สันติไมตรี
ครั้งหลังสุดที่ไปตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล คงจะเป็นตอนที่ไปฟังบิล เกตส์พูดอะไรสักอย่างเมื่อหลายปีก่อน มาวันนี้เข้าไปอีกครั้ง เพื่อไปแลกเปลี่ยนความรู้ ช่องทาง และประสบการณ์กับทีมข้อมูลของ ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ด้วยหวังว่าจะช่วยให้การตัดสินใจจากฝั่งของรัฐ เป็นไปด้วยความถูกต้อง ฉับไว เพื่อบรรเทาทุกข์ ประคับประคอง และฟื้นฟูชีวิตของผู้ประสบภัย
เขียนบ่นไว้ในบันทึกที่แล้ว เรื่องการกระจายอำนาจ กระจายทรัพยากรออกไปช่วยพื้นที่ต่างๆ ทั้งที่ประสบภัยแล้ว และกำลังจะประสบภัย พอไปคุยกันนี้ก็ได้ข้อมูลใหม่จาก “คนนอก” ที่เข้าไปช่วย (ไม่ใช่คนที่เกี่ยวข้องกับรัฐหรือรัฐบาล) ว่าที่จริงรัฐบาลพยายามทำอย่างนั้นอยู่แล้ว เพียงแต่ติดขัดระเบียบราชการ ซึ่งเขียนไว้แน่นปั๋งเหมือนกำแพง มีตัวอย่างจริงคือเทศบาลแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ ส่งเครื่องมือมาช่วยสร้างคันดินในภาคกลาง กลับมีปัญหากับหน่วยงานตรวจสอบทันที เนื่องจากอยู่นอกขอบเขตอำนาจ เรื่องนี้มีวาระจะเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อผ่อนคลายระเบียบในการประชุมครั้งหน้า ทรัพยากรของทางภาครัฐ กระจายออกพื้นที่ที่ยังไม่กระทบเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ การระดมทรัพยากรกลับมาช่วยพื้นที่ที่กำลังได้รับผลกระทบ จึงขลุกขลักอยู่บ้าง… เรื่องนี้เป็นบทเรียนว่าแม้แต่ความจริง ก็มีหลายมุมมอง หากไม่เข้าใจ ควรถาม ไม่ใช่คิดเอาเอง [แต่บันทึกที่แล้ว ผมไม่ลบหรอกนะครับ]
ปัญหาของการบูรณาการข้อมูลนั้น หลักๆ ก็คือเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมการล่วงหน้า
การบูรณาการข้อมูลไม่ใช่การนำข้อมูลทุกอย่างมารวมไว้ในที่เดียวกัน แต่เป็นการนำข้อมูลที่มีความหมาย ไปสู่ผู้ตัดสินใจ เพื่อที่การตัดสินใจนั้น จะเกิดประโยชน์ต่อชาวบ้าน เรื่องนี้ไม่ยากแต่ค่อนข้างสับสน เนื่องจากข้อมูลกระจัดกระจายอยู่คนละกรมกอง มีกันคนละนิด ต่างคนต่างทำ จึงไม่มีภาพใหญ่ที่ควรจะมี (PMOC) พอเป็นเหตุการณ์ฉุกเฉิน ต่างคนต่างระดมส่งข้อมูลมา ทำให้ย่อยไม่ไหว หาความหมายไม่ทัน กลายเป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่ง น้ำท่วมที่ศูนย์บรรเทาอุทกภัย
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ก็มีข้อมูลดีจากหลายแหล่ง เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งจะช่วยกำหนดขอบเขตของน้ำท่วมได้ หาเส้นทางนำเอาความช่วยเหลือเข้าไปยังพื้นที่ได้เช่นกัน หาแหล่งอาหารจากพื้นที่ใกล้เคียงแทนที่จะขนจากกรุงเทพ ฯลฯ
