Oct 10

เพราะเงินหรือโภคทรัพย์นั้นแสวงหามาได้ก็ด้วยความลำบาก และบางคนก็ได้มาโดยไม่ชอบธรรม นั่นคือประกอบอาชีพที่ผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม หรือผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรม ข้อนี้จัดว่าเป็นการกระทำที่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่จัดว่าดำรงอยู่ในอริยธรรมคือธรรมของผู้เจริญแล้ว
อีกอย่างหนึ่ง แม้เงินหรือโภคทรัพย์ที่ได้มาแล้วนั้น จะชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมก็ตาม แต่ก็ได้ใช้จ่ายอย่างไม่ชอบธรรม คือใช้จ่ายผิดลำดับความสำคัญตามนัยที่ได้แสดงมาแล้วทั้งหมด เช่น ให้ความสำคัญของคนนอกบ้านมากกว่าคนในบ้าน คือให้ความสำคัญแก่เพื่อนฝูงมากกว่าพ่อแม่หรือลูกเมีย ดังนี้จัดว่าเป็นการทำตนให้เดือดร้อน ไม่จัดว่าดำรงอยู่ในอริยธรรมคือธรรมของผู้เจริญแล้ว
หรือให้ความสำคัญแก่การทำบุญกับพระภิกษุสามเณรที่เป็นอลัชชีไม่มีความละอาย ชอบทำบุญกับคนทุศีลประเภทนี้เพื่อเอาหน้าเอาตา แต่ไม่เคยนำพาช่วยเหลือญาติพี่น้องหรือมิตรสหายผู้เป็นที่รัก หลีกเลี่ยงหรือโกงภาษีของรัฐ เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียวในเรื่องอื่นๆ เป็นต้น ครั้นเมื่อประสบความเดือดร้อนในภายหลัง หลายๆ คนต่างก็พากันหมางเมิน ไม่มีใครยอมช่วยเหลือ บางคนเที่ยวบ่นเพ้อว่า “ทำบุญไม่ได้บุญ” เหตุที่เป็นดังนี้เพราะว่าบุญทานที่ทำไปแต่ก่อนนั้นผิดลำดับในการจัดความสำคัญการจ่ายเงิน ไม่ดำรงอยู่ในอริยธรรมคือธรรมของผู้เจริญแล้วเช่นเดียวกัน
ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสคาถาสุดท้ายไว้ในอาทิยสูตรว่า
โส เม อตฺโถ อนุปฺปตฺโต กตํ อนนุตาปิยํ
เอตํ อนุสฺสรํ มจฺโจ อริยธมฺเม ฐิโต นโร
อิเธว นํ ปสํสนฺติ เปจฺจ สคฺเค ปโมทติ
นระผู้จะต้องตาย เมื่อระลึกข้อนี้ได้ว่า ประโยชน์นั้นเราได้บรรลุแล้วตามลำดับ
การกระทำที่ไม่ตามเดือดร้อนในภายหลัง เราก็ได้กระทำแล้ว
ดำรงอยู่ในอริยธรรม (คือธรรมของผู้เจริญแล้ว)
มนุษย์และเทพยดาทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้
เขาละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์

ในการดำเนินชีวิตจริง มีความหลากหลาย ซับซ้อน ไม่นิ่ง คือเปลี่ยนแปลงและแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา การบริหารโภคทรัพย์หรือการใช้จ่ายเงินก็เช่นเดียวกัน ยากยิ่งนักที่จะนำเอาอรรถธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแสดงให้ครบถ้วนและครอบคลุมทุกประการได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่าประโยชน์ของการใช้เงิน การจัดลำดับการใช้เงิน และการใช้จ่ายเงินมิให้เกิดความเดือดร้อนในภายหลัง จักบังเกิดผลแน่นอน ถ้าใครก็ตามใช้แนวทางตามอาทิยสูตร ซึ่งผู้เขียนได้ขยายความมาพอให้เห็นเป็นแนวทางโดยประการฉะนี้

พระมหาชัยวุธ ฐานุตฺตโม (โภชนุกูล)
๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๒

