สูบน้ำจากแหล่งน้ำลึก

อ่าน: 12616

ก่อนจะเขียนเรื่องการสูบน้ำต่อจาก [สูบน้ำจากแหล่งน้ำตื้น] คงย้ำความเข้าใจกันอีกครั้งหนึ่งก่อน ว่าน้ำเป็นทรัพยากรที่มีค่านะครับ

คำว่าทรัพยากรมีนัยว่าถ้าใช้ไปเรื่อยๆ จะมีวันที่หมดไปเหมือนกัน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ บ่อหรือสระที่คนขุด เราก็จะต้องบำรุงรักษา ในเวลาที่เรามีเหลือใช้ ก็ควรเติมกลับบ้าง เพื่อเอาไว้ใช้ในวันหน้า บ่อน้ำบาดาลก็เติมได้ครับ แม้ว่าไม่ใช่เอาน้ำฝนเทกลับลงไปในบ่อ แต่ขุดหลุมแบบนี้ไม่ต้องลึกนัก [ขุดบ่อบาดาลแบบชาวบ้าน] แล้วกรอกน้ำผิวดิน เช่นน้ำฝน ให้ซึมผ่านการกรองแบบธรรมชาติด้วยชั้นหินดินทราย ฯลฯ

บันทึกที่แล้ว เขียนเรื่อง [สูบน้ำจากแหล่งน้ำตื้น] ซึ่งจะว่าไป เหมาะกับแหล่งน้ำผิวดิน เช่นบ่อ สระ แม่น้ำลำธาร มากกว่านะครับ head เพียง 6-8 เมตร ทำได้เพียงเอาน้ำจากแหล่งน้ำผิวดินขึ้นมาใช้เท่านั้นเอง ถ้าเป็นบ่อบาดาล จะลึกกว่านั้นมาก [ขุดสระเพิ่ม ได้น้ำของจริง]

ถ้าแหล่งน้ำอยู่ลึก ส่วนใหญ่เขาจะใช้ปั๊มแบบที่จุ่มอยู่ในน้ำ (submersible pump) ใช้ไฟฟ้าปั๊มน้ำขึ้นมา ส่วนระดับน้ำใต้ดิน จะอยู่ลึกแค่ไหน ก็ขึ้นกับทำเลภูมิประเทศ เช่นที่พุทธธรรมสถานผาซ่อนแก้ว ตั้งอยู่บนสันเขา ระดับน้ำบาดาลอยู่ลึก 150 เมตร จ่ายค่าไฟกันอ่วมเลย แต่ถ้าเป็นบ้านอาจารย์วรภัทร์ที่ร่มธรรม อยู่ในที่ลุ่มที่ล้อมรอบด้วยภูเขา ขุดลงไปเมตร ครึ่งเมตรก็เจอน้ำแล้ว

แต่เรื่องที่ผมเขียน อยากให้ชาวบ้านใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายมากนัก จึงตัดเรื่องปั๊มน้ำบาดาลออกไป เพราะจะเขียนเรื่องปั๊มที่ไม่ใช้ไฟฟ้าครับ เรียกว่าปั๊มเชือก (Rope pump) ใช้หลักการเดียวกับระหัดวิดน้ำของจีนโบราณครับ

มาดูการทำงานปั๊มกันก่อน ปั๊มเชือก นำน้ำขึ้นมาทางท่อ แต่จะต้องมีทางให้เชือกลงไปข้างล่างด้วยอีกทางหนึ่ง จึงเหมาะกับลักษณะของบ่อตักน้ำ หรือว่าถ้าเป็นบ่อบาดาล ก็ต้องเจาะสองรู

ปั๊มเชือก สามารถนำน้ำจากบ่อลึกขึ้นมาที่ผิวดินได้ บางที่ถึง 40 เมตร แต่ว่าถ้าระดับน้ำลึกมาก ก็ต้องใช้ท่อที่มีขนาดเล็กลง แล้วทำให้นำน้าขึ้นมาได้น้อยลง

ตารางที่ 1: ความสัมพันธ์ระหว่างความลึกของระดับน้ำ กับเส้นผ่าศูนย์กลางด้านในของท่อ เมื่อใช้ล้อหมุนที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 14 นิ้ว
ความลึกของระดับน้ำ (เมตร)
ความลึกของระดับน้ำ (ฟุต)
0-6
0-20
6-9
20-30
9-20
30-65
20-35
65-115
35-40
115-130
เส้นผ่าศูนย์กลางของท่อ (นิ้ว)
เส้นผ่าศูนย์กลางของท่อ (มม.)

