ผิดถูกนั้น สำคัญแค่ไหน

โดย Logos เมื่อ 23 March 2011 เวลา 5:06 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 3847

ผิดหรือถูก ดีหรือไม่ดี มีมาตรวัดที่แน่นอนจริงหรือ ไม่ว่าจะถูกหรือดีก็ตาม เราเดินสู่เป้าหมายหรือไม่ (เป้าหมายคืออะไร)

ในสมัยที่มนุษย์ยังถลุงทรัพยากรจากโลกยังไม่เก่ง รัฐชาติต้องมีอาณาเขตใหญ่ๆ อาณาจักรก็ต้องมีพื้นที่สำหรับผลิตอาหารมากๆ มีลัทธิล่าอาณานิคม มีประเทศราช ส่งส่วยบรรณาการมาที่เมืองหลวงเยอะๆ

กรีก ต้นแบบประชาธิปไตย รุ่งเรืองเพราะประชาธิปไตยโดยตรง และพังไปเพราะประชาธิปไตยที่ต่างคนต่างมีอิสระ จนลืมความจำเป็นในการพึ่งพากันและกัน และถูกตีแตกสลายแพ้สงครามไปในที่สุด

มนุษย์กระจ้อยร่อย ใช้อัตตาตัดสิน ใช้ค่านิยมเป็นบรรทัดฐาน เหมือนกิรสูตรในพระไตรปิฎกเรื่องตาบอดคลำช้าง

ตอนเด็กคิดอย่างหนึ่ง ตอนเรียนคิดอีกอย่าง พอทำงานแล้วคิดอย่างหนึ่ง แก่แล้วคิดอีกอย่าง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่แน่นอน ไม่สำคัญว่าความคิดไหนถูกที่สุด แต่สำคัญว่าแต่ละความคิด เบียดเบียนใครหรือไม่ คิดแล้วทำหรือไม่ เกินกำลังหรือไม่ ทำให้อะไรดีขึ้นมาหรือไม่ — ถ้าไม่ แล้วคิดไปทำไม

เอานิทานของท่านพุทธทาสมาฝากครับ

สามเณรจ้อย เป็นเปรียญ ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร วันหนึ่ง อ่านพระบาลี มหาปรินิพพานสูตร ไปจนถึง ภาณวารที่ห้า ได้พบข้อความว่า อิเม จ สุภทฺท ภิกฺขุสมฺมา วิหเรยฺยุ อสุญฺโญ โลโก อรหนฺเตหิ อสฺสฺ (ล. ๑๐ น. ๑๗๖ บ. ๑๓๘) แปลเป็นใจความได้ว่า “ดูก่อน สุภัททะ ถ้าภิกษุ ทั้งหลาย เหล่านี้ จะพึง เป็นอยู่ โดยชอบไซร้ โลก ก็จะไม่ว่าง จาก พระอรหันต์” ดังนี้ สามเณรจ้อย เกิดฉงน อยู่ตลอดเวลา ว่า การเป็นพระอรหันต์นั้น เป็นกันได้ง่ายๆ เช่นนี้ หรือว่า ตนแปล พระบาลีนี้ ผิด เพราะไม่รู้ เท่าถึง อย่างใด อย่างหนึ่ง มีความกลัดกลุ้ม เป็นกำลัง

สามเณรจ้อย จึงพาคัมภีร์นั้น เข้าไปหาเจ้าคุณหลวงพ่อ ผู้เป็นสมภาร สอบถามถึงการแปลบาลี ตอนนี้ ก็ได้ความตรงกันว่า สามเณร แปลถูก จึงได้ เรียนถาม ขึ้นว่า จะเป็น พระอรหันต์ กันได้ด้วย เหตุ เพียงเป็นอยู่ โดยชอบ เท่านั้น แลหรือ ท่านเจ้าคุณ ได้ยืนยันว่า เป็นเช่นนั้นจริง เพราะ เป็นอยู่ โดยชอบ นั้น หมายถึง ตั้งอยู่ใน มรรคมีองค์แปด สามเณรจ้อยได้ ถามขึ้นอีกว่า

