ฤๅจะถึงคราวกุลาร้องไห้ (4)

อ่าน: 3618

บันทึกนี้ ต่อจากตอนที่ 3

วันเสาร์-อาทิตย์ที่ 23-24 ที่จะถึงนี้ จะมีงาน BarCamp Bangkok ครั้งที่ 4 ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม บางเขน

งาน BarCamp เป็นงานชุมนุม geek จะมีผู้ที่มีความรู้ทางไอที มารวมกันเพื่อแลกเปลี่ยนแง่คิด มุมมอง ประสบการณ์ และเป็นโอกาสที่จะระดมสรรพกำลัง ไปร่วมกันทำงานที่มีประโยชน์

ในงานนี้ สปอนเซอร์รายหนึ่งบอกว่าจะจัด Crisis Camp ระดมคนทำงานเรื่องข้อมูลเชิงแผนที่ของวิกฤตการณ์ครั้งนี้

@thaiflood “ตลาดนัดจิตอาสาช่วยเหลือภัยพิบัติ” เสาร์-อาทิตย์ 23-24 นี้ (ข้ามคืน) ที่ม.ศรีปทุมบางเขน

ที่มา twitter

ผมคงไปร่วมไม่ได้หรอกครับ สวนป่ามีอบรมนักศึกษาจากคณะพยาบาล มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ชนกันพอดี ก็ไปช่วยไม่ได้เลย ดังนั้นบันทึกนี้ ก็จะพยายามเรียบเรียงแง่คิดมุมมอง และประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติเอาไว้ หวังว่าจะมีใครได้ประโยชน์บ้าง ส่วนเกี่ยว-ไม่เกี่ยว ทำ-ไม่ทำ ใช่-ไม่ใช่ ขึ้นกับบริบทครับ

เรื่องระบบข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจนี้ คงไม่จบในบันทึกเดียว บันทึกนี้ จะพาขี่ม้าเลียบค่ายก่อน

มุมมองทั่วไปเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ

สถานการณ์ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนั้น น่าสงสารครับ มองจากภายนอกไม่ค่อยรู้หรอก

งานเหล่านี้เรามักมองว่าเป็นหน้าที่ของส่วนราชการ ตลอดจนอาสาสมัคร มูลนิธิ+องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร อาสาสมัครต่างๆ แต่เรามักไม่มองว่าเรื่องความปลอดภัยของสังคมที่เราอยู่นั้น เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นหน้าที่ของทุกคน จะดูแต่สิทธิและเรียกร้องเอาจากผู้อื่นอยู่เนืองๆ

องค์กรภาครัฐ

องค์กรภาครัฐนั้นมีกรอบที่ชัดเจน มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฏหมายหรือกฏกระทรวง ผู้ที่ออกกฏที่แบ่งส่วนราชการก็ไม่ได้เข้าใจขอบเขตของงาน ดังนั้นงานที่ควรจะทำร่วมกัน กลับแยกเป็นเบี้ยหัวแตกไปอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ งบประมาณ…เฮ้อ…กระบวนการงบประมาณ ผูกกับ KPI (อ่านว่ากะปิ) หมายความว่าจะต้องเป็นโครงการระยะสั้นมาก ถ้าตั้งงบผูกพันธ์เป็นเรื่องใหญ่ทันที เปลี่ยน รมต. เปลี่ยนอธิบดี/ผู้อำนวยการ มีการโยกงบกันให้วุ่นวาย ทั้งที่กฎระเบียบก็เข้มงวดมาก จนทำในสิ่งที่ควรทำแทบไม่ได้เลย

ก่อนเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ถามว่ามีการเตือนหรือไม่ ผมเห็นว่ามีครับ แต่ถ้าไม่มีความรู้เฉพาะ จะฟังไม่รู้เรื่อง ซึ่งถ้าฟังไม่รู้เรื่อง เตือนกับไม่เตือนมีค่าเท่ากัน

ในเมื่อต่างหน่วยต่างทำกันคนละนิด ตามภารกิจหลัก ชาวบ้านคนไหนล่ะครับ จะไปไล่ดูเว็บต่างๆ แล้วประมวลความจริงที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด

มีคำอธิบายว่า ข้อมูลต่างๆ อยู่บนเว็บแล้ว อันนี้ก็ต้องถามกลับเหมือนกัน ว่าท่านคิดว่าจะมีใครมีเวลาว่างมากจนไปนั่ง refresh เว็บของหน่วยงานท่านตลอดเวลาหรืออย่างไรครับ ข้อมูลต่างๆ ที่มีบนเว็บเป็นข้อสนเทศ​ (raw data) ไม่ใช่สารสนเทศ​ (information) นะครับ ถ้าหน่วยงานเป็นผู้เชี่ยวชาญ ช่วยแปลงเป็นข้อมูลที่มีความหมาย และเป็นภาษาไทยหน่อยดีไหมครับ