44.5

38.1
1
25.4
¾
19.1
½
12.7
ปริมาณน้ำ (ลิตร / รอบของการหมุนล้อ) 1.4 1.0 0.5 0.3 0.1

1 ลิตร = 0.220 อิมพีเรียลแกลลอน (อังกฤษ) = 0.264 ยูเอสแกลลอน (สหรัฐ)

วิธีสร้าง

ปั๊มเชือก มีอุปกรณ์สำคัญอยู่ สี่อย่าง

อันแรกคือล้อที่อยู่ด้านบน ซึ่งล้อนี้เอาไว้หมุนเชือก โดยมากจะใช้ล้อจักรยาน (14 นิ้วเป็นล้อจักรยานเด็ก ส่วน 21 นิ้วเป็นล้อจักรยานผู้ใหญ่) ดังนั้นจะหมุน หรือจะถีบ ก็ตามแต่จะชอบ — รูปทางขวาใช้วิธีหมุน

อันที่สองคือท่อที่จะนำน้ำขึ้นมาจากก้นบ่อ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อ ขึ้นกับความลึกของระดับน้ำในบ่อ ดูได้จากตารางที่ 1 และ 2 ข้างบนครับ

อันที่สามคือเชือก ตรงนี้สำคัญมาก เราไม่ได้ใช้เชือกธรรมดามาหมุนเล่นวนไปวนมา แต่ว่าตลอดระยะของเชือก เราติดกระสวยลงไป เพื่อให้กระสวยนี้พาน้ำขึ้นมาจากก้นบ่อ

วิธีการก็คือทุกๆระยะที่เท่ากันของเชือก เราผูกกระสวยไว้ กระสวยมีขนาดใหญ่เกือบเท่าเส้นผ่าศูนย์กลายของท่อน้ำน้ำ ดังนั้นเมื่อหมุนล้อ เชือกก็หมุนไป ทำให้กระสวยมุดเข้าไปทางปลายท่อที่ก้นบ่อ เนื่องจากกระสวยมีขนาดโตเกือบเท่าขนาดของท่อ ดังนั้นมันจึงพาน้ำที่อยู่ด้านบนขึ้นไปด้วยพร้อมกับการเคลื่อนที่ของเชือกและกระสวย

ด้วยหลักการนี้ กระสวยไม่ต้องฟิตพอดีกับท่อ เช่นเดียวกับแผ่นไม้ที่โกยน้ำของระหัดวิดน้ำ ไม่ได้ฟิตพอดีกับราง ถึงจะมีรั่วไหลไปบ้างทางด้านข้าง กระสวยอันถัดไปก็พาขึ้นมาอยู่ดี

การทำกระสวยมีหลายวิธี แล้วแต่ว่าหาอะไรได้ในท้องถิ่นนั้น อาจใช้เศษผ้าผูกเป็นปมก็ได้ หรือว่าใช้ด้านข้างของยางรถยนต์ (ด้านที่ไม่สัมผัสผิวถนน) มาตัดเป็นวงกลม แล้วติดไว้กับเชือกซึ่งมัดเป็นปมทั้งหน้าและหลังกระสวย