Oct 10

ประโยชน์ของเงินหรือโภคทรัพย์ข้อสุดท้าย ผู้เขียนได้ระบุไว้ว่า “บำเพ็ญทักษิณาบุญในพระสงฆ์ผู้ประกอบด้วยสมณธรรม” ซึ่งเป็นการแปลงสำนวนให้กระชับและเข้าใจง่ายตามสังคมพุทธศาสนิกชน แต่ถ้าจะแปลตรงตัวตามคัมภีร์ก็จะได้ว่า “บำเพ็ญทักษิณา มีผลสูงเลิศ เกื้อกูลแก่สวรรค์ มีวิบากเป็นสุข ยังอารมณ์เลิศให้เป็นไปด้วยดีในสมณพราหมณ์ ผู้เว้นจากความมัวเมาประมาท ตั้งอยู่ในขันติและโสรัจจะ ผู้มั่นคง ฝึกฝนตนให้สงบระงับดับกิเลสโดยส่วนเดียว” หรืออาจสรุปให้สั้นๆ ง่ายๆ ได้ว่า “ทำบุญกับพระภิกษุสามเณรผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ” ก็ได้
คำว่า “ทักษิณา” มีหลายความหมาย เช่น “ใต้” คือทิศใต้หรือภาคใต้ (ภาษาไทยใช้ว่า “ทักษิณ”) และ “ขวา” คือข้างขวา ด้านขวา หรือขวามือ ซึ่งตามธรรมเนียมอินเดียโบรานนั้น ด้านขวามือจัดว่าเป็นด้านที่ควรแก่การเคารพ ดังเช่นการเวียนขวาที่เรียกว่า “ปทักษิณ” เป็นการแสดงถึงความเคารพ แต่ในที่นี้ ทักษิณาหมายถึง “ของทำบุญ” คือของที่ถวายด้วยความเคารพ เป็นการถวายเพื่อหวังความสุขความเจริญแก่ตนเองในภายภาคหน้า…
ส่วนผู้รับทักษิณาหรือของทำบุญนี้เรียกว่า “ปฏิคาหก” จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงเน้นถึงคุณสมบัติของสมณพราหมณ์หรือพระภิกษุสามเณรผู้เป็นปฏิคาหกอย่างยิ่ง นั่นคือ ถ้าทำบุญกับผู้มีคุณสมบัติดังกล่าวก็จะมีผลสูงเลิศ เกื้อกูลแต่สวรรค์ มีวิบากเป็นสุข…
คำสอนทางพระพุทธศาสนามีการจำแนกผู้รับทักษิณาทานหรือปฏิคาหกไว้หลายระดับตั้งแต่สัตว์เดรัจฉานซึ่งให้ผลต่ำสุด ไปจนถึงถวายสงฆ์โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประธานว่ามีผลสูงสุด และแม้ในที่นี้ พระองค์ก็ทรงเน้นปฏิคาหกเช่นเดียวกันว่าต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติประพฤติดีประพฤติชอบ กล่าวคือ เว้นจากความมัวเมาประมาท ตั้งอยู่ในขันติคือความอดทน โสรัจจะคือความสงบเสงี่ยม มีความมั่นคงหนักแน่นโดยมุ่งที่จะฝึกฝนตนเองในการสงบระงับดับกิเลสโดยส่วนเดียว นั่นคือ ถ้าเราทำบุญกับปฏิคาหกที่ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติทำนองนี้แล้ว ผลแห่งบุญก็จะสูงหรือมีผลมาก แต่ถ้าทำบุญกับปฏิคาหกที่มีคุณสมบัติบกพร่อง ผลแห่งทานก็จะไม่สูงดังที่เราคาดหวังหรือมีผลน้อยลงมาตามที่ควรจะเป็น
และพระองค์ยังทรงเน้นถึงเจตนาในการให้หรือในการทำบุญด้วยว่าต้อง “มีอารมณ์เลิศให้เป็นไปด้วยดี” นั่นคือ ถ้าทำไปอย่างเสียมิได้ อย่างขอไปที หรือฝืนทำ แม้ผู้รับจะมีคุณสมบัติครบถ้วน แต่ผลลัพธ์ก็อาจไม่เต็มเปี่ยม ซึ่งพระองค์เคยตรัสไว้ทำนองว่า ถ้าเจตนาในการถวายทานแรงกล้าและประกอบด้วยความศรัทธาปสาทะคือความเชื่อและความเลื่อมใสอันบริสุทธิ์แล้ว ผลแห่งทานที่ถวายไปนั้นจะมีผลน้อยหามิได้เลย ดังเช่นนิทานธรรมบทเรื่องลาชเทวธิดาว่า สาวน้อยเฝ้านาข้าวสาลีคนหนึ่งทำข้าวตอกพระมหากัสสปะซึ่งเพิ่งออกจากฌานสมาบัติ ไม่นานนักเธอก็ถูกงูกัดตายแล้ว ด้วยผลแห่งทานนี้ทำให้นางไปเกิดเป็นเทพธิดาบนสวรรค์เป็นต้น
สรุปว่าประโยชน์ของเงินหรือโภคทรัพย์ข้อสุดท้ายก็คือใช้ทำบุญเพื่อความสุขความเจริญในภายภาคหน้า ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสให้เน้นถึงผู้รับของทำบุญว่าต้องเป็นพระภิกษุสามเณรที่ประพฤติดีประพฤติชอบ และทรงเน้นถึงเจตนาในการถวายด้วยว่าต้องมีอารมณ์เลิศเป็นไปด้วยดี นั่นคือต้องมีใจบริสุทธิ์ในการถวายทักษิณาทานนั้นๆ เพื่อความบังเกิดผลสูงสุดแห่งทานที่ได้ถวายไปนั่นเอง

ผู้เขียนได้ขยายความสิ่งที่ต้องใช้จ่ายด้วยเงินหรือโภคทรัพย์ที่หามาได้ครบถ้วนทั้ง ๕ ประการแล้ว จะประมวลความอีกครั้ง กล่าวคือ ต้องเลี้ยงคนที่ควรเลี้ยงให้เป็นสุข คนที่ควรเลี้ยงนั้นจำแนกเป็นภาคบังคับและภาคสมัคใจ ภาคบังคับก็คือคนภายในบ้านซึ่งจัดลำดับความสำคัญดังนี้ ตัวเราเอง แม่ พ่อ ลูก เมียหรือผัว และคนใช้หรือลูกน้อง ภาคสมัครใจคือคนนอกบ้านได้แก่มิตรสหายหรือเพื่อน ต่อไปก็ต้องเก็บไว้ใช้ป้องกันปัดเป่าอันตรายที่จะพึงบังเกิดขึ้นตามโอกาส เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม อันตรายจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ประกอบด้วยธรรม จากโจร และจากทายาทคือลูกหลานผู้ไม่เป็นที่รักเป็นต้น
อันดับต่อมาคือ การทำพลิกรรม ๕ ประการเพื่อให้การดำเนินชีวิตของเรามีความมั่นคงเข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งให้ความสำคัญแก่การช่วยเหลือญาติมากกว่าแขกหรือคนทั่วไป ให้ความสำคัญคนเป็นมากกว่าคนตาย ให้ความสำคัญคนที่มีฐานันดรเท่าเทียมกันมากกว่าผู้เป็นเจ้าเป็นนาย และให้ความสำคัญแก่อำนาจในโลกแห่งชีวิตจริงคืออำนาจรัฐมากกว่าอำนาจที่มองไม่เห็นหรือผีส่างเทวดา
ส่วนประการสุดท้ายก็คือทำบุญทำทานเพื่อความสุขความเจริญในภายภาคหน้า โดยเน้นที่ผู้รับว่าจะต้องเป็นคนดีมีศีลธรรมประพฤติชอบ และเจตนาในการให้ต้องบริสุทธิ์เพื่อความมีผลมากแห่งบุญที่ได้กระทำไป…

