ปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้
อ่าน: 26708อนุสนธิจากการมอบเครื่องสับกิ่งไม้เป็นของขวัญวันเกิดให้ครูบา ซึ่งท่านก็นำไปทดลองต่อ โดยเอากิ่งไม้ในสวนป่า มาริดใบออก เอาใบสับผสมกันเลี้ยงวัว ปรากฏว่าวัวชอบ! ขืนรอหญ้า วัวทั้งฝูงอดตายแน่ครับ [จากบันทึก วิชาเกินเผชิญวิชาการ]
…วันเกิดปีนี้ผมได้รับของขวัญเป็นเครื่องสับกิ่งไม้ นับเป็นความโชคดีของโคทั้งฝูงของสวนป่า ผมให้ลุงอาน คนที่ดูแลเลี้ยงโคไปตัดกิ่งไม้ที่โคน่าจะกินได้ ซึ่งมีอยู่มากมาย เช่น ใบไผ่ ใบกระถิน ใบมะม่วง ใบขนุน ใบมะขามเทศ ใบก้ามปู ใบข่อย ใบกระถินณรงค์ ใบกล้วย ใบมะรุม ใบแค ใบส้มเสี้ยว ฯลฯ กิ่งไม้พวกนี้ถ้าเราทยอยตัดออกมาในลักษณะแต่งกิ่ง หลังจากตัดออกแล้ว ก็จะมีกิ่งใหม่แตกยอดออกมาให้หมุนเวียนตัดได้ตลอดปี
จากการทดลอง ได้ข้อสรุปมาอย่างหนึ่งว่า การปลูกต้นไม้เลี้ยงสัตว์นั้น เป็นทางออกที่ทำได้ง่ายกว่าการทำแปลงหญ้า นอกจากจะแก้ปัญหาเรื่องอาหารสัตว์ได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าอาหารข้น อีกทั้งยังไปชี้ชวนให้ชาวบ้านปลูกต้นไม้เพื่อความหลากหลายวัตถุประสงค์อีกด้วย งานวิจัยที่เหมาะสม จะอธิบายเรื่องผลประโยชน์ที่ชาวบ้านจะได้รับตรงๆง่ายๆไม่ซับซ้อน เกษตรสามารถเอาแนวคิดไปปฏิบัติได้อย่างสะดวก
จากการทดลองวันแรก เราตัดใบกล้วย 5% ใบกระถิน 35% ใบหญ้า 20%ใบกระถินณรงค์ 40% ให้น้าอานเอาใบไม้มาสับผสมกัน แล้วนำไปเลี้ยงโค เนื่องจากใบไม้เป็นชิ้นเล็กๆ โคแยกไม่ได้ว่าชอบหรือไม่ชอบใบอะไร จึงก้มหน้าก้มตากินจนท้องป่อง ที่สำคัญไม่เหลือเศษพืชตกค้างในราง กิ่งไม้ส่วนโคนที่มีขนาดใหญ่ แยกสับออกเป็นชิ้นไม้สับเล็กๆ นำไปโปรยในคอกสัตว์ให้ผสมคลุกเคล้ากับมูลสัตว์ ช่วยเพิ่มปริมาณปุ๋ยคอกได้อีกทางหนึ่ง คาดว่าในเมื่อสัตว์เกิดความคุ้นเคย โคเหล่านี้ก็จะอร่อยกับเมนูพิเศษที่เชิญชวนชิม…
เมื่อเย็นผมโทรไปหาครูบา จะสอบถามว่ากลับจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเมื่อคืนนี้ ได้ดูฟุตบอลหรือเปล่า (ไม่ได้ดูเพราะเหนื่อยจึงหลับไป) ก็เลยได้คุยกันเรื่องข้างบน ครูบาเมตตาอธิบายว่าการตัดกิ่งไม้ออกมา ช่วยเร่งให้ต้นไม้แตกกิ่งก้านใหม่ ดังนั้นยิ่งตัดก็ยิ่งโต; ทีนี้ไม่ใช่ว่าวัวจะกินใบไม้ทุกชนิด อย่างใบเอกมหาชัยนี่ก็ไม่กิน แต่ว่าเราอยากตัดกิ่งเอกมหาชัย (หรือต้นไม้อื่นๆ ที่วัวไม่กินด้วย) ให้แตกกิ่งผลิใบ สร้างร่มเงา ลดความร้อน รักษาความชุ่มชื้นไว้ในดินนะครับ
