งานวันรวมพลังรับมือภัยพิบัติ

โดย Logos เมื่อ 6 May 2012 เวลา 2:05 ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้, สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 5174

เมื่อวาน โครงการรวมพลังรับมือภัยพิบัติ ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. จัดงานวันรวมพลังรับมือภัยพิบัติขึ้นเป็นครั้งแรก ที่หอประชุมใหญ่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผมไปงานนี้ในฐานะเพื่อนของผู้จัด

เดี๋ยวนี้ผมไม่ค่อยจะไปงานไหนเนื่องจากจะเตรียมตัวไปอยู่สวนป่า ไม่อยากให้เกิดงานผูกพันมากเกินไปเนื่องจากข้อจำกัดของระยะทาง แต่ที่เลือกไปงานนี้ก็มีหลายเหตุผลครับ

  1. งานนี้ไม่ใช่งานปล่อยของ ไม่ใช่งานโปรดสัตว์ซึ่งผู้รู้มาบรรยายโดยมีผู้ฟังเป็นตัวประกอบเหมือนงานสัมนาทั่วไป ช่วงเช้าเป็นพิธีการและการติดเครื่อง ส่วนช่วงบ่ายเป็นเวทีของความคิดอิสระซึ่งผู้เข้าร่วมงานเสนอเรื่องเอง พูดเอง ฟังเอง สรุปเอง เลือกหัวข้อที่อยากมีส่วนร่วมเอง (Open-space Meeting) โดยผู้จัดไม่ปักธงมาล่วงหน้า แต่ปล่อยให้เป็นไปตามพลวัตของกลุ่มและผู้ที่มาเข้าร่วม
  2. ผมพอรู้เรื่องภัยพิบัติอยู่บ้าง และผมศึกษาเรียบเรียงแผนการรับมือภัยพิบัติที่มีความซับซ้อนมานานหลายปีแล้ว ใครจะเรียกผมว่าผู้เชี่ยวชาญก็เป็นเรื่องของเขานะครับ ผมรู้หลายอย่างแต่ไม่ได้รู้ทุกอย่างและไม่ได้หลงแสดงตนว่ารู้ไปหมดทุกเรื่องทำได้หมดทุกเรื่อง ผมเพียงแต่พอจะให้แง่คิดในเรื่องที่ผมศึกษามาแล้วได้เหมือนกันถ้าบริบทเหมาะสม
  3. ผมอยากไปฟังว่าคนทำงานในภาคประชาชน คิดอย่างไร เตรียมตัวในเรื่องการจัดการภัยพิบัติอย่างไร

ถึงตั้งใจไว้อย่างนั้น แต่ทำไม่ได้ ถูกแซวตั้งแต่เช้าเลยว่าสลึมสลือมางาน เห็นอัพเดต status ตั้งแต่เช้ามืดเลย นอนดึกตื่นเช้าอย่างนี้ จะไหวหรือ… ผมไม่ได้นอนดึกตื่นเช้าหรอกนะครับ ผมไม่ได้นอนต่างหาก จึงไม่ได้ทั้งนอนดึก นอนไม่พอ หรือว่าตื่นเช้า ถึงอย่างไรช่วงเย็นก็ต้องกลับบ้านก่อนเนื่องจากอายุอย่างผมนี่ไม่ควรขับรถในช่วงที่แสงน้อยแล้ว จึงไม่สามารถอยู่ร่วมจนจบได้อยู่ดีนั่นแหละ

ครึ่งเช้าเป็นเรื่องพิธีการ แม้จะล่่าช้าไปหน่อย แต่ก็เข้าใจได้เนื่องจากมีงานใหญ่ชนกันหลายงาน ผู้ใหญ่ก็ต้องวิ่งรอก แต่ถ้าช่วงหนึ่งล่าช้าไปแล้ว ช่วงอื่นต้องปรับเวลาตามเหมือนกัน ไม่อย่างนั้นจะช้าไปทั้งกระบวน เมื่อพักกินอาหารเที่ยง ผมรู้สึกว่าไม่ไหวแล้วก็กลับบ้านก่อน มีรีวิวของงานนี้ที่เห็นอันแรกดังนี้ครับ

