เฮสิบ ห้วยขาแข้ง

อ่าน: 7813

ว่างเว้นไปปีครึ่ง ด้วยภารกิจของญาติเฮแต่ละท่าน (เฮเก้า) คราวนี้พี่บู๊ดแจ้งข่าวมาแต่เนิ่นๆ ทำให้แต่ละคนมีเวลาจัดการเวลาว่างให้ตรงกันได้ (ยกเว้นน้าอึ่งอ๊อบซึ่งติดภารกิจจริงๆ แต่ก็ยังช่วยประสานงานให้พวกเรา ขอบคุณนะครับ)

งานเฮฮาศาสตร์ไม่ใช่เป็นเพียงการไปเที่ยว ไม่ใช่ study tour ที่ต่างคนต่างเรียนรู้ไปเอง แต่เป็นการร่วมกันศึกษาเรียนรู้ เนื่องจากชาวเฮฮาศาสตร์มาจากหลายหลายสาขาอาชีพ หลายภูมิภาค ด้วยพื้นฐานความรู้ความชำนาญประสบการณ์ที่แตกต่างกัน จึงช่วยให้กลุ่มได้รับประโยชน์จากมุมมองที่แตกต่างเสมอมา นอกจากการศึกษาร่วมกันแล้ว ทุกครั้งยังต้องมีเวลาคุยกันเองอย่างจริงจัง เราทิ้งบางอย่างที่มีค่าไว้ในพื้นที่ด้วย และตัวเราต้องไม่เป็นภาระแก่ “เจ้าภาพ” มากนัก

งานเฮสิบมีพี่บู๊ด ร่วมกับ สปก. จัดขึ้นภายใต้งาน “การประชุมสัมนาเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในเขตปฏิรูปที่ดิน” กำหนดการอยู่ระหว่างวันที่ 6-10 ธค 2556 โดยวันที่ 6 เป็นวันเดินทางไป และวันที่ 10 เป็นวันเดินทางกลับ

เพื่อให้เข้าใจบริบทของพื้นที่ เช้าวันที่ 7 ธค จึงเริ่มด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นมรดกโลกด้วย เรื่องของชีวิตเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเสมอ สัตว์ป่าไม่ควรคุ้นเคยกับคน เพราะหากคุ้นเคยแล้ว จะแยกพรานไม่ออกและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ดังนั้นจึงควรจำกัดจำนวนรถซึ่งสร้างเสียงดังแปลกปลอมขึ้นในป่า และการพบสัตว์ป่าถือเป็นโอกาสพิเศษเสมอ

ห้วยขาแข้งเป็นส่วนของป่าตะวันตก เป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า เช่นเสือโคร่งแต่ละตัว อาจต้องมีอาณาเขตหากินครอบคลุมถึง 100 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 2,780 ตร.กม. จึงไม่พอสำหรับเสือโคร่ง 80-100 ตัวที่คาดว่ามีอยู่ในห้วยขาแข้ง เมื่ออาณาเขตทับกัน มันก็จะสู้กัน แต่เสือโคร่งเป็นสัตว์กินเนื้อ หมายความว่านอกจากพื้นที่แล้ว ยังต้องมีสัตว์อื่นที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติได้อีก เพื่อให้มีห่วงโซ่อาหารทั้งสัตว์กินพืชและสัตว์กินเนื้อ และอยู่ห่างไกลจากชุมชนเพื่อความปลอดภัยของคน

กรณีนี้ไม่ใช่ว่าคนไม่มีที่ทำกินแล้วยังจะไปกันพื้นที่ให้สัตว์อยู่หรอกครับ พื้นที่ป่าเหลือน้อยมากแล้ว การจัดสรรที่ดินทำกินต้องไม่รุกล้ำเข้าไปในป่าอีกต่อไป ส่วนพื้นที่ที่มีการบุกรุกทำลายป่าไปแล้ว… ป่าใช้เวลายี่สิบปีกว่าที่พอจะฟื้นตัวได้ สวนป่าของครูบาสุทธินันท์เป็นตัวอย่างในการพลิกฟื้นพื้นที่แห้งแล้งให้กลายเป็นป่าสมบูรณ์ แม้จะเป็นป่าปลูก ก็ปลูกพรรณไม้หลากหลาย ผสมผสานระหว่างชีวิตคนและป่า เก็บพืชกินได้มาบริโภคโดยไม่ต้องตัดต้นไม้ ผ่านไปยี่สิบปี ป่าปลูกก็แน่นขนัด จนลูกไม้รุ่นหลังเริ่มเกิดขึ้นได้เอง จนในปัจจุบันนี้ ใช้วิธี เก็บกินแทนทำกิน พืชผักผลไม้ต่างๆ สดมาก สดเป็นระยะห้าเมตรสิบเมตรก็ถึงครัวแล้ว ที่มีปริมาณมากเกินบริโภคยังขายได้อีก

