หลวงพ่อบ่อยาง คือ พระประธานในอุโบสถวัดยางทอง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองทั้งองค์ ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก ๑.๕๐ เมตร สันนิษฐานว่าสร้างพร้อมกับอุโบสถหลังเก่า และเมื่อทางวัดได้รื้ออุโบสถหลังเก่าสร้างอุโบสถหลังใหม่ ก็ได้อัญเชิญหลวงพ่อบ่อยางจากอุโบสถหลังเก่ามาประดิษฐานไว้ในอุโบสถหลังใหม่พร้อมทั้งลงรักปิดทองใหม่อีกครั้ง
อุโบสถหลังเก่าซึ่งรื้อไปแล้วและเคยประดิษฐานหลวงพ่อบ่อยางนั้น ตามพงศาวดารเมืองสองขลายังขัดแย้งกันอยู่ กล่าวคือ ฉบับของเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสัง) พ.ศ.๒๓๙๐-๒๔๐๘ กล่าวไว้ว่า….
…ครั้นณปีมเสงเอกศกลุศักราช ๑๑๗๑ พระบาทสมเด็จพระ พุทธเลิศหล้านภาไลย ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้น… หลวงนายฤทธิกลับเข้ามา ณ เมืองสงขลาเข้าไป ณ กรุงเทพมหานคร อยู่หกเดือนเจ็ดเดือนถวาย พระเพลิงสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์เสร์จแล้ว ขณะนั้นเมืองสงขลาเปนปรกติอยู่สามปี แลเจ้าพระยาสงขลาได้สร้างพระอุโบสถแลโรงธรรมไว้ ณ วัดมัชฌิมาวาศ แลพระอุโบสถวัดยางทองโรงหนึ่ง กับได้สร้างสำเภาห้าลำ เรือปากใต้เปนหลายลำ…
( http://th.wikisource.org/wiki/ประชุมพงศาวดาร_ภาคที่_๕๓ )
เมื่อถือเอาตามนัยนี้ อุโบสถหลังเก่าและหลวงพ่อบ่อยางสร้างขึ้นในต้นรัชการที่ ๒ ประมาณพ.ศ.๒๔๕๒ แต่ประเด็นนี้แย้งกับพงศาวดารเมืองสงขลาฉบับของ พระยาวิเชียรคีรี (ชม) พ.ศ.๒๔๓๑-๒๔๔๔ ซึ่งกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า…
….ครั้น ณ ปีเถาะสัปตศก ศักราช ๑๑๕๗…. หลวงนายฤทธิ์ ก็ยกกองทัพกลับเข้าไปกรุงเทพ ฯ เมืองสงขลาเปนปรกติไม่มีทัพศึกอยู่ ๒ ปี ในระหว่างเมืองสงขลาเปนปรกติอยู่ ๒ ปีนั้น เจ้าพระยาอินทคิรี ได้สร้างพระอุโบสถวัดยางทองขึ้นอาราม ๑ โรง พระอุโบสถวัดมัชฌิมาวาศอาราม ๑ รวม ๒ อาราม แลเจ้าพระยาสงขลา (บุญหุ้ย) ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ฟากแหลมสน…. ( http://www.reurnthai.com/wiki/พงษาวดารเมืองสงขลา )
เมื่อถือเอาตามนัยนี้ อุโบสถวัดยางทองและหลวงพ่อบ่อยางสร้างขึ้นในปลายรัชการที่ ๑ มิใช่ต้นรัชการที่ ๒ ดังนัยก่อน
อีกอย่างหนึ่ง หลวงพ่อบ่อยางสร้างก่อนหลักเมืองสงขลา ดังประวัติเมืองสงขลาตอนหนึ่งว่า…
….จึงทำให้เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ไปตั้งเมืองสงขลาใหม่ที่ตำบลบ่อยาง (สถานที่ปัจจุบัน) ตั้งแต่ พ.ศ. 2379 ซึ่งเมืองใหม่ที่สร้างขึ้น ก็ยังคงรักษาความเป็นเมืองท่าไว้อย่างเดิม โดยในเบื้องต้นของการสร้างเมือง เจ้าพระยาคีรี (เถี้ยนเส้ง ณ สงขลา) ได้เริ่มสร้างป้อม กำแพงเมืองยาว 1200 เมตร และ ประตูเมือง สิบประตู ตั้งแต่ พ.ศ. 2379 หลังจากนั้นจึงได้วางหลักเมือง (ไม้ชัยพฤษ์พระราชทาน) และสมโภชน์หลักเมืองในปี พ.ศ. 2385 และเรียกบริเวณพื้นที่นี้ว่า “เมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง” ก่อนที่เจ้าพระยาคีรี (เถี้ยนเส้ง) จะถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2408…
