ถอดบทเรียนเกี่ยวกับชุมชนออนไลน์ (ตอนที่ 0)

โดย Logos เมื่อ 29 December 2008 เวลา 0:18 ในหมวดหมู่ สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 9540

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม จึงติดต่อ สื่อสาร แลกเปลี่ยน มีปฏิสัมพันธ์ และเลือกสรรค์หมู่คนที่ติดต่อด้วย เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าไป ก็มีความพยายามที่จะใช้ระบบโทรคมนาคม มาเอาชนะข้อจำกัดเรื่องระยะทาง

ระบบ Bulletin Board (BBS)

ชุมชนออนไลน์ในเมืองไทยอันแรกเท่าที่มีหลักฐานบันทึกไว้ ตั้งขึ้นเมื่อ 29 ธันวาคม 2529 เป็น Bulletin Board ชื่อ CP/M Bangkok User Group หรือ BUG Board ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์ยี่ห้อ Morrow Design รุ่น MD-11 ใช้ระบบปฏิบัติการ CP/M ใช้โปรแกรมได้ทีละโปรแกรม มีฮาร์ดดิสก์ขนาด 10 MB กับโมเด็มความเร็ว 1200 bps หนึ่งตัว สมาชิกที่เข้ามาใช้ ผลัดกันเชื่อมต่อมาทีละคน

มาตรฐานของโมเด็มยังสับสน มีทั้งแบบอเมริกัน (Bell) และแบบมาตรฐาน (CCITT) การสื่อสารผ่านโมเด็มยังวุ่นวายเรื่องความเข้ากันได้ (compatibility) เรื่องนี้เริ่มสงบเมื่อโมเด็มพัฒนามาจนมีความเร็ว 14400 bps (14.4 kbps)

การที่เข้ามาเขียน/อ่านได้ทีละคน เป็นการจำกัดปริมาณข้อความไปในตัว ทำให้ผู้ดูแลระบบ (System Operator หรือ SysOp) สามารถตรวจกรองข้อความต่างๆ ได้ทั้งหมด SysOp เป็นเจ้าของ bulletin board สมาชิกมาเขียนในพื้นที่ของเขา SysOp จึงมีสิทธิจัดการได้ทุกอย่าง ทั้งลบสมาชิก ลบข้อความ ลบความเห็น แล้วบางทีเขาก็เรียกตัวเองว่า SysGod

โดยทั่วไป แม้ BBS อาจจะมีลักษณะเผด็จการได้ SysOp มักไม่ค่อยแทรกแซงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพียงแต่ผู้ใช้รู้อยู่ว่า SysOp สามารถจะทำอะไรก็ได้ BBS มักจะสงบดีพอสมควร

SysOp เป็นเจ้าของหอพักครับ ถ้าเขาไม่ให้อยู่ หรือเราไม่ชอบที่จะอยู่ที่หอพักนี้ ก็ย้ายไปที่อื่น — ในยุคที่ BBS รุ่้งเรือง มีเปิดบริการประมาณ 50 บอร์ด

USENET

USENET เป็นระบบที่คัดลอกข้อความแล้วส่งต่อๆ กันไปยังคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น ทำให้ผู้ใช้เชื่อมเข้าสู่เครือข่ายที่เครื่องที่อยู่ใกล้ตัวที่สุด แต่สามารถอ่านข้อความของผู้อื่นที่โพสมาจากไกลๆ ได้ สามารถตอบกลับได้ ข้อความต่างๆ ปรากฏต่อผู้ใช้ USENET ทั้งหมดบนทุกเครื่องในเครือข่าย

เนื่องจาก ข้อความปรากฏต่อผู้ใช้ทุกคน USENET จึงมี collective brain power อยู่อย่างมหาศาล แต่ในขณะเดียวกัน ก็มี collective disputes มากอย่างมหาศาลเช่นกัน

