การเขียนหนังสือในฐานะการแสดงออกทางจิตวิญญาณ (1)

โดย Logos เมื่อ 18 May 2010 เวลา 17:38 ในหมวดหมู่ ภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ #
อ่าน: 3720

เกิดอารมณ์สังเวชและสมเพช จนไม่มีอารมณ์เขียนบันทึกครับ และจะไม่เสแสร้งว่าจิตนิ่งจนไม่รู้สึกอะไร ดังนั้นวันนี้ก็จะนำเอาปาฐกถาเนื่องใน “วันนักเขียน” ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2553 ตามที่กรุงเทพธุรกิจตีพิมพ์(ในลิงก์)มาฝาก

นมัสการพระคุณเจ้า เพื่อนนักเขียนและท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

วันนี้ ผมรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาพบปะพูดคุยกับท่านทั้งหลาย แต่ก็น่าเสียดายที่สถานการณ์บ้านเมืองไม่ค่อยเอื้อต่อบรรยากาศการสนทนา เท่าใดนัก ผมเองต้องขอสารภาพว่าแรงกดดันจากข่าวความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้น มีส่วนทำให้จิตใจไม่ค่อยแจ่มใส คิดอะไรไม่ค่อยทะลุปรุโปร่ง เพราะฉะนั้นคงต้องขออภัยท่านทั้งหลายไว้ล่วงหน้า หากสิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้มีลักษณะน่าเบื่อ หรือขาดความคมชัดไปบ้าง

ตามความรู้สึกของผม สถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ ไม่ใช่เรื่องของคู่กรณีที่ขัดแย้งช่วงชิงอำนาจกันเท่านั้น หากยังเป็นวิกฤติใหญ่ที่พัดพาผู้คนทั้งประเทศเข้าไปเกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จนยากที่จะวางเฉย หรือใช้ชีวิตไปตามปกติได้

สภาพเช่นนี้นับเป็นบททดสอบประเทศไทยและคนไทยทุกหมู่เหล่าว่ามีพลังแห่งสติและพลังปัญญามากน้อยเพียงใด เรามีวุฒิภาวะรวมหมู่พอที่จะฟันฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้หรือไม่ หรือว่าเรื่องราวจะจบลงด้วยการแตกสลายของประเทศชาติในฐานะองค์รวม

ถามว่าทำไมผู้คนที่ไม่ได้เลือกข้างแบ่งสีจึงต้องแบกรับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองด้วย ทำไมเราจึงต้องไปแบกรับปัญหาที่ตัวเองไม่ได้ก่อขึ้น  ต่อเรื่องนี้ผมคงต้องขออนุญาตเรียนว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่นั้น แม้จะมีลักษณะเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับบุคคลและกลุ่มก้อนองค์กรที่เป็นรูปธรรมจำนวนหนึ่ง แต่ก็มีด้านที่เป็นผลผลิตของทั้งโครงสร้างและรูปการณ์จิตสำนึกของสังคมไทยโดยรวม เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและโดยอ้อมมาตั้งแต่ต้น

ใช่หรือไม่ว่าที่ผ่านมานับสิบๆ ปีสังคมของเราได้ผลิตความไม่เป็นธรรมไว้ทุกหนแห่ง ใช่หรือไม่ว่าคนไทยเราเห็นแก่ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งกลายเป็นสังคมที่ผลิตความขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าในเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ไม่ว่าในเรื่องส่วนตัวหรือส่วนรวม อีกทั้งยังขาดแคลนกระบวนการแก้ไขความขัดแย้งที่เหมาะสม สภาพเช่นนี้ทำให้สังคมของเรากลายเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง ชอบแก่งแย่งชิงดีและเอาชนะกันอย่างขาดความเมตตาปรานี ซึ่งเป็นรากฐานของการเมืองแบบคับแคบเห็นแก่ตัว

กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือว่าความเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งปวงนั้นไม่ได้ เกิดขึ้นในสุญญากาศ หากถูกขับเคลื่อนและห้อมล้อมไว้ด้วยบริบททางสังคม เช่นนี้แล้วการเมืองจึงเป็นเรื่องที่แยกไม่ออกจากมิติทางวัฒนธรรมและจิต วิญญาณในวิถีชีวิตของผู้คน ความเจริญทางการเมืองจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ในสังคมที่กำลังเสื่อมทรุดทางด้านวัฒนธรรมและแตกสลายทางจิตวิญญาณ

