รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์กับการจัดการภัยพิบัติ
อ่าน: 3312เมื่อวานนี้ สำนักส่งเสริมและพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (บอ.) กระทรวงไอซีที ได้มีการประชุมร่วมกับมูลนิธิโอเพ่นแคร์ เพื่อเรียนรู้แนวคิดและระบบงานของแต่ละฝ่าย สืบเนื่องจากคณะกรรมการอำนวยการ กำกับ และติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำมาตรฐานข้อมูลและการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ
ทาง บอ. นำทีมมาโดย ดร.สมนึก คีรีโต ที่ปรึกษา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ แม้ว่ากรอบแนวทางการเชื่อมโยงรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติซึ่งเพิ่งทำเสร็จไป จะยังไม่มีรายละเอียดเรื่องข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ แต่ว่าอาจเพิ่มได้ไม่ยากนักตามความจำเป็น
แนวทางของทั้งสองฝ่าย ไม่ต่างอะไรกันมาก กล่าวคือเป็นกรอบความร่วมมือ มีข้อกำหนดทางเทคนิคเป็นรายละเอียด (ไม่ใช่ข้อกำหนดทางเทคนิค ที่เขียนไว้เพื่อให้ร่วมมือกันได้)
เป็นเรื่องดีที่ภาครัฐสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งนี้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2553
คราวนี้คงเดินหน้าได้เต็มที่นะครับ
ที่จริงแล้ว ก็น่าคิดว่า (1) ทำไมต้องรอมติ ครม. (2) ถ้าไม่มีมติ ครม. เดินหน้าไม่ได้หรือ (3) ทำไมจึงไม่มีมติ ครม.ออกมาก่อนหน้านี้
ผมลองตอบดูนะครับ ข้อ 1 + 2 อำนาจของภาครัฐ มาจากกฏหมาย (ฮิ้ววววว) กฏหมายการแบ่งส่วนราชการ ทั้ง พรบ. พรฎ. และกฏกระทรวง กำหนดขอบเขตอำนาจดำเนินการเอาไว้อย่างชัดเจน เรื่องบางเรื่องที่น่าทำแต่ไม่ได้อยู่ในขอบเขตอำนาจ ส่วนราชการไม่สามารถทำได้ อีกทั้งการแบ่งส่วนราชการ ไม่ทีพื้นที่ทับซ้อน เวลาติดต่อราชการ ถึงได้ต้องวุ่นวายอย่างที่เป็นมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ดังนั้นเมื่อไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจที่เห็นได้อย่างชัดเจน จึงไม่มีส่วนราชการไหนทำ ไม่ว่ามันจะน่าทำแค่ไหน ไม่ว่าจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไร
ข้อ 3 ตอบไม่ได้ครับ แต่ไม่สำคัญแล้ว เพราะอดีตเปลี่ยนแปลงไม่ได้
แล้วมีมติ ครม.ออกมา มี 6 นโยบาย และ 6 มาตรการ (แนวทาง นโยบาย และมาตรการการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ) เปิดช่องให้เกิดความร่วมมือกับ “ภาคเอกชน” ได้นะครับ อันนี้เหมือนกับเป็นคำสั่งไปยังทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติตาม — นโยบาย 2.2 มาตรการ 3.2 คือแผนที่สถานการณ์; นโยบาย 2.3 มาตรการ 3.5 และ 3.6 คือความร่วมมือกับภาคประชาชน; นโยบาย 2.4 มาตรการ 3.4 คือการสื่อสารฉุกเฉิน ซึ่งผมคิดว่าแบบที่เป็นอยู่นั้น ไม่ตรงตามคำแนะนำของ ITU/ESCAP โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 6 และ 7 ในนี้ครับ คือแค่นำระบบสื่อสารกลับมานั้น ไม่น่าจะพอ
แม้มีมติ ครม.ออกมาแล้ว เวลาทำจริงๆ ก็อาจไม่เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น ถึงอย่างไรก็ตาม ก็เป็นการเริ่มขยับไปในทิศทางที่ควรจะเป็น อะไรที่ยังไม่เป็นไปแบบที่ควรจะเป็น ก็ค่อยๆ เสนอแนะร่วมกันพัฒนาไปนะครับ (เรื่องนี้ต่างกับการเรียกร้องในแง่ที่ว่าการเรียกร้องนั้น พูดอย่างเดียวให้คนอื่นทำ)
Next : ถ้าจะมีอนาคต ต้องผ่านปัจจุบันให้ได้ก่อน » »
ความคิดเห็นสำหรับ "รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์กับการจัดการภัยพิบัติ"