เพราะ USENET กระจายตัวอยู่ทั่วโลก ผู้ใช้ต่างเข้าใจเรื่องเดียวกันไม่เหมือนกัน อยู่กันคนละบริบท มาจากต่างวัฒนธรรม ต่างภาษา ต่างระบบการคิด ต่างประสบการณ์ จึงมองเรื่องเดียวกันแตกต่างกันได้มาก

ปรากฏการณ์ USENET เป็นตัวอย่างของการอยู่ร่วมกันอย่างสับสน (ซึ่งไม่ใช่ chaordic แต่เป็น chaos ภายใต้กฏเกณฑ์ง่ายๆ ระดับหนึ่ง) ใน USENET ไม่มีใครควบคุมใครได้เลย ทุกคนต่างมีอิสระที่จะแสดงความคิดเห็น ก้าวร้าว ด่าพ่อล่อแม่ ก้าวล่วงบุคคล ชนชาติ หรือศาสนาได้ (ยิ่งยั่วยิ่งโกรธ-เป็นการให้รางวัลคนยั่ว อธิบายแบบเดียวกับพฤติกรรมแกล้งเด็ก) โฆษณาสินค้าหรือโฆษณาตัวเอง ทั้งนี้เป็นเพราะ USENET node ส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่ง fourth amendment ของรัฐธรรมนูญสหรัฐ รองรับอิสระในการแสดงความคิดเห็นไว้

USENET จัดแบ่งตัวเองเป็น newsgroups แต่ละ newsgroup เมื่อสร้างขึ้นมาแล้ว จะไม่มีการควบคุมอีก ผู้ใช้เขียนข้อความของตนแล้วโพส topic นั้นไป ผู้ใช้อ่านตอบข้อความด้วยการ reply ข้อความที่เกี่ยวเนื่องกันเรียกว่า thread — ผู้ใช้เลือกอ่าน/เลือกตอบ แต่ละ topic เอาเอง ไม่มีใครบังคับใครได้ ข้อความเมื่อโพสออกไปแล้ว  เราเห็นแต่ชื่อผู้เขียนกับ topic ส่วนการอ่าน เราเลือกอ่านหรือไม่อ่านเอาเอง; topic อยู่เฉยๆ ดังนั้นถ้าเราไปอ่าน เราก็ต้องรับผิดชอบการตัดสินใจของเราเอง เหมือนเปิดไฟล์ที่มีไวรัสครับ บนเน็ตเราต้องรับผิดชอบต่อการเลือกสรรของเราเอง ส่วนผู้เขียนข้อความก็รับผิดชอบข้อความของเขาตามกฏหมาย หรือข้อตกลงของสังคมนั้นๆ

เครือข่ายคนไทยบนอินเทอร์เน็ตนั้น เริ่มต้นที่ USENET newsgroup ที่ชื่อ soc.culture.thai

เดิมที นั้น มีการสร้าง USENET conference ชื่อ soc.culture.asean เพื่อให้ประชาคมอาเซียนได้ใช้แลกเปลี่ยนกัน ต่อมาก็เกิดความแตกแยกในลักษณะการปะทะคารมอย่างรุนแรงขึ้น มีทั้งการด่าทอ กล่าวร้าย กล่าวหา บิดเบือนข้อเท็จจริง ฯลฯ

ผู้กระทำการเหล่านี้ มักเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีซึ่งใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก้าวล่วง ผู้อื่นและชนชาติอื่นโดยเจตนา เพียงเพื่อที่จะ offend คนอื่นเท่านั้น

อาจ จะเป็นเพราะความเก็บกดที่ไม่มีเสรีภาพในประเทศของตน หรือต้องการพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าตนมีสิ่งที่ไม่มีใครยอมรับว่ามี (และในที่สุดก็ได้พิสูจน์ให้เห็นประจักษ์โดยทั่วไปแล้ว คนเหล่านั้นว่าไม่มี maturity จริงๆ)

อาการทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้น เป็นไปโดยความสะใจส่วนตัว (Flame war สงครามน้ำลาย) และไม่มีความต้องการที่จะยุติข้อขัดแย้ง จนในที่สุดแล้วประชาคมไทยได้แยกตัวออกจาก soc.culture.asean ตั้งเป็นกลุ่ม soc.culture.thai

กฏของ Godwin

ในปี 1990 Michael Godwin ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญกฏหมายเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตระดับโลก และเป็นทนายที่ปรึกษาคนแรกของ Electronic Frontier Foundation ซึ่งเป็นองค์กรปกป้องเสรีภาพและสิทธิผู้บริโภคบนอินเทอร์เน็ต ได้ตั้งข้อสังเกตไว้-ต่อมาได้กลายเป็นกฏของ Godwin ว่า

“As an online discussion grows longer, the probability of a comparison involving Nazis or Hitler approaches one.”

กฏนี้หากตีความตามตัวอักษรจะไม่รู้เรื่องเพราะเขียนออกมาในบริบทของตะวันตก แต่ความหมายที่แท้จริงก็คือ เมื่อ คุยกันไปยาวๆแล้ว ความแตกต่างทางความคิดที่เด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดจะหลงประเด็นกันไปหมด (หลุดโลกไปได้ง่ายๆ) เพราะผู้ใช้เน็ตแต่ละคน เป็นปัจเจกชน มีความคิดเห็นเป็นอิสระ มีพื้นฐาน-มุมมองที่ไม่เหมือนกัน

โดยนัยนี้ สำหรับ public forum ที่ไม่มี moderator คอยควบคุมให้อยู่ในประเด็น การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอาจหลุดออกนอกประเด็นไปได้ง่าย เมื่อความแตกต่างมีมากขึ้นเรื่อยๆ ประเด็นที่เป็นจุดเริ่ม ก็ไม่สำคัญไปกว่าหน้าตา (credibility) ของผู้ใช้เน็ตอีกแล้ว เป็นความพยายามจะเอาชนะกัน ไม่ใช่เรื่องของประเด็นอีกต่อไป

