คลังภาพ

โดย Logos เมื่อ 30 September 2011 เวลา 21:08 ในหมวดหมู่ สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 3257

วันนี้ 30 กันยายน วันสุดท้ายของปีงบประมาณ และเป็นวันสุดท้ายในชีวิตราชการของหลายท่าน

สิ่งที่ผ่านไป ก็ผ่านไปแล้ว อย่าไปยึดติดกับสิ่งที่เคยเป็นเลยครับ มันจะไม่กลับมาเป็นดังเดิมหรอก คนเราจะก้าวหน้าได้ ก็ต้องผ่านอดีตให้ได้ครับ ความภูมิใจ ความสำเร็จ ประสบการณ์ เก็บไว้กับตัวได้นานเท่าที่ต้องการ และไม่มีใครมาแย่งไปได้ด้วย แต่สิ่งที่เคยหาได้ ตั้งแต่วันนี้ไป ก็จะเปลี่ยนแปรไป และในช่วงที่เปลี่ยนแปลงนี้ ก็ต้องปรับตัวนะครับ… ลูกหลานถ้ายังอยู่ด้วยกัน ควรดูแลเอาใจใส่ให้มากขึ้น เพราะช่วงแรกๆ นี้ เป็นช่วงเปราะบางนะครับ

อายุ 60 มีทั้งความรู้และประสบการณ์ ยังสามารถทำประโยชน์ได้อีกมาก ไปเป็นอาสาสมัคร(เลือกแบบไม่สมบุกสมบัน) ไปร่วมโครงการวุฒิอาสาหรือคลังสมอง หาอะไรที่มีประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวมทำไม่ให้เหงา รักษาสภาพของสมองไว้ อย่านั่งเฉยๆ อยู่คนเดียวเลยครับ เสี่ยงกับอาการซึมเศร้า… ลูกหลานถ้าอยู่ด้วยกันก็ชวนคุยบ้าง เรื่องสัพเพเหระก็ได้ แต่ถ้าไม่ได้อยู่ด้วยกัน โทรกลับไปถามสารทุกข์สุกดิบบ้างก็ดีนะครับ ไม่ได้หมดเปลืองอะไรนักหนาหรอก

กลับมาเรื่องน้ำท่วม ทุกข์ระทมไปทั้งแผ่นดิน ถามตรงไหนก็ทุกข์ยากแสนสาหัส

แต่มีความจริงอยู่อย่างหนึ่ง คือการรายงานสถานการณ์เข้ามายังส่วนกลาง จะตกหล่นรายละเอียดไปเสมอ ไม่ว่าจะด้วยการขาดความละเอียด หรือการกลั่นกรองจัดหมวดหมู่ของผู้ที่ประมวลข้อมูล ทำให้จัดลำดับความสำคัญได้ยากมาก เพราะหนักทุกที่ น้ำท่วมลึกสองเมตรทุกที่จนไม่รู้แล้วว่าอะไรสองเมตรจริง (มิดหัว/มิดบ้านชั้นล่าง) อะไรสองเมตรปลอม (น่อง/เอว/อก)

เดี๋ยวนี้ โทรศัพท์มือถือฉลาดขึ้นเยอะ (กินแบตด้วย) แต่โทรศัพท์มือถือพวกนี้ สามารถถ่ายภาพ geo-tagging ได้ คือภาพที่ระบุพิกัดของภาพถ่ายด้วย GPS หรือ aGPS ถึงไม่แม่นเป๊ะ ก็ไม่เป็นไรหรอกครับ ถ่ายภาพออกมา พอเราอ่าน EXIF ก็จะรู้ว่าอยู่บริเวณไหน ไม่ต้องบรรยายว่าจังหวัด/อำเภอ/ตำบลอะไร รู้แม้กระทั่งว่าถ่ายบริเวณหมู่อะไร

ภาพถ่าย geo-tagging สำคัญมากเพื่อเตรียมความพร้อมของทีมที่จะเข้าพื้นที่ประสบภัยไปช่วยเหลือ และประเมินความขาดแคลนของพื้นที่ประสบภัย

