เมื่ออาสาสมัครบาดเจ็บ

อ่าน: 3310

เมื่อตอนเย็น มีการประชุมการประสานงานเครื่องข่ายรับภัยน้ำท่วม ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีท่านอาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นประธานในที่ประชุม

มีองค์กรพัฒนาเอกชนมาร่วมอย่างอุ่นหนาฝาคั่งเช่นเคย ได้เจอหน่วยกล้าตายที่บุกลงพื้นที่มากมาย คราวนี้ @1500miles ไม่มาครับ แต่ภรรยานั่งอยู่ติดกัน เม้าธ์กระจาย


@tar_kotloh อาสาบ้าพลังที่ลงพื้นที่มาแล้ว 19 วัน

ผมอาจจะ(เคย)เป็นนักบริหารที่คิดแปลกๆ คือเวลาประชุม ผมไม่ชอบแบบเอออวยห่วยหมกหรอกครับ ผมชอบความเห็นที่แตกต่าง ความแตกต่างจะช่วยให้เข้าใจมุมมองที่แตกต่างออกไป แล้วมุมมองที่แตกต่าง จะช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ตามความเป็นจริง แต่ต้องใจกว้าง ฟังเป็น และอย่าด่วนตัดสินนะครับ; หากเห็นเหมือนกันไปหมด ก็ไม่รู้จะประชุมกันไปทำไม

แต่บางทีประสบการณ์ที่ไปเจอกันมา ก็ไม่ได้เป็นที่สบอารมณ์มากนัก มันเป็นเรื่องจริงที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น อย่างเช่นกรณีนักการเมืองท้องถิ่นบางคนเบียดบังน้ำใจของผู้บริจาคไปเป็นประโยชน์ทางการเมืองในพื้นที่ ได้ฟังทุกครั้งที่ประชุม — การฟังเรื่องอย่างนี้ ไม่ควรอินมากนัก อย่าปล่อยให้อารมณ์เตลิดไป ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ใช่รับหรือปฏิเสธไปหมดด้วยอคติ — ในสถานการณ์อย่างนี้ บางทีก็ต้องใช้วิชากระตุกขากางเกงเหมือนกัน ไม่ได้ตั้งใจจะดึงให้กางเกงหลุด แต่ว่าดึงให้ตั้งสติ ถามตัวเองว่ากำลังทำอะไรอยู่ งานอาสาคืออะไร อาสามาเพื่อทำอะไร แล้วกำลังทำอย่างที่ตั้งใจอยู่หรือไม่

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ฟังดู อาสาสมัครที่ลงพื้นที่ได้พบเจอเรื่องไม่น่าอภิรมย์ (บ่จอย) กันมาคนละเรื่องสองเรื่อง…สองโหล อาสาสมัครไปรับความทุกข์ของชาวบ้านที่ประสบภัยมามากมาย แต่ไม่ค่อยมีเซฟตี้วาล์วเพื่อปล่อยความกดดันออกนะครับ ขืนเก็บไว้มากๆ อาจระเบิดได้ อยากแนะนำให้อ่าน [อุเบกขา ซึ่งไม่ใช่การวางเฉยแบบเพิกเฉยไม่ใส่ใจ แต่วางเฉยด้วยความรู้ ทำความเข้าใจเสีย อย่าใช้วิธีทำใจเพราะกดไว้จนระเบิดได้ในภายหลัง] ตัวอาสาสมัครเองไปช่วยคนอื่น แต่ไม่ค่อยมีใครดูแลอาสาสมัครหรอกครับ ถ้าอาสาสมัครช่วยตัวเองไม่ได้ จะไปช่วยเหลือใครได้??

ผมไม่เห็นด้วยกับการรวมศูนย์ เนื่องจากปัญหาของแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน บริบทของวิถีชีวิตก็แตกต่างกัน ดังนั้นการรวมศูนย์ตัดสินใจ จะทำให้ตัวศูนย์ฯ เองกลายเป็นคอขวดไป

ควรมีหลายๆศูนย์ฯ ที่ทำงานประสานกัน แต่ละศูนย์ฯ มีความรู้ความชำนาญที่แตกต่างกัน หากทำทุกอย่างให้โปร่งใส แล้วไว้ใจกันโดยรู้ว่าแต่ละศูนย์ฯ ต่างก็ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งนั้น ต่างมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือการบรรเทาทุกข์ และฟื้นฟูชีวิตของผู้ประสบภัย ทำแบบที่ตนทำได้ดี (ไม่ใช่แค่ทำได้เฉยๆ)

งานนี้ยังอีกยาวครับ ตามรายงานของ ปภ.เมื่อเย็นที่ผ่านมา มีผู้ประสบภัย 6.1 ล้านคน

ระหว่างวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๓ ถึงปัจจุบัน มีจังหวัดประสบภัยทั้งสิ้น ๓๙ จังหวัด ๓๘๔ อำเภอ ๒,๘๕๙ ตำบล ๒๔,๘๘๗ หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ๑,๘๑๔,๘๕๑ ครัวเรือน ๖,๑๒๓,๔๕๗ คน

จังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว จำนวน ๒๑ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ ระยอง จันทบุรี ตราด ตาก ชลบุรี ลำพูน เชียงใหม่ สระแก้ว นครนายก กำแพงเพชร พิษณุโลก หนองบัวลำภู ปราจีนบุรี สมุทรปราการ นครปฐม อุทัยธานี บุรีรัมย์ ฉะเชิงเทรา และจังหวัดชัยภูมิ

ความหมายที่แท้จริงคือมีผู้ประสบภัยเป็นวงกว้างมาก เกือบร้อยละสิบของประชากรนะครับ จะถือว่าธุระไม่ใช่คงไม่ได้แล้ว

บางพื้นที่น้ำลดแล้วสามารถเริ่มเข้ากระบวนการฟื้นฟูได้ บางพื้นที่น้ำยังไม่ลดยังอยู่ในโหมดบรรเทาทุกข์ จะบอกว่า “ต้อง” ทำวิธีไหนเท่านั้น ก็จะถูกเพียงบางส่วนเท่านั้น (แล้วใช้คำว่า “ต้อง” ทำไม ในเมื่อเห็นชัดอยู่แล้วว่าไม่ถูกหมด)

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายร้อยบริษัท รับไปช่วยบริษัทละสองสามตำบลที่กำลังฟื้นฟูได้ไหมครับ การช่วยเหลือไม่ใช่การแจกเงิน แต่ให้ความรู้ ให้ความหวัง ให้โอกาสชาวบ้านกลับยืนขึ้นมาได้อีกครั้ง ส่งพนักงานลงไปที่ อบต.ในเวลางานบ้าง เอาความรู้ลงไปช่วย เมื่อให้ความรู้ ให้ช่องทาง ให้โอกาสไปแล้ว นั่นจึงเป็นการให้อย่างยั่งยืนโดยไม่ได้กระทบต่อผลกำไรของท่าน เอาไปใส่ในรายงานประจำปีส่งผู้ถือหุ้นได้ มีค่ามากกว่ายกป้ายถ่ายรูปตั้งเยอะนะครับ

« « Prev : กำลังใจแก่ผู้ประสบอุทกภัย

Next : ภาพมุมสูง: วิธีสร้างและวิธีใช้ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "เมื่ออาสาสมัครบาดเจ็บ"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.098019123077393 sec
Sidebar: 0.13531804084778 sec