Oct 10

“ราชพลี” คำนี้แปลกันหลายสำนวน เช่น บำรุงพระราชา ช่วยเหลือทางราชการ เสียภาษีให้รัฐ ฯลฯ ส่วนผู้เขียนคิดว่าถ้าจะแปลให้ได้ตรงตัวตามสำนวนปัจจุบันที่สุด ควรจะแปลว่า “การกระทำให้มีกำลังโดยอาศัยอำนาจรัฐ” นั่นคือการช่วยเหลือทางราชการจะทำให้เราเป็นที่รู้จักและได้รับความเคารพเกรงใจจากเจ้าหน้าที่บ้านเมือง และยังอาจได้รับประกาศเกียรติคุณหรือเหรียญตราตามระเบียบราชการด้วย ดังมีเรื่องเล่าตามข้อเท็จจริงในสมัยรัชการที่๕-๖ ทำนองเดียวกันว่า…
อาตี่หอบเสื่อผืนหมอนใบจากเมืองจีนมาพึ่งโพธิสมภารเจ้ากรุงสยาม ด้วยความฉลาด ขยันทำมาหากิน และเก็บหอมรอมริบจนกระทั้งได้เป็นเจ้าสั่ว ภายหลังจึงคิดตอบแทนแผ่นดินด้วยการช่วยเหลือทางราชการ เช่น สร้างถนนสร้างสะพาน ซื้อที่ดินบริจาคให้ทางราชการ ฯลฯ ความทราบไปถึงล้นเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคุณหลวง คุณพระ หรือพระยา ตามสมควรแก่บุคล ทำให้ฐานะของเจ้าสั่วเหล่านี้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น… นี้เป็นตัวอย่างของการทำราชพลีในสมัยที่พอยังเล่ากันได้
อนึ่ง ตามตัวอย่างคำแปลที่ยกมา การบำรุงพระราชาโดยตรง (เช่นการทูลเกล้าถวายสิ่งใดสิ่งหนึ่ง) แสดงถึงความจงรักภักดีอย่างชัดเจน การช่วยเหลือทางราชการก็จะได้รับการยกย่องตามสมควรแก่กรณี ส่วนการเสียภาษีให้รัฐโดยถูกต้องก็ไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะมีเจ้าหน้าที่รัฐมาขู่กรรโชกเรื่องภาษีย้อนหลัง
อย่างไรก็ตาม ราชพลีโดยนัยใดก็ตาม ต้องใช้โภคทรัพย์หรือเงินเกือบทั้งนั้น ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสประโยชน์ของการแสวงหาเงินก็เพื่อใช้เป็นราชพลีดังกล่าวมา

และพลิกรรมข้อสุดท้ายคือ “เทวตาพลี” คือการทำบุญอุทิศให้เทพยดา ซึ่งข้อนี้ก็เช่นเดียวกับปุพพเปตพลีการทำบุญอุทิศให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว นั่นคือ เป็นสิ่งที่แสดงโดยข้อเท็จจริงไม่ได้ว่าจะทำให้เรามีกำลังเข้มแข็งหรือมั่นคงในการดำเนินชีวิตอย่างไร แต่การบูชาบ่วงสรวงเทพยดาก็มีอยู่ทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นชนชาติศาสนาใด ต่างกันก็แต่เพียงรายละเอียดเท่านั้น
มีเรื่องปรากฏอยู่ในมหาปรินิพพานสูตรตอนหนึ่งว่า สุนีธะและวัสสการะซึ่งเป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่แห่งแคว้นมคธได้รับราชโองการเพื่อมาสร้างเมือง (คือค่ายทหาร) ที่ปาฏลีคามเพื่อป้องกันการรุกรานจากแคว้นของพวกวัชชี การตัดต้นไม้ปราบพื้นที่เป็นต้นเพื่อสร้างเมืองนั้นก่อให้เกิดความเดือดร้อนและไม่พอใจแก่บรรดาเทพยดาซึ่งสิงสถิตอยู่ในสถานที่นั้นๆ พระพุทธเจ้าเสด็จผ่านมา บรรดามหาอำมาตย์จึงนิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุทั้งหลายฉันภัตตาหารเพื่อเป็นการฉลองเมืองใหม่ หลังจากเสร็จภัตรกิจแล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสอนุโมทนาด้วยบทว่า ยสฺมึ ปเทเส กปฺเปติ ฯ ซึ่งคำแปลว่า

