ประภาส เขียนถึงขงจื๊อ

โดย Logos เมื่อ 7 September 2008 เวลา 0:22 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 4663

ตีพิมพ์ในคอลัมน์​ “คุยกับประภาส” โดยประภาส ชลศรานนท์ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2545 และตีพิมพ์ใหม่ในหนังสือ “เชือกกล้วย มัดต้นกล้วย” ซึ่งได้มาเป็นของขวัญปีใหม่ปีนี้ครับ

ช่วงห้าร้อยปีก่อนคริสต์กาลนั้น ต้องถือว่าเป็นช่วงเวลาอันสำคัญที่สุดชองมนุษยชาติ เพราะโลกกลมๆ ใบนี้ได้มีมนุษย์วิเศษถือกำเนิดขึ้นมาในเวลาไล่เลี่ยกัน

ที่ผมเรียกว่ามนุษย์วิเศษ เพราะเราต้องยอมรับว่ามหาบุรุษเหล่านี้ไม่ใช่คนธรรมดา วิธีคิดและการปฏิบัติตัวของพวกเขาล้วนเป็นการยกระดับจิตใจมนุษย์

แล้วทำไมจิตใจมนุษย์ต้องถูกยกระดับด้วย

ทันทีที่อ่านจดหมายของคุณแฟนมะเฟืองจบ ผมก็พยายามจินตนาการไปถึงตอนที่มนุษย์ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกใหม่ๆ

ในตอนแรกๆ มนุษย์คงมีจำนวนไม่มากนัก เรื่องใหญ่ที่พวกเขาต้องคิดต้องทำก็น่าจะไม่ต่างอะไรกับกิจกรรมที่เราเห็นสัตว์ทำอยู่ในทุกวันนี้ นั่นคือ กิน นอน ถ่าย และผสมพันธุ์ แล้วผมจึงนึกต่อไปอีกว่า เมื่อจำนวนเพิ่มมากขึ้น มนุษย์คงไม่ได้อยู่เพียงลำพังเพียงคนสองคน หรือเพียงครอบครัวเดียว

เมื่อมนุษย์เริ่มก่อตั้งสังคมขึ้น มีการแลกเปลี่ยนปัจจัย ๔ กัน ปัญหาอันหลากหลายก็เริ่มก่อตัวตามมา นอกจากปัญหาเรื่องกิน นอน ถ่าย และผสมพันธุ์แล้ว ปัญหาใหม่อันเกิดจากการก่อสังคมก็เริ่มกลายเป็นปัญหาที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นั่นคือปัญหาอันเกิดจากจิตใจ

ลองไล่เรียงดูดีๆ สิครับ ปัญหาจิตใจของพวกเราทุกคนนี่มีรากเหง้ามาจากเรื่องสังคมแทบทั้งสิ้น

พอมาถึงตรงนี้มนุษย์ก็คงเริ่มหาทางแก้ไขปัญหาจิตใจกัน

สองพันห้าร้อยปีก่อน ที่กรุงเอเธนส์ โสเครติสประกาศแนวคิดเรื่องเหตุและผล โสเครติสเชื่อว่าเหตุผลเป็นคำตอบให้กับทุกคำถาม ส่วนทางชมพูทวีป เจ้าชายสิทธัตถะทรงละทิ้งราชบัลลังก์เพื่อออกผนวช แล้วจึงประกาศความจริงแห่งชีวิตสี่ประการ และก่อนที่พระองค์จะเสด็จปรินิพพาน พระองค์ยังทรงไขจักรวาลด้วยความจริงที่ว่า “ไม่มีสิ่งใดในเอกภพนี้เที่ยงแท้”

ในช่วงเวลาที่ไม่ห่างกันนักที่ประเทศจีน บันทึกหลายฉบับยืนยันตรงกันว่า น่าจะเป็นแปดปีก่อนพุทธศักราช นั่นคือเป็นปีที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ที่แคว้นหลู่ซึ่งเป็นแคว้นเล็กๆ แคว้นหนึ่ง ปัจจุบันอยู่ในมณฑลชานตุง ขงจื๊อได้ถือกำเนิดขึ้นในครรภ์ของนางจินไจซึ่งเป็นภรรยาของขงสกเลี่ยงขึก บิดาของขอจื๊อเป็นผู้ดีเก่าที่มีฐานะค่อนข้าวอัตคัด ขงจื๊อเกิดขึ้นมาท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวายของบ้านเมือง ประชาชนอดอยาก เสนาบดีฉ้อฉล เกิดมาได้ไม่นานนักบิดาของขงจื๊อก็ถึงแก่กรรม เมื่อฐานะของตระกูลตกต่ำลง ขงจื๊อจึงจำต้องปากกัดตีนถีบหาทางร่ำเรียนด้วยตนเอง

