เขื่อนใต้ดิน
เป็นเรื่องยากที่คนเราจะเอาชนะธรรมชาติ แต่ก็ยังพอบรรเทาได้บ้าง
เมืองไทยบ้านเรา มีทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม สลับกันไปมา ไม่ค่อยมีความพอดี ตั้งแต่ผมเกิดมา พอมีน้ำท่วมก็ร้องเพลงทางทีวี ขอรับบริจาค พอมีภัยแล้ง ก็ร้องเพลงเช่นกัน
บรรเทาทุกข์ก็ดีแล้ว แต่ป้องกันทุกข์ดีกว่าบรรเทา
โครงการแก้มลิง และพื้นที่รับน้ำชั่วคราวช่วยได้ครับ แต่ถ้าจะใช้เป็นการแก้ปัญหา ก็คงจะต้องเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่และแพงมาก ปล่อยน้ำท่วมพื้นที่แก้มลิงสูงหนึ่งเมตร ในพื้นที่หนึ่งไร่รับน้ำได้ 1600 ลบ.ม. เขื่อนปล่อยน้ำในระดับสิบหรือร้อยล้าน ลบ.ม. ต่อวัน แม่น้ำส่งผ่านน้ำไปลงทะเลไม่ทันครับ เพราะความลาดเอียงต่ำ จึงเกินน้ำเอ่อขึ้นท่วมตลิ่ง แต่ถ้ามีเขื่อนใต้ดินขึ้นเสริมพื้นที่แก้มลิง ก็น่าจะบรรเทาไปได้บ้างนะครับ ทำไมเราถึงจะคิดแบบสามมิติไม่ได้ น่าจะดีกว่าเมกะโปรเจคหลายๆ อัน
เวลาปล่อยน้ำลงเขื่อนใต้ดิน ก็ปั่นไฟไปด้วยเลย เอาไฟฟ้าขายการไฟฟ้า ภาษีต่างๆ ตกอยู่กับท้องที่ เอาไปช่วยเหลือน้ำท่วม แต่มีข้อเสียคือเวลาจะเอาน้ำขึ้นมาก็ต้องใช้ไฟ (แก้ได้ด้วยลักษณะ TOU กล่าวคือปั่นไฟขายในช่วงกลางวัน+หัวค่ำที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงและมีราคาแพง แล้วสูบออกกลางดึกที่ราคาค่าไฟถูก) แต่ถ้าสร้างเขื่อนใต้ดินบริเวณเทือกเขาอย่างแถวเพชรบูรณ์ อาจจะไม่ต้องสูบน้ำขึ้นมาใช้เลย เพียงแต่หาทางทำทางออกของน้ำให้ดี และอาจปั่นไฟฟ้าได้อีก
เพราะเขื่อนใต้ดินอยู่ใต้ดิน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอาจจะน้อยกว่าสร้างเขื่อนธรรมดามากครับ
Next : อุเบกขา » »
2 ความคิดเห็น
พี่ไม่ได้ตามไปดูรายละเอียดเรื่องเขื่อนใต้ดินนะครับ แต่พอทราบมาก่อนแล้วเพราะ ที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีอาจารย์ที่ท่านทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้อยู่ที่ภาควิชาธรณีวิทยา เป็นหลักการที่น่าสนใจมาก แต่ต้นทุนอาจจะสูงกว่าหรือเปล่าไม่แน่ใจ
สำหรับอีสานอาจจะมีปัญหาครับ เพราะว่า salt dome ใต้ผิวดินในแอ่งโคราช และแอ่งสกลนครนั้น มหาศาล ปกติเมื่อป่าไม้พังทลายไปจากภาคอีสาน นักปัฐพีวิทยาก็กล่าวว่าอีสานมีดินเค็มกระจายไปบนผิวดินกินบริเวณพื้นที่มากขึ้นปีละ 10% นี่คือระเบิดใหญ่อีกลูกหนึ่งของทรัพยากรธรรมชาติของอีสาน
แต่ความจริงทางวิชาการก็สามารถเลือกพื้นที่ทำเขื่อนใต้ดินได้ครับ และเลือกขนาดตามความเหมาะสม ซึ่งแปลกที่ว่ายังไม่มีหน่วยงานไหนทำเรื่องนี้ให้ปรากฏ ได้ยินแต่อภิปรายกัน เข้าใจว่า 1. เมื่อไม่มีประสบการณ์จึงไม่กล้าทำ เกรงผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ 2. ราคาต้นทุนแพงเกินไปเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ
เขื่อนต่างๆ กำลังมีการศึกษาวิจัยเรื่องการกระจายตัวของเกลือต่ออิทธิพลของเขื่อน เช่นที่ลำปาว อันนี้เองที่โครงการเมกะโปรเจคเรื่องน้ำในอีสานจึงเสนอระบบท่อซึ่งแพงบรม และระบบคลองบนผิวดินซึ่งมีความสูญเสียน้ำจากการระเหย ไปมากเหมือนกันครับ
จะอย่างไรก็รอฟังผู้รู้มาช่วยขยายครับ พี่เองแลกเปลี่ยนเท่าที่ทราบมาเท่านั้น ซึ่งก็อาจจะรู้แบบคลาดเคลื่อนก็ได้ เพราะนานมาแล้วเหมือนกันครับ