( http://th.wikipedia.org/wiki/ประวัติศาสตร์เมืองสงขลา )
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าอุโบสถวัดยางทองหลังเก่าและหลวงพ่อบ่อยางสร้างขึ้นประมาณปลายรัชการที่ ๑ หรือต้นรัชการที่ ๒ และสร้างก่อนหลักเมืองสงขลา
ถ้าจะกล่าวโดยการสันนิษฐานจากข้อมูลเชิงประจักษ์ เจ้าเมืองสงขลามีนโยบายย้ายเมืองจากฝั่งแหลมสนมายังฝั่งบ่อยาง หลังจากเสร็จศึกเก้าทัพจึงทำบุญล้างบาปและอุทิศทักษิณาผลให้แก่ผู้ต้องตายไปในระหว่างสงครามตามประเพณีชาวพุทธตั้งแต่โบราณ โดยเลือกมาสร้างอุโบสถวัดยางทองและวัดมัชฌิมาวาสเพื่อเป็นศิริมงคลในการจะย้ายเมืองด้วย…
สาเหตุที่เลือกสองวัดนี้ นอกจากจะสันนิษฐานว่าเป็นวัดสำคัญที่สุดในยุคนั้นแล้ว มีข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่า วัดยางทองอยู่ทางทิศเหนือ ส่วนวัดมัชฌิมาวาสอยู่ทางทิศใต้ ขณะที่หลักเมืองสงขลาซึ่งสร้างขึ้นภายหลังอยู่ระหว่างกลางวัดทั้งสอง อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นฮวงจุ้ยโบราณซึ่งอาจแปลความหมายได้ว่า ต้องการให้วัดคือพระพุทธศาสนาช่วยประคับประครองเมืองสงขลาให้อยู่เย็นเป็นสุขก็ได้…
บัดนี้ อุโบสถเก่าวัดยางทองก็ถูกรื้อถอนไปตามกาลเวลา ยังคงอยู่แต่เพียงหลวงพ่อบ่อยางในอุโบสถหลังใหม่
อนึ่ง สำหรับความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อบ่อยางนั้น ฟังว่าตอนสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นบุกสงขลา โดยใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดปูพรมทั้งเมือง แต่บริเวณวัดยางทองและโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุโบสถซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อบ่อยางแคล้วคลาดปลอดภัยจากระเบิด ทำให้เล่าลือกันในครั้งนั้นว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก และความแคล้วคลาดปลอดภัยในครั้งนั้น นอกจากบารมีของหลวงพ่อบ่อยางแล้ว มีผู้ขยายความว่า เพราะอุโบสถหลังเก่ามีประตูหน้าเพียงประตูเดียวส่วนประตูหลังไม่มี เรียกกันว่าโบสถ์มหาอุด ซึ่งเชื่อกันว่าขลังยิ่งนักและมีดีทางทางด้านอยู่ยงคงกระพันแคล้วคลาดปลอดภัย
เมื่อผู้เขียนแรกมาอยู่วัดยางทอง (ปลายปี ๒๕๓๐) มักจะมีญาติโยมสูงอายุซึ่งเป็นชาวบ่อยางเดิมมาจุดธูปเทียนบริเวณหน้าอุโบสถหลังเก่าเพื่อขอพรพระประธานในโบสถ์หรือหลวงพ่อบ่อยางเสมอ แต่กาลเวลาเป็นเครื่องเปลี่ยนแปลงและทำลายสรรพสิ่ง ญาติโยมผู้สูงอายุเหล่านั้นก็ค่อยๆ หายหน้าไปที่ละคน โบสถ์เก่าก็ถูกรื้อสร้างใหม่ ยังคงอยู่ก็แต่หลวงพ่อบ่อยางซึ่งประดิษฐานอยู่ในอุโบสถหลังปัจจุบัน…
ปัจจุบันนี้ วัดยางทองมีนโยบายเปิดโบสถ์ เพื่อให้ลูกหลานชาวบ่อยางและสาธุชนทั่วไปมากราบไหว้ขอพรหลวงพ่อบ่อยาง เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของชาวบ่อยางตามเจตนารมณ์ของเจ้าเมืองสงขลาในอดีต…
พระมหาชัยวุธ ฐานุตฺตโม
เจ้าอาวาสวัดยางทอง
ผู้เขียนประวัติ
ความคิดเห็นใหม่