ในวัยเด็กขงจื๊อเป็นคนที่สนใจในเรื่องจารีต เขาศึกษาวิชาโบราณทั้งพิธีการและวิชาดนตรี โดยเฉพาะเครื่องสาย เมื่อเข้าวัยหนุ่มขงจื๊อได้ออกเดินทางเข้าเมืองหลวงเพื่อศึกษาดนตรีและจารีตของบรรพชน

ความฝักใฝ่ในจารีตและพิธีการทำให้ชื่อเสียงของขงจื๊อขจรขจาย เขายังชีพอยู่ได้ด้วยการรับสอนนักเรียน ลูกศิษย์ของเขามีทุกฐานะ ทั้งเจ้าขุนมูลนายทั้งไพร่ทั้งบ่าว

ที่ผมเคยเรียกขงจื๊อว่าเป็นโลกียปราชญ์นั้น เพราะคำสอนของขงจื๊อมิได้เป็นโลกุตรธรรมแต่อย่างใด อันที่จริงผมน่าจะเรียกคำสอนของเขาว่าเป็น “ศิลปะของวิถีชีวิตอันดีงาม” มากกว่าเป็นคำสอนของพระศาสดา ลองฟังตัวอย่างสักสองสามคำสอนดูก็ได้ครับ

“ความสุขเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง”

“เห็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วไม่ทำนั่นคือขาดความกล้า”

“สุภาพชนสามัคคีกันแต่ไม่สมคบกัน คนถ่อยสมคบกันแต่ไม่สามัคคีกัน”

คำสอนของขงจื๊อที่ตกทอดมาถึงรุ่นปัจจุบัน มักเป็นเหมือนสุภาษิตสั้นๆ อย่างนี้

และถึงแม้โอวาทของขงจื๊อจะถูกยอมรับนับถือเหมือนเป็นลัทธิหนึ่งของคนจีนทั้งประเทศ แต่ลักษณะของเขาเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่กลับเหมือนครูธรรมดาคนหนึ่ง

จะว่าไปคำสอนหลายคำสอนของเขาดูเป็นวิทยาศาสตร์เลยทีเดียว ลองดูประโยคนี้ก็ได้ ไม่น่าเชื่อนะครับว่าจะเป็นคำพูดของคนเทื่อสองพันห้าร้อยปีก่อน

“การสำเหนียกว่าตัวเองไม่รู้ ถือเป็นความรู้อย่างหนึ่ง”

แม้จะเป็นผู้ชำนาญด้านจารีตและพิธีการ แต่ขงจื๊อกลับไม่ให้ความสำคัญกับเครื่องลางของขลัง รวมไปถึงการสืบทอดอำนาจต่อทางทายาท ขงจื๊อยอมรับว่ามนุษย์นั้นเท่าเทียมกัน แม้ว่ายุคนั้นจะไม่ใช่ยุคที่รู้จักระบอบประชาธิปไตยกันสักเท่าใด

ฟังเรื่องนี้แล้วนึกถึงแนวความคิดประชาธิปไตย ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำมาใช้ก่อนที่ประเทศอังกฤษจะใช้อีกนะครับ ใครที่เคยไปทอดกฐินคงจะนึกออกเวลาจะถวายผ้ากฐินนี่ต้องมีที่ประชุมสงฆ์นะครับ และจะมีคำกล่าวทำนองว่า พระรูปนี้จะรับผ้ากฐิน มีสงฆ์รูปใดจะคัดค้านบ้างไหม เพราะถ้ามีใครคัดค้านก็ไม่สามารถกรานกฐินได้

น่าทึ่งนะครับที่พระสงฆ์เมื่อครั้งพุทธกาลก็ใช้ระบอบประชาธิปไตยแล้ว

กลับมาที่เรื่องของขงจื๊อต่อ หลังจากที่ลูกศิษย์ลูกหาของเขาขยายสาขาออกไปมากมายตามเมืองตามแคว้นต่างๆ แล้ว ขงจื๊อก็พยายามที่จะเข้ามามีส่วนในการบริหารประเทศ ถ้าพูดเป็นภาษาสมัยนี้ก็ต้องบอกว่าขงจื๊อจะเล่นการเมืองนั่นเอง

ขงจื๊อเดินทางไปทั่วทุกแคว้นกับกลุ่มลูกศิษย์ของเขาเพื่อใฝ่หาผู้มีอำนาจคนใหม่ๆ ให้เขาได้สร้างโลกอย่างที่เขาจินตนาการ

