รอยเลื่อนมีพลัง ในประเทศไทย

อ่าน: 22182

บนทวิตเตอร์ ผมไม่ค่อยตามใครหรอกครับ ส่วนใหญ่เป็น automated feeds เสียด้วยซ้ำไป แต่ก็มีบางคนที่ผมตาม เช่น ดร.วรภัทร์​ ภู่เจริญ @jattaro เมื่อคืนนี้ อ.วรภัทร์ ส่งต่อ (RT) ข้อความน่าสนใจ 4 อัน

RT @top10thai: ดร.อานนท์ ปี49บอกว่ามีภูเขาไฟใต้ทะเล4ลูกเกาะภูเก็ต แต่อธิบดีกรมทรัพย์เถียงว่าแค่ภูเขาโคลน –ปี53 เชื่อมอแกนดีกว่า^-^

รอยเลื่อน ระนอง+คลองมะรุ่ย// @pomramida >คอนเฟิร์มข่าวค่ะส่วนเรื่องน้ำร้อนขึ้นและมีฟองอากาศผุดรอผลตรวจสอบค่ะ แนวนั้นมีรอยเลื่อน

RT @news1005fm ชาวมอแกนพบกระแสน้ำด้านล่างมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนลงดำน้ำไม่ได้ เชื่อเป็นลางบอกเหตุร้ายว่าอาจเกิดพิบัติภัยเร็วนี้

RT @bkk001 15 พ.ค.ข่าวไม่เป็นทางการ ปลาตายจำนวนมากที่ทะเลระนอง นัีกทดสอบสมุทรศาสตร์ตรวจสอบอุณหภูมิน้ำเพิ่ม อาจมีภูเขาไฟใต้ทะเล

เรื่องภูเขาไฟ/ภูเขาโคลน(ร้อน)ใต้ทะเล เคยได้ยินข้อถกเถียง ไม่ว่ามันเป็นอะไรก็ไม่น่าจะใช่พื้นทะเลปกติ — ส่วนทางระนอง ถ้าอุณหภูมิของน้ำ อยู่ดีๆ ร้อนขึ้นได้ ก็คงเป็นเพราะความร้อนใต้พิภพขึ้นมาถึงผิวโลกได้ ตามรอยแยก/รอยเลื่อน ปัญหาคือว่ามีรอยแยกอยู่แถวนั้นหรือเปล่า สันนิษฐานว่ามีโดยสังเกตได้จากการมีบ่อน้ำร้อน [บันทึกเก่า: ภูเขาไฟใกล้ตัว] ก็เลยต้องค้นหาหลักฐานมาชั่งน้ำหนัก แล้วก็ได้เรื่องเลย

รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย เปิดเผยไว้ 9 แห่ง (ลอกมาไว้ข้างล่างเลยเพราะกลัวข้อมูลต้นทางหาย) เป็นข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา แต่หาบนเว็บของกรมทรัพยากรธรณีไม่เจอ ไม่รู้ว่าจะทำเป็นเรื่องลึกลับไปทำไมนะครับ… ก็ไม่เป็นไร รอยเลื่อนทั้ง 9 นั้นคือ

1. รอยเลื่อนเชียงแสน

รอยเลื่อนนี้วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบนสุดของประเทศ มีความยาวประมาณ 130 กิโลเมตร โดยเริ่มต้นจากแนวร่องน้ำแม่จันไปทางทิศตะวันออก ผ่านอำเภอแม่จัน แล้วตัดข้ามด้านใต้ของอำเภอเชียงแสนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตามแนวลำน้ำ เงิน ทางด้านเหนือของอำเภอเชียงของ แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่วัดได้ตามแนวรอยเลื่อนนี้ เกิดเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2521 มี ขนาด 4.9 ริคเตอร์ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2521 มีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่า 3 ริคเตอร์ เกิดตามแนว รอยเลื่อนนี้ 10 ครั้ง และ 3 ครั้งมีขนาดใหญ่กว่า 4.5 ริคเตอร์ แผ่นดินไหวทั้งหมดเป็นแผ่นดินไหว ที่เกิดในระดับตื้นกว่า 10 กิโลเมตร


2. รอยเลื่อนแพร่

รอยเลื่อนนี้อยู่ทางด้านตะวันออกของแอ่งแพร่ และวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเริ่มต้นจากด้านตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอ เด่นชัย ผ่านไปทางด้านตะวันออกของอำเภอสูงเม่น และจังหวัดแพร่ ไปจนถึงด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอร้องกวาง รวมความยาวทั้งสิ้นประมาณ 115 กิโลเมตร มีแผ่นดินไหวขนาด 3-4 ริคเตอร์ เกิดตามแนวรอยเลื่อนนี้กว่า 20 ครั้ง ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนแผ่น ดินไหวขนาด 3 ริคเตอร์ ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2533 ที่ผ่านมา เกิดตามแนวรอยเลื่อน ซึ่งแยกจากรอยเลื่อนแพร่ไปทางทิศเหนือ