“บัณฑิตยชาติสำเร็จการอยู่ในประเทศใด ย่อมเชื้อเชิญท่านผู้มีศีล
ผู้สำรวมแล้วประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริโภคในประเทศนั้น
ได้อุทิศทักษิณาทานให้แก่เทวดาที่มีอยู่ ณ ที่นั้น
เทวดาเหล่านั้นได้รับบูชาแล้ว ย่อมบูชาตอบเขา
ได้รับความนับถือแล้ว ย่อมนับถือตอบเขา
แต่นั้น ย่อมอนุเคราะห์เขา เหมือนมารดาอนุเคราะห์บุตรซึ่งเกิดแต่อกฉะนั้น
บุรุษผู้อันเทวดาอนุเคราะห์แล้ว ย่อมเห็นความเจริญทุกเมื่อ”

ตามนัยนี้ จะเห็นได้ว่าการทำบุญอุทิศให้เทพยดา จะทำให้เป็นที่ชอบใจ ยินดี เป็นที่รักของเทพยดา และเทพยดาเหล่านั้นจะได้คอยช่วยเหลือ คุ้มครอง ป้องกันให้เป็นอยู่สุขสบาย นั่นคือ โอกาสที่จะเดือดร้อนในเรื่องต่างๆ ก็จะหมดไปหรือน้อยลง โอกาสที่จะมีความเจริญรุ่งเรืองก็จะมีมากขึ้น
ดังนั้น การทำบุญอุทิศให้เทพยดา จึงจัดเป็นพลีกรรม คือการกระทำให้มีกำลังอีกอย่างหนึ่ง และพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่าการแสวงหาโภคทรัพย์ก็เพื่อเทวตาพลีทำนองนี้นั่นเอง

บรรดาพลิกรรมเหล่านี้ บางท่านอาจสงสัยว่ามีการจัดลำดับความสำคัญอย่างไร ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน บรรดาญาติพี่น้องสำคัญกว่าแขกหรือคนทั่วไป ดังนั้น จึงจัดญาติพลี(การสงเคราะห์ญาติ) ไว้ก่อนอติถิพลี (การต้อนรับแขก) ส่วนปุพพเปตพลี (การทำบุญอุทิศให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว) ซึ่งเป็นคำกลางๆ นั่นคือ ผู้ตายที่เราทำบุญอุทิศไปให้จะเป็นญาติหรือไม่เป็นญาติก็ได้ จัดเป็นลำดับที่สาม ประเด็นนี้บ่งให้เห็นว่า คนเป็นสำคัญกว่าคนตาย
อันดับที่สี่คือราชพลี (ช่วยเหลือทางราชการ) และอันดับสุดท้ายคือเทวตาพลี (ทำบุญอุทิศให้เทพยดา) จะเห็นได้ว่า ราชการและเทพยดาทั้งสองนี้ จัดเป็นผู้มีอำนาจทั่วไปเหนือเราหรือเป็นผู้ปกครองดูแลและอาจให้คุณให้โทษแก่เราได้ โดยราชการมีอำนาจในโลกแห่งชีวิตจริงที่รับรู้กันโดยทั่วไป ส่วนเทพยดามีอำนาจเหนือโลกซึ่งยากที่จะสังเกตได้ การที่จัดราชพลีให้ก่อนเทวตาพลี อาจบ่งชี้ได้ว่า อำนาจในโลกแห่งชีวิตจริงมีความสำคัญกว่าอำนาจเหนือโลก
อนึ่ง สามข้อแรกเบื้องต้น (ญาติพลี อติถิพลี และปุพพเปตพลี) มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเราและมีความเท่าเทียมเสมอกันโดยฐานันดร ส่วนสองข้อเบื้องปลาย (ราชพลี และเทวตาพลี) มีความสัมพันธ์กับเราในลักษณะผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครอง หรือเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่าเราโดยฐานันดร ตามนัยนี้อาจบ่งชี้ได้ว่า คนทั่วไปที่มีฐานะเท่าเทียมกันโดยฐานันดรมีความสำคัญกว่าผู้ที่เป็นเจ้าเป็นนาย
ตามที่วิเคราะห์มาอาจสรุปอีกครั้งได้ว่า ญาติสำคัญกว่าชาวบ้าน คนเป็นสำคัญกว่าคนตาย อำนาจในโลกแห่งชีวิตจริงสำคัญกว่าอำนาจเหนือโลก และคนทั่วไปที่มีความเท่าเทียมกันโดยฐานันดรมีความสำคัญกว่าผู้ที่เป็นเจ้าเป็นนาย…
และเมื่อมาพิจารณาความเป็นอยู่ของใครบางคนในโลกนี้ บางคนเอาแต่ชาวบ้านไม่เอาญาติพี่น้อง บางคนชอบแต่ประจบประแจงเจ้านายแต่ไม่ใส่ใจคนระดับเดียวกัน หรือบางคนบ้าแต่บูชาผีส่างเทวดาแต่ไม่ใส่ใจนำพาคนเป็นๆ โดยที่สุดแม้แต่เพื่อนบ้าน… เขาเหล่านี้ จัดว่าเป็นผู้กระทำพลิกรรมผิดหลักการตามลำดับที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ใช่หรือไม่ ? ถ้าใช่ แสดงว่าเขาเหล่านั้นได้ใช้เงินหรือโภคทรัพย์กระทำพลีกรรมผิดไปจากที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้นแล

Oct 10

“ทำพลี ๕ อย่าง” เป็นข้อที่สี่ นั่นคือ เราต้องแสวงหาเงินหรือโภคทรัพย์มาใช้จ่ายเพื่อกระทำพลิกรรม ได้แก่
• ญาติพลี คือ บำรุงญาติ
• อติถิพลี คือ ต้อนรับแขก
• ปุพพเปตพลี คือ ทำบุญอุทิศให้ผู้ตายไปแล้ว
• ราชพลี คือ บำรุงราชการ
• เทวตาพลี คือ ทำบุญอุทิศให้เทพยดา