“ก็พระสงฆ์ ทั้งหลายในบัดนี้ ไม่ได้เป็นอยู่กัน โดยชอบดอกหรือ?”
ท่านเจ้าคุณได้โพล่งออกมา “ก็เป็นกันอยู่โดยชอบซิ” ด้วยน้ำเสียง มีแวว แห่งความขุ่น ที่ไม่ชัดเจน
สามเณร จึงเรียนถาม ต่อไปว่า “ถ้าเช่นนั้น ก็ต้องมีพระอรหันต์ กันอยู่ทั่ว ทุกวัดวาอาราม นะขอรับ?”
เงียบกันไป ขณะหนึ่งแล้ว ก็มีเสียง ซึ่งใครๆ แทบจำไม่ได้ว่า เป็นเสียงของ ท่านเจ้าคุณ ดังลั่นขึ้น แต่เพียงว่า “..อื้อ..อื้อ.. ง่า.. อื้อ..ง่า..อื้อ.. นี่มันยังไงกันนี่หว่า!..ง่า..ไปเถอะ!”

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า: มันเป็นการ สุดวิสัย ที่ใครจะตอบได้ เพราะพระบาลีนั้นก็ถูก พระเจ้า พระสงฆ์ ก็เป็นอยู่โดยชอบจริง แต่แล้ว ก็ไม่มีใครเชื่อว่า พระอรหันต์ นั้นมีอยู่ตามวัดวาอาราม ทั่วๆ ไป และ ใครเป็นคนที่น่าสมเพชกว่าใคร ในระหว่าง ศิษย์-อาจารย์ รายนี้

[จงทำกับเพื่อนมนุษย์โดยคิดว่า…]

« « Prev : ขาย “หินเลี้ยง” รวยพันล้าน

Next : เรื่องของคนจัดการจราจร » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 maeyai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 March 2011 เวลา 5:28

    ในถูกมีผิด  ในผิดมีถูก  ต้องฟังให้มาก  คิดให้มาก  ดูที่เหตุและปัจจัย ไม่ด่วนตัดสิน 

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 March 2011 เวลา 5:31
    แม่นครับ แม่ใหญ่ เมื่อพิจารณาดีแล้ว ยังต้องทำอีกนะครับ ไม่อย่างนั้นจะเหมือนเสพยาเสพติดประเภทหลอนประสาท คิดว่าชอบแล้ว ประโยชน์เกิดแล้วโดยยังไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย
  • #3 BM.chaiwut ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 March 2011 เวลา 7:10

    อิเม จ สุภทฺท ภิกฺขุสมฺมา วิหเรยฺยุ อสุญฺโญ โลโก อรหนฺเตหิ อสฺสฺ
    สงสัยภาษาบาลีว่าผิดถูกหรือไม่ ก็ลองค้นดูในเว็บ ซึ่งโดยมากก็ปรากฎตามที่คุณโยมคัดมา แสดงว่าคัดลอกต่อๆ ก้นมา จึงลองค้นใหม่ ก็ไปเจอที่ต่างออกไป คือ

    อิเม จ สุภทฺท ภิกฺขู สมฺมา วิหเรยฺยุํ อสุญฺโญ โลโก อรหนฺเตหิ อสฺส ฯ …. ยืนยันได้ว่านี้แหละถูกต้อง (ผิดถูกนั้น สำคัญแค่ไหน ? )

    ในจริยศาสตร์มีสาขาย่อยเรียกว่า *อภิจริยศาสตร์* เป็นสาขาเกิดใหม่ประมาณ ๖๐ ปี โดยศึกษาถึงความหมายของคำว่าผิดถูก หรือดีไม่ดี ซึ่งก็เถียงกันจนกระทั้งเกิดเป็นลัทธิความเห็นต่างๆ ซึ่งจัดไว้เป็นกลุ่มๆ แล้วก็พักไว้แค่นั้น เพิ่งซาๆ ไปประมาณ ๒๐ปีแล้ว เพราะไม่รู้จะเถียงกันหาวิมานอะไร

