ขั้นบันไดชะลอน้ำฝน

อ่าน: 6694

มนุษย์มักไม่ค่อยพอใจในสิ่งที่มี หลังจากแล้งหนักมาแปดเดือน ตอนนี้เป็นช่วงที่ฝนตกหนัก ภูเขาก็กลายเป็นภูเขาหัวโล้นไปหมด เมื่อฝนตกหนัก น้ำฝนไหลลงสู่ที่ต่ำตามแรงโน้มถ่วง แต่ว่าภูเขาเป็นพื้นที่รับน้ำขนาดใหญ่ เมื่อปริมาณน้ำไหลลงมารวมกันในร่องน้ำ ก็จะเป็นปริมาณน้ำมหาศาล ซึ่งเมื่อลงมาสู่ถิ่นที่อาศัยของคนซึ่งอยู่ด้านล่าง น้ำก็ระบายออกไม่ทันเนื่องจากน้ำปริมาณมหาศาล ไหลมาพร้อมๆ กัน บ้านเรือนเทือกสวนไร่นาทรัพย์สินเสียหาย

เรื่องอย่างนี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ฝนจะตก ก็ต้องตก ปริมาณน้ำที่จะไหลมา ยังไงก็ไหลมาตามร่องน้ำเดิม โครงการแก้มลิง ในลักษณะที่เป็นแหล่งน้ำของชุมชน สามารถแก้ปัญหาได้สองอย่างคือ เป็นที่เก็บกักน้ำในเวลาที่มีน้ำมาก และแก้ไขความแห้งแล้งในเวลาที่มีน้ำน้อย แต่ทว่าแก้มลิงต้องการปริมาตรบรรจุน้ำมหาศาลเพื่อหน่วงน้ำไว้ ไม่ให้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนของชาวบ้าน เนื่องจากที่ดินมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการทำโครงการแก้มลิง จึงต้องทำโดยรัฐซึ่งมีกำลังสูงกว่าใครทั้งนั้น

ในลุ่มน้ำน่านซึ่งไม่มีเขื่อน โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ความจุ 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตรได้รับการต่อต้านมาก แม้จะมีประโยชน์แต่อาณาบริเวณของเขื่อน 74,000 ไร่ จะท่วมป่าสักทองแหล่งสุดท้ายของเมืองไทย จึงมีโครงการสร้างฝายล้านฝายแทนเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งชาวบ้านให้การตอบรับเป็นอย่างดี โครงการอย่างนี้ประสานประโยชน์เรื่องการจัดการน้ำ โดยช่วยลดความขัดแย้งทางความคิดลง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะสร้างฝายจำนวนมากมาย (ตัวเลขล้านแห่งเป็นเพียงการเปรียบเทียบ) ก็ยังเป็นพื้นที่หน่วงน้ำตามทางน้ำเท่านั้น จะเป็นพื้นที่เล็กๆ เก็บกักน้ำไว้ตามลำธารที่น้ำไหล

ขอยืมรูปจากบันทึกแค่ภูมิใจ…ยังไม่พอ ซึ่งเป็นภาพเปรียบเทียบผลของการพัฒนาดอยตุงของสมเด็จย่ามาสองรูปครับ รูปข้างล่างด้านซ้ายถ่ายในปี 2530 ส่วนด้านขวาเป็นรูปปัจจุบัน

ดอยตุง ปี 2530 ดอยตุง ในปัจจุบัน

ในรูปล่างซ้ายของรูปซ้าย แม้ว่าภูเขาหัวโล้นไปแล้ว ก็ยังเห็นต้นไม้ขึ้นตามทางน้ำธรรมชาติ เนื่องจากดินแถวนั้นมีความชุ่มชื้นสูงกว่าบริเวณอื่นของภูเขา ทำให้ต้นไม้เจริญงอกงามได้ดีกว่า แม้ว่าทางน้ำนั้นจะมีความลาดเอียงสูง (คือน้ำไหลผ่านในเวลาที่ไม่นาน)