เรื่องหลักการของการประสาน ส่ง-ขอความช่วยเหลือ ผมแนะให้เดินตามผังของ EDXL-RM ครับ ไม่ได้หมายความว่าจะให้ใช้ EDXL-RM แต่ว่าเริ่มจากโครงแบบนี้ ง่ายกว่ามาก
EDXL-RM เป็นการจัดการทรัพยากร มี Party เป็นเจ้าของทรัพยากร มี Resource เป็นตัวทรัพยากรเอง เช่น รพช. เป็น Party ส่วน รถแบ็คโคร,รถแทรกเตอร์,เรือท้องแบน เป็น Resource หรือว่า มูลนิธิ 1500 ไมล์ เป็น Party มี อาสาสมัครมูลนิธิ 1500 ไมล์จำนวน 150 คน เป็น Resource ฯลฯ
Resource ถูกจองแจะแจกจ่ายไปใช้ ตามเวลาและพื้นที่ต่างๆ เป็น Schedule และ Assignment
การร้องขอและการตอบสนอง เป็นส่วนของ Resource Message ซึ่ง Party เป็นคนส่ง (บาง Party ก็เป็น อปท.ที่อยู่ในพื้นที่ เข้าใจความต้องการในพื้นที่ดีที่สุด รู้ว่าหมู่บ้านไหนถูกตัดขาด ชาวบ้านอพยพไปรวมกันอยู่ที่ใดหรือไม่ ฯลฯ) ถ้า Resource มีค่าใช้จ่าย ก็ไปโยงกับ Funding ด้วย — ในอีกลักษณะหนึ่งคือ Funding ใช้ในการจัดซื้อจัดหาจัดจ้าง Resource ที่ขาดแคลน ในกรณีนี้ ก็จะมี Party ในการจัดหา คอยจัดการ
เรื่องนี้เป็นหลักคิดคร่าวๆ ที่ใช้จัดการการเคลื่อนย้าย ร้องขอ ตอบสนอง ขอยืม ในกรณีที่มีหลาย Party ครับ ใช้จัดการความสับสนได้ — แต่ถ้าอ่านแล้วงง ก็ข้ามไปเลย!
ย้ำอีกครั้งหนึ่งครับ ว่าไม่ได้แนะนำให้เขียนหรือใช้ EDXL-RM มันไม่เหมาะสำหรับเวลานี้ แต่ถ้าจะต้องมีระบบสำหรับการจัดการเหตุชุลมุน ใช้แนวทางนี้ ก็พอจัดการได้ จะเป็นระบบทำด้วยมือ-เขียนใส่กระดาษ ก็ยังพอทำได้
ผมรับปากว่าจะส่งข้อมูลบูรณาการระดับน้ำท่า (ระดับน้ำตามแม่น้ำ และระดับตลิ่ง) ที่มาจากหลายแหล่งให้เป็น kml ที่เลือก kml ก็เพราะว่าแผนที่ออนไลน์ส่วนใหญ่ที่ใช้กันอยู่ เป็น Google Maps การส่ง kml ให้ สามารถนำไปซ้อนกับข้อมูลอื่นได้ง่าย จึงจะกลายเป็นแผนที่ที่แสดงหลายเรื่องในแผนที่เดียวกันได้ จะต้องใช้เวลาทำความสะอาดอีกเล็กน้อย
นัดกันอีกครั้งหนึ่ง วันอาทิตย์นี้ครับ
วันนี้ ได้อีเมลจากพี่ที่นับถือกันมานาน รศ.ดร.ทวิช จิตรสมบูรณ์ อดีตวิศวกร NASA-LeRC ซึ่งท่าน reverse brain drain กลับบ้านมาสอนที่สำนักวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีมานานแล้ว
นศ.วิศวกรรมเครื่องกลสองคนได้ช่วยผมทำแพขวดน้ำติดเครื่องหางยาวด้วยเครื่องตัดหญ้าสะพายหลังได้แล้ว ใช้เวลาทำทั้งสิ้นประมาณ 2 ชม. มันทำงานได้ดีพอควร อย่างน้อยก็ในยามฉุกเฉินแหละครับ ไม่ต้องรอเรือท้องแบนจากหน่วยงานต่างๆ วัสดุหาง่าย อบต.ที่ไหนก็มี จะใช้พาย ใช้ถ่อได้ทั้งสิ้น ใบพัดทำจากเหล็กแผ่นบางๆ เอามาดัดด้วยคีม (ดังรูป)
ที่แนบมาด้วยคือรูปนิ่งหนึ่งรูปและวิดิโอคลิปครับ
