Feb 28

ภาษีสังคม ได้ยินมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ไม่เข้าใจ เมื่อเติบโตขึ้นมาก็ค่อยๆ สำเนียกความหมายและความสำคัญของเรื่องนี้…

ตามความเห็นส่วนตัว ภาษีสังคม คือ สิ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเงินซึ่งจะต้องจ่ายหรือควรจ่ายเพื่อสถานภาพทาง สังคม สำหรับคนทั่วไปก็เช่น ช่วยงานศพงานบวชงานขึ้นบ้านใหม่ หรืองานวันเด็กในซอย เป็นต้น… ซึ่งภาษีสังคมนี้ บางครั้งเราก็ยินดีจ่าย บางครั้งก็ไม่ค่อยยินดี หรือบางครั้งก็จำใจจ่าย…

สองปีก่อนเมื่อยังเป็นสมภารเถื่อน คือไม่มีตราตั้งอะไรรองรับ แต่ดูแลและรับผิดชอบทุกอย่างภายในวัด คราวใดที่มีฏีกาเข้ามา ผู้เขียนมักจะไม่จ่าย โดยอ้างว่ามิใช่เจ้าอาวาส… จะจ่ายบ้างก็เฉพาะเครือข่ายส่วนตัว ซึ่งจำเป็นหรือยินดีจ่าย แต่มิใช่จ่ายในฐานะเจ้าอาวาส…

เมื่อแรกเป็นเจ้าอาวาสนั้น ผู้เขียนก็คุยกับเพื่อนรุ่นพี่รุ่นน้องที่เป็นเจ้าอาวาสว่า ใบฏีกาที่วัดต่างๆ ส่งมานั้น ผู้เขียนตั้งใจว่าจะไม่ไปเป็นปกติ และจะไม่ส่งใบฏีกาไปตามวัดต่างๆ แต่สภาพความเป็นจริงที่จะต้องไป ควรจะไป หรือจำใจไป ก็ค่อยๆ มากขึ้นๆ

ประการแรกก็คือในเขตอำเภอเมือง ตอนที่ผู้เขียนจัดงานศพอดีตเจ้าอาวาสนั้น ทุกวัดภายในเขตอำเภอเมืองจะมาร่วมเป็นเจ้าภาพทุกคืน โดยผลัดเปลี่ยนคืนละตำบล ซึ่งการที่คณะสงฆ์ช่วยในครั้งนั้นทำให้ผู้เขียนจัดงานศพไปได้โดยสะดวก ดังนั้น จึงตั้งใจว่า ในเขตอำเภอเมืองจะต้องไปเพื่อแสดงอุปการคุณตอบแทน…

ต่อมาก็คือวัดนอกเขตอำเภอเมือง ซึ่งผู้เขียนคุ้นเคยเป็นการส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือวัดแถวอำเภอสทิงพระบ้านเกิด หลายวัดผู้เขียนเคยอยู่เคยนอน เมื่อยังไม่เป็นสมภารนั้น ฏีกาจากวัดเหล่านี้จะไม่ส่งมา ส่วนตัวผู้เขียนเองถ้าทราบข่าวและโอกาสสะดวกก็มักจะไปร่วมช่วยงานตาม กำลัง… แต่เมื่อเป็นสมภาร วัดเหล่านี้ก็เริ่มส่งฏีกามาให้ (5 5 5…)

บางวัดมีสายใยกับวัดยางทองมานาน คล้ายๆ จะเป็นเครือญาติ เช่นอดีตเจ้าอาวาสวัดยางทองรูปหนึ่งเมื่อเกือบร้อยปีก่อน ท่านเป็นชาวอำเภอเทพา ลูกหลานของท่านยังมาพักมาบวชแก้บ่นที่วัดยางทอง หากทางวัดยางทองบอกงานไปเค้าก็จะมา เมื่อเค้าบอกงานมา ในฐานะสมภารวัดยางทอง ผู้เขียนก็ควรจะไป เพื่อสานต่อสายใยอันยาวนานนี้ไว้…

ญาติโยมคนเก่าคนแก่ของวัดและคนใกล้วัดข้างวัด ใครถึงแก่กรรม ในฐานะเจ้าอาวาส ก็ต้องมีน้ำใจร่วมทำบุญบ้างตามสมควร… นอกจากนั้นก็ยังมีญาติสนิทมิตรสหายทั้งใกล้และไกล เมื่อมีโอกาสก็ควรจะไป…

นอกนั้นก็ยังมีงานของคณะสงฆ์ เช่น ประชุมพระนวกะประจำปีซึ่งเดียวนี้บังคับวัดละสองพัน หรือตอนนี้ทางคณะสงฆ์จังหวัดสงขลากำลังจัดสร้างพุทธมณฑลประจำจังหวัด ส่วนหนึ่งที่เรี่ยไรก็คือวัดต่างๆ ก็ต้องจ่ายทุกครั้งที่บอกมา… ยังมีหน่วยงานราชการบางหน่วยที่เรี่ยไรจากวัด เช่น โรงพยาบาลต่างๆ ภายในจังหวัดจะมีการทอดผ้าป่าประจำปี ก็บอกบุญมายังวัดต่างๆ เป็นต้น

….ฯลฯ……….

จะเห็นได้ว่าภาษีสังคมของวัดซึ่งสมภารมีหน้าที่จะต้องดำเนินการนั้นมีมาก มาย แต่สภาพความเป็นจริงของแต่ละวัดนั้นแตกต่างกัน เช่น บางวัดมีรายได้สูง มีเงินเหลือมหาศาล สมภารจึงไม่เดือดร้อน… บางวัดแม้ไม่มีรายได้ แต่สมภารมีความสามารถสูงหาเงินได้เยอะก็อาจไม่เดือดร้อน… ส่วนบางวัดนั้นไม่มีรายได้ สมภารก็มีความสามารถธรรมดาๆ ก็อาจยุ่งยากในการจัดการภาษีสังคมเหล่านี้ให้เกิดความเหมาะสมได้ ซึ่งผู้เขียนก็ยังจัดอยู่ในกลุ่มนี้

ในฐานะสมภารใหม่ ผู้เขียนวิเคราะห์เรื่องนี้มาหลายเดือนแล้ว สภาพความเป็นจริงของวัดยางทอง แม้จะอยู่ในย่านคนค่อนข้างมีฐานะ แต่วัดนั้นไม่มีรายได้เฉพาะเลย สภาพเดิมของวัดก็มีปัญหาสั่งสมมานานจนคนไม่ค่อยจะเข้าวัด ส่วนฐานมวลชนของผู้เขียนในฐานะสมภารใหม่ก็อ่อนแอ เรื่องนี้จึงเป็นปัญหา…

ดังที่เคยปรารภหลายครั้งว่า วัด แม้จะเหมือนกันแต่ก็แตกต่างกัน เช่น บางวัดนั้น แม้จะไม่ได้อยู่ท่ามกลางคนมีอันจะกินและไม่มีรายได้เฉพาะ แต่ฐานมวลชนเข้มแข็ง พอมีฏีกาผ้าป่าจากวัดอื่น ก็ชวนกันไปร่วมบุญ โดยการเหมารถคันหนึ่ง แล้วก็ลงขันเก็บคนละร้อยสองร้อย หักค่ารถแล้วก็ทำบุญ ทางวัดไม่เดือดร้อน… หรือบางวัด ญาติโยมประจำวันพระมีเกือบร้อยคน พอท่านสมภารบอกบุญวันพระว่ามีผ้าป่า ก็ร่วมลงขันให้ท่านสมภารไปทำบุญ สมภารก็ไม่เดือดร้อน…

แต่บางวัด เช่นวัดยางทองปัจจุบัน ถ้าสมภารจะไปผ้าป่าหรืองานอะไรก็ตาม ต้องควักย่ามเอง ซึ่งปัจจุบันทำบุญในฐานะวัดราคาขั้นต่ำก็หนึ่งพันบาท หรือตัวอย่างก็ทอดกฐินปีที่ผ่านมา สมภารรุ่นน้องระดับลูกศิษย์พาญาติโยมมาร่วมทำบุญที่วัดพันสามร้อย ผู้เขียนก็ต้องกลับไปช่วยพันห้าร้อย นอกจากนี้ยังมีค่าน้ำมันและค่าคนขับรถอีก…

ประเด็นภาษีสังคมของวัด เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนในฐานะสมภารต้องดำเนินการตามความเหมาะสม ไม่ทำก็ไม่ได้เพราะเราอยู่กับสังคม ทำมากก็ไม่ได้เพราะทุนน้อย ทำน้อยเกินไปก็ไม่ได้เพราะ… ปลื้มใจอยู่อย่างเดียว พวกบอกว่าการเป็นสมภารวัดที่มีสภาพตกต่ำ อย่างเช่นวัดยางทอง ถ้าไปได้ดีขึ้น บ่งชี้ถึงความสามารถของสมภารคนใหม่…

สรุปว่า ภาษีสังคม เป็นประเด็นสำคัญที่พิสูจน์สมภารใหม่ ไม่ว่าสภาพความเป็นจริงของแต่ละวัดจะเป็นอย่างไรก็ตาม

Oct 20

ขอเชิญร่วมทอดกฐินสามัคคี ประจำปี ๒๕๕๓
ณ วัดยางทอง
เลขที่ ๑ ถนนนางงาม ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
วันอาทิตย์ ที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ตรงกับขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๒
…………..
ด้วยวัดยางทอง ได้มีพระภิกษุอยู่จำพรรษาครบถ้วนตามพระบรมพุทธานุญาตที่วางไว้ กอรปกับมีคณะศรัทธาจากผู้ใฝ่บุญกุศล ได้แสดงความจำนงที่จะจัดให้มีการทอดกฐินขึ้น จึงได้ตกลงจัดทอดกฐินขึ้นในวันเวลาดังกล่าว ในการนี้หากมีปัจจัยเป็นบริวารกฐินที่ญาติโยมพุทธบริษัทมิตรรักนักบุญทั้ง หลายได้ร่วมบริจาค ทางวัดจะได้นำไปเป็นทุนเริ่มต้นในการสร้าง วิหารบ่อยาง ตามวัตถุประสงค์

อนึ่ง ในการทอดกฐินปีนี้ ก่อนจะทำพิธีถวายกฐิน จะมีการวางศิลาฤกษ์วิหารบ่อยางเพื่อเป็นศิริมงคลในเบื้องต้น จึงขอเชิญชวนบรรดามิตรรักนักบุญผู้มีจิตศรัทธาทุกท่านมาร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์ และถวายกฐินโดยพร้อมเพรียงกัน

รตนัตตยานุภาเวนะ ด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนตรัย ขอทายกทายิกาทั้งหลายจงประสบจตุรพิธพรชัย กล่าวคือ อายุ วรรณะ สุขะ และพละ ทุกทิพาราตรีกาล เทอญ.

