ภูเขาไฟใกล้ตัว
เมืองไทยก็มีภูเขาไฟครับ มี 8 ลูก แต่ดับไปหมดแล้ว ถึงภูเขาไฟดับแล้ว แต่ก็ยังมีบ่อน้ำร้อนที่กระจายกันอยู่ในหลายพื้นที่ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงกิจกรรมใต้พื้นแผ่นดิน
นอกจากนั้น บริเวณรอบๆ เมืองไทย ก็ไม่ใช่ว่าจะปราศจากภูเขาไฟเลยนะครับ ภูเขาไฟระเบิดจะมีอิทธิฤทธิ์ทำลายล้างขนาดไหน ขึ้นกับหลายปัจจัย แต่ไม่ใช่ว่าปลอดภัยเหมือนครั้งหนึ่งที่เราเคยเข้าใจว่าฝั่งทะเลอันดามันอยู่ในเขตสงบทางธรณีวิทยา (จนกระทั่งเกิดสึนามิปี 2547 ขึ้น)
ดัชนีความแรงของภูเขาไฟระเบิด (Volcanic Explosivity Index หรือ VEI)
ดัชนี VEI เป็นดัชนีวัดความแรงของภูเขาไฟระเบิด มีตั้งแต่ระดับ 0 ชิลชิล ไปจนระดับ 8 ซึ่งเป็นระดับที่เกิดการทำลายล้างขนานใหญ่ทั่วโลก เรียกว่า VEI 8 เป็นระดับล้างโลกก็ได้ครับ
ในอดีต ในประเทศอาเซียน มีการระเบิดแบบ VEI 6 สองครั้งซึ่งทุกคนคงรู้จักดี คือ
- การระเบิดของภูเขาไฟกรากะตัวในอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ.2426 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ยินมาถึงกรุงเทพ เถ้าถ่านจากกรากะตัว บดบังแสงอาทิตย์ทั่วโลก ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลก ลดลงถึง 1.2 °C และปั่นป่วนต่อไปถึงห้าปี
- การระเบิดของภูเขาไฟพีนาทูโบในฟิลลิปปินส์ เมื่อปี พ.ศ.2534 มีเถ้าถ่านปลิวมาถึงกัมพูชา และในบางฤดู ก็มาถึงจังหวัดทางภาคตะวันออกของไทย พีนาทูโบ ทำให้อุณหภูมิที่ผิวโลกซีกเหลือ ลดลง 0.5-0.6 °C ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกลดลง 0.4 °C แต่เพิ่มระดับอุณหภูมิของบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียขึ้นอีกหลายองศา
ในเขตเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เคยมีภูเขาไฟระเบิด ในระดับทำลายล้างสูง VEI 7 และ 8 มาแล้วอย่างน้อยสองครั้งในเวลา ไม่เกินหนึ่งแสนปี และอยู่ในอินโดนีเซียทั้งคู่ ภัยจากภูเขาไฟ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภัยจากเถ้าร้อน (ไพโรคลาสติค)
แต่เถ้าภูเขาไฟปริมาณมหาศาล ถูกพ่นขึ้นสู่บรรยากาศ เปลี่ยนแปลสภาพอากาศ ตลอดจนสร้างมลพิษในอากาศ การหายใจเอาเถ้าภูเขาไฟเข้าไป ก็เหมือนการหายใจเอาใยแก้วเข้าไป จะไปรบกวนการทำงานของปอด สูดมากตายเร็ว สูดน้อยตายช้า แต่ตายเหมือนกัน
ไม่แต่เฉพาะคน สัตว์และพืชที่ต้องหายใจ ก็ตกอยู่ในอาการเดียวกัน ดังนั้น ห่วงโช่อาหาร จึงถูกรบกวนอย่างหนักจากเถ้าภูเขาไฟ แหล่งน้ำผิวดินจะไม่สะอาด น้ำฝนก็กินไม่ได้…
อืม ชักดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่แล้วนะครับ ข้อเท็จจริงก็คือภูเขาไฟระเบิดแบบรุนแรงนี้ ไม่เกิดบ่อย
ภูเขาไฟแทมโบรา ในอินโดนีเซีย ระเบิดครั้งล่าสุด แรงขนาด VEI 7 ในปี พ.ศ. 2458 อยู่กรุงจาร์กาตาห่างออกไปสองพันกิโลเมตร ก็ยังได้ยินเสียงระเบิด
มีภูเขาไฟโบราณอีกอันหนึ่ง ปัจจุบันเป็นทะเลสาบโทบาบนเกาะสุมาตรา เคยระเบิดแบบมหาวินาศในระดับ VEI 8 เมื่อประมาณเจ็ดหมื่นหนึ่งพันปีก่อน (บวกลบสี่พันปี) เป็นการระเบิดใหญ่ครั้งที่สี่ ซึ่งจากหลักฐานทางธรณีวิทยา ก็เป็นภูเขาไฟระเบิดที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่พบหลักฐานในรอบ 25 ล้านปี และจะใหญ่กว่าอุทยาน Yellow Stone ในสหรัฐซึ่งไม่ได้ระเบิดมาหกแสนสี่หมื่นปีก่อน