การทำปุ๋ยหมักจากใบไม้นั้น เราอยากให้ใบไม้ย่อยสลายไปบางส่วน ไม่ต้องสลายหมด (การเผาไร่นาเป็นการสิ้นคิดมาก เพราะเป็นการปล่อยไนโตรเจน และคาร์บอนออกสู่อากาศ ทำให้ดินเสื่อมสภาพเพราะความร้อน แถมกองไฟยังไล่ฝนไปจากพื้นที่ตรงนั้น แล้วก็ยังจะต้องมาจ่ายเงินเพื่อเติมปุ๋ยในดินอีกที — ยิ่งทำก็ยิ่งจน ส่วนบริษัทขายปุ๋ยจะยิ่งรวย)
การทำปุ๋ยหมักนั้น ทำจากสารอินทรีย์ จะมาจากสัตว์หรือพืชก็ได้ ปุ๋ยหมักเป็นการคืนธาตุและสารอาหารต่างๆ สู่ดินเท่านั้นเองครับ เพียงแต่เวลาคืน เราคืนในรูปที่พืชเอาไปใช้ประโยชน์ได้เลย
ขั้นแรก ก็นำเศษใบไม้มาตากแดดให้แห้ง เพราะว่าเราจะสับใบไม้เป็นเศษเล็กๆ ซึ่งใบไม้แห้งสับง่าย/ใช้พลังงานน้อยกว่าสับใบสด
จะไม่สับก็ได้เหมือนกัน แต่ว่าจะต้องใช้เวลานานกว่า 3 เดือน กว่าใบไม้จะย่อยสลาย — คนไทยใจร้อน ไม่ค่อยอยากรอนานหรอกครับ
ถ้ามี solar collector เก็บความร้อนจากแสงแดด นำไปปล่อยใต้กองใบไม้ ก็อาจจะช่วยให้เศษใบไม้แห้งเร็วขึ้น แต่ว่าถ้าไม่มี ก็ไม่จำเป็นหรอกนะครับ — อย่าลืมสับใบไม้(แห้ง)ให้เป็นชิ้นเล็กๆ ด้วย จะได้ย่อยสลายได้เร็วขึ้น เราไม่ได้ต้องการใบไม้ป่น แต่ให้เป็นเศษใบไม้ชิ้นที่เล็กลงเท่านั้น ไม่ใช่ใบไม้ทั้งใบ
จากนั้นก็โกยนำมาใส่ในคอก ทำเป็นชั้นๆ ชั้นละฟุตหรือฟุตครึ่ง (ประมาณหนึ่งศอก) ในแต่ละชั้นโรยปุ๋ยยูเรีย เม็ดเล็กๆ สีขาวๆ ลงไปเล็กน้อย ตรงนี้คือความพยายามจะเติมไนโตรเจนลงไปเพื่อเร่งให้ย่อยสลาย และเติมสารอาหารให้เศษใบไม้
ตอนที่เติมยูเรีย ราดน้ำ(คลอง)ลงไปด้วย ไม่ต้องให้เปียกโชก แต่ให้เปียกแบบชื้นๆ อย่างทั่วถึง
ถ้าไม่มีปุ๋ยยูเรีย ก็อาจใช้กิ่งไม้สับ หรือว่าใช้ “ฉี่” สัตว์ก็ได้
ยูเรียเป็นอินทรียสาร เมื่อสลายตัว จะได้แอมโมเนียและคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งแอมโมเนียจะไปสลายอินทรียสารอื่นๆ ในเศษใบไม้อีกที
ทำเป็นชั้นๆ ไปเรื่อยๆ จนเต็มคอก (คอกคือโครงไม้กับลวดกรงไก่)
รูปขวาคือเศษใบไม้ที่สุมเป็นชั้นๆ ไว้แล้วปล่อยให้ย่อยสลาย ส่วนรูปขวา เป็นรูปตอนที่ย่อยสลายแล้ว ถึงไม่หมดก็ไม่เป็นไรครับ จะเห็นว่ากองปุ๋ยหมักเตี้ยลง
เรานำเอาเศษใบไม้ที่ย่อยแล้ว ไปใส่ดิน-ใส่ให้หนาหน่อยก็ได้
เมื่อใส่แล้ว เศษใบไม้จะบังแสงแดดข้างล่าง ทำให้วัชพืชโตผ่านขึ้นมาไม่ได้ แถมยังเก็บความชื้นไว้ในดิน พร้อมทั้งปกป้องไม่ให้ดินโดนแดดเผาซึ่งจะทำให้ดินแข็ง การที่ดินมีความชุ่มชื้นและดินไม่ร้อนจัดเพราะไม่โดนแดด จะช่วยให้รากและจุลินทรีย์ในดินเติบโต-ทำงานได้
ทำไปทำมา อาจจะได้ชั้นหน้าของดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นมาแทนของเก่า เรียกว่าฮิวมัส (Humus)
ถ้าวัชพืชโผล่ทะลุขึ้นมา เราก็จัดการได้ง่ายเลย เพราะว่าสีแตกต่างกับปุ๋ยมาก
แล้วทำไมต้องยุ่งยากขนาดนี้… ผมก็ตอบไม่ได้เหมือนกันครับ!