กำหนดการ
วันเสาร์ที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ตรงกับแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑
เวลา ๑๙.๐๐ น. สมโภชองค์กฐิน ณ วัดยางทอง

วันอาทิตย์ที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ตรงกับขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๒
เวลา ๐๙.๐๐ น. คณะกฐินสามัคคีพร้อมกันที่วัดยางทอง
เวลา ๑๐. ๓๐ น. พระสงฆ์ถวายพรพระ ญาติโยมตักบาตร
เวลา ๑๑.๐๐ น. พระสงฆ์กระทำภัตรกิจ ญาติโยมร่วมรับประทานอาหาร
เวลา ๑๒.๓๐ น. แสดงพระธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์
เวลา ๑๓.๐๔ น. วางศิลาฤกษ์วิหารบ่อยาง
เวลา ๑๓.๑๐ น. ถวายผ้ากฐิน พระสงฆ์อนุโมทนา ญาติโยมกรวดน้ำ เสร็จพิธี

เจ้าภาพองค์กฐิน
ครอบครัว อินทรสมบัติ
คุณบำรุง คุณถนอมศรี อินทรสมบัติ

คณะกรรมการอุปถัมภ์

ฯลฯ

- คณะญาติธรรม Lanpanya.com

ฯลฯ

Jul 06

ตั้งแต่เป็นสมภารมา เกือบจะไม่ได้เขียนบล็อกเลย ที่มีลงอยู่บ้างโดยมากก็เป็นเพียงบันทึกประชาสัมพันธ์เท่านั้น… บันทึกนี้จัดว่าเป็นกรณีพิเศษเพื่อฉลองครบรอบขวบปีที่สองและเฉลิมขึ้นขวบปีที่สามของลานปัญญา…

ผู้เขียนเริ่มต้นเป็นบล็อกเกอร์จากโกทูโน โดยเริ่มต้นจากศูนย์ จากไม่รู้จักใครก็ค่อยๆ รู้จักคนโน้นคนนี้ เริ่มสนิทสนมคุ้นเคยกับใครบางคน เริ่มรักใคร่ มันใส้ หรือนินทาใครบางคนในโกทูโน ตามธรรมดาของคน อีกทั้งค่อยเขื่องหรือขาใหญ่ขึ้นตามความเห็นของใครบางคน นั่นคือ ความเป็นไปในโกทูโน…

ต่อมา เกิดอะไรขึ้นก็ไม่ทราบชัดในโกทูโน เป็นสาเหตุให้มีกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันมาจัดสร้างลานปัญญาเป็นเวบบล็อกของตนเอง และผู้เขียนก็ได้รับการชักชวนให้มาร่วมด้วยในเบื้องต้น กล่าวได้ว่า ผู้เขียนเป็นรุ่นแรกของลานปัญญาแต่มิใช่ผู้ก่อการจัดตั้งขึ้นมา แต่ผู้เขียนก็ไม่ได้ทิ้งโกทูโน ยังคงเขียนและตอบอยู่ในโกทูโนเหมือนเดิม เพียงแต่ตอนหลังไม่ค่อยได้เขียนทั้งในโกทูโนและลานปัญญา…

เมื่อมีโอกาสคุยเรื่องลานปัญญาแยกตัวมาจากโกทูโน ผู้เขียนก็มีชุดอธิบายอยู่ชุดหนึ่ง โดยยกพุทธภาษิตว่า ” กมฺมํ สตฺเต วิภชฺชติ กรรมย่อมจำแนกสัตว์ ” นั่นคือ กรรมซึ่งในที่นี้หมายถึงเจตนาความจงใจ จะเป็นเครื่องจำแนกสัตว์ให้อยู่เป็นพวกเป็นกลุ่ม… พระเณรที่มาบวชอยู่ในวัด นักเรียนนักศึกษาทุกระดับในสถานศึกษา ทหารในค่าย หรือนักโทษในคุกก็ตาม ตอนแรกอาจไม่รู้จักใคร หรือมาคนเดียว แต่พออยู่ไปสักระยะหนึ่ง กรรมคือเจตนาความจงใจ จะทำให้เค้าจับกลุ่มหรือเข้ารวมกลุ่มในส่วนที่เข้ากันได้กับกรรมของตน…. บล็อกเกอร์ก็เช่นกัน ไม่อาจหลีกหนีพุทธภาษิตนี้ได้ได้… นี้นัยแรก

ขยายความเพิ่มอีกนิด เมื่อเป็นกลุ่มเล็กๆ กรรมหรือเจตนาความจงใจ จะชัดเจนในส่วนที่เข้ากันได้ ในส่วนที่เข้ากันไม่ได้จะไม่ปรากฏหรือไม่ชัดเจน แต่พอกลุ่มค่อยๆ ขยายขึ้น กรรมหรือเจตนาความจงใจในส่วนที่ไม่ปรากฎก็จะค่อยๆ ปรากฎออกมา ที่ไม่ชัดเจนก็ค่อยๆ ชัดเจนขึ้นมา ดังนั้น การแตกตัวเพื่อรวมกลุ่มต่อไป ก็จะตามมาอีกครั้ง และอีกครั้ง… อธิบายทำนองนี้ ค่อนข้างยาก ทำให้นึกถึงสำนวนที่ว่า “พัฒนาจุดร่วม สงวนจุดต่าง” น่าจะเข้าใจง่ายกว่า นั่นคือ จะเกาะกลุ่มกันได้ก็ต้องรักษากรรมในส่วนที่เหมือนกัน และกีดกันกรรมในส่วนที่ต่างกันมิให้ปรากฏ…

นอกจากพุทธภาษิตแล้ว ยังมีสำนวนหนึ่งในเพลงลูกทุ่งเก่าๆ ว่า “พอดังนิดดังหน่อย ชะทิงน่องน่อย แยกวง……” ที่ใช้ประกอบชุดคำอธิบายนี้ นั่นก็คือโลกแห่งศิลปินนักร้องและนักดนตรี พอเริ่มมีชื่อเสียง มีกำลัง มีความสามารถ ก็มักจะชอบแยกตัวออกไป ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่า ไม่ว่าจะสังคมใด มักจะเป็นอย่างนี้ โดยที่สุด แม้สังคมเวบบล็อกในปัจจุบันก็ตาม…

นั่นคือ ชุดคำอธิบายที่มักจะนำไปอธิบายเรื่องทำนองนี้ อุปมาอุปไมยทดแทนกันได้ อาทิเรื่องในวัดก็เอาเรื่องเวบบล็อกมาเปรียบเทียบ หรือเรื่องบล็อกเกอร์ก็อาจนำเรื่องในวัดมาเปรียบเทียบ เช่น กลุ่มอุบาสกอุบาสิกาในวันพระ ตอนแรกยังมีน้อยก็สมัครสมานสามัคคีกลมเกลียวกันดี พอเริ่มมากก็เริ่มเกาะกลุ่ม แยกตัวกันออกมา และบางครั้งบางวัด พอไม่ชอบใจสมภารวัดก็อาจเกาะกลุ่มไปอยู่วัดอื่น นั่นคือ วัดก็เหมือนเวบบล็อก อุบาสกอุบาสิกาก็เหมือนบล็อกเกอร์ เป็นต้น

นอกจากใช้อธิบายให้คนอื่นฟังแล้ว ว่างๆ ผู้เขียนก็ใช้ชุดคำอธิบายนี้เข้าไปกำหนดความเป็นจริงของสังคมนั้นๆ และเมื่อไม่กิ่วันมานี้ก็มีสำนวนในวงธุรกิจผุดขึ้นมาเพิ่มเติม นั่นคือ “โตแล้วแตก แตกแล้วโต” ซึ่งเค้าอธิบายว่า ในบริษัทหรือองค์กรนั้น มีบางคนมีความสามารถเยี่ยมวิสัยทัศน์สูง แต่ไม่อาจทำงานได้เต็มที่ เนื่องจากติดระบบอาวุโส เค้าจึงระดมทุนให้คนหนุ่มไฟแรงทำนองนี้ตั้งบริษัทลูกขึ้นมา ให้เป็นผู้จัดการบริหารเอง เมื่อบริษัทของเค้าโตขึ้น ก็จะให้โอกาสแก่ใครบางคนแยกตัวไปตั้งบริษัทใหม่อีกครั้งและอีกครั้ง จนกลายเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มทุนขนาดใหญ่มหึมา… อะไรทำนองนี้

สาเหตุที่ความคิดนี้ผุดขึ้นมา เพราะในฐานะสมภารวัด ผู้เขียนต้องแสวงหาแนวทางเพื่อพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรือง… แต่นั่นแหละ “โตแล้วแตก แตกแล้วยุบ” อีกสำนวนหนึ่งในแวดวงการเมืองไทยก็ค่อยผุดขึ้นตามมา นั่นคือ พรรคการเมืองไทยนั้น พอมีผู้แทนมาก ก็มักจะมีความเห็นต่างกันจนไม่อาจรวมกลุ่มกันได้ จึงแยกตัวไปตั้งพรรคใหม่ และไม่นานพรรคใหม่นั้นก็จะถูกยุบไปเพราะไม่มีผู้แทน… วัดก็เหมือนกัน ผู้เขียนพยายามระวังมิให้ในวัดมีมุ้งเล็กที่ใหญ่ขึ้นโดยมีอันตรายแล้วก็ต้องถูกกำจัดออกจากวัดไป มาถึงตอนนี้ คำว่า “มุ้งเล็กมุ้งใหญ่” ก็ผุดขึ้นมา และยังมีคำว่า “ควบรวมกิจการ” ผุดขึ้นมาอีก… ซึ่งสำนวนเหล่านี้ อาจนำมาอธิบายเชืงเปรียบเทียบในสังคมเวบบล็อกได้เหมือนกัน

อันที่จริง ความตั้งใจเติม ต้องการจะเขียนว่าคุณโยมคอนดักเตอร์หรือคุณโยมรอกอดเป็นผู้ชักชวนมา และตั้งชื่อบล็อกผู้เขียนว่า ลานใจธรรมชาติ เพราะอาจเห็นว่าผู้เขียนแสดงเรื่องราวตามใจไม่ค่อยเสแสร้ง… อะไรทำนองนี้ ในโอกาสขึ้นขวบที่สามลานปัญญา แต่ความคิดพาไปนอกเรื่อง หรือความคิดยังวนเวียนอยู่เรื่องที่จะพัฒนาวัด เรื่องราวจึงเป็นดังที่ได้พร่ำบ่นมา

อย่างไรก็ตาม ในโอกาสขึ้นขวบปีที่สามลานปัญญา ผู้เขียนก็ตั้งใจเขียนจนได้อีกหนึ่งบันทึก (…………..)

