แล้งจัดมาครึ่งค่อนปี ตอนนี้น้ำท่วม แล้วจะทำอย่างไร
อ่าน: 3480เป็นที่รู้กันโดยทั่วไป ว่าทั่วโลกจะมีปัญหาขาดน้ำจืดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้เป็นเพราะประชากรโลกเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ปัจจุบันมีหกพันแปดร้อยล้านคน ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในเอเซีย คนต้องใช้น้ำ ปลูกพืชต้องใช้น้ำ เลี้ยงสัตว์ต้องใช้น้ำ พืชและสัตว์ที่อยู่ตามธรรมชาติก็ต้องใช้น้ำเช่นกัน
น้ำทั่วโลก เรียกได้ว่ามีปริมาณคงที่เสมอ เพราะน้ำไม่สามารถหนีแรงดึงดูดของโลกออกไปได้ แต่ว่าน้ำเคลื่อนที่ เปลี่ยนสถานะไปตามสภาวะอากาศ น้ำส่วนใหญ่ของโลกเป็นน้ำในทะเล-มหาสมุทรซึ่งนำมาใช้อุปโภคบริโภคไม่ได้
น้ำ 97% เป็นน้ำทะเล ที่เหลือเป็นน้ำจืด 3%
ในปริมาณน้ำจืดทั้งหมด เป็นหิมะ 68.7% เป็นน้ำใต้ดิน 30.1% น้ำผิวดิน 0.3% และอื่นๆอีก 0.9%
ในบรรดาน้ำผิวดินทั้งหมด อยู่ในทะเลสาบ 87% ในบีงชุ่มน้ำ 11% และในแม่น้ำ 2%
เมืองไทยได้ดุลการชำระเงิน ซึ่งมีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นตัวมาฉุดดุลการค้า ซึ่งในบางขณะนั้นติดลบ ให้กลับมาเป็นบวก ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมก้าวหน้าไปได้ แต่ถ้ามีปัญหาแล้งหรือน้ำท่วม ใครเขาจะมาเที่ยวครับ เที่ยวเมืองไทยกันเองยังโปรโมทกันลำบากเลย
เราควบคุมปริมาณฝนไม่ได้ เวลาจะแล้ง ไม่มีความชื้นในอากาศ ทำยังไงฝนก็ไม่ตก ส่วนเวลาฝนตกหนัก ทำอย่างไรก็ไม่หยุด
ดังนั้นแต่ละพื้นที่ ก็ต้องเตรียมการรับสภาพการเปลี่ยนแปลงของปริมาณฝนไว้เอาด้วย จะบอกว่าน้ำควรจะเป็นสาธารณูปโภคที่รัฐควรจัดให้ราษฎร ผมว่าก็ถูกต้องนะครับ แต่โดยข้อเท็จจริง รัฐไม่มีกำลังที่จะไปทำทั้งหมดหรอก จะเรียกร้องโวยวายไป ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ว่า ภาคเหนือมีพื้นที่อยู่ในเขตชลประทานเพียง 6% และภาคอีสานมีไม่ถึง 3% เท่านั้น
หากไม่มีการจัดการน้ำ ฝนไม่ตก ก็ต้องไปซื้อน้ำจากที่อื่น แต่ถ้าฝนตกหนัก กลับท่วมบ้านช่องเทือกสวนไร่นา เสียหายทั้งสองทาง
จากข้อมูลโดยรวม องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ใช้งบทำเรื่องการจัดการน้ำ เช่นขุดบ่อ สระ คลอง ร่องน้ำ ฝาย 2.15% แต่ใช้งบแก้ไขเรื่องน้ำ ทั้งท่วม+แล้ง ถึง 7.9% — น่างงว่าทำไมไม่ทำกลับกัน!
การมีพื้นที่รับน้ำ สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในเวลาที่แล้ง และผลักน้ำที่มีปริมาณเกินต้องการไปเก็บสำรองไว้ สามารถบรรเทาน้ำท่วมโดยถ่ายน้ำจากบริเวณที่ท่วมออกไป
เมื่อไม่มีแหล่งสำรองน้ำ เวลาแล้งก็ไม่มีแหล่งน้ำใกล้ๆ ที่จะไปหามาใช้ ส่วนเวลาน้ำท่วม ก็ไม่รู้จะระบายไปไหน เนื่องจากบริเวณใกล้เคียงก็ท่วมเหมือนกัน
การลงทุนเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ อาจจะเกินกำลังของชาวบ้านแต่ละคน
แต่มีอีกอย่างที่พอจะทำได้ครับ คือขุดรูระบายน้ำลงใต้ดิน น้ำที่ท่วมจะไม่ไหลลงรูไปพรวดๆ หรอก แต่การทำอย่างนี้เป็นการเติมน้ำใต้ดิน จะเป็นการรักษาดินให้ชุ่มชื้น ทำให้ต้นไม้โตเร็วขึ้น แถมยกระดับน้ำบาดาลให้สูงขึ้นซึ่งลดต้นทุนพลังงานในการสูบน้ำบาดาล ขุดรูด้วยท่อพีวีซีสัก 2-3 เมตร ไม่เกินกำลังหรอกครับ ถ้าเจาะที่ภูเขา ก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุนของน้ำผุด ซึ่งเป็นต้นน้ำลำธาร
