ฤๅจะถึงคราวกุลาร้องไห้ (3)

อ่าน: 4687

บันทึกนี้เขียนต่อจาก ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2 พูดถึงแนวทางในการฟื้นฟูครับ พื้นที่ไหนน้ำลดแล้ว เริ่มใช้ได้เลย

เมื่ออาทิตย์ก่อน ครูบาไปเป็น Igniter ในงาน Ignite Thailand++ ครั้งที่ 2 ที่หอประชุมจุฬาลงกรน์มหาวิทยาลัย [งาน Ignite Thailand++ ครั้งที่ 2] เกิดอุบัติเหตุทางเทคนิคขึ้น สไลด์ติดอยู่ที่สไลด์ที่สอง นานสองนาทีกว่า ที่เตรียมไป 20 สไลด์ พูดได้แค่ 8 สไลด์เท่านั้น หมดเวลาแล้ว

ในส่วนที่ไม่มีโอกาสได้พูดนั้น มีเรื่องน่าสนใจอีกหลายอย่าง แต่ผมยกมาเขียนเรื่องเดียวนะครับ

ช่วงก่อนงาน Ignite ผมดูข่าวท่านนายกอภิสิทธิ์เดินทางลงไปเยี่ยมพี่น้องทางใต้ ชาวบ้านเดือดร้อนหนักเรื่องอาหารวัว น้ำท่วม ไม่มีฟางให้วัวกิน — ภาพข่าวเบื้องหลังเห็นนายกเดินเข้ามัสยิด น้ำท่วมประมาณหัวเข่า *แต่ที่สำคัญ* คือเบื้องหลังคือต้นไม้ใหญ่เขียวฉอุ่มเลยครับ ผมเห็นเข้า ทนไม่ได้ โทรหาครูบาทันที ไม่ได่นินทาใครหรอกครับ ปรึกษากันว่าทำอย่างไรจึงจะเอาความรู้เรื่องใบไม้เลี้ยงวัว ซึ่งได้ทดลองทำที่สวนป่าตั้งแต่ช่วงแล้งจัดไม่มีฟางเหมือนกัน ลองทำจนวัวอ้วนปั้กกันไปตามๆ กัน…

…แต่ว่าไม่มีช่องทางนำความรู้นี้ไปถึงชาวบ้านเลย ได้แต่เขียนบันทึกทิ้งไว้ [ตอนต้นบันทึก ปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้][วิชาเกินเผชิญวิชาการ] ก็นั่นแหละ ชาวบ้านไม่มาอ่านบล็อกนี้หรอกครับ อ่านยากจะตายชัก แต่ยังคงมีคนมาอ่านเรื่องๆ ก็คงมีหลายคนรู้เรื่อง+มีประโยชน์บ้างล่ะน่า

แถวมวกเหล็ก/ปากช่อง เลี้ยงโคกันเยอะ ฟางมาจากทุ่งหญ้า แต่พอน้ำท่วมก็เกิดปัญหาหญ้าเน่าตาย

พวกเลี้ยงโคในพื้นที่อื่น ก็หวังฟางเข้าหลังจากเกี่ยวแล้ว ปัญหาเดียวกันครับ น้ำท่วมนาเป็นล้านไร่ จะไปเอาฟางสดจากไหน

ใบไม้เลี้ยงวัว ตั้งอยู่บนความคิดง่ายๆ ว่าวัวไม่โง่ อะไรกินได้ มันกิน อะไรกินไม่ได้ มันก็ไม่กิน

แต่ในเชิงวิทยาศาสตร์นั้น [เกิดอะไรขึ้นในท้องวัว] วัวเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง เคี้ยวหญ้าฟางอย่างละเอียด เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้จุลินทรีย์เข้าถึงใบไม้ วัวย่อยเซลลูโลสด้วยจุลินทรีย์ในกระเพาะ เปลี่ยนเซลลูโลสไปเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนแบบอื่น สร้างพลังงานให้กับวัว — ตอนกินอาการ วัวไม่กินน้ำครับ เพราะว่านั่นลดความเข้มข้นของจุลินทรีย์