จะเป็น Android Blackberry iPhone Nokia ก็มีความสามารถอย่างนี้ครับ แต่ว่าอย่าลืมตั้งเครื่องให้ใช้คุณลักษณะนี้ก็แล้วกัน แล้วผู้ประสบภัย หรือคนไปเที่ยว ไปช่วยเหลือ ก็ถ่ายรูปมาเยอะๆ เมื่อหาที่อัพโหลดความเร็วสูงๆ ได้ ค่อยอัพโหลด ไม่จำเป็นต้องอัพโหลดทันทีในพื้นที่น้ำท่วมเพราะมันมีอันตราย

อัพโหลดรูปถ่าย geo-tagging จะบรรยายหรือไม่บรรยายก็ได้ เพราะว่าสามารถอ่านวันที่ เวลา และพิกัดที่ถ่ายรูปจากรูปที่อัพโหลดขึ้นมาได้อยู่แล้ว

ผมคิดว่าอัพโหลดขึ้นทวิตเตอร์ก็สะดวกดี อาจจะใส่ hashtag พิเศษตามแต่ตกลงกันเช่น #ffp (Flood Foto Pool) แล้วก็ทำโปรแกรมโหลดรูปซึ่งทวิตเตอร์คงไม่ชอบ (แต่ว่าการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยสำคัญกว่า ดังนั้นช่างมัน) เมื่อโหลดรูปมาแล้ว ก็ย่อรูปเหลือเป็นขนาดเล็ก (thumbnail) ประหยัดเนื้อที่เก็บ ประหยัดเวลาโหลดดูภาพ สร้าง KML file เพื่อเอาไปปะในแผนที่ออนไลน์ตามเว็บต่างๆ จะดูในมือถือก็ได้ ซูมได้ แพนก็ได้ ถ้าจะเข้าไปช่วยในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย ก็ยังมีแผนที่และพิกัดคอยบอกว่าอยู่บริเวณไหนกันแน่ ถึง aGPS ไม่แม่น ยังไงก็อยู่ในระยะของสายตาครับ

คลังภาพมีประโยชน์มากมาย แม้แต่เรื่องการเดินทาง ถ่ายรูปหนึ่งระบุจุดที่น้ำเริ่มท่วม และอีกจุดหนึ่งซึ่งน้ำเลิกท่วม แค่นี้ก็พอรู้ว่าถนนสายนั้น น้ำท่วมเป็นระยะทางกี่ร้อยเมตร

แต่คลังภาพไม่ควรเก็บภาพไว้ตลอดไป แต่แยกแยะภาพตามเวลาถ่ายเป็นรายวัน แล้วเก็บภาพไว้ 3 วันก็พอ ถ้าเก็บภาพไว้นานกว่า 3 วัน สถานการณ์คงเปลี่ยนไปแล้ว ก็อย่าใช้ข้อมูลซึ่งล้าสมัยมาตัดสินใจเลยครับ

แล้วเรื่องนี้ ง่ายมากครับ ใครทำดีครับ… อืม ถามตัวเองดีกว่า ว่าทำแล้วทำได้ดีหรือไม่ (แค่ทำได้ยังไม่พอ) ถ้าไม่ทำ ก็ไม่มีต่อไปไงครับ ใครจะทำ ช่วยประกาศบอกคนอื่นด้วย จะได้ไม่ซ้ำซ้อน

« « Prev : เรื่องงานเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ

Next : เริือที่ต้านน้ำน้อย » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น

  • #1 udomsak ให้ความคิดเห็นเมื่อ 5 October 2011 เวลา 17:35

    ตอนนี้ กำลังเริ่มทำ ลักษณะแบบนี้ครับพี่ ^_^ อาจจะไม่ได้ดีนัก แต่ถ้าไม่เริ่มทำคงไม่มีคนทำแบบพี่ว่า ผมจะใช้ python เป็น platform ครับ รันบน Cloud ( openshift หรือ Heroku ) ตอนนี้กำลัง setup program อยู่ครับ เนื่องจากติดงานประจำ

    ใช้ตัวนี้ครับ Django + google map ( https://code.djangoproject.com/wiki/django-gmap ) ได้คืบหน้ายังไง จะมาบอกกล่าวกันอีกทีนะครับ :)


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.22883892059326 sec
Sidebar: 0.19986200332642 sec