บำรุงรักษา
อ่าน: 3136วันนี้เอารถไปเช็คตามระยะครับ เตรียมรถเพื่อเดินทางไปสวนป่าในวันที่ 5 ด้วย แต่ดันมีการเชิญประชุมคณะกรรมการชุดใหม่อีกในตอนเช้าวันที่ 5 ก็เลยต้องออกเดินทางหลังเที่ยงนะครับ คงจะไปถึงเย็นๆ นัดล่วงหน้าสามวันนี้นับเป็นความก้าวหน้าแล้ว ที่ผ่านมาตลอดหลายปี กระทรวงนี้นัดล่วงหน้า 24 ชั่วโมงเท่านั้นเอง
รถมีการใช้งาน ถึงจะใช้ไม่เยอะ ก็ต้องมีการตรวจสอบว่าอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี
บล็อกก็เช่นกัน มีการบำรุงกำลัง เติมเชื้อไฟโดยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น วันนี้ได้คุยกับแฟนบล็อกท่านหนึ่ง ซึ่งอ่านอย่างเดียวโดยไม่เคยเขียนอะไรกลับมา ได้ฟีดแบ็คว่าเขียนเรื่องน่าสนใจหลายเรื่อง (อันนี้รู้อยู่แล้วเพราะผมเขียนเรื่องที่ผมสนใจ เขียนแล้วทิ้งไว้เฉยๆ คนอ่านคลิกมาเองทั้งนั้น ไม่ได้ไปบังคับให้ใครคลิกเลย) ไม่ยากเกินไป อ่านแล้วเอ๊ะหลายบันทึก (แปลว่าผมเขียนถ่ายทอดความคิดแล้วมีคนรู้เรื่องแฮะ) น่าจะหาเวลานัดกันไปเที่ยว
แล้วสังคมกับองค์กรก็เป็นแบบเดียวกันครับ ถ้าหากใช้ทรัพยากรทุกอย่างตะลุยไปแบบถึกๆ ถือว่าเป็นหน้าที่ก็ทำไป ไม่มีน้ำใจต่อกัน แบบนี้รวมกันอยู่ยาก ถ้าไม่มีน้ำใจมาหล่อลื่น การเอาคนที่แตกต่างกันมาอยู่ร่วมกัน มีแต่การกระทบกระทั่งเสียดสี สึกหรอและพังไปในที่สุด ไม่มีฝ่ายชนะ มีแต่แพ้ทั้งคู่ สังคมและองค์กรนั่นแหละแพ้
การแสดงน้ำใจต่อกันนั้น ไม่ใช่การประจบสอพลอ ป้อยอด้วยคำหวาน ผิดก็ว่าถูก ไม่ดีกลับว่าดี เพราะนั่นคือการหลอกลวงนะครับ การมีน้ำใจต่อกันนั้น แสดงออกได้หลายวิธี ที่ง่ายที่สุดแต่ไม่ค่อยทำกัน คือเชื่อใจกัน(บ้าง) ฟังเขาบ่อยๆ ยอมรับเขาแบบที่เขาเป็น ไม่ใช่เปลี่ยนเขาให้เป็นแบบที่เราต้องการ คนเราไม่เหมือนกัน จะทำอย่างไรก็แตกต่างอยู่ดี ควรมองให้ชัดและใช้ความแตกต่างนั้นให้เป็นประโยชน์ที่สุดต่อทุกคน
การอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำอะไรได้ตามชอบใจหรอกนะครับ ยังมีเป้าหมายร่วม มีกติกาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข — การอยู่ร่วมกันเป็นสิทธิ์ที่มีความรับผิดชอบร่วมกันกำกับอยู่ด้วย — ถ้าใครไม่ต้องการอยู่ร่วมกันอีกต่อไป เขาก็มีสิทธิ์ที่จะไปตามทางของเขาครับ เป็นสิทธิ์ที่ไม่ต้องร้องขอหรือทวงถาม แน่ล่ะ จะมีเหตุผลต่างๆ มากมาย เป็น defence mechanism ตามทฤษฎีของฟรอยด์ (ซึ่งหากคลิกลิงก์อ่านดู จะเห็นว่ามีการหลอกตัวเอง เชื่ออย่างจริงจังจนไปหลอกคนอื่นด้วย)
ถ้าเพียงเราเคารพการตัดสินใจของเขา ตระหนักว่าการอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน การสร้างบ้านตั้งถิ่นฐาน การร่วมชีวิตกัน เป็นความพอใจร่วมกัน เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเปลี่ยนใจ มันก็จบเท่านั้นครับ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่เคยมีร่วมกันไว้เป็นบทเรียน เรียนรู้ได้จากทั้งที่ดีและไม่ดี แล้วจากกันด้วยดีดีกว่า
คนไม่ใช่เครื่องจักร ถ้าเครื่องจักรยังต้องมีการบำรุงรักษา ทำไมคนถึงจะไม่ต้องมี?