ข้อแนะนำในการหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง

  1. ถ้าสังคมออนไลน์ที่ท่านใช้เป็นสังคมที่ท่านรัก เมื่อเห็นความขัดแย้ง อย่าร่วมในวาทกรรมที่ ขยายขอบเขตของความขัดแย้ง ความขัดแย้งในสังคมออนไลน์ไม่ใช่ความขัดแย้งทางการเมือง อย่าทำให้เป็นอย่างนั้นเลย; เมื่อต้องการสนับสนุน ส่งอีเมล หรือส่งข้อความอื่นๆไป โทรไปคุยก็ได้; ถ้าจะคัดค้านก็ทำแบบเดียวกัน ถ้าส่งไปแล้วเขาไม่ตอบหลังจากระยะหนึ่ง ก็จบตรงนั้นครับ!
  2. เมื่อเห็นข้อความที่มั่นใจว่าก้าวล่วงต่อท่าน ส่งอีเมลไปขอให้ผู้เขียนชี้แจง; ตามที่ผมเห็น กว่าร้อยละ 90 ของกรณีทั้งหมด เค้าไม่ได้พูดถึงท่านเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอันที่ไม่ได้ออกชื่อ บางทีอาจจะยกเว้นว่าท่านจะเป็นคนสำคัญมากที่ใครๆ ก็ชอบพูดถึง
    • ในความเข้าใจผิดนี้ ครึ่งหนึ่งเป็นที่การเขียนในสไตล์ generalization (เขียนแบบเหมารวม) ทำให้พาดพิงโดยไม่ตั้งใจ
    • อีกครึ่งหนึ่งเกิดจากการเขียนในสไตล์ assertion (แนะนำเชิงสั่งสอน มักใช้คำว่า “ต้อง”) ซึ่งมักจะเจอข้อโต้แย้งจากคนละบริบท คนละเรื่องเดียวกัน
  3. ถ้าหากใครเจตนาจะเปิดศึกกับท่านแล้ว เขาสามารถระบุชื่อท่านได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องแอบครับ
  4. เน็ตมีขนาดใหญ่ ผู้ใช้แต่ละท่านมีเวลาว่างต่างกัน อย่าคาดเดาเอาเองว่าเมื่อเขียนถึงใคร เค้าจะรู้เห็นเอง; อาจจะเรียกได้ว่าเป็นมารยาท (online ethiquette หรือ netiquette) ที่จะส่งอีเมลหรือติดต่อผู้ที่เราพาดพิง ให้มาอ่านข้อความของเรา เผื่อว่ามีอะไรไม่ถูกต้อง เขาจะได้ชี้แจง
  5. เมื่อท่านเห็นอะไรบางอย่างที่ทำให้ “บ่จอย” เก็บไว้ก่อน แล้วค่อยมาอ่านอีกที; ถ้าท่านลืม ก็อาจจะแปลได้ว่าเรื่องที่ท่านคิดว่าสำคัญแล้วทำให้เกิดอารมณ์พลุ่งพล่าน นั้น ไม่ได้สำคัญนักหนาต่อชีวิตของท่านหรอก; ถ้ากลับมาอีกทีแล้วท่านยังตัดสินใจ “ตอบโต้”
    • เขียนข้อความจากความ รู้สึกแรก อย่า edit นานนัก จะทำให้พลาดสิ่งที่ท่าน concern/ไม่พอใจ ที่สุด (ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าเวลามีอารมณ์มาปน จะยิ่งแสดงประเด็นได้ไม่ชัด)
    • แยกเป็นความคิดเห็นหลายๆ อัน ความคิดเห็นละประเด็น ขยายความให้ชัด
  6. หากมีอะไรจะเสริมหรือโต้แย้ง ควรจะ quote ข้อความเดิมมาด้วย หรือชี้ให้ชัดว่าท่านหมายถึงข้อความใด หลีกเลี่ยงการพูดลอยๆ เพราะอาจจะลอยไปโดนหลายคนโดยไม่ได้ตั้งใจ
  7. แม้ผู้ใช้เน็ตส่วนใหญ่ จะไม่ชอบอ่านข้อความยาวๆ แต่ถ้าสั้นแล้วไม่รู้เรื่อง สู้เขียนยาวหน่อยแต่ให้เข้าใจประเด็นดีกว่าครับ
  8. เมื่อมีข้อความใหม่เกิดขึ้น โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งใหม่ก็เพิ่มขึ้น (entropy ของจักรวาลก็เพิ่มขึ้นด้วย) ดังนั้นกรุณาเขียนให้ชัดเจน ความคิดอยู่ในหัวของท่าน ถ้าท่านไม่เขียนออกมา แล้วใครจะเข้าใจครับ
  9. ความเห็นทุกอย่างบนเน็ต ขอให้เข้าใจว่าท่านมีสิทธิ์ที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ ไม่มีใครสามารถจะมาริดรอนสิทธิ์นั้นได้; หากสังคมออนไลน์ที่ท่านใช้อยู่ มีบางอย่างที่ท่านรับไม่ได้จริงๆ ท่านก็ยังมีสิทธิ์ที่จะย้ายไปสู่ที่ใหม่ เช่นเดียวกับการย้ายบ้าน แม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาวะแวดล้อมใหม่ หาเพื่อนใหม่ เรียนรู้สถานที่ใหม่ ก็ตาม และไม่ว่าท่านตัดสินใจอย่างไรก็ตาม ท่านรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้นเองครับ
  10. อย่าอ่านข้อความผิวเผิน เหมือนอ่านหนังสือเพื่อเก็งข้อสอบ ให้มองลึกถึงเจตนา ถ้าไม่ชัดเจน ให้อ่านข้างบนใหม่อีกที; ระวังและหลีกเลี่ยง Flame bait (กระทู้ล่อเป้า) และ Troll (เจตนาหลอกล่อ ยั่วยุ ปลุกปั่น มักมาในรูปของผู้หวังดี)