พูดถึงตรงนี้ผมคงต้องอนุญาตเรียนเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจตรงกันว่า “วัฒนธรรม” ที่ผมเอ่ยถึง มิได้มีความหมายแค่พิธีกรรมโบราณ หรือประเพณีการกินอยู่หรือแต่งเนื้อแต่งตัวตามความนิยมของกระแสหลัก และยิ่งไม่ได้หมายถึงนิยามความถูกผิดทางรสนิยมที่กำหนดโดยอำนาจรัฐ

หากหมายถึงแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ที่สังกัดสังคมเดียวกัน อันจะก่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและเป็นสุข นอกจากนี้วัฒนธรรมยังรวมถึงคุณค่าที่มนุษย์ให้แก่ตัวเองให้แก่ผู้อื่น ตลอดจนคุณค่าที่มนุษย์มอบให้โลกธรรมชาติและสรรพสิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นสากล จักรวาล

กล่าวเช่นนี้แล้ว เราจะเห็นได้ว่ามิติทางวัฒนธรรมกับมิติทางจิตวิญญาณของชีวิตผู้คนเป็นสิ่ง ที่เกี่ยวโยงกันอย่างแน่นแฟ้น เพราะเรื่องจิตวิญญาณแท้จริงแล้วก็ไม่ใช่อะไรอื่น หากคือการมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสิ่งที่ใหญ่กว่า ซึ่งอาจจะหมายถึงตั้งแต่ความเป็นส่วนรวมของสังคม ไปจนถึงกระบวนการก่อเกิดและดับสูญตามธรรมชาติ หรือการมีอยู่ของเวิ้งฟ้า เดือน ดาว

ผมคงไม่ต้องเอ่ยก็ได้ว่าคนที่มองเห็นความศักดิ์สิทธิ์ของต้นไม้ ภูเขาและท้องทะเลนั้น จะมีวัฒนธรรมในการใช้ชีวิตแตกต่างกับคนที่เห็นธรรมชาติเป็นแค่สินค้ามากน้อย แค่ไหน เช่นเดียวกับความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างคนที่รักเพื่อนมนุษย์ รักบ้านรักเมือง กับคนที่ไม่เห็นอะไรเลยนอกจากความต้องการของตัวเอง

ถามว่าทำไมผมจึงชวนท่านทั้งหลายมาคุยเรื่องการเมืองและวัฒนธรรมเสียยืดยาว ทั้งๆ ที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่ตั้งไว้ เรื่องนี้คงต้องขอเรียนตรงๆ ว่าเป็นความจงใจ เพราะผมเห็นว่าการเขียนหนังสือและการอ่านหนังสือเป็นความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการยกระดับหรือการแตกสลายทางจิตวิญญาณของผู้คนในสังคม

การที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกันได้ สังคมไม่เพียงต้องมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นธรรมและมี ประสิทธิภาพ หากยังต้องมีโครงสร้างความคิด จิตใจและจิตวิญญาณ ที่เกื้อหนุนการใช้ชีวิตร่วมกันด้วย

นักเขียนเป็นคนงานทางวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นภารกิจสร้างสรรค์สังคมในมิตินี้จึงเป็นสิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้

เราเขียนอะไรให้คนอ่าน ผู้คนอ่านงานของเราแล้วได้อะไรบ้าง เราอธิบายความชอบธรรมให้ตัวเองได้แค่ไหนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาพิมพ์ ข้อความที่เราส่งออกไป เหล่านี้ควรจะเป็นคำถามที่นักเขียนใช้ตรวจสอบตัวเองเป็นประจำ

แน่นอน สิ่งที่ผมกำลังพูดถึงไม่ได้หมายความว่านักเขียนจะต้องกลายเป็นนักเทศน์ แม้ว่านักเทศน์บางท่านสามารถกลายเป็นนักเขียนที่ดีได้ แต่งานเขียนโดยทั่วไป โดยเฉพาะงานวรรณกรรมยังคงต่างจากการอบรมสั่งสอนผู้อื่นตรงๆ

อย่างไรก็ตาม เราคงต้องยอมรับว่าในปัจจุบันการเขียนหนังสือและการพิมพ์หนังสือในประเทศไทย ได้ถอยห่างจากจุดหมายทางจิตวิญญาณไปไกล ทุกวันนี้แม้ว่าธุรกิจการพิมพ์จะเติบใหญ่ขยายตัว และจำนวนคนเขียนหนังสือจะมีมากกว่าเดิม ตลอดจนมีการผลิตหนังสือเล่มออกวางจำหน่ายเดือนละนับพันปก ยังไม่นับนิตยสารและสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ  แต่ปรากฏว่างานเขียนจำนวนมากกลับเป็นเรื่องฉุดรั้งจิตวิญญาณไม่ให้เติบโต