Next : ร้อนเย็นเป็นหยินหยาง » »
13 ความคิดเห็น
วิธีการคงมีหลายรูปแบบ แต่การทดลองไปเรื่อยๆ น่าจะพบจุดพอดีในแต่ละพื้นที่ ถ้านำมาแลกเปลี่ยนกันก็จะได้ความรู้ใหม่ การชี้ชวนให้เกษตรกรใส่ใจการแสวงหาปุ๋ยมาบำรุงดิน เป็นการบ้านหนึ่งที่จำเป็นและสำคัญ -การช่วยพืชย่อยสลายได้ง่ายขึ้น เป็นประเด็นสำคัญ ครับ
น่าสนใจมากเลยเครื่องแรงดีจริงๆ สับกิ่งไม้ได้ดีมากครับ ช่วยให้วัวอ้วน และได้ปุ๋ยอีก ต้องหาโอกาสไปช่วยสับด้วยคน อิอิ
ครูอาราม เราไปช่วยสับสิ้นเดือนนี้ดีไหม อิอิอิ
ดีจังเลยค่ะ ชอบความคิด ชอบการกระทำ และรู้สึกชื่นชมมากค่ะ ป้าหวานมาคิดถึงเครื่องสับ เราจะแนะนำให้ชาวบ้านใช้เราคงต้องคิดถึงเครื่องสับด้วย ถ้าไม่มีเราจะประยุกต์ใช้อะไร อย่างไร ได้ไหมคะ คิดถึงการทำเครื่องสับเอง ถ้าจะทำลักษณะทุบหรือตำคงใช้ลักษณะครกกระเดื่องได้ แต่ผลจะทำให้แตกเละน่าจะไม่ดี แต่ถ้าเป็นสับคงต้องมีใบมีด ซึ่งจะออกแบบยากขึ้นอีกหรือจะทำแบบใช้รอก ยกแล้วปล่อย ท่านรอกอดอาจช่วยคิดได้ ขอบพระคุณค่ะ
ใส่อะไรเข้าไปในเครื่องนี้ มันป่นออกมาเป็นผงแห้งๆ หมดเลย จะเป็นคอนกรีต อิฐ แก้ว กระป๋องน้ำอัดลม พลาสติก ฯลฯ ใส่ซากสัตว์ เช่นเครื่องใน “ตีน” (ซึ่งฝรั่งไม่กิน และคงไม่นึกว่าจะมีใครกิน) ก็ออกมาเป็นผงแห้งเหมือนกัน ไม่ต้องอบด้วยครับ แห้งเลย
ความจริงน่าจะเรียกว่าเครื่องป่นและอบแห้งมากกว่า ขอผมดูก่อนว่าจะทำยังไงต่อดีครับ (คงจะเหมาะกับการกำจัดขยะแบบฝังกลบมากกว่า เพราะลดได้ทั้งปริมาตร และลดกลิ่นได้เพราะมันแห้ง)
ที่หงสายูเรียแพง ใช้ขี้วัวขี้หมูแทนครับ ได้ผลดีเหมือนกัน
ยูเรีย หรือ มูลสัตว์เหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นแหล่งอาหารตั้งต้นให้กับแม่ธรณี(จุลลินทรีย์)ทั้งหลายให้เขาแข็งแรง มีแรงมาย่อยใบไม้ได้ดี ในกรณีที่ใบไม้มีไนโตรเจนอยู่น้อยและไม่เติมยูเรียหรือมูลสัตว์ เจ้าจุลลินทรีย์ก็จะหันไปกินไนโตรเจนจากใบไม้ ทำให้ได้ปุ๋ยหมักที่มีไนโตรเจนเหลือน้อย
สำหรับการกองปุ๋ยหมัก สามารถสอดท่อไม้ไผ่ไว้ระบายความร้อน เรียกว่าการหมักปุ๋ยแบบไม่กลับกองปุ๋ย