สวนป่า มีป่า มีใบไม้เยอะ ครูบาเอาใบไม้หลายอย่างมาสับ (ทั้งกิ่ง) วัวไม่โง่หรอกครับ มันเลือกกินแต่ใบไม้ ส่วนเศษกิ่งไม้ เหลือทิ้งไว้ในราง (เพราะว่ามันแข็ง เคี้ยวและย่อยยาก) แล้ววัวก็ไม่ได้กินใบไม้ทุกชนิด มันเลือกเองได้ เราแค่สังเกตว่ามันกินและไม่กินใบไม้ชนิดไหน (เรียนรู้ซะ ฉลาด…ได้อีก)

เวลาบอกว่าโหมปลูกต้นไม้ ใช้งบประมาณมากมาย อีสานไม่เขียว คนปลูกหน้าเขียวเอง — แต่ถ้าบอกว่าใบไม้เป็นอาหารสัตว์ ความรู้สึกจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ต่อให้ไม่จ้างปลูกจ้างดูแลซึ่งไม่รู้ว่ารั่วไหลไปเท่าไหร่ ชาวบ้านจะปลูกและดูแลเอง เพราะว่าใบไม้เป็นอาหารสัตว์ได้ไม่ต้องซื้อ ให้ร่มเงา ช่วยรักษาดิน ให้ปุ๋ยคอกมากเนื่องจากคราวนี้มีปริมาณอาหารไม่จำกัดแล้ว ปุ๋ยคอกเป็นการคืนสารอาหารของพืชสู่ดินอีกครั้งหนึ่ง ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ต้นทุนลดลง คืนหนี้ได้เร็วขึ้น ฯลฯ สัตว์เลี้ยงเป็นแหล่งโปรตีนของคน

ครูบาเคยพูดเรื่องแต่ละหมู่บ้าน “ขาดดุลย์ไข่” บ้าไหมครับ แค่ไข่สำหรับบริโภคในครัวเรือนยังซื้อเอาเลย ผักก็ซื้อ ถามว่าซื้ออะไรแปลกแตกต่างออกไปหรือเปล่า ก็เปล่า ซื้อได้แค่ที่เขามีขายเท่านั้น — แล้วถ้าซื้อซ้ำซากอยู่อย่างนั้น ทำไมไม่ปลูกเองครับ — ถ้าทำทุกอย่างด้วยตัวเองไม่ได้ ลองแสวงหาความร่วมมือภายในละแวกบ้านก่อนไหมล่ะครับ

ถ้าจะฟื้นตัวจากอุทกภัยครั้งนี้ อย่านั่งรอความช่วยเหลือเลยครับ มีเวลาว่าง ใช้จังหวะนี้ไตร่ตรองชีวิตกันหน่อยครับ อย่าเสียเวลาสงสารตัวเองเลย เครียดเปล่าๆ ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมาด้่วย

« « Prev : ฤๅจะถึงคราวกุลาร้องไห้ (2)

Next : ฤๅจะถึงคราวกุลาร้องไห้ (4) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 October 2010 เวลา 0:15

    มาสนับสนุนข้อเท็จจริงนี้
    ที่ภาคเหนือสมัยอยู่สะเมิง ชาวบ้านจะปล่อยวัวขึ้นป่าหลังฤดูทำนา
    ความจริงชุมชนที่อยู่ติดภูเขาก็ทำเช่นนั้นกันทั้งนั้น ที่ดงหลวงก็ปล่อยทั้งวัวทั้งควายเข้าป่า หลังฤดูทำนา
    ผู้กระดึง หรือกระดิ่งไว้ เจ้าของก็จะรู้ว่านั่นคือฝูงวัวของตัวเอง หรือแม้แต่ของเพื่อนบ้านก็รู้จักกันว่านั่นเสียงฝูงวัวของใคร