จะเห็นได้ว่า คำว่า พลี หรือ พลิกรรม นั้น ความหมายในภาษาไทยแปลยักเยื้องได้ตามความเหมาะสม เพราะหาคำเดียวกันที่ใช้ให้ตรงความหมายไม่ได้ หรือบางครั้งก็ใช้ทับศัพท์ ซึ่งผู้เขียนสงสัยอยู่เกินสิบปีกว่าจะขบประเด็นปัญหานี้ออกมาได้
คำว่า พลี แยกศัพท์ออกมาเป็น พล+อี = พลี โดย พละ แปลว่า กำลัง ส่วนสระ อี เป็นปัจจัยในตัทธิตโดยใช้แทนความหมายว่า มี ดังนั้น พลี จึงแปลว่า มีกำลัง … พลี+กรรม = พลิกรรม แปลว่า การกระทำให้มีกำลัง
“ญาติพลี” คือ การช่วยเหลือญาติ บำรุงญาติ นั่นก็คือ ถ้าเราช่วยเหลือญาติพี่น้องแล้วก็จะทำให้เราเข้มแข็งยิ่งๆ เช่น ในบางคราวก็อาจอาศัยญาติพี่น้องเป็นที่พึ่งพิงช่วยเหลือได้ คนที่ถูกกล่าวขานว่ามีญาติพี่น้องมากและได้รับการยอมรับจากบรรดาญาติพี่น้องน่าจะเป็นคนที่ได้รับความเกรงใจในสังคมยิ่งกว่าคนที่หัวเดียวกระเทียมลีบ คนที่มีน้ำใจต่อญาติพี่น้อง ย่อมได้รับการยกย่องสรรเสริญจากวงศาคณาญาติต่างจากคนที่ไร้น้ำใจซึ่งย่อมได้รับการติฉินนินทา ดังนั้น การช่วยเหลือและมีน้ำใจต่อญาติพี่น้องจึงจัดว่าเป็นการกระทำให้เกิดกำลังต่อตนเองในความเป็นอยู่
การจะช่วยเหลือญาติพี่น้องได้ก็ต้องอาศัยเงินหรือโภคทรัพย์ แม้จะไม่ใช่ทุกกรณีก็ตาม ดังคำพังเพยที่ว่า “มีเงินก็นับว่าน้อง มีทองก็นับว่าพี่ หมดเงินหมดทอง พี่น้องไม่มี” ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรื่องญาติพลีไว้ว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากโภคทรัพย์ที่แสวงหามาได้

“อติถิพลี” คือ การต้อนรับแขกตามแต่กรณี จัดว่าเป็นการกระทำให้เรามีกำลัง มีความมั่นคงในการใช้ชีวิตในสังคมยิ่งขึ้น เพราะบรรดาแขกที่ได้รับการต้อนรับ บางคนอาจนำคุณของเราไปสรรเสริญในสถานที่ต่างๆ เราอาจได้รับการเกรงใจหรือต้อนรับเมื่อเข้าสู่สังคมอื่นๆ ในภายหลัง หรือบางคราวที่ไปเป็นแขกก็อาจได้รับการต้อนรับตอบแทน ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรื่องการต้อนรับแขกหรืออติถิพลีว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากโภคทรัพย์ที่แสวงหามาได้

“ปุพพเปตพลี” คือ การทำบุญอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ประเด็นนี้ยากที่จะยกข้อเท็จจริงมาแสดงว่า ผู้ที่ตายไปแล้วจะช่วยเพิ่มกำลังหรือทำให้เรามีความมั่นคงเข้มแข็งในการใช้ชีวิตได้อย่างไร แต่การทำบุญอุทิศให้ผู้ตายก็ยังมีในยุคปัจจุบัน และถ้าจะสืบต่อไปยังอดีต จะเห็นได้ว่าชนทุกชาติศาสนาก็มีพิธีกรรมทำบุญอุทิศให้ผู้ที่ตายไปแล้ว เพียงแต่รายละเอียดเท่านั้นที่แตกต่างกันไป และน่าจะกล่าวได้ไม่เกินความจริงว่าเรื่องทำนองนี้มีอยู่คู่กับมนุษย์
ในติโรกุฑฑสูตร พระพุทธเจ้าได้สรุปอานิสงส์การทำบุญอุทิศให้ผู้ตายที่สังเกตได้ในโลกนี้ไว้ ๔ ประการ กล่าวคือ
โส ญาติธมฺโม จ อยํ นิทสฺสิโต
เปตาน ปูชา จ กตา อุฬารา
พลญฺจ ภิกฺขูนมนุปฺปทินฺนํ
ตุมฺเหหิ ปุญฺญํ ปสุตํ อนปฺปกํ
ญาติธรรมนี้นั้น ได้แสดงให้ปรากฏแล้ว
การบูชาผู้ที่จากไปอย่างโอฬาร ได้กระทำแล้ว
กำลังของภิกษุทั้งหลาย ได้ให้การสนับสนุนแล้ว
บุญมีประมาณไม่น้อย ท่านทั้งหลายก็ได้ขวนขวายบำเพ็ญแล้ว

ซึ่งจะทำบุญอุทิศให้ผู้ที่ตายได้นั้น ก็ต้องอาศัยเงินเป็นทุนเช่นเดียวกัน ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสประโยชน์ของการแสวงหาโภคทรัพย์ว่าเพื่อใช้ในการทำบุญให้ผู้ตายในข้อนี้