แต่เพราะบุคลิกส่วนตัวของเขา ทำให้เขาค่อนข้างผิดหวังกับเรื่องนี้ แม้ขงจื๊อจะเป็นบุรุษสูงสง่า มีรูปตาที่เฉียงตามลักษณะอันดีของชาวจีน แต่ขงจื๊อเป็นคนที่พูดจาตรงไปตรงมา ขนาดชนชันปกครองมาหาขงจื๊อเพื่อให้สั่งสอนรัฐศาสตร์ ของจื๊อยังพูดประโยคแรกก่อนสอนเสมอว่า

“ปกครองตัวเองก่อนแล้วจึงปกครองผู้อื่น”

เล่นการเมืองแล้วพูดจาตรงไปตรงมา ใครๆ ก็รู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ ตัวขงจื๊อเองก็คงรู้ ในที่สุดผู้เฒ่าชงจื๊อก็กลับบ้านด้วยความอ่อนล้า แม้ดวงตาจะยังส่อประกายอย่างพญามังกร ขงจื๊อก็ยังรู้สึกว่าตนเองล้มเหลวอยู่ตลอด

เมื่อมหาปราชญ์ถึงแก่กรรมลง ลูกศิษย์ลูกหามากมายที่เคารพรักดั่งบิดาสมัครใจไว้ทุกข์ตามธรรมเนียมจีนโบราณเป็นเวลาสามปี เขียนไม่ผิดหรอกครับสามปีจริงๆ คนจีนโบราณนี่ไว้ทุกข์นานมากอย่างไม่น่าเชื่อ ถึงทุกวันนี้ก็ยังคงสืบทอดต่อกันมาแม้จะลดทอนเวลาให้สั้นลงบ้าง คงเคยเห็นนะครับที่คนไทยเชื้อสายจีนไว้ทุกข์ให้บรรพบุรุษ บางแห่งก็กินเวลาหลายเดือนเหมือนกัน

ซึ่งการได้มาอยู่ร่วมกันเป็นเวลสนานอย่างนี้ ทำให้ลูกศิษย์ทั้งหลายมีเวลาที่จะรวบรวม ถกเถียง จนรวมไปถึงการวิเคราะห์คำสอนของขงจื๊อที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป แล้วก็นำมาทำให้เป็นลายลักษณ์อักษร

และจากบันทึกของบรรดาสานุศิษย์ในครั้งนั้น ประเทศจีนอันกว่างใหญ่ไพศาลจึงได้ถูกร้อยรัดด้วยลัทธิคำสอนเดียวกัน อันเกิดจากความคิดและการสอนของผู้ชายคนหนึ่งที่ปรารถนาให้มนุษย์มีวิถีชีวิตที่ดีงาม

แม้ว่าอีกสามร้อยปีต่อมา กษัตริย์บางองค์จะไม่ยอมรับคำสอนของขงจื๊อ จนถึงขนาดสั่งเผาหนังสือขงจื๊อให้หมดไปจากแผ่นดินจีน แต่โอวาทของขงจื๊อกลับแทรกซึมไปอย่างเงียบๆ จนในที่สุดลัทธิขงจื๊อได้กลายเป็นลัทธิประจำชาติไป

มีบันทึกฉบับหนึ่ง ชื่อว่า “บันทึกเหลียจื้อ” ได้กล่าวถึงขงจื๊อได้อย่างเห็นภาพที่สุด

จื้อกง จื้อลู่ จื้อจาง และหยวนหุย เป็นศิษย์เอกของขงจื๊อ ส่วนจื้อเซี่ยเป็นลูกศิษย์ใหม่ วันหนึ่งจื้อเว๊่ยเห้ฯขงจื๊อนั่งอยู่ จึกเดินเข้าไปถามอาจารย์ถึงเหล่าศิษย์เอกว่า

“หยวนหุย คนนี้เป็นอย่างไร”

“หยวนหุยเป็นคนมีเมตตาธรรมยิ่งกว่าข้าพเจ้า” ขงจื๊อตอบ

“จื้อกงเป็นอย่างไร” จื้อเซี่ยถามอีก

“จื้อกงเป็นคนมีฝีปากคมคายเหนือข้าพเจ้า” ขงจื๊อตอบ

จื้อเซี่ยจึงถามต่อไปอีกว่า “จื้อลู่เป็นคนอย่างไร”

ขงจื๊อตอบว่า “ความกล้าหาญของจื้อลู่นั้น ข้าพเจ้ามิอาจเทียบได้”

จื้อเซี่ยถามอีกว่า “แล้วจื้อจางเล่า เป็นคนอย่างไร…ท่านอาจารย์”

“จื้อจางมีความเคร่งครัดเป็นอย่างมาก พิเคราะห์โดยเป็นธรรมแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่าจะมีมากกวาข้าพเจ้าเสียด้วย”

