ขอเบาๆ ทยอยปล่อยออกมาเถอะ
อ่าน: 4176สายวันนี้ เจอทวิตของ จ.ส.100
@js100radio: ภูเขาไฟซินาบุงในอินโดฯพ่นควันดำโขมงขึ้นสู่ท้องฟ้าสูง5,000ม.เมื่อช่วงเช้าตรู่หลังสงบนาน400ปี อาจเป็นสัญญาณบอกเหตุระเบิดครั้งใหญ่#PNC
แต่หาข้อมูลอ้างอิงไม่ได้ ค้นเน็ตดู ปรากฏว่าภูเขาไฟซินาบัง ปะทุเล็กๆ มาเมื่อ 10 วันก่อน พ่นเถ้าถ่านไปไกล 1.5 กม. เรียกว่าจิ๊บๆ
แต่ที่น่ากังวลอยู่เหมือนกันคือภูเขาไฟนี้ อยู่ในบริเวณทะเลสาปโทบา ซึ่งได้เคยเขียนบันทึกไว้แล้ว ว่าเคยระเบิดแบบมหาวินาศ ( VEI 8 ) เมื่อเจ็ดหมื่นหนึ่งพันปีก่อน (± สี่พันปี) การระเบิดครั้งนั้น มีเถ้าภูเขาไฟตก 15 ซม.ในอินเดีย และ 9 เมตรในมาเลเซีย
เป็นที่รู้กันว่าบริเวณใต้เกาะสุมาตรานั้น เป็นบริเวณรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งเกิดแผ่นดินไหวบ่อย และมีการปะทุของภูเขาไฟบ่อยเช่นกัน
ภูเขาไฟระเบิดในระดับ VEI 8 อาจสร้างความเสียหายโดยตรง ครอบคลุมรัศมีถึง 1000 กม. (ถึงประจวบคีรีขันธ์) ส่วนระยะ 500 กม.จะแหลกราญหมด (ถึงตรัง พัทลุง และทะเลสาปสงขลาทั้งหมด มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาะสุมาตรา)
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเปลือกโลกมีการเคลื่อนตัว ทะเลสาปโทบา และภูเขาไฟซินาบัง ไม่ได้อยู่เหนือรอยแยกพอดี แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่สามารถระเบิดใหญ่ได้ ภูเขาไฟกรากะตัวซึ่งระเบิดรุนแรงระดับ VEI 7 ในรัชสมัยของรัชการที่ ๕ ก็อยู่ห่างรอยแยกเป็นระยะพอๆ กับภูเขาไฟซิยาบังเช่นกัน
ผมไม่ใช่นักภูเขาไฟวิทยา ไม่ใช่นักธรณีวิทยา ไม่มีญาณวิเศษหยั่งรู้ และไม่ใช่หมอดู แต่บอกได้ว่ามีความเสี่ยงครับ ไม่มากหรอก แต่มี!
เมื่อภูเขาไฟระเบิด หนีออกห่างเถ้าภูเขาไฟให้เร็วที่สุด อย่าหายใจเข้าไป กรองอากาศที่จะหายใจด้วยผ้าเปียกหลายชั้น — ถ้าไม่ระเบิดเลย ดีที่สุดครับ เพียงแต่เรื่องนี้จะไปกะเกณฑ์อะไรไม่ได้
ภูเขาไฟ Eyjafjallajökull (เอยาฟยาลาโยคค์) ที่อยู่ในไอซ์แลนด์ แล้วเคยระเบิดจนเถ้าภูเขาไฟไปรบกวนความปลอดภัยของการจราจรทางอากาศในยุโรปนั้น เป็นการปะทุในระดับ VEI-4 เท่านั้น
Next : ป่าต้นน้ำ » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ขอเบาๆ ทยอยปล่อยออกมาเถอะ"