แล้วถ้าถามว่ามีคนแบบไหนไหม ที่ไม่ควรบำรุงรักษา? ตอบว่าไม่มีครับ ถ้าคิดว่าเขาเป็นคน ก็ต้องการการบำรุงรักษาทั้งนั้น — แต่ว่ามีคนที่ไม่ควรไปยุ่งด้วย ปล่อยเขาไปตามทางของเขา — ไม่คบคนพาล เป็นมงคลแรกสุดในมงคล ๓๘
ปัญหาคือใครจะไปตัดสินคนอื่นได้ เรารู้เกี่ยวกับเขาอะไรมากนักหรือ หรือว่าคิดตัดสินเอาเองอย่างง่ายๆ
ก็นั่นแหละครับ ยังไงคนเราตัดสินคนอื่นเสมอ การตัดสินเป็นความคิดชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น ต้องย้ำว่าเป็นเพียงความคิดไม่ใช่ความรู้ เป็นการพิจารณาไปตามองค์ประกอบ: ประสบการณ์(มีเอี่ยวด้วยเสมอแม้บางทีไม่ออกหน้า) พยานหลักฐาน เหตุผล และกติกา แต่ถ้าไม่มีอะไรสักอย่าง เรียกว่าเพ้อเจ้อครับ
« « Prev : เมื่อโลกผลิตน้ำมันได้น้อยลง
Next : ยืนยัน » »
4 ความคิดเห็น
ทดลองพิมพ์ค่ะ คราวนี้ใช้ได้แล้ว แต่บล็อกครูบายังไม่ได้ค่ะ
แปลกดีค่ะ บ่ายๆวันนี้นึกถึงเรื่องการดูแลบำรุงรักษาคนทำงาน ประเด็นที่คิดคือ การบำรุงอย่างที่สามารถทำได้เลยคือการเห็นอกเห็นใจ เข้าใจว่าแต่ละคนมีความจำเป็นที่แตกต่างกัน อย่ามุ่งงานจนลืมนึกถึงคน
เรื่องแบบนี้เหมือนจะปกคิ แต่เรื่องปกตินี้กลับไม่ค่อยทำกันชัดเจนในหน่วยงาน
ไม่รู้เพราะอะไรค่ะ
เป็นเหมือนในลานเจ๊าะแจ๊ะ คือไม่ต้องแต่งอะไรมาก พิมพ์แต่ข้อความที่ต้องการจะแลกเปลี่ยนเลยครับ
บันทึกนี้ เรื่องใหญ่สำหรับเจ้าอาวาสเลย (………….)
การบำรุงรักษาคนนะ ถ้าเทียบเรื่องราวในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระอุรุเวลกัสสปะ ว่าเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในการมีบริวารมาก ซึ่งมีคำสอนว่าจะมีบริวารมากได้ ต้องรู้จักสงเคราะห์ด้วยอามิสบ้างธรรมบ้าง…
อามิสก็คือ สิ่งของ… ส่วนธรรมอาจเป็นคำแนะนำ ปฏิบัติ ปล่อยเลย หรือดุด่าว่ากล่าว เป็นต้น ตามสมควร…
ความเห็นส่วนตัวก็คือ การบำรุงรักษาคน น่าจะตรงกับการรู้จักสงเคราะห์ด้วยอามิสบ้างธรรมบ้าง… เพียงแต่ว่่าเราจะทำได้แค่ไหน เท่านั้น
เจริญพร
ไม่ว่าทำได้แค่ไหน แต่ทำบ้าง ก็ยังดีกว่าไม่ทำครับ ข้อจำกัดของเราไม่มีใครเข้าใจ ผู้อื่นย่อมมีความคาดหวังอย่างที่เขาอยากได้ สองอย่างนี้มักไม่ตรงกัน
อ่านเรื่องพระอุรุเวลากัสสปะบนวิกิพีเดีย สนุกดีครับ