ระบบการติดต่อของหน่วยราชการนั้น ขึ้นชื่ออยู่แล้วว่า… แค่ข้ามกรมก็ลำบากแล้ว ข้ามกระทรวงยิ่งไปกันใหญ่ หน่วยงานต่างๆ จำเป็นต้องร่วมมือกันครับ — เอาเข้าจริง มันก็ไม่ง่ายเหมือนกับนั่งวิจารณ์อยู่วงนอกหรอกนะครับ ผมมีประสบการณ์เรื่องนี้มา ประเด็นของเรื่องไม่ใช่การตำหนิ แต่เป็นการชี้ประเด็นให้เห็นข้อบกพร่อง เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

องค์กรสาธารณกุศล

องค์กรภาคเอกชน ไม่มีแหล่งเงินทุนสนับสนุน ดังนั้นต้องพึ่งเงินบริจาคจากประชาชน ซึ่งหมายความว่าต้องดัง ต้องเด่น จึงจะมีคนรู้จัก ก่อนจะได้รับเงินบริจาคมาทำงานต่างๆ ได้ มีบางองค์กรที่ล้ำเส้นหรือทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหมือนกันครับ แต่เป็นส่วนน้อย

ข้อดีขององค์กรสาธารณกุศล คือเขายืนระยะได้นาน เขาส่งคนลงไปอยู่ในพื้นที่ได้ (ถ้ายังมีความสนับสนุน)

อาสาสมัคร

อาสาสมัครนี่ล่ะครับ เป็นกลุ่มที่อยากจะพูดถึงในบันทึกนี้

อาสาสมัครมาเอง ด้วยเวลาส่วนตัวและค่าใช้จ่ายส่วนตัว ไม่ได้รับสิ่งตอบแทน นอกจากความสุขใจที่ได้ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ต่างคนต่างมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ มีความรู้ความชำนาญที่แตกต่างกัน เรื่องนี้กลับเป็นเรื่องดี เพราะว่าถ้าทุกคนเหมือนกันหมด ก็จะไม่ต่างอะไรกับผลผลิตทางอุตสาหกรรม

เพราะว่าอาสาสมัครมาจากคนละทิศคนละทาง และมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ที่ organize อาสาสมัคร จึงต้องชัดเจนเรื่องเป้าหมายว่าจะทำอะไร ส่วนทำอย่างไรนั้น ควรจะฟังให้มากๆ ต่างคนต่างชำนาญกันคนละทาง จึงน่าจะได้มุมมองดีๆ มากมาย มีของดีแล้วต้องเรียนรู้ให้เป็นครับ

เท่าที่พูดคุยและติดตามความคืบหน้า คิดว่างานที่อยากให้ทำร่วมกันคือการทำแผนที่สถานการณ์ครับ

แผนที่สถานการณ์ คือแผนที่ที่ประกอบไปด้วยชั้นของข้อมูล (layer) ซึ่งเอาซ้อนกันแล้วจะเห็นภาพที่สมบูรณ์ เรียกว่าเป็นการบูรณาการข้อมูลก็ได้

เมืองไทยไม่เคยมีแผนที่สถานการณ์ที่เป็นสาธารณะ ดังนั้นชาวบ้านอย่างเรา ก็ต้องอาศัยการเตือนจากผู้มีข้อมูล หรือไม่ก็ไปพึ่งหมอดู ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งก็มีข้อมูลเพียงบางด้านเท่านั้น (แถมพูดไม่ค่อยรู้เรื่องด้วย)