เมื่อภูเขาไฟโทบาระเบิดมหาวินาศครั้งล่าสุด พบเถ้าภูเขาไฟหนา 9 เมตรในมาเลเซีย และ 15 เซ็นติเมตรในอนุทวีปอินเดีย
การระเบิดในระดับ VEI 8 ว่ากันว่าทุกอย่างในระยะ 500 กม. จะแหลกราญ และความเสียหายโดยตรงอาจกระจายไปถึงระยะ 1000 กม. [จากภูเขาไฟโทบา ระยะ 500 กม. รวมถึงตรัง พัทลุง และทะเลสาบสงขลาทั้งหมด ส่วนระยะ 1000 กม. ครอบคลุมประจวบคีรีขันธ์ทั้งหมด แต่ภัยที่น่ากลัว คือการเปลี่ยนแปลงสภาพบรรยากาศในบริเวณที่ห่างออกไป] มีหลักฐานจากการศึกษาไมโตคอนเดรียในมนุษย์ พบ “การชะงักงัน” (การลดความหลากหลายทางพันธุกรรม) ในช่วงเวลาที่ภูเขาไฟโทบาระเบิด หมายความว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่ยังอยู่รอด ก็ต้องปรับตัวเยอะมาก จึงอยู่รอดมาได้
อยากย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าการระเบิดแบบมหาวินาศนี้ ไม่ได้เกิดบ่อยหรอกนะครับ แต่อยากชี้ประเด็นสำคัญคือ มันเคยเกิดขึ้นหลายครั้งในบริเวณรอยแยกที่แผ่นเปลือกโลก อินเดีย-ออสเตรเลีย ชนกับแผ่นเปลือกโลกเอเซีย-ยุโรป
แล้วมีภูเขาไฟอื่นในบริเวณนี้อีกหรือไม่
มีครับ มีเกาะภูเขาไฟชื่อเกาะบาเรน อยู่ใกล้เกาะนิโคบาร์(ของอินเดีย)ในทะเลอันดามัน อยู่ห่างฝั่งระนองไม่ไกลนัก ระเบิดครั้งล่าสุดเมื่อกลางปี 2551 แต่ไม่รุนแรง (แปลกใจไหมที่เราไม่ได้ข่าวนี้?)
ถ้าภูเขาไฟบนเกาะระเบิดรุนแรง มีโอกาสเกิดสึนามิตามมาเหมือนกัน แล้วลูกนี้อยู่ใกล้ฝั่ง และใกล้รอยแยกอันที่เคยเกิดสึนามิเมื่อปี พ.ศ.2547 (มีอีกลูกหนึ่งอยู่ใต้น้ำ แต่มีข้อมูลไม่มากนัก)
ทางฝั่งอ่าวไทย มีอีกลูกหนึ่งชื่อ Ile des Cendres (เกาะขี้เถ้า) อยู่ห่างโฮจิมินห์ซิตี้ประมาณสามร้อยกิโลเมตร ระเบิดครั้งล่าสุดในปี พ.ศ.2466 เวียดนามมีภูเขาไฟในทะเลอีกลูกหนึ่ง อยู่ใกล้ๆ กัน แต่ไม่เคยปรากฏหลักฐานว่าเคยระเบิดนะครับ
« « Prev : เที่ยวงานเกษตรแฟร์ ปี ๒๕๕๓ (2)
Next : เมื่อไหร่จะคิดเปลี่ยนระบบโทรทัศน์กันเสียที » »
7 ความคิดเห็น
หรือว่าการที่กระบี่มีน้ำพุร้อนอยู่มากมายทั้งจืดและเค็ม การมีภูเขาหินปูนจำนวนมากในพื้นที่พังงา กระบี่ก็เป็นผลพวงมาจากฤทธิ์เดชของภูเขาไฟ เป็นไปได้มั๊ยค่ะ
ภูเขากระบี่ พังงา ภูเก็ต เป็นภูเขาหินปูน น่าจะเกิดจากการที่แผนเปลือกโลกตรงรอยแยกในทะเลอันดามัน ดันกันจนยกซากโบราณที่เคยเป็นพื้นทะเล ให้สูงขึ้นมาเป็นภูเขา ในการนี้คงมีรอยแตกเล็กๆ ที่น้ำสามารถรับความร้อนจากใต้โลกจนกลายเป็นบ่อน้ำร้อนได้
น่าจะใช้ประโยชน์จากการมีบ่อน้ำร้อน เอามาปั่นพลังงานเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดเสียด้วยซ้ำไป (ทำน้ำจืดจากน้ำทะเล) เพราะน้ำผิวดินเมื่อเจอกับหินปูน ก็จะมีความกระด้างสูง และมีปริมาณไม่พอต่อความต้องการของแหล่งท่องเที่ยว
[...] เขียนบันทึกเรื่องภูเขาไฟใกล้ตัวเอาไว้ [...]
[...] [บันทึกเก่า: ภูเขาไฟใกล้ตัว] [...]
[...] อยู่ในบริเวณทะเลสาปโทบา ซึ่งได้เคยเขียนบันทึกไว้แล้ว ว่าเคยระเบิดแบบมหาวินาศ (VEI เมื่อ 25 [...]
[...] เช่นภูเขาไฟระเบิดแบบมหาวินาศ สึนามิยักษ์ [...]
[...] บนเกาะสุมาตรามีภูเขาไฟที่ยังไม่ดับอยู่ และมีภูเขาไฟโทบาซึ่งเคยระเบิดแบบมหาวินาศ (VEI ในอดีตกาลนานมาแล้ว พบเถ้าภูเขาไฟหนา 9 เมตรในมาเลเซีย และ 15 ซม.ในอินเดีย [ภูเขาไฟใกล้ตัว] [...]