสิบปี) และเมื่อไหร่ก็ตามที่ได้เจอกัน เรื่องราวเก่าๆ ระหว่างเราทั้งสองก็จะผุดขึ้นสู่คลองความคิด…

ประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๑๔ คือตั้งแต่ผู้เขียนยังไม่เข้าโรงเรียนจนกระทั้งราว ป.๑-๒ โยมพ่อของผู้เขียนกับพ่อของจรัญชวนกันไปเก็บเพรียงเพื่อนำมาให้เป็ดที่เลี้ยงไว้ และขายให้เจ้าของเป็ดอื่นๆ เมื่อไปเก็บเพรียงทั้งสองท่านก็พาลูกชายไปด้วย ผู้เขียนกับจรัญจึงเริ่มเป็นเพื่อนรักเพื่อนเกลอกันตั้งแต่นั้นมา…

สถานที่ไปหาเพรียงอยู่ในทะเลสาบสงขลาตอนใน ช่วงรอยต่อระหว่างจังหวัดสงขลากับพัทลุง จุดที่ไปหาเพรียงจะเลยเกาะแหลมกรวดออกไปแต่ยังไม่ถึงเกาะสี่เกาะห้า แถวนั้นน้ำค่อนข้างตื้น (ประมาณสะเอวของผู้ใหญ่ ) คนในท้องถิ่นเรียกกันว่า หาด ใต้แผ่นน้ำลงไปจะเป็นแผ่นหินหรือก้อนกรวดมากกว่าที่จะเป็นดินหรือทราย ซึ่งเพรียงก็จะเกาะเรี่ยราดอยู่ตามพื้นหินพื้นกรวดนี้เอง…

ชีวิตคนหาเพรียงเริ่มต้นเมื่อก่อนจะสว่าง โดยโยมพ่อจะปลุกผู้เขียนเพื่อลงเรือหางยาวแล้วก็แล่นเรือหางยาวจากบ้านคูขุด ผ่านไปทางเกาะโคบแล้วตัดเข้าคลองกูด (คลองกูดเป็นเส้นแบ่งระหว่างเกาะโคบกับเกาะแหลมกรวด) ออกจากคลองกูดก็แล่นตรงไปยังหาด ตอนนั้นแสงอาทิตย์จะส่องมาทางด้านหลังเรือ เมื่อใกล้ๆ ถึงจุดหมายก็จะเิริ่มเห็นเรือหางยาวอีกลำแล่นตาม นั่นก็คือ เรือของพ่อจรัญ

เครื่องเรือของพ่อจรัญเป็นเครื่องรุ่นใหม่ จึงมักจะมาแซงเรือของโยมพ่อก่อนจะถึงจุดหมายเสมอ แต่ก็มีบางครั้งที่โยมพ่อไปถึงก่อน และเมื่อเรือสองลำจอดเทียบเรียบร้อยแล้ว คุณพ่อทั้งสองก็จะเตรียมอุปกรณ์เพื่อเก็บเพรียง…

อุปกรณ์มีอย่างเดียว จะเป็นถุงทำด้วยเนื้ออวนเก่าๆ ซึ่งเป็นตาข่ายถี่ๆ มีขนาดสอบป่าน แต่ปากถุงจะมีไม้สองข้างถ่างออกมา และไม้จะยื่นออกมาเพื่อเป็นมือจับ เวลาจะเก็บเพรียงก็ต้องลงไปในทะเล เดินถอยหลังเอามือทั้งสองจับไม้ด้านบน ส่วนเท้าทั้งสองในน้ำก็ค่อยๆ กวาดเพรียงเข้าไปในถุง เมื่อได้พอสมควรก็จะนำขึ้นมาถ่ายใส่เรือครั้งหนึ่ง ทำเช่นนี้เรื่อยไปในแต่ละวัน…

คุณพ่อทั้งสองจะทำงานก่อนตอนเช้าพักหนึ่งแล้วจะทานอาหาร… ส่วนผู้เขียนกับจรัญ เมื่อเรือจอดก็จะนำเอาข้าวห่อซึ่งคุณแม่ทั้งสองเตรียมมาให้มาอวดกันว่า วันนี้ ของใคร แกงอะไร … ซึ่งกับข้าวเกือบทุกวันที่ขาดไม่ได้ก็คือปลาทอดกับไข่เป็ด…

ผู้เขียนกับจรัญจะมีอุปกรณ์เล็กๆ ซึ่งผู้ใหญ่ทำไว้ให้ด้วย แต่เราทั้งสองก็จะเล่นเสียมากกว่า เล่นไล่จับกันในน้ำบ้างบนเรือบ้าง เบื่อๆ เหนื่อยๆ ก็ขึ้นเรือมากินข้าว แล้วก็นั่งคุยกันตามประสาเด็ก แล้วก็ลงน้ำ แล้วก็ขึ้นมากิน คุยกัน เป็นอย่างนี้ทุกวัน จนกระทั้งตะวันบ่าย เมื่อผู้ใหญ่ขี้เกียจแล้ว จึงแยกย้ายกันกลับมา…