Oct 21

โต๊ะหินขัดสองชุดได้มาแล้ว แต่ตัวหนังสือใช้สีแดงเขียน ดูไม่ค่อยสวยได้ดังใจ แต่ก็ทันวันงานตามบุญเจตนาของทายกทายิกา อย่างไรก็ตาม แม้คุณค่าเชิงความงามของโต๊ะด้อยไปนิดหนึ่ง แต่คุณค่าเชิงการใช้สอยยังคงเท่าเดิม…

จะลองปรึกษากับร้านสติกเกอร์ดูว่าจะลบสีแล้วใช้สติกเกอร์แทนได้หรือไม่ ?

มุมมองมายังศาลาการเปรียญ

มุมมองไปยังโบสถ์

มุมมองออกไปยังประตูวัดด้านตรงข้ามสถานีดับเพลิง

อิมินา กตปุญญานุภาเวน ด้วยอนุภาพแห่งบุญอันท่านทั้งหลายกระทำแล้วนี้

ยํ ยํ โว อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ สิ่งใดก็ตามที่ท่านทั้งหลายต้องการแล้ว ปรารถนาแล้ว

ตญฺเจ สมฺมาปวตฺติตํ ธมฺมิกํ โหติ หากสิ่งนั้นเป็นไปโดยชอบประกอบด้วยธรรมแล้วไซร้

ขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ จงสำเร็จโดยพลันนั่นเทียว

เจริญพร

Oct 05

วันนี้ เป็นวันออกพรรษา ซึ่งความเป็นไปอื่นๆ ก็คงจะทำนองเดียวกับปีที่ผ่านๆ มา… แต่สำหรับผู้เขียนเป็นปีแรกที่ต้องมาปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าอาวาส นั่นคือ ภารกิจในวัดทั้งหมดอยู่ในความรับผิดชอบของผู้เขียน…

ออกพรรษาแล้วก็ทอดกฐิน นั่นคือสิ่งที่รับรู้กันทั่วไป สำหรับวัดยางทองปีนี้ เป็นกฐินตกค้าง กล่าวคือ ไม่มีเจ้าภาพจองกฐินมาตั้งแต่เริ่มต้น ครั้นใกล้จะออกพรรษา เมื่อสัปดาห์ก่อน ญาติโยมหน้าวัดจึงขอรับเป็นเจ้าภาพ ทำให้ผู้เขียนเริ่มดำเนินการได้ (กฐินต่างจากผ้าป่า กล่าวคือ บุญกฐินนั้น พระสงฆ์ผู้อยู่ในอาวาสนั้น มิอาจไปบอกบุญให้ใครมาช่วยทอดได้ ยกเว้นว่ามีคนจองเป็นเจ้าภาพเรียบร้อยแล้ว ทางวัดจึงจะอาจดำเนินการได้ตามความเหมาะสม…)

แม้ ญาติโยมหน้าวัดได้จองเป็นเจ้าภาพแล้ว ก็ยังมีปมว่าจะให้ใครเป็นประธาน บังเอิญผู้เขียนคุยกับอาจารย์ฌอง และอาจารย์ฌองไปคุยกับคณาจารย์และเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน จึงได้ประธานและเริ่มจัดโครงสร้างเพื่อจะได้พิมพ์ฏีกา… ตอนเช้าของวันนี้ ผู้เขียนก็ไปโรงพิมพ์ ตอนบ่ายทางโรงพิมพ์ก็เอาฏีกาและซองมาให้ ก็ชวนพระ-เณรและพวกเด็กๆ ปั้มตรายางวัด ช่วยกันพับฏีกาใส่ซองจนกระทั้งเสร็จเรียบร้อยในตอนเย็นนี้เอง ซึ่งก็ได้แจกไปบ้างแล้ว…

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นสมาชิกของ GotoKnow.org และ LanPanYa.com จึงได้ขออนุญาตตั้งแต่เริ่มจัดลำดับกรรมการ ว่าจะใส่ชื่อ…

* คณะญาติธรรม GotoKnow.org
* คณะญาติธรรม LanPanYa.com

เป็นกรรมการ ในฏีกาไว้ด้วย… เผื่อใครมีโอกาสจะได้มาเที่ยวและร่วมทำบุญตามความเหมาะสมหรือตามกำลังศรัทธา โดยมีกำหนดการดังต่อไปนี้

วันพฤหัส ที่ ๒๒ ต.ค. ๒๕๕๒ ตรงกับขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๒

* เวลา ๑๙. ๐๐ น. สมโภชน์องค์กฐิน ณ ศาลาการเปรียญวัดยางทอง

วันศุกร์ ที่ ๒๓ ต.ค. ๒๔๔๒ ตรงกับขึ้น ๕ ค่ำ เดือน๑๒

* เวลา ๐๙.๓๐ น. คณะกฐินทั้งหลาย พร้อมกัน ณ ศาลาการเปรียญวัดยางทอง
* เวลา ๑๐.๓๐ น. ถวายพรพระ - ตักบาตร
* เวลา ๑๑.๐๐ น. พระภิกษุและสามเณรกระทำภัตรกิจ ญาติโยมร่วมรับประทานอาหาร
* เวลา ๑๒.๓๐ น. ธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์
* เวลา ๑๓. ๐๐ น. ถวายกฐิน พระสงฆ์อนุโมทนา ญาติโยมกรวดน้ำ เป็นอันเสร็จพิธี

อนึ่ง ผู้สนใจต้องการดูหรือโหลดใบฏีกากฐินสามัคคี (คลิกที่นี้)

Aug 13

เข้าไปอ่านเรื่อง ดีย๊ากยาก ! ของคุณโยม Logos จึงไปค้นดูเรื่องที่เคยเขียนค้างไว้ มีความรู้สึกว่า น่าจะมารวมไว้ที่นี้อีกครั้ง จึงได้คัดลอกมารวมไว้เป็นบันทึกเดียวแน่นอนได้เลยว่า…

๑…

คนไทยทั่วไปหรือคนที่พูดภาษาไทยได้ย่อมรู้ความหมายของคำว่า ดี ชั่ว ผิด ถูก … และย่อมใช้คำเหล่านี้ได้เหมาะสมดังที่พูด (หรือเขียน) กันอยู่… กล่าวคือ ไม่มีปัญหาในการใช้คำเหล่านี้ ซึ่งเด็กๆ ก็พูดได้ใช้เป็น…

แต่คำว่า รู้ความหมาย คำเหล่านี้ (ดี, ชั่ว , ผิด, ถูก) อาจไม่ตรงประเด็นนัก ถ้าจะอ้างว่า พวกเราทุกคนรู้ความหมายของคำเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน แจ่มแจ้ง โดยมิได้แตกต่างกันเลย… หรือเมื่อคนหนึ่งบอกว่า

  • ความดีคือ….

การที่ทุกคนจะยอมรับสิ่งที่คนหนึ่งบอกมานั้นโดยมิได้โต้แย้งเลย ก็มิใช่สิ่งที่จะเป็นไปได้ง่ายๆ…

ยกตัวอย่างว่า คำว่า วงกลม คนทั่วๆ ไป หรือแม้แต่เด็กเล็กๆ ที่ยังไม่เคยเรียนเรขาคณิต ก็อาจเข้าใจและใช้คำนี้ได้ตามความเหมาะสม… แต่ถ้าจะบอกว่า

  • วงกลมคือ….

ถ้าไม่ตอบแบบกำปั้นทุบดินว่า วงกลมคือวงกลม แล้ว การที่จะให้ความหมายของคำว่า วงกลม นับว่าเป็นสิ่งที่ยาก ในเมื่อบอกไปแล้วทุกคนจะยอมรับโดยไม่โต้แย้งทำนองเดียวกับคำว่า ดี เป็นต้น

อนึ่ง สำหรับวงกลม ในวิชาเรขาคณิตอาจให้ความหมายทำนองว่า…

  • วงกลม คือ เส้นโค้งรอบ ซึ่งมีระยะทางเท่ากันหมดจากจุดหนึ่งที่ให้ไว้

คำศัพท์ทางจริยะ กล่าวคือ ดี. ชั่ว. ผิด. ถูก. ก็ทำนองเดียวกับคำว่า วงกลม ซึ่งเราอาจพูดหรือเขียนและใช้คำเหล่านี้ได้อย่างคล่องแคล่วเหมาะสม แต่ใช่ว่าเราจะรู้ความหมายของคำเหล่านี้อย่างแท้จริง หรือเมื่อเราให้ความหมายของคำเหล่านี้แล้ว ก็ใช่ว่าทุกคนจะยอมรับควาหมายนั้นเสมอไป…

ในวิชาจริยศาสตร์ มีสาขาย่อยศึกษาถึงความหมายของคำเหล่านี้ เรียกว่า อภิจริยศาสตร์ (Metaethics) ซึ่งผู้เขียนจะปัดฝุ่นหนังสือนำมาเล่าเป็นตอนๆ ตามแต่โอกาสจะอำนวยให้…

อนึ่ง สาเหตุที่นำเรื่องนี้มาเล่า เพราะรู้สึกว่า ระยะนี้จะมีการหยิบยกเรื่อง ความดี การเป็นคนดี การกระทำดี นักการเมืองที่ดี ฯลฯ มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเรื่อยๆ… ซึ่งผู้เขียนคิดว่า น่าจะเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเพื่อค้นหาความหมายของคำนี้อยู่ก็ ได้…

ดังนั้น จึงขอเชิญผู้สนใจติดตามเรื่องนี้ มาร่วมถกเถียง หรือวิพากษ์วิจารณ์ตามสมควรในตอนต่อๆ ไป…

…………

๒…..

