เมื่อโลกผลิตน้ำมันได้น้อยลง
บันทึกนี้ เขียนขึ้นเมื่อราคาน้ำมันดิบต่ำลงผิดปกติ แต่นั่นก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสิ่งเลวร้ายที่โลกกำลังจะเผชิญ…
เพียงใช้สามัญสำนึก ก็บอกได้แล้ว ว่าวันหนึ่งน้ำมันตามธรรมชาติจะหมดไปจากโลกแน่นอน… คำถามที่น่าถามจึงไม่ใช่ว่าน้ำมันจะหมดหรือไม่หมด แต่หมดเมื่อไหร่… ที่ตลกก็คือ ผมไม่คิดว่าคำตอบว่าน้ำมันจะหมดโลกเมื่อไหร่จะสำคัญหรอกนะครับ ก่อนจะถึงเวลาที่น้ำมันหมดโลก อาจจะเกิดเหตุการณ์ซึ่งทำให้น้ำมันไม่มีความหมายอีกต่อไป เพราะว่าโดยทั่วไปคนจะไม่มีกำลังจัดหาน้ำมันมาใช้ (ผู้ที่หาน้ำมันมาใช้ได้ ต้องใช้กำลัง)
ทฤษฎี Peak Oil และผลร้ายรุนแรง
เหตุการณ์นี้มีจุดเริ่มต้นที่สถานการณ์ที่เรียกว่า Peak Oil อันเป็นสถานการณ์ที่โลกผลิตน้ำมันออกมาเป็นปริมาณสูงสุด หลังจาก Peak Oil แล้ว กำลังการผลิตจะลดลงเรื่อยๆ ไม่ว่าจะอ้างว่าเก็บไว้ใช้ในอนาคต หรือว่าจะพยายามสร้างราคาให้สูงขึ้น ข้อเท็จจริงก็คือปริมาณน้ำมันในตลาดโลกลดลงหลัง Peak Oil ซึ่งผู้เชี่ยวชาญต่างก็คาดเดากันไป หลายคนทายผิดว่าน่าเกิดไปแล้ว แต่ที่เหลือก็ไม่มีสักคนที่ทำนายว่า Peak Oil อยู่ห่างปัจจุบันเกิน 20 ปี!
ทฤษฎี Peak Oil เกิดโดย Marion King Hubbert (2446-2532) นักธรณีวิทยาชองบริษัทเชลล์ที่ทำงานอยู่ในเท็กซัส ได้ศึกษาอัตราการค้นพบบ่อน้ำมัน กับกำลังการผลิตจริงในสหรัฐ เขาพบว่ายอดสูงสุดของกราฟทั้งสอง จะอยู่ห่างกันประมาณ 40 ปี โดยหลังจากยอดการผลิตขึ้นถึงจุดสูงสุดแล้ว การผลิตไม่เคยกลับไปสู่ระดับเดิมได้เลย (ไม่อย่างนั้นจะเรียกว่าสูงสุดได้อย่างไร)
ทฤษฎีนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากพวก apologist ว่าด้วยตัวอย่างเพียงชุดเดียว จะยึดถือเป็นจริงเป็นจังได้อย่างไร!
อย่างไรก็ตาม Peak Oil หรือจุดที่การผลิตน้ำมันสูงสุด เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เมื่อเลยจากจุดนั้นแล้ว กำลังการผลิตน้ำมันจะลดลงเรื่อยๆ แต่ว่าระบบเศรษฐกิจของโลกตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมเป็นต้นมา ผูกติดกับปิโตรเลียมอย่างแยกจากกันไม่ได้ เพราะระบบเศรษฐกิจผูกอยู่กับหนี้ และหนี้ผูกอยู่กับกำรในอนาคต เมื่อปริมาณน้ำมันทีน้อยลงในขณะที่ความต้องการมีมากขึ้น ต้นทุนจะสูงขึ้น กำลังการผลิตจะลดลงเช่นเดียวกับความสามารถในการทำกำไร แล้วระบบทุนก็จะล้มครืนลงในที่สุด
แต่ชีวิตในปัจจุบัน ไม่ได้พึ่งน้ำมันอย่างเดียว อุตสาหกรรมอะโรเมติก (ปิโตรเคมีต้นน้ำ) เป็นต้นทางของสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ มากมาย เช่นยางมะตอย ใช้เป็นต้นกำลังในการทำการเกษตร ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง พลาสติก โฟม เครื่องสำอาง ไนลอน โพลิเอสเตอร์ ฯลฯ เมื่อปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตได้มีน้อยลง ราคาจะสูงขึ้น จะเกิดการขาดแคลนสินค้าอย่างวายป่วง เศรษฐกิจพังทลาย อาจเกิดสงครามการแย่งชิงทรัพยากร (แบบสงครามอ่าวและสงครามต่อเนื่องตลอด 20 ปีที่ผ่านมา)
ความปั่นป่วนอันเป็นผลร้ายนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นในตอนที่น้ำมันหมด!
