ฤๅจะถึงคราวกุลาร้องไห้ (5)
บันทึกที่แล้วเขียนทิ้งไว้เท่าที่นึกออกครับ บันทึกนี้จะพยายามเรียบเรียงความคิดว่าอะไรที่น่าจะมี เพราะอะไร
การพยากรณ์อากาศ
วิถีชีวิตคนไทยขึ้นกับลมฟ้าอากาศเป็นอย่างมาก เราจำเป็นต้องพยากรณ์อากาศล่วงหน้าให้ได้ระยะหนึ่ง กรมอุตุนิยมวิทยาทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ซึ่งไม่เพียงแต่รวบรวมข้อมูลจากประเทศต่างๆ เท่านั้น ยังเป็นแหล่งความรู้ทางอุตุนิยมวิทยาของภูมิภาคอีกด้วย
กรมอุตุฯ ทำการทำนายสภาวะอากาศวันละสองครั้ง คือเที่ยงคืนและเที่ยงวันตามเวลามาตรฐานสากล เราจึงเห็นกรมอุตุฯ ออกรายงานสภาพอากาศวันละสองครั้ง ตอนเจ็ดโมงเช้ากับหนึ่งทุ่ม เนื่องจากเวลาเมืองไทยเร็วกว่า UTC อยู่ 7 ชั่วโมง การพยากรณ์อากาศต้องอาศัยข้อมูลจากประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน การตรวจวัดอุณหภูมิ ความดัน ความชื้น อุณหภูมิของน้ำทะเล ในแต่ละประเทศโดยไม่สนใจบริเวณข้างเคียง ย่อมไม่แม่นยำเพราะว่าสภาวะอากาศเกี่ยวพันกันข้ามพรมแดนประเทศ
แต่ว่าการพยากรณ์อากาศวันละสองครั้งในภาวะที่อากาศแปรปรวนนั้น ไม่พอหรอกนะครับ ผมคิดว่ากรมอุตุฯ ก็ทราบดี จึงได้มีความพยายามจะพัฒนาสมรรถนะ แล้วก็ดันเกิดเป็นปัญหาการจัดซื้อซูเปอร์คอมพิวเตอร์อันลือลั่นเมื่อหลายปีก่อน จนปัจจุบันทางกรมก็ยังไม่มีซูเปอร์คอมพิวเตอร์ใช้งาน ยังใช้แผนที่อากาศเหมือนเมื่อสี่ห้าสิบปีก่อน
ถ้าพูดถึงความก้าวหน้าทางวิทยาการแล้ว ผมคิดว่าศูนย์อุตุนิยมวิทยาทางทะเลก้าวหน้ามากครับ มีการนำวิทยาการสมัยใหม่มาช่วยทำนายสภาพคลื่นลมในทะเล โดยความช่วยเหลือของมูลนิธิเพื่อพึ่ง(ภา)ยามยาก สภากาชาดไทย ให้คลัสเตอร์มา(สองชุด?)