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2544 เมืองไทยมี 67000 หมู่บ้าน ในนี้ 70% มีน้ำประปา แต่ว่าน้ำประปาเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นน้ำผิวดินซึ่งเราเอาน้ำฝนส่วนหนึ่งมาใช้ ที่เหลือก็ปล่อยให้ไหลทิ้งไป อีกส่วนเป็นน้ำบาดาล ซึ่งยืมธรรมชาติมาใช้แล้วไม่เคยเติมกลับลงไปเลย
เมืองไทยมีปริมาณฝนตกเฉลี่ยกว่าพันมิลลิเมตรทุกพื้นที่ นอกจากฝนที่ตกเหนือเขื่อนแล้ว เราปล่อยให้ไหลทิ้งไปหมดครับ
แล้วมันเรื่องอะไรของผมล่ะ! ผมว่ามันเป็นเรื่องของทุกคนนะครับ แค่ไม่อยากให้มีปัญหาเรื่องน้ำเท่านั้นเอง
« « Prev : แนวคิดเกี่ยวกับภัยพิบัติและการจัดการ
Next : อนาคต » »
3 ความคิดเห็น
เก็บน้ำไว้กับต้นไม้
เก็บน้ำไว้ในภาชนะ
เก็บน้ำไว้ในสระ-ห้วย-หนอง-คองบึง-แม่น้ำ
เก็บน้ำไว้ใต้ดิน ที่ซึมลงไปตามที่ลุ่ม
>>ถ้ารัฐสนับสนุนการขุดสระน้ำกระจายเป็นตาหมากรุก ในพื้นที่ๆเหมาะสม จะเป็นการสื่อสารให้เห็นความจำเป็นต่อการเตรียมตัว แต่แนวคิดใหม่เห็นนว่าสมัยนี้มีรถแมคโคจำนวนมาก ถ้าไร่นาชาวบ้านอีสาน ได้รับการช่วยเหลือปรับปรุงให้ขุดคูน้ำลึก 4 เมตร กว้าง 6 เมตร เป็นร่องคูยาวตามแนวพื้นที่ จะได้ประโยชน์กว่าการขุดในรูปสี่เหลี่ยนอย่างที่ทำกันอยู่ เพราะดินที่ขุดขึ้นมาจะใช้เป็นแนวถนนเข้าที่ไร่ที่นา 2 ข้างคูปลูกต้นไม้ คันคูขนาดดังกล่าวจะเป็นกำแพงดินเล็กๆที่ช่วยกันทางน้ำไม่ให้ไหลหลาก หรือรวมตัวกันจนไหลไปรวมกันท่วมท่ไร่ที่นา พื้นที่น้ำที่ยาวไปตามแนวที่ดิน จะช่วยให้พื้นที่มีความชื้นแทรกยาวตามแนวของพื้นน้ำ เลี้ยงปลาได้ดี เพราะมีแหล่งอาหารยาวกว่าที่จะหากินในสระน้ำรูปสี่เหลี่ยม
เรื่องนี้เคยขายความคิดไว้นานแล้ว แต่หน่วยงานของรัฐฯไม่เอาด้วย คงจะเห็นว่ามันสิ้นเปลืองงบประมาณ สู้เอาเงินไปผลาญเล่นด้านอื่นจะได้~%มากกว่า
มีบ้างที่ไปขุดลอกสระน้ำในหมู่บ้าน แต่มันจำเพาะ ไม่ได้กระจายแหล่งเก็บน้ำตาหมากรุกให้กระจายทั่วพื้นที่
เรื่องสระน้ำในไร่นานี่ต้องรอพี่บางทรายมาขยาย เพราะพี่ท่านอยู่มาแปดปี ส่วนผมอยู่กับสระเพียงหกปี
ขุดสระต้องตามใจเจ้าของที่ ต้องดูว่าชาวนารายนั้นต้องการจริงๆ ไม่ใช่รุ่นยัดเยียด หรือรุ่นเห่อตามเพื่อน
ที่สำคัญเรื่องการขุดสระในทุ่งกุลาให้เก็บน้ำอยู่ ลองหันกลับไปใช้ทฤษฎีปลักควายของพ่อคำเดื่องดูก็จะบรรลุผลได้มากขึ้นครับ
หงสาสายๆวันนี้น้ำสีโคลนทะลักท่วมไร่นาไปหลาย
อ้ายคนรถเล่าว่าที่เชียงฮ่อน น้ำป่าพัดเอาท่อนซุงมาพังเถียงนา ข้าวกล้าเสียหายหลาย มีครอบครัวสี่คนพ่อแม่ลูกไปนอนเฝ้านาเหลือรอดแต่พ่อเพียงคนเดียว
สรุปกันมาในรถว่า เหมือนกับเอาน้ำราดหัวคนที่ไม่มีผม
ความเห็นลุงเปลี่ยนน่าสนใจครับ
มนุษย์กระจ้อยร่อย ไม่ค่อยมีความพอดี ไม่พอใจอะไรสักอย่าง
แต่เพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ ก็ควรจะทำเท่าที่ทำได้ครับ — รัฐควรทำอะไรตั้งหลายอย่างแต่ก็ไม่ทำ แล้วก็ไม่ใช่ว่าเพิ่งจะไม่ทำ ไม่ทำมานานแล้ว ขืนรอต่อไป ก็คงได้แค่รอต่อไปครับ ทำเองเท่าที่ทำได้ไปเลย จะได้เลิกบ่นกันเสียที พวกที่บ่นเยอะๆ ก็คือพวกไม่ทำ เพราะยังมีเวลามาบ่น
เรื่องบ่อน้ำจะรอพี่บู๊ดครับ ผมเป็นห่วงเรื่องไม่ยอมเติมน้ำใต้ดินมากกว่าขุดบ่อน้ำผิวดิน วันที่มีน้ำเหลือก็ไม่เติม เอาแต่ดูดมาใช้ สักวันพอไม่มีแล้ว ไม่มีประโยชน์จะมานั่งเสียใจครับ