เพื่อเป็นการสะดวกต่อผู้ไม่คุ้นเคยในวิชาจริยศาสตร์ ผู้เขียนจะนำโครงสร้างของวิชาจริยศาสตร์มาตั้งไว้ก่อนเป็นอันดับแรก

จริยศาสตร์ (Ethics) คือ ปรัชญาแขนงหนึ่งที่ศึกษาเรื่องหลักการดำเนินชีวิต คุณค่าของการกระทำ และการตัดสินดีชั่วผิดถูกในการกระทำ เป็นต้น โดยในปัจจุบันจำแนกออกได้ ๒ แขนง กล่าวคือ

จริยศาสตร์เชิงปทัฎฐาน (Normative Ethics) ศึกษาเรื่องเกณฑ์ตัดสินการกระทำทางศีลธรรม มี ๒ แขนง กล่าวคือ

  • จริยศาสตร์ปทัฎฐานทั่วไป (General Normative Ethics) ศึกษาทฤษฎีทั่วไปที่ว่าด้วยเกณฑ์ตัดสิน เช่น ลัทธิคานต์ ประโยชน์นิยม อัตนิยม ฯลฯ และความขัดแ้ย้งของแต่ละแนวคิด เป็นต้น
  • จริยศาสตร์ประยุกต์ (Applied Ethics) นำแนวคิดทั่วไปมาศึกษาเฉพาะเรื่อง เช่น จริยศาาสตร์ตามวิชาชีพเรียกว่าจรรยาบรรณ ซึ่งอาจแยกวิชาีชีพไปเป็นของหมอหรือครูเป็นต้น… ตลอดถึงข้อถกเถียงในการทำแท้งหรือสิทธิในการตายเป็นต้น

จริยศาสตร์เชิงอปทัฎฐาน (Nonnormative Ethics) มิได้เน้นการศึกษาเพื่อวางเกณฑ์การตัดสินการกระทำดังเช่นจริยศาสตร์เชิงปทัฎฐานข้างต้น มี ๒ แขนง กล่าวคือ

  • จริยศาสตร์เชิงบรรยาย (Descriptive Ethics) ศึ่กษาปรากฎการณ์ทางศีลธรรมตามคำบอกเล่าในสังคม ตามช่วงเวลา หรือเฉพาะศาสนาเป็นต้น เช่น ชนเผ่าสปาตาร์โบราณของพวกกรีกยกย่องการลักขโมยว่าเป็นสิ่งที่ดี หรือชนชาวธิเบตนิยมครอบครัวแบบเมียเดียวหลายผัว เป็นต้น
  • อภิจริยศาสตร์ (Metaethics) ศึกษาถึงความหมายของคำศัพท์ทางจริยะ เช่น ดี ชั่ว ผิด ถูก เป็นต้น

แม้จะแยกประเด็นออกไปก็จริง แต่ในการนำเสนอแต่ละอย่างก็มักมีการเชื่อมโยงถึงกันเสมอ เช่น เมื่อศึกษาถึงหลักศีลธรรมของชาวเยอรมันก็จัดเป็นจริยศาสตร์เชิงบรรยาย ด้วยเหตุที่คานต์เป็นชาวเยอรมัน ก็อาจศึกษาว่าลัทธิคานต์เข้าไปมีอิทธิพลอย่างไรบ้าง….

หรือแม้จะศึกษาเฉพาะหลักศีลธรรมของพระพุทธศาสนา แต่เมื่อพิจารณาความดีในแง่พระพุทธศาสนา ก็อาจต้องมีประเด็นอภิจริยศาสตร์เข้าไปเกี่ยวข้อง เป็นต้น

อนึ่ง เฉพาะอภิจริยศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องราวในบันทึกชุดนี้ ในปัจจุบันอาจจำแนกออกเป็นกลุ่มความคิดเห็นได้ดังต่อไปนี้..

  • ปชานนิยม (Cognitivism) คือ แนวคิดที่เชื่อว่า คำศัพท์ทางจริยะนั้นเป็นสิ่งที่สามารถบ่งชี้้ความหมายได้ หรือเป็นไปได้ที่เราจะรู้ความหมาย… แนวคิดนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สัจนิยม (Realism) ซึ่งเป็นแนวคิดที่เชื่อว่า ความหมายของคำทางจริยะนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง
  • อปชานนิยม (Noncognitivism) คือ แนวคิดที่เชื่อว่า คำศัพท์ทางจริยะนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถบ่งชี้ความหมายได้ หรือเป็นไปไม่ได้ที่เราจะรู้ความหมาย…. แนวคิดนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า คัดค้านสัจนิยม (Antirealism) ซึ่งเป็นแนวคิดที่เชื่อว่า ความหมายของคำทางจริยะนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง

และแต่ละกลุ่มก็มีแนวคิดแยกแย่อยออกไปอีกหลายกลุ่ม…

…………

๓…….

ปชานนิยม (Cognitivism) คือ แนวคิดที่เชื่อว่า คำศัพท์ทางจริยะนั้นเป็นสิ่งที่สามารถบ่งชี้้ความหมายได้ หรือเป็นไปได้ที่เราจะรู้ความหมาย ซึ่งจำแนกแนวคิดออกไปได้อีก กล่าวคือ

  • ธรรมชาตินิยม (Naturalism) แนวคิดที่เชื่อว่า คำหรือข้อความทางคุณค่า (เช่น ดี) อาจระบุหรือให้ความหมายได้โดยคำหรือข้อความทางข้อเท็จจริง…
  • อธรรมชาตินิยม (Nonnaturalism) แนวคิดที่คัดค้านธรรมชาตินิยม กล่าวคือ คำหรือข้อความทางคุณค่า (เช่น ดี) ไม่อาจระบุหรือให้ความหมายได้โดยคำหรือข้อความทางข้อเท็จจริง… แต่อาจรับรู้ความหมายโดยคุณสมบัติที่ไม่เป็นธรรมชาติ…

คำว่า ธรรมชาติ ในที่นี้ หมายถึง ข้อมูลที่เรารับรู้โดยผ่านประสาทสัมผัส ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า ข้อเท็จจริง (fact)… ส่วน อธรรมชาติ ก็หมายถึงสิ่งที่มิใช่ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเช่นนั้น

ตรงข้ามกับข้อเท็จจริงก็คือ คุณค่า (value) ซึ่งได้มาจากการประเมินค่าหรือเข้าไปกำหนดคุณค่าของข้อเท็จจริงอีกครั้ง เช่น กรุงเทพเป็นเมืองน่าอาศัยอยูู่ …. คำว่า น่าอาศัยอยู่ จัดเป็น คุณค่า เพราะเราประเมินค่า ข้อเท็จจริง (กรุงเทพฯเป็นเมือง)

คำศัพท์ทางจริยะทั้งหมดจัดเป็นคุณค่า มิใช่่ข้อเท็จจริง เช่น

  • ท่านนายกเป็นคนดี
  • ท่านประธานเป็นคนเลว
  • ท่านหัวหน้าเป็นคนชั่ว

ข้อความว่า “ท่านนายกเป็นคน”  “ท่านประธานเป็นคน “  และ “ท่านหัวหน้าเป็นคน” …. เรียกว่า ข้อเท็จจริง …ส่วนคำศัพท์ว่า ดี เลว และ ชั่ว … เรียกว่า คุณค่า

แนวคิดธรรมชาตินิยมถือว่า คำศัพท์ทางจริยะ คือ ดี เลว ชั่ว ซึ่งเป็นคุณค่าเหล่านี้ อาจระบุ ให้ความหมาย หรืออาจรับรู้ได้ด้วย คำศัพท์หรือข้อความที่เป็นข้อเท็จจริงอื่นๆ

(อนึ่ง อภิจริยศาสตร์ เรียกอีกชื่อว่า จริยศาสตร์วิเคราะห์ ซึ่งจัดเป็นปรัชญาวิเคราะห์แขนงหนึ่ง มีความละเอียดถี่ยิบด้วยหลักตรรกศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนจะค่อยๆ เล่าตามที่พอจะคาดเดาได้เท่านั้น)

ยกตัวอย่างว่า นส.โสรยาสอบวิชาภาษาไทยได้เกรด D ในภาคการศึกษาที่แล้ว… ซึ่งเรื่องนี้ทำให้คุณแม่ไม่ปลื้ม จึงมีข้อต่อรองกับลูกสาวว่า ภาคการศึกษานี้ ถ้าหากว่าได้เกรด ต่ำกว่า B ก็จะยึดโทรศัพท์มือถือที่ใช้อยู่… นี้คือปัญหาของน้องโสรยา

โสรยาวิตกกังวลเรื่องนี้มาก จึงคิดที่จะลอกวิชาภาษาไทย เพื่อจะได้เกรด B ไม่ต้องถูกยึดโทรศัพท์มือถือตามที่คุณแม่คาดคั้น… เธอกำลังคิดเรื่องนี้อยู่

  • โสรยาต้องการลอกข้อสอบภาษาไทย… จัดเป็น ข้อเท็จจริง
  • โสรยาควรจะลอกข้อสอบภาษาไทยหรือไม่… จัดเป็น คุณค่า

ซึ่งจากข้อความเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและคุณค่าข้างต้น อาจมาจัดวางเป็นประพจน์ ได้ว่า

  • โสรยามีความจำเป็นต้องได้เกรดภาษาไทย B …. (1)
  • โสรยาสามารถได้เกรดภาษาไทย B ด้วยการลอกข้อสอบ …. (2)
  • ดังนั้น โสรยาควรจะลอกข้อสอบภาษาไทย ….. (3)

เมื่อพิจารณาประพจน์ทั้งสามนี้ จะเห็นได้ว่า (1) จัดเป็น ข้อเท็จจริง …. ขณะที่ (3) จัดเป็น คุณค่า

โสรยาจึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษานายเท่งศักดิ์ซึ่งเป็นเพื่อนชาย เขาแนะนำว่า ไม่ควรลอกข้อสอบ เพราะการลอกข้อสอบเป็นการทำลายหลักคุณธรรมในทางวิชาการ… ซึ่งอาจจัดวางเป็นประพจน์ ได้ว่า

  • เท่งศักดิ์ต้องการให้โสรยาอดกลั้นต่อการลอกข้อสอบภาษาไทย… (1ท)
  • การลอกข้อสอบเป็นการทำลายหลักคุณธรรมในทางวิชาการ…….. (2ท)
  • ดังนั้น โสรยาไม่ควรลอกข้อสอบภาษาไทย……………………….. (3ท)

เมื่อพิจารณาประพจน์ทั้งสามนี้ จะเห็นได้ว่า (1ท) จัดเป็น ข้อเท็จจริง… ขณะที่ (3ท) จัดเป็น คุณค่า
ธรรมชาตินิยม ถือว่า คำศัพท์ทางจริยะ ซึ่งเป็นคุณค่า เช่น ดี ชั่ว เลว ฯลฯ อาจกำหนดรู้ได้ด้วยข้อเท็จจริง

และจากตัวอย่างที่ยกมา ประเด็นของการค้นหาความหมายของคำว่า ดี เริ่มต้นที่ความแตกต่างระหว่างข้อเท็จจริงกับคุณค่า ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าต่อไป

………….