แผนที่สถานการณ์ที่(ผม)อยากได้ คือแผนที่ออนไลน์ที่

  1. เปิดให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้ามาดูได้ เว็บหรือมือถือก็ใช้ได้เหมือนกัน
  2. รับแผนที่และข้อมูลไปแสดงได้ เป็นการเผยแพร่สถานการณ์ล่าสุดออกในวงกว้าง ให้ทุกคนได้รับข้อมูลล่าสุดเพื่อที่จะตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม ไม่ทำเกิดปัญหาคอขวดที่เซอร์เวอร์หรือแบนด์วิธ
  3. รายงานสถานการณ์ล่าสุดได้ เมื่อข้อมูลในแต่ละชั้นข้อมูลเช่นระดับน้ำ ณ.​ตำแหน่งต่างๆ เปลี่ยนไป แผนที่ก็เปลี่ยนตาม (ที่จริงชั้นข้อมูลนั้นเปลี่ยน)
  4. สำหรับชั้นข้อมูล อย่างน้อยน่าจะมีดังนี้
    • Base Map เป็นแผนที่พื้นหลัง
    • layer ที่แสดงสภาพถนน และระดับน้ำที่ท่วม layer นี้มีความจำเป็นเพราะจะได้ดูได้ว่าความช่วยเหลือจะเข้าไปในพื้นที่ได้อย่างไร; กรมทางหลวง อัพเดตข้อมูลเส้นทางทางหลวงแผ่นดินให้วันละหลายครั้ง แต่ข้อมูลเป็น text (pdf) ที่ http://www.doh.go.th/; กรมทางหลวงชนบท ขณะที่เขียนนี้ยังตรวจสอบไม่ได้ แต่อาจจะมีสภาพเส้นทางที่ http://202.52.7.134/ หรือเข้าที่ http://gis1.drr.go.th/ แล้วคลิกสภาพเส้นทาง; ตำรวจทางหลวง ไม่มีข้อมูลบนเว็บ http://www.highwaypolice.org/
    • layer แสดงระดับน้ำที่วัดได้จากระบบโทรมาตรของกรมชลประทาน ที่ http://122.155.12.58/ [ข้อมูลน้ำจากระบบโทรมาตรของกรมชลประทาน]; ระบบโทรมาตรของ กทม. ที่ http://dds.bangkok.go.th/scada/
    • layer แสดงปริมาณน้ำฝนสะสมรายวัน โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ที่ http://www.thaiweather.net/Interpolated/ShowImg.php
    • — คงพอได้ไอเดียกันแล้ว ว่าข้อมูลกระจัดกระจายอย่างไร ทำไมจึงประสานงานกันได้ยาก —
    • layer ที่แสดงจุดที่มีการขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน พร้อมทั้งบรรยายสถานการณ์โดยละเอียด
    • layer ที่แสดงจุดที่ทีมช่วยเหลือต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือแล้ว พร้อมทั้งรายละเอียด ลงวันที่เวลา เพื่อที่จะได้กระจายความช่วยเหลือออกไป โดยไม่แห่เข้าไปที่เดียวกันถี่หรือห่างเกินไป
    • layer ที่แสดงสถานีฐานของโครงข่ายโทรศัพท์มือถือที่ยังทำงานอยู่ ทั้งนี้เพื่อให้เข้าใจว่ายังสามารถติดต่อได้ในพื้นที่ใดบ้าง (และพื้นที่ที่ไม่เคยมีการแจ้งสถานการณ์ออกมา เป็นเพราะติดต่อไม่ได้หรือเปล่า) — สถานการณ์นี้เคยเกิดเมื่อตอนน้ำท่วมใหญ่ภาคกลางเมื่อคราวที่แล้ว โทรศัพท์มือถือใช้ไม่ได้ในบางพื้นที่เพราะสถานีฐานก็ถูกน้ำท่วมด้วย
    • layer แสดงที่ตั้งของหน่วยช่วยเหลือ ทั้งถาวรและชั่วคราว
    • layer แสดงรูปถ่ายจากพื้นที่ต่างๆ ที่แสดงระดับน้ำ เช่นถ่ายรูปเทียบกับคน/รถ พร้อมทั้งบรรยายสถานการณ์อย่างละเอียด จำเป็นต้องมีพิกัด/ตำแหน่งที่ถูกต้อง เพื่อที่ความช่วยเหลือจะได้ไปถูกที่
    • layer แสดงสถานีบริการน้ำมัน และแก๊ส ที่ยังเปิดบริการอยู่
  5. อันนี้ไม่เกี่ยวกับไอทีหรือระบบข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ ถ้าอยากช่วยแต่ไม่รู้จะช่วยยังไง ซื้อเรือส่งไปครับ จำเป็นมากๆๆๆๆๆๆ คราวนี้หนักและนานแน่ หลังจากน้ำท่วม ภัยหนาวจะตามมาอีก

อย่าลืมว่าอุทกภัยครั้งนี้ เกิดขึ้นในวงกว้างมาก จำเป็นต้องระดมสรรพกำลังมาช่วยกันกรองข้อมูลครับ

บันทึกนี้ แค่เขียนความคิดว่า Crisis Map ขั้นต่ำ ควรจะมีอะไรบ้าง ขอยกสิ่งที่ควรทำไปไว้อีกบันทึกหนึ่ง

« « Prev : ฤๅจะถึงคราวกุลาร้องไห้ (3)

