เส้นทางของพระแก้วมรกต
อ่าน: 3751เมื่อหลายเดือนก่อน ประชุมบอร์ดส่วนราชการแห่งหนึ่ง อาจารย์ที่ผมนับถือ เอาหนังสือ “กาลานุกรม พระพุทธศาสนาในอารยธรรมโลก โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)” พร้อมลายเซ็นมาให้ดู… แหมเราก็อยากได้ พยายามหาซื้อก็ไม่พบ เมื่อวานไปคุยกับแม่ในห้องนอน แม่บอกว่ามีหนังสือนี้แจกลูกคนละเล่ม ไชโย
ลักษณะหนังสือเขียนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสถานที่ต่างๆ ตาม timeline ตั้งแต่ 500 ปีก่อนพุทธกาล จนปัจจุบัน (พ.ศ.2543)
ผมอ่านอย่างรวดเร็วเมื่อคืนนี้ และพบบันทึกข้อความเกี่ยวกับพระแก้วมรกตดังนี้ครับ
พบพระแก้วมรกต ที่เชียงราย สุดท้าย ประดิษฐานที่กรุงเทพฯ
พ.ศ. ๑๙๗๗ (ค.ศ. 1434, บ้างว่า ๑๙๗๙/1436) ที่อาณาจักรล้านนา ในรัชกาลพระเจ้าฝรั่งสามแกน พระสถูปใหญ่เก่าแก่องค์หนึ่ง ณ เมืองเชียงราย ต้องอัสนีบาตพังลง ได้พบพระแก้วมรกต (หนังสือ รัตนพิมพวงศ์ ว่า เทวดาสร้างถวายพระนาคเสนอรหันตเถระ ที่เมืองปาตลีบุตร ต่อมาไปอยู่ในลังกาทวีป แล้วมากัมโพชา ศรีอยุธยา ละโว้ กำแพงเพชร แล้วจึงมาถึงเชียงราย เจ้าเมืองเชียงรายจะซ่อนแก่ศัตรู จึงเอาปูนทาลงรักปิดทองบรรจุไว้ในเจดีย์) หลังจากเห็นองค์จริงและแกะปูนออกแล้ว ได้ประดิษฐานที่วัดพระแก้ว เมืองลำปาง จากนั้น ได้ไปประดิษฐานที่เมืองเชียงใหม่ในปี ๒๐๑๑/1468 ต่อมา เชิญไปสถิตที่เมืองหลวงพระบางใน พ.ศ.๒๐๙๕/1552 แล้วย้ายไปประดิษฐานที่เมืองเวียงจันทน์ ในปี ๒๑๐๗/1564 หลังจากนั้น อัญเชิญมาประดิษฐานที่โรงพระแก้ว ในพระราชวังเดิม กรุงธนบุรี เมื่อปี ๒๓๒๑/1778 จนในที่สุด ณ วันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๔ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๒๗/1784 ในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพฯ จนปัจจุบัน
« « Prev : การเขียนหนังสือในฐานะการแสดงออกทางจิตวิญญาณ (1)
2 ความคิดเห็น
ที่เชียงใหม่ พระแก้วมรกต เคยประดิษฐานอยู่ที่วัดป่าแดง (เอจำผิดรึเปล่า) บนถนนสุเทพ หลัง มช. ด้านหน้าคณะที่ผมเรียนอยู่ ที่วัดนี้ยังมีสิม หรือโบสถ์ ที่มีพระแทนที่พระแก้วมรกตเคยประดิษฐานอยู่ เราไปกราบอยู่ครับ หลังจากเวียนไปที่อื่นแล้วกลับมาเชียงใหม่อีกครั้ง ครั้งหลังดูจะประดิษฐานที่วัดเจดีย์หลวง
น่าศึกษารายละเอียดเส้นทางจรของพระแก้วมรกตครับ
คุณโยมบางทรายจำแม่นจัง…
วัดป่าแดงอยู่ห่างจากวัดฝายหิน มช. ประมาณ๑-๒ กม ฟังว่าเมื่อก่อนอาณาเขตของวัดติดต่อกัน ต่อมาถูกชาวบ้านบุกรุก… ช่วงที่อาตมาจำพรรษาอยู่วัดฝายหิน ภายในพรรษาสองวัดนี้จะลงอุโบสถร่วมกัน โดยผลัดเปลี่ยนกันไปวัดโน้นและวัดนี้…
ตามประวัติพระแก้วมรกต มีการโยกย้ายหลายครั้ง นั่นคือผู้มากบารมีเท่านั้นจึงครอบครองไว้ได้ ดังในอรรถกถารตนสูตรยกความหมายของคำว่ารตนะหรือแก้วว่า
๑. บุคลทำความยำเกรง
๒. มีค่ามาก
๓. ชั่งไม่ได้
๔. เห็นได้ยาก
๕. มิใช่ของที่สัตว์ต่ำทรามบริโภค (บารมีไม่ถึงก็ครอบครองไว้ไม่ได้)
เจริญพร