การสนับสนุนจากภาครัฐทางด้านงบประมาณมีไม่พอกับปริมาณงาน ว่ากันที่จริง กระบวนการงบประมาณก็พิลึกพิลั่นอยู่แล้ว เริ่มตั้งแต่ถูกเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณตัดทอนเพื่อให้ลงกรอบงบประมาณ กระเป๋าเงินสำคัญกว่าภารกิจหลักที่ต้องทำ แต่การจัดซื้อสำคัญกว่าอะไรทั้งหมด เจ้าหน้าที่ทำงานด้วยความยากลำบาก เงินเดือนน้อยนิด งานหนัก แถมยังต้องออกเงินเองอีกหลายกรณี แต่เขาก็ทำงานด้วยใจรัก ยอมเสียสละ

เราเข้าฟังคำบรรยายภาพรวมเกี่ยวกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งจากคุณศักรินทร์ วิชาจารย์ ก่อนไปคารวะอนุสาวรีย์ท่านสืบ นาคะเสถียร พอดีคุณสมโภชน์ มณีรัตน์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เสร็จธุระกลับเข้ามาพอดี จึงได้ฟังข้อจำกัดของงานที่ห้วยขาแข้งในแนวลึก สร้างความเข้าใจในบริบทของพื้นที่และงานมากขึ้น เรากินข้าวกลางวันที่ห้วยขาแข้ง

จากนั้นบ่ายหน้าเข้าเมืองอุทัยธานี ไปวัดจันทาราม (วัดท่าซุง) ซึ่งผมเคยมาตั้งแต่ปี 2511 ตั้งแต่หลวงพ่อฤๅษีลิงดำยังไม่มีผู้คนมาขึ้นมาก หลวงพ่อยังอยู่กุฏิริมน้ำ ยังไม่มีฝั่งวิหารแก้ว ต้องข้ามแพขนานยนต์ ไม่มีถนนราดยาง ไม่มีน้ำประปา พ่อเคยทอดผ้าป่าที่นี่ได้ปัจจัยมากมายเลื่องลือกันไปหลายจังหวัด และพ่อสร้างระบบประปาให้กับวัด เครื่องนี้ยังอยู่ตามทางไปวังมัจฉาแต่ไม่ได้ใช้งานมานานแล้ว ผมได้อ่านต้นฉบับหนังสือประวัติหลวงพ่อปานตั้งแต่ยังไม่ตีพิมพ์เลย สำหรับญาติเฮซึ่งไม่เคยมา อยากดูอะไรก็ดูครับ คำสอนของหลวงพ่อมีค่าที่สุด

แล้วเราก็มุ่งหน้าสู่เขตเมืองเก่าอุทัยธานี แวะไปดูวัดอุโปสถาราม (วัดโบสถ์) มีภาพเขียนฝีมือช่างชั้นครูสมัยรัชกาลที่ ๓ พอใกล้ค่ำ เราก็ขึ้นเขาสะแกกรังดูเมืองอุทัยธานี ไหว้พระ กราบพระบรมรูปสมเด็จพระปฐมบรมชนกนาถ (พระบิดาของรัชกาลที่ ๑) อาราธนาพระบารมีของสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชคุ้มครองประเทศชาติอย่าให้เกิดความไม่สงบจากความขัดแย้งทางความคิดเลย (ต่อมาอีกสองวัน มีคนห้าล้านคนออกมาประท้วงโดยไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น) แล้วปล่อยโคมลอย ลอยทุกข์ ลอยโศก บำบัดความเครียดสะสม