จื้อเซี่ยได้ฟังดังนั้นก็รู้สึกประหลาดในจึงลุกขึ้นยืนแล้วถามว่า

“ในเมื่อคนหล่านั้นต่างก็เหนือกว่าท่าน แล้วทำไมพวกเขาจึงมาสมัครใจศึกษาความรู้จากท่านโดยถือเอาท่านเป็นครูเล่า”

ขงจื๊อจึงตอบว่า “นั่งลงเถิดท่านจื้อเซี่ย ฟังข้าพเจ้าอธิบายก่อน หยวนหุยนั้นมีเมตตาธรรมก็จริงแต่ขาดความพลิกแพลง จื้อกงมีฝีปากดี แต่อ่อนน้อมถ่อมตนน้อยเกินไป จื้อลู่เป็นคนกล้าหาญมากแต่ไม่รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว ส่วนจื้อจางถึงจะเป็นคนที่เคร่งครัดกับขนบอย่างมาก แต่ก็เข้ากับผู้คนเขาไม่ค่อยได้…

“ทั้งสี่คนนี้แต่ละคนมีจุดดีจุดด้อยของตน และทั้งสี่คนยอมรับในจุดด้อยของตัวเอง จึงได้ยินดีมาสมัครเป็นลูกศิษย์เพื่อศึกษาจากข้าพเจ้า”

เป็นบันทึกที่ยาวจัง พิมพ์จนเมื่อยเลย คัดลอกมาเพื่อเป็นแง่คิด มาจากหน้า 85-91 ของหนังสือดังกล่าวซึ่งมี 256 หน้า อ่านแล้ว รู้สึกอย่างไรครับ

« « Prev : ธรรมดานี่แหละยากที่สุด

Next : คิดสั้น » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 Lin Hui ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 September 2008 เวลา 11:15

    ขอบคุณมากคะคุณคอนฯ ที่นำเรื่องดีๆมาให้ทบทวน ข้าพเจ้า ขอคารวะท่านขงจื้อ คำสอนอันเป็นอมตะ ที่บิดาข้าเจ้าได้ถ่ายทอดคำสอนท่านแก่ลูกๆ ให้เข้าใจโดยการปฏิบัติให้เห็นอย่างเป็นธรรมชาติ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความกตัญญูรูุ้้คุณ  มีเมตากรุณา ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากอย่างปราณี แล้วจะสุขใจ
    ทำดีได้ดีค่ะ

  • #2 หมอเจ๊ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 September 2008 เวลา 11:18

    “ทั้งสี่คนนี้แต่ละคนมีจุดดีจุดด้อยของตน และทั้งสี่คนยอมรับในจุดด้อยของตัวเอง จึงได้ยินดีมาสมัครเป็นลูกศิษย์เพื่อศึกษาจากข้าพเจ้า”

    บ่งบอกว่า นี่แหละคือกระบวนกรตัวอย่าง ดูออก ดูเป็นว่าควรเชื่อมโยงรัดร้อยผู้คน เพื่อให้เกิดชุมชนสามัคคีของบรรดาคนที่เขาเป็นสุภาพชนของเขาอยู่แล้วมุมใด อย่างไร

    สุภาพชนที่แท้จริงนั้น มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ยอมรับจุดด้อยในตน ยอมรับจุดดีในตนว่าไม่ใช่ที่สุดของดี ยอมรับในความเป็นจริง จึงไม่มีเงื่อนไขติดกรอบการเรียนรู้ ทำให้ได้เรียนรู้เพิ่มไปอีกด้วย

    ขอบคุณที่นำมาฝากนะค่ะ

  • #3 Sasinand ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 September 2008 เวลา 12:30

    ถ้าคนเรา ยอมรับในจุดด้อยของตนเองได้อย่างจริงใจ ก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติมากขึ้น เพราะอัตตาและทิบิ จะน้อยลงมากค่ะ

  • #4 BM.chaiwut ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 September 2008 เวลา 23:22

    “ฟังเรื่องนี้แล้วนึกถึงแนวความคิดประชาธิปไตย ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำมาใช้ก่อนที่ประเทศอังกฤษจะใช้อีกนะครับ ใครที่เคยไปทอดกฐินคงจะนึกออกเวลาจะถวายผ้ากฐินนี่ต้องมีที่ประชุมสงฆ์นะ ครับ และจะมีคำกล่าวทำนองว่า พระรูปนี้จะรับผ้ากฐิน มีสงฆ์รูปใดจะคัดค้านบ้างไหม เพราะถ้ามีใครคัดค้านก็ไม่สามารถกรานกฐินได้”

    คิดว่าคนเขียนน่าจะ… เคยเขียนวิจารณ์ไว้เล็กน้อย คลิกที่นี้

    เจริญพร


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.25167798995972 sec
Sidebar: 0.052361011505127 sec