Oct 10

ในข้อแรก บุคลควรเลี้ยงภาคบังคับ พระพุทธเจ้าได้ตรัสลำดับความสำคัญไว้ดังนี้ คือ ตัวเราเอง แม่ พ่อ ลูก เมีย (ผัว) และ คนใช้ จะเห็นได้เพียงแค่การแสวงหาโภคทรัพย์หรือเงินเพื่อมาเลี้ยงคนที่ควรเลี้ยงภาคบังคับนี้ก็ยากยิ่งแล้ว แต่เรายังมี “มิตรสหาย” หรือเพื่อน ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นข้อต่อมา…

อลสสฺส กุโต สิปฺปํ อสิปฺปสฺส กุโต ธนํ
อธนสฺส กุโต มิตฺตํ อมิตฺตสฺส กุโต สุขํ
อสุขสฺส กุโต ปุญฺญํ อปุญฺญสฺส กุโต วรํ
คนเกียจคร้านจักมีความรู้แต่ที่ไหน คนไม่มีความรู้จักมีทรัพย์แต่ที่ไหน
คนไม่มีทรัพย์จักมีมิตรแต่ที่ไหน คนไม่มีมิตรจักมีความสุขแต่ที่ไหน
คนไม่มีความสุขจักมีบุญแต่ที่ไหน คนไม่มีบุญจักประเสริฐแต่ที่ไหน

ตามบาลีภาษิตนี้ จะเห็นได้ว่ามิตรสหายหรือเพื่อน จะทำให้เรามีความสุขได้ และการคบมิตรนั้น บางครั้งก็จำเป็นต้องมีโภคทรัพย์หรือเงิน และถ้าไม่มีเงินหรืออื่นๆ โดยประการทั้งปวงแล้ว ก็ยากยิ่งที่จะมีใครนิยมชมชอบหรือคบหาสมาคมด้วย นี้คือโลกแห่งชีวิตจริง ดังเช่นคำกลอนแบบไทยๆ ว่า
เมื่อมั่งมีมากมายมิตรหมายมอง เมื่อมัวหมองมิตรมองเหมือนหมูหมา
เมื่อไม่มีหมดมิตรมุ่งมองมา เมื่อมอดม้วยแม้นหมูหมาไม่มามอง

ดังนั้น “มิตรสหาย” หรือเพื่อน พระพุทธเจ้าจึงตรัสเป็น “ผู้ที่ควรเลี้ยง” ในข้อที่สอง เหตุที่แยกออกมาจากข้อแรก ผู้เขียนคิดว่าเพื่อนนั้น มิใช่ภาคบังคับ แต่เป็นภาคสมัครใจ และจัดเป็นคนนอกบ้าน นั่นคือ เราไม่มีหน้าที่โดยตรงต้องเลี้ยงดูเพื่อนตลอดไป
เมื่อมาพิจารณาเพื่อนกับคนใช้หรือลูกน้อง จะเห็นได้ว่าอยู่ต่างข้อกัน และพระพุทธเจ้าตรัสให้คนใช้หรือลูกน้องสำคัญกว่าเพื่อน ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อนยังเป็นภาคสมัครใจ มิใช่ภาคบังคับเหมือนแม่ พ่อ ลูก เมีย (ผัว) และคนใช้ ซึ่งเป็นคนภายในครอบครัว ดังนั้น ใครก็ตามที่เป็นคนมากน้ำใจ ชอบเลี้ยงเพื่อน ช่วยเหลือเพื่อน จนบางครั้งสิ่งที่ทำไปเพื่อเพื่อนเป็นสาเหตุให้ตนเองและครอบครัวเดือดร้อน แต่ตรงกันข้าม กลับไม่ค่อยใส่ใจหรือรับผิดชอบครอบครัวหรือคนของตนเอง ถือว่าเขาผู้นั้นประพฤติผิดหลักการจัดลำดับความสำคัญตามนัยนี้