    สามวัน ห้าวัน เจ้าของก็ขึ้นป่าไปดูวัวสักที ดูว่าอยู่รอดปลอดภัยดีหรือไม่อย่างไร แล้วก็ลงมา แล้วก็ขึ้นไปดูอีกเมื่อทิ้งไว้ สามวันแปดวัน

    วัว ควายในป่ามันหากินเฉพาะหญ้าหรือ ไม่ใช่ มันกินใบไม้ อย่างที่กล่าวนั่นแหละ ใบอะไรที่มันกินได้มันก็กิน อะไรที่กินไม่ได้ มันก็ผ่านไป มากมายมหาศาลใบไม้ในป่า ชาวบ้านจึงรู้ดี และมากไปกว่านั้น เหมือนแมวเหมือนหมาที่มันรู้ว่ากินผิด หรือกินมากไป หรือผิดปรกติ มันก็รู้ว่าจะต้องไปกินใบตะไคร้ แล้วมันจะอาเจียรออกมา เหมือนการขับของเสียออกมา มันรู้จักรักษาตัวเอง วัว ควายแถบภูเขามันก็รู้ ชาวบ้านยังเคยเล่าให้ผมฟัง อิอิ เสียดายจำไม่ได้ซะแล้วว่าใบอะไรบ้างที่วัวมันกินเมื่อมันรู้ว่ามันไม่สบายต้องกินยา…. เมื่อวัวกลับลงมาบ้าน และหากไม่สบาย ชาวบ้านยังขึ้นป่าไปเอาใบไม้นั้นมาให้วัวกินรักษาความเจ็บป่วย เสียดายว่าไม่ได้ทำการบันทึกเรื่องนี้ไว้

    นี่ก็ยืนยันได้ว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นหญ้าเท่านั้น ดังนั้นกรณีที่น้ำท่วม ก็ไม่จำเป็นต้องตระเวนหาหญ้า ฟางไปทั่วประเทศ หาเครื่องมือหั่นใบไม้ แล้วก็ออกแรงไปเก็บใบไม้นั้นๆมาให้ก็ช่วยบันเทาได้อย่างดี เป็นการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติรอบข้าง
    ผมไม่แน่ใจว่าปรมปศุสัตว์มีงานวิจัยเหล่านี้อยู่หรือเปล่า เห็นทีวีประกาศหาหญ้าแห้ง ฟางแห้งจากสุพรรณจำนวน 30 ตันไปช่วยวัวควายที่ติดน้ำอยู่ในขณะนี้
    พ่อครูน่าจะตีพิมพ์เรื่องนี้นะครับ โดยการศึกษาเพิ่มเติมสักหน่อยในเชิงวิชาการ หรือโยนประเด็นให้มีการวิจัยเรื่องนี้อย่างจริงจังไปเลยครับ

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 October 2010 เวลา 0:30
    ขอบคุณมากครับพี่

    บางทีเก็บวัวเก็บควายไว้ในคอกไปนานๆ ก็หลงลืมธรรมชาติได้ได้เหมือนกัน อย่างที่ครูบาว่าไว้ “ความรู้ไม่พอใช้” ครับ

    [อ.แป๋วลุยสวน]

  • #3 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 October 2010 เวลา 0:32

    อยากได้ความรู้ความคิดดีๆอย่างที่ท่านบางทรายเล่านี่แหละ จะได้มาต่อแต้มในการค้นคว้าให้แจ่มชัดยิ่งขึ้น

  • #4 ลานซักล้าง » ฤๅจะถึงคราวกุลาร้องไห้ (4) ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 October 2010 เวลา 3:35

    [...] บันทึกนี้ ต่อจากตอนที่ 3 [...]


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.096954107284546 sec
Sidebar: 0.16201686859131 sec