Next : ฤๅจะถึงคราวกุลาร้องไห้ (5) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

9 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 October 2010 เวลา 6:58

    ชอบ -วิธีขี่ม้าเลียบค่าย
    ชอบ-แผนที่สถานการณ์
    - จะมีปรากฎการณ์อะไรใหม่ๆเกิดขึ้นอีก
    - เห็นภาพคนป่วยนอนเติมน้ำเกลือในเรือ /หมอพยาบาลทำงานหนัก
    - เรื่องที่ยังไม่โผล่ น่าสนใจมาก /จะรวบรวมมาได้อย่างไร?
    - วันนี้ติดต่อเรือยนต์ไว้แล้ว น้ำมาถึงสตึกเมื่อไหร่จะตระเวณเก็บภาพประวัติศาสตร์
    - เท่าที่สอบถาม น้ำยังมาไม่ถึง แต่น้ำพื้นที่เดิมก็ท่วนนาข้าวไป 3-4 ตำบล เนื้อที่ 7-8,000 ไร่
    - ที่คาดการณ์ไว้ทุ่งกุลาจะกลายเป็นทะเลสุดลูกหูลูกตาแน่ๆ

    ไปคุยกับพวกเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง เพราะคิดว่าน่าจะไม่มีปัญหา เป็ดชอบ ลอยน้ำหากินอย่างสบาย ที่ไหนได้ คนเลี้ยงเป็ดบอกว่า เป็ดมันว่ายน้ำไปไกล ว่ายไปเจอน้ำกว้างก็ตีปีกพับๆ ว่ายไปเรื่อยๆ สุดท้ายกระจายกลุ่ม ไม่รู้จะพายเรือไปไล่ต้อนอย่างไร ตอนนี้เป็ดหายไปเกือบครึ่งฝูงแล้ว เฮ้อ แม้แต่เป็ดก็ไม่เว้นที่เกิดปัญหา

  • #2 สุวรรณา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 October 2010 เวลา 9:58

    สวัสดีค่ะ เมื่อเช้าดูข่าวช่อง 3 ข่าวแจ้งว่าน้ำเข้าอำเภอสตึกแล้วค่ะ ไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นไรคะ

  • #3 ลานซักล้าง » ฤๅจะถึงคราวกุลาร้องไห้ (5) ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 October 2010 เวลา 16:57

    [...] บันทึกที่แล้วเขียนทิ้งไว้เท่าที่นึกออกครับ บันทึกนี้จะพยายามเรียบเรียงความคิดว่าอะไรที่น่าจะมี เพราะอะไร [...]

  • #4 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 October 2010 เวลา 20:54

    ผมเสนอเพิ่มข้อมูล layer หนึ่งคือ ฐานข้อมูล อปท. ชื่อ นายก ปลัด และตำแหน่งสาธารณตำบล ข้อมูลพวกนี้จพต้อง update และ online เขามีระบบอยู่แล้ว แต่เอาไว้ให้เจ้าหน้าที่เล่นเกมส์มากกว่า ปรกติ เจ้าหน้าที่ อปท.จะมี Walkie Talkie ห้อยก้นเก๋ไก๋ ชนบทเขาชอบแสดงตนว่ามีฐานะ ระบบพวกนี้ บุคลากรพวกนี้ ควรจะเข้ามามีบทบาทมากๆในการประสานงานกับหน่วยงานของรัฐที่จะเข้าไปช่วยเหลือ ปัจจุบันก็ทำอยู่แต่เราไม่ได้ train เรื่องภัยธรรมชาติยกเว้นบางจุดที่เกิดภัยภิบัติบ่ิยๆก็อาจถูกฝึกมาแล้ว

    บุคคลเหล่านี้จะแจ้งสถานการณ์ชั่วโมงต่อชั่วโมงได้ว่าเป็นเช่นไรบ้าง และสามารถประสานเครือข่าย อปท.ใกล้เคียงได้ในกรณีที่ อปท เองโดนน้ำท่วมเช่นกัน

    หากข้อมูลที่ คอนกล่าวมาทั้งหมดนั้น ใช้วางแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยในภาวะปรกติ สามารถจำลองเหตุการณืได้ ก็จะต้องทำแผนอพยพไว้ก่อนแล้วเอาแผนเหล่านี้ไป train

    ผมเคยร่วมคณะ มข.วิเคราะห์พื้นที่ ที่เรียก Agro ecosystem analysis ที่อาจารย์ อรรถชัย จินตเวช เป็นหัวหน้าทีมก่อนที่จะไปทำ PhD ที่ฮาวาย แล้วกลับมาเมืองไทยย้ายไปอยู่ มช. และ เม้งรู้จักดี เก่งเรื่อง simulation