เมื่อได้เวลา เราลงมาในเมืองไปพบท่านเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ ซึ่งท่านข้ามมาจากเขาใหญ่เพื่อมาพบปะกับพวกเรา และพบกับท่านสมพงษ์ สุทธิวงศ์ ผู้ซึ่งใช้เวลาทั้งชีวิตปกป้องรักษาผืนป่าตะวันตกนี้ในภาคประชาชน ก่อนหน้าที่ท่านเลขาธิการ สปก. จะมาถึง เรายังได้พบกับคุณสุริยน พัชรครุกานนท์ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดอุทัยธานี และคุณวรรณพร ดอกจำปา ปฏิรูปที่ดินจังหวัดชัยนาทด้วย ดร.วีระชัย บอกว่า “การสร้างจิตสำนึกโดยชาวบ้านไม่ได้รับประโยชน์นั้น เป็นไปไม่ได้เลย” ซึ่งเรื่องนี้เห็นตรงกันที่สุดครับ เป็นสิ่งที่สวนป่ามหาชีวาลัยอีสานของครูบาทำตลอดมาตั้งแต่ปี 2537 (โรงเรียนชุมชนอีสาน)

[ภาพกิจกรรมของวันที่ 7 ธค 2556]

วันต่อมาเราเดินทางไปอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ไปศึกษาเรื่องป่าและเขื่อน หลังจากที่เมื่อวานศึกษาเรื่องคนและสัตว์ มีคุณประจักษ์ บัวแก้ว นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นผู้บรรยายลักษณะทางกายภาพของ อช.แม่วงก์ และเรามี ดร.ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และ ดร.สมิทธิ์ ตุงคะสมิต วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต มาร่วมแจม (หลังจากค้นประวัติ เพิ่งจะรู้ว่า ดร.สมิทธิ์เป็นรุ่นน้องที่โรงเรียน) ดร.สมิทธิ์พาเอา นายผัดไท รักษ์ป่า (นามแฝงบนเฟสบุ๊ค) มาเล่าความในใจเกี่ยวกับแม่วงก์ การเล่าสู่กันฟังทั้งหมดทำให้เราเรียนรู้ลึกซึ้งมากขึ้น ถึงความไม่ตรงไปตรงมาของนักการเมือง… มิน่า สงสัยอยู่ว่าทั้งที่มีเสียงคัดค้านทั่วประเทศ ทำไมจึงยังดึงดันจะเอาให้ได้

ทางด้านพวกเรา เม้งขอคำแนะนำมาก่อนไปงานเฮห้วยขาแข้งว่าควรจะเตรียมอะไรไปด้วยหรือไม่ ผมแนะว่าน่าจะทำ simulation ของน้ำไหลตามความลาดเอียงของพื้นที่สำหรับพื้นที่แม่วงก์ให้เห็นว่าสร้างเขื่อนแล้วจะเกิดอะไรขึ้น คุ้มหรือไม่คุ้ม ผู้ชมตัดสินใจได้เอง เม้งก็ทำมาและได้รับความสนใจมากครับ โปรแกรมนี้เม้งกับลูกศิษย์เขียนเองด้วยสมการทางฟิสิกส์ธรรมดา มีประโยชน์มาก และเห็นการจำลองน้ำไหลได้ชัดเจนว่าจะเกิดประโยชน์ต่อพื้นที่ใด และเมื่อเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ พื้นที่ใดมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ครูบาแจมต่อในบริบทของชีวิตคนกับป่า ปราชญ์ชาวบ้านมีคุณลักษณะพิเศษที่สามารถเปลี่ยนเรื่องซับซ้อนเกี่ยวกับชีวิตคนให้เป็นภาษาง่ายๆ ที่เข้าใจได้

ท่านเลขาธิการ ส.ป.ก. ซึ่งตามมาฟังด้วยกล่าวปิด มอบของที่ระลึก จากนั้นพักกินข้าวก่อนเคลื่อนย้ายไปแม่เรวาซึ่งอยู่ขอบอุทยานแห่งชาติแม่วงก์เช่นกัน คุณผัดไทตามมาดูแลด้วยในฐานะเจ้าถิ่น เราได้คุณสมาน รอดเหว่า เจ้าหน้าที่ดูแลแม่เรวาบรรยายสภาพให้ฟัง คุณผัดไทร่วมแจม ผมไม่ลงรายละเอียดนะครับ แต่ประมวลที่ฟังมาทั้งวันแล้ว ถ้าปล่อยให้เกิดเขื่อนแม่วงก์ คิดว่าจะเกิดผลเสียมหาศาล ลงทุนสูง เก็บน้ำได้น้อย มีประโยชน์สำหรับการชลประทานในหน้าฝน (หว่า… แล้วจะสร้างไปทำซากอะไร ต้องประกาศยกเลิกพื้นที่เขตอุทยาน อ้างเป็นเขตป่าเสื่อโทรมซึ่งในข้อเท็จจริง เมื่อประกาศเป็นเขตอุทยานยี่สิบปี ป่าก็ฟื้นแล้ว นายทุนจะเข้าไปตัดไม้ เงินก็เสียเป็นค่าสร้างเขื่อน แพงก็แพง เก็บน้ำได้น้อย รุกพื้นที่ของสัตว์ป่า แล้วยังดันทุรังจะสร้างอีก)

