Jul 22

สรุป

ตามที่เล่ามาทั้งหมดอาจสรุปคุณค่าการบวชได้ ๓ ประการ คือ

๑. คุณค่าสูงสุด คือ เพื่อแสวงหาสัจธรรม ดังที่ฟ้าชายสิทธัตถะทรงปริวิตกว่า ” คนเราเกิดมาแล้วก็จะต้องแก่ เจ็บ และตายไปเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารของชีวิต ควรออกบวชแสวงหาสัจธรรมคือความจริงแห่งชีวิต ทำให้การเกิดมาชาติหนึ่งไม่เป็นหมันหรือสูญเปล่า” การบวชลักษณะนี้ถือว่าเป็นคุณค่าสูงสุด

อีกนัยหนึ่ง คุณค่าสูงสุดนี้ อาจกล่าวได้ว่าเพื่อนิพพานหรือเพื่อการดับทุกข์ตามหลักของพระพุทธศาสนาก็ได้ ดังมีคำขานนาคเพื่อขอบวชตอนหนึ่งว่า “สพฺพทุกฺข นิสฺสรณ นิพพาน สจฺฉิกรณตฺถาย เพื่อประโยชน์แก่การการะทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานเป็นเครื่องสลัดออกจากทุกข์ทั้งปวง

ตามนัยคุณค่าสูงสุดนี้ แม้เราจะบวชเพียงวันเดียวหรือตลอดชีวิตก็ตาม กล่าวได้ว่าเป็นการบำเพ็ญเนกขัมมปารมีซึ่งเป็นปารมีอย่างหนึ่งในปารมีสิบทัศ และผู้มีปารมีสิบทัศเต็มเปี่ยมแล้วเท่านั้นจึงสามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ หรือเข้าถึงนิพพานซึ่งเป็นการดับทุกข์ได้ ฉะนั้น การบวชจึงเป็นการสั่งสมเนกขัมมปารมีให้ติดตัวไว้ในชาติต่อๆ ไป กล่าวได้ว่าเป็นคุณค่าสูงสุดในการบวช

ผู้เขียนขอแทรกอธิบายคำว่า เนกขัมมปารมี ย่อๆ คำนี้นิยมใช้ทับศัพท์แปลเป็นภาษาไทยให้ไพเราะได้ว่า การออกบวชเป็นเครื่องทำความปรารถนาแห่งใจให้เต็มเปี่ยม (เนกขัมมะ แปลว่า การออกบวช คำนี้บางครั้งก็ใช้แทนกันได้กับคำว่าบรรพชา… และ ปารมี แปลว่า ทำความปรารถนาแห่งใจให้เต็มเปี่ยม) บางคนอาจสงสัยถามต่อว่า “ใจปรารถนาอะไร ? ” ตามหลักพระพุทธศาสนาตอบได้ว่า “ใจปรารถนาการพ้นทุกข์”

อ่านต่อ… »