    สมัยนั้นเราวิเคราะห์พื้นที่โดยใช้ข้อมูลใส่เข้าไปใน layer ต่างๆ แล้วนักวิชาการเฉพาะด้านมาวิเคราะห์ Potentiality ด้านต่างๆ จนกรมส่งเสริมการเกษตรสั่งให้ทำทุกตำบลทั่วประเทศ มีประโยชน์มาก

    สิ่งที่คอนนำเสนอนั้นเป็นประโยชน์มาก ที่จะใช้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเรียนรู้และเอาไปทำแผนงานป้องกันภัยอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และมีระบบ

    อย่าลืม อปท ครับใช้ประโยชน์เยอะๆเพราะเป็นระดับพื้นที่

  • #5 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 October 2010 เวลา 21:21
    ขอบคุณครับพี่ ผมจัดท้องถิ่นไว้ในหน่วยช่วยเหลือ รวมอยู่กับสถานพยาบาล ตำรวจ จังหวัด ทหาร มูลนิธิ อาสาสมัคร ฯลฯ

    แต่แยกเป็น layer ต่างหาก ก็จะชัดเจนมาขึ้นครับ

  • #6 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 October 2010 เวลา 0:36

    นึกขึ้นได้ว่า ตอนที่เราทำการวิเคราะห์พื้นที่นั้นเราต้องการแผนที่หมู่บ้าน และที่ตั้งครัวเรือนทุกครัวเรือน
    สมัยก่อนเราหาได้ที่ผู้ใหญ่บ้าน แต่ก็ขาดๆเกินๆ เพราะการทำไม่ใช่ความถนัด และทำแล้วไม่ได้ใช้เพราะผู้ใหญ่รู้จักทุกครัวเรือนอยู่แล้ว แต่เราเป็นคนนอกต้องการแผนที่แบบนี้เพื่อประกอบการวิเคราะห์ทางสังคมที่ไปสัมพันธืกับข้อมูลด้านอื่นๆ เมื่อผู้ใหญ่บ้านมีแผนที่ที่ไม่สมบูรณ์ก็มีที่ อบต. แต่ก็ แป๊ะเอี่ย ไปที่สาธารณะสุขตำบล หรืออามัยตำบล ดีขึ้นมาแต่ไม่เคย Update เลย เราพยายามค้นหาว่าใคร หน่วยงานไหนที่มีแผนที่หมู่บ้านที่ละเอียดที่สุดในทุกหมู่บ้านในประเทศไทยนี้

    ไม่น่าเชื่อว่ามีหน่วยงานหนึ่งที่มีสมบูรณ์มากๆ ที่เด่นคือมีทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทั่วประเทศ กลับไม่ใช่หน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ที่รับผิดชอบครับ หน่วยงานนั้นก็คือ ไปรษณีย์ สมบูรณ์มาก สมัยที่ผมร่วมกับ มข. ประเมินผลโครงการ Social Investment Fund (SIF)เราทำหนังสือราชการไปขอความร่วมมือ ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ปรกติเขาไม่ให้ใครเพราะเป็นเอกสารเฉพาะ เขาจะทำแผนที่หมู่บ้าน มีถนน สถานที่สำคัญของชุมชน และที่สำคัญมีที่ตั้งครัวเรือนและเลขที่บ้าน เพราะเขาจำเป็นจะต้องรู้เพื่อส่งพัสดุไปรษณีย์ เขาจึงทำอย่างสมบูรณ์มาก

    ผมคิดว่าข้อมูลนี้อาจพิจารณาเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ครับ เช่น หมู่บ้านนั้นน้ำท่วมแล้วสื่อสารมาขอความช่วยเหลือ คนนอกจะเข้าไป ใช้แผนที่นี้น่าจะช่วยได้เยอะครับ

  • #7 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 October 2010 เวลา 1:10
  • #8 ลานซักล้าง » แผนที่สถานการณ์น้ำท่วมอีกครั้งหนึ่ง ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 October 2010 เวลา 23:37

    [...] — เมื่อสามวันก่อน เขียนเรื่องแผนที่สถานการณ์ไว้อย่า

  • #9 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 29 October 2010 เวลา 20:00
    วันนี้ได้ข้อมูลมาว่า SIF ปิดโครงการแล้วครับ

    มีเจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งแนะว่าใช้ข้อมูลของ ป.ป.ส. ซึ่งลงถึงระดับหมู่บ้านเช่นกัน


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 1.0345678329468 sec
Sidebar: 0.29745507240295 sec