แต่เท่าที่ทำที่หงสา กองแบบใส่ท่อไม้ไผ่กับกองแบบธรรมดาก็เห็นมีอัตราการย่อยสลายใกล้เคียงกัน แสดงว่าหากกองไม่ใหญ่มากเขาก็สามารถระบายความร้อนได้เอง
แต่หากจะกองโตๆ แบบขยะเทศบาลของคุณหมอชอบป่วน แบบนั้นก็น่าจะจำเป็นต้องเพิ่มการหมุนเวียนอากาศเข้าช่วย
เรามาชวนกันจับเรื่องปุ๋ยหมักก็น่าสนใจนะครับ เรื่องเล็กๆแต่มีความสำคัญใหญ่หลวง สามารถทำได้ตั้งแต่ในระดับครอบครัวของคนในเมือง ขยะเทศบาล ปุ๋ยหมักจากเศษพืช จากกิ่งไม้ใบหญ้า จากมูลสัตว์
พูดถึงขี้วัวที่สวนป่า ผมสนใจการทำบ่อหมักแก๊สหุงต้ม เหมือนที่ปางช้างลำปาง หรือสามาถลดขนาดมาทำในระดับครัวเรือนก็ได้ครับ ทำง่ายมาก เห็นน้องๆเขาไปส่งเสริมที่สกลนครเลี้ยงหมูแค่หกตัวก็พอหมักแก๊สได้แล้ว
ว่าแล้ววางแผนชวนพี่บูธ แฮ๊คตัวเจ้าภูเบศน์จากอ.สินี ไปหาลู่ทางที่สวนป่าสักครั้ง น่าจะเข้าท่า
แต่ว่านั่นไม่สำคัญเท่ากับประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำ แล้วมีความรู้มากพอที่จะอธิบาย+ปรับปรุง+แก้ไขให้ดีขึ้น
[...] [ปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้] ซึ่งพูดถึงเครื่องสับไม้ [...]
กำลังเร่งเตรียมงานให้เจ้านาย เลยไม่ได้เข้ามาเจ๊าะแจ๊ะ
ได้รับคำสั่ง(แนะนำ)จากป้านายให้ลองทำปุ๋ยหมักจากใบไม้ จึงต้องมาอ่านบันทึกนี้อีกครั้ง อิอิอิ
จะทำปุ๋ยหมักจากใบขนุนที่หล่นเต็มบ้าน ไม่มีเครื่องสับ แต่ป้านายบอกให้หาไม้วางพาดบ่อแล้วเอามีดสับ ๆ ๆ ลงบ่อวันละเล็ก วันละน้อย ให้ลองทำดู
ก็เป็นคำถามเหมือนกัน ทำไมต้องยุ่งยาก บ้านเราก็มีพื้นที่เล็กน้อย ใช้ปุ๋ยก็ไม่เยอะ อิอิอิ(รอบสอง)
อาจะใช้เวลาหมักนานหน่อย ซึ่งอาจจะช่วยได้บ้างโดยการแทงกองใบไม้ให้เป็นรูหลายๆ รู ระบายความร้อน+ให้อากาศเข้าถึง อย่างทั่วถึง
บ้านน้าใช้ปุ๋ยหมักไม่เยอะ ถ้ามีเหลือก็แจกเพื่อนบ้านซิครับ
อิอิอิ
ไม่เลิกดึกแล้วค่ะ
และยังไม่เลิกวีนค่ะ
อิอิอิ อีกรอบ
รอดู ๆ ๆ ๆ
[...] [ตอนต้นบันทึก ปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้][วิชาเกินเผชิญวิชาการ] ก็นั่นแหละ [...]