แล้วก็ไปขึ้นมออีหืด ระยะทางเดินประมาณ 1 กิโลเมตร จากระดับความสูงประมาณ 150 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ไปจนถึงความสูง 303 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง มีที่พักสองแห่ง… ควรจะมีป้ายบอกก่อนขึ้นด้วย เพราะความสูงประมาณ 150 เมตรนี้ เป็นข้อจำกัดของคนทั่วไป แต่สำหรับคนที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย จะได้ไม่ฝืนสังขาร บางช่วงชันและลื่น ก็เป็นไปตามสภาพของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

เรากลับมากินข้าวเย็นที่ที่พัก แล้วก็ตั้งวงคุยกันตามสไตล์ชาวเฮ คราวนี้มีเพื่อนใหม่มาเพิ่มอีกหลายท่าน จึงลงมติทำความรู้จักกันให้มากกว่าการปฏิสันถารทั่วไปก่อน กว่าจะจบก็ดึกแล้ว แต่ก็รู้สึกว่าจะได้ครบนะครับ

[ภาพกิจกรรมของวันที่ 8 ธค 2556]

สำหรับวันที่สี่ในงานนี้ มีหลายท่านต้องเดินทางกลับก่อน ญาติสายใต้จะลงไปไชยา ทุ่งสง และปัตตานี ใช้เวลาขับรถสองวัน จึงต้องออกวันนี้ สำหรับญาติสายเหนือ วันรุ่งขึ้นเป็นวันเกิดของอาราม พี่ครูอึ่งจึงอยากให้เขาได้พักทั้งวัน ก็เลยลากลับก่อน แต่เรามีพันธะจะขึ้นเวทีวิชาการ “การประชุมสัมนาเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในเขตปฏิรูปที่ดิน” จัดโดย สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มูลนิธิห้วยขาแข้งจังหวัดอุทัยธานี และมูลนิธิหนองขาหย่างเพื่อการพัฒนาชนบทอุทัยธานี หลังจากเวทีนี้ก็มีการทอดผ้าป่า ซึ่งจะต้องเสร็จก่อนเพลด้วย ดังนั้นเวลาสำหรับวิทยากรท้ายๆ จึงเหลือไม่มาก (ผมเป็นคนสุดท้าย)

มีเรื่องมากมายที่อยากจะแลกเปลี่ยนแต่เวลาไม่อำนวยครับ เอามาเขียนไว้ตรงนี้ก็แล้วกัน

