เลื่อนตำแหน่งเป็นรางวัลผลงานในอดีต อาจเป็นการทำลาย
อ่าน: 4964ผมอ่านบล็อกฟิสิกส์ที่ MIT ตามลิงก์ไปเรื่อยๆ ไปเจอเรื่องประหลาดแต่โดนมากครับ เรียกว่าหลักของปีเตอร์
ดร.ลอว์เรนซ์ เจ ปีเตอร์ เขียนหนังสือชื่อ The Peter Principle เมื่อปี พ.ศ. 2511 หลังจากศึกษาพฤติกรรมขององค์กรที่มีการปกครองเป็นลำดับชั้น โดยกล่าวไว้แบบขำๆ ว่า “In a Hierarchy Every Employee Tends to Rise to His Level of Incompetence.” หรือ ในที่ที่ปกครองแบบเป็นลำดับชั้น ทุกคนมีแนวโน้มจะถูกเลื่อนชั้นขึ้นไป จนถึงระดับแห่งความไม่เอาไหนของตนเอง
ซึ่งก็แปลกที่ไปตรงกับ บันทึกแรกที่เขียนเอาไว้ที่ gotoknow เมื่อตอนปลายปี 2549 ตอนนี้เอามาปรับปรุงสำหรับลานปัญญาดังนี้
คนทำงานนั้นหวังความก้าวหน้าเป็นธรรมดา แต่การให้รางวัลและการสร้างแรงจูงใจโดยการให้ตำแหน่งที่ก้าวหน้าขึ้นนั้น ในหลายครั้งกลับกลายเป็นผลเสียโดยตรงต่อตัวพนักงาน ต่อเพื่อนร่วมงาน และต่อองค์กร
บริษัทที่ผมเคยทำงานอยู่นั้น มีแนวคิดเรื่องการเลื่อนตำแหน่งที่ไม่ค่อยเหมือนใคร แต่ไม่ได้ปิดบัง-เพราะว่ามันเป็นความคิดของผมเอง กล่าวคือบริษัทไม่เลื่อนตำแหน่งให้พนักงานเพียงเพราะ
- อาวุโส - การมีอายุมาก เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องของบริษัท อาวุโสในสังคมไทยนั้น ได้รับการเคารพโดยพื้นฐานอยู่แล้ว แต่เพียงการที่มีคนเคารพ ไม่ได้เป็นเหตุผลที่เพียงพอในการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นหัวหน้า
- อายุงาน - อันนี้ก็เช่นกัน หากอยู่มาได้นาน คงพูดไม่ได้ว่าไม่มีดีเลย แต่การอยู่มานาน ก็ไม่ได้เป็นเหตุผลที่ดีพอ ที่จะเลื่อนตำแหน่งให้เป็นหัวหน้า อายุงานไม่ใช่ตบะ แต้มลอยัลตี้โปรแกรม หรือแสตมป์สมนาคุณเพื่อแลกซื้อของ ไม่ได้ใช้วิธีการสะสมเอา
- อันที่ค่อนข้างแปลกคือ บริษัทก็ไม่เลื่อนตำแหน่งเพื่อให้เป็นรางวัลสำหรับผลงานในอดีตเช่นกัน ผลงานในอดีตนั้น ตอบแทนด้วยโบนัส และการยกย่องอื่นๆ แต่ไม่ใช่การเลื่อนตำแหน่งให้เป็นหัวหน้า
ทั้งนี้เป็นเพราะว่าความเป็นหัวหน้านั้น ต้องมีความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น ต้องเสียสละ และมีทักษะที่จะต้องพัฒนาขึ้นอีกหลายอย่าง ดังนั้นคนที่จะเป็นหัวหน้า จะต้องมีความพร้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องเตรียมตัวมาก่อน ฝึกฝนมาล่วงหน้า และได้รับโอกาสที่จะพิสูจน์ตัวเอง
ดังนั้นหากไม่ต้องการที่จะเสียพนักงานที่ดีไป แล้วได้หัวหน้าห่วยๆ มาแทน (เสียสองเด้ง) ก็ต้องพยายามคัดสรรผู้ที่มีความพร้อม และได้รับการยอมรับ ให้ขึ้นมาครับ
เรื่องสำคัญที่จะต้องพูดกันจนเข้าใจก่อนการเลื่อนตำแหน่งก็คือ บทบาทและหน้าที่จะเปลี่ยนไป อย่าทำแบบเดิม; ถ้าอยากจะทำแบบเดิม ก็ไม่เห็นต้องเป็นหัวหน้าคนอื่นเลย แล้วถ้าจะต้องทำแบบเดิม จะเรียกว่าก้าวหน้าได้หรือครับ
คนในองค์กร บางทีก็ถูกโปรโมตขึ้นไปเรื่อยๆ โดยไม่มีความพร้อม เมื่อขึ้นไปสู่ตำแหน่งใหม่แล้ว ไม่เข้าใจทั้งหน้าที่และบทบาท แต่กลับมีอำนาจ เกิดคำสั่งบ้าๆบอๆขึ้นมา คนสั่งไม่รู้เรื่อง คนปฏิบัติเอ๋อ องค์กรก็งง มีคนเหนื่อยแต่ไม่เกิดงานที่แท้จริง องค์กรจะยังคงวิ่งต่อได้สักพักหนึ่ง แต่ในที่สุดก็จะล้มลง ลองดูบรรษัทประเทศไทยเป็นตัวอย่างนะครับ