“ใช้ป้องกันอันตรายที่จะบังเกิดขึ้นจาก ไฟ น้ำ พระราชา โจร และทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก เป็นต้น” นี้คือประโยชน์ของเงินหรือโภคทรัพย์ข้อที่สาม ซึ่งข้อนี้มีคำว่า “เป็นต้น” เพิ่มเติมไว้ นั่นก็คือ เงินใช้ป้องกันอันตรายต่างๆ ได้ ดังที่ใครบางคนบอกว่า “เงินใช้แก้ปัญหาได้ดีที่สุด แม้จะแก้ไม่ได้ทุกอย่างก็ตาม” เราลองมาพิจารณาตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงระบุไว้
ตัวอย่างของอันตรายจากไฟก็เช่นไฟไหม้ ส่วนอันตรายจากน้ำก็เช่นน้ำท่วม คราวใดก็ตามถ้าเกิดไฟไหม้หรือน้ำท่วม คนที่มีเงินก็อาจแก้ปัญหาได้ไม่ยากนัก หรือแม้ไฟยังไม่ไหม้หรือน้ำยังไม่ท่วม แต่คนที่มีเงินมากก็อาจหาวิธีป้องกันได้ง่ายและรัดกุมยิ่งกว่าผู้ที่มีเงินน้อย ดังนั้น โภคทรัพย์หรือเงินจึงใช้ป้องกันอันตรายจากไฟและน้ำได้…
“อันตรายจากพระราชา” ข้อความนี้ ต้องจินตนาการย้อนไปถึงยุคสมัยโน้น พระราชาก็คือเจ้าเหนือชีวิต ผู้ปกครอง ซึ่งมิใช่ว่าจะเป็นคนดีประกอบด้วยคุณธรรมและมีเหตุผลทุกคนหรือตลอดเวลา ดังเช่นนิทานธรรมบทเรื่องหนึ่งเล่าว่า พระราชามีพระประสงค์จะพิสูจน์ว่าผัวเมียคู่หนึ่งเป็นคนมีโภคทรัพย์จริงหรือไม่ตามคำบอกเล่า จึงรับสั่งให้มีการจัดงานรื่นเริงขึ้นทุกหลังคาเรือน มิฉะนั้นจะถูกลงอาญา… นี้คือตัวอย่างแห่งความเดือดร้อนหรืออันตรายที่จะบังเกิดขึ้นได้จากพระราชาตามตำนาน
เมื่อพิจารณาสังคมปัจจุบัน คำว่าพระราชาตามตำนานก็คือผู้ปกครองหรือเจ้าหน้าที่บ้านเมือง เช่น กำนัน นายอำเภอ ตำรวจ ตลอดเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วไป ซึ่งก็เป็นไปตามทำนองเดียวกัน บางคนก็อาจไม่ประกอบด้วยคุณธรรม เมื่อเขาเหล่านั้นเกิดความไม่พอใจ ก็อาจกลั่นแกล้ง ใส่ร้าย เบียดเบียน หรือขูดรีดเอากับเราได้ตามแต่กรณีนั้นๆ… ทำนองนี้อาจสงเคราะห์เข้าในคำว่าอันตรายจากพระราชาในยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งเงินหรือโภคทรัพย์ก็อาจช่วยป้องกันและปัดเป่าอันตรายที่บังเกิดจากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองผู้ไม่ประกอบด้วยธรรมหล่านี้ได้

“อันตรายจากโจร” ประเด็นนี้ชัดเจน เงินอาจช่วยป้องกันอันตรายจากโจรได้ ตั้งแต่ใช้เงินซื้อกุญแจ สร้างกำแพงและประตูสถานที่อาศัยให้มั่นคง ติดตั้งเครื่องกันขโมย จัดหาอาวุธไว้ประจำตัว ตลอดใช้เงินไถ่ถอนสิ่งที่ถูกลักขโมย หรือรักษาชีวิตเอาไว้ได้เมื่อให้เงินและทรัพย์สินแก่โจรไป เป็นต้น
ส่วนในกรณีว่ามีเงินและทรัพย์สินจำนวนมากจนเป็นสาเหตุให้โจรทำอันตรายนั้น แตกต่างไปจากประเด็นนี้ จะไม่อ้างถึง

ประเด็นสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าทรงอ้างมาเป็นตัวอย่างคือ “ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก” ก็คือลูกๆ หลานๆ บางคนที่ทำตัวเหลวไหล เช่นบางคนติดยาเสพติดก็อาจมาขู่บังคับญาติผู้ใหญ่เพื่อจะเงินไปซื้อยา หรือบางคนประพฤติตัวเยี่ยงโจรชักชวนเพื่อนโจรด้วยกันมาลักขโมยของภายในบ้าน ถ้ามีเงินก็พออาจให้พวกเขาไปเพื่อป้องกันชีวิตตนเองและครอบครัวให้ปลอดภัยได้
นัยตรงข้าม ลูกๆ หลานๆ บางคนอาจทำตัวเหลวไหล เช่นไปขโมยสิ่งของผู้อื่น หรือไปเที่ยวทำร้ายร่างกายก่อการทะเลาะวิวาทกับผู้อื่น เป็นหน้าที่ของพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ต้องใช้เงินเพื่อช่วยเหลือปัดเป่าลูกหลานให้พ้นภัย และรักษาชื่อเสียงวงศ์ตระกูลไว้… แม้นัยนี้ก็สงเคราะห์เข้าในข้อว่าใช้โภคทรัพย์เพื่อป้องกันอันตรายจากทายาทผู้ไม่เป็นที่รักได้เช่นเดียวกัน
ในการดำเนินชีวิตนั้น สิ่งที่จัดว่าอันตรายมีมากมาย ซึ่งโภคทรัพย์หรือเงินอาจช่วยป้องกันได้ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงยกมาเป็นตัวอย่างนั้น เพราะสังเกตได้ง่าย แต่อันตรายทั้งหลายบรรดามี มิใช่ว่ามีตลอดเวลา มิใช่ว่าเกิดขึ้นทุกอย่าง ดังนั้น จึงจัดความสำคัญเป็นลำดับที่สาม

Oct 10

เงินเพื่ออะไร ?

สำหรับฆราวาส คือผู้ครองเรือน หรือชาวบ้านทั่วไป คงจะมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว ถ้าจะมีใครถามว่า “ที่ทำงานหาเงินอยู่ทุกวันนั้นเพื่อประโยชน์อะไร ?” และเมื่อจะค้นหาคำตอบนี้ ผู้เขียนคิดว่าแต่ละคนคงจะให้คำตอบไม่แตกต่างกันนัก ส่วนที่แตกต่างกันน่าจะอยู่ที่ประโยชน์ซึ่งแต่ละคนเล็งเห็นและการจัดลำดับความสำคัญแห่งประโยชน์เหล่านั้นต่างหาก…
ประเด็นนี้น่าจะเป็นเรื่องสำคัญ เพราะพระพุทธเจ้าเคยตรัสอธิบายให้อนาถบิณฑิกเศรษฐีฟังในอาทิยสูตร โดยจัดประโยชน์ในการแสวงหาโภคทรัพย์ไว้ ๕ ประการ กล่าวคือ
๑. เลี้ยงตนเอง มารดาบิดา บุตร ภรรยา และคนใช้ ให้เป็นสุข
๒. เลี้ยงมิตรสหาย ให้เป็นสุข
๓. ใช้ป้องกันอันตรายที่จะบังเกิดขึ้นจาก ไฟ น้ำ พระราชา โจร และทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก เป็นต้น
๔. ทำพลีกรรม ๕ ประการ กล่าวคือ
๔.๑. ญาติพลี (บำรุงญาติ)
๔.๒. อติถิพลี (ต้อนรับแขก)
๔.๓. ปุพพเปตพลี (ทำบุญอุทิศให้ผู้ตายไปแล้ว)
๔.๔. ราชพลี (บำรุงราชการ)
๔.๕. เทวตาพลี (ทำบุญอุทิศให้เทพยดา)
๕. บำเพ็ญทักษิณาบุญในพระสงฆ์ผู้ประกอบด้วยสมณธรรม