จับมือรวมพลังรับมือภัยพิบัติ 2555 ^^

ประชุมเสร็จก็ได้แผนการบริหารจัดการชุมชน จัดการน้ำที่แตกต่างกันไปแต่ละกลุ่ม

โดยภาพรวม นับว่ากระบวนท่าในการออกแบบความคิดวันนี้ (open-space meeting) น่าสนใจและมีประโยชน์มาก โดยเฉพาะการประชุมหัวข้อใดๆที่ต้องการระดมความคิดจากผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในแต่ละด้านมาวางแผนร่วมกัน ในเวลาที่จำกัด

เพียงแต่ผลที่ได้อาจจะยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดไว้ คือ “การเชื่อมเครือข่ายของคนแต่ละชุมชน แต่ละกลุ่มเข้าด้วยกัน เพื่อออกแบบแผนงานรับมือภัยพิบัติที่เป็นแผนระดับประเทศ”

ทั้งนี้ทั้งนั้น รูปแบบของการประชุมแบบ open space ไม่ใช่รูปแบบการประชุมที่ผู้จัดจะ “คาดหวังผลลัพธ์ หรือหาคำตอบใดๆ” หรือต้องไม่ตั้งธงว่าอยากอ่านรายงานการประชุมแบบไหน หรือในรายงานต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง มิฉะนั้น จะกลายเป็นการตีกรอบ หรือครอบงำความคิด (dominate) ผู้เข้าร่วมประชุมได้

แต่เป็นการประชุมที่ผู้จัดจะได้ “ลุ้น” ว่าจะได้เห็นอะไรมากกว่า

open-space ไม่มีผู้นำ เพราะทุกคนคือผู้นำ ^^

สำหรับผู้จัด ขอแสดงความยินดีด้วยนะครับ ผมคิดว่าสำเร็จทุกประการ แผนปฏิบัติการที่ได้ออกมายังไม่สำคัญเท่ากับกระบวนการจัดทำแผนซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ส่วนเวลาทำความรู้จักกันระหว่างเครือข่ายนั้น ยังต้องอาศัยเวลาอยู่ดี คบกันไปนานๆ ก็จะรู้เองว่าเป็นอย่างไร ทำอะไรได้ ต้องช่วยต้องเสริมต้องประสานกันตรงไหน

ในความเห็นของผม outcome จากงาน ไม่ควรจะเป็นสิ่งของสำเร็จรูปที่หยุดนิ่งเหมือนซากศพ แต่ควรจะเป็นกระบวนการต่อเนื่อง ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการมีปฏิสัมพันธ์ต่อเนื่องและยาวนาน มีการติดต่อสื่อสาร ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์

แล้วสำหรับงานนี้ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นผิดเวลา หลงกระแส แผนรับมือภัยพิบัตินั้นต้องทำในเวลาสงบ ขืนไปทำในยามที่เกิดภัยพิบัติขึ้นอย่างที่เห็นกันโดยทั่วไป อย่างนั้นไม่เรียกว่าแผนรับมือครับ เค้าเรียกว่าการเอาตัวรอดต่างหาก

น่ายินดีเหมือนกัน ที่สื่อยังให้ความสนใจเรื่องนี้อยู่มาก แต่การที่มีเครือข่ายภาคประชาชนตั้งแต่เชียงรายยันพัทลุงมาร่วมด้วยนั้น น่ายินดีอย่างยิ่งกว่าครับ ถ้าประโยชน์จะตกอยู่กับชาวบ้านจริงๆ ก็ไม่ควรจะมีแต่คนในส่วนกลางหรือกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นที่แห่มาร่วม แล้วการมาร่วมนั้นเป็นการมาร่วมแสดงความคิดเห็นจริงๆ (โดยเคารพต่อผู้อื่นด้วย) ไม่ใช่แค่มานั่งฟัง