  • ชื่องาน:
    ทรัพยากร = สิ่งที่มีค่า และมีอยู่อย่างจำกัด ใช้แล้วก็หมดไปหรือฟื้นฟูได้ไม่เร็วนัก
    อนุรักษ์ = การปกป้องรักษาสิ่งที่มีค่าเอาไว้
    ฟื้นฟู = พยายามบูรณะให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิม (หรือดีกว่าเดิม)
    — ทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่เราพยายามจะทำกันอยู่ในวันนี้
  • คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข โมเดลการเก็บกินแทนทำกิน ของครูบาซึ่งท่านเขียนไว้ในหนังสือโมเดลบุรีรัมย์ เป็นทางตรงไปสู่ชีวิตพอเพียง
  • ป่าเป็นทรัพยากรที่คนเรามักมองข้าม ใบไม้คายน้ำตามธรรมชาติ ทำให้ป่ามีความชุ่มชื้น เมื่อมีความชุ่มชื้น ดินก็ชื้น ทำให้ปลายรากไม้ทำงานหาอาหารได้ดีขึ้น ต้นไม้โต ความชื้นทำให้เกิด evaporative cooling โดยธรรมชาติ ทำให้อากาศเย็นสบาย เมื่ออากาศเหนือป่าเย็น ฝนก็ตก สวนป่ามหาชีวาลัยอีสานมีป่าเนื้อที่ 600 ไร่ ทำให้อากาศภายในสวนป่าเย็นกว่าข้างนอกสองสามองศาเสมอ แม้ในยามที่อากาศร้อนตับแตก แต่สวนป่าเย็นสบาย แม้จะปลูกป่าในเนื้อที่มากมาย (1 ตร.กม) ปลูกแล้วไม่ต้องประคบประหงม ไม่ต้องรดน้ำ ไม่ต้องใส่ปุ๋ย ปล่อยให้เทวดารดน้ำให้ ดินที่เคยร้อนเพราะแดดเผาจนต้องตะแคงเท้าเดินกลับกลายเป็นดินดีได้ ผักผลไม้ที่สวนป่างอกงามมาก
  • มีต้นยูคาอยู่ต้นหนึ่ง ครูบาปลูกเองกับมือเมื่อยี่สิบห้าปีก่อน สูงประมาณ 25 เมตร แต่จะต้องเอาลงเพราะอยู่ใกล้บริเวณที่จะปลูกสร้างโรงเรือน ต้นเปลาตรงเด่แต่ปลวกดินแก่น เมื่อตัดลงมาเนื้อไม้สีชมพู ให้คนตัดไม้ตีราคา เขาบอกว่าถ้าปลวกไม่กินแก่น จะสร้างบ้านได้สี่หลัง แต่เพราะตรงกลางเป็นโพรงที่ฐาน จึงสร้างได้เพียงสามหลัง แต่แม้หายไปหลังหนึ่ง ก็ยังดีราคาไม้ได้สามหมื่นบาท — ปลูกยูคาหนึ่งต้น ต้นทุนห้าบาทบวกกับเวลาสองนาที ปล่อยทิ้งไว้ให้เทวดาเลี้ยงตามหัวไร่ปลายนา ผ่านไปยี่สิบห้าปี เปลี่ยนเป็นเงินสามหมื่น ปลูกร้อยต้นได้สามล้าน ปลูกพันต้นได้สามสิบล้าน; ส่งลูกส่งหลานไปเรียนและทำงานในเมือง ทิ้งพ่อทิ้งแม่ ทำงานทั้งชาติจะหาเงินขนาดนี้ได้หรือ
  • แต่ระหว่างรอต้นไม้โต จะหารายได้จากไหน? ก็ปลูกพืชอย่างอื่นสิครับ ปลูกพืชที่กินได้ เก็บกินทุกวัน ทำไมต้องซื้อ ลดค่าใช้จ่ายได้มหาศาล วันหนึ่ง 24 ชั่วโมง นอนซะ 8 ชั่วโมง กิน 1 ชั่วโมง หากค่าใช้จ่ายลดลงได้เพราะถึงเราไม่ซื้อก็ไม่อดตายแล้ว เวลาที่เหลืออีกวันละ 15 ชั่วโมง จะหาเงินสุจริตแบบไหน โอเคทั้งนั้น
  • ป่าคือแหล่งพลังงานที่คนมักไม่เข้าใจ เนื้อไม้เป็นไฮโดรคาร์บอน เมื่อเผาจะให้พลังงาน… เรื่องนี้วิญญูชนก็ดูเหมือนเข้าใจดี แต่ที่จริงแล้วเข้าใจไม่ลึกซึ้งพอ