ดังนั้นหากเราสามารถกระจายความชุ่มชื้นจากน้ำฝนไปทั่วๆ ภูเขาหัวโล้น ก็จะทำให้ภูเขาทั้งลูก ชุ่มชื้นทั่วกัน อาจจจะช่วยให้การฟื้นฟูภูเขาหัวโล้นประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น

นักมานุษย์วิทยาอ้างว่ามีการทำนาขั้นบันไดในจีนมากว่าสี่พันปีแล้ว พื้นที่ทางตะวันตกและทางตอนใต้ของจีน เป็นป่าเขาไม่มีที่ราบลุ่ม แต่ว่ามีฝนชุก ดังนั้นชาวบ้านจึงปรับพื้นที่เขา ให้เป็นแปลงปลูกข้าวเป็นขั้นๆ ขนาดเล็กๆ ลดเรียงกันลงมาตามความลาดชันของภูเขา

[รูป]

ผมไม่อยากให้ทำนาบนเขา เพราะจะทำให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ภูเขา อีกอย่างหนึ่งคือบ้านเรามีพื้นที่ราบเพียงพอ แต่ว่าแนวคิดของการทำนาแบบขั้นบันได้นั้น น่าสนใจในแง่ที่ใช้พื้นที่ภูเขาชะลอน้ำฝนไว้ได้ เป็นสิ่งที่ชาวบ้านถือจอบอันเดียว เดินขึ้นเขา เซาะร่องเล็กๆ ขนาดไม่เกินหนึ่งคืบในแนวระนาบ ขวางทางน้ำเอาไว้เป็นขั้นๆ ทุกๆ ระยะสองสามเมตร

การทำอย่างนี้ ไม่ต้องตัดต้นไม้ ถ้าแนวร่องไปเจอต้นไม้ ก็ข้ามต้นไม้ไปเซาะต่อถัดไปเลยในระดับเดียวกัน แล้วการทำอย่างนี้ ใช้แรงกับความตั้งใจ แต่ไม่ใช้ทุนครับ

เมื่อฝนตกบนเขา ความเร็วของน้ำที่ไหลลงมาข้างล่างก็จะชะลอลง เก็บความชุ่มชื้นไว้บนเขา เป็นต้นทุนของน้ำผุดซึ่งเป็นต้นน้ำลำธาร ลดความรุนแรงของน้ำป่าไหลหลาก แถมเก็บน้ำไว้กับธรรมชาติ ให้ช่วยทยอยปล่อยน้ำออกมาตลอดปี เพิ่มต้นทุนของน้ำตกและแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ เมื่อดินบนเขาชื้น ต้นไม้ก็โตเร็วขึ้น ทั้งวัชพืชและต้นไม้ใหญ่ ป่าบนเขาก็อุดมสมบูรณ์ขึ้น พอป่ากลับมา ทีนี้กลายเป็นตัวชะลอน้ำฝนที่ตกบนเขาได้เป็นอย่างดี

« « Prev : เปลี่ยนพลาสติกกลับเป็นน้ำมันดิบ

Next : เปลี่ยนคาร์บอนเป็นน้ำมันดิบ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

8 ความคิดเห็น

  • #1 chakunglaoboy ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 August 2010 เวลา 10:46

    ผมคิดว่ามันต้องปรับวิถีคิดครับ โดยเฉพาะข้าราชการ (การเมือง) และชาวบ้านในพื้นที่ (ที่ต้องหวงแหน) ทุกคนรู้เหมือนกันหมดว่า ถ้าฝนตกหนัก จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หากอยู่ในสภาพอย่างนี้ แต่คนที่ลงมือทำ เพื่อป้องกันสิ่งเหล่านี้ยังไม่มี นักการเมือง นักธุรกิจใหญ่ เข้าจับจองพื้นที่บนภูเขา ตัดไม้ทำลายป่าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันตามสื่อต่างๆ สุดท้ายก็ น้ำท่วมที ได้ผลาญงบที ไม่เกิดการเรียนรู้ และที่สำคัญ ไม่เคยเข็ดและจำ ครับ

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 August 2010 เวลา 11:39
    กรณีของเมืองไทย คงจะเป็น multiple failure ครับ คือล้มเหลวในหลายๆ ด้านพร้อมกัน มองไปทางโน้นก็มีปัญหา ทางนี้ก็ใช้ไม่ได้