ในส่วนของการพยากรณ์อากาศด้วยคอมพิวเตอร์นั้น ต้องขอยกย่องความพยายามของผู้ดูแลเป็นอย่างมาก ที่ทดลอง เรียนรู้ และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับงานนี้ ปัจจุบันได้เปลี่ยนจากโปรแกรมโบราณ MM5 ไปเป็น WRF ซึ่งใช้กันทั่วโลกแล้ว แต่เนื่องจากข้อจำกัดในสมรรถนะของการคำนวณ จึงพยากรณ์ทุก 3 วัน ผลการคำนวณทำนายล่วงหน้าไป 3 วัน หากมีพลังการคำนวณมากกว่านี้ ก็อาจเร่งความถี่ของการคำนวณจากทุก 3 วันไปเป็น ทุก 12 6 หรือ 3 ชั่วโมงได้ WRF ใช้โมเดลคณิตศาสตร์ทำนายผลต่างๆ (ฝน ลม ความกดอากาศ ฯลฯ) บอกได้แค่แนวโน้มครับ แล้วทำนายเป็นกริดขนาด 18 x 18 กม. (สองแสนไร่) ดังนั้นหากคำนวณบ่อยขึ้น โดยปรับปรุงข้อมูลตามที่เกิดขึ้นจริง ก็จะทำให้ผลการทำนายแม่นยำขึ้น ละเอียดขึ้น
เรามีคอมพิวเตอร์มากมายที่รัน BOINC อยู่ พลังการคำนวณเหล่านี้ หากแบ่งมาช่วยรัน WRF4G ก็น่าจะช่วยได้บ้าง — เท่าที่ทราบ กรมอุตุฯ ไม่ได้เปิดเผยผลการวัดจากสถานีตรวจอากาศต่างๆ ครับ ไม่ทราบว่าทำไมเหมือนกัน
ภาพมุมสูง
เรื่องนี้ก็แปลกที่ไม่มีครับ เราซื้อภาพถ่ายจากดาวเทียมได้ เพื่อมาตรวจขอบเขตของอุทกภัยได้ แต่ยังไม่เห็นข้อมูลจากดาวเทียมเลยว่าน้ำท่วมในบริเวณไหนบ้าง เวลามีเสียงขอความช่วยเหลือมาบอกว่าอำเภอนั้น ตำบลนี้เดือดร้อน ความช่วยเหลือที่นำเข้าไปก็ไม่เคยพอดี ไม่มากไปก็น้อยไป ทั้งนี้เป็นเพราะผู้ที่นำความช่วยเหลือเข้าไป ไม่ทราบขอบเขตของความเสียหายเดือดร้อน จึงเตรียมการไปไม่เหมาะ (แต่เข้าไปดีกว่าไม่เข้าไปนะครับ)
ถ้าหากว่าได้ภาพมุมสูง ก็จะทำการสำรวจความเสียหายในวงกว้างได้ เพื่อที่จะประเมินได้ว่าควรนำอะไรเข้าไป ด้วยความถี่เท่าไหร่
บันลูน เครื่องบินเล็ก UAV ก็ให้ภาพมุมสูงได้นะครับ
แผนที่ดิจิตอลสำหรับความสูงของพื้นที่
ในปัจจุบัน หน่วยงานทางวิชาการ เช่น สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร AIT จุฬา ฯลฯ ได้จัดทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ สำหรับการไหลของน้ำตามแม่น้ำลำคลอง และใช้ได้ผลสำหรับการจัดการน้ำมาหลายปีแล้ว แต่แบบจำลองนี้มีข้อจำกัดคือตั้งอยู่บนพื้นฐานของอัตราการไหลในร่องน้ำ ถ้าเกิดน้ำท่วมขึ้น จะมีน้ำล้นตลิ่ง ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่ไม่อยู่ในโมเดล มีทั้งไหลออกจากร่องน้ำและไหลเข้า
เวลาน้ำล้นตลิ่ง น้ำก็จะไหลไปตามความลาดชันของพื้นที่ ผ่านสิ่งกีดขวางที่ยุ่งเหยิงซับซ้อน อาจจะเกิดช็อตเกอร์กิตกล่าวคือน้ำล้นจากร่องน้ำหนึ่ง ไปเพิ่มปริมาณน้ำในร่องน้ำอีกอันหนึ่ง โดยไม่อยู่ในแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ทำให้การจัดพื้นที่รับน้ำและระบายน้ำผิดพลาดไปได้