๔………

ธรรมชาตินิยม (Naturalism) แนวคิดที่เชื่อว่า คำหรือข้อความทางคุณค่า (เช่น ดี) อาจระบุหรือให้ความหมายได้โดยคำหรือข้อความทางข้อเท็จจริง

ข้อความข้างบนนี้ อาจเข้าใจยากสำหรับผู้ไม่คุ้นเคยเรื่องทำนองนี้ ดังนั้น ลองมาดูตัวอย่างเพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้น…

  • นายไกวัลย์เป็นคนดีเพราะเขาตื่นเช้าตักบาตรทุกวัน

ตามประพจน์ข้างต้น จะเห็นได้ว่า คำว่า ดี (คุณค่า) ถูกให้ความหมายด้วยข้อความว่า ตื่นเช้าใส่บาตรทุกวัน (ข้อเท็จจริง)

  • นายฉัตรวรเป็นคนเลวเพราะเขาเล่นการพนัน

ตามประพจน์ข้างต้น จะเห็นได้ว่า คำว่า เลว (คุณค่า) ถูกให้ความหมายด้วยข้อความว่า เล่นการพนัน (ข้อเท็จจริง)

  • คุณนุชมาลเป็นภรรยาที่น่ีายกย่องเพราะก่อนนอนกราบสามีทุกคืน

ตามประพจน์ข้างต้น จะเห็นได้ว่า คำว่าี น่ายกย่อง (คุณค่า) ถูกให้ความหมายด้วยข้อความว่า ก่อนนอนกราบสามีทุกคืน (ข้อเท็จจริง)

  • นายธิปัตย์กับนางศรีพิศเป็นพวกคนชั่วเพราะไปร่วมประท้วงกับกลุ่มพันธมิตร

ตามประพจน์ข้างต้น จะเห็นได้ว่า คำว่า ชั่ว (คุณค่า) ถูกให้ความหมายด้วยข้อความว่า ไปร่วมประท้วงกับกลุ่มพันธมิตร (ข้อเท็จจริง)

จะเห็นได้ว่า ดี เลว น่ายกย่อง และ ชั่ว จัด เป็นคุณค่า ซึ่งถูกให้ความหมายด้วยข้อเท็จจริงที่เราสามารถสังเกตได้ตามธรรมชาติ…. ถ้าใครเห็นด้วยกับการอธิบายทำนองนี้ แสดงว่าอยู่ในกลุ่มธรรมชาตินิยม

แต่ถ้าจะถามว่า ท่านเชื่อหรือไม่ว่า…

  • คนที่ตื่นเช้าใส่บาตรทุกวันเป็นคนดี !
  • คนเล่นการพนันเป็นคนเลว !
  • ภรรยาที่กราบสามีก่อนนอนทุกคืนเป็นผู้น่ายกย่อง !
  • พวกที่ไปร่วมประท้วงกับกลุ่มพันธมิตรเป็นคนชั่ว !

ผู้เขียนคาดหมายว่า คงจะมีหลายท่านที่ลังเลสงสัยว่า ผู้ที่มีพฤติกรรมตามตัวอย่างที่ยกมาจะเป็นคนดี เลว น่ายกย่อง หรือชั่ว ตามการให้ความหมายข้างต้น…
บางท่านอาจให้ความเห็นว่า การใส่บาตรตอนเช้าทุกวันอาจดีสำหรับชาวพุทธที่ศรัทธาเรื่องนี้เท่านั้น ศาสนิกชนของศาสนาอื่นๆ อาจเฉยๆ ไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ หรืออาจมองว่าเป็นกลุ่มคนโง่ก็ได้….

ได้ยินมาว่าคนอินเดียโบราณถือว่า การพนันคือการแข่งขันที่ยุติธรรมที่สุด… บางคนก็เล่นเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย… เล่นในยามว่างคลายเครียดเพื่อสนุกสนานในบรรดาญาติมิตรหรือเพื่อนฝูง… อีกอย่างการเล่นการพนันก็มิได้ระบุว่าเล่นขนาดไหน… ฉะนั้น การที่จะยอมรับว่าคนเล่นการพนันเป็นคนเลว จึงน่าจะพูดเกินจริงไปสักหน่อย…

ธรรมเนียมคร่ำครึว่าภรรยากราบสามี ก่อนนอนเป็นผู้น่ายกย่อง… เดียวนี้ภรรยาต้องช่วยเหลือสามีและครอบครัวทำมาหากิน จะมัวแต่เฝ้าบ้านทั้งวันแล้วคอยแต่เพียงกราบสามีก่อนนอน จะใช้ได้หรือน่ายกย่องที่ไหน… ประเด็นนี้ก็ไม่เห็นด้วย

เพื่อนๆ ของเราที่ไปร่วมประท้วงกับกลุ่มพันธมิตรก็มีหลายคน แต่รู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้เป็นคนชั่วนี้นา… ฟังว่าบางคนมาเรียนหนังสือกรุงเทพฯ ยามว่างพรรคพวกมาชวนก็ไปร่วมประท้วง ไม่ว่าฝ่ายไหนไปด้วยทั้งนั้น เพราะข้าวก็ได้กิน ดนตรีก็มีให้ฟัง แถมบางครั้งมีเงินมาแจกอีก พวกนี้น่าจะจัดเป็นกลุ่มประท้วงเพื่อการศึกษามากกว่าที่จะถูกตราหน้าว่าเป็น คนชั่ว… ข้อนี้ก็ไม่เห็นด้วย

นั่นคือ คำศัพท์บ่งชี้คุณค่าทางจริยะ เช่น ดี เลว น่ายกย่อง หรือ ชั่ว เป็นเพียงความเห็นของใครบางคนเท่านั้น มิใช่ทุกคน ดังข้อวิจารณ์ที่ผู้เขียนนำมาเปรียบเปรยให้พอมองเห็นได้

ตามนัยข้างต้น อาจสรุปว่า การประเมินค่าพฤติกรรมของคน อาจจำแนกได้ ๒ นัย กล่าวคือ

  • เห็นด้วย ยอมรับ ชอบใจ…. จัดเป็นเชิงบวก
  • คัดค้าน ต่อต้าน รังเกียจ… จัดเป็นเชิงลบ

เมื่อถือเอาตามนัยนี้ ก็อาจสรุปได้ว่า…

  • คุณค่าเชิงบวก (่ดี. น่ายกย่อง.) ก็คือ สิ่งที่ฉันหรือใครๆ เห็นด้วย ยอมรับ หรือชอบใจ
  • คุณค่าเชิงลบ (ชั่ว. เลว.) ก็คือ สิ่งที่ฉันหรือใครๆ คัดค้าน ต่อต้าน หรือรังเกียจ

นั่นคือ พฤติกรรมของคนตามธรรมชาติที่เราสังเกตได้นั้น เราอาจประเมินค่าว่าดี (ถ้าชอบใจ) หรือเลว (ถ้าไม่ชอบใจ)… ซึ่งขึ้นอยู่กับความเห็นของคนเท่านั้นเอง และนี้คือ ข้อบกพร่องของธรรมชาตินิยม

แนวคิดเบื้องต้นของธรรมชาตินิยมเป็นไปทำนองนี้ และยังมีความเห็นแยกย่อยออกไปอีก ซึ่งผู้เขียนค่อยนำมาเล่าต่อไป…

…………..

๕………….

ธรรมชาตินิยม ซึ่งยึดถือว่า ดีชั่ว หรือผิดถูก อาจสังเกตได้จากข้อเท็จจริงตามธรรมชาติ จำแนกได้เป็น ๒ กลุ่ม กล่าวคือ…

  • ธรรมชาตินิยมเชิงอัตวิสัย ( Subjective Naturalism ) มีความเห็นว่า ความจริงของคำศัพท์หรือข้อความทางจริยะ (เช่น ดี) เกิดขึ้นจากการตัดสินใจส่วนตัวหรือของสังคม
  • ธรรมชาตินิยมเชิงปรวิสัย ( Objective Naturalism ) มีความเห็นว่า ความจริงของคำศัพท์หรือข้อความทางจริยะ (เช่น ดี) ไม่ขึ้นอยู่กับ… หรือเป็นอิสระจากการตัดสินใจส่วนตัวหรือหรือของสังคม

ธรรมชาตินิยมเชิงอัตวิสัย นี้ อาจจำแนกย่อยออกไปเป็นส่วนตัวหรือ เชิงปัจเจกชน ( Individual ) และส่วนรวมหรือ เชิงสังคม ( Social ) อีกลำดับหนึ่ง…

…เชิงปัจเจกชน ก็คือ การตัดสินใจว่าดีชั่วหรือถูกผิดนั้น ขึ้นอยู่กับการประิเมินค่าของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น เช่น คนที่มีความเห็นว่าการขโมยเป็นสิ่งที่่ถูกต้อง เขาจึงขโมย เพราะเขาคิดว่าการทำอย่างนี้เป็นสิ่งที่ดีสำหรับเขาแล้ว… หรือนักการเมืองบางคนคิดว่าการซื้อเสียงเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเขา เป็นต้น

…เชิงสังคม ก็คือ การตัดสินใจว่าดีชั่วหรือผิดถูกนั้น ขึ้นอยู่กับการประเมินค่าของคนในสังคมนั้นๆ เช่น ชาวธิเบตถือว่าครอบครัวแบบเมียเดียวหลายผัวเป็นสิ่งที่ดี… หรือคนที่ชำนาญในการลักขโมยได้รับการนิยมยกย่องในสังคมของชาวสปาตาร์โบราณ เป็นต้น

ตามความเห็นของกลุ่มนี้ อาจสรุปสั้นๆว่า ถ้าใครว่าดีสิ่งนั้นก็ดี ถ้าสังคมใดว่าดีสิ่งนั้นก็ดี หรือ ถ้าใครว่าเลวสิ่งนั้นก็เลว ถ้าสังคมใดว่าชั่วสิ่งนั้นก็ชั่ว … ความเห็นทำนองนี้ บ่งชี้ว่าดีชั่วหรือผิดถูก ขึ้นอยู่กับการให้ความหมายและตัดสินใจของใครบางคนหรือของสังคมเท่านั้น และอาจขัดแย้งกันได้… นั้นคือ กลุ่มนี้จะไม่ยอมรับความเป็นทั่วไป (หรือสากล) ของการให้ความหมายคำศัพท์หรือข้อความทางจริยะ…

ขณะที่ ธรรมชาตินิยมเชิงปรวิสัย ไม่ยอมรับการประเมินค่า ให้ความหมาย และตัดสินทำนองนี้

ธรรมชาตินิยมเชิงปรวิสัย เชื่อว่า ความจริงของคำศัพท์หรือข้อความทางจริยะ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเห็นของใครๆ หรือสังคม กล่าวคือ จะต้องเป็นความจริงที่อิสระจากใครๆ หรือสังคม… ปัญหาก็คือ ใครจะยืนยันได้ว่า ข้อเท็จจริงตามธรรมชาติที่บ่งชี้ดีชั่วผิดถูกที่มีลักษณะทั่วไปเป็นสากลไม่ ขึ้นอยู่กับความเห็นใดๆ ทำนองนี้

ทฤษฎีผู้สังเกตในอุดมคติ (The Ideal-Observer Theory ) บอกว่า จะต้องมีใครสังคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้รู้และเข้าใจสิ่งนี้ และสามารถยืนยันได้ว่าสิ่งใดดีชั่วหรือผิดถูก…ว่าโดยย่อ แนวคิดของทฤษฎีนี้ ต้องการให้การประเมินค่าดีชั่วเป็นอิสระจากใครๆ หรือไม่ขึ้นอยู่กับสังคม กล่าวคือต้องการให้เป็นสากลทั่วไปสำหรับทุกๆ คน… น่าจะทำนองนี้

ผู้เขียนไม่ค่อยเข้าใจและคุ้นเคยกับทฤษฎีนี้สักเท่าไหร่… และเห็นว่า ถ้าจะนำมาเล่าก็จะนอกเรื่องออกไปไกลแน่ ดังนั้น ผู้สนใจประเด็นนี้ ไปอ่านเพิ่มเติมที่…

สรุปได้ว่า ธรรมชาตินิยมถือว่า ดี อาจยืนยันได้โดยข้อเท็จจริงที่เราสังเกตได้ตามธรรมชาติ ซึ่งบางพวกก็บอกว่าขึ้นอยู่กับการยืนยันส่วนตัวของใครก็ได้ หรือของสังคม ขณะที่บางพวกบอกว่าต้องมีผู้สังเกตในอุดมคติซึ่งจะระบุข้อเท็จจริงตาม ธรรมชาติเพื่อมายืนยันสิ่งที่ ดี ได้

ตรงข้ามกับ ธรรมชาตินิยม ก็คือ อธรรมชาตินิยม ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าต่อไป…

…………

หมายเหตุ : เขียนค้างไว้แค่นี้ และคิดว่าน่าจะไม่เขียนต่อ  ยกเว้นถ้าอนาคตกลับไปเป็นอาจารย์สอน และจำเป็นต้ิิองสอนเรื่องนี้ (………….)