    ใครบางคนบอกว่า เราดำเนินชีวิตไปตามสัญชาตญาณบ้าง เหตุผลบ้าง อารมณ์บ้าง ผสมปนเปกันไป ตามพฤติกรรมที่เคยชิน มิได้ค้นหาถูกผิดจนแน่ใจแล้วจะทำสิ่งนั้นๆ…

    สรุปว่า ถูกผิดนั้น มิได้สำคัญอะไรนักในการดำเนินชีวิตของคนทั่วไป

    เจริญพร

  • #4 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 March 2011 เวลา 7:22
    สาธุ

    ผมก็ไม่ได้ตรวจสอบครับ ยิ่งเรื่องไวยกรณ์บาลี ยิ่งไม่มีความรู้เลยครับ นำมาจาก http://www.buddhadasa.com/zen/tale03.html ซึ่งขอรับในความผิดพลาด และขออนุโมทนากับพระอาจารย์ด้วยครับ

    เมื่อตรวจสอบกับพระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ พบในข้อ [๑๓๙] สุตฺตนฺตปิฏเก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกายสฺส มหาวคฺโค เป็นข้อความดังท่านเจ้าอาวาสว่า

    [๑๓๙] เอกูนตึส- ๑ วยสา สุภทฺท
    ยํ ปพฺพชึ กึกุสลานุเอสี
    วสฺสานิ ปญฺญาสสมาธิกานิ
    ยโต อหํ ปพฺพชิโต สุภทฺท
    ญายสฺส ธมฺมสฺส ปเทสวตฺติ
    อิโต พหิทฺธา สมโณปิ นตฺถิ ฯ
    ทุติโยปิ   สมโณ   นตฺถิ   ตติโยปิ   สมโณ   นตฺถิ   จตุตฺโถปิ   สมโณ
    นตฺถิ    สุญฺญา   ปรปฺปวาทา   สมเณภิ   อญฺเญหิ   อิเม   จ   สุภทฺท
    ภิกฺขู สมฺมา วิหเรยฺยุํ อสุญฺโญ โลโก อรหนฺเตหิ อสฺสาติ ฯ

    -แปล-
    [๑๓๙] ดูกรสุภัททะ เราโดยวัยได้ ๒๙ ปี บวชแล้ว ตามแสวงหาว่า อะไรเป็นกุศล
    ตั้งแต่เราบวชแล้ว นับได้ ๕๑ ปี แม้สมณะผู้เป็นไปในประเทศแห่งธรรมเป็นเครื่องนำออก ไม่มี
    ในภายนอกแต่ธรรมวินัยนี้ ฯ
    สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ หรือสมณะที่ ๔ ก็มิได้มี ลัทธิอื่นว่างจากสมณะ ผู้รู้ทั่วถึง ก็
    ภิกษุเหล่านี้พึงอยู่โดยชอบ โลกไม่พึงว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ

    มาจากมหาปรินิพพานสูตร เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสใน [๑๓๙] แล้ว ก็ประกอบเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้สุภัททปริพาชก เป็นรูปสุดท้าย ท่านสุภัททะเป็นสักขิสาวก (อรหันตสาวก) องค์สุดท้ายของพระผู้มีพระภาค

  • #5 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 March 2011 เวลา 14:22

    เกินกำลังหรือไม่ ทำให้อะไรดีขึ้นมาหรือไม่ — ถ้าไม่ แล้วคิดไปทำไม
    อิ อิ

  • #6 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 March 2011 เวลา 3:44
    [ผิดถูก] — ทวิช จิตรสมบูรณ์

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.16668796539307 sec
Sidebar: 0.14011716842651 sec