    แก้จุดใดจุดหนึ่งไม่เวิร์ค แต่ก็ยังมีคนคิดว่าจะต้องอย่างนี้อย่างนั้น ทำอย่างกับว่าแก้ไขในสิ่งที่ตัวเสนอแล้ว อย่างอื่นจะดีไปเอง อันนี้เป็นความคับแคบของคน อ.วรภัทร์ เรียกไว้หลายปีก่อนว่า รู้ลึก แต่โง่กว้าง — ความรู้ในเชิงลึกเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่ว่าโอกาสที่ปัญหาจะมาตรงกับสิ่งที่รู้นั้น กลับมีน้อย เพราะความแคบไงครับ

    ระบบราชการก็แคบ แต่จะไปว่าเค้าก็ไม่ถนัดปาก เพราะว่าดันเกิดมาจากกฎหมาย หรือกฎกระทรวงที่แบ่งส่วนราชการ ทำให้การทำงานออกนอกวงไม่ได้ ส่วนใครเข้าไปยุ่ง ก็แง่งๆ ใส่เขาตลอด หวงเขต อย่าได้แหยมเข้ามาในถิ่นของเขา

    นักธุรกิจก็แคบ จะเอาแต่เรื่องของตัว เอาเปรียบอะไร เบียดเบียนใคร ไม่สนใจทั้งนั้น ขอให้ได้กำไรเยอะๆ ทำเหมือนเป็นผีเปรตตายอดตายอยากมา

    ชาวบ้านต้องอยู่ได้ก่อนนะครับ ถ้าชาวบ้านอยู่ไม่ได้ ก็เหมือนคนมีแผลเปิด รอไปเรื่อยๆ เลือดออกหมดตัว ชาวบ้านจึงต้องเรียกร้องเพราะเขาช่วยตัวเองไม่ได้ พอเรียกร้องปุ๊บ ก็ไปเข้าทางผู้ที่หยิบยื่นผลประโยชน์ระยะสั้นให้-แลกกับการกอบโกยกินยาว ชาวบ้านเค้าไม่โง่หรอกครับ แต่ไม่เหลือทางเลือกมากนัก คนขาดอากาศหายใจก็ต้องดิ้นรน แล้วชาวบ้านก็กลายเป็นฐานหนุนการประกอบความชั่วร้ายทั้งหลาย ไม่ว่าจะโดยกลุ่มไหนก็ตาม แต่พวกคนชั่วนี้ มักมีเปลือกซึ่งดูดีเสมอ

    การแก้ไข เราก็มักจะคิดเอาง่ายๆ (นั่งเทียนอยู่ในเมืองนี่แหละรู้ไปหมด เหมือนผู้ใหญ่ ผู้รู้ ผีบุญ ฯลฯ) ว่าทำอย่างนี้แล้วจะดี ซึ่งอันนั้นก็เป็นเพียงมุมมองแคบๆ ครับ ปัญหาของแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน ทำไมวิธีแก้ปัญหาที่เสนออย่างเดียว จึงจะแก้ได้หมดทุกท้องถิ่นในเมื่อตัวปัญหาไม่เหมือนกัน เคยเห็นของจริงบ้างหรือยังก็ไม่รู้

    พูดไปก็เท่านั้นล่ะนะครับ การกล่าวโทษคนอื่นเป็นเพียงการชี้นิ้ว ไม่ได้ทำให้เกิดอะไรขึ้นมาเลย ข้อเสนอในบล็อกนี้ ถ้าพิจารณาแล้วว่าดี ก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนทำได้เองตามกำลัง ไม่ต้องรอเงื่อนไขต่างๆ คือผมเบื่อการเรียกร้องต่อรัฐมากเลยครับ ต่อให้รัฐยอมทำ แล้วทำได้ดีไหม?