Jul 17

บ่อยางใหม่ที่วัดก็สร้างเสร็จและได้ฉลองมา ๒-๓ เดือนแล้ว แต่น้ำก็ยังไม่ได้ใช้ จึงใคร่ปรึกษาท่านผู้รู้หรือผู้มีประสบการณ์ด้านนี้ เผื่อจะนำมาแก้ปัญหาได้…

ในการสร้างบ่อใหม่นั้น ทางสโมสรโรตารีเป็นเจ้าภาพ โดยขุดเป็นบ่อเหลี่ยม แล้วมีบ่อกลมอยู่ภายในลึกลงไปอีกสองปล้อง แล้วใช้ท่อพีวีซีฝังติดกับผนังบ่อ ส่วนปลายผักบัวนั้น ยื่นลงไปในบ่อกลม ต่อท่อมาด้านข้างบ่อเพื่อใช้เครื่องสูบน้ำชนิดหอยโข่งดูดน้ำขึ้นมา….

กำลังสูบน้ำออกเพื่อเทคอนกรีตพื้นด้านล่าง

ฝังท่อพีวีซีมาโผล่ที่ข้างบ่อ เพื่อจะสูบน้ำกับปั๊มหอยโข่ง

ปัญหาก็คือ ตอนที่ช่างทดลองใช้เครื่องสูบน้ำนั้น น้ำขึ้นมานิดหน่อยแล้วก็หยุด ผลสุดท้ายช่างก็บอกว่าเครื่องกำลังน้อย จะมาเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ แต่หลังจากเสร็จวันงานมาหลายเดือนแล้ว ก็คงค้างอยู่อย่างนี้…

สภาพภายในบ่อวันนี้ ซึ่งน้ำกำลังจะเสีย

หลวงพี่ที่วัด สันนิษฐานว่า หัวบัวที่หย่อนไว้ในบ่อกลมด้านล่าง อาจถูกทรายฝังอยู่ ดังนั้น เมื่อวานจึงลงไปตรวจดู ปรากฎว่าหัวบัวอยู่กลางน้ำ มิใช่ปัญหาจุดนี้… ลองเอาปั๊มหอยโข่งเก่าที่บ่อบาดาลในวัดมาลองดูก็สูบไม่ขึ้น และลองนำปั๊มตัวใหม่ไปใช้กับบ่อบาดาลก็ใช้ได้ปกติ นั่นคือ มิใช่ปัญหาที่ปั๊ม…

ลองค้นดูในเน็ตอ่านนิดหน่อย เค้าบอกว่า บ่อลึก ๑๐ เมตรขึ้นไป ปั๊มหอยโข่งจะดูดไม่ขึ้น เมื่อมาพิจารณาบ่อนี้ ถ้าวัดระยะโดยลึก ไม่ถึง ๑๐ เมตร และถ้าวัดระยะทางของหัวบัวมาถึงปั๊มก็น่าจะไม่เกิน ๑๐ เมตร…

อาตมาอยู่วัดมานาน สภาพวัดก็เป็นอย่างนี้แหละ ตอนที่ญาติโยมศรัทธาจะสร้างโน้นสร้างนี้ให้นั้น มักจะมีคำขอ เช่น ต้นไม้โน้นไม่เหมาะสม น่าจะตัดออก น่าจะถมดินจุดนี้ สีนี้ไม่สวย ควรจะเปลี่ยนเป็นโน้น… แต่เมื่อพ้นจากนั้นก็ทิ้งไป ติดต่อไปก็มักจะมีข้ออ้างผลัดวันเสมอ ทางวัดจึงมักจะต้องดำเนินการเองตามความเหมาะสม… ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน น้ำในบ่อไม่ได้ถ่ายเทหลายเดือนแล้ว ตอนนี้น้ำขุ่นเขียว เริ่มเสีย จึงรอไม่ได้…

ผู้เขียนไม่มีประสบการณ์เรื่องนี้เลย ใคร่จะถามผู้รู้หรือผู้ที่มีประสบการณ์ว่า จะแก้ัปัญหาอย่างไร หรือถ้าจะซื้อปั๊มใหม่ จะใช้ปั๊มชนิดและขนาดใด เพื่อจะได้ดำเนินการต่อไป…

  • สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ
  • การให้ความรู้เป็นทาน ชำนะการให้ทั้งปวง
Jul 16

ตั้งแต่ผู้เขียนเป็นบล็อกเกอร์มา ๓-๔ ปี ได้เจอตัวจริงเสียงจริงของเพื่อนบล็อกเกอร์ด้วยกัน (น่าจะ) ไม่ถึง ๑๐ ท่าน บางท่านที่เคยมาถึงวัดนั้น ผู้เขียนจะเป็นผู้พามา หรือไม่ก็ติดต่อมาเพื่อร่วมกิจกรรมบางอย่าง… วันนี้ นับว่าเป็นโอกาสดี คุณหมอจอมป่วน มาเยี่ยมถึงวัดทั้งภาคเช้าและภาคค่ำ ทั้งนับได้ว่า คุณหมอจอมป่วนเป็นท่านแรกที่ตั้งใจมาเยี่ยมโดยเฉพาะ…

เมื่อคืนได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากโยมคุณหมอว่า พรุ่งนี้เช้าจะเข้ามาเยี่ยมประมาณ ๐๗.๓๐ น. ผู้เขียนก็ค่อนข้างจะตื่นเต้นตามประสา… เช้าตรู่ของวันนี้ จึงใช้ให้โยมปั่นสามล้อไปซื้อไข่ครอบเพื่อไว้เป็นของฝาก และจงใจเปิดธรรมบรรยายก้องทั่ววัดไว้ต้อนรับ (ปกติจะปิดก่อน ๐๗.๓๐ น.) และคุณหมอก็ถึงมาตามเวลาที่ประมาณไว้…

คุณหมอมารถตู้คันโต พร้อมหนุ่มติดตามอีกสองท่าน ก็ถ่ายรูปแล้วสนทนากันนิดหน่อย จากนั้นผู้เขียนก็พาโยมคุณหมอเดินชมวัด ก่อนกลับคุณหมอก็ได้ถวายซองทำบุญนิดหน่อย โดยบอกว่าช่วยค่าเครื่องเสียงวัดที่กำลังปรับปรุงอยู่ และถามว่าจะมีการสอนธรรมเวลาใด ผู้เขียนก็บอกว่า ประมาณหนึ่งทุ่ม ญาติโยมก็จะมาทำวัตรสวดมนต์ ต่อจากนั้นประมาณทุ่มครึ่งก็จะมีการแสดงธรรมทุกคืน คุณหมอว่ายังไม่กลับ จะหาโอกาสมาฟังเทศน์…

และคืนนี้ คุณหมอก็มาอีกจริงๆ คราวนี้ มีผู้ติดตามเป็นหนุ่มสาวเกือบสิบท่าน… แต่เสียดาย เครื่องเสียงไม่กินเดิมพัน ทำให้การแสดงธรรม ไม่ได้ดังใจ (ขายหน้าจริงๆ 5 5 5) เพิ่งซื้อลำโพงใหม่คู่หนึ่ง ซื้อเครื่องแอมป์ใหม่ต่อพ่วงกับเครื่องเก่า และซื้อไมโครโฟนพร้อมขาตั้งอีกหนึ่งชุด หมดไปหมื่นกว่าบาทแล้ว… ปัญหาก็คือ คนใช้ยังใช้ไม่เป็น บ่นกับคุณหมอว่า เรื่องที่รู้มีเยอะแยะ แต่ไม่ได้ใช้ ตอนนี้ต้องมาใช้สิ่งที่ไม่รู้ไม่มีประสบการณ์เลย (เซ็งจริงๆ 5 5 5)

หลังจากเสร็จพิธีกรรม ญาติโยมประจำคืนกลับแล้ว ก็นั่งคุยกับโยมคุณหมอและคณะ เข้าใจแล้วว่า คุณหมอจอมป่วน เพราะ มาป่วน ! จริงๆ กล่าวคือ หนุ่มสาวที่มาด้วยนั้น คุณหมอบอกว่าพามาให้หลวงพี่ดูดวงให้… เอาละซิ ! ผู้เขียนก็ไม่ได้ดูนานแล้ว และตำราเครื่องมือก็อยู่ที่กุฏิด้านใน (รกมาก อาจหาไม่เจอภายในหนึ่งชั่วโมง) สมองวิ่งปูดดดดดดดดดดด จึงบอกว่าไปเปิดเครื่องคอมฯ แล้วให้ http://www.payakorn.com/ คำนวนแล้วทำนายให้ ต่อจากนั้นก็ปริ้นซ์ไปเป็นที่ระลึก ก็ได้ไปคนละ ๒ แผ่น แผ่นหนึ่งเป็นการทำนายดวงกำเนิด อีกแผ่นเป็นดวงจร ก็ผ่านพ้นไป ไม่เสียชื่อโยมคุณหมอที่พามาเที่ยว…

ก็สนทนากันจิปาถะ เรื่องโน้นบ้างนี้บ้าง… หนุ่มๆ สาวๆ ใคร่ที่จะถามเรื่องคู่ครอง ผู้เขียนก็ไม่ชำนาญด้วย เพราะไม่มีศิลปะในการดู (คือดูไม่เป็น) เป็นแต่ศาสตร์ นั่นคือ อธิบายดวงดาวเรื่องราววิชาโหรได้พอประมาณเท่านั้น… จนได้เวลาสามทุ่มกว่าๆ คุณหมอกับคณะก็ลากลับ ผู้เขียนก็บอกว่า คืนไหนมีโอกาสก็มาเที่ยวอีก เพราะยังอีกหลายวันกว่าจะกลับ…