ผมคิดว่าเหมาะมากครับ ในสถานการณ์อย่างตอนนี้ อะไรก็ได้ อย่านั่งงอมืองอเท้ารอ นั่งเฉยๆ แล้วจะฟุ้งซ่านครับ
4 ความคิดเห็น
สภาวะน้ำท่วมนั้นเป็นเรื่องปกติของภาคกลางอย่างบ้านผมที่วิเศษชัยชาญ เราอยู่กับน้ำมาตลอด บ้านจึงมีใต้ถุนสูง ก่อนฤดูน้ำมาเรารู้ว่าจะต้องเตรียมอะไรบ้าง พร้อมที่จะใช้ชีวิตภายใต้ที่น้ำท่วมใต้ถุนนานหลายเดือน สมัยก่อนเราไม่มีไฟฟ้าใช้ เราใช้ฟืน เราก็เตรียมฟืนที่ยกพื้นหนีน้ำและมีจำนวนมากพอที่จะใช้ตลอดช่วงน้ำท่วมเป็นต้น และ….ฯลฯ
ดังนั้นเกษตรกรในพื้นที่เหล่านี้จึงมีความรู้และแผนงานในหัวว่าจะต้องทำอะไรบ้าง
แต่ที่อีสานพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ใช่พื้นที่น้ำท่วมเมื่อเกิดน้ำท่วมแบบนี้จึงเผชิญทุกข์สาหัส เพราะไม่มีโอกาสเตรียมตัวใดๆเลย ซ้ำไม่มีประสบการณ์ และทุกอย่างไม่ได้มีไว้เพื่อน้ำท่วม จึงมืดแปดด้านไปหมด การเยียวยา ช่วยเหลือจึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ
การช่วยกันเช่นนี้จึงเป็นเรื่องของการระดมพลังบวกของสังคมเราจริงๆ…..
ดูการแถลงข่าวเรื่องเงินชดเชย-ฟื้นฟู หลังน้ำท่วม
-เห็นความปราถนาดีที่ชิงไหวชิงพริบหาเลี้ยงของนักการเมือง
-เห็นการคิดที่จะเอาภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลพื้นฐาน มาช่วยเป็นเรื่องดี แต่จะมีเรื่องโมเมชั่น(อีแอบสุดเว่อร์) มาผสมโรง ภาพน้ำท่วมแสดงอะไรได้หยาบๆ ถ้าถ้ามีหน่วยจรยุทรลงไปเก็บข้อมูลในช่วงนี้ เราจะพบความจริงของความเสียหาย ซึ่งจะมีทั้งที่เสียหายมาก-เสียหายพอสมควร-เสียหายนิดหน่อย-และเจตนาจะต้องเสียหายให้ได้ ไอ่ตรงนี้ละครับ ที่งบประมาณเสีย และหาย ไปเข้าพกห่อใคร ที่ไม่ใช่ตัวจริงเสียงจริง ระบบสารสนเทศ หรือนักสนเทศชุมชน ควรจะมีหรือสร้างขึ้นมาแล้วหรือยัง
ผมเห็นน้ำเจ่งนอง และไหลแรง อ้อมีลมแรงด้วย
ใครสนใจมาสร้างเรือใบเล็กๆล่องไปอุบลบ้างไหมครับ
ตัวเรือทำแบบที่นักวิศวะเอาถังมาใช้แบบในภาพ
ถ้าติดใบเข้าไป ลมแรง คงพัดฉิวลิ่วละล่อง
คิดเล่นๆนะครับ ถ้าเรือจม ก็ตัวใครตัวมัน อิอิ
“……..ว่าที่จริงรัฐบาลพยายามทำอย่างนั้นอยู่แล้ว เพียงแต่ติดขัดระเบียบราชการ ซึ่งเขียนไว้แน่นปั๋งเหมือนกำแพง มีตัวอย่างจริงคือเทศบาลแห่งหนึ่งทางภาคเหนือ ส่งเครื่องมือมาช่วยสร้างคันดินในภาคกลาง….”
ประเด็นนี้ ทำให้นึกถึง “การกระทำเหนือหน้าที่” ขึ้นมาอีกครั้ง นั่นคือ ถ้าผู้มีอำนาจหรือเจ้าหน้าที่ สั่งให้ช่วยดำเนินการทันที นับว่ามีคุณธรรมควรแก่การสรรเสริญ แต่เป็นการกระทำนอกเหนือกรอบที่กำหนดไว้…. ฯลฯ
รู้สึกร้อนวิชาขึ้นมา แต่เช้านี้ มีภารกิจ ไว้ค่ำๆ จะเขียนเพื่อช่วยกระตุ้นเรื่องนี้ (แม้จะมีผลน้อยก็ตาม …)
เจริญพร