สัญญาณน้ำ
น้ำท่วมกรุงเทพ ก็เป็นการศึกษาภูมิศาสตร์อีกแบบหนึ่ง คือสื่อสารมวลชนแทบจะอุทิศเนื้อที่ทั้งหมดให้กับข่าวนี้
แต่การศึกษาที่ดีนั้น ไม่ต้องรอให้ใครมาบอก หรือฟันธงว่าถูกหรือผิด เราโตๆ กันแล้ว ไม่ได้กำลังทำข้อสอบอยู่นะครับ การศึกษาที่นำไปสู่ความรู้นั้นไม่ใช่แค่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่จะต้องเข้าใจความหมายจนสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้อีกด้วย
บันทึกนี้ผมมีบางประเด็นจะเสนอ
- เขื่อนต่างๆ ที่แตกแล้ว และได้พิจารณาแล้วว่าน้ำปริมาณมากจะไม่บ่ามาเพิ่มอีก ตัวคันดินและกระสอบทรายจะกักน้ำเอาไว้ ทำให้น้ำลดช้าและนิ่งจนเน่าเสีย ดังนั้นหากคันดินแตกแล้วจนน้ำด้านนอกและด้านในแนวป้องกันมีระดับที่เท่ากัน จะดีกว่าหรือไม่หากจะรื้อคันดินออก เปิดทางให้น้ำไหลออกได้สะดวก กระสอบทรายที่น้ำล้นข้ามมาแล้ว ควรย้ายไปเสริมหลังแนวกำแพงบริเวณแม่น้ำหรือส่วนที่ยังทานอยู่ดีไหม ในช่วงน้ำท่วมเครื่องมือกลเข้าพื้นที่ไม่ได้ ข้อเท็จจริงก็คือมันก็ไม่ง่ายที่จะรื้อออกหรอกครับ แต่ก็ยังน่าพิจารณาอย่ดี
- น้ำที่ไหลข้ามถนน น่าจะเป็นตัวชี้บ่งถึงปริมาณน้ำที่กำลังมาได้ ยกตัวอย่างเช่นระดับน้ำที่ไหลข้ามถนนสายเอเซีย (ขึ้นเหนือผ่านอยุธยา) หรือถนนรังสิต-สระบุรีแถววังน้อย หรือระดับน้ำบนถนนสายอื่นๆ… ไม่น่ายากที่จะทำไม้วัดระดับน้ำสักอัน ปักไว้กับดิน ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องใช้เทียบกับระดับน้ำทะเลานกลาง เช่นบนนถนนหนึ่ง วันนี้ระดับ +10 ซม. ถ้าพรุ่งนี้เหลือ +5 ซม. ก็แปลว่าน้ำมาลดลงแล้ว ข้อมูลที่ไม่เป็นวิชาการอย่างนี้ ใครก็ทำได้ ไม่มีต้นทุน แต่ส่งสัญญาณสำคัญเพื่อให้การจัดการปั๊มน้ำ วางแผนได้ดียิ่งขึ้น… ถ้าน้ำไม่ข้ามถนนจากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาทาง อ.วังน้อย (โรงไฟฟ้าวังน้อยของ กฟผ.) หรือ อ.คลองหลวง (หน้าธรรมศาสตร์รังสิต) ก็แปลว่าแรงกดดันต่อคันดินและกำแพงกระสอบทรายต่อคลองรังสิต จะลดลงมหาศาล
- ควรจะมีการจัดตั้งเครือข่ายเตือนภัยในภาคประชาชน หากระดับน้ำสูงขึ้นผิดปกติ ผู้ที่อยู่เหนือน้ำ สามารถแจ้งเตือนการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำไปยังผู้ที่อยู่ใต้น้ำได้ ให้ระวังคันดิน/กระสอบทรายที่มีอยู่ อาจจะต้องเสริมความสูงหรือความแข็งแรง เพื่อที่ว่าผู้ที่อยู่ทางใต้น้ำ จะได้มีโอกาสสูงขึ้น วิธีที่ดีที่สุดคือถ่ายรูปแล้วทวิตบอกครับ ติดแท็ก #thaiflood ด้วยเสมอ ส่วนจะติด tag อื่นด้วย ก็ติดไปตามสบายครับ
- น้ำทะเลหนุนสูงสุดวันที่ 30 นี้ จากนั้นก็จะค่อยๆลดลง แต่จะหนุนสูงสุดอีกครั้งหนึ่งประมาณกลางเดือนหน้า ดังนั้นจะทำอะไรก็รีบทำซะครับ น้ำเหนือยังมีอีกมาก ไม่ใช่ว่าผ่านรอบนี้ไปแล้วจะจบ
- ถ้ายังไม่ได้อ่านบันทึกที่แล้ว ลองไปอ่านดูนะครับ อ่านทุกลิงก์ในบันทึก สอนวิธีทำอีเอ็มเพื่อใช้บำบัดกลิ่นน้ำเน่า จะต้องใช้เวลาหมักน้ำอีเอ็ม 7 วัน ดังนั้นยิ่งเริ่มเร็วก็ยิ่งดี ใช้ขวดพลาสติกที่มีฝาปิดสนิท (ขวดน้ำหรือขวดน้ำอัดลม) ใช้น้ำตาลทรายแดง ใช้น้ำที่ท่วมอยู่นั่นแหละ และหัวเชิ้ออีเอ็มที่ราคาไม่แพง ผสมในสัดส่วนที่ถูกต้อง ตั้งทิ้งไว้ในร่ม 7 วัน — หัวเชื้อ 1 ลิตร หมัก 7 วันได้ 100 ลิตร ถ้าเอาอีเอ็ม 100 ลิตรนี้ไปหมักต่อ อีก 7 วันกลายเป็นหมื่นลิตร แล้วถ้ายังทนเหม็นได้ไม่ยอมเอาไปใช้ ก็หมักต่อ อีก 7 วันกลายเป็นล้านลิตร
« « Prev : บำบัดกลิ่นน้ำท่วมขัง
ความคิดเห็นสำหรับ "สัญญาณน้ำ"