« « Prev : ดินแทนปูน

Next : ประชุมภาคีโอเพ่นแคร์ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

9 ความคิดเห็น

  • #1 BM.chaiwut ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 May 2012 เวลา 8:44

    อ่านเพลินดี จึงอ่านเรื่อยๆ จนจบ (ตั้งแต่เป็นสมภาร โรคขี้เกียจอ่านก็ค่อยๆ กำเริบยิ่งขึ้น)

    ตอนใกล้ๆ จบ ก็เกิดความคิดเรื่องการประชุม ในฐานะที่เป็นสมภาร และมีรายชื่อให้มีส่วนเกี่ยวข้องในหลายเรื่อง… หลายๆ ครั้งที่รู้สึกว่าการประชุมไม่ได้เรื่อง คนที่ถูกเชิญมาต่างก็เสียสละ ต้องมานั่งฟังบุคลากรในหน่วยงานนั้นเถียงกันเอง แล้วเชิญมาทำไม ? (……….)

    ก็ขอบ่นเพียงแค่นี้

    เจริญพร

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 May 2012 เวลา 9:20
    การที่จะต้องมีองค์ประชุมเยอะๆ โดยนั่งเป็นใบ้กันไปหมดนั้น สันนิษฐานว่าเกิดจากสองอาการครับ คือ (1) ว้าเหว่ ขาดความอบอุ่นตั้งแต่เด็ก จึงต้องการคนไปนั่งเฝ้าเป็นเพื่อน ต่อให้ไปหลับก็ไม่เป็นไร หรือ (2) นับถือลัทธิ KPI แบบที่ต้องการปริมาณคนฟังเยอะๆ โดยไม่สนใจคุณภาพและไม่เกรงใจผู้เข้าร่วมประชุมเลยแม้แต่น้อย ถ้าไม่ติดว่าหุ่นไล่กาตุ๊กตาไล่กุ๊ยเซ็นชื่อเข้าร่วมไม่ได้ ก็คงใช้ไปแล้วล่ะครับ
  • #3 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 May 2012 เวลา 18:46
  • #4 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 May 2012 เวลา 23:16
  • #5 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 May 2012 เวลา 11:46

    กั่กๆๆๆ เห็นด้วยว่าการประชุมที่ทำๆกันน่าเบื่อมากๆเลยค่ะ ประเภทประชุม”สหวิชาชีพ”ก็เหมือนกัน ยังกะเอาอะไหล่รถยนต์แต่ละส่วนมาวางแล้วหวังว่ามันจะเป็นรถ(ได้เอง)ยังงั้นแหละ

    แล้วงานประชุมสัมมนาที่จัดๆก็น่าเบื่อมาก เสียดายเงิน เพราะสิ่งที่พูดไม่มีอะไรใหม่ ใครที่เชิญมาง่ายๆก็เชิญมาพูดซ้ำๆแบบเดิม แนวเดิมทุกงานไม่ว่าจะจัดโดยหน่วยไหน ถ้าแบบไม่มีหัวข้อมาก่อนแต่ใครใคร่ถกกันเรื่องใดแบบนี้ก็น่าสนุกดีนะคะ แต่สนใจว่าการควบคุมประเด็นทำโดยใคร และใครคือผู้รวบรวม รวมทั้งนำไปทำอะไรต่อ อย่างไร เพราะสิ่งอันตรายของการคุยกันคือไปเรื่อยๆโดยไม่รู้ว่าสิ่งที่คุยนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง มีประโยชน์อะไรบ้าง และทำอย่างไรให้ทุกคนได้พูด