อันสุดท้ายคือปากท่อก้นบ่อ จุดนี้ก็ต้องระวัง เพราะว่าเป็นจุดที่กระสวยที่ลงไปจากข้างบน ไปกลับตัวเพื่อมุดท่อกลับขึ้นมา ดังนั้นจะต้องมีผิวเรียบ ไม่ทำให้เกิดการติดขัดที่ก้นบ่อ ปากท่อที่ก้นบ่อ อยู่ติดพื้นบ่อไม่ได้ เพราะว่าจะทำให้กระสวยติด แล้วยังอาจจะดูดเอาตะกอนขึ้นมาข้างบนด้วย จึงควรหาอะไรไปค้ำไว้ไม่ให้อยู่ติดพื้นแม้ข้างบนจะยึดแน่นหนาแล้ว ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือปากท่อควรจะบานหน่อย เพื่อให้กระสวยหาทางเข้าได้สะดวก

« « Prev : สูบน้ำจากแหล่งน้ำตื้น

Next : ถามใจเธอดูก่อน — ข้อมูลสภาวะอากาศ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น

  • #1 aram ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 July 2010 เวลา 21:22

    น่าสนใจจัง ผมคิดว่าจะลองทำรางน้ำฝนแล้วต่อท่อลงไปเติมบ่อบาดาลที่ไม่ได้ใช้ดูนะครับ น่าจะช่วยให้น้ำใต้ดินไม่หมดเร็วเกินไป อีกทั้งน้ำฝนน่าจะไม่ไหลชะไปเปล่าประโยชน์ คิดจะใช้น้ำผิวดิน ร่องน้ำกลัวว่าจะไม่สะอาดพอ

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 July 2010 เวลา 22:02

    สนุกกันใหญ่ละ แม้ว่าโดยหลักการ เราใช้หลังคาเป็นพื้นที่รับน้ำฝน แต่ที่จริงไม่จำเป็นต้องทำรางน้ำฝนเลยนะครับ มันแพง แค่ปรับดินให้เป็นร่องที่มีระดับถูกต้องเพื่อนำน้ำไปรวมกัน แล้วจะทำอะไรต่อก็ตามสบาย อย่างนี้ไม่ต้องทำรางน้ำฝนเลย ยังไงมันก็ไหลลงมาที่พื้นอยู่ดี

    ใช้บันทึกขุดบ่อบาดาลแบบชาวบ้าน ก็จะหนุกหนานและไม่แพงครับ น้ำไม่สะอาดก็ไม่เป็นไร เพราะเราใช้พื้นดินกรองเหมือนกับที่มันเคยเป็นตลอดมา เพียงแต่เรารวบรวมน้ำมาให้ แล้วขุดหลุมไม่ลึกช่วยเร่งนิดหน่อยเอง!

    น้ำบาดาลที่เราเห็นใสๆ นั้น มันไม่ได้อยู่ในโพรงเหมือนน้ำในแท๊งน้ำหรอกครับ น้ำมันซึมอยู่กับดินและทราย จึงเป็นระบบกรองตามธรรมชาติ เอาไปรดน้ำต้นไม้ก็ดี ประหยัดน้ำประปา

    แต่ถ้าต้องการน้ำที่ไม่เปื้อนดินเลย ใช้ผ้าใบปูร่องน้ำ หรือส่งน้ำไปในท่อ PVC ก็น่าจะถูกกว่าทำรางน้ำฝนนะครับ; ถนนคอนกรีตก็เป็นพื้นที่รับน้ำฝนได้เช่นกัน ถ้าฝนไม่ตกหนักจนท่วม น้ำไม่ค้างอยู่บนถนนหรอกครับ ไปตามเก็บน้ำที่ขอบถนนได้ง่ายๆ

    *** อย่างลืมวัดระดับน้ำในบ่อบาดาล ก่อนและหลังการทดลองเติมน้ำบาดาลนะครับ ***

  • #3 ลานซักล้าง » ปั่นเพื่อชาติ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 15 November 2010 เวลา 2:54

    [...] บันทึกนี้ ได้ไอเดียมาจากความคิดเห็นของครูบาและจากบันทึกสูบน้ำจากแหล่งลึกซึ่งเขียนไว้เมื่อสี่เดือนก่อน แต่ดัดแปลงไปนิดหน่อยครับ [...]


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.74792504310608 sec
Sidebar: 0.51402711868286 sec