พื้นที่ส่วนใหญ่ของร้านขายหนังสือถูกยึดครองด้วยหนังสือประเภทสอนวิธีรวยทางลัด แก้กรรมชั่วโดยไม่ต้องทำดี หรือไม่ก็เป็นเรื่องราวฉาวแฉของตัวบุคคล ในขณะที่วรรณกรรมอันงดงามลึกซึ้งระดับโลกจำนวนไม่น้อยกลับไม่มีหิ้งวางจำหน่าย กระทั่งกลายเป็นหนังสือขายเลหลัง ที่เราจะหาพบได้ก็เฉพาะตามแผงแบกะดิน

ทั้งหมดนี้นับเป็นสภาพที่ตรงข้ามกับการเขียนหนังสือในสมัยแรกๆ ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ดังที่ท่านทั้งหลายคงทราบอยู่แล้ว ในยุคก่อนที่การเขียนหนังสือจะกลายเป็นอาชีพ และหนังสือกลายเป็นสินค้าในท้องตลาด กำเนิดของภาษาเขียนเกี่ยวโยงอย่างใกล้ชิดกับการแสวงหาทางปัญญาและการแสวงหา ทางปัญญาก็เกี่ยวโยงอย่างใกล้ชิดกับการแสวงหาทางจิตวิญญาณ

การแสวงหาทั้งสองอย่างแท้จริงแล้วเป็นสิ่งเดียวกัน เพราะมันคือความพยายามของมนุษย์ในการเข้าถึงและเข้าใจโลกส่วนที่มิได้ปรากฏ ต่อสายตา จากนั้นจึงได้มีการจดจารึกไว้เพื่อถ่ายทอดสู่กัน

ด้วยเหตุนี้ การเขียนหนังสือในสมัยโบราณจึงแทบมีฐานะเป็นงานศักดิ์สิทธิ์ ดังจะเห็นได้จากการใช้ภาษาเขียนบันทึกคัมภีร์และคำสอนทางศาสนาต่างๆ ศิลปะในการประพันธ์ทั้งร้อยแก้วร้อยกรองเกิดขึ้นโดยแรงบันดาลใจทางจิตวิญญาณเป็นสำคัญ  ผู้ใดที่เขียนหนังสือเป็นได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์ และในหลายๆ กรณีคนเขียนหนังสือกับผู้นำทางจิตวิญญาณมักเป็นคนคนเดียวกัน

หากไม่มีการเขียนในลักษณะนี้ ไหนเลยโลกจะได้รับมรดกอักษรอันยิ่งใหญ่ อย่างเช่นคัมภีร์พระเวท พระไตรปิฎก คัมภีร์ไบเบิล และคัมภีร์กุรอาน ฯลฯ ส่งทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าบทบันทึกภูมิปัญญาดังกล่าว นอกจากจะบรรจุสาระทางจิตวิญญาณอันลึกซึ้งแล้ว ยังมีลักษณะเป็นวรรณกรรมต้นแบบ มีด้านที่งดงาม เป็นศิลปะที่ช่วยให้เราเข้าถึงความเร้นลับของชีวิตได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

ในฐานะคนเขียนหนังสือผู้ต่ำต้อยอยู่ในโลกยุคหลัง ผมเห็นว่าวรรณกรรมโบราณอย่าง ภควัทคีตา ที่ประพันธ์โดย ท่านกฤษณะ ไทวปายนวยาส และ เต้าเต๋อจิง ของ ท่านเล่าจื๊อ เป็นแบบอย่างที่สำคัญยิ่ง ในการแสดงให้เราเห็นว่าความจริง ความดีและความงามนั้นสามารถปรากฏขึ้นพร้อมกันได้ โดยผ่านศิลปะการประพันธ์

ยังมีต่อ

« « Prev : แท้หรือเทียม ก็จะทำ — ไม่ใช่มุกและไม่ใช่มุข

Next : เส้นทางของพระแก้วมรกต » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น

  • #1 BM.chaiwut ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 May 2010 เวลา 7:57