  • #6 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 May 2012 เวลา 15:13
    ลองอย่างนี้ไหมครับ
    - ก่อนเริ่มงานอธิบายวิธีการและกติกา
    - ช่วงเช้าเป็นเรื่องพิธีการและการบรรยายหลักของธีมในแง่มุมต่างๆ
    - ระหว่างเบรคให้ผู้เข้าร่วมเขียนกระดาษไปแปะบนกระดานว่าอยากพูดเรื่องอะไรอยากฟังเรื่องอะไร หมดเขตตอนพักเที่ยง
    - ระหว่างพักเที่ยงผู้จัดแยกกระดาษเป็นกลุ่มให้เพื่อแบ่งกลุ่มช่วงบ่าย
    - อาจจะแบ่งเป็น 2 แทรก หมดชั่วโมงเปลี่ยนเรื่อง คุยกันได้แค่ไหนก็แค่นั้นดังนั้นประเด็นสำคัญมักโผล่ออกมาก่อน บ่ายมีเวลา 3 ชั่วโมงก็จะได้ 6 กลุ่ม
    - ผู้เข้าร่วมเลือกเองว่าจะเข้าร่วมแทรกไหน ถ้าเข้าร่วมไปแล้วรู้สึกว่าไม่ได้อะไร ย้ายไปแทรกอื่นได้ทันที
    - อาจต้องมีผู้สังเกตการณ์(อัศวพักตร์)แทรกซึม เพื่อไม่ให้รถไฟตกราง แต่ไม่ไปถือบังเหียนกลุ่ม
    - ในแต่ละกลุ่มแต่ละคนจะมีเวลาพูดไม่มากนัก ดังนั้นก็อย่าอรัมภบทหรือแนะนำตัวนานนัก เอาแต่เนื้อก็ได้ครับ อย่ามาบ่นชี้นิ้วหรือปล่อยของให้เสียเวลาคนอื่นเค้า
    - ขอเวลา 10-15 นาทีสุดท้ายในแต่ละกลุ่มสรุปหน่อย เลือกตัวแทนกลุ่มมาสรุปท้ายการประชุม
    - ควรจะถ่ายวิดีโอไว้ทุกกลุ่ม เพราะว่าการสรุปนั้นคงมีตกหล่นแน่
    - ถ้ามีเวลาเหลือตอนเย็น ขอให้แต่ละกลุ่มมาสรุปประเด็นที่คุยกันสั้นๆ ผู้เข้าร่วมได้ฟังเอง 3 กลุ่มที่สนใจที่สุด และฟังการสรุปอีก 3 กลุ่มที่เกี่ยวเนื่อง

    Working in Open Space: A Guided Tour

  • #7 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 May 2012 เวลา 15:26

    อืม เบื้องหลังความสำเร็จ สิ่งสำคัญคือ”การเลือกคนเข้าประชุม” นั่นเอง ควรมีเป้าหมายและตัวคนที่ใช่ อันเป็น”ตัวจริง”ในเรื่องนั้นๆ

    ขอบคุณนะคะ เพราะการมีอิสระในกรอบที่ต้องการจำเป็นต้องมีการเตรียมที่ดี …คนออกแบบต้องมืออาชีพจริงๆค่ะ ^ ^

  • #8 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 May 2012 เวลา 15:37
    ใช่แล้วครับ เบื้องหลังของงาน ต้องเชิญคุณ iwhale ผู้จัดมาเล่านะครับ

    ถ้าไม่เลือกผู้เข้าร่วมประชุมก็จะมีพระอันดับมาเต็มไปหมด ถ่ายรูปออกมาห้องประชุมแน่นขนัดแต่แทบจะไม่ได้อะไรเลยเพราะไม่เชิญคนทำงาน+คนที่อยู่หน้างานมาออกความคิดเห็น ถ้าทำงานแบบรอรายงานก็ควรเชิญกระดาษรายงานมาประชุมแทน (แต่ถ่ายรูปไม่สวย ไม่ยิ่งใหญ่ เบิกงบจัดงานยาก)

  • #9 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 9 May 2012 เวลา 18:12

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.37755298614502 sec
Sidebar: 0.4647650718689 sec