หากวันไหนจรัญไม่มา วันนั้นผู้เขียนค่อนข้างจะหงอยเหงา เพราะต้องอยู่คนเดียว ลงไปเก็บเพรียงได้นิดหน่อยก็เบื่อ เล่นโดดน้ำอยู่คนเดียวก็เบื่อ หลับอยู่ในเรือตื่นหนึ่งแล้ว โยมพ่อก็ยังไม่เลิก… และแม้นวันไหนผู้เขียนไม่ไป จรัญก็คงจะเป็นเหมือนๆ กับผู้เขียน…

ตะวันบ่ายคล้อยก็มาถึงบ้านคูขุด โยมพ่อก็จะนำเพรียงไปส่งตามเล้าเป็ดต่างๆ ที่สั่งไว้ โดยตวงเป็นปี๊บ ถ้าจำไม่พลาดรู้สึกว่าปี๊บละ ๒ บาทนี้แหละ (ค่าเงินมากเหลือเกินสมัยนั้น) โดยเทใส่ในเล้าเป็ดไว้เลย (เล้าเป็ดมักจะอยู่ติดน้ำเรือเข้าถึง)

อาชีพเก็บเพรียงมาขาย ตามที่เล่ามา นอกจากโยมพ่อของผู้เขียนกับพ่อของจรัญแล้ว ก็ไม่เห็นเคยมีใครทำ ต่อมาทั้งสองก็เลิกทำ จำสาเหตุตอนนั้นไม่ได้ เคยถามโยมพ่อ เมื่อโตแล้ว ท่านว่า เพรียงน้อยลง ช่วงที่ไปหานั้นเพรียงมากเป็นพิเศษ ตอนนี้โยมพ่อของผู้เขียนกับพ่อของจรัญก็ถึงแก่กรรมไปสิบกว่าปีแล้วทั้งสองท่าน…

ผู้เขียนกับจรัญเข้าเรียนป.๑ ห้องเดียวกัน เมื่อผู้เขียนย้ายมาอยู่ในเมืองตอนอยู่ ป.๖ ก็ไม่ค่อยได้เจอกัน หลายๆ ปีกว่าจะ้เจอและได้นั่งคุยกันนานๆ สักครั้ง เป็นความทรงจำสมัยเป็นเด็กตอนไปหาเพรียงกับพ่อ…

อนึ่ง จรัญจบแค่ ป.๗ ก็ออกเรียน ตอนนี้มีครอบครัวแล้ว มีลูก ๓ คน ลูกสาวคนโตเรียนอยู่ มอ. ใกล้จะจบแล้ว ผู้เขียนก็รู้สึกปลื้มใจในความสำเร็จของเพื่อน…

…………….

สรุปว่า “อาตมาเป็นไผ” ตอนนี้ นำเรื่องที่เคยเล่าไว้มาลงใหม่ แม้จะไม่เชื่อมต่อเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ก็หวังว่ากัลยาณมิตรในลานปัญญา คงจะใช้จินตนาการเชื่อมต่อกันได้…

Aug 06
  • ไป เถิดไปที่โน้น                ที่ไหน
  • ไม่ ไม่ได้ดั่งใจ                  แห่งข้า
  • กลับ มาอย่าเลยไป            จงอยู่ ที่นี้
  • หลับ หน่อยแต่อย่าช้า         เร่งสร้าง ความเพียร
  • ไม่ เลิกแม้พลาดพลั้ง           แห่งข้า
  • ตื่น ตื่นจงตื่นมา                 เร่งเร้า
  • ฟื้น เถิดอย่ามัวช้า              รีบเร่ง ดำเนิน
  • ไม่ นิ่งเฉยเร็วเข้า               เร่งสร้าง ความดี
  • ี ความดีมั่นไว้                  จำเริญ
  • หนี ความชั่วอย่าเพลิน         จักช้ำ
  • ไม่ หยุดอยู่นานเกิน            เพราะมั่ว มัวเมา
  • พ้น ไม่พ้นตอกย้ำ              แน่แท้ บารมี
Aug 04
  • แม้ใฝ่ธรรมะ
  • จงเขียนธรรมะ
  • เพื่อตรึกธรรมะ
  • ไม่ห่างธรรมะ
  • ไม่ตรึกธรรมะ
  • ไม่เขียนธรรมะ
  • แม้ใฝ่ธรรม
  • ค่อยไกลธรรมะ
  • ไม่ใฝ่ธรรมะ
  • แต่ตรึกธรรมะ
  • เพื่อเขียนธรรมะ
  • ค่อยใกล้ธรรมะ
  • จงตรึกธรรมะ
  • จงเขียนธรรมะ
  • เพื่อใฝ่ธรรมะ
  • หนึ่งเดียวธรรมะ
Jul 30
  • ค่ำแล้ว
  • ค่ำแล้ว
  • ค่ำแล้ว
  • บอกว่า ค่ำแล้ว
  • ไม่มีอะไรมาก เพียงต้องการบอกว่า…
  • ค่ำแล้ว
  • เท่านั้นเอง ฯ