« « Prev : เจ้าเป็นไผ ภาคพิสดารกว่า

Next : ถอดบทเรียนเกี่ยวกับชุมชนออนไลน์ ​(ตอนที่ 1) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 29 December 2008 เวลา 10:39

    พี่มีโอกาสไปอบรมเพื่อเข้าใจ BBS ของสถาบันวิจัยและพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมกับภาควิชาคอมพิวเตอร์ สมัยนั้นหลายสิบปีมาแล้ว  แค่รับทราบ แต่ไม่ได้ใช้ เพราะไม่อยู่ในวงจรนั้น แต่สนใจเท่านั้น

    ส่วนใหญ่ก็เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ใช้กันน่ะครับ

    ขอบคุณที่สรุปให้ศึกษา

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 29 December 2008 เวลา 18:44
    บันทึก recycle ครับพี่ ช่วงนี้งานเยอะ ทำไม่ทัน เป็นอย่างนี้มาหลายปี ลาออกจากงานประจำออกมา นึกว่างานจะเบาลง ที่ไหนได้… แต่ยัง อิอิ ออกนะครับ
  • #3 หมอเจ๊ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 29 December 2008 เวลา 21:27

    พี่ว่าการปลดตัวเองโดยการลาออกจากงานประจำ แค่ทำให้เรามี freetime สำหรับจัดระบบงานที่ตัวเรายังอยากทำอยู่ให้ตัวเองนะน้อง ถ้ามีเรื่องอยากทำเยอะเมื่ออยู่ในงานประจำ ก็เป็นธรรมดาที่เมื่อปลดล็อกตัวเองจากเรื่องงานประจำแล้วงานไม่เบาลง….นี่คือสิ่งที่เลือกแล้ว…หลุดจากกรอบเวลาของงานเดิม….เพื่อเข้าสู่กรอบเวลาของงานใหม่…มีเรื่องอยากทำเยอะก็เรื่องเยอะเป็นทำมะดานี่จ๊ะน้องจ๋า…..เอาน่า…เดินหน้าว่าต่อไปตามใจอยาก

  • #4 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 29 December 2008 เวลา 21:39
    ขอบคุณครับพี่ สำหรับความเข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่ง ยิ่งมีอิสระ แล้วยิ่งรู้ตัวว่าทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ ก็ยิ่งไม่ว่าง

    ก่อนไปเฮฯหก นั่งได้แค่ 45 นาทีเอง ตอนกลับจากเฮฯหก นั่งได้สองชั่วโมงเท่านั้น แต่วันนี้ สายๆ นั่งประชุมชั่วโมงครึ่ง แล้วต่อด้วยนั่งกินข้าว ตกบ่ายประชุมอีกสี่ชั่วโมง ยังเจ็บอยู่นิดหน่อยพอทนครับ

  • #5 หมอเจ๊ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 29 December 2008 เวลา 22:47

    ได้ไปเสวนาเฮฮาศาสตร์อีกครั้ง น่าจะหายสนิทหละทีนี้…รีบบอกคุณแม่เร้ว

  • #6 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 29 December 2008 เวลา 23:10
    จะลองไปบรรยายที่ขอนแก่น 6-8 ม.ค. (อ.ต้อม กานดา) นี้ดูก่อนครับ ถ้าไม่มีอะไร แม่ก็คงไม่ห่วงหรอกครับ

    ตอนนี้ทั้ง 7-8 ก.พ. (อ.แป๋ว) และ 27 ก.พ.-1 มี.ค. (สสสส.1) ยังว่างอยู่ครับ ลงตารางไว้ว่าไปสวนป่าทั้งคู่ แล้วก็เป็นวันหยุดทั้งสองช่วง หวังว่าคงไม่มีรายการสำคัญมาแทรก


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.35732388496399 sec
Sidebar: 0.13590097427368 sec