    เซาะร่องชลอน้ำบนเขานี้ ลงแรงไม่ต้องลงเงินครับ แต่เอาแรงไปลงทุนเก็บกินกับน้ำ+ต้นไม้ในอนาคต

  • #3 freemind ให้ความคิดเห็นเมื่อ 30 August 2010 เวลา 21:57

    อ่านบันทีกนี้นอกจากได้ความรู้เรื่องการชลอน้ำฝนด้วยการเซาะร่องดินแล้ว
    ยังโดนใจ (อย่างแรง) กับคอมเม้นท์ทั้งสองค่ะ
    อ่านไปยิ้มไป ไม่ได้ขำ แต่ช่างชะแหละ “ระบบ” ได้แจ่มแจ้งดีจริง ๆ
    ขออนุญาต Copy ข้อคิดเช่นนี้ไปเป็นประเด็นคุยกับเพื่อน ๆ ค่ะ

  • #4 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 September 2010 เวลา 2:24

    ๑ การกัดเซาะของฝนต่อทางลาดเอียงนั้น ก่อให้เกิดการตื้นเขินของลำห้วย และรัฐต้องเสียงบประมาณนับหลายพันล้านต่อปี ไปขุดลอก ปัจจุบันเป็นงบของ อปท. ซึ่งจำนวนมากสนุกกับการใช้งบตัวนี้ อย่างที่รู้ๆกัน เรื่องแบบนี้ชอบ และไม่เคยคิดอ่านไปแก้ที่ต้นเหตุ
    ๒ โครงการที่ทำอยู่ในช่วงต้นๆก็มีแผนงานปรับปรุงพื้นที่ลาดเอียงให้เป็นขั้นบันได โดยใช้งบประมาณ ตามระบบราชการ แต่เมื่อเอาแนวคิดนี้ไปคุยกับชาวบ้านตอนแรกๆก็เห็นดีเห็นชอบ แต่เมื่อลองทำเป็นกรณีตัวอย่าง เท่านั้นแหละเป็นเรื่อง เพราะวิชาการทางราชการนั้น ไปปรับคันนาชาวบ้านหมดแล้วจัดทำใหม่เหมือนการจัดรูปที่ดิน ที่สำนักจัดรูปที่ดินทำอยู่ ในวิชาการนั้นเขาก็ยืนยันเช่นนั้นว่าต้องทำแบบนี้ ตรงลาดเอียงก็ปาดลงมาเอาไปถมส่วนที่ล่างลงไป หากพบคันนาก็ปรับไปตามรูปแบบวิชาการ ชาวบ้านไม่เอาเลย เขาไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงตามที่ทางราชการมาอธิบาย ในที่สุดไม่ได้ทำเพราะชาวบ้านไม่เอา ….
    ๓ เคยไปเที่ยวสิบสองปันนากับทีม RDI เมื่อปีก่อน พบว่า ภูเขาของเขาหัวโล้นมากแต่กำลังปลูกยางพารา ทั้งภูเขา แต่สิ่งที่เห็นคือ เขาทำขั้นบันไดก่อน ที่จะเอากล้ายางลงปลูก ถามไกด์ว่าเขาใช้เครื่องจักร์ทำขั้นบันไดหรือ ไกด์บอกว่า ใช้แรงคน ทำหมดทั้งภูเขาไม่รู้กี่ลูกต่อกี่ลูก คนจีนซะอย่าง ทำได้หมด แต่ข้ามมาเข้าฝั่งลาวก็กำลังปลูกยางพารา เหมือนกัน แต่ไม่มีการทำขั้นบันได อย่าถามฝั่งไทย อยากดูก้ไปที่หนองบังลำภูดินแดนที่ต่อกับจังหวัดเลย ภูเขาหัวโล้นมากมายมหาศาล และกำลังมีการกว้านซื้อปลูกยางพารา ที่กำลังบ้าคลั่ง โดยไม่มีการทำขั้นบันได ผมไปมาเมื่อปีก่อน เพราะชาวบ้านชวนไปซื้อที่ดิน แอบไปดูแล้วบอกว่า ไม่เอาไม่ซื้อ เสี่ยง..
    ๔ เห็นด้วยแนวคิดนี้ การปลูกต้นไม้นั้น ในดงหลวงชาวบ้านพิสูจน์แล้วว่า เพียง 3 ปี พื้เนที่โล่งโจ้งนั้นเขียวหมดด้วยพืชนานาชนิด ล้วนเป็นพืชกินได้ สลับไม้ป่ายืนต้น ตั้งใจจะไปเอาข้อมูลมาเขียนอย่างละเอียดอีกครั้ง ยังไม่มีเวลาไปเลย…
    ๕ ถามว่า แนวคิดดีดีทำไมชาวบ้านไม่ทำกัน อันนี้เป็นเรื่องการพัฒนาคนไปแล้ว เราพบว่า การฝึกอบรมเพื่อเอาความรู้ไปให้นั้นก็ควรทำ แต่ไม่พอ คนที่เปลี่ยนพฤติกรรม มาจากเปลี่ยนวิธีคิด จะเรียกฐานคิดก็ใช่ คนเราจะเปลี่ยนตรงนี้ได้ เราพบว่า ต้องทำแบบเอาจริงเอาจัง ที่เราเรียกว่า “กระบวนการปลุกจิตสำนึก” ไปเปลี่ยนตรงนั้นก่อน แล้วหากเปลี่ยน แล้วมีสำนึกเรื่องเหล่านี้แล้ว แค่ดันตูดนิดเดียววิ่งแจ้นไปข้างหน้าเลย หากไม่มีสำนึก ทั้งลากทั้งจูง ทั้งดัน ขนาดเราลงคลุกคลี ยังเหนื่อย เพราะคนมันเปลี่ยนยากจริงๆ ยิ่งอิทธิพบสังคมเมืองเข้ามาครอบงำทุกวินาทีด้วยระบบการสื่อสาร เราจึงใช้แนววัฒนธรรมชุมชน แนววิเคราะห์ให้รู้เขาอย่างลึกแล้วออกแบบกระบวนการเฉพาะเขา วิธีการเช่นนี้ คนในระบบทำไม่ได้ เพราะไม่มีเวลา เงื่อนไข กรอบงานไม่เอื้อให้เขารทำ แม้อยากจะทำ
    ๖ เราจึงต้องการเอกชนทำงานคู่กับระบบราชการ และระบบอื่นๆ ในเรื่องการทำงานชุมชน ระบบโครงการพัฒนาที่เป็นโครงการใหญ่ๆนั้น ต้องทบทวนการออกแบบโครงการกันใหม่ อิอิ เสนอไปแล้ว เขาไม่เห็นอย่างที่เราเห็น น่ะซี