เมื่อถือเอาตามนัยนี้ จะเห็นได้ว่าที่แสวงหาเงินก็เพื่อนำมาใช้จ่าย ๕ ประการเหล่านี้นั่นเอง ซึ่งผู้เขียนจะนำมาขยายความเพิ่มเติมเพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น
ข้อแรกและข้อที่สองนั้น พระพุทธเจ้าตรัสสรุปไว้ในพระคาถาว่า “เลี้ยงคนที่ควรเลี้ยง” ซึ่งคนที่ควรเลี้ยงในข้อแรกคือ “ตนเอง มารดาบิดา บุตรภรรยา และคนใช้” จะเห็นได้ว่าบุคลเหล่านี้คือผู้ที่เราเกี่ยวข้องโดยตรง มีลักษณะเป็นภาคบังคับว่าเราจะต้องเลี้ยงหรือรับผิดชอบมิอาจเพิกเฉยได้ ส่วนข้อที่สองคือ “มิตรสหาย” หรือเพื่อนนั้น จัดเป็นคนนอกบ้าน ไม่มีลักษณะเป็นภาคบังคับ แต่เป็นภาคสมัครใจ นั่นคือเราจะเลี้ยงหรือไม่เลี้ยงก็ได้ ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสแยกออกมาเป็นสองข้อ…
มาพิจารณาเฉพาะข้อแรก คนที่ควรเลี้ยงภาคบังคับ พระพุทธเจ้าทรงระบุ “ตนเอง” ขึ้นก่อน นั่นคือผู้ที่เราต้องเลี้ยงและรับผิดชอบเป็นเบื้องต้น ผู้เขียนคิดว่าน่าจะไม่มีใครเถียงหรือคัดค้านว่าเราต้องเลี้ยงตัวเราเองให้ได้หรือพาตัวเราเองให้รอดก่อน เพราะถ้าเอาชีวิตตัวเองไม่รอดแล้ว จะป่วยกล่าวไปใยถึงคนอื่นๆ นี้เป็นเรื่องธรรมดา
ส่วนคนอื่นๆ “มารดาบิดา” คือบุคลที่เราต้องรับผิดชอบถัดมา ตามสำนวนบาลี มารดาคือแม่จะต้องขึ้นก่อนบิดาคือพ่อเสมอ นั่นคือ แม่มีความสำคัญกว่าพ่อ ดังนั้น คนที่ควรเลี้ยงสำคัญที่สุดนอกจากตัวเราเองก็คือแม่ ถัดต่อมาก็เป็นพ่อ
“บุตรภรรยา” เป็นลำดับต่อมาก็ทำนองเดียวกัน ตามสำนวนบาลี บุตรคือลูกจะต้องขึ้นก่อนภรรยาคือเมียเสมอ นั่นคือ ลูกมีความสำคัญกว่าเมีย ดังนั้น คนที่ควรเลี้ยงต่อจากแม่และพ่อแล้วก็คือลูกและเมีย
อนึ่ง ผู้อ่านที่เป็นผู้หญิงหรือสตรีเพศ อาจคิดว่าตนเองต่างหากเป็นคนหาเลี้ยงสามีหรือผัว มิใช่ผัวเป็นผู้หาเลี้ยงตนเอง ประเด็นนี้ก็ถูกต้อง เพราะอาจอรรถาธิบายนัยตรงข้ามได้ว่า คนที่ควรเลี้ยงต่อจากแม่และพ่อแล้วก็คือลูกและผัว ซึ่งนัยตรงข้ามทำนองนี้คัมภีร์รุ่นต่อมาได้บ่งชี้ไว้ชัดเจน แต่ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าบุตรภรรยาเพราะพระองค์ทรงแสดงให้อนาถบิณฑิกเศรษฐีที่เป็นผู้ชายหรือบุรุษเพศฟังนั่นเอง
คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นภาคบังคับตามความเป็นอยู่ยุคปัจจุบันก็คือ “คนใช้” หรือลูกน้อง (ตามคัมภีร์ระบุ “ทาส” ไว้ด้วย) คนเหล่านี้ตราบใดที่ยังทำงานอยู่กับเรา ยังอาศัยอยู่ภายใต้ร่มเงาของเรา ก็จัดว่าเป็นความจำเป็นที่จะต้องเลี้ยงดูพวกเขาให้เป็นสุขตามสมควรตราบนั้น แต่หากพวกเขาเป็นอิสระไปจากเราก็อาจถือว่าเป็นเพียงคนอื่นหรือคนรู้จักเท่านั้น และมิใช่คนที่ควรเลี้ยงภาคบังคับอีกต่อไป