  • การตัดต้นไม้มาเผาเป็นฟืน ต้นไม้ใช้เวลาโตสิบปี โค่นลงมาเป็นฟืน เผาหมดในสองชั่วโมง เป็นการขาดทุนป่นปี้… แต่หากใส่ความรู้เข้าไป เราสร้างเตา gasifier ขึ้นมา — ซึ่งชาวบ้านสร้างได้เอง ต้นทุนถูก ประสิทธิภาพสูง — เป็น carbon negative (คือถ้าปล่อยให้ไม้ย่อยสลายในธรรมชาติ จะเกิดมีเทนซึ่งร้ายกว่าคาร์บอนไดออกไซด์มากมายนัก) การเผาแบบควบคุมไม่ให้ออกซิเจนเข้าในเตา gasifier ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการที่ปล่อยให้ย่อยสลายตามธรรมชาติ แถมยังได้ถ่านคุณภาพสูงที่ดูดความชื้นได้ด้วย เอาไปโปรยลงดิน เปลี่ยนดินเป็นดินดำที่อุดมสมบูรณ์ เรียกว่าถ่าน biochar มีเหลือจะขายก็ได้ (ขายในราคาเหมือนปุ๋ย ไม่ใช่ขายในราคาของถ่าน รายได้จะเพิ่มขึ้นมากมาย) แล้วไม้ที่เอามาเผา ก็เป็นกิ่งไม้ที่หักตามธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่ต้องตัดต้นไม้เลย (หรือจะตัดแต่งกิ่งก็ได้ ยิ่งตัดยิ่งแตก) ปริมาณไม้คิดเป็นน้ำหนัก ใช้กิ่งเล็กๆ ดีกว่าใช้ซุงท่อนใหญ่ๆ เมื่อเผาแล้ว ได้ก๊าซที่จุดไฟได้เป็นเปลวสีน้ำเงินเหมือนก๊าซหุงต้ม (ไม่ต้องซื้อก๊าซหุงต้มอีกต่างหาก) เศษไม้ครึ่งกิโล จุดไฟได้ครึ่งชั่วโมง พอสำหรับทำกับข้าว ถ้าไม้หมดแล้วยังทำกับข้าวไม่เสร็จ ก็เติมเศษไม้ไปได้เรื่อยๆ
  • ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เยอรมันถูกปิดล้อม ไม่มีน้ำมัน วิศวกรเยอรมันใช้ gasifier ผลิตก๊าซเชื้อเพลิงขึ้นมา ส่งเข้าคาร์บูเรเตอร์ใช้ขับเคลื่อนรถยนต์ได้ โดยไม่ใช้น้ำมัน แต่เพราะภูมิอากาศเขาไม่ค่อยมีกิ่งไม้ที่เอามาใช้ได้ เขาใช้ถ่านหินซึ่งเป็นไฮโดรคาร์บอนเหมือนกับไม้เช่นกัน ก็ไปได้ในระยะที่ไกลกว่าเพราะถ่านหินหนักกว่าไม้ในปริมาตรที่เท่ากัน รถเมล์และแท็กซี่ในลอนดอนสมัยเดียวกัน ก็ใช้ก๊าซเชื้อเพลิงนี้วิ่งเหมือนกัน
  • เรื่องเหล่านี้ ดูยุ่งยากที่จะเข้าใจ ซึ่งก็ดีแล้วที่ไม่มีเวลาพูดครับ เดี๋ยวจะงงกันไปใหญ่ — ประเด็นสำคัญคือเมื่อใส่ความรู้ที่ถูกต้องลงไป เทคโนโลยีชาวบ้านเป็นทางออกสำหรับคนในพื้นที่ ชาวบ้านไม่ต้องเช้าใจหลักการทำงานทางวิทยาศาสตร์ แต่สามารถสร้างตามแบบและใช้งาน+บำรุงรักษาได้เองโดยใช้วัสดุราคาถูกที่มีในพื้นที่

หลังจากนั้นก็ร่วมกันทอดผ้าป่า ได้ปัจจัยรวม 215,437 บาท จากนั้นพวกที่กลับก็แยกย้ายกันครับ เม้งขับลงใต้สองวัน อารามขับขึ้นเหนือถึงบ้านหัวค่ำ ผมขับกลับบุรีรัมย์ แต่มืดกลางทางซึ่งผมไม่เสี่ยงขับรถกลางคืน ก็เลยนอนพักที่ชัยภูมิก่อนกลับสวนป่าในวันรุ่งขึ้น

[ภาพกิจกรรมของวันที่ 9 ธค 2556]

เป็นงานเฮฮาศาสตร์ที่ประทับใจมากอีกครั้งหนึ่ง ขอขอบพระคุณพี่บู๊ด ส.ป.ก. เจ้าหน้าที่ทุกท่าน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ สำหรับการเดินทางไปศึกษาบริบทของพื้นที่ให้เห็นและเข้าใจของจริงครับ

« « Prev : กาละสักการ ที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

Next : กราบพระศพสมเด็จพระสังฆราช » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "เฮสิบ ห้วยขาแข้ง"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.40508794784546 sec
Sidebar: 0.20180797576904 sec