  • #5 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 1 September 2010 เวลา 7:38
    ขอบคุณสำหรับประสบการณ์จริงครับพี่ ร่องขนาดคืบเดียวที่ผมเขียนนี้ ยังเก็บน้ำไว้บนเขาได้บ้าง ชลอความเร็วของน้ำไหลได้บ้าง แต่ถ้าพื้นที่ชันเกินไป ก็ไม่ควรทำ เพราะว่าเสี่ยงต่อการทำให้เกิดดินถล่มครับ

    เรื่องยางพาราในจีน (และเวียดนามนั้น) น่ากังวลมากๆ เลยครับ ยางราคาดีมาหลายปี รัฐสนับสนุน ชาวบ้านก็ปลูก แต่กว่าจะกรีดได้ ปริมาณยางในตลาดโลกคงจะเพิ่มขึ้นมหาศาล ราคาอาจจะไม่สูงอย่างนี้ เสียดายเวลา แรงงาน และทุนที่ชาวบ้านลงไป

  • #6 ลานซักล้าง » ป่าต้นน้ำ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 September 2010 เวลา 10:02

    [...] ขั้นบันไดชลอน้ำฝน [...]

  • #7 ลานซักล้าง » ฝายชะลอน้ำได้… ขั้นบันไดก็ชะลอน้ำได้ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 October 2010 เวลา 20:41

    [...] บันทึกนี้เป็นเทคสอง อันแรกอยู่ตรงนี้ครับ [...]

  • #8 ลานซักล้าง » ร่องดักน้ำฝน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 October 2010 เวลา 0:58

    [...] ตามไปอ่านอันที่สองและอันแรก ซึ่งเป็นความคิดดั้งเดิมได้ [...]


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.18970489501953 sec
Sidebar: 0.14550614356995 sec