ทั้งนี้เป็นเพราะเรายังไม่มีแผนที่ความสูงของพื้นที่ที่มีความละเอียดพอ เมื่อน้ำล้นตลิ่งแล้ว เราไม่รู้ว่าน้ำไหลไปไหน ท่วมที่ไหน กว้างแค่ไหน ลึกแค่ไหน
ที่จริงก็มี DEM ที่ใช้ได้ฟรีอยู่ที่ http://srtm.csi.cgiar.org/SELECTION/inputCoord.asp แต่ว่าข้อมูลอันนี้ เป็นข้อมูลแบบ 3-second (0° 0′ 3″ จากจุดศูนย์กลางของโลก) หรือคิดเป็นความสูงของกริดสี่เหลี่ยมจตุรัส ขนาด 92.5 x 92.5 เมตร ถ้าเป็นที่ราบก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ความละเอียดแบบนี้ จะใช้ไม่ได้กับพื้นที่ที่มีความลาดเอียงสูงเช่นเขาและเนิน มีผู้อ้างว่ามีแผนที่ความสูงแบบ 30 x 30 เมตรและ 10 x 10 เมตร เหมือนกัน แต่แผนที่ความสูงแบบนี้ ยิ่งละเอียดก็ยิ่งมีราคาแพง
แผนที่ความสูงที่ละเอียดที่สุด จัดทำด้วยการสำรวจด้วย LIDAR ซึ่งครั้งหนึ่งจัดเป็นเทคโนโลยี(ลับ)ทางการทหาร หลังจากที่สหภาพโซเวียตแตกเป็นประเทศเล็กๆ ก็เริ่มมีบริการ LIDAR ทางการพาณิชย์ขึ้น แผนที่ LIDAR ละเอียดได้ถึงระดับ 0.3 x 0.3 เมตร ใช้เครื่องบินบินผ่านพื้นที่สำรวจ แล้วเอาเลเซอร์กวาดพื้นที่ครับ
ความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน
อันนี้เหมือนเป็นปัญหาโลกแตก ต่างคนต่างทำเฉพาะส่วนของตัว จะเอาข้อมูลของตนไปให้คนอื่น ระบบงานก็ต่างกัน ความสนใจ/ความชำนาญก็ต่างกัน แล้วชาวบ้านอยู่ตรงไหนครับ ในเมื่อแต่ละหน่วยงานสนใจเฉพาะเรื่องของตัว ท้ายบันทึกที่แล้วก็คงเห็นลักษณะความแตกต่างของข้อมูลและความสนใจของหน่วยงาน
อันนี้เรื่องยาวครับ พอดีกว่า ชักยาวแล้ว
« « Prev : ฤๅจะถึงคราวกุลาร้องไห้ (4)
Next : ฤๅจะถึงคราวกุลาร้องไห้ (6) » »
3 ความคิดเห็น
เห็นด้วยครับ
ความจริงบ้านเราในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเราก้าวหน้าเรื่อง mapping ไปเยอะ ตอนที่ทำงานกับ USAID ก็ทำ Ago-ecosystem analysis ตอนที่มาทำงานกับโครงการไทย-ออสเตรเลีย กองน้ำบาดาล กรมทรัพยากรฯสมัยนั้นทำแผนที่น้ำใต้ดิน ร่วมมือกับกรมพัฒนาที่ดินทำแผนที่ Soil map และ Salinaty soil map และเข้าใจว่าทุกมหาวิทยาลัยก็มี GIS section ที่พัฒนาแผนที่เฉพาะเรื่องไปมากมาย ที่ มข. ก็มีอาจารย์ ดร.ชัยรัตน์ ที่เคยทำงานด้านดาวเทียมกับฝรั่งเศสมาแล้ว ท่านทำแผนที่อีสานมากมาย ทราบว่า ธกส. ก็มาเอาไปใช้เพื่อทางธุรกิจธนาคารด้วย
หากบูรณาการกันเพื่อจัดทำแผนงานอุทกภัย และอื่นๆก็น่าจะเกิดประโยชน์มหาศาลนะครับ
ขอบคุณพี่มากๆ ที่เกาะติดและเพิ่มเติมประเด็นที่น่าสนใจตลอดมานะครับ
[...] บันทึกที่แล้วเขียนเรื่องที่น่าจะมี บันทึกนี้จะขยายสิ่งที่บางประเทศเขาทำกัน และคงเป็นบันทึกสุดท้ายในชุดนี้แล้วครับ [...]