เฮฯ มงคล @ภูเก็ต - ทำงานกันหน่อย โรงเรียนสตรีภูเก็ต
อ่าน: 4484เช้าวันที่สอง ท่านอัยการชวนชาวคณะไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องการจัดการความรู้ (แบบไม่มีแบบ)
ได้เจอพี่แอ๊ดภริยาของท่านอัยการ ท่าทางเหนื่อยมาก วันนี้ (26 ธ.ค.) เป็นวันสุดท้ายของการเตรียมงานแต่งงานลูกชายคนโต มีข้อจำกัดมากมาย สถานที่จัดงานเป็นอทยานอาหารใหญ่ที่สุดของภูเก็ต ดังนั้นจึงไม่ว่างที่จะให้เข้าไปเตรียมงานได้ก่อน ท่านอัยการและภริยาเป็นคนที่มีคนรักทั้งเกาะ ในเมื่อมีคนต้องการช่วยงานมากมาย จึงมีเรื่องที่จะต้องประสานงานมากเช่นกัน อิอิ นี่ล่ะหนา ความรักของพ่อแม่ เพื่อลูก ต่อให้เหนื่อยแค่ไหนก็ยอม
ท่านอัยการเป็นประธานคณะกรรมการโรงเรียนประจำจังหวัดด้วย ในเมื่อชวนแล้ว เราก็ยินดีไปครับ แล้วก็ไปตามวิถีคือใช้วิธีโยนไมค์เช่นเดิม ท่านอัยการกล่าวเปิดงาน แล้วขอตัวไปเตรียมงานแต่งงานต่อ เมื่อคืนก็อยู่ดึกอีกแล้ว
ครูบากล่าวนำถึงกระบวนการ KM ธรรมชาติ “ไร้รูปแบบ แต่ไม่ไร้สาระ” เป็นกระบวนการที่นิ่มนวล เข้าใจถึงความแตกต่างของปัจเจกบุคคล ไม่บังคับให้ใครทำอะไรเหมือนกันหมด เพราะคนแตกต่างกัน มีพื้นฐาน มีข้อจำกัด และมีบริบทของชีวิตที่แตกต่างกัน
แล้วโยนไมค์ให้อาจารย์แสวง คณะเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งยกตัวอย่างการเรียนรู้ด้วยวิธีของท่าน คือทำนาโดย “ไม่ไถ ไม่ดำ ไม่หว่าน” (แต่เกี่ยวข้าวนะครับ ไม่อย่างนั้นไม่ได้กิน) ทำนาแบบนี้ เหมือนไม่ต้องลงทุน ได้อะไรมา ก็เป็นกำไรทั้งหมด อาจารย์ยังกรุณาแบกข้าวจากนามาด้วย แต่ว่าส่วนหนึ่งทิ้งไว้ที่กรุงเทพเพราะใส่รถมาไม่หมด แล้วที่นำมาด้วย ก็อยู่ในรถที่จอดอยู่ที่โรงแรม ฮี่ฮี่ฮี่
หลังจากหนึ่งชั่วโมง อาจารย์แสวงโยนไมค์ต่อให้อาจารย์พินิจซึ่งกล่าวถึงกระบวนการ KM ซึ่งเริ่มที่ใจ ต่างกับความเชื่อโดยทั่วไปว่าเดินตามแบบแผน เต็มไปด้วยสูตรสำเร็จและคำว่า “ต้อง”; หัวใจของ KM คือการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ ถ้ารู้แต่ไม่ปฏิบัติ รู้กับไม่รู้ก็ไ่มต่างกันเลย ปฏิบัติแล้วรู้ว่าสิ่งที่คิดว่ารู้นั้น รู้จริงหรือไม่ ประมาณครึ่งชั่วโมง อ.พินิจโยนไมค์ต่อให้ผม