ที่จริงแล้ว เมื่อบ่อน้ำมันที่สูบขึ้นมาเยอะแล้วเริ่มแห้งลง ปริมาณการผลิตน้อยลง->พยายามสูบลึกขึ้น->ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น->ราคาขายสูงขึ้น อุตสาหกรรมปลายน้ำได้รับกระทบไปด้วย
แต่มีเรื่องใหญ่กว่านั้น คือน้ำมันเป็นแหล่งพลังงานสำหรับการขนส่ง เมื่อน้ำมันขาดแคลนจากการที่ราคาสูงขึ้นจนจ่ายไม่ไหว ก็จะทำให้การขนส่งหยุดชะงักไปหมด อันนี้เป็นเรื่องแน่ครับ เพราะว่าแทบไม่มีท้องถิ่นใดเลยที่อยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาอาหารที่ขนส่งเข้ามา ขาดทั้งปริมาณและความหลากหลาย ทำเกษตรเชิงเดี่ยวกันทั้งนั้น แล้วผลิตออกมาแล้ว ก็มีปริมาณเกินบริโภค ต้องพึ่งคนกลางนำไปขายที่อื่น ถูกกดราคาอีกเด้งหนึ่ง ยิ่งทำยิ่งจน แต่ก็ยังทำอย่างเดิม
นอกจากการขนส่งแล้ว เชื้อเพลิงฟอสซิลยังเป็นต้นกำลังของพลังงานส่วนใหญ่อีกต่างหาก เมื่อมีราคาสูงขึ้น+มีปริมาณน้อยลง ก็จะเกิดการขาดแคลนพลังงานอีกด้วย
การพัฒนาเศรษฐกิจมาคู่กับการใช้พลังงานเสมอ ทั้งจีนและอินเดีย มีอัตราการเพิ่มของการใช้พลังงานแบบที่โลกไม่เคยเจอมา แถมมาเป็นเอาตอนที่จัดหาพลังงาน “ราคาถูก” แบบน้ำมันดิบไม่ค่อยได้แล้ว
หลายปีมาแล้ว ไต้หวันก็พัฒนาด้วยอัตราที่รวดเร็ว จนทำให้พัฒนาแหล่งพลังงานไม่ทันและเคยมีปัญหาไฟดับ แต่แค่ไฟดับ ผู้ผลิตไอซีรายใหญ่ของโลก TSMC (บริษัทไต้หวัน) ได้ตัดสินใจย้ายโรงงานข้ามไปแผ่นดินใหญ่ทันที แม้ในขณะนั้นยังมีความตึงเครียดทางการเมืองเรื่องสองจีนอยู่
เมืองไทยตั้งเป้าจะใช้พลังงานทดแทน 20% ในปี 2565 (จากปัจจุบัน 7%) การตั้งเป้า 20% หรือ 80% นั้นไม่ได้ต่างกันเลยหากไม่ทำอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้
ถ้าเปลี่ยนคำว่าน้ำมัน เป็นทรัพยากรอย่างอื่น เช่น น้ำจืด เหล็ก ฯลฯ ก็จะให้พลวัตในลักษณะเดียวกัน
“ผมจะทำแห่งแรกคือที่เกาะสมุย เพราะชัดเจนมาก ผมเป็นประธานกรรมาธิการแก้ไขปัญหาน้ำภาคใต้ของสภาผู้แทนราษฎร แม้เดี่ยวนี้ต้องซื้อน้ำจากบริษัท อีตส์วอเตอร์ น้ำประปาก็ต้องซื้อคิวหนึ่งต้องซื้อ 20-30 บาท เพราะมันไม่มี โดยเฉพาะเกาะสมุยมีคนเก็บน้ำแค่ 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง ทั้งที่ฝนตกทั้งปี ก็ไม่คิดจะเก็บ ทั้งที่มันมีแหล่งเก็บกักน้ำอยู่แล้ว ก็จะนำร่องโดยให้อดีตอธิบดีกรมชลฯทำแผนปฏิบัติการฯ (Action Plan)ให้จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นเจ้าของโครงการ และจะโมเดลไปใช้ทั้งประเทศ” นายไตรรงค์ กล่าว
