อุเบกขา

โดย Logos เมื่อ 4 October 2008 เวลา 1:11 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 3784

พระนิพนธ์เรื่องอุเบกขานี้ สมเด็จพระญาณสังวรทรงแสดงถึงอุบายวีธีในการปฏิบัติตนเพื่อความสงบของจิตใจ ตั้งแต่ระดับต่ำไปถึงระดับสูง ด้วยอุบายวิธีทางธรรม ซึ่งนับว่าเป็นการวางเฉยด้วยปัญญา หรือวางเฉยอย่างถูกวิธี ฉะนั้น การฝึกหัดปฏิบัติตนตามอุบายวิธีดังกล่าวนี้ จึงจำเป็นและมีประโยชน์ต่อทุกคน เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาชีวิตในระดับหนึ่ง จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะได้ศึกษา และหัดปฏิบัติ

ธรรมปฏิบัติข้อหนึ่งซึ่งผู้ปฏิบัติพึงปฏิบัติให้มีขึ้นก็คืออุเบกขา อุเบกขาที่พึงปฏิบัตินี้เป็นอุเบกขาส่วนเหตุ เพื่อที่จะได้อุเบกขาที่เป็นส่วนผล และคำว่าอุเบกขานี้ ก็เป็นคำที่พูดกันในภาษาไทย และก็มีคำแปลทั่วไปว่า ความวางเฉย เมื่อให้คำแปลและเข้าใจกันดังนี้ จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันก็มี เกิดความเข้าใจถูกก็มี

ส่วนให้เกิดความเข้าใจผิดนั้นก็คือ เข้าใจว่าอุเบกขาเมื่อเป็นความวางเฉยไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ก็หมายความว่าไม่ทำอะไร ไม่เอาใจใส่ในอะไร จึงดูคล้ายๆกับผู้มีใจไม่สมประกอบซึ่งไม่รู้เรื่องราวอะไร กลายเป็นผู้ที่มีใจเลื่อนลอย เป็นปัญญาอ่อนหรืออะไรทำนองนี้ ดังนี้เป็นความเข้าใจผิดในอุเบกขา ส่วนที่เป็นความเข้าใจถูกนั้นก็คือ เข้าใจอุเบกขาที่เป็นธรรมปฏิบัติอันถูกต้อง

ในขั้นนี้พึงมีความเข้าขั้นพื้นฐานไว้ก่อนว่า ความวางเฉยด้วยความไม่รู้ก็มีอยู่ แต่ว่าเป็นความวางเฉยที่ไม่ใช่ธรรมปฏิบัติในพุทธศาสนา แต่อาจเป็นอุเบกขาที่มีเป็นธรรมชาติธรรมดาเหมือนอย่างความยินดี ความยินร้าย และความวางเฉยไม่รู้จักความยินดียินร้ายที่คนทั่วไปมีกันอยู่ คือเมื่อประสบอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยินดีก็เกิดความยินดี ประสบอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยินร้าย ก็เกิดความยินร้าย ประสบอารมณ์ที่เป็นกลางๆ มิใช่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีหรือความยินร้าย ก็เกิดความรู้สึกเป็นกลาง ซึ่งก็เป็นอุเบกขา อาการของจิตเหล่านี้ทุกคนย่อมมีอยู่โดยปกติ

ผู้ที่ไม่เคยปฏิบัติธรรมเลยก็มีอุเบกขาเช่นนี้อยู่ ดังนี้เป็นอุเบกขาที่มีอยู่กันเป็นปกติ มิใช่เป็นธรรมปฏิบัติ

แต่ที่เป็นธรรมปฏิบัตินั้น หมายถึงความวางเฉยด้วยความรู้ คือรู้แล้วก็วางเฉย อันความวางเฉยด้วยความรู้นี้ เกี่ยวแก่การที่ต้องปฏิบัติทำจิตใจให้เกิดความวางเฉยขึ้น และความวางเฉยด้วยความรู้นี้ก็เป็นอาการของจิตที่มีความทนทาน รู้แล้วก็วางเฉยได้ กับเป็นอาการของจิตที่ประกอบด้วยปัญญาเพ่งพินิจรู้ จึงหมายถึงรู้เรื่องที่เป็นไป กับรู้ที่เป็นปัญญา ดังจะยกตัวอย่าง

อันเรื่องที่เป็นไปนั้น ดังเช่น นินทา สรรเสริญ กล่าวได้ว่าบุคคลทุกๆคนจะต้องมีผู้นินทาบ้าง มีผู้สรรเสริญบ้างอยู่ด้วยกันทั้งนั้น และแต่ละคนก็ต้องมีผู้นินทา มีผู้สรรเสริญไม่ใช่น้อย แต่ว่าไม่ได้ยิน จึงไม่รู้ว่าเขานินทาอย่างไรบ้าง เขาสรรเสริญอย่างไรบ้าง จิตจึงเป็นกลางๆไม่ยินดียินร้าย เพราะไม่รู้คือไม่ได้ยินเขาพูด ไม่ทราบว่าเขาพูดอย่างนั้นอย่างนี้ ดั่งนี้เป็นลักษณะที่วางเฉยด้วยความไม่รู้จริงๆ แต่อันที่จริงนั้นเขานินทาอยู่แล้ว เขาสรรเสริญอยู่แล้ว ซึ่งทุกคนก็จะเป็นอย่างนี้ด้วยกันทั้งนั้น ยิ่งเป็นคนที่มีชื่อเสียงมาก ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับคนเป็นอันมาก ก็จะต้องมีผู้สรรเสริญมาก มีผู้นินทามาก แต่ว่าเขาพูดลับหลังไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็เฉยๆ ดั่งนี้เรียกว่าเฉยด้วยความไม่รู้จริงๆ

คราวนี้เมื่อได้ยินเขาพูด ได้ทราบว่าเขาพูดนินทาบ้าง สรรเสริญบ้าง ก็วางเฉยได้ ดั่งนี้เรียกว่ามีความทนทาน เป็นการวางเฉยด้วยความรู้ คือรู้เรื่องที่เป็นไป ซึ่งน่าจะยินดีก็ไม่ยินดี น่าจะยินร้ายก็ไม่ยินร้าย วางเฉยได้ รู้ว่าเขาว่าก็วางเฉยได้ เขานินทา เขาสรรเสริญก็วางเฉยได้

อีกอย่างหนึ่งวางเฉยด้วยปัญญา คือว่าโดยปกตินั้นก็จะมีชอบใจไม่ชอบใจขึ้นมาก่อน แต่แล้วก็พิจารณาให้เกิดความรู้ที่เป็นปัญญาขึ้นมา เมื่อเกิดปัญญาขึ้นมาก็เกิดความวางเฉยได้ อันความวางเฉยได้ด้วยความรู้ที่เป็นปัญญานี้ต้องอาศัยการปฏิบัติอันเรียกว่า “โยนิโสมนสิการ” ทำไว้ในใจโดยแยบคาย พิจารณาให้เห็นเหตุเห็นผล เห็นสัจจะคือความจริง อันนี้แหละเป็นข้อปฏิบัติให้เกิดอุเบกขาซึ่งเป็นที่มุ่งหมายในทางปฏิบัติธรรม

« « Prev : เขื่อนใต้ดิน

Next : Geotagging ของเล่นใหม่ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.22549700737 sec
Sidebar: 0.21172904968262 sec