3. รอยเลื่อนแม่ทา

รอยเลื่อนนี้มีแนวเป็นรูปโค้งตามแนวลำน้ำแม่วอง และแนวลำน้ำแม่ทาในเขตจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 55 กิโลเมตร จากการศึกษาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (2523) พบว่า ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนของการศึกษาในปี พ.ศ. 2521 มีแผ่นดินไหวขนาดเล็กเกิด ในระดับตื้นอยู่มากมายในบริเวณรอยเลื่อนนี้

4. รอยเลื่อนเถิน

รอยเลื่อนเถินอยู่ทางทิศตะตกของรอยเลื่อนแพร่ โดยตั้งต้นจากด้านตะวันตกของอำเภอเถินไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ขนานกับรอยเลื่อนแพร่ไปทางด้านเหนือ ของอำเภอเถินไปทางตะวันออกเฉียงเหนือขนานกับรอยเลื่อนแพร่ ไปทางด้านเหนือของอำเภอวังชื้น และอำเภอลอง รวมความยาวทั้งหมดประมาณ 90 กิโลเมตร เคยมีรายงานการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.7 ริคเตอร์ บนรอยเลื่อนนี้ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2521

5. รอยเลื่อนเมย-อุทัยธานี

รอยเลื่อนนี้วางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ ตั้งต้นจากลำน้ำเมยชายเขตแดนพม่ามาต่อกับห้วยแม่ท้อ และลำน้ำปิงใต้จังหวัดตาก ต่อลงมาผ่านจังหวัดกำแพงเพชร และนครสวรรค์ จนถึงเขตจังหวัดอุทัยธานี รวมความยาวทั้งสิ้นกว่า 250 กิโลเมตร มีรายงานแผ่นดินไหวเกิดตามรอยเลื่อนนี้ 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2476 ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2518 ที่ อำเภอ ท่าสองยาง จังหวัดตาก แผ่นดินไหวครั้งหลังนี้มีขนาด 5.6 ริคเตอร์

6. รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์

รอยเลื่อนนี้อยู่ทางด้านตะวันตก ของรอยเลื่อนเมย-อุทัยธานี โดยมีทิศทางเกือบขนานกับแนวของรอยเลื่อน อยู่ในร่องน้ำแม่กลองและแควใหญ่ ตลอดขึ้นไปจนถึงเขตแดนพม่า รวมความยาวทั้งหมดกว่า 500 กิโลเมตร ในช่วงระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมามีรายงานแผ่นดินไหวขนาดเล็กหลายร้อยครั้ง ตามแนวรอยเลื่อนนี้ แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่วัดได้ในระหว่างนี้ เกิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2526 มีขนาด 5.9 ริคเตอร์

7. รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์

รอยเลื่อนนี้อยู่ในลำน้ำแควน้อยตลอดสาย และต่อไปจนถึงรอยเลื่อนสะแกง (Sakaing Fault) ในประเทศพม่า ความยาวของรอยเลื่อนช่วงที่อยู่ในประเทศไทยยาวกว่า 250 กิโลเมตร มีรายงานแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนนี้มากมายหลายพันครั้ง

8. รอยเลื่อนระนอง

รอยเลื่อนระนองวางตัวตามแนวร่องน้ำของแม่น้ำกระบุรี มีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 270 กิโลเมตร มีรายงานแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2521 มีขนาด 5.6 ริคเตอร์

9. รอยเลื่อนคลองมะรุย

รอยเลื่อนนี้ตัดผ่านด้านตะวันออกของเกาะภูเก็ต เข้าไปในอ่าวพังงา และตามแนวคลองมะรุย คลองชะอุน และคลองพุมดวงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จนกระทั่งไปออกอ่าวบ้านดอน ระหว่างอำเภอพุนพินกับอำเภอท่าฉาง รวมความยาวทั้งสิ้นประมาณ 150 กิโลเมตร แผ่นดินไหวตามแนวรอยเลื่อนนี้ มีรายงาน เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2476 ที่จังหวัดพังงา และทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ นอกฝั่งภูเก็ต เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2519, วันที่ 17 สิงหาคม 2542 และวันที่ 29 สิงหาคม 2542

แม้รอยเลื่อนในประเทศไทย จะไม่ได้ไหวอย่างรุนแรงติดอันดับโลกให้เป็นเรื่องตื่นเต้น การที่รอยแยกเหล่านี้ยังมีพลังอยู่ อาจจะมีพลังงานสะสมจนมากพอที่จะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ก็ได้ — แผ่นดินไหวในพงศาวดารไทย ลองดูที่เมืองโยนกนคร (เชียงแสน) มีแผ่นดินไหวใหญ่มาตั้งแต่ พ.ศ.500 แล้วเงียบไปพันปี พอไหวใหญ่อีกครั้งในปี พ.ศ.1558 เมืองโยนกนครจมลงทั้งเมือง