คลิปข้างล่างเป็นคำอธิบายเชิงเศรษฐศาสตร์อย่างยาวครับ นาทีที่ 11 แสดงเรื่องความบิดเบือนของราคาจากมูลค่าที่แล้วจริงไว้อย่างน่าสนใจ และเริ่มสรุปประเด็นสำคัญตั้งแต่นาทีที่ 14 เป็นต้นไป (แต่ถ้ามีเวลา กรุณาอย่าข้ามเนื้อหาก่อนหน้านั้น)
เมืองไทยเรานี้ แสนดีนักหนา
คนไทยมักจะคิดกับแบบไร้เดียงสา เป็นอะไรก็เป็นกันหมดนั่นแหละ… เฮ้ย…ไม่หรอก… เดี๋ยวก็ดีไปเอง… ให้รัฐบาลแก้แต่ตัวเองก็ไม่ทำอะไร… Reality Show ยังอุตส่าห์โหวตเป็นหมู่คณะได้เลย
ปัญหา Peak Oil, Peak Freshwater เป็นเรื่องใหญ่มากครับ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะว่าเป็นปัญหาในสเกลที่จัดการจากส่วนกลางไม่ได้… จำเป็นที่ทุกพื้นที่ จะต้องมีอาหารและพลังงานเป็นของตัวเอง ทั้งนี้เป็นเพราะเมื่อน้ำมันขาดแคลนหรือมีราคาสูงมาก การขนส่งอาจจะเป็นไปได้ยาก พลังงานจากส่วนกลางก็จะมีไม่พอ วันนี้เราใช้ก๊าซธรรมชาติจากพม่า ซื้อไฟฟ้าจากลาว ขุดหาแหล่งน้ำมันและแก๊สในอ่าวไทย (ซึ่งแหล่งเก่าๆ ก็กำลังจะหมดในสิบยี่สิบปีข้างหน้า) สั่งซื้อน้ำมันผ่านสิงคโปร์ นั่นแปลว่าเราใช้เกินกว่าที่เรามีแล้ว… เข้าใจครับ ว่าจำเป็นต้องใช้ แค่ว่าจะเป็นอย่างนี้ไปอีกนานเท่าไหร่
เมื่อพลังงานไม่พอ จะมีธุรกิจมากมายที่ดำเนินไปไม่ได้ เมื่อธุรกิจดำเนินไปไม่ได้ เราก็ไม่มีเงินไปซื้อพลังงาน
จากสถิติสำคัญของประเทศไทย เมื่อปี 2545 เมืองไทยมี 67,941 หมู่บ้าน มีไฟฟ้า 97.8% มีน้ำประปา 70.4% — ผมคิดว่าน่าจะสรุปได้ว่าประชากรส่วนใหญ่คาดหวังว่าสาธารณูปโภคพื้นฐาน จะยังคงมีอยู่ตลอดไป จึงไม่ได้เตรียมตัวพึ่งตนเองในกรณีฉุกเฉิน และเป็นสัญญาณของความประมาท
- รายงานประชาไท: ขุมทรัพย์อ่าวไทย ใครครอบครอง (ผ่าน thaiclimate.org)
6 ความคิดเห็น
ทุกคนต้องพยายามลดทาสให้น้อยลงอย่างมหาศาลถึงจะอยู่กันต่อไปได้
ที่น่ากลัวไม่ใช่วิกฤติพลังงานแต่เป็นวิกฤติเศรษฐกิจซึ่งสามารถฆ่าคนได้เป็นจำนวนมากมายเลยทีเดียว
และเชื่อว่าคนส่วนใหญ่แม้แต่ผู้นำประเทศก็ได้แต่สวดภาวนาแล้วลืมมันไป
ทรัพยากรหมด ก็ หมดเนื้อหมดตัว หมดอนาคต หันไปนุ่งเตี่ยว อาศัยอยู่ถ้ำ ลากกระบองไล่ทุบสัตว์
เสียดายที่ไม่ได้อยู่รู้เห็น