ผมจำไม่ค่อยได้ว่าพูดอะไรไปบ้าง แต่หลักใหญ่ๆ บอกว่าวันนี้พูดให้คิด ไม่ได้พูดให้เชื่อ; หัวใจของการเรียนรู้ ยังเป็นหัวใจนักปราชญ์ (สุ จิ ปุ ลิ) เริ่มต้นที่การสังเกต พิจารณา กลั่นกรองก่อนเชื่อ นำไปปฏิบัติ เรียนรู้อีก ปรับปรุง ต่อยอด ถ่ายทอด; พูดเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบของครู ว่าสร้างคนรุ่นหลังที่จะฝากประเทศชาติเอาไว้; เด็กๆ แตกต่างกัน ห้องเรียนเดียวกัน มีคนได้ A และได้ F ครูควรหมั่นสังเกตเด็ก; ยก quote ของครูบาที่ผมชอบ “เรียนในห้อง ได้ความรู้…เรียนนอกห้อง ได้ความจริง…เอาความรู้บวกความจริง ได้ความรู้จริง” -> ความรู้จริงเป็นเป้าหมายของ KM; สติ=เอ๊ะ สัมปชัญญะ=อ๋อ ไม่เอ๊ะ ก็ไม่อ๋อ ถ้าไม่เอ๊ะ+ไม่อ๋อ อย่าหวังหาคำตอบหรือทำ KM อะไรเลย แล้วก่อนจะเอ๊ะได้ ให้สังเกตก่อน ละอคติ/ความจำด้วย ทุกอย่างต้องพิจารณาเอา เรื่องเดียวกันที่มีบริบทแตกต่างกัน อาจมีทางออกคนละทาง
ครึ่งหลังของคลิปนี้ เป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับลำธารที่ไหลผ่านกลางที่ของโรงเรียน น้ำในลำธารเป็นน้ำทิ้งจากท่อระบายน้ำ ไม่มีกลิ่นแต่ใช้บริโภคไม่ได้ ถึงกระนั้น เราเอามาปั่นเป็นพลังงานได้ ตอนที่ถ่ายวิดีโอ มีน้ำน้อย แต่ว่าในลำธารมีสาหร่ายเติบโตได้ดีหลายกอตลอดลำธาร แปลว่าน้ำไม่เคยแห้ง
หากมีฝายเล็กๆ ที่ปรับระดับน้ำได้ ก็จะทดพลังงานศักย์ของน้ำขึ้นมาได้ ซึ่งอาจจะลำเลียงขึ้นที่สูง (โรงเรียนอยู่เชิงเขา) เพื่อปล่อยน้ำนี้ลงมาปั่นไฟฟ้าเอาไปใช้ ลดค่าใช้จ่ายของโรงเรียน — น้ำในลำธารไหลตลอดเวลา แม้ปริมาณไม่มาก ความลาดเอียงไม่มาก แต่ได้มาทีละเล็ทีละน้อยตลอดเวลา รวมๆ แล้ว อาจจะคุ้มค่าก็ได้นะครับ
« « Prev : เฮฯ มงคล @ภูเก็ต - พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ภูเก็ต อ.กะทู้
Next : เฮฯ มงคล @ภูเก็ต - เที่ยวภูเก็ต » »
2 ความคิดเห็น
นี่ขนาดคิดไม่ออกว่าพูดอะไรไปบ้างนะพี่คอน อิอิ
อย่างเรื่องตัวอย่างงานใหญ่ๆ ที่เคยทำและยกตัวอย่างไว้สองสามเรื่องนั้น ตอนจะเริ่ม ไม่รู้หรอกครับว่าจะสำเร็จหรือไม่ แต่ว่าสิ่งที่ต้องทำ ก็ต้องทำ มันก็แค่นั้นเอง สำคัญอยู่ที่ว่ารู้หรือเปล่าว่าจะต้องทำอะไรบ้าง แล้วรู้หรือไม่ว่าแต่ละอย่างควรทำอย่างไร