กลับมาเรื่องหลักของปีเตอร์นั้น นักบริหารคงเห็นด้วยว่าโปรโมตโดยไม่พร้อมนั้น แย่ยิ่งกว่าไม่โปรโมตเยอะ แต่เวลาเอาไปปฏิบัติ มักทำไม่ได้ตามนั้น แต่เรื่องนี้มีทางแก้ไขเหมือนกันครับ
- รางวัลของผลงาน ให้เป็นผลตอบแทนอย่างอื่นที่ไม่ใช่ตำแหน่งหน้าที่ เช่นเงินเดือน โบนัส และ/หรือ สร้าง career path ในแบบของผู้ชำนาญการ
- อย่าเลื่อนตำแหน่งให้ใคร จนกว่าจะแน่ใจว่าเขาพร้อมสำหรับความท้าทายใหม่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น ซึ่งหมายถึง coaching training ทดลองงานหาประสบการณ์
เพราะว่าผู้ที่ประสบความสำเร็จในที่หนึ่ง ไม่แน่ว่าจะประสบความสำเร็จในที่อื่นนะครับ
« « Prev : ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 A
Next : มิจฉาสมาธิ และสัมมาสมาธิ » »
7 ความคิดเห็น
ระบบราชการโดยเต็มเปาเลย
มาขอต่อความเห็นพี่บู๊ทค่ะ
ว่าการเลื่อนตำแหน่ง…มันเป็นเรื่อง บุญคุณต่างตอบแทน ได้ด้วย
เอานิทานมาเล่า…
มีหน่วยราชการหนึ่ง…
ที่กำลังเปลี่ยนไปเป็นนอกระบบ
ท่านรองคณบดี บอกว่า ตั้งแต่รับงานทุกอย่างเหมือนเดิม ผู้ทำงานอย่าไปคิดว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไร
คนฟัง…อ้าวแล้วท่านไปกินเงินประจำตำแหน่งตั้ง 7 เดือนโดยไม่ทำอะไรเลยเหรอ
คนพูด…ทำซิ..ทำงานตามที่ ท่าน(คณบดี) มอบหมาย
ปล. ในการประกาศแต่งตั้งของระบบราชการ ตำแหน่งหัวหน้างานต่างๆ มักจะมี description งานข้อสุดท้ายไว้ว่า…ทำงานตามที่คณบดี/อธิการบดีมอบหมาย
ปอ. เรื่องข้างบนคือนิทาน
ปฮ. ถ้ามันใช่กับหน่วยงานใด ถือซะว่า หน่วยงานนั้นก็มีนิทาน…อิอิ
#2 การทำงานตามที่มอบหมายเท่านั้นนั้น เป็นคนรับใช้ส่วนตัวครับพี่ ในเมื่อเป็นส่วนตัว ก็ไม่ควรเป็นต้นทุนของส่วนกลาง
พูดจาสุภาพแต่กินใจดีนะ…อิอิ
มายืนยันว่าใช่เลย
นิทานของผมเยอะ อิอิ แต่อย่าเล่าเลยมันจะกลายเป็นนินทา แฮ่ะๆ
ตอนนี้นั่งดูรุ่นน้องเป็นผู้บริหารระดับหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด บางคนเราก็นึกในใจว่า ผ่านมาได้ไงว้า….ไอ้ที่เก่งๆคิดเพื่อชาวบ้านก็มีเยอะ แต่พวกบ้าอำนาจอยากเป็นใหญ่อยากแสวงหาสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างอื่น เอาเหอะละเว้นไม่พูดถึงผลประโยชน์จากการปฏิบัติงาน แต่ประเภทใหญ่คับแก้วทั้งจังหวัด จะเอาอะไรต้องได้ จัดงานวันเกิดให้ลูก ให้เมีย ให้ตัวเอง ขึ้นบ้านใหม่ งานปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์ ทำบุญบ้าน ก็มีเหมือนกัน อิอิ
พวกนี้จะมองชาวบ้านเป็นลูกจ๊อก..ผมเป็นใหญ่เมื่อไหร่จะเรียกมาเบิ้ลกระโหลกสักทีสองที อิอิ
-บันทึกนี้ดีวิเคราะห์ปัญหาได้ตรงเป้าเผงเลย…วิเคราะห์อย่างจริงใจและเป็นจริง…หน่วยงานราชการเกือบโดน!!!…ขอให้รุ่นหลังๆช่วยกันแก้ไข…ทำได้…หากหาแนวร่วม ตั้งใจจริง และระดมความคิดกันทำ…แต่ยากส์…มั๊กๆๆๆขอบอก อาจพูดได้ว่าเป็นมะเร็งของสังคมระยะ3-4(ใกล้ระยะสุดท้ายคือระยะ5-หมดหวัง…) แต่ป้าจุ๋มเชื่อว่าประเทศไทยยังไม่สิ้นคนดี…ยังมีคนไทยดีๆอีกมากที่ยังไม่มีโอกาส…ขอให้ช่วยกันให้โอกาสคนดีเหล่านั้น…
ขอเข้ามาแก้และเพิ่มเติมนิดค่ะ - “บันทึกนี้ดีมากวิเคราะห์ปัญหาได้ตรงเป้าเผงเลย”
- “หน่วยงานราชการเกือบโดน!!!…” หรือจะโดนเต็มๆ!!! ก็ไม่รู้สิคะ…อิ อิ