…สุริยอาทิตย์ก็ตกไป แล้ว ก็ได้ยินเสียงเหมือนดั่งแผ่นดินดังสนั่นหวั่นไหวประดุจดังว่าเวียงโยนก นครหลวง ที่นี้จักเกลื่อนจักพังไปนั้นแลแล้วก็หายไปครั้งหนึ่ง ครั้งถึงมัชฌิมยามก็ซ้ำดังมาเป็น คำรบสองแล้วก็หายนั้นแล ถึงปัจฉิมยามก็ซ้ำดังมาเป็นคำรบสาม หนที่สามนี้ดังยิ่งกว่าทุกครั้งคราวที่ได้ยินมาแล้ว กาลนั้นเวียงโยนกนครหลวง ที่นั้นก็ยุบจมลงเกิดเป็นหนองอันใหญ่ยามนั้นคนทั้งหลายอันมีในเวียงนั้น มีพระมหากษัตริย์เป็นประธานก็วินาสฉิบหายตกไปในน้ำที่นั้นสิ้นยังเหลือ อยู่แต่เรือนยามแม่หม้ายเฒ่าหลังเดียวนั้นแลศักราชได้ 376 ตัวปีเมิงเม้า เดือน 8 ออก 7 ค่ำ วันอังคาร (=วันอังคาร ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ. 1558) เขาทั้งหลายก็พร้อมกันสร้างเวียงลูกหนึ่งริมฝั่งน้ำของถ้ำตะวันตกมีหนตะวัน ออก เวียงโยนกนครเก่า คือว่าเวียงอันจมไปแลครั้นสร้างบริบูรณ์แล้วก็ให้ขุนลัง ตั้งอยู่เป็นใหญ่ แก่บ้านเมืองแห่งเขาแล้วก็เรียกว่าเวียงปรึกษา นั้นแล

การจัดการภัยพิบัติที่ดีที่สุด คือการเข้าใจความเสี่ยงในพื้นที่ของตนเอง แล้วเตรียมตัวหาทางหนีทีไล่ให้เหมาะก่อนเกิดเหตุครับ

« « Prev : พระสูตรแผ่นดินไหว

Next : ความคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับ “เว็บตรวจสอบเหตุการณ์ ภาคประชาชน” » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

5 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 May 2010 เวลา 3:42

    สมัยนี้เรียก แผ่นดินไหว
    สมัยโบราณเรียก ธรณีสูบ มันก็สูบจริงๆนั่นแหละ เมืองโยนกถึงหายวูบลงไป
    เมืองต่างๆที่ร้างจมอยู่ในดิน ก็อาจจะมาจากสาเหตุนี้ก็ได้
    สถานที่บางแห่ง เห็นแต่เสาหินโด่เด่ ก็เข้าใจไม่ได้ว่า
    ..เคยรุ่งเรืองอลังการณ์ขนาดนั้น
    ทำไมไม่ช่วยกันดูแลรักษาต่อๆๆมาให้ดี ทิ้งทำไม ร้างทำไม มีอะไรร้ายแรงนักหรือ
    นอกจากโรคระบาด รบราฆ่ากัน ชิงอำนาจ ก็คงมีภัยจากธรณีสูบ ร่วมด้วยก็อาจเป็นได้
    วิชาเดาจากคนป่าๆแบบไม่รู้ไม่ชี้ก็อย่างนี้ละครับ
    ตอนนี้ธรณีไม่สูบ แต่ธรณีร้อนรนเหลือเกิน ต้องอาบน่ช้ำวันละ2 โอ่ง แคว๊กๆ

  • #2 BM.chaiwut ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 May 2010 เวลา 8:01

    เรื่องแผ่นดินไหวแล้วทำลาย…. อธิบายได้หลายนัย

    อ่านบันทึกนี้ ทำให้นึกถึง ยัญพิธี ซึ่งอาจนำมาเทียบเคียงตีความได้ เคยเขียนเล่าไว้เล่นๆ (คลิกที่นี้) นั่นคือ สาเหตุอย่างหนึ่ง (ซึ่งอาจสำคัญ) เกิดจากการกระทำของมนุษย์…

    เจริญพร

  • #3 อัยการชาวเกาะ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 May 2010 เวลา 9:10

    เตรียมความพร้อมอยู่เหมือนกัน ตอนนี้ข่าวปะการังสีขาวมีทั้งภูเก็ตและทะเลอันดามันครับ

  • #4 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 June 2010 เวลา 23:44
    น้องชายส่งมาให้อ่านครับ ผลการศึกษาอันใหม่ เอามาแปะซะเลย
  • #5 ลานซักล้าง » แผ่นดินบิด ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 April 2011 เวลา 2:47

    [...] ใครอยู่ใกล้รอยแยก ไม่ว่าจะมีพลังหรือไม่ ควรรู้ว่าจะทำอย่างไรนะครับ [รอยเลื่อนมีพลัง ในประเทศไทย] [...]


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.59812903404236 sec
Sidebar: 0.31602692604065 sec