ผู้เขียนไม่ได้ถ่ายรูปไว้ เพราะกล้องอยู่ที่กุฏิด้านใน แต่คุณหมอจอมป่วนถ่ายไว้หลายรูป คิดว่าคงจะนำมาแสดงให้ชาวลานได้ชมกันบ้างสักภาพสองภาพ…

Jun 14

พอดีคุณโยมจอมป่วนชวนไปดู คลิกที่นี้ ให้ความเห็นแล้วก็รู้สึกว่าพอใช้ได้ (เยงออ ยอเอง 5 5 5…) เพิ่งเห็นว่าบันทึกนั้นเ่ก่าแล้ว จึงคัดลอกความเห็นมาตั้งเป็นบันทึกใหม่…

…………

  • กมฺมํ สตฺเต วิภชฺชติ กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลาย

นักเรียนนักศึกษาตามสถานศึกษา… พระ-เณรในวัด… คนงานกรรมกรในสถานที่ทำงาน… หรือแม้แต่บรรดาบล็อกเกอร์ทั้งหลายในเวบบล็อกต่างๆ… เมื่อแรกมานั้น เกือบจะไม่ค่อยรู้จักคุ้นเคยกันมาก่อน แต่พออยู่ไปสักระยะหนึ่ง ก็ค่อยๆ จับกลุ่มเป็นกลุ่มเป็นแก๊งค์ นั่นก็เพราะกรรม…

  • ยํ เว เสวติ ตาทิโส คบคนเช่นใด ก็เป็นคนเช่นนั้นแล

ในแต่ละกลุ่มแก๊งค์เหล่านั้น มักจะมีพื้นฐานบางอย่างหรือหลายๆ อย่างๆ เหมือนกันในเบื้องต้น แต่พอนานๆ ไป ก็มักจะเหมือนๆ กันโดยภาพรวม…

ตอนแรกบวช มีโยมท่านหนึ่ง ชอบช่วยเหลือเพื่อนบ้าน เมื่อก่อนก็ดื่มเหล้า เวลามีงานก็มักจะไปช่วยหุงข้าวอยู่หน้าเตาไฟ… ต่อมา ขัดลูกไม่ได้ (ลูกบ่นว่า ถ้าพ่อไม่เลิกเหล้าจะบวชชีไม่สึก 5 5 5) จึงเลิกเหล้าเด็ดขาดเพราะรักลูก แต่มีปัญหาว่า เวลามาช่วยงานจะไปอยู่ที่หน้าโรงเตาหุงข้าวไม่ได้ จึงต้องมาอยู่หน้าที่พระ ได้ค่อยๆ เรียนบทอารธนาบทสวดต่างๆ ฝึกหัดเป็นพิธีกรงานวัด กลายเป็นคนธัมมธัมโมไปในที่สุด…

สรุปว่า หมวดหมู่ของคนเกิดจากกรรม และเมื่อเปลี่ยนกรรม หมวดหมู่ของคนนั้นๆ จะค่อยๆ เปลื่ยนไป…

Jun 05

ปี ๒๕๑๘ ครอบครัวผู้เขียนก็ได้ย้ายมาอยู่ในตัวเมืองสงขลา สาเหตุก็คือ ปีนั้นน้าท่วมใหญ่ หมู เป็ด และไก่ จะนำมาไว้นอกชานบนเรือนก็ไม่สะดวก ดังนั้น จึงจับใส่รถบรรทุกเพื่อจะพาไปฝากไว้ที่กระดังงาบ้านก๋ง แต่เหตุบังเอิญว่าคนรถเข้าใจผิดว่าจะนำมาขายในตัวเมืองสงขลา จึงพาเลยเข้าไปในตัวเมืองแล้วทิ้งไว้แถวคิวรถ โยมพ่อจึงตามหมูเป็ดไก่มา ขายก็ไม่มีใครรับซื้อเพราะน้ำท่วม จึงนำไปฝากไว้บริเวณหลังบ้านของญาติห่างๆ แถว วังเขียว … ครั้งแรกนั้นโยมพ่อบ้างโยมแม่บ้างผลัดเปลี่ยนกันมาดูแล และต่อมาครอบครัวจึงค่อยขยับขยายมาอยู่ในตัวเมือง…

แม้จะฝากหมูเป็ดและไก่ไว้แถววังเขียว แต่ครอบครัวย้ายมาครั้งแรกก็มาอยู่ที่ ซอย๑๐.วชิรา เป็นเรือนไม้ยกพื้น บ้านหลังนั้นโยมพ่อซื้อไว้ แต่ที่ดินนั้นเป็นของอีกเจ้าหนึ่ง เค้าไม่ขาย จึงต้องเช่าที่ดินหรือย้าย… อยู่ซอย ๑๐ วชิรา ไม่กิ่เดือนทางบ้านก็ตัดสินใจรื้อบ้านไม้หลังนั้นมาปลูกใหม่แถว วังขาว เป็นดินเปล่าสองห้องของน้าสาวซึ่งเป็นน้องของแม่ โดยเรือนนั้นปลูกอยู่ด้านหน้าส่วนด้านหลังจะเป็นเล้าเป็ดไก่และคอกหมู… บริเวณที่เรียกว่าวังขาวสมัยนั้น มีบ้านคนอยู่ไม่ถึงสิบหลังคาเรือน ยังเป็นพื้นที่ลุ่มในบางจุดก็มีน้ำท่วมขังในฤดูฝน…

เมื่อแรกมาอยู่ ผู้เขียนก็สงสัยว่าทำไมเค้าจึงเรียกว่า วังขาว วังเขียว (นอกจากเพราะทาสีขาวและสีเขียวแล้ว) เพิ่งมาทราบไม่นานนักว่า สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ ราชสกูลระดับสูงได้มาสร้างไว้เพื่ออาจเป็นที่หลีกเร้นในคราวมีภัย เพราะเหตุการณ์ข้างหน้าไม่อาจคาดคะเนได้ ซึ่งบ้านหรือวังทำนองนี้ บรรดาเชื้อเจ้าหรือราชสกูลได้สั่งให้บริวารสร้างไว้ตามท้องถิ่นต่างๆ… เฉพาะวังขาวกับวังเขียวนี้ ระยะห่างก็น่าจะไม่เกินหนึ่งกิโลเมตร ผู้เขียนก็ไม่ทราบว่าเดิมที่เป็นของใคร ซึ่งเมื่อแรกมาอยู่นั้น วังขาวเป็นหอพักของเอกชน แต่ปัจจุบันวังขาวสภาพโทรมมากแล้วไม่อาจใช้อยู่อาศัยได้… ส่วนวังเขียวอยู่ในค่ายทหาร เมื่อก่อนเป็นของทหารอากาศ แต่ปัจจุบันโอนเป็นของทหารเรือ ได้รับการบูรณะใหม่…

เมื่อแรกมาอยู่ ก็ต้องลองผิดลองถูกหลายเรื่องว่าจะประกอบอาชีพอะไร จำได้ว่าเคยทดลองขายข้าวต้มโจ๊กที่หน้าบ้านตอนเช้า และเคยขายของชำ แต่ก็ไม่ได้ผล (ลูกค้าเซ็นต์เชื่อ ไม่จ่าย หนี้สูญ)… ต่อมาโยมพ่อก็ไปเป็นกรรมกรเข็นปลาที่ท่าประมงเพื่อจะได้ซื้อเศษปลามาเป็นอาหารเป็ดด้วยตอนกลับ ฝ่ายโยมแม่ก็ยึดอาชีพขายปลา.. และเมื่อหมูขุนลงราคาเหลือหาบละ ๙๐๐ บาท ทางบ้านก็ขายหมูเป็ดไก่หมด หันมายึดอาชีพขายปลาในตลาดอย่างเดียว…

จำได้ว่าปีนั้นเลี้ยงหมูขุนประมาณ ๑๐ ตัว และผูกเศษอาหารของโรงครัวทหารเรือ ผู้เขียนต้องปั่นสามล้อไปเก็บเศษอาหาร ต้องใ้ห้หมูกินข้าวและล้างคอกหมูเป็นต้น ด้วยความหวังว่าจะได้กางเกงยีนส์สักตัว (แต่ก็ไม่ได้)… จนกระทั้งทุกวันนี้ คราวใดที่มีปัญหาหมูราคาถูก ผู้เขียนจะนึกถึงเหตุการณ์ช่วงนี้ทุกครั้ง รู้ซึ้งถึงทุกข์ของคนเลี้ยงหมู…

ส่วนการเลี้ยงเป็ดนั้น อาหารของเป็ดก็คือเศษปลากับข้าวเปลือก โดยโยมพ่อจะเอาปลาเป็ดมาจากท่าเรือ ซึ่งบางครั้งถ้ามีปลาตัวใหญ่ก็ต้องสับ (หั่น) เป็นชิ้นเล็กๆ โยนให้เป็ดกิน ส่วนผู้เขียนมีหน้าที่ต้องเก็บไข่เป็ดในตอนเช้านำไปขายที่ตลาดหลาลุงแสง แล้วก็ซื้อข้าวเปลือกใส่รถเข็นกลับมาตอนสายๆ… สำหรับไก่บ้านทั่วไปนั้น ปล่อยทิ้งไว้ในเล้าเป็ด ไม่ต้องดูแลเรื่องอาหาร เพียงแต่ทำรังให้เมื่อมันจะออกไข่แล้วฟักเป็นตัวเท่านั้น นอกจากนี้ทางบ้านเคยเลี้ยงไก่พันธุ์เนื้อและไก่พันธุ์ไข่ โดยซื้ออาหารกระสอบให้กิน แต่ก็ไม่คุ้ม จึงเลิกไปไม่นานนัก…

ตลาดหลาลุงแสงอยู่ปากซอย เช้าตรู่พวกจากนอกเมืองเช่น เขาแก้ว เกาะถ้ำ บางด่าน จะนำสินค้ามาขายแล้วซื้อของบางอย่างกลับไป สินค้าอย่างหนึ่งที่จะนำมาก็คือข้าวเปลือกบรรจุอยู่ในสอบปุ๋ย… เช้าตรู่ ผู้เขียนจะเก็บไข่เป็ดร้อยกว่าฟองใส่เข่งแล้วบรรทุกรถเข็นไปวางขายที่นี้ ก็ขายตามราคาที่พอใจ (พ่อเล้ามาเอง 5 5 5) พลางสำรวจดูว่าข้าวเปลือกมากหรือไม่ ถ้าข้าวเปลือกมากค่อยซื้อเพราะจะราคาถูกเมื่อสายๆ แต่ถ้าข้าวเปลือกน้อยก็ต้องรีบซื้อเพราะสายๆ จะหมด ซึ่งเป็ดที่เล้าจะกินข้าวเปลือกวันละปี๊ปกว่าๆ (เป็ดประมาณสองร้อย)… ไข่เป็ดที่เหลือนั้น ผู้เขียนก็จะไปติดต่อตามร้านของชำในตลาดบ้างในซอยบ้าง เพื่อให้เค้านำไปขายต่ออีกครั้ง… ตอนนั้นผู้เขียนอยู่เพียง ป.๖-๗ ก็คิดไปตามประสา แต่เมื่อโตขึ้นมา รู้สึกภูมิใจว่าสิ่งที่ผู้เขียนคิดตอนนั้นมีสอนอยู่ในวิชาเศรษฐศาสตร์… ยังคิดอยู่ถึงปัจจุบันว่า เศรษฐศาสตร์น่าจะเป็นวิชาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้เขียน