    เมื่อคืน มีญาติรุ่นเดียวกันซึ่งเป็นนักดนตรีมาคุย นอกจากเรื่องอื่นๆ แล้วก็เรื่องอาชีพนักดนตรีหรือการเล่นดนตรีของเค้า…. เค้าเป็นนักดนตรีสากล เป็นมือกีต้าร์ซึ่งพอจะเป็นที่ยอมรับของวงการนี้ในระดับประเทศ แต่เค้าก็ยังไม่รวยและดังตามที่คาดหวัง… ก็คุยว่าน่าจะปรับเปลี่ยนแนวหาฐานลูกค้า อะไรทำนองนี้ (ซึ่งก็ให้ความเห็นซ้ำซากทำนองนี้ไปหลายครั้งแล้ว) แต่เค้าก็ยังคงเป็นคงเดิม ยอมทนสภาพนักดนตรีใส้แห้งบ้างใส้พองบ้าง…

    อีกประเด็นก็คุยถึงความฝันกับความจริง ก็บอกว่า ชีวิตจริงนั้นเป็นสิ่งที่โหดร้าย ต้องต่อสู้ ดิ้นรน อดทน อดกลั้น… บางคนจึงใคร่จะหลีกหนีโลกแห่งความเป็นจริง โดยการพึ่งสิ่งเสพติดเป็นต้น และนั่นคือปัญหาของลูกน้องในวงที่เค้าจะต้องแก้ แม้ว่าตัวเค้าเองจะผ่านพ้นสิ่งเหล่านั้นมาแล้วก็ตาม….

    การเขียนหนังสือในฐานะการแสดงออกทางจิตวิญญาณ ตามความเห็นส่วนตัว ก็เหมือนกับการเล่นดนตรี หรือศิลปะแขนงอื่นๆ ย่อมมีความขัดแย้งกันระหว่างโลกความเป็นจริงและโลกแห่งความฝัน ผู้ที่มีโลกแห่งความเป็นจริงอย่างหนึ่งก็อาจมีโลกแห่งความฝันอีกอย่างหนึ่ง และต้องการให้คนอื่นมีโลกแห่งความฝันเหมือนกับตน… แต่จะเหมือนกันหรือเป็นไปในทำนองเดียวกันได้อย่างไร ในเมื่อมีพื้นฐานโลกแห่งความเป็นจริงแตกต่างกัน…

    โดยส่วนตัว ไม่ค่อยอ่านงานของเสกสรรค์ ปิยมิตรท่านหนึ่งเป็นหนอนหนังสือ และมีงานของเสกสรรเป็นตู้ เคยหยิบๆ จับๆ หลายเล่มและหลายครั้ง ว่าจะอ่านให้จบสักเล่ม แต่ก็ได้เพียง ๒-๓ แผ่นก็เลิก อาจเป็นเพราะงานเขียนของเค้าไม่กระตุ้นต่อมอยากอ่านให้เกิดขึ้น แต่มิใช่ว่าเสกสรรค์จะเขียนไม่ดี… เคยถามตนเองหลายครั้ง ก็ยังให้คำตอบตนเองไม่ได้ ว่าไม่ชอบอ่านงานของเสกสรรค์เพราะเหตุไร ?

    เจริญพร

  • #2 freemind ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 May 2010 เวลา 12:27

    ชอบอ่านงานของ อ.เสกสรรค์ ค่ะ
    อาจเพราะถูกปลูกฝัง ใส่หัวของพี่ชายซึ่งเป็นกลุ่มคนเดือนตุลาคม
    เท่าที่สังเกตเห็นคือ อ.เสกสรรค์ เขียนหน้งสือด้วยถ้อยคำที่สามารถสื่อแสดงถึง “อารมณ์” ได้มากมาย หมดจด ไม่ว่าจะอารมณ์ไหน แต่ตอนฟังท่านพูด กลับไม่ดึงดูดใจเท่าอ่านข้อเขียน

  • #3 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 May 2010 เวลา 13:50
    งานเขียนเป็นการถ่ายทอดความคิด ซึ่งรวมรวมทักษะของการสังเกต ความคิด ตรรกะ การเรียบเรียง นำเสนอประเด็น และการถ่ายทอดความคิดผ่านตัวหนังสือ (ซึ่งไม่สามารถถ่ายทอดออกมาได้หมด) ให้ผู้รับสาส์นซึ่งจะรับได้เพียงใด ขึ้นกับทักษะของผู้ส่ง และพื้นฐานของผู้รับเอง

    ในทำนองเดียวกัน ทางฝั่งผู้อ่านเป็นผู้เลือกสรรค์ข้อความที่จะอ่านเอง แบบเดียวกับการเลือกเปิดเว็บต่างๆ เป็นสิทธิ์ของคนเล่นเน็ตที่จะดูหรือไม่ดูเว็บไหนก็ได้ครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.53971195220947 sec
Sidebar: 0.18610811233521 sec