แต่ก็พอคาดหวังได้ว่า..มนุษยชาติเดี๊ยงแน่ๆ
เมื่อจุดนั้นมาถึง ประชากรโลกก็จะแย่งชิงฆ่ากันเป็นเบือ ไม่มีกฎกติกาอะไรจะมายับยั้งคนดิ้นตาย
พลโลกมากเกินไป เกิดง่าย ตายช้า เกิดๆๆเพิ่มๆอัตราก้าวหน้า
ถ้าไม่หาทางลดจำนวนมนุษย์อย่างเป็นรูปธรรม ความปั่นป่วนจะทวีคูณและมาถึงเร็ว
>> คุมกำเนิดอย่างเคร่งครัด
>> ไม่แต่งงาน อิ อิ
>> โรคระบาดใหม่ๆ ที่ทำให้ตายไวตายมากๆ ที่รุนรุงแรงกว่า ไวรัส 2009 ก็อาจจะเกิดขึ้น
>> ภัยพิบัติอย่างรุนแรง พายุ น้ำขั่วโลกละลายท่วมแผ่นดิน
>> สงครามภายนอกภายใน
/สิ่งเหล่านี้เป็นตัวแปร ตัวเร่ง ตัวเขย่าปัญหา
/จะทำอะไร๊ทำเถิด อย่าเปิดผ้า ทำไร๊ไม่ว่า ผ้าอย่าเปิ๊ด ด ด ด..
อ่านสถิติของไทยแล้วเหนื่อย เป็นของปี 44 มันนานเกินไป
ตัวเลขผันแปรเร็วมาก เราเลยไม่รู้ว่าจริงๆเท่าไหร่ ใกล้เคียงเท่าไหร่ ถ้ามีสถิติทุกๆ2ปี น่าจะแจ๋วกว่านี้
ถ้าเรื่องนี้จริง จะมีคนเยอะแยะเลยที่ไม่ต้องเดือดร้อนกับผลของโลกร้อน+การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ; แต่ก่อนจะพบทางออก ต้องรู้จักปัญหาก่อน อริยสัจ ๔ ก็เรียงเป็นขั้นตอนอย่างนี้ ถ้าหากว่าวันนี้ยังเพลิดเพลินอยู่ คงรู้สึกตัวยากหน่อย เหมือนกบเพลิดเพลินอยู่ในหม้อต้ม
แต่ถ้าเรื่องนี้ไม่จริง การมีพลังงานกับน้ำเป็นของตัวเอง สามารถซื้อหาสินค้า+อาหารที่ต้องการได้ในท้องถิ่น โดยไม่ต้องขนมาจากที่ไกลๆ จะไม่ดีตรงไหน? เมื่อไม่ต้องมีค่าขนส่งมากนัก ค่าขนส่งที่เคยจ่ายอยู่เดิมก็เอามาแบ่งครึ่ง คนขายขายได้แพงขึ้น คนซื้อซื้อได้ถูกลง ดีด้วยกันทั้งสองฝ่าย; ถ้าคุณภาพไม่ดี ก็ตามไปบอกตรงๆ ได้เลย เพราะผู้ผลิตอยู่แถวนั้นเองครับ
… ไม่มีคนให้ความเห็นมาสองบันทึกแล้ว ถ้าบันทึกนี้ไม่มีอีก คิดว่าจะเลิกเขียนไปสักอาทิตย์หนึ่งครับ
#3 สำนักงานสถิติแห่งชาติ อยู่ภายใต้กระทรวงไอซีที ทำการสำรวจต่างๆ ที่มีความถูกต้องตามวิชาการสถิติ (แต่จะมีความหมายหรือทันเวลาหรือไม่ ก็อีกเรื่องหนึ่งนะครับ) หลังจากสำรวจแล้ว มีแถลงข่าว มีตีพิมพ์แจกจ่ายไปยังส่วนราชการที่ไม่มีคนอ่าน แต่ไม่มีให้ผู้ที่ต้องการข้อมูลได้ดาวน์โหลด ขอข้อมูลก็บอกว่าหมดเพราะพิมพ์ไว้สามพันเล่มเท่านั้น… ได้ใจครับ ได้ใจ
[...] Peak Oil ซึ่งได้เคยเขียนบันทึกไว้แล้ว [เมื่อโลกผลิตน้ำมันได้น้อยลง] ขณะนี้ผ่านไป 40 ปีแล้ว [...]