เมื่อเลิกเลี้ยงหมูเลี้ยงเป็ดหันมาค้าขาย… บ้านเล้าเป็ดเดิม ก็ค่อยๆ อัปเกรดขึ้นมา โดยเรือนไม้ยกพื้นเก่าก็ยกไปไว้ด้านหลัง ด้านหน้าก็สร้างบ้านชั้นครึ่งสองห้อง แต่ไม่ค่อยมาตรฐานนัก อยู่เองหนึ่งห้อง ส่วนเรือนไม้ด้านหลังและอีกห้องให้เค้าเช่าถูกๆ… ต่อมาเรือนไม้ยกพื้นด้านหลังก็รื้อออก สร้างเป็นเรือนสองชั้น แต่ก็ไม่ค่อยมาตรฐานนัก แล้วครอบครัวก็ย้ายมาอยู่ด้านหลัง ด้านหน้าให้เค้าเช่าถูกๆ… และก็อยู่สภาพนี้มาถึงปัจจุบัน เพียงแต่ซ่อมแซ่มบ้างตามสมควรเท่านั้น…

เรื่องการเรียน เมื่อครอบครัวย้ายมาแล้วนั้น น้องๆ ยังมิได้เข้าโรงเรียนอย่างจริงจัง จึงไม่มีปัญหาเมื่อต้องออกจากโรงเรียนมาอยู่ในเมือง แล้วค่อยย้ายสำมะโนครัวมาเรียนใหม่ในปีหน้า… แต่ผู้เขียนยังอยู่ในช่วงปลายปีของ ป.๕ ดังนั้น บางคราวก็พักอยู่บ้านเดิมที่คูขุดโดยฝากท้องไว้กับบ้านตาๆ ยายๆ เท่าที่จำเป็น บางคราวก็ไปนอนบ้านก๋งที่กระดังงา หรือบางช่วงก็มาอยู่ในตัวเมือง โดยตอนเช้าก็นั่งรถตุ๊กๆ ไปขึ้นรถประจำทาง จากตัวเมืองไปลงปากทางแล้วต่อรถเครื่องรับจ้างลงไปคูขุด ตอนเย็นก็ขึ้นรับจ้างแล้วมาต่อรถประจำทางก่อนที่จะนั่งตุ๊กๆ หรือบางครั้งก็เดินกลับบ้าน… สมัยนั้นยังเป็นถนนลูกรัง มีฝุ่นแดงฟุ้งไปทั่ว เฉพาะระยะทางจากตัวเมืองไปสทิงพระปากทางลงคูขุดก็ ๓๗ กม. จึงค่อนข้างจะตรากตรำและแปลกเกินไปสำหรับเด็กในยุคนั้น… และจากเหตุการณ์ที่ผู้เขียนไม่รู้นอนที่ไหนในช่วงนี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทางบ้านไม่ค่อยห่วงหรือกังวลนัก เมื่อผู้เขียนไม่อยู่บ้าน…

จบป.๕ ก็ย้ายมาเรียนป.๖ ที่โรงเรียนเทศบาล๓. วัดศาลาหัวยาง ซึ่งห่างจากบ้านกิโลกว่าๆ ก็เดินตัดผ่านทางวังขาวบ้างวังเขียวบ้าง (เดินหลีกที่น้ำท่วมตามฤดูกาล) เมื่อจบป.๗ ก็เข้าเรียนต่อ ม.ศ. ๑ โรงเรียนมหาวชิราวุธ…

มีสนิมใจที่ไม่อาจแก้ได้ก็เรื่องภาษาอังกฤษ นั่นคือ ตอนเรียนป.๕ นั้นจะเริ่มเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งจำได้ว่าระยะแรกนั้นผู้เขียนก็ชอบและสนใจดี ท่องศัพท์ใหม่ทุกวัน เพราะคุณครูจะเฆี่ยนทุกวันถ้าจำศัพท์ใหม่ไม่ได้ ศัพท์ละ ๑ ที… แต่เทอมปลายของปีนั้น ครูภาษาอังกฤษลาคลอดทำให้ขาดครู ครูคนไหนว่างก็มักจะเข้ามาสอนหรือพูดอะไรตามใจของท่าน พวกเราจึงมักมิค่อยได้เรียน และเมื่อย้ายมาเรียนป.๖ ในเมือง ผู้เขียนก็เรียนไม่ทันคนอื่น ไม่ชอบครูอังกฤษคนใหม่ และเกลียดภาษาอังกฤษตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา… เพิ่งมาสนใจเรียนภาษาอังกฤษใหม่เมื่อเรียนมจร.เป็นทั่นมหาฯ แล้วนี้เอง แต่เรียนยังไงก็ยังไม่เป็นที่พอใจ รู้สึกว่ามีปมด้อยด้านภาษาอังกฤษกระทั้งปัจจุบัน….

เรื่องอ่านหนังสือ ผู้เขียนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่พออ่านหนังสือออก ไม่เคยรู้เลยว่าอ่านหนังสือมากระดับไหน เพิ่งมาทราบเมื่อบวชแล้วนี้เอง เมื่อมีเพื่อนสหธรรมิกรูปหนึ่งซึ่งเคยเป็นนักเขียนเรื่องสั้น ด้วยผู้เขียนสามารถพูดคุยเรื่องหนังสือกับเค้าได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นปมด้อย…

ย้อนกลับไปยังบ้านคูขุด โยมพ่อชอบอ่านหนังสือบางกอกรายสัปดาห์ และเป็นหน้าที่ของผู้เขียนจะต้องไปเอาจากบ้านโน้นมาบ้านนี้ ตอนเดินไปเดินมาเปิดดูไปพลาง นี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้สนใจ และเมื่ออ่านหนังสือออกก็เริ่มอ่านนิยายในบางกอก… ที่บ้านคุขุดนี้มีญาติห่างๆ ซึ่งเป็นครูจะซื้อหนังสือเด็กก้าวหน้ามาให้ลูกหลานอ่าน ผู้เขียนก็ได้อาศัยอ่านกับเค้าด้วย จำได้ว่ามีเรื่องเจ้าอสรพิษ พระเอกชื่อพายุสุริยัน เป็นนิยายภาพวาด พวกเราติดกันมาก ต้องเข้าคิวจองกัน แต่พวกโตๆ มักจะถืออภิสิทธิ์แย่งไปอ่าน (น่าเจ็บใจจริงๆ)…

นอกนั้น ที่คูขุดยังมีบ้านคุณตาอีกหลังหนึ่ง ซึ่งลูกของท่านที่กำลังเรียนระดับมัธยมมักจะซื้อหนังสือเด็กก้าวหน้ามาอ่าน ผู้เขียนก็มักจะไปเที่ยว เผื่อได้อ่านอย่างสบายใจ (ไม่มีใครแย่ง) บ้านคุณตาที่นี้จะมีชั้นวางหนังสืออยู่ด้วย มีหนังสือมากพอสมควร ซึ่งผู้เขียนมักจะไปนั่งพลิกอ่านเล่นได้เป็นครึ่งวัน… เกือบสิบปีก่อน เมื่อได้คุยกับพวกหนอนหนังสือซึ่งแก่กว่าผู้เขียนสักสิบปี ก็คุยแรกเปลี่ยนกันได้โดยผู้เขียนไม่รู้สึกว่าอ่อนกว่าด้านหนังสือ เมื่อทบทวนว่าหนังสือเหล่านั้นเคยเห็นเคยอ่านที่ไหน ก็มานึกถึงบ้านคุณตาที่นี้ได้ ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าที่นี้น่าจะคล้ายห้องสมุดแห่งแรกในชีวิตของผู้เขียน…

เมื่อมาอยู่ในเมือง หนังสือบางกอกก็ซื้อได้ที่ปากซอยวังขาว โดยทุกเย็นของวันจันทร์ผู้เขียนจะขอตังโยมแม่มาซื้อหนังสือบางกอก แล้วก็นั่งอ่านอยู่แถวใต้ต้นมะขามข้างๆ วัง เพราะถ้ากลับถึงบ้านอาจถูกโยมพ่อใช้อภิสิทธิ์ไปอ่านก่อน หรือโยมแม่ขอคั่นเวลาเพียงเรื่องเดียวในบางครั้ง ดังนั้น ผู้เขียนจึงรีบอ่านให้ได้มากที่สุดก่อนที่จะค่ำดูตัวหนังสือไม่เห็น และนี้น่าสาเหตุหนึ่งที่ผู้เขียนอ่านหนังสือได้เร็วโดยไม่รู้ตัว…

ตอนเรียนเทศบาล ๓. ขณะอยู่ ป.๗ ทางโรงเรียนเริ่มโครงการสร้างห้องสมุด โดยมอบหมายให้ครูที่มาอยู่ใหม่เป็นผู้รับผิดชอบ ผู้เขียนมักไปขลุกอยู่กับคุณครูคนนี้ สามเกลอพลนิกรกิมหงวน พวกเรารู้จักกันตอนนี้… และเมื่อไปอยู่ม.ศ.๑ มหาวชิราวุธ ผู้เขียนก็เลือกเข้าชมรมห้องสมุด โดยมิได้รับการชักชวนจากใคร คงจะเป็นวาสนาในบางก่อน หรือเพราะคุ้นเคยมาตั้งแต่เล็กๆ ก็ไม่อาจบอกได้ (หรือทั้งสองอย่าง) อยู่ชมรมห้องสมุด ก็ต้องไปช่วยงานห้องสมุด ได้อภิสิทธิ์ยืมหนังสือได้มากและระยะให้ยืมก็ยาวกว่าคนทั่วไป แต่ผู้เขียนก็ช่วยงานไม่นานนัก เริ่มเป็นวัยรุ่น เริ่มหนีโรงเรียน (5 5 5…)

ผู้เขียนมักทบทวนเรื่องราวในอดีต แต่ที่คลุมเครือและประติดประต่อไม่ค่อยได้ก็คือช่วงอยู่ ม.ศ.๑-๒ คล้ายกับช่วงความจำในตอนนี้เลอะเลือนหรือถูกไวรัสกินไป อาตมาเป็นไผ ถ้ามีตอนต่อไป จะลองกู้ข้